ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สมณทูต 9 สาย สมัยพระเจ้าอโศก ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่าอย่างไร  (อ่าน 112207 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
สมณทูต 9 สาย สมัยพระเจ้าอโศก ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่าอย่างไร


เรื่องส่งพระเถระไปประกาศพระศาสนาในต่างประเทศ

   ในการนำพระศาสนาสืบมาตามลำดับอาจารย์นั้น   มีอนุบุพพีกถาดังต่อไปนี้ : - 
   ได้ยินว่า พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ครั้นทำตติยสังคีตินั้นแล้ว ได้ดำริอย่างนี้ว่า  ในอนาคตพระศาสนา  จะพึงตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในประเทศไหนหนอแล ?


        ลำดับนั้น เมื่อท่านใคร่ครวญอยู่ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า พระศาสนาจักตั้งมั่นอยู่ด้วยดี  ในปัจจันติมชนบททั้งหลาย. ท่านจึงมอบศาสนกิจนั้น  ให้เป็นภาระของภิกษุเหล่านั้น  แล้วส่งภิกษุเหล่านั้นๆ ไปในรัฐนั้นๆ คือ

     ส่งพระมัชฌันติเถระไปยัง รัฐกัสมีรคันธาระ ด้วยสั่งว่าท่านไปยังรัฐนั่นแล้ว จงประดิษฐานพระศาสนาในรัฐนั่น. 
     ท่านได้สั่งพระมหาเทวเถระอย่างนั้นเหมือนกัน  แล้วส่งไปยัง มหิสกมณฑล 
     ส่งพระรักขิตเถระไปยัง วนวาสีชนบท 
     ส่งพระโยนกธรรมรักขิตเถระไปยัง อปรันตกชนบท
     ส่งพระมหาธรรมรักขิตเถระไปยัง มหารัฐชนบท 
     ส่งพระมหารักขิตเถระไปยังโลกเป็นที่อยู่ของ ชาวโยนก 
     ส่งพระมัชฌิมเถระไปยังชนบทอันเป็นส่วนหนึ่งแห่ง หิมวัตประเทศ
     ส่งพระโสณกเถระ พระอุตตรเถระ ไปยังสุวรรณภูมิชนบท
     ส่งพระมหินทเถระผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตนกับพระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระสัมพลเถระ พระภัททสาลเถระ  ไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีป  ด้วยสั่งว่า  พวกท่านไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้วจงประดิษฐานกระศาสนาในเกาะนั่น. 


    พระเถระแม้ทั้งหมดเมื่อจะไปยังทิสาภาคนั้นๆ ก็เข้าใจอยู่ว่า ในปัจจันติชนบททั้งหลายต้องมี คณะปัญจวรรค  จึงสมควรทำอุปสมบทกรรมได้  ดังนี้  จึงไปกับพวกละ ๕ รวมกับตน.


ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก หนังสือ"เรียนรู้พุทธประวัติด้วยแผนที่" โดย พระสุตาวุธวิสิฐ (ขรรค์ชัย ชนะกุล)



การแพร่กระจายของพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

การสังคายนาครั้งที่ 3

เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา มีพระโมคคัลลีบุรติสสะเป็นประธาน ใช้เวลา 9 เดือนจึงสำเร็จในการสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุรติสสะ ได้แต่งกถาวัตถุขึ้น เพื่ออธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง

