ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ปีติ 5 : ความอิ่มใจ , ความดื่มด่ำ  (อ่าน 6174 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ปีติ 5 : ความอิ่มใจ , ความดื่มด่ำ
« เมื่อ: ธันวาคม 28, 2024, 06:37:58 am »
0
.



ขุททกาปีติ (บาลีวันละคำ 3,942)

ขุททกาปีติ 1 ในปีติ 5 อ่านว่า ขุด-ทะ-กา-ปี-ติ ประกอบด้วยคำว่า ขุททกา + ปีติ




 :25:

(๑) “ขุททกา”

รูปคำเดิมเป็น “ขุททก” เขียนแบบบาลีเป็น “ขุทฺทก” (มีจุดใต้ ทฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ขุด-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก ขุทฺ (ธาตุ = ไม่ทน) + ท ปัจจัย + ก ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ก-สกรรถ” (กะ-สะ-กัด) คือลง ก ข้างท้าย แต่มีความหมายเท่าเดิม : ขุทฺ + ท = ขุทฺท + ก = ขุทฺทก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่ทน” (คือแตกหักง่าย)

“ขุทฺทก” ในบาลีหมายถึง เล็ก, เลวกว่า, ต่ำต้อย ; ไม่สำคัญ, เป็นเรื่องปลีกย่อย (small, inferior, low ; trifling, insignificant)

“ขุทฺทก” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปีติ” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ขุทฺทกา”


@@@@@@@

(๒) “ปีติ”

อ่านว่า ปี-ติ (ปี– สระ อี) รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย : ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)

บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ) “ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ,’ ความยินดี, ความประโมท, ความสุข ; ความรัก, ความเสนหา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด ; joy, pleasure, happiness ; love, affection, regard ; the wife of Kâmadeva or Cupid ; the second of the twenty-seven astronomical yogas.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).”





ประสมคำ

ขุทฺทกา + ปีติ = ขุทฺทกาปีติ (ขุด-ทะ-กา-ปี-ติ) แปลว่า “ปีติเล็กน้อย”

“ขุทฺทกาปีติ” เขียนแบบไทยเป็น “ขุททกาปีติ” (ไม่มีจุดใต้ ท ตัวหน้า)

“ขุททกาปีติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554


@@@@@@@

ขยายความ

ลักษณะของ “ปีติ” ทั้ง 5 พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้

ปีติ : ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ

     ๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล
     ๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ
     ๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง
     ๔. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟู ตัวเบาหรืออุทานออกมา
     ๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ เป็นของประกอบกับสมาธิ (ข้อ ๔ ในโพชฌงค์ ๗)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [226] ประมวลความไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังนี้

ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — joy ; interest ; zest ; rapture)

     1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — minor rapture ; lesser thrill)
     2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — momentary or instantaneous joy)
     3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — showering joy ; flood of joy)
     4. อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา ลอยขึ้นไปในอากาศ — uplifting joy)
     5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้ — suffusing joy ; pervading rapture)

@@@@@@@

โปรดเปรียบเทียบกับความเข้าใจของฝรั่งที่ศึกษาบาลีแล้ว ขยายความไว้ ดังนี้

     1. khuddikā pīti : slight sense of interest (ความรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ)
     2. khaṇikā pīti : momentary joy (ความดีใจชั่วครู่)
     3. okkantikā pīti : oscillating interest, flood of joy (ความตื่นเต้นที่แกว่งไปมา หรือขึ้นๆ ลงๆ หรือความดีใจที่ประดังขึ้นมา)
     4. ubbegā pīti : ecstasy, thrilling emotion (ความซาบซ่านหรือความปลาบปลื้มอย่างสุดขีด)
     5. pharaṇā pīti : interest amounting to rapture, suffusing joy (ความตื่นเต้นถึงขีดลืมตัวหรือหมดสติ)

เฉพาะ “ขุททกาปีติ” คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ว่า

ขุทฺทกาปีติ สรีเร โลมหํสมตฺตเมว กาตุํ สกฺโกติ ฯ
ขุททกาปีติสามารถทำเพียงให้ขนในร่างกายชูชันขึ้นได้เท่านั้น
___________________________

ที่มา :
- สัทฺธัมมปัชโชติกา (อรรถกถามหานิทเทส) หน้า 180
- สัทธัมมปกาสินี (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) ภาค 1 หน้า 305
- อัฏฐสาลินี (อรรถกถาธัมมสังคณี) หน้า 253

