ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ถนอมอาหาร ช่วงน้ำท่วม แนะเคล็ดเก็บได้นาน...ปลอดภัย  (อ่าน 3384 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29299
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ถนอมอาหาร ช่วงน้ำท่วม แนะเคล็ดเก็บได้นาน...ปลอดภัย

เหตุการณ์น้ำท่วมได้แผ่ขยายไปในทุกพื้นที่ของประเทศ สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้นอกจากข้าว ของที่สูญเสียแล้วยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง ดังนั้น การถนอมอาหารแบบไทย มีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทันที
   
ผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมไม่มีผลกระทบต่อการถนอมอาหารแบบไทย ๆ เพราะขั้นตอนสำคัญคือ การใช้ เกลือและแสงแดด ที่จะเป็นปัจจัยหลักในการถนอมอาหารแม้น้ำจะท่วม แต่สามารถนำวัตถุดิบที่เหลืออยู่ในบ้านหรือไปซื้อมาทำเองได้
   
เช่นอาหารสดซึ่งสามารถเสียได้ง่ายถ้าไม่แช่ในตู้เย็น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์สามารถทำให้เก็บไว้ได้นาน เช่น หมูควรรวนให้สุก และปรุงให้มีรสชาติออกเค็มเล็กน้อย หรือไม่ก็ทำแดดเดียวโดยใช้น้ำปลา หรือเกลือ ตากหนึ่งแดดหรือตากแห้ง เพื่อจะเก็บไว้ได้นานกว่าเดิมหลายเท่า
   
สำหรับช่วงน้ำท่วมวัตถุดิบเช่น ปลา หาได้ง่ายเพราะสามารถจับได้ตามลำคลองที่มากับกระแสน้ำ ซึ่งสามารถถนอมได้โดยการนำมาทำปลาเค็มล้างให้สะอาดแล้วคลุกเคล้ากับเกลือแล้วตากแดด
   
ส่วนการทำ ปลาต้มเค็ม ให้ทำปลาก่อน ผ่าท้องเอาเครื่องในออก ระวังดีแตก ไม่ขอดเกล็ด ใช้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหั่น ล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะเตรียมไว้ ต่อมาทำความสะอาดอ้อยหวาน ตัด 15 ซม. ผ่า 4 เอาชิ้นอ้อยวางบนเขียง เอาสากทุบให้พอแตก วางเรียงลงก้นหม้อจนเต็ม แล้ววางขวางอีกชั้น

จากนั้นนำปลาวางเรียงลงไป ใส่น้ำให้ท่วมตัวปลา ใส่เกลือซอสปรุงรส น้ำมะขามเปียก น้ำตาล ต้มไฟแรง ไม่ต้องคน พอเดือดลดไฟลง เคี่ยวไปเรื่อย ๆ ระวังน้ำจะแห้งปลาโผล่ ถ้าน้ำน้อยให้เพิ่มน้ำอีก ต่อมาเอากระเทียม พริกไทย รากผักชีผัดน้ำมันให้หอม ตักลงหม้อ เคี่ยวต่อจนเกล็ดปลาและก้างนุ่ม อาจจะ 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่ปลา


ด้านการทำ ปลาส้ม ซึ่งสามารถถนอมอาหารไว้ได้นานทำโดยล้างทำความสะอาดปลา เอาไส้ออกให้หมด ใช้มีดบั้งที่ตัวปลาแล้วผสมเกลือกับน้ำเปล่า คนให้ละลาย นำปลามาแช่ในน้ำเกลือประมาณ 2-3 ชั่วโมง ใช้มือจับดูให้ปลามีลักษณะแข็ง ๆ พอแช่ได้ที่นำมาล้างน้ำเปล่าทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ คลุกกับข้าว กระเทียม ผงปรุงรส นำไปบรรจุลงในถุงพลาสติกทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน จนเปรี้ยว แล้วนำไปทอดก่อนรับประทาน
   
นอกจากการถนอมเนื้อปลาจากที่เล่ามาแล้วสามารถนำปลาที่มีอยู่ไปทำปลาร้า ปลาข้าวคั่ว หรือ แหนมปลา ได้อีกด้วย
   
ส่วนผักใบและผักหัวที่มีอยู่ที่บ้าน ควรใช้ผักใบก่อนผักหัว แต่ถ้าใช้ผักใบไม่หมด ให้นำไปต้มผักรวม เคล้ากับเกลือตากแห้ง แล้วนำมาต้มกับกระดูกหมู
   
ด้านผักหัว เช่น หัวไชเท้า เคล้ากับเกลือหมักไว้ 2-3 วัน แล้วนำมาตากแห้ง กะหล่ำปลี ซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ เคล้ากับเกลือใส่ข่าโขลกเล็กน้อย หมักไว้ประมาณ 1 เดือน จะเป็นตั้งฉ่ายสำหรับใส่ข้าวต้ม หรือใส่ก๋วยเตี๋ยว

   
ช่วงน้ำท่วมเมนูที่ทำควรปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อน 100 องศาฯ และไม่ควรทำเมนูที่มีส่วนผสมเป็นกะทิ เพราะจะ
ทำให้เสียง่าย ควรเป็นอาหารประเภท ผัด ทอด ต้ม

   

สำหรับเด็กและผู้สูงอายุเมนูที่ควรทำเพราะง่ายและไม่เผ็ดมาก เช่น แกงจืดไข่น้ำ ไข่เจียว ผัดวุ้นเส้น ซึ่งควรมีการล้างวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาด ขณะเดียวกันภาชนะต่าง ๆ ควรล้างให้เรียบร้อยก่อนนำมาใส่อาหารเพื่อความปลอดภัยของเด็กและผู้สูงอายุที่ภูมิต้านทานน้อย
   
ขณะที่ การหุงข้าวให้อยู่ได้นานควรหุงข้าวสวย โดยใช้อัตราส่วน ข้าว 1 ถ้วยต่อน้ำ 1 1/4 ถ้วย ซึ่งจะทำให้ข้าวที่หุงแล้วอยู่ได้นานกว่าที่เป็นอยู่ หลักง่าย ๆ ในการเลือกรับประทานอาหารที่จะเสียง่าย เช่น กินผักใบก่อนผักหัว และกินอาหารทะเลก่อนเนื้อสัตว์ และการปรุงอาหารควรใช้น้ำต้มสุก หรือน้ำประปา
   
ในส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในการปรุงอาหารช่วงน้ำท่วมต้องตรวจเช็กให้แน่ใจว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานอยู่ได้จริง เพราะมิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
   
การปรุงอาหารเป็นเรื่องสำคัญในภาวะวิกฤติเช่นนี้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราไม่ทันระวังอาจเป็นผลร้ายต่อสุขภาพและชีวิตได้.



วิธีปฏิบัติตนช่วงน้ำท่วม

1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือเข้าใกล้เสาไฟฟ้าทั้งนอกและในบ้านเพราะอาจโดนไฟฟ้าดูด
   
2. ไม่เข้าใกล้ทางน้ำไหลหรือร่องน้ำเพราะอาจเกิดผืนดินถล่ม

   
3. หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำหรือจับปลาเพราะอาจโดนน้ำพัดพาจมน้ำได้ หากระดับน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นให้รีบตัดไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
   
4. ในการช่วยเหลือคนตกน้ำ ให้ใช้ห่วงยาง ลูกมะพร้าว หรือเชือก โยนให้คนตกน้ำยึดตัวเองไว้ จะปลอดภัยมากกว่าลงไปช่วยด้วยตนเอง
   
5. หากสถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงจนถึงขั้นต้องอพยพออกนอกสถานที่ ให้ควบคุมสติ อย่าตื่นตกใจ และควรให้ความช่วยเหลือคนชราหรือเด็กก่อน โดยปฏิบัติตามแผนการอพยพหนีภัยไปยังสถานที่ปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น อยู่บนที่สูง อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สิน
   
6. ห้ามใช้ยานพาหนะสัญจรบนถนนที่น้ำท่วมและไหลเชี่ยวกราก เพราะความแรงเชี่ยวของกระแสน้ำอาจพัดพาหนะจมน้ำก่อให้เกิดอันตรายได้

   
7. ในการหนีน้ำท่วมควรหลีกเลี่ยงการอพยพหนีด้วยการข้ามลำน้ำที่มีระดับน้ำสูงเหนือเข่า เพราะอาจเกิดอันตรายได้ กรณีเกิดเหตุการณ์หรือดินโคลนถล่ม ให้ระมัดระวังก้อนหินหรือต้นไม้ที่หักโค่น
   
8. นอกจากนี้ ผู้ประสบภัย ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด เพื่อป้องกันโรคท้องร่วง ท้องเสีย
   
9. เก็บขยะไว้ในถุงขยะ เมื่อน้ำลดแล้วให้นำมาเผา ฝัง หรือทิ้งในที่เหมาะสมปลอดภัย เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคระบาดได้ เช่น ฉี่หนู อหิวาตกโรค
   
10. หมั่นติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจะได้เตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที

   
11. สุดท้ายนี้ หากประชาชนประสบเหตุอุทกภัย วาตภัย หรือโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางโทรศัพท์ สายด่วน 1784 (รับแจ้งเหตุสาธารณภัยและอุบัติเหตุทางถนนทุกประเภท) ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือต่อไป.



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=172218
http://2.bp.blogspot.com
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