หลังจากการสังคายนาสิ้นสุดลง พระเจ้าอโศกฯได้ส่งสมณทูต 9 สายออกเผยแผ่พุทธศาสนา คือ

    ๑. คณะพระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นแคชเมียร์และแคว้นคันธาระ
    ๒. คณะพระมหาเทวะ ไป มหิสกมณฑล ซึ่งคือ แคว้นไมซอร์และดินแดนลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ในอินเดียใต้ปัจจุบัน
    ๓. คณะพระรักขิตะ ไปวนวาสีประเทศ ได้แก่ แคว้นบอมเบย์(ในปัจจุบันคือมุมไบ)
    ๔. คณะพระธรรมรักขิต ไป อปรันตกชนบท แถบทะเลอาหรับทางเหนือของบอมเบย์
    ๕. คณะพระมหาธรรมรักขิต ไปแคว้นมหาราษฎร์
    ๖. คณะพระมหารักขิต ไปโยนกประเทศ ได้แก่แคว้นกรีกในเอเชียกลาง อิหร่าน และเตอร์กิสถาน
    ๗. คณะพระมัชฌิมเถระ ไปแถบเทือกเขาหิมาลัย คือ เนปาลปัจจุบัน
    ๘. คณะพระโสณะ และพระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไทย พม่า มอญ
    ๙. คณะพระมหินทระ ไปลังกา


ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสนาพุทธ
ขอบคุณภาพจาก หนังสือ"เรียนรู้พุทธประวัติด้วยแผนที่" โดย พระสุตาวุธวิสิฐ (ขรรค์ชัย ชนะกุล)


    เรื่องที่นำเสนอนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก กระทู้ของคุณครูอริสา (username : tcarisa)      
     "สายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนา ที่ไปทั่วโลก มีกี่สาย"
     http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=1104.msg4548#msg4548

     และกระทู้ของคุณมหายันต์ (username : มหายันต์ )     
     "ขอเสนอให้ทีมงาน เสนอประวัติของ พระโสณะ พระอุตตระ ด้วยครับ"
     http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5942.msg22286#msg22286

     และขอขอบคุณ คุณ Tanay007 เว็บดีเอ็มซี ที่แจ้งที่มาในพระไตรปิฎก
     http://www.dmc.tv/forum/lofiversion/index.php/t8448.html

     ขอขอบคุณทุกท่านที่เอ่ยนาม
     เรื่องสมณทูต ๙ สาย ยังไม่จบเท่านี้นะครับ ผมยังมีรายละเอียดทั้งเก้าสายมาให้อ่้าน
     ขอพักสักครู่ เดี๋ยวมาใหม่
:49:   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 08, 2012, 11:30:50 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

สายที่ ๑. พระมัชฌันติกเถระไปประกาศพระศาสนาที่"กัสมีรคันธารรัฐ"

   ก็โดยสมัยนั้นแล  ในแคว้นกัสมีรคันธาระ  ในฤดูข้าวกล้าสุก มีพญานาคชื่ออารวาฬ ได้บันดาลฝน ชื่อว่าฝนลูกเห็บให้ตกลงมา ทำข้าวกล้าให้ลอยไปยังมหาสมุทร.  พระมัชฌันติกเถระเหาะขึ้นไปสู่เวหาจากนครปาตลีบุตร แล้วไปลงเบื้องบนสระอารวาฬที่ป่าหิมพานต์ จงกรมอยู่บ้าง ยืนอยู่บ้าง นั่งอยู่บ้างสำเร็จการนอนอยู่บ้าง   บนหลังสระอารวาฬ. 
        นางนาคมาณวิกาทั้งหลายเห็น  พระเถระนั้นแล้ว  จึงบอกแก่พญานาคอารวาฬว่า  ข้าแต่มหาราช ! มีสมณะโล้นรูปหนึ่ง   ทรงแผ่นผ้าที่ตัดขาดด้วยศัสตรา นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ประทุษร้ายน้ำของพวกเรา.


พญานาคอารวาฬแผลงฤทธิ์ไล่พระเถระ
   พญานาคฟังคำนั้นแล้ว  ก็ถูกความโกรธครอบงำ ได้ออกไปพบพระเถระในทันใดนั้นเอง  เมื่ออดกลั้นความลบหลู่ไม่ได้  จึงได้นิรมิตรูปที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอันมาก   บนอากาศกลางหาว. ( คือบันดาลให้) พายุที่กล้าแข็งพัดฟุ้งไปในที่นั้น ๆ.
        รุกขชาติทั้งหลาย   ก็หักโค่นลง. เหล่ายอดบรรพตก็พังทลาย,   เมฆทั้งหลายก็คำรามลั่น,   สายฟ้าทั้งหลายก็แลบแปลบ ๆ . อสนีบาตก็ผ่าลงมา,  อุทกวารีก็ไหลนอง   เหมือนท้องฟ้าแตกฉะนั้น.


