ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ศาสนาผี ‘ที่สุดในโลก’  (อ่าน 25 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ศาสนาผี ‘ที่สุดในโลก’
« เมื่อ: เมษายน 27, 2025, 07:00:19 am »
0
.



ศาสนาผี ‘ที่สุดในโลก’

บางตอนจากหนังสือ ศาสนาผี ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศาสนาผีเป็นศาสนามวลชนเก่าแก่ที่สุด และมีคนนับถือมากที่สุดในโลก จึงแผ่ความเชื่อหล่อหลอมคนส่วนมากก่อนมีศาสนาใหญ่สมัยหลัง

แต่ศาสนาผีไม่เอื้อต่อการรวมศูนย์อำนาจ จึงเป็นเหตุให้ศาสนาพราหมณ์, พุทธจากอินเดีย เมื่อแผ่ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและอุษาคเนย์ ได้กลืนศาสนาผีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพราหมณ์, พุทธ ซึ่งทำให้ชนชั้นนำและคนส่วนมากครั้งนั้นนับถือศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ ที่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองการปกครองด้วยการค้ำจุนอำนาจรวมศูนย์ของชนชั้นนำในบ้านเมืองสมัยนั้น แล้วสืบทอดจนสมัยนี้

ประเทศไทยนับถือศาสนาหลักที่ถูกสมมุติเรียกชื่อใหม่ว่า “ศาสนาไทย” อันเป็นมรดกตกทอดการผสมกลมกลืนของศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ นับพันๆ ปีมาแล้ว ซึ่งมีวิถีต่างจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในอินเดีย และศาสนาพุทธในพระไตรปิฎก

โครงกระดูกมนุษย์นับพันปีที่นักโบราณคดีขุดพบในไทยและเพื่อนบ้าน ล้วนเป็นผลจากพิธีกรรมหลังความตายทางศาสนาผี ซึ่งต้องมีนิยามและคำอธิบายตามความเชื่อทางศาสนาผี ที่ต่างกันมากกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับศาสนาพุทธจากอินเดีย

@@@@@@@

ศาสนาผี มาจากไหน.?

ศาสนาผี หมายถึง ระบบความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ว่าบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ดีและร้าย ทั้งในโลกผีกับโลกมนุษย์ หรือเมืองผีกับเมืองมนุษย์ โดยจัดให้โลกผีหรือเมืองผีอยู่ต่างมิติ ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ แยกส่วนได้

[เมื่อเทียบความเชื่อของพราหมณ์กับพุทธจะพบว่าต่างกันมาก เนื่องจากศาสนาผีไม่มีวิญญาณ, ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีสวรรค์, ไม่มีนรก, ไม่มีเผาศพ, ไม่มีเทวดา, ไม่มีนางฟ้า, ไม่มียมบาล ฯลฯ]

ความเชื่อผีก่อนหน้านี้ถูกเหยียด และไม่ได้รับการยอมรับเป็นศาสนาจากสังคมทั่วไป แต่ทางวิชาการสากลยกย่องให้ความสำคัญว่าความเชื่อผีเป็นศาสนาหนึ่งในโลกดังนี้

     1. ศาสนาผีเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุหลายพันหลายหมื่นปีมาแล้ว นับไม่ถ้วน

     2. ศาสนาผีเป็นศาสนามวลชนเก่าแก่ที่สุด ที่มีคนนับถือมากที่สุดในโลก นับไม่ถ้วน

     3. ศาสนาผีไม่เอื้อต่อการรวมศูนย์อำนาจ เป็นเหตุให้ศาสนาที่แผ่เข้ามาจากอินเดีย คือ ศาสนาพราหมณ์-พุทธได้กลืนศาสนาผีเข้าเป็นส่วนหนึ่งเรียก ผี, พราหมณ์, พุทธ เพื่อให้ค้ำจุนอำนาจรวมศูนย์กลางของชนชั้นนำในบ้านเมือง





ผีคืออะไร.?

ผี คือ ความเชื่อว่าเป็นสิ่งมีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่บันดาลให้เกิดผลกระทบถึงคน ทั้งผลดีและผลไม่ดี

หรืออีกด้านหนึ่งผีเป็นสิ่งประดิษฐ์ตามจินตนาการของมนุษย์จากความเชื่อเรื่องขวัญ

ดังนั้น ผี คือ ขวัญของคนตาย หมายถึง ส่วนไม่เป็นตัวตนของคนตาย เพราะเมื่อขวัญออกจากร่างคนมีชีวิตจะทำให้คนนั้นตาย หรือผีคือขวัญของคนตายที่ออกจากร่าง บางทีเรียกผีขวัญ

@@@@@@@

ผีมาจากไหน.?

มาจาก
    (1.) ความเชื่อของคนในศาสนาผีเรื่องขวัญ
    (2.) ว่าคนตายกลายเป็นผี ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน, จับต้องไม่ได้, มองไม่เห็น, เคลื่อนไหวได้, แยกส่วนได้, ไม่มีเสียง ฯลฯ
    (3.) สิงสู่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ได้แก่ คน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ฯลฯ

ผีมาจากขวัญ คนดั้งเดิมในไทยเชื่อว่าผีมาจากขวัญ (คือส่วนไม่เป็นตัวตน) ตามความเชื่อศาสนาผีว่า “คนตาย ขวัญไม่ตาย” ขวัญกลายเป็นผี ทำให้มีโลก 2 มิติ ทับซ้อนกัน คือ โลกของคน กับ โลกของผี หมายถึง
    (1.) คนตาย เพราะขวัญหายออกจากร่าง (ไม่รู้หายไปไหน?)
    (2.) ขวัญไม่ตาย กลายเป็นผี ร่อนเร่ไปไหนต่อไหน ไม่คืนร่าง
    (3.) ถ้าขวัญคืนร่าง เชื่อว่าคนจะฟื้น

จึงมีพิธีกรรมหลังความตาย เพื่อให้ขวัญคืนร่าง แต่คนไม่เคยฟื้น เพราะขวัญไม่เคยคืนร่าง ดังนั้นขวัญอยู่ต่างมิติในโลกผี

ขวัญ คือ ส่วนไม่เป็นตัวตนอยู่ในคนมีชีวิต ต่อมาเมื่อรู้จัก “วิญญาณ” ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ จึงรับคำว่าวิญญาณมาใช้งาน ครั้นนานไปก็ผสมกันระหว่างวิญญาณ, ขวัญ, ผี แล้วปนกันจนแยกไม่ได้

แต่ในความเป็นจริงใช้แทนกันไม่ได้ เพราะวิญญาณมีดวงเดียว แต่ขวัญมีหลายหลากมากกว่าหนึ่ง นอกจากนั้นวิญญาณมีเวียนว่ายตายเกิด แต่ขวัญไม่เวียนว่ายตายเกิด หมายถึง ไม่ตายและไม่เกิด

ผี (ในพุทธ) มาจากวิญญาณ คนไทยทุกวันนี้เชื่อว่าผีมาจากวิญญาณ (คือส่วนไม่เป็นตัวตน) ตามคำสอนพุทธเรื่อง “เวียนว่ายตายเกิด” หมายถึง ตายแล้วเกิด (ใหม่) ไม่รู้จบ

แต่วิญญาณมีดวงเดียว คนตาย วิญญาณดับ ไปจุติใหม่ทันที-ขึ้นสวรรค์/ลงนรก? ดังนั้น ผีจึงไม่มาจากวิญญาณ เพราะวิญญาณไปจุติแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ





ผีหลายพวก

ผีมี 2 พวกใหญ่ๆ คือ ผีดีและผีร้าย

ผีดี มี 2 ประเภท ซึ่งให้คุณและโทษต่อมนุษย์ คือ ผีดินกับผีฟ้า

ผีดิน หมายถึง ผีพื้นเมืองหลายพันปีมาแล้ว พบทั่วไปในชุมชนเก่าแก่แรกเริ่ม ได้แก่ ผีเรือน, ผีบ้าน, ผีเมือง, ผีดง, ผีป่า, ผีบก, ผีน้ำ (พญานาค) ฯลฯ

ผีฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า

ผีฟ้า โดยสรุปมีความเป็นมาดังนี้

     1. แหล่งรวมพลังขวัญของผีบรรพชน หรือผีชนชั้นนำที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ซึ่งถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีขวัญบรรพชนคนก่อนๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนพ้นโรคภัยไข้เจ็บและอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

     2. ถูกเรียกอีกชื่อว่าแถน (ราว 2,500 ปีมาแล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.1) ซึ่งได้จากภาษาจีนว่าเทียน แปลว่า ฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า [จากหนังสือ พงศาวดารโยนก ของ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เรียบเรียงเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2451] หลังจากนั้นเรียกรวมว่า “ผีฟ้าพญาแถน”

     แถน คือ ผีฟ้า มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ผู้สร้างทุกอย่างในโลกทั้งดินและฟ้า บรรดาคนในชุมชนบ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยานับพันปีมาแล้วนับถือแถน แต่กลายเสียงกลายรูปเป็นแผน ได้แก่ หลังรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู รู้จักพรหมเป็นเทวดาผู้สร้างทุกอย่างในจักรวาล มีอำนาจเหมือนแถน จึงเรียกพรหมด้วยคำไท-ไตอันคุ้นเคยว่าแผน แล้วยกเป็นใหญ่ว่า “ขุนแผน” พบในโองการแช่งน้ำตอนพระพรหมตรวจพื้นที่สร้างโลกว่า “ขุนแผน แรกเอาดิน ดูที่” (มีอธิบายละเอียดในหนังสือ โองการแช่งน้ำ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ดวงกมล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524 หน้า 39-55)

     3. ผีฟ้ากับคนติดต่อสื่อสารกันได้โดยผ่าน “ตัวกลาง” คือ ร่างทรง หรือคนทรงซึ่งเป็นหญิง

     4. คนในชุมชนถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากผีฟ้า ด้วยจารีตประเพณีพิธีกรรมในศาสนาผี ผ่านหมอมด

     5. ต้นตอลัทธิเทวราช (ราว พ.ศ.1400) ด้วยการปรับความเชื่อเข้ากับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเชิญผีขวัญของพระราชาที่สวรรคตขึ้นสวรรค์บนฟ้า เพื่อรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะ เป็นเทวราชา (ซึ่งไม่มีคตินี้ในอินเดีย) ดังนี้

ผีฟ้าถูกยกเป็นเทวราชา บนฟ้ามีผีขวัญบรรพชนนับไม่ถ้วน รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเรียกผีฟ้า หรือแถน ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคนที่มีชีวิตบนโลก เมื่อคนชั้นนำคนใหม่ตายไปก็ส่งผีขวัญรวมเป็นผีฟ้าหรือแถนเพิ่มอีกไม่รู้จบ

ต่อมา หลังรับความเป็นเทวะบนสวรรค์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย บรรดาคนชั้นนำอุษาคเนย์ร่วมกันปรับความเชื่อเรื่องผีฟ้าผีแถน (ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม) เข้ากับเทวะ โดยเชิญผีขวัญคนชั้นนำขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์ แล้วเรียกใหม่ว่าเทวราชา ในลัทธิเทวราช

เทวราชาอยู่บนสวรรค์ ควบคุมน้ำบนฟ้า มีพลังอำนาจบันดาลน้ำเหล่านั้นตกเป็นฝนหล่นถึงโลก บังเกิดความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

ผีร้าย ให้โทษอย่างเดียว เช่น ผีฉมบ-จะกละ-กระสือ-กระหัง (กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ 115 ปีก่อนอยุธยา พ.ศ.1778), ผีห่า คือ โรคระบาดทำให้คนตายมาก (เช่น กาฬโรค)



หมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ นำทางผีขวัญหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ตายแล้วขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นผีฟ้าตามความเชื่อทางศาสนาผี


โครงกระดูกหมา (แบบเต็มโครงสมบูรณ์) ในวัฒนธรรมบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว ขุดพบ (เมื่อ พ.ศ.2547) ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ยุคเดียวกัน ที่วัดโพธิ์ศรีใน ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี (ภาพจาก สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)




(บน) หมานำผีขวัญของคนตายสู่เมืองฟ้า ตามความเชื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นของกรมศิลปากรจำลองภาพเขียนสีที่เขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา)
(ล่าง) หมาทำท่าเหินจากฟ้า มีผีขวัญบรรพชนจูงควาย ภาพเขียนสี ราว 2,500 ปีมาแล้ว บนเขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร)





ภาพแสดงพิธีกรรมเข้าทรงผีฟ้าเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร ด้วยร่างทรงรวมหมู่คือภาพเขียนรูปคนสวมหน้ากากหัวสามเหลี่ยมตั้งบนรูปทรงกระบอก พร้อมด้วยรูปช้าง, ปลา, เต่า ฯลฯ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1

รูปหัวสามเหลี่ยมตั้งบนทรงกระบอกเป็นรูปคนใส่หน้ากากสวมเครื่องเข้าทรงในพิธีกรรม (ดังพบทุกวันนี้ในผีตาโขน) ไม่ใช่ตุ้ม (ซึ่งเป็นเครื่องมือดักปลาในแม่น้ำสมัยปัจจุบัน) ใช้จับปลาจำนวนมากเพื่อขายในตลาดของระบบทุนนิยม แต่สังคม 2,500 ปีที่แล้ว ทุกคนจับปลาหากินเองตามอัตภาพ ไม่มีตลาดซื้อขายปลาอย่างทุกวันนี้

พิธีกรรมเซ่นผี (หรือเลี้ยงผี) ของคนหลายชาติพันธุ์ บริเวณสองฝั่งโขง 2,500 ปีมาแล้ว เพื่อ
    (1.) ขอให้พ้นจากความแห้งแล้ง เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร เป็นพิธีกรรมประจำปี มีหน้าแล้งเดือน 4 เดือน 5 ถึงเดือน 6 และ
    (2.) ขอให้พ้นจากผีร้าย (คือโรคภัยไข้เจ็บ) เพื่อความอยู่ดีกิน หวาน (คือสบาย) เป็นพิธีจร จัดให้มีตามต้องการที่เกิดเหตุไม่ดี หรือมีผู้เจ็บไข้ได้ป่วย

หมอมด ผู้กำหนดนัดหมายและเป็นเจ้าพิธี มีตอนกลางคืนตั้งแต่ย่ำค่ำจนย่ำรุ่ง นานหลายวันหลายคืนต่อเนื่องกัน อาจเป็นเดือน (มด กลายจากคำเขมรว่ามะม๊วด มักเป็นคนเดียวกับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือ Chiefdom) เป็นร่างทรงของผีบรรพชน (ผีฟ้า, ผีแถน)

ฆ่าควาย ปรุงอาหารเซ่นผี และเลี้ยงคนที่ร่วมพิธี ส่วนเลือดควายใช้ป้ายหน้าผากและตามตัวตลอดจนเครื่องมือ หลัง เสร็จพิธีมีกินเลี้ยงและร้องรำทำเพลง พร้อมเป่าแคนและกระทุ้งกระบอกไผ่ รวมทั้งเล่นเครื่องมืออื่นๆ







ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_5123348
วันที่ 3 เมษายน 2568 - 12:41 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