ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ “ข้าวมธุปายาส” อาหารที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา  (อ่าน 98 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



ประวัติ “ข้าวมธุปายาส” อาหารที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา

รู้ประวัติ “ข้าวมธุปายาส” อาหารที่นางสุชาดาถวายพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ แม้จะมีเรื่องแก้บนมาเกี่ยว แต่ได้กลายเป็นประเพณีสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

อาหารหนึ่งชนิดที่เกี่ยวพันกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกลายเป็นประเพณีที่ผู้คนมักทำถวายในเทศกาลสำคัญ ที่เราอยากพามารู้จักในวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 คือ “ข้าวมธุปายาส” แต่ทำไมถึงต้อง “ข้าวมธุปายาส” วันนี้ทีมข่าวพีพีทีวีจึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้ทุกคนได้รู้กัน

@@@@@@@

ประวัติข้าวมธุปายาส

“ข้าวมธุปายาส” นั้นมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือตอนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเดือนเพ็ญวิสาขะหรือวันเพ็ญเดือนหก

พระองค์ได้รับข้าวหุงด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อย จากนางสุชาดา ภรรยาของคฤหบดีเมืองมคธนำมาถวายเพื่อการบูชาเทพยดา ณ ต้นโพธิพฤกษ์

โดยมีความเป็นมาเกิดขึ้นเมื่อครั้นวันหนึ่ง ภรรยาของคฤหบดีในเมืองราชคฤห์ ปรารถนาอยากได้บุตรชายไว้สืบสกุลสักคน เพราะแต่งงานหลายปีแล้วยังไม่มีบุตร เมื่อนางและภรรยาพากันไปอาบน้ำในแม่น้ำเนรัญชราได้เดินผ่านต้นศรีมหาโพธิพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขากว้างร่มใบหนา ใต้ร่มมีทรายขาวสะอาด ประดุจเงินดูแล้วน่านั่งนอนใต้ต้นไม้มาก

นางจึงมีความคิดว่าต้นไม้นี้น่าจะมีเทพารักษ์สิงสถิตอยู่แน่นอน เมื่อคิดดังนั้นนางจึงเข้าไปกราบที่โคนต้นไม้ แล้วพูดว่า “ข้าแด่เทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์มีมหิทธิฤทธิ์ ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไม้นี้ ดิฉันขอความกรุณาจากท่านช่วยดลบันดาลให้มีบุตรสักคนเถิด เพื่อจะให้เขาสืบสกุลต่อไป ข้าแต่เทวะหากท่านให้ดิฉันสมปรารถนาแล้ว ดิฉันจะนำเอาข้าวมธุปายาสมาแก้บนสังเวยท่านเป็นสัจกิริยา”

เมื่อนางอธิษฐานเสร็จ กลับไปอยู่กับสามีไม่นานก็ตั้งครรภ์  เมื่อครบกำหนดนางก็คลอดลูกเป็นผู้ชายมีลักษณะงดงามสมส่วนตามลักษณะผู้มีบุญ เมื่อคลอดลูกโดยสวัสดิภาพและมีความสมบูรณ์อย่างนี้ นางสุชาดารำลึกถึงคำอธิษฐานที่นางได้ขอกับเทพยดา จึงทำการหุงข้าวมธุปายาส ซึ่งประกอบด้วย ข้าว ถั่ว งา น้ำตาล น้ำผึ้ง มะพร้าว เป็นต้น ทำอย่างประณีตแล้วใส่ถาดทองประดับด้วยดอกไม้อย่างสวยงามเดินทางออกจากบ้านพร้อมด้วยทาสีมุ่งสู่ต้นโพธิพฤกษ์

ขณะนั้นพระพุทธเจ้ามีดำริว่าจะบำเพ็ญเพื่อการตรัสรู้ ณ ต้นโพธิพฤกษ์และประทับนั่งโคนต้นไม้หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก นางสุชาดาและนางทาสีมาถึงได้พบพระพุทธเจ้าครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นรุกขเทพเจ้าจำแลงเพศ เกิดความเลื่อมใสจึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสเข้าไปถวายแก้สัจกิริยาท่านได้บนบานไว้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสขอบคุณต่อนาง และบอกแก่นางว่าพระองค์ท่านมิได้เป็นเทพยดา แต่เป็นมนุษย์คือเป็นกษัตริย์แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ออกผนวช เพื่อแสวงหาสัจธรรม นางสุชาดาทราบเรื่องแล้ว ก็กราบถวายบังคมลากลับบ้านเรือนของตน

หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าทรงนำเอาข้าวจากถาดมาทรงทำเป็นก้อนๆ นับจำนวนได้ 49 ก้อน ให้เป็นเครื่องรำลึกถึงวันที่ทรงบำเพ็ญทุกกิริยา เสวยข้าวมธุปายาส 49 ก้อนนั้นหมดแล้ว ทรงนำถาดไปทรงอธิฐานในแม่น้ำเนรัญชรา และทรงอธิฐานว่าถ้าหากพระองค์จะได้ตรัสรู้ก็ขอให้ถาดทองนั้นลอยทวนน้ำขึ้นไป

เมื่อพระองค์ทรงวางถาดลงในน้ำ ก็ปรากฏว่า ถาดทองลอยทวนน้ำขึ้นเหนือน้ำดังคำอธิฐาน ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าภัตตาหารมื้อนั้นได้มีส่วนทำให้พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ 4 บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ด้วยรำลึกถึงพระพุทธองค์และเหตุการณ์สำคัญนี้ พุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำข้าวมธุปายาสในวันวิสาขบูชา เกิดเป็น “ประเพณีกวนข้าวมธุปายาส” หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันคุ้นหูว่า “ประเพณีกวนข้าวทิพย์” โดยเชื่อกันว่าการได้ถวายเป็นพุทธบูชาจะนำความสุขสวัสดีและบุญกุศลแก่ตน



ข้าวมธุปายาส


“ข้าวมธุปายาส” ความหมายเดียวเรียกได้หลายชื่อ

ข้าวมธุปายาสมีชื่อหลายชื่อที่นิยมเรียกกัน แตกต่างกันในท้องถิ่นและประเทศต่างๆ ส่วนมากปรากฏชื่อคือ

    • ข้าวมธุปายาส - ข้าวหุง หรือกวนด้วยน้ำผึ้ง
    • ข้าวยาคู - ข้าวต้มที่ใส่เกลือและน้ำตาล ทำเป็นชนิดเค็มและชนิดหวาน
    • ข้าววิตู - ข้าวกวนด้วยน้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา ทำเป็นผงและก้อน
    • ข้าวกระยาสารท - ข้าวกวนด้วย น้ำตาล น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ถั่วงา แปะแซ ทำเป็นก้อน เป็นแผ่น นิยมมีในงานเทศกาลอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพชนในประเพณีเดือน 10 ของภาคกลาง
    • ข้าวกระยาทิพย์/ข้าวทิพย์ - ข้าวที่กวนด้วยพิธีกรรม ใส่น้ำตาล น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ถั่วงา น้ำนม ทำให้เป็นก้อนโดยให้หญิงพรหมจารีกวน ถือว่าเป็นข้าวศักดิสิทธิ์ ใครได้รับประทานย่อมจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บและมีความสุขสวัสดีตลอดไป
    • ข้าวซอมต่อหลวง - ข้าวมธุปายาสของชาวไทยใหญ่ นิยมกวนข้าวนี้เมื่อเดือนยี่เหนือถวายพระพุทธในตอนเช้ามืด เรียกว่า “ต่างซอมต่อหลวง”
    • ข้าวพระเจ้าหลวง - การเรียกชื่อข้าวมธุปายาสของชาวภาคเหนือ นิยมถวายในคราวเทศกาลใหญ่ๆ เช่น เดือนยี่เป็ง เดือนสี่เป็ง เดือนแปดเป็ง เป็นต้น โดยมากจะกวนข้าวในรั้วราชวัตรและให้หญิงพรหมจารี หรือผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วถือศีลห้า ถึงศีลแปดเป็นผู้กวนในพิธีนั้น ถวายพระพุทธตอนเช้า เรียกว่าใส่บาตรข้าวพระเจ้าหลวง

@@@@@@@

ความสำคัญของการถวายข้าวมธุปายาส

การถวายข้าวมธุปายาส มีความสำคัญดังนี้

    • เป็นการปฏิบัติตามพุทธประเพณี
    • เป็นการบูชาพระเจ้าในวันเพ็ญเดือนยี่ เดือนสี่และวิสาขบูชา
    • เป็นการรำลึกถึงวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    • เป็นการสร้างสามัคคีในกลุ่มชน เนื่องจากมีการประกอบพิธีกรรมด้วย
    • เป็นการเรียนรู้ในการทำขนมหรือข้าวมธุปายาส
    • เป็นการถวายผลิตผลที่คนในท้องถิ่นช่วยกันสร้างขึ้นมา
    • เป็นการอนุรักษ์ประเพณีและศิลปะที่บรรพบุรุษสร้างไว้ยืนยงอยู่ตลอดไป



รูปภาพพระ เนื่องในวันวิสาขบูชา


ข้าวมธุปายาสถวายเป็นพุทธบูชาได้เมื่อไร

ในประเทศไทยนอกเหนือจากวันวิสาขบูชาข้าวมธุปายาสยังนิยมถวายในงานเทศกาลสำคัญๆ หลายคราวด้วยกัน คือ
          1. ประพฤติยี่เป็ง
          2. ประเพณีเดือนสี่
          3. ประเพณีปอยหลวง

ทำไมต้องมีประเพณีข้าวมธุปายาส

ในงานประเพณีสำคัญๆ ชาวบ้านหลายชุมชนจะนิยมกวนข้าวมธุปายาสเพื่อสร้างเสริมศรัทธาแก่ประชาชนผู้มาร่วมงาน และทางวัดจะนิยมแจกจ่ายข้าวมธุปายาสแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงกัน เพื่อสร้างความสุขสวัสดีและความสามัคคีให้เกิดในกลุ่มชนด้วย

ข้าวมธุปายาสจึงถือเป็นเครื่องระลึกถึงการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของวันวิสาขบูชา ด้วยเหตุนี้ในช่วงใกล้เทศกาลดังกล่าวจึงอยากชวนให้ทุกคนระลึกถึงไปพร้อมกัน






ขอขอบคุณ :-
ข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง และ มหาลัยราชภัฏเทพสตรี
URL : https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/223760
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 15 พ.ค. 2567 ,10:24น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2024, 07:59:29 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