        เหล่าลูกนาคซึ่งมีรูปอันน่าสะพรึงกลัว  ก็ประชุมกัน.  ฝ่ายพญานาคเอง ก็บังหวนควัน ลุกโพลงปล่อยฝนเครื่องประหารคุกคามพระเถระด้วยคำหยาบคายเป็นต้นว่า สมณะโล้นผู้นี้  ทรงผ้าที่ตัดขาด (ด้วยศัสตรา) คือใคร?  ได้บังคับหมู่พลนาคไปว่าพวกท่านจงมาจับฆ่า,   ขับใสสมณะรูปนี้ออกไป.


พระเถระทรมานพวกนาคให้คลายพยศแล้ว
   พระเถระป้องกันกำลังพลนาคที่น่าสะพรึงกลัวทั้งหมด  ด้วยกำลังฤทธิ์ ของตน พูดกะพญานาคว่า
   ดูก่อนพญานาค ! โลกแม้ทั้งเทวโลก  จะพึงมายังเราให้ครั่นคร้ามได้ไซร้, ก็ไม่พึงมีผู้สามารถเพื่อจะบันดาลภัยที่น่ากลัวให้เกิดแก่เราได้, 
        ดูก่อนพญานาค ! แม้หากท่านจะยกแผ่นดินขึ้นทั้งหมด  พร้อมทั้งสมุทร ทั้งบรรพต แล้วพึงเหวี่ยงไปเบื้องบนของเราได้ไซร้, ท่านก็ไม่พึงสามารถเพื่อจะบันดาลภัยที่น่ากลัวให้เกิดแก่เราได้เลย,

   
        ดูก่อนพญาอุรคาธิบดี ! ท่านเท่านั้น จะพึงมีความแค้นใจอย่างแน่แท้.
   ครั้นเมื่อพระเถระกล่าวอย่างนั้นแล้ว  พญานาค  ถูกพระเถระกำจัดอานุภาพแล้ว  เป็นผู้มีความพยายามไร้ผล  มีความทุกข์เศร้าใจซบเซาอยู่. พระเถระชี้แจงให้พญานาคนั้นเข้าใจ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันสมควรแก่ขณะนั้นแล้ว  ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์และเบญจศีล  พร้อมด้วยนาคจำนวนแปดหมื่นสพัน.     
        ยักษ์  คนธรรพ์  และกุมภัณฑ์  แม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ที่อยู่ป่าหิมพานต์ได้ฟังธรรมกถาของพระเถระแล้ว ก็ได้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล. แม้ปัญจกยักษ์ พร้อมด้วยนางหาริดียักษิณี  และบุตร ๕๐๐ ก็ได้ตั้งอยู่ในปฐมมรรค.


พระเถระให้โอวาท พวกยักษ์ และรากษส เป็นต้น
   ลำดับนั้น   ท่านพระมัชฌันติกเถระ   เรียกพวกนาคและรากษสแม้ทั้งหมดมาแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
   จำเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป   พวกท่านอย่าให้ความโกรธเกิดขึ้นเหมือนในกาลก่อน เลย  และอย่าทำลายข้าวกล้า ( ให้เสียหาย ) เพราะว่า   สัตว์ทั้งหลาย  ใครต่อความสุข จงแผ่เมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายว่า  ขอมวล
มนุษย์ จงอยู่เป็นสุขเถิด.