@@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! ปีติเล็กน้อยไม่ใช่ของเล็กน้อย เงินร้อยมาจากเงินสลึง





ขอบคุณ : https://dhamtara.com/?p=26938
12 มิถุนายน 2023 | suriyan bunthae
#บาลีวันละคำ (3,942) | 29-3-66





ขณิกาปีติ (บาลีวันละคำ 3,943)

ขณิกาปีติ 1 ในปีติ 5 อ่านว่า ขะ-นิ-กา-ปี-ติ ประกอบด้วยคำว่า ขณิกา + ปีติ




 :25:

(๑) “ขณิกา”

รูปคำเดิมเป็น “ขณิก” อ่านว่า ขะ-นิ-กะ ประกอบขึ้นจาก ขณ + อิก ปัจจัย

(ก) “ขณ” อ่านว่า ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก

    (1) ขณฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ (อะ) ปัจจัย : ขณ+ อ = ขณ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์”
    (2) ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ, ลบ อี ที่ ขี ตามสูตร “ลบสระหน้า” (ขี + ยุ, ขี อยู่หน้า ยุ อยู่หลัง) : ขี + ยุ > อน = ขีน > ขีณ > ขณ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่สิ้นไปแห่งอายุของเหล่าสัตว์”

“ขณ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ครู่หนึ่ง, เวลาชั่วครู่ (a short moment, wink of time)

บาลี “ขณ” สันสกฤตเป็น “กฺษณ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

(สะกดตามต้นฉบับ) “กฺษณ : (คำนาม) พิกัดเวลา (เท่ากับสามสิบกลาหรือสี่นาที) ; เวลาครู่หนึ่ง ; งารสมโภชหรือฉลอง ; เวลาว่างกิจ ; โอกาศ ; ความขึ้นแก่ ; ศูนย์กลาง, กลาง ; a measure of time (equal to thirty Kalās or four minutes) ; a moment ; a festiva l; vacation, leisure, opportunity ; dependence or servitude ; the centre, the middle ;- (กริยาวิเศษณ์) สักครู่หนึ่ง ; for a moment.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“ขณะ : (คำนาม) ครู่, ครั้ง, คราว, เวลา, สมัย. (ป.; ส. กษณ).”

(ข) ขณ + อิก ปัจจัย : ขณ + อิก = ขณิก (ขะ-นิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยเวลาครู่หนึ่ง” หมายถึง ชั่วเวลาเล็กน้อย (momentary)

“ขณิก” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปีติ” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ขณิกา”


@@@@@@@

(๒) “ปีติ”

อ่านว่า ปี-ติ (ปี– สระ อี) รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย : ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)

บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ) “ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ,’ ความยินดี, ความประโมท, ความสุข ; ความรัก, ความเสนหา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด ; joy, pleasure, happiness ; love, affection, regard ; the wife of Kâmadeva or Cupid ; the second of the twenty-seven astronomical yogas.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).”





ประสมคำ

ขณิกา + ปีติ = ขณิกาปีติ (ขะ-นิ–กา-ปี-ติ) แปลว่า “ปีติชั่วขณะ”

“ขณิกาปีติ” เขียนแบบเดียวกันทั้งบาลีทั้งไทย

“ขณิกาปีติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554


@@@@@@@

ขยายความ

ลักษณะของ “ปีติ” ทั้ง 5 พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้

ปีติ : ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ

     ๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล
     ๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ
     ๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง
     ๔. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟู ตัวเบาหรืออุทานออกมา
     ๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ เป็นของประกอบกับสมาธิ (ข้อ ๔ ในโพชฌงค์ ๗)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [226] ประมวลความไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังนี้

ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — joy; interest; zest; rapture)

     1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — minor rapture ; lesser thrill)
     2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — momentary or instantaneous joy)
     3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — showering joy ; flood of joy)
     4. อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา ลอยขึ้นไปในอากาศ — uplifting joy)
     5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้ — suffusing joy ; pervading rapture)

@@@@@@@

โปรดเปรียบเทียบกับความเข้าใจของฝรั่งที่ศึกษาบาลีแล้ว ขยายความไว้ ดังนี้

     1. khuddikā pīti : slight sense of interest (ความรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ)
     2. khaṇikā pīti : momentary joy (ความดีใจชั่วครู่)
     3. okkantikā pīti : oscillating interest, flood of joy (ความตื่นเต้นที่แกว่งไปมา หรือขึ้นๆ ลงๆ หรือความดีใจที่ประดังขึ้นมา)
     4. ubbegā pīti : ecstasy, thrilling emotion (ความซาบซ่านหรือความปลาบปลื้มอย่างสุดขีด)
     5.  pharaṇā pīti : interest amounting to rapture, suffusing joy (ความตื่นเต้นถึงขีดลืมตัวหรือหมดสติ)

