.
ตำนานพระสังกัจจายน์ คือ ใครกันแน่ | ในวัดไทยและวัดจีน คือ คนเดียวกันหรือไม่.?พระสังกัจจายน์คือใครกันแน่ ในวัดไทยและวัดจีนคือคนเดียวกันหรือไม่.?
คนไทยทุกคนน่าจะเคยเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระร่างอ้วน และมีใบหน้ายิ้มตลอดเวลา พอมองดูแล้วก็จะมีความสุข เพราะเหมือนว่าท่านกำลังยิ้มให้กับเรา โดยทั่วไปแล้วคนไทยเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า "พระสังกัจจายน์" ไม่ว่าพระพุทธรูปลักษณะนี้จะอยู่ที่วัดไทยและวัดจีน คนไทยมักจะเรียกรวมกันทั้งหมดว่า “พระสังกัจจายน์”
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธรูปร่างอ้วนใบหน้ายิ้มในวัดไทย กับพระพุทธรูปลักษณะคล้ายกันที่อยู่ในวัดจีน มีที่มาที่แตกต่างกัน หรือเป็นคนละกันเลยด้วยซ้ำไป หรือเอาง่ายๆ พระสังกัจจายน์ในวัดไทยกับวัดจีนคือคนละองค์กันนั่นแหละครับ
พระสังกัจจายน์ในวัดไทย
ในวัดไทย ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เชื่อว่าพระสังกัจจายน์ คือ *พระมหากัจจายนะ* พระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล พระมหากัจจายนะผู้นี้เป็นพระที่มีความสามารถมาก เขาสามารถย่อธรรมะของพระพุทธเจ้าให้สั้นลง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก พระพุทธเจ้ายกย่องพระมหากัจจายนะเป็นเอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร
แต่สิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของพระมหากัจจายนะ คือ รูปร่างที่อ้วนใหญ่ จริงๆ แล้วพระมหากัจจายนะไม่ได้อ้วน แต่เขาจงใจทำให้ตนเองอ้วน เพราะว่าพระมหากัจจายนะ เป็นคนที่มีใบหน้างดงาม งามจนถึงขนาดที่มีชายหนุ่มยังหลงใหล ผิวพรรณก็ผ่องใสเหมือนทองคำ ด้วยเหตุนี้พระมหากัจจายนะจึงเนรมิตตนเองให้กลายเป็นพระอ้วน เพื่อที่จะได้ไม่มีผู้ใดมาหลงใหลในกายของเขาอีกต่อไป
บ้างว่าใบหน้าและร่างกายของพระมหากัจจายนะงดงามทัดเทียมพระพุทธเจ้า พระมหากัจจายนะเห็นว่าไม่สมควร เขาจึงทำตนเองให้อ้วน หลังจากนั้นชาวพุทธจึงได้สร้างพระพุทธรูปของพระมหากัจจายนะ ในร่างอ้วนเสมอมาพระสังกัจจายน์จีน Budai (พระสังกัจจายน์) By Milei.vencel, Hungary, CC BY-SA 3.0,
พระสังกัจจายน์ในวัดจีน
ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทั้งสามประเทศมีศาสนาพุทธนิกายมหายานและวัชรยาน ดังนั้นความเชื่อจึงแตกต่างออกไป ชาวจีนเรียกพระรูปนี้ว่า ปู้ไต้ (布袋) เกาหลีเรียกว่าโพแด (포대) ส่วนญี่ปุ่นเรียกว่าโฮเทย (ほてい)
ที่มาของพระสังกัจจายน์ในวัดจีน จึงไม่ใช่พระมหากัจจายนะเหมือนในวัดไทย แต่คือพระอีกรูปหนึ่งชื่อปู้ไต้ พระชาวจีนที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 9-10 พระรูปนี้มีรูปร่างอ้วนใหญ่และหัวล้านโดยไม่มีผมเลยสักเส้นเดียว เขาจะใส่อัฐบริขารทั้งหมดไว้ในย่ามเล็กๆ เขาเป็นพระที่ยากจนแต่มีความสุข โดยเขาจะยิ้มอยู่ตลอดเวลา
ปู้ไต้ชอบเล่นกับเด็ก และตีท้องอันอ้วนใหญ่ของตนไปด้วย เมื่อใดที่ปู้ไต้เหนื่อย ปู้ไต้จะล้มตัวลงนอนทันที โดยไม่สนใจสิ่งใด ไม่ว่าอากาศเย็นสักเท่าไรปู้ไต้ก็มิได้กลัวเกรง ว่ากันว่าที่เป็นเช่นนั้น เพราะปู้ไต้มีพลังพิเศษที่ทำให้เขาไม่หนาว และยังสามารถพยากรณ์อากาศ รวมไปถึงโชคชะตาได้อย่างแม่นยำ
ก่อนจะเสียชีวิต ปู้ไต้ได้เขียนจดหมายสั้นๆ ไว้ว่า แท้จริงแล้ว ตนเองเป็นพระเมตไตรย(Maitreya) พระพุทธเจ้าในอนาคต นักประวัติศาสตร์จีนได้ค้นพบจดหมายดังกล่าว และตรวจสอบอายุพบว่า มันมีอายุย้อนไปถึง ปี ค.ศ.916
ถึงแม้จริงๆ แล้วปู้ไต้จะเป็นพระที่ยากจน แต่ด้วยความที่เขายิ้มอยู่ตลอดเวลา และรูปร่างที่อ้วนพี ทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความมั่งคั่ง ความเชื่อดังกล่าวแพร่กระจายไปยังทั่วดินแดนจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ทำให้มีการสร้างพระพุทธรูปแทนตัวปู้ไต้จึงมาสักการะบูชามากมายมาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาปู้ไต้ยังถูกเรียกว่า พระพุทธเจ้าอ้วน (พั่งโฝ) และพระพุทธเจ้าหัวเราะ (เซี่ยวโฝ) ด้วยเช่นกัน
Glazed ceramic sculpture of Budai. China, Ming dynasty, 1486. ขอบคุณภาพพระปู้ไต้ จากวิกิพีเดีย
ความแตกต่าง
ด้วยความที่เป็นคนละคนกัน พระสังกัจจายน์ไทยและจีนจึงแตกต่างกันอย่างชัดเจน พระพุทธรูปของพระมหากัจจายนะจะมี “ผม” อยู่บ้าง (เหมือนพระพุทธเจ้า) ส่วนปู้ไต้ไม่มีเลยศีรษะของเขาจะล้านทั้งหมด
ผ้าไตรของพระมหากัจจายนะจะครบถ้วนสมบูรณ์ มีสบง จีวร สังฆาฏิพร้อมแบบเถรวาท ส่วนปู้ไต้จะสวมใส่ผ้าไตรแบบจีน (มหายาน) และจะใส่แบบหลุดลุ่ยหน่อย
อ่านเรื่องพระปู้ไต้ ได้ที่ : https://en.wikipedia.org/wiki/Budai ขอบคุณ : -https://victorytale.com/th/fat-buddha/-
Updated : สิงหาคม 20, 2020