« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 11, 2011, 10:25:45 am »
0
ขอบเขตความสำคัญของสมาธิก) ประโยชน์ที่แท้ และผลจำกัดของสมาธิ
สมาธิเป็นองค์ธรรมที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่งก็จริง แต่ก็มีขอบเขตความสำคัญที่พึงตระหนักว่า สมาธิมีความจำเป็นแค่ไหนเพียงใด ในกระบวนการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงวิมุตติ อันเป็นจุดหมายของพุทธธรรม ขอบเขตความสำคัญนี้ อาจสรุปดังนี้
๑. ประโยชน์แท้ของสมาธิ ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น อยู่ที่ทำให้จิตเหมาะแก่งาน ซึ่งจะนำมาใช้เป็นที่ทำการสำหรับให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลดีที่สุด และสมาธิที่ใช้เพื่อการนี้ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสูงสุด
ในทางตรงข้าม ลำพังสมาธิอย่างเดียว แม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด หากไม่ก้าวไปสู่ขั้นการใช้ปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงจุดหมายของพุทธธรรมได้เป็นอันขาด
๒.ฌานต่างๆ ทั้ง ๘ ขั้น แม้จะเป็นภาวะจิตที่ลึกซึ้ง แต่ในเมื่อเป็นผลของกระบวนการปฏิบัติที่เรียกว่าสมถะอย่างเดียว ก็ยังเป็นเพียงโลกีย์เท่านั้น จะนำไปปะปนกับจุดหมายของพุทธธรรมหาได้ไม่
๓.หลุดพ้นได้ชั่วคราว กล่าวคือ ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลสำเร็จของสมาธินั้น กิเลสต่างๆ สงบระงับไป จึงเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นเหมือนกัน แต่ความหลุดพ้นนี้มีชั่วคราวเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะนั้นเท่านั้น และถอยกลับสู่สภาพเดิมได้ ไม่ยั่งยืนแน่นอน ท่านจึงเรียกความหลุดพ้นชนิดนี้ว่าเป็นโลกิยวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์) และกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบ คือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้) และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะกำลังสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่)
จากข้อพิจารณาที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า
- ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น องค์ธรรมหรือตัวการสำคัญที่สุดที่เป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้าย จะต้องเป็น ปัญญา และ
- ปัญญาที่ใช้ปฏิบัติการในขั้นนี้ เรียกชื่อเฉพาะได้ว่า “วิปัสสนา”
ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องก้าวมาถึงขั้นวิปัสสนาด้วยเสมอ ส่วนสมาธิ แม้จะจำเป็น แต่อาจยืดหยุ่นเลือกใช้ขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้ เริ่มแต่ขั้นต้นๆ เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ (ท่านแสดงไว้ในระดับเดียวกับ ขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ ดู หน้า ๓๓๑)
ข) สมถะ-วิปัสสนา
โดยนัยนี้ วิถีแห่งการเข้าถึงจุดหมายแห่งพุทธธรรมนั้น แม้จะมีสาระสำคัญว่า ต้องประกอบพร้อมด้วยองค์มรรคทั้ง ๘ ข้อเหมือนกัน แต่ก็อาจแยกได้โดยวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมาธิ เหมือนเป็น ๒ วิถี หรือวิธี คือ
๑.วิธีการที่มุ่งเฉพาะด้านปัญญา คือการปฏิบัติอย่างที่กล่าวไว้บ้างแล้วในเรื่องสัมมาสติ เป็นวิธีปฏิบัติที่สติมีบทบาทสำคัญ คือ ใช้สมาธิแต่เพียงขั้นต้นๆ เท่าที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติ หรือใช้สมาธิเป็นเพียงตัวช่วย แต่ใช้สติเป็นหลักสำคัญ สำหรับยึดจับหรือมัดสิ่งที่ต้องการกำหนดไว้ ให้ปัญญาตรวจพิจารณา นี้คือวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนา
แท้จริงนั้น ในการปฏิบัติวิธีที่ ๑ นี้ สมถะก็มีอยู่ คือการใช้สมาธิขั้นต้นๆ เท่าที่จำเป็นแก่การทำงานของปัญญาที่เป็นวิปัสสนา แต่เพราะการฝึกตามวิธีของสมถะไม่ปรากฏเด่นออกมา เมื่อพูดอย่างเทียบกันกับวิธีที่ ๒ จึงเรียกการปฏิบัติในวิธีที่ ๑ นี้ว่าเป็นแบบ วิปัสสนาล้วน
๒.วิธีการที่เน้นการใช้สมาธิ เป็นวิธีปฏิบัติที่สมาธิมีบทบาทสำคัญ คือบำเพ็ญสมาธิให้จิตสงบแน่วแน่ จนเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า ฌาน หรือสมาบัติ ขั้นต่างๆ เสียก่อน ทำให้จิตดื่มด่ำแน่นแฟ้นอยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้นๆ จนมีความพร้อมอยู่โดยตัวของมันเอง ที่จะใช้ปฏิบัติการต่างๆ อย่างที่เรียกว่าจิตนุ่มนวล ควรแก่การงาน โน้มไปใช้ในกิจที่ประสงค์อย่างได้ผลดีที่สุด
ในสภาพจิตเช่นนี้ กิเลสอาสวะต่างๆ ซึ่งตามปรกติฟุ้งขึ้นรบกวนและบีบคั้นบังคับจิตใจพล่านอยู่ ก็ถูกควบคุมให้สงบนิ่งอยู่ในเขตจำกัด เหมือนผงธุลีที่ตกตะกอนในเวลาน้ำนิ่ง และมองเห็นได้ชัดเพราะน้ำใส เหมาะสมอย่างยิ่งแก่การที่จะก้าวต่อไป สู่ขั้นใช้ปัญญาจัดการกำจัดตะกอนเหล่านั้นให้หมดไปโดยสิ้นเชิง การปฏิบัติในชั้นนี้ทั้งหมดเรียกว่าเป็น สมถะ
ถ้าไม่หยุดเพียงนี้ ก็จะก้าวต่อไปสู่ขั้นใช้ปัญญากำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นเชิง คือ ขั้นวิปัสสนา คล้ายกับในวิธีที่ ๑ แต่กล่าวตามหลักการว่า ทำได้ง่ายขึ้นเพราะจิตพร้อมอยู่แล้ว การปฏิบัติอย่างนี้ คือ วิธีที่เรียกว่าใช้ทั้งสมถะ และวิปัสสนา
ค) เจโตวิมุตติ-ปัญญาวิมุตติ; ปัญญาวิมุต-อุภโตภาควิมุต
ผลสำเร็จของการปฏิบัติตามวิถีที่ ๑ เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้น (เป็นอิสระสิ้นอาสวะ) ด้วยปัญญา เมื่อปัญญาวิมุตติเกิดขึ้น สมาธิขั้นเบื้องต้นที่ใช้เป็นฐานของการปฏิบัติมาแต่เริ่มแรก ก็จะมั่นคงและบริสุทธิ์สมบูรณ์เข้าควบคู่กับปัญญา กลายเป็น เจโตวิมุตติ แต่เจโตวิมุตติในกรณีนี้ไม่โดดเด่น เพราะเป็นเพียงสมาธิขั้นต้นเท่าที่จำเป็น ซึ่งพ่วงมาด้วยแต่ต้น แล้วพลอยถึงจุดสิ้นสุดบริบูรณ์ไปด้วยเพราะปัญญาวิมุตตินั้น
ผลสำเร็จของการปฏิบัติตามวิถีที่ ๒ แบ่งได้เป็น ๒ ตอน
ตอนแรก ที่เป็นผลสำเร็จของสมถะ เรียกว่า เจโตวิมุตติ คือ ความหลุดพ้น (เป็นอิสระพ้นอำนาจกิเลส-ชั่วคราว-เพราะคุมไว้ได้ด้วยกำลังสมาธิ) ของจิต และ
ตอนที่ ๒ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ เหมือนอย่างวิถีแรก เมื่อถึงปัญญาวิมุตติแล้ว เจโตวิมุตติที่ได้มาก่อนซึ่งเสื่อมถอยได้ ก็จะพลอยมั่นคงสมบูรณ์กลายเป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กลับกลายอีกต่อไป
เมื่อแยกโดยบุคคลผู้ประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติตามวิถีทั้งสองนี้
๑. ผู้ได้รับผลสำเร็จตามวิถีแรก ซึ่งมีปัญญาวิมุตติเด่นชัดออกหน้าอยู่อย่างเดียว เรียกว่า “ปัญญาวิมุต” คือผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา
๒. ส่วนผู้ได้รับผลสำเร็จตามวิถีที่ ๒ เรียกว่า “อุภโตภาควิมุต” คือผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน (ทั้งด้วยสมาบัติและอริยมรรค)
ข้อที่ควรทราบเพิ่มเติมและเน้นไว้เกี่ยวกับวิถีที่สอง คือ วิถีที่ใช้ทั้งสมถะ และวิปัสสนา ซึ่งผู้ปฏิบัติได้ผลสำเร็จเป็นอุภโตภาควิมุตนั้น มีว่า
๑. ผู้ปฏิบัติตามวิถีนี้ อาจประสบผลได้พิเศษในระหว่าง คือความสามารถต่างๆ ที่เกิดจากฌานสมาบัติด้วย โดยเฉพาะที่เรียกว่า อภิญญา ซึ่งมี ๖ อย่าง คือ
๑)อิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้- magical powers)
๒)ทิพพโสต (หูทิพย์- clairaudience หรือ divine ear)
๓)เจโตปริยญาณ (กำหนดใจหรือความคิดผู้อื่นได้- telepathy หรือ mind-reading)
๔)ทิพพจักขุ หรือ จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ หรือ รู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของตน- divine eye หรือ clairvoyance หรือ knowledge of the decease and rebirth of beings)
๕)ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (การระลึกชาติได้- reminiscence of previous lives)
๖)อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ความสิ้นอาสวะ- knowledge of the extinction of all cankers)
จะต้องทราบว่า ความรู้ความสามารถพิเศษ ที่เป็นผลได้ในระหว่าง ซึ่งท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต(อาจจะ)สำเร็จนั้น หมายถึงอภิญญา ๕ ข้อแรก อันเป็นอภิญญาขั้นโลกีย์ (โลกิยอภิญญา)
ส่วนอภิญญา ข้อที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ ข้อเดียว ซึ่งเป็นโลกุตตร- อภิญญา เป็นผลสำเร็จสุดท้ายที่เป็นจุดหมาย ทั้งของพระปัญญาวิมุต และพระอุภโตภาควิมุต อันให้สำเร็จความเป็นพุทธะ และเป็นพระอรหันต์
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติไม่ว่าวิถีแรก หรือวิถีที่ ๒ คือ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาวิมุต หรืออุภโตภาควิมุต ก็ต้องได้บรรลุอภิญญา ข้อที่ ๖ ที่เป็นโลกุตตระ คือ อาสวักขยญาณ
แต่ท่านผู้อุภโตภาควิมุต อาจจะได้อภิญญาขั้นโลกีย์ ๕ ข้อแรกด้วย
ส่วนท่านผู้ปัญญาวิมุต (วิถีแรก) จะได้เพียงอภิญญา ข้อที่ ๖ คือความสิ้นอาสวะอย่างเดียว ไม่ได้โลกิยอภิญญา ๕ ที่เป็นผลสำเร็จพิเศษอันเกิดจากฌาน
โลกิยอภิญญา ๕ นั้น ฤาษีโยคีก่อนพุทธกาลได้กันมาแล้วมากมาย
ความเป็นพุทธะ ความเป็นพระอรหันต์ ความเป็นผู้ประเสริฐ อยู่ที่ความสิ้นอาสวกิเลสด้วยอาสวักขยญาณ ซึ่งทั้งพระปัญญาวิมุต และพระอุภโต-ภาควิมุต มีเสมอเท่ากัน
๒. ผู้ปฏิบัติตามวิถีที่ ๒ จะต้องปฏิบัติให้ครบทั้ง ๒ ขั้นของกระบวนการปฏิบัติ
การปฏิบัติตามวิถีของสมถะอย่างเดียว แม้จะได้ฌาน ได้สมาบัติขั้นใดก็ตาม ตลอดจนสำเร็จอภิญญาขั้นโลกีย์ทั้ง ๕ ตาทิพย์ หูทิพย์ อ่านใจผู้อื่นได้ มีฤทธิ์ต่างๆ ก็เป็นได้แค่ฤาษีโยคีก่อนพุทธกาล ที่พระโพธิสัตว์เห็นว่ามิใช่ทางแล้ว จึงเสด็จปลีกออกมา
ถ้าไม่ก้าวหน้าต่อไปถึงขั้นวิปัสสนา หรือควบคู่ไปกับวิปัสสนาด้วยแล้ว จะไม่สามารถเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมเป็นอันขาดการใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ต่างๆ
การฝึกอบรมเจริญสมาธินั้น ย่อมมีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ต่างๆ กัน ขอให้พิจารณาตัวอย่างการใช้ประโยชน์ ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา (การเจริญสมาธิ) มี ๔ อย่าง ดังนี้ คือ
๑.สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรม-สุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)
๒.สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ
๓.สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ
๔.สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” อ้างอิง หนังสือพุทธธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
ขอบคุณภาพจาก
http://j5.tagstat.com/,http://2.bp.blogspot.com/