   นาคและยักษ์เป็นต้นเหล่านั้นทั้งหมด รับโอวาทขอพระเถระว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ !  ได้ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอนแล้ว.  ก็ในวันนั้นแล  เป็นสมัยทำการบูชาพญานาค. เวลานั้น พญานาค สั่งให้นำรัตนบัลลังก์ของตน มาแต่งตั้งถวายพระเถระ.  พระเถระ ก็นั่งบนบัลลังก์.   
        ฝ่ายพญานาค  ได้ยืนพัดพระเถระอยู่ในที่ใกล้.  ในขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายผู้อยู่ในแคว้นกัสมีรคันธาระมาเห็นพระเถระแล้ว ก็พูดกันว่า   พระเถระมีฤทธิ์มากแม้กว่าพญานาคของพวกเราแล้วได้นั่งลงไหว้พระเถระนั่นแล.       พระเถระ   ก็แสดงอาสิวิโสปมสูตร*  แก่มนุษย์เหล่านั่น.

* น่าจะเป็นอลคัททูปมสูตร  ม.  ม.  ๑๒/๒๖๑.

        ในเวลาจบพระสูตร   สัตว์ประมาณแปดหมื่น ได้บรรลุธรรมาภิสมัย. แสนตระกูลออกบวชแล้ว, ก็แลจำเดิมแต่กาลนั้นมา  แคว้นกัสมีรคันธาระ  ก็รุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์   อบอวลไปด้วยลมพวกฤษีจนตราบเท่าทุกวันนี้.
        ในกาลนั้นพระมัชฌันติกะผู้ฤษี ไปยังแคว้นกัสมีรคันธาระแล้ว  ให้พญานาคผู้ดุร้าย  เลื่อมใสแล้ว ได้ปลดเปลื้องสัตว์เป็นอันมาก ให้พ้นจากเครื่องผูกแล้วแล.



ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก หนังสือ"เรียนรู้พุทธประวัติด้วยแผนที่" โดย พระสุตาวุธวิสิฐ (ขรรค์ชัย ชนะกุล)


   
แคว้นกัสมีรคันธาระ ปัจจุบัน คือ แคว้นแคชเมียร์ และแคว้นคันธาระ

แผนที่แสดงที่ตั้งรัฐชัมมูและกัศมีร์

รัฐชัมมูและกัศมีร์ (เปลี่ยนมาจาก แคชเมียร์)
    รัฐชัมมูและกัศมีร์ คือ รัฐเหนือสุดของประเทศอินเดีย ดินแดนส่วนมากตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย นอกจากนั้นยังเป็นบริเวณพิพาทระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และจีนด้วย

    รัฐชัมมูและกัศมีร์เคยเป็นดินแดนที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิดุรรานีในอัฟกานิสถาน จักรวรรดิโมกุล ในอินเดีย และเคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวสิกข์ ภายหลังขับไล่ชาวสิกข์ออกไปได้
   
    ในยุคที่อังกฤษเข้ามา กษัตริย์ของชัมมูและกัศมีร์ช่วยอังกฤษรบกับชาวสิกข์และได้เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ เมื่ออังกฤษให้เอกราชแก่อินเดียและมีการแบ่งเป็นอินเดียและปากีสถาน รัฐชัมมูและกัศมีร์กลายเป็นกรณีพิพาทของทั้งสองประเทศจวบจนปัจจุบัน


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/แคชเมียร์


แผนที่เอเชียใต้ แสดงภาพแคว้นอินเดียโบราณทั้ง 16 แห่ง ซึ่งเรียกรวมกันว่ามหาชนบท

แคว้นคันธาระ
     แคว้นคันธาระอยู่ในหุบเขาเปศวาร์ ประเทศปากีสถาน ซึ่งอยู่ระหว่างเทือกเขาสุไลมานติดพรมแดนของอัฟกานิสถานและมีแม่น้ำสินธุไหลขนาบข้างด้วย ดินแดนนี้ได้รับวัฒนธรรมอินเดียและผสมกับวัฒนธรรมกรีกไซเธียน ปาร์เธียน และกุษาณะ ซึ่งอยู่รอบคันธาระเป็นเหตุให้เกิดศิลปะแบบคันธาระ และภาษาคันธารี

