ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ฟังสวดอภิธรรม ไม่จำเป็นต้องรู้ความหมาย ฟังเอาสมาธิได้  (อ่าน 4806 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



ฟังสวดอภิธรรม ไม่จำเป็นต้องรู้ความหมาย ฟังเอาสมาธิได้
คำแนะนำเรื่องการฟังสวด โดยนาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย


 :25: :25: :25:

มีคนเป็นจำนวนมากที่ไปร่วมงานศพ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสวดพระอภิธรรม ไม่ได้ตั้งใจฟังพระสวด แต่ใช้เวลานั้นนั่งคุยแข่งกับพระสวด เหตุผลหนึ่งที่ยกขึ้นมาอ้างในการที่ไม่ตั้งใจฟังพระสวดก็คือ พระสวดภาษาบาลีฟังไม่รู้เรื่อง พร้อมกันนั้นก็ยื่นข้อเสนอหรือข้อเรียกร้อง ให้พระสวดคำแปลด้วย

บางวัดจึงสนองข้อเรียกร้องด้วยการเอาข้อความอื่น ที่ไม่ใช่พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์มาสวด แล้วก็แปลเป็นภาษาไทย เรื่องนี้ ผมมีข้อคิดเห็นที่ใคร่จะแสดงสู่กันฟังดังนี้

     @@@@@@@

     ข้อ ๑. ธรรมเนียมสวดศพ เราใช้บทพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์มาสวด ผมเห็นว่าการเอาบทอื่นมาสวดเป็นการผิดธรรมเนียม พูดเป็นคำหนักก็คือเป็นการทำลายแบบแผนแห่งการสวดศพ โดยไม่มีเหตุอันควร

     ข้อ ๒. เหตุผลที่เอาบทอื่นมาสวดมีข้อเดียว คือ ถูกเรียกร้องให้สวดแล้วฟังรู้เรื่อง เมื่อคนฟังเป็นคนไทย สวดให้ฟังรู้เรื่องก็ต้องสวดเป็นภาษาไทย เลยกลายเป็นสร้างธรรมเนียมใหม่ คือ สวดมนต์เป็นภาษาไทย

“สวดมนต์” ก็คือ เอาบทพระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้ามาสาธยาย พระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้านั้นต้นฉบับเป็นภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ท่านเล็งเห็นแล้วว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะรักษาบทธรรมคำสอนไว้ได้ไม่ให้เบี่ยงเบนผันแปรไปเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นท่านจึงวางหลักให้สวดสาธยายเป็นภาษาบาลีอันเป็นภาษาต้นฉบับเพื่อรักษาต้นฉบับไว้ให้แม่นยำ

ต่อจากนั้น ใครอยากจะรู้เข้าใจความหมายในบทมนต์นั้นๆ ก็ให้ศึกษาภาษาบาลี การเรียนบาลีในสังคมสงฆ์ก็เกิดมีขึ้นด้วยเหตุนี้ คือ เรียนเพื่อรู้เข้าใจพระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า แหล่งใหญ่ที่เก็บพระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ก็คือพระไตรปิฎก  เพราะฉะนั้น ปลายทางของการเรียนบาลีจึงมุ่งไปที่พระไตรปิฎก

เมื่อเรียนบาลี รู้ความหมายของพระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เอาพระธรรมมาบอกมาแสดงมาชี้แจงให้คนทั้งหลายได้รับรู้ด้วย ที่เรารู้จักกันในรูปแบบที่เรียกการเทศน์ หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า “พระธรรมเทศนา”

ผู้รู้ท่านจึงพูดเป็นสูตรสำเร็จว่า ฟังสวดเอาสมาธิ ฟังเทศน์เอาปัญญา เวลาฟังสวด ไม่ว่าจะเป็นสวดพระอภิธรรมงานศพหรือสวดมนต์ในงานบุญทั่วไป เราจึงฟังเพื่อเอาสมาธิ

หลักก็คือ ตั้งจิตกำหนดตามเสียงที่ได้ยิน โดยไม่ต้องหมายใจใคร่รู้ว่าถ้อยคำที่มากระทบโสตประสาทนั้น มีความหมายว่าอย่างไร เอาสติกำหนดตามเสียงไปเป็นสำคัญ ให้จิตดิ่งนิ่งแน่วแน่อยู่กับเสียงที่พระสวด แต่ละบท แต่ละตอน ตั้งแต่ต้นจนจบ หน้าที่ของการฟังสวดมีแค่นั้น-คือ แค่กำหนดตามเสียงเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ ไม่ใช่จะมาเอาเป็นเอาตายกับการรู้เรื่องที่สวด

    @@@@@@@

เวลาที่ใช้ไปกับการฟังสวดก็เพียงครึ่งชั่วโมง หรืออย่างมากที่สุดก็ไม่เกินชั่วโมง จะเอาเป็นเอาตายเอารู้บรรลุธรรมกันเดี๋ยวนั้นเชียวหรือ เวลาอีก ๒๓ ชั่วโมง ไม่มีเลยหรือที่จะจัดสรรเพื่อการศึกษาบทธรรมที่พระท่านเอามาสวด จะต้องเอารู้กันให้ได้เฉพาะในเวลาที่ฟังสวดเท่านั้นหรือ

ผมจึงขอยืนยันว่า "สวดมนต์" ไม่ว่าจะเป็นสวดพระอภิธรรมงานศพหรือสวดในโอกาสอื่นใด ต้องสวดเป็นภาษาบาลี เหตุผล คือ เพื่อรักษาต้นฉบับพระธรรมคำตรัสสอนไว้

ถ้าอยากรู้เรื่อง ขอแนะนำให้ทำตามคำคนเก่า คือ “ฟังสวดเอาสมาธิ ฟังเทศน์เอาปัญญา” หาโอกาสฟังเทศน์ ก็จะรู้เรื่องในบทสวด-อย่างที่กระหายใคร่รู้จนถึงกับเรียกร้องให้พระสวดให้รู้เรื่อง ก็จะได้ปัญญา

คำว่า “ฟังเทศน์” เป็นสำนวนภาษา เหมือนคำว่า “กินข้าวกินปลา” ซึ่งเป็นสำนวนหมายถึง "กินอาหาร" ไม่ใช่มุ่งไปที่จะต้องกิน “ข้าว” (rice) กับกินปลา (fish) ตามตัวหนังสือเท่านั้น

“ฟังเทศน์” หมายถึง การศึกษาพระธรรม จะโดยการฟังพระเทศน์ตามคำว่า “ฟังเทศน์” ตรงตัวก็ได้ ฟังคำบรรยายจากท่านผู้รู้อื่นๆ ก็ได้ อ่านหนังสือเอาเองก็ได้ ทำได้สารพัดวิธี ยิ่งเวลานี้ไฮเทคก้าวหน้า อยากรู้ธรรมะข้อไหน คลิกเดียวเท่านั้น จึงไม่ต้องไปคาดคั้น จะเอารู้เรื่องกัน เฉพาะในเวลาฟังพระสวดนั่นเลย


     @@@@@@@

     ข้อ ๓. เฉพาะกรณีฟังสวดพระอภิธรรม ผมมีคำแนะนำที่ผมปฏิบัติเองมาตลอด นั่นก็คือ พระอภิธรรมบทสุดท้ายในชุดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ คือ บทปัฏฐาน ที่พระท่านจะขึ้นต้นบทสวดว่า “เห-ตุปัจจะโย”

คำแนะนำของผม ก็คือ เมื่อพระท่านสวดคำว่า “-ปัจจะโย” ครั้งหนึ่ง ก็ให้ท่านกำหนดนับว่า “หนึ่ง” อีกครั้งหนึ่งก็กำหนดว่า “สอง” กำหนดนับตามไปทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า “-ปัจจะโย” เมื่อจบ “-ปัจจะโย” สุดท้าย ตอบได้ไหมว่า นับได้กี่-ปัจจะโย

บทอื่นๆ กำหนดจิตตามเสียงสวดเพื่อให้เกิดสมาธิ แต่เฉพาะบทสุดท้ายนี้ กำหนดจิตด้วย กำหนดนับ “-ปัจจะโย” ด้วย เป็นการปฏิบัติธรรมโดยวิธีพิเศษ เอาแค่นับ “-ปัจจะโย” ให้ได้ครบเท่านี้ ก็ได้ประโยชน์เหลือหลายแล้ว ไปฟังสวดเมื่อไร ก็กำหนดแบบนี้ทุกครั้งไป เมื่อทำจนคุ้น จะพบว่าจิตดิ่งนิ่งเป็นสมาธิได้เร็วขึ้น แน่วแน่ขึ้น

ถึงขั้นนั้นก็พัฒนาต่อไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือ กำหนดให้ละเอียดเข้าไปอีกว่า “-โย” ที่เท่าไร เป็นอะไร-โย เช่น
    “-โย” ที่หนึ่ง เป็นคำว่า “เห-ตุปัจจะโย”
    “-โย” ที่สอง เป็นคำว่า “อารัมมะณะปัจจะโย” (ฟังชัดหรือไม่ชัดไม่ต้องกังวล เอาแค่จับเสียงได้คร่าวๆ ก็พอ)
    “-โย” ที่ห้า เป็นคำว่า อะไร-โย
    “-โย” ที่สิบ เป็นคำว่า อะไร-โย
    “-โย” ที่ยี่สิบ เป็นคำว่า อะไร-โย
ไปจนถึง “-โย” สุดท้าย เป็นคำว่า อะไร-โย รับรองว่า ท่านจะรู้สึกสนุกกับเกมนี้ เป็นการฝึกจิต ฝึกสติ ฝึกความรู้สึกตัว พร้อมไปหมดในตัวเอง ลืมเรื่องจะเอาเป็นเอาตายกับการฟังให้รู้เรื่องไปได้เลย

    @@@@@@@

แล้วต่อจากนั้น ท่านจะมีฉันทะ มีอุตสาหะในการที่จะอ่านจะสืบค้นหาความหมาย และหาความรู้ในบทสวดนั้นๆ ก้าวหน้าต่อไปอีก โดยไม่ต้องไปบังคับกะเกณฑ์ให้พระท่านสวดเป็นภาษาไทยเพื่อให้ฟังรู้เรื่องเอาเฉพาะหน้าอีกต่อไป

    ข้อสำคัญ ถ้าตั้งใจปฏิบัติตามนี้ ความคิดที่อยากจะคุยแข่งพระก็จะหายไป
    ท่านจะรู้สึกสุขสงบ จิตใจผ่องแผ้ว รับสัมผัสประโยชน์จากการไปฟังสวดได้เต็มๆ
    งานศพ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสวดพระอภิธรรม ก็จะเป็นพิธีที่มีสาระอย่างแท้จริง
    ไม่ใช่สักแต่ว่าทำกันไป อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้







ขอขอบคุณ :-
บทความ : "คำแนะนำเรื่องการฟังสวด"
ผู้เขียน : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ กันยายน ๒๕๖๒ | ๑๑ : ๕๕ น.
admin : tppattaya2343@gmail.com
website : https://dhamtara.com/?p=17803





ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทย

ในบรรดาข้อเรียกร้องของคนไทยเกี่ยวกับศาสนพิธี มีข้อหนึ่งที่เรียกร้องกันมาก นั่นคือ พระสวดเป็นภาษาบาลี ฟังไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทย จะได้ฟังรู้เรื่อง การที่บางวัด-เช่นวัดชลประทานฯ เป็นต้น ให้มีการแสดงธรรมแนบไปกับการสวดพระอภิธรรม ก็มีสาเหตุมาจากคำเรียกร้องนี้ คือเพื่อจะให้ผู้มาฟังสวดได้ฟังธรรมะไปด้วย-เพราะฟังสวดไม่รู้เรื่อง

ในอนาคต ไม่แน่ อาจจะมีวัดหรือสำนักที่นิยมไหลตามกระแสผลิตบทสวดเป็นภาษาไทยแล้วก็สวดเป็นภาษาไทยให้ญาติโยมได้ฟังรู้เรื่องกันบ้างก็ได้

เฉพาะงานสวดศพ ที่มีทำกันอยู่แล้วก็คือ สวดแปล แต่ไม่ได้แปลพระอภิธรรมเอามาสวด หากแต่คัดเลือกภาษิตที่ปรารภพระไตรลักษณ์เอามาสวดคำบาลีแล้วก็แปลเป็นไทย

การกระทำเช่นนี้มีผลที่เกิดขึ้น-ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีใครสังเกต-ก็คือ การสวดพระอภิธรรมเริ่มเบี่ยงเบนไป แทนที่จะสวดพระอภิธรรม กลายเป็นสวดบทอื่น ที่เบี่ยงเบนไปแล้วก็คือ จากเดิมสวด ๔ จบ เวลานี้ลดลงเหลือ ๒ จบ อ้างความจำเป็นต่างๆ เช่นมีงานอื่นที่จะต้องรีบไปทำ วัดที่ยังคงสวด ๔ จบก็พอมี แต่น้อยลงแล้ว

ที่มาแปลกกว่านั้นก็มี คือนิมนต์พระ ๘ รูปขึ้นสวดพร้อมกัน สวด ๒ จบ แล้วอ้างว่าเท่ากับสวด ๔ จบ เพราะพระ ๔ รูปเท่ากับ ๒ จบ พระ ๘ รูปก็เท่ากับ ๔ จบ ต่อไปอาจมีลัทธินิมนต์พระ ๑๖ รูปสวดพร้อมกันจบเดียว แล้วอธิบายว่าเท่ากับสวด ๔ จบ

ทั้งหมดนี้มีเหตุผลสำคัญคือจะรีบเสร็จ จะรีบไปทำธุระอื่น ผมคิดเล่นๆ ว่า ถ้าผู้ตายรู้เหตุผลว่าเป็นอย่างนี้ (จะรีบไปทำธุระอื่น) คงจะรันทดใจพอสมควร

@@@@@@@

ย้อนกลับมาถึงเรื่อง-ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทยจะได้ฟังรู้เรื่อง ผมมีข้อคิดที่เป็นคติของคนเก่า คำคนเก่าท่านพูดกันว่า “ฟังสวดเอาสมาธิ ฟังเทศน์เอาปัญญา” หมายความว่า เวลาฟังพระสวด ไม่ว่าจะงานศพหรืองานบุญอะไรก็ตาม ท่านให้ฟังเอาสมาธิ คือตั้งสติกำหนดตามเสียงที่พระสวดซึ่งเป็นคำบาลีนั้นให้ทันทุกคำ

พระท่านสวดคำว่า “นะ” เราก็กำหนดรู้ทันว่าได้ยินเสียง “นะ”
พระท่านสวดคำว่า “โม” เราก็กำหนดรู้ทันว่าได้ยินเสียง “โม”

ยังไม่ต้องไปใส่ใจใคร่รู้ว่า “นะโม” แปลว่าอะไร “นะโม” จะแปลเป็นไทยว่าอะไรก็ช่าง ปล่อยผ่านไปก่อน เวลานี้ทำหน้าที่เพียงกำหนดรู้ทันว่าพระสวดคำว่า “นะโม”

ต่อไป พระท่านสวดคำว่า ตัส-สะ-ภะ-คะ-วะ-โต-อะ-ระ-หะ-โต …..ก็กำหนดตามไปให้ทันทุกคำ ไม่รู้ความหมาย ไม่รู้คำแปล ก็ปล่อยผ่านไป เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาเอาเป็นเอาตายกับคำแปล หรือจะต้องรู้เรื่องให้ได้ แต่เป็นเวลาที่จะต้องตั้งสติกำหนดตามเสียงที่พระสวดให้รู้ทัน ฟังทันได้หมดทุกคำ ให้จิตเกาะติดไปกับคำพระสวดตั้งแต่ต้นจนจบ จะหลุดไปบ้างก็ไม่เป็นไร ดึงจิตกลับมา ให้อยู่กับคำสวดของพระให้ได้มากที่สุด

กระบวนการดังกล่าวมานี้ คือ “ฟังสวดเอาสมาธิ” ถ้าทำตามนี้ พระท่านจะสวดคำบาลีฟังไม่รู้เรื่อง ก็ไม่เป็นอุปสรรคอะไรเลย เพราะ ณ ขณะนั้นเราไม่ได้ฟังเพื่อจะให้รู้เรื่อง แต่เราฟังเพื่ออาศัยเสียงของพระเป็นอุปกรณ์ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ

พระท่านสวดคำบาลี มีความหมายในทางที่ดี ข้อนี้เป็นอันว่าเราปลอดภัย คือ พระท่านไม่ได้เอาคำหยาบคายต่ำช้ามาสวดให้เราฟัง หน้าที่ของเรา ณ ขณะนั้นก็คือส่งกระแสจิตติดตามคำที่พระท่านสวด แบบสะกดรอยตามไปให้ทันทุกคำ หรือให้ทันได้มากที่สุด บุญของเราอยู่ตรงนั้น

@@@@@@@

ส่วนกุศลที่จะเกิดจากการรู้ความหมายของคำสวดเอาไปว่ากันอีกทีหนึ่ง-เมื่อมีโอกาส ดังที่คำคนเก่าว่า “ฟังเทศน์เอาปัญญา” คือถ้าอยากรู้ความหมายของคำที่พระสวด เราก็ไปฟังเทศน์ เพราะเทศน์หรือการแสดงธรรมเป็นการอธิบายให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ ตอนนี้แหละซัดกันให้เต็มที่

ตอนฟังสวดอยากรู้อยากเข้าใจความหมายของคำที่สวด อยากมาก จนถึงกับเรียกร้องให้สวดเป็นภาษาไทย ตอนฟังเทศน์นี่แหละเป็นทีของเราแล้ว อยากรู้อะไร ซัดเข้าไปเลย

พระท่านไม่ได้เทศน์เรื่องที่เราอยากรู้นี่ อ๋อ จะไปยากอะไร หนังสือเทศน์ หนังสือธรรม ช่องทางที่หามาอ่านมาศึกษามีอยู่ให้ครืดไปหมด นั่งกระดิกขาอยู่ที่ไหนก็อ่านได้ เลือกเอาสิ ทำไมจะต้องตั้งเงื่อนไข-ต้องรู้ให้ได้ขณะที่กำลังฟังสวดนั่นแหละ เวลาอื่นก็ไม่เอา จะเอาเวลานั้นเท่านั้น

แล้วก็-เคยได้ยินคำบ่นไหม พระไตรปิฎกแปลก็อ่านไม่รู้เรื่อง แปลคำบาลีก็ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ตรงกับความหมาย มันน่าจะแปลให้คนฟังเขาเข้าใจได้ง่ายๆ เชื่อเถอะ สมมุติว่าพระท่านตามใจโยม สวดเป็นภาษาไทย ก็จะต้องมีเสียงโอดครวญอีกว่า แปลแบบนี้ฟังยาก ทำไมไม่แปลให้ฟังง่ายๆ เป็นเรื่องอีก

@@@@@@@

แล้วต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น วัดนี้แปลอย่างนี้ วัดโน้นแปลอย่างโน้น ใครชอบคำแปลของใครก็ลอกเอาไปสวดกันไป คำบาลีคำเดียวกัน ธรรมะข้อเดียวกัน แต่คำแปลมีร้อยอย่างพันอย่าง สนุกเขาละ อาจจะมีคนลุกขึ้นมาเสนอว่า-ก็ให้คณะสงฆ์จัดการแปลให้เป็นฉบับเดียวกัน สวดให้เหมือนกันทั่วทุกวัดสิ จะไปยากอะไร ยากหรือไม่ยาก น้ำท่วมหลังเป็ดโน่น คณะสงฆ์ท่านจะทำหรือเปล่า ถ้าตามใจโยมแบบนั้น ต่อไปพระไทยก็สวดมนต์เป็นภาษาไทยกันหมดทั้งประเทศ

แล้วภาษาไทยนั้นพอล่วงกาลผ่านเวลาไปสักพักหนึ่ง ก็จะเริ่มมีปัญหา คนสมัยโน้นฟังภาษาไทยของคนสมัยนี้ไม่รู้เรื่อง คำไทยคำเดียวกัน พอต่างสมัยกันหน่อยเดียว เข้าใจไปคนละเรื่อง ทีนี้ก็อาจจะ-ครึ่งศตวรรษ คือ ๕๐ ปีที เปลี่ยนคำสวดภาษาไทยกันที สนุกไปอีกแบบ และที่แน่ๆ ภาษาบาลี-ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ ก็จะถูกเก็บเข้ากรุ ลั่นกุญแจสิบชั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนต้องรู้กันอีกแล้ว

พอถึงตอนนั้น ใครไปเจอคำบาลีว่า “นะโม” อาจจะมีคนแปลว่า “นมโต” แล้วก็มีคนเชื่อว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง พอจะหาเหตุผลเจอไหมครับว่า-ทำไมพระจึงไม่สวดเป็นภาษาไทย







ขอขอบคุณ :-
บทความ : ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทย โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ | ๑๑ : ๑๒ น.
29 พฤษภาคม 2021 | Admin ชมรมธรรมธารา
URL : https://dhamtara.com/?p=15524
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 18, 2024, 08:43:15 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



สาเหตุที่คนไม่อยากฟังธรรม

การฟังธรรมในยุคสมัยปัจจุบันเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆที่มีฟังกันอยู่ที่เป็นไปตามธรรมเนียมนิยมเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ เมื่อมีงานทำบุญสำคัญที่นิยมมีเทศน์กันมาเช่นงานศพ งานฉลอง ก็จัดให้มีเทศน์ด้วยเพื่อให้ถูกธรรมเนียม แต่ก็มีแบบพอให้เป็นกิริยาบุญว่าได้ทาแล้วหรือพอให้ได้เป็นอานิสงส์เท่านั้น มิได้หวังผลอานิสงส์แห่งการฟังธรรมตามที่ควรจะเป็น หรือแม้แต่การมีเทศน์ในวันพระหรือวันธรรมสวนะก็จัดให้มีแบบรักษาธรรมเนียมปฏิบัติมิให้ขาดหายไปบางแห่งก็งดไปเลย หรือมีเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น

สำหรับผู้ฟังเทศน์ไม่ว่าจะเป็นในวัดหรือในบ้านก็มีเฉพาะเจ้าภาพและผู้สูงวัยเป็นหลัก คนหนุ่มคนสาวและเด็กๆ จะมีอยู่บ้างก็น้อย เมื่อเป็นดังนี้ก็เป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับอนาคตของพระพุทธศาสนาและของวัดตลอดถึงของพระสงฆ์เองด้วย เพราะเมื่อประชาชนไม่ชอบที่จะฟังความห่างเหินธรรมหรือฟังไปตามธรรมเนียมโดยมิได้สนใจในเนื้อหาแห่งธรรมหรือความรู้ความเข้าใจทางธรรมที่จะนำไปปฏิบัติตามธรรมก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จะมองเห็นเพียงว่า

การฟังเทศน์เป็นธรรมเนียม วัดเป็นเพียงสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา พระสงฆ์เป็นเพียงผู้ทำพิธีกรรมเท่านั้น เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้วต่างคนก็ต่างไปเมื่อไม่มีพิธีกรรมก็ไม่สนใจวัดไม่สนใจพระสงฆ์ ต่างคนต่างอยู่อันสาเหตุที่แท้จริงในเรื่องนี้หากไม่โยนกลองไปที่ฝ่ายผู้สดับคือชาวบ้านว่าเขาไม่สนใจฟังเอง เพราะเขาไม่มีเวลา เขาไม่มีศรัทธาเขาไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาสนา เขาไม่อย่างนั้นอย่างนี้ปัญหาก็คงแก้ไม่ได้ เพราะไปมองหรือไปเหมาเอาว่าปัญหาเกิดจากชาวบ้าน

หากย้อนกลับมาคิดกันใหม่ว่าสาเหตุที่คนไม่อยากฟังธรรมกันนั้นมาจากฝ่ายผู้แสดงคือพระสงฆ์เองในฐานะที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาก็อาจแก้ปัญหานี้ได้ ในสมัยพุทธกาลนั้นผู้คนไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนามาก่อน ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระสงฆ์สาวกเสียด้วยซ้ำไป ทั้งยังมีศาสนามีลัทธิที่ตัวเองนับถืออยู่แล้ว พระพุทธเจ้าและพระสาวกต้องเริ่มต้นนับหนึ่งในการเผยแผ่ศาสนาที่เดียว ไหนจะทำให้เขาเลิกนับถือของเดิม ไหนจะนำเสนอของใหม่ให้เขานับถือนับเป็นงานยากไม่น้อย แต่ก็ทำกันได้จนวางฐานพระพุทธศาสนาสำเร็จและแพร่หลายไปทั่ว

แต่สมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะในบ้านเมืองเราที่ผู้คนนับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว รู้จักพระสงฆ์ดีอยู่แล้ว เป็นแต่ว่ากำลังจะห่างเหินจากศาสนาไปเท่านั้น ปัญหานี้ดูจะไม่เป็นงานยากเหมือนสมัยพุทธกาล เพราะเป็นงานแค่ดึงศรัทธาประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้กลับคืนมา หรือเพียงสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่คนรุ่นใหม่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นพุทธศาสนิกชนอยู่แล้วแต่ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนาดีพอเท่านั้น

จากการวิจัยและวิจารณ์ของนักวิชาการและท่านผู้รู้ทั้งหลายพบว่า ปัญหาการที่ประชาชนไม่สนใจที่จะฟังธรรม ไม่อยากฟังธรรมนอกจากมีสาเหตุมาจากตัวประชาชนแล้ว ยังพบว่า สาเหตุหลักมาจากแวดวงของพระสงฆ์เองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

@@@@@@@

๑. สาเหตุจากตัวผู้เทศน์

สาเหตุข้อนี้ถือว่าเป็นสาเหตุหลักและเป็นสาเหตุใหญ่ เป็นที่มาของเรื่องนี้เลยทีเดียว เพราะผู้เทศน์เป็นผู้นำแสดงหรือเป็นผู้แสดงนำ เหมือนนักแสดงที่เป็นพระเอกของเรื่องที่สามารถจะดึงดูดผู้ชมได้ไม่น้อยไปกว่าเนื้อเรื่อง บทบาทของนักแสดงนำที่แสดงได้ดีและตีบทแตกย่อมโน้มน้าวใจผู้ชมให้อยากดูอยากชมและติดตามการแสดงของผู้นั้นไปเรื่อยๆ จะแสดงเรื่องใดที่ไหนก็ติดตามชมเป็นแฟนประจำ เช่นเดียวกันผู้เทศน์ที่ดีและเก่งย่อมสามารถเรียกศรัทธา สร้างความประทับใจให้เกิดแก่ผู้ฟัง สามารถนำพาให้ผู้คนสนใจมาฟังและติดตามฟังเป็นเจ้าประจำได้ตรงกันข้ามหากเขาได้ฟังเทศน์จากท่านรูปใดแล้วผิดหวัง ไม่เกิดความประทับใจไม่ได้ความรู้ใหม่หรือเห็นความไม่พร้อมของผู้เทศน์ศรัทธาในการฟังเทศน์ก็ไม่เกิด ที่เคยมีก็ลดน้อยถอยลง

หากพบเห็นเช่นนั้นบ่อยเข้าก็จะล้มเลิกความคิดที่จะยอมเสียเวลามาฟังเทศน์ตลอดไป กลายเป็นคนไม่สนใจฟังธรรม เบื่อที่จะฟัง และเมื่อมีความจำเป็นต้องฟังในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ทนฟังไปด้วยความอึดอัดใจสาเหตุหลักที่เกิดจากผู้เทศน์ที่ทำให้ผู้คนเบื่อที่จะฟังเทศน์ ไม่สนใจที่จะฟังเทศน์ เพราะเกิดความรู้สึกต่อผู้เทศน์ในทางลบ คือรู้สึกว่าผู้เทศน์นั้นไม่มีความพร้อม คือกายไม่พร้อมบ้าง วาจาไม่พร้อมบ้างใจไม่พร้อมบ้าง ซึ่งความไม่พร้อมนี้จะปรากฏชัดเจนตั้งแต่ก่อนขึ้นธรรมาสน์จนถึงขณะเทศน์ ผู้ฟังสามารถมองออกว่าผู้เทศน์พร้อมหรือไม่พร้อม เต็มใจหรือไม่เต็มใจ เตรียมตัวมาดีหรือไม่ได้เตรียมมาเลย

ผู้เทศน์ที่ขาดประสบการณ์ก็ดี นุ่งห่มไม่เรียบร้อยก็ดี ร่างกายไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะเทศน์ก็ดี ไม่ได้ฝึกฝนการวางท่วงท่าในการขึ้นธรรมาสน์ การจับการเปิดคัมภีร์ ลีลาการอ่าน เป็นต้นมาเลยเทศน์ไปตามใจชอบอย่างไม่มีแบบมีแผน เหล่านี้ล้วนแสดงว่าไม่มีความพร้อมทั้งสิ้นที่จะเทศน์ไม่มีความรู้ คือผู้เทศน์ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมไม่อาจแยกแยะอธิบายให้ผู้ฟังได้แจ่มแจ้งชัดเจน ไม่มีความรู้ในหลักการเทศน์เพราะไม่มีประสบการณ์และไม่ได้ฝึกฝนมาในเรื่องนี้ ตลอดถึงไม่มีความรู้วิชาที่เป็นองค์ประกอบสำหรับใช้เป็นเครื่องประกอบในการเทศน์ เช่นความรู้ทั่วไป วิชาประวัติศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาวรรณคดี เป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วในตอนต้น

เมื่อผู้เทศน์ไม่มีความรู้หรือรู้ไม่ละเอียดลึกซึ้ง เมื่อเทศน์ก็จะเทศน์ไปตามความรู้ที่มีอยู่ ทำให้ขาดตกบกพร่อง เกิดความไม่ถูกต้องไม่ชัดเจนได้ง่าย ซึ่งผู้ฟังที่พอมีความรู้ในวิชาต่างๆ ข้างต้นอยู่บ้างก็จะฟังออกและคิดว่าการฟังเทศน์ของตนครั้งนี้ไม่ได้รับประโยชน์ทางด้านเนื้อหาสาระ ไม่ได้เพิ่มพูนความรู้เข้าใจในธรรมข้อใหม่ๆ ให้ กล่าวคือไม่ได้รับอานิสงส์แห่งการฟังธรรมนั่นเอง ก็ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะฟังเทศน์อีก
 
ไม่มีการเตรียมการ คือผู้เทศน์ไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ไม่เตรียมเรื่องที่จะเทศน์ ไม่เตรียมคิดหรือค้นหาคำอธิบายข้อธรรมเพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจน ไม่สอบถามรายละเอียดที่เกี่ยวกับงานอันเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเป็นเครื่องประกอบเวลาเทศน์เช่นเป็นงานอะไร ใครเป็นเจ้าภาพเป็นต้น จะได้เทศน์ได้ถูกงานและถูกคนเมื่อไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า เวลาเทศน์จึงขาดข้อมูล ขาดประเด็นสำคัญของข้อธรรมที่ควรแสดงในงานเช่นนั้น ท้ายที่สุดก็จะเทศน์แบบสุกเอาเผากิน พอให้ผ่านไป พอเป็นกิริยาบุญ

ผู้ที่ฟังเทศน์เมื่อซึ่งประสบกับภาวะเช่นนี้บ่อยๆ หรือเป็นประจำก็จะเกิดความระอาใจ เกิดความเบื่อหน่ายที่จะมานั่งทนฟังในสิ่งที่ไม่ถูกกับความประสงค์ไม่ก่อให้เกิดสติปัญญาอะไรมากนัก บางครั้งอาจได้บาปเสียด้วยเนื่องจากนึกตำหนิพระเทศน์อยู่ในใจ กลายเป็นโทษไปไม่คุ้มเลย จึงไม่ฟังเสียดีกว่า

แม้จะไม่ได้บุญแต่ก็ไม่ได้บาปติดตัวเพราะนึกตำหนิพระหรือเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการเทศน์ของท่านไม่มีความกระตือรือร้นในการเทศน์ คือผู้เทศน์ขาดความตั้งใจในการเทศน์ ไม่คิดอยากจะเทศน์แต่จำใจต้องเทศน์เพราะเหตุผลบางอย่าง หรือไม่พร้อมที่จะเทศน์เพราะไม่มีอารมณ์ที่จะเทศน์บ้างกำลังเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่บ้าง ไม่ได้เตรียมตัวบ้าง ต้องรีบไปทำกิจอื่นบ้าง ต้องผละงานที่กำลังทำมาเทศน์ เพื่อฉลองศรัทธาเจ้าภาพหรือเพราะหน้าที่บังคับบ้าง

ภาวะเหล่านี้ทำให้ขาดความกระตือรือร้น เมื่อเทศน์ก็เทศน์แบบเสียไม่ได้ เทศน์พอเป็นพิธี แต่ผลลัพธ์ก็คือทำให้เจ้าภาพหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ บางรายถึงกับน้อยเนื้อต่ำใจในตัวผู้เทศน์ว่าไม่เห็นความสำคัญแก่เขาและงานของเขา ทำให้ศรัทธาในตัวผู้เทศน์ลดลงไป สำหรับผู้ฟังทั่วไปจะเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการฟังเทศน์ด้วยเห็นว่าแม้ตัวผู้เทศน์เองยังไม่กระตือรือร้นในเรื่องนี้จะมีประโยชน์อะไรที่มาเสียเวลาฟังอะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดความเสียหายทำลายศรัทธาในการฟังเทศน์ลงไปโดยไม่สมควรเป็น

 



๒. สาเหตุจากบทเทศน์

สาเหตุข้อนี้เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระแห่งบทเทศน์ที่ผู้เทศน์ถ่ายทอดไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งมีความบกพร่อง ขาดความสมบูรณ์ ขาดเนื้อหาสาระที่สำคัญ จับประเด็นไม่ได้ ไม่น่าฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่สร้างความประทับใจ ไม่ดึงดูดจิตใจให้ติดตาม เป็นต้น

สาเหตุที่เกิดขึ้นจากบทเทศน์ได้แก่เนื้อหาสาระของบทเทศน์นั้นไม่ตรงกับงานคือผู้เทศน์ยกเรื่องหรือข้อธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำ เพราะงานแต่ละงานย่อมมีวัตถุประสงค์และรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป แต่ผู้เทศน์มิได้แยกแยะงานออกให้ชัดเพื่อจะได้เลือกหัวข้อธรรมและเลือกอธิบายให้เหมาะสมกับงานอันจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าไปกันได้ ไม่ขัดแย้งกับงานนั้นๆ เมื่อเรื่องที่เทศน์กับงานไปคนละทาง จึงไม่ดึงดูดความสนใจและทำให้เกิดความรู้สึกว่าขัดแย้งไม่ตรงความต้องการ คือผู้ฟังเทศน์มีความประสงค์จะฟังเรื่องเช่นนี้ ฟังข้อธรรมเช่นนี้

แต่ผู้เทศน์ไม่อาจรู้ถึงความต้องการของผู้ฟังได้ จึงเทศน์ไปตามความต้องการของตัวเองซึ่งได้เตรียมมาหรือมีความเห็นว่าเรื่องนี้ธรรมข้อนี้น่าจะเหมาะจะควร เลยทำให้ผู้ฟังรู้สึกผิดหวัง ไม่ได้ฟังตามที่ต้องการ แม้ว่าเรื่อง ข้อธรรม และเนื้อหาสาระที่ผู้เทศน์ได้แสดงไปนั้นจะมีความถูกต้องชัดเจนก็ตามแต่ไม่ตรงกับความต้องการของเขาเท่านั้นเป็น ไม่มีเนื้อหาน่าสนใจ คือ ผู้เทศน์ไม่อาจแยกแยะอธิบายขยายความหัวข้อธรรมได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน เนื้อหาที่เทศน์ก็ไม่น่าสนใจเช่นไม่ตรงประเด็นบ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงบ้าง เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว ไม่มีอะไรใหม่บ้าง จึงกลายเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ไม่น่าฟังไป หากผู้เทศน์สามารถอธิบาย อ้างเหตุผล ใช้ภาษาที่เหมาะสม

มีมุมมองใหม่ให้คิด มีแง่มุมใหม่ให้รู้ เนื้อหาที่แม้จะเก่าและรู้กันทั่วอยู่แล้วก็จะน่าสนใจขึ้นโดยพลัน เพราะผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่าได้รู้อะไรใหม่เพิ่มขึ้นไม่กระทบใจคือบทเทศน์หรือคำเทศน์ที่ผู้เทศน์ได้แสดงออกไปนั้นไม่มีคำในประโยคใดที่น่าประทับใจ ที่ทำให้เกิดความสะดุดใจเพราะโดนใจอย่างจังด้วยตรงกับความรู้สึกตรงกับเรื่องราวชีวิตของตัวหรือตรงกับความต้องการอยากจะรู้อยู่พอดี บทเทศน์ที่แสดงไปตามปกติ พื้นๆ แสดงแต่ความคิดความเห็นของตนไปตลอด ไม่มีคำคมไม่มีคำภาษิต ไม่มีคำเป็นหลักฐานซึ่งมีที่มาที่ไปชัดเจน

อย่างนี้ย่อมจะไม่กระทบใจผู้ฟังนัก ผิดกับคำที่พิเศษ คำที่มีความหมายลึก คำที่เป็นคำคมคำภาษิต เป็นคำคล้องจอง มีความหมายกินใจ คำเช่นนี้แม้จะเป็นเพียงคำหรือประโยคสั้นๆ แต่อาจจะโดนใจกระทบความรู้สึกเต็มที่เพราะให้สติให้ปัญญาผู้ฟังได้เป็นอย่างดี และอยากจะจดจำไว้เป็นข้อปฏิบัติ
 
@@@@@@@

๓. สาเหตุจากวิธีนำเสนอ

วิธีนำเสนอ คือเทคนิค ศิลปะ และกลวิธีในการถ่ายทอดธรรมไปสู่ผู้ฟัง ข้อนี้ก็เป็นเครื่องชี้วัดว่าการเทศน์นั้นน่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ ในการเทศน์แต่ละครั้งแม้ผู้เทศน์จะเตรียมตัวมาดี เนื้อหาสาระก็ดี แต่ขาดศิลปะในการถ่ายทอดเวลาแสดงธรรม ย่อมทำให้ความน่าสนใจลดน้อยลงไปมากทีเดียว ในการเทศน์แต่ละครั้งจำต้องอาศัยศิลปะในการแสดงเข้าช่วย เช่น ลีลาท่าทาง การวางเสียง ความดังของเสียง จังหวะคำ ความชัดเจนของภาษา เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เหมือนนักร้องและนักแสดงลิเกที่ปรับเสียงร้องให้เข้ากับบรรยากาศของเพลงที่ร้องหรือเรื่องที่แสดง ทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมถึงกับหลั่งน้ำตาก็มีจริงอยู่

การเทศน์นั้นมีขีดจำกัดในการนำเสนอ เพราะไม่อาจใช้วิธีหลากหลายตามใจชอบเหมือนการเผยแผ่ธรรมแบบอื่นได้ แต่ก็สามารถใช้ศิลปะต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นเข้ามาช่วยได้ และจำเป็นต้องอาศัยทุกครั้ง มิเช่นนั้นการเทศน์แต่ละครั้งจะดูจืดชืด ไปเรื่อยๆไม่มีอะไรให้น่าสนใจฟัง ผู้เทศน์ที่มีวิธีนำเสนอที่ดี มีลีลา และมีประสบการณ์ แม้บางครั้งอาจไม่ได้เตรียมตัวมาดี แม้บางครั้งจะไม่พร้อม หรือเป็นผู้มีเสียงไม่ใสไม่ชัดเจนเป็นปกติ แต่ฉลาดในการนำเสนอมีลีลาในการเทศน์ ก็สามารถดึงดูดความสนใจ

เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงได้เช่นกัน ตรงกันข้ามผู้เทศน์แม้จะมีการเตรียมตัวมาอย่างดี เตรียมเรื่องเทศน์มาอย่างดี ทั้งอธิบายความได้ถูกต้องชัดเจน แต่ขาดลีลา ขาดประสบการณ์ ขาดหลักวิธีในการเทศน์ ก็ทำให้เสียอรรถรสและความน่าสนใจไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งถ้าขาดทั้งความพร้อม ทั้งเนื้อหาสาระ และวิธีนำเสนอด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นตัวเร่งผลักดันให้ผู้คนเบื่อต่อการฟังเทศน์มากยิ่งขึ้น เท่ากับเป็นผู้มีส่วนทำลายระบบการเผยแผ่ธรรมด้วยการเทศน์ที่เดียว เพราะมีผลกระทบต่อระบบการเทศน์โดยภาพรวม และมีผลเป็นลบสืบเนื่องในระยะยาว


@@@@@@@

สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนไม่สนใจที่จะฟังธรรมเหล่านี้ เป็นภาพรวมที่เห็นได้ชัดเจน และทำให้เกิดปัญหาที่มีผลให้คนเบื่อที่จะฟังเทศน์ เมื่อจำเป็นต้องฟังก็ฟังพอเป็นพิธี ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ไม่สนใจที่จะฟัง เมื่อพระใช้เวลาเทศน์นานก็บ่นไม่พอใจ หรือบางครั้งถึงกับมาพูดขอร้องว่าเทศน์เท่านั้นเท่านี้นาทีก็พอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและหาทางแก้ไขกัน มิเช่นนั้นจะบานปลาย

ทำให้ผู้คนเห็นการเทศน์เป็นเพียงพิธีกรรมตามหลักศาสนพิธีเท่านั้น เมื่อถึงเวลานั้นก็เท่ากับว่า การเทศน์ซึ่งเป็นวิธีเผยแผ่ธรรมที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุดมาแต่อดีต ถูกลดความสำคัญลงจนแทบจะไม่มีความหมายอะไรแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้การเผยแผ่ธรรมที่แจ่มชัดรัดกุม มีที่มาที่ไปยาวนาน มีหลักฐานอ้างอิงได้ และเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นหลักในการวางรากฐานพระพุทธศาสนาจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาตลอด ก็จะไม่มีใครให้ความสำคัญ ไม่มีการสืบสานต่อด้วยการปฏิบัติให้จริงจัง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาโดยตรง
 





ขอขอบคุณ :-
บทความประจำวัน | วิธีเทศนา โดย พระมหาโพธิวงศาจารย์
เรื่อง "สาเหตุที่คนไม่อยากฟังธรรม" | วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2567
URL : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=23564
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