เฉพาะ “ขณิกาปีติ” คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ว่า

ขณิกาปีติ  ขเณ  ขเณ  วิชฺชุปฺปาทสทิสา  โหติ  ฯ

แปลตามศัพท์ว่า “ขณิกาปีติย่อมเป็นเช่นกับความเกิดขึ้นแห่งสายฟ้าในขณะ ๆ”

แปลตามความว่า “ปีติชั่วขณะทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ”
_________________________________

ที่มา :-
- สัทฺธัมมปัชโชติกา (อรรถกถามหานิทเทส) หน้า 180
- สัทธัมมปกาสินี (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) ภาค 1 หน้า 305
- อัฏฐสาลินี (อรรถกถาธัมมสังคณี) หน้า 253

@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! ชั่วขณะฟ้าแลบอย่าคิดว่าไม่สำคัญ นรกหรือสวรรค์-แค่นั้นก็ไปได้ทันที






ขอบคุณ : https://dhamtara.com/?p=26942
12 มิถุนายน 2023 | suriyan bunthae
#บาลีวันละคำ (3,943) | 30-3-66
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 28, 2024, 06:45:50 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ปีติ 5 : ความอิ่มใจ , ความดื่มด่ำ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 28, 2024, 08:58:47 am »
0
.



โอกกันติกาปีติ (บาลีวันละคำ 3,944)

โอกกันติกาปีติ 1 ในปีติ 5 อ่านว่า โอก-กัน-ติ-กา-ปี-ติ ประกอบด้วยคำว่า โอกกันติกา + ปีติ




 :25:

(๑) “โอกกันติกา”

รูปคำเดิมเป็น “โอกกันติก” เขียนแบบบาลีเป็น “โอกฺกนฺติก” (มีจุดใต้ กฺ ตัวหน้า และใต้ นฺ) อ่านว่า โอก-กัน-ติ-กะ รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปสรรค = ลง) + กมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; ก้าวไป) + ติ ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (โอ + กฺ + กมฺ), แปลงที่สุดธาตุเป็น นฺ (กมฺ > กนฺ) + ก ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ก-สกรรถ” (กะ-สะ-กัด) คือลง ก ข้างท้าย แต่มีความหมายเท่าเดิม : โอ + กฺ + กมฺ = โอกฺกมฺ + ติ = โอกฺกมฺติ > โอกฺกนฺติ + ก = โอกฺกนฺติก แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวลง” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง สิ่งซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ, เกิดขึ้นอีก (coming into existence again and again, recurring)

“โอกฺกนฺติก” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปีติ” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โอกฺกนฺติกา”

(๒) “ปีติ” ดูกระทู้ด้านบน

@@@@@@@

ประสมคำ

โอกฺกนฺติกา + ปีติ = โอกฺกนฺติกาปีติ (โอก-กัน-ติ-กา-ปี-ติ) แปลว่า “ปีติเกิดแล้วเกิดอีก” คือ ปีติเกิดขึ้นแล้วหายไป แล้วเกิดขึ้นอีก แล้วหายไปอีก เกิดๆ หายๆ อยู่เช่นนี้ ท่านจึงแปลความว่า “ปีติเป็นพักๆ”

“โอกฺกนฺติกาปีติ” เขียนแบบไทยเป็น “โอกกันติกาปีติ” (ไม่มีจุดใต้ ก ตัวหน้า)

“โอกกันติกาปีติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554




ขยายความ ดูกระทู้ด้านบน


เฉพาะ “โอกกันติกาปีติ” คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ว่า

โอกฺกนฺติกาปีติ สมุทฺทตีรํ วีจิ วิย กายํ โอกฺกมิตฺวา โอกฺกมิตฺวา ภิชฺชติ ฯ

โอกกันติกาปีติทำให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกายแล้วหายไป เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
________________________________________
ที่มา :-

- สัทฺธัมมปัชโชติกา (อรรถกถามหานิทเทส) หน้า 180
- สัทธัมมปกาสินี (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) ภาค 1 หน้า 305
- อัฏฐสาลินี (อรรถกถาธัมมสังคณี) หน้า 253

@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! แม้ปีติจะเกิดเป็นพักๆ ก็ขอให้รักกันตลอดเวลา (นะจ๊ะ)




ขอบคุณ : https://dhamtara.com/?p=26947
13 มิถุนายน 2023 | suriyan bunthae
#บาลีวันละคำ (3,944) | 31-3-66





อุพเพงคาปีติ (บาลีวันละคำ 3,945)

อุพเพงคาปีติ 1 ในปีติ 5 อ่านว่า อุบ-เพง-คา-ปี-ติ ประกอบด้วยคำว่า อุพเพงคา + ปีติ




 :25:

(๑) “อุพเพงคา”

รูปคำเดิมเป็น “อุพเพงค” เขียนแบบบาลีเป็น “อุพฺเพงฺค” (มีจุดใต้ พฺ ตัวหน้าและใต้ งฺ) อ่านว่า อุบ-เพง-คะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + วิชฺ (ธาตุ = กลัว, ตกใจ, หวาด; ไหว, สั่น) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน พฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ, แปลง ว ต้นธาตุเป็น พ, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ, แผลง อิ ที่พยัญชนะต้นธาตุเป็น เอ, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น ค (วิชฺ > วึชฺ > วิงฺช > พิงฺช > เพงฺช > เพงฺค) : อุ + พฺ + วิชฺ > พิชฺ = อุพฺพิชฺ + อ = อุพฺพิช > อุพฺพึช > อุพฺพิงฺช > อุพฺเพงฺช > อุพฺเพงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่หวาดไหวขึ้น” “อาการที่โลดลอยขึ้น” หมายถึง ความตื่นเต้น, ความตกใจ, ความสะดุ้ง (excitement, fright, anguish)

อนึ่ง ศัพท์นี้ไม่ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ ได้รูปเป็น “อุพฺเพค” ก็มี

บาลี “อุพฺเพงฺค” สันสกฤตเป็น “อุเทฺวค”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

“อุเทฺวค : (คำวิเศษณ์) หนักแน่น, มีใจหนักแน่นหรือสำรวมแล้ว, เฉย ; steady, composed, tranquil or quiet ; – (คำนาม) ความกลัว ; ความร้อนใจ; ทุกข์เพราะจากของรัก ; การขึ้น; ความพิศวง ; fear ; anxiety ; distress occasioned by separation from a beloved object ; ascending, mounting, going up ; astonishment or admiration.”

“อุพฺเพงฺค” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปีติ” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อุพฺเพงฺคา”

(๒) “ปีติ” ดูกระทู้ด้านบน

@@@@@@@

ประสมคำ

อุพฺเพงฺคา + ปีติ = อุพฺเพงฺคาปีติ (อุบ-เพง-คา-ปี-ติ) แปลว่า “ปีติโลดลอย” 

“อุพฺเพงฺคาปีติ” เขียนแบบไทยเป็น “อุพเพงคาปีติ” (ไม่มีจุดใต้ พ ตัวหน้าและใต้ ง)

“อุพเพงคาปีติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554





ขยายความ ดูกระทู้ด้านบน

เฉพาะ “อุพเพงคาปีติ” คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ว่า

อุพฺเพงฺคาปีติ พลวตี โหติ กายํ อุทฺธคฺคํ กตฺวา อากาเส ลงฺฆาปนปฺปมาณปฺปตฺตา ฯ

อุพเพงคาปีติเป็นปีติอย่างแรงจนตัวลอย (ถ้าแรงถึงขนาด) อาจถึงกับลอยไปในอากาศได้
____________________________________

ที่มา :-
- สัทฺธัมมปัชโชติกา (อรรถกถามหานิทเทส) หน้า 180
- สัทธัมมปกาสินี (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) ภาค 1 หน้า 305
- อัฏฐสาลินี (อรรถกถาธัมมสังคณี) หน้า 253

@@@@@@@

ในคัมภีร์อัฏฐสาลินีท่านเล่าเรื่องประกอบไว้ 2 เรื่อง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในลังกาทวีป

เรื่องหนึ่ง พระเถระรูปหนึ่งกำลังเดินไปไหว้พระเจดีย์ในคืนวันเพ็ญ ตามองพระเจดีย์ ใจนึกถึงประชุมชนที่กำลังชุมนุมกันไหว้พระเจดีย์ เกิดปีติสุดขีด ตัวลอยไปถึงลานพระเจดีย์ได้

อีกเรื่องหนึ่ง พ่อแม่ไปฟังเทศน์ตอนกลางคืน ลูกสาวอยากไปด้วย แต่พ่อแม่บอกว่า กลางค่ำกลางคืนไม่ปลอดภัย อย่าไปเลย พ่อแม่จะเอาบุญมาฝาก ลูกสาวยืนมองพ่อแม่เดินไปวัด ตามองเห็นยอดพระเจดีย์ที่วัดท่ามกลางแสงจันทร์ เกิดปีติสุดขีด ตัวลอยไปถึงลานพระเจดีย์ก่อนพ่อแม่ พ่อแม่แปลกใจ ถามว่านี่มาได้อย่างไร ลูกสาวบอกว่า มองเห็นยอดพระเจดีย์เกิดปีติ ไม่รู้ว่าตัวลอยมาได้อย่างไร

@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! บุญยกใจให้สูง บาปกดใจให้ต่ำ ทำแล้วจะรู้ได้ด้วยตัวเอง





ขอบคุณ ; https://dhamtara.com/?p=26951
#บาลีวันละคำ (3,945) | 1-4-66
13 มิถุนายน 2023 | suriyan bunthae






ผรณาปีติ (บาลีวันละคำ 3,946)

ผรณาปีติ 1 ในปีติ 5 อ่านว่า ผะ-ระ-นา-ปี-ติ ประกอบด้วยคำว่า ผรณา + ปีติ




 :25:

(๑) “ผรณา”

รูปคำเดิมเป็น “ผรณ” อ่านว่า ผะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก ผรฺ (ธาตุ = แผ่ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ : ผรฺ + ยุ > อน = ผรน > ผรณ แปลตามศัพท์ว่า “การแผ่ไป”

“ผรณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้

(1) เป็นคำนาม: การแผ่ไป, การซ่านไป, ความซาบซึ้ง (pervasion, suffusion, thrill)

(2) เป็นคุณศัพท์: แผ่ไป, ซ่านไป [กับ], เต็มเปี่ยม [ด้วย] (pervading, suffused [with], quite full [of])

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ผรณ” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้

“ผรณ– : (คำนาม)  การแผ่ไป, การซ่านไป. (ป.).”

“ผรณ” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปีติ” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ผรณา”

(๒) “ปีติ”

@@@@@@@

ประสมคำ

ผรณา + ปีติ = ผรณาปีติ (ผะ-ระ-นา-ปี-ติ) แปลว่า “ปีติซาบซ่าน”

“ผรณาปีติ” เขียนแบบเดียวกันทั้งบาลีทั้งไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ผรณาปีติ” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้

“ผรณาปีติ : (คำนาม) ปีติที่เกิดแล้วทําให้รู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกาย. (ป.).”





ชวนคิด

คำว่า “ผรณาปีติ” ที่พจนานุกรมฯ เก็บไว้นี้ น่าจะมาจากที่มาเดียวกับคำที่เป็นชุดของ “ปีติ” ทั้ง 5 พจนานุกรมฯ เอา “ผรณาปีติ” มาเก็บไว้คำเดียว แต่ไม่เอาอีก 4 คำมาเก็บไว้ด้วย น่าคิดว่า พจนานุกรมฯ มีเหตุผลอย่างไร?

ขยายความ ดูกระทู้ด้านบน

เฉพาะ “ผรณาปีติ” คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ว่า

ผรณาปีติ อติพลวตี โหติ ฯ ตาย หิ อุปฺปนฺนาย สกลสรีรํ ผริตฺวา ปูริตวุฏฺฐิ วิย มหตา อุทโกเฆน ปกฺขนฺทปพฺพ กุจฺฉิ วิย จ อนุปริผุฏํ โหติ ฯ

ผรณาปีติเป็นปีติมีกำลังกล้า เมื่อเกิดขึ้นจะแผ่ซ่านเอิบอาบไปทั่วร่างกาย ดุจเต็มไปด้วยเม็ดฝน และดุจเวิ้งเขาที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมฉะนั้น
_________________________________________

ที่มา :-
- สัทฺธัมมปัชโชติกา (อรรถกถามหานิทเทส) หน้า 180-181
- สัทธัมมปกาสินี (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) ภาค 1 หน้า 305
- อัฏฐสาลินี (อรรถกถาธัมมสังคณี) หน้า 255

@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! ซาบซึ้งอยู่ได้นาน ซาบซ่านอยู่ได้น้อย





ขอบคุณ : https://dhamtara.com/?p=26955
#บาลีวันละคำ (3,946) | 2-4-66
13 มิถุนายน 2023 | suriyan bunthae
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 28, 2024, 09:04:11 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