     ดังนั้นแคว้นนี้จึงถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาสมัยโบราณ ซึ่งมีการค้นพบธรรมบทภาษาคันธารีที่ค้นพบใน เมืองโขตาน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีนนอกจากนั้นยังพบคัมภีร์ใบลานและเปลือกไม้

     ขณะนี้เก็บไว้ที่ภาควิชาตะวันออกศึกษา ณ สถาบันวิทยาศาสตร์กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย และมีบางส่วนเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

     คัมภีร์ที่พบในอัฟกานิสถานว่าด้วยเรื่องปฐมเทศนา คำสวดมนต์ เป็นต้น เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน จากนั้นตามฝาผนังถ้ำก็มีรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจริญสมาธิภาวนา ห่มผ้าสีขาวอมเหลืองด้วย


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/แคว้นคันธาระ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 04, 2012, 02:02:01 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

มหิสกมณฑล คือ แคว้นไมซอร์และดินแดนลุ่มแม่น้ำโคธาวารี
ในอินเดียใต้ ปัจจุบันอยู่ในรัฐ "กรณาฏกะ" (Karnataka) หมายเลข 12

สายที่ ๒. พระมหาเทวเถระไปประกาศพระศาสนาที่ มหิสสกมณฑล

   ฝ่ายพระมหาเทวเถระ  ไปยังมหิสสกมณฑลแล้ว  ก็แสดงเทวทูตสูตร(๑.)ในเวลาจบพระสูตร  สัตว์ประมาณสี่หมื่น  ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว.  สัตว์ประมาณสี่หมื่นนั่นแล ออกบวชแล้ว.
   พระมหาเทวเถระผู้มีฤทธิ์มาก  ไปยังมหิสสกรัฐแล้ว โอวาทตักเตือน ด้วยเทวทูตทั้งหลาย  ได้ปลดเปลื้องสัตว์เป็นอันมาก ให้พ้นจากเครื่องผูกแล้วแล.


(๑.) ม. อุป. ๑๔/๓๓๔.


ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก http://upload.wikimedia.org/


บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
คณะพระรักขิตะ ไปวนวาสีประเทศ
 ได้แก่เมืองมุมไบในปัจจุบัน อยู่ในรัฐมหาราษฏระ(Maharashtra) หมายเลข 15

สายที่ ๓. พระรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่แคว้นวนวาสี

          ส่วนพระรักขิตเถระ  ไปยังแคว้นวนวาสีชนบทแล้ว   ยืนอยู่บนอากาศให้ชนชาวนวาสีชนบทเลื่อมใส   ด้วยอนมตัคคปริยายกถา(๒.)  ก็ในเวลาจบกถาของพระเถระนั้น สัตว์ประมาณหกหมื่น ได้บรรลุธรรมแล้ว.    ประชาชนประมาณสามหมื่นเจ็ดพันบวชแล้ว.  วิหาร  ๕๐๐  หลัง  ก็ประดิษฐานขึ้นแล้ว. 
        พระเถระนั้น  ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในแคว้นวนวาสีชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

___________________________
(๒.) สํ.  นิทาน.  ๑๖/๒๑๒-๒๒๘

       พระรักขิตเถระผู้มีฤทธิ์มากไปยัง วนวาสีชนบทแล้ว ได้ยืนอยู่บนอากาศกลางหาว แล้วแสดงงอนมตักคิยกถา (แก่มหาชน) ในวนวาสีชนบทนั้นแล.


ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก http://upload.wikimedia.org/



มุมไบ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มุมไบ (อังกฤษ: Mumbai; มราฐี: मुंबई ; สัท.: /'mumbəi/) เดิมชื่อ บอมเบย์ (Bombay) ที่ตั้งอยู่บนริมฝั่งทะเลอาหรับในประเทศอินเดีย ท่ามกลางชายฝั่งที่ทอดยาวกับภูเขาสูงที่ปกคลุมด้วยป่าเขตร้อนชื้นและป่าผลัดใบ มุมไบมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่า และเป็นศูนย์กลางทางการค้า การท่องเที่ยว

ข้อมูลที่สำคัญ
    ขนาดพื้นที่ : 440 ตารางกิโลเมตร
    ประชากร : 18 ล้านคน
    รัฐ : มหาราษฏระ
    ภาษา : ฮินดีและมราฐี


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/มุมไบ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

คณะพระธรรมรักขิต ไป อปรันตกชนบท(ในภาพ คือ อปรันตา)
สันนิษฐานว่า อยู่แถบทะเลอาหรับ ทางเหนือของเมืองมุมไบในปัจจุบัน

สายที่ ๔ พระโยนกถธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่อปรันตชนบท

      ฝ่ายพระโยนกธรรมรักขิตเถระ  ไปยังอปรันตกชนบทแล้ว  ให้ชนชาวอปรันตกชนบทเลื่อมใส  ด้วยอัคคิขันธูปมสุตตันตกถา(๑)แล้ว  ก็ให้สัตว์ประมาณสามหมื่นเจ็ดพันดื่มอมตธรรม.   บุรุษออกบรรพชา  แต่ขัตติยตระกูลหนึ่งพันคน.  และสตรีออกบรรพชาหกพันถ้วน. พระเถระนั้นได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในอปรันตกชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

      พระโยนกธรรมรักขิตเถระ ย่างเข้าสู่ปรันตกชนบทแล้ว   ก็ให้ชนเป็นอันมาก ในอปรันตกชนบทนั่นเลื่อมใสแล้ว  ด้วยอัคคิขันธูปมสูตร(๒) แล.

_______________________
๑. องฺ   สตฺตก. ๒๓/๑๒๙-๑๓๗.   
๒.  สํ.  นินทาน. ๑๖/๒๑๒-๒๒๘.


ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก หนังสือพุทะประวัติด้วยแผนที่ (ขรรคชัย ชนะกุล)



     ทะเลอาหรับ (อังกฤษ: Arabian Sea, อาหรับ: بحر العرب‎) เป็นบริเวณหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันออกติดกับประเทศอินเดีย ทิศเหนือติดประเทศปากีสถานและประเทศอิหร่าน ทิศตะวันตกติดกับคาบสมุทรอาหรับ

     ส่วนที่ลึกที่สุดของทะเลอาหรับลึก 4,652 เมตร ส่วนที่ยาวที่สุดยาว 2,400 กิโลเมตร แม่น้ำสายที่ใหญ่ที่สุดที่ไหลลงทะเลอาหรับคือแม่น้ำสินธุ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/ทะเลอาหรับ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระมหาธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่มหารัฐ ปัจจุบันอยู่ในรัฐมหาราษฏระ(Maharashtra)

สายที่ ๕. พระมหาธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่มหารัฐ

   ส่วนพระมหาธรรมรักขิตเถระ ไปยังมหารัฐชนบทแล้ว ให้ชนชาวมหารัฐชนบทเลื่อมใส  ด้วนมหานารทกัสสปชาดกกถา(๓)แล้ว ก็ให้สัตว์ประมาณแปดหมื่นสี่พันตั้งอยู่ในมรรคและผล. ประชาชนจำนวนหนึ่งหมื่นสามพันคนบวชแล้ว. พระเถระนั้น ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในมหารัฐชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
พระมหาธรรมรักขิตเถระ ผู้ฤษีนั้น  ไปยังมหารัฐชนบทแล้ว   ก็แสดงชาดก(๑) ให้มหาชนเลื่อมใสแล้วแล.

___________________________________
๑. ชุ.  ชา.  ๒๘/๒๘๒.  ตทฏฺกถา. ๑.  ๑๐/๑๓๙.   
๓.  สํ.  นินทาน. ๑๖/๒๑๒-๒๒๘.


ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก หนังสือพุทะประวัติด้วยแผนที่ (ขรรคชัย ชนะกุล)


แผนที่แสดงที่ตั้งรัฐมหาราษฏระ

รัฐมหาราษฏระ คือหนึ่งในรัฐของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดต่อกับกับทะเลอาหรับทางทิศตะวันตก มีเมืองหลวงชื่อ มุมไบ ผลิตผลสำคัญ ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ฝ้าย และแร่แมงกานีส มีอุตสาหกรรมสิ่งทอ และวิศวกรรมไฟฟ้า

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐมหาราษฏระ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

คณะพระมหารักขิต ไปโยนกประเทศ
ได้แก่แคว้นกรีก ในเอเชียกลาง อิหร่าน และเตอร์กิสถาน

สายที่ ๖. พระมหารักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่รัฐโยนก

   ฝ่ายพระมหารักขิตเถระ ไปยังรัฐโยนกแล้ว ให้ชนชาวโลกโยนก เลื่อมใส  ด้วยกาฬการามสุตตันตกถาแล้ว ได้ให้เครื่องอลังการคือมรรคและผลแก่สัตว์ประมาณหนึ่งแสนสามหมื่นเจ็ดพัน   ก็ประชาชนประมาณหนึ่งหมื่นบวชแล้วในสำนักของพระเถระนั้น. แม้พระเถระนั้น  ก็ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในรัฐโยนกนั้นแล้ว   ด้วยประการฉะนี้.
   ในกาลนั้น พระมหารักขิตเถระผู้ฤษีนั้น ไปยังรัฐโยนกแล้ว ก็ให้ชนชาวโยนกเหล่านั้นเลื่อมใส  ด้วยกาฬการามสูตรแล.

      
ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก หนังสือพุทะประวัติด้วยแผนที่ (ขรรคชัย ชนะกุล)


ตำแหน่งของเอเชียกลางบนแผนที่โลก

     เอเชียกลาง (อังกฤษ: Central Asia; รัสเซีย: Средняя Азия/"Srednyaya Azia" for "Middle Asia" or Центральная Азия/"Tsentral'naya Azia" for "Central Asia"; เปอร์เซีย آسياى ميانه; จีน: 中亚; พินอิน: Zhōngyà ; อาหรับ: آسيا الوسطى/Asya al Wusta‎) เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ในทวีปเอเชียที่ไม่มีทางออกทะเล มีคำนิยามที่ต่างกันออกไปสำหรับขอบเขตของดินแดนที่จัดอยู่ในภูมิภาคเป็นเอเชียกลาง และยังไม่มีคำนิยามใดที่เป็นที่ยอมรับโดยส่วนใหญ่
     อย่างไรก็ตามลักษณะโดยทั่วไปของดินแดนในภูมิภาคนี้คือ มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับกลุ่มชาวโนแมด (nomad) และ เส้นทางสายไหม ซึ่งทำให้ในอดีตนั้นดินแดนในภูมิภาคนี้เป็นเสมือนเส้นทางของ สินค้า คน รวมถึง แนวความคิด ระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก


ดินแดนที่จัดว่าอยู่ในเขตเอเชียกลาง
    อุซเบกิสถาน
    เติร์กเมนิสถาน
    ทาจิกิสถาน
    คีร์กีซสถาน
    คาซัคสถาน


นอกจากดินแดนข้างต้นแล้ว ยูเนสโกยังเพิ่มเติมดินแดนข้างล่างโดยจัดให้อยู่ในเขตเอเชียกลาง
    มองโกเลีย
    เขตตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อันได้แก่ มองโกเลียใน หนิงเซี่ย กานซู เสฉวน ชิงไห่ ทิเบต และ ซินเจียง
    เขตตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่าน
    อัฟกานิสถาน
    ฝั่งเหนือของปากีสถาน
    ดินแดนตอนเหนือของอินเดีย อันได้แก่ หรยาณา หิมาจัลประเทศ ชัมมูและกัษมีระ ปัญจาบ อุตตรขันท์ และบางส่วนของรัฐราชสถาน และ อุตตรประเทศ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/เอเชียกลาง
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

คณะพระมัชฌิมเถระ ไปหิมวันตประเทศ อยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย คือ เนปาลปัจจุบัน

สายที่ ๗. พระมัชฌิมเถระไปประกาศพระศาสนาที่หิมวันตประเทศ

   ส่วนพระมัชฌิมเถระ กับ
        พระกัสสปโคตตรเถระ ๑   
        พระอฬกเทวเถระ ๑ 
        พระทุนทุภิสสรเถระ ๑   
        พระสหัสสเทวเถระ ๑     
        ไปยังชนบทเป็นส่วนหิมวันตประเทศแล้ว   ให้ชาวประเทศนั้นเลื่อมใส  ด้วยธัมมจักกัปปวัตตนสุตตันตกถา(๒) แล้ว ให้สัตว์ประมาณแปดสิบโกฏิได้รัตนะคือมรรคและผลแล้ว. ก็พระเถระแม้ทั้ง ๕ รูปนั้น ได้ยังรัฐทั้ง  ๕  ให้เลื่อมใสแล้ว. ประชาชนที่บวชในสำนักของพระเถระแต่ละรูป มีประมาณแสนหนึ่ง.
        พระเถระทั้ง ๕ รูปเหล่านั้น ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในหิมวันตประเทศนั้นแล้ว  ด้วยประการฉะนี้.
        พระมัชฌิมเถระ   ไปยังหิมวันตประเทศแล้วประกาศอยู่    ซึ่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตร(๑)   ให้ยักษ์และเสนายักษ์เลื่อมใสแล้วแล.

___________________________________
(๑) วิ.  มหา. ๔/๑๗. 
(๒)  อง. สตฺตก.  ๒๓/๑๒๙-๑๓๗.


ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก หนังสือพุทะประวัติด้วยแผนที่ (ขรรคชัย ชนะกุล)



เทือกเขาหิมาลัย (อังกฤษ: Himalaya Range) เป็นเทือกเขาในทวีปเอเชีย ที่แยกอนุทวีปอินเดียทางเหนือ ออกจากที่ราบสูงทิเบตทางใต้ เป็นที่ที่มียอดเขาที่สูงที่สุดในโลก เช่น ยอดเขาเอเวอเรสต์ และยอดเขากันเจนชุงคา (Kanchenjunga). ในทางศัพทมูลวิทยา คำว่า หิมาลัย มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง "ที่อยู่ของหิมะ" (หิม + อาลย)

เทือกเขาหิมาลัยทอดยาวพาดผ่านพื้นที่ของ 5 ประเทศ — ปากีสถาน อินเดีย จีน ภูฏาน และเนปาล — เป็นจุดกำเนิดของระบบแม่น้ำที่สำคัญของโลกหลายสาย แอ่งแม่น้ำสินธุ และแอ่งแม่น้ำคงคา-พรหมบุตร แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง พื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำหิมาลัยเป็นที่อยู่ของผู้คนราว 750 ล้านคน ซึ่งรวมถึงชาวบังคลาเทศ ส่วนในประเทศไทย โดยมีดอยอินทนนท์ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย โดยมาสิ้นสุดที่ดอยอินทนนท์


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/เทือกเขาหิมาลัย



ประเทศเนปาล (เนปาล: नेपाल) หรือชื่อทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล (อังกฤษ: Federal Democratic Republic of Nepal; เนปาล: सङ्घीय लोकतान्त्रिक गणतन्त्र नेपाल)เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียใต้ บริเวณเทือกเขาหิมาลัย มีพรมแดนติดกับทิเบตของจีน และประเทศอินเดีย เนปาลเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2550

โดยก่อนปีพ.ศ. 2549 เนปาลเคยเป็นรัฐเดียวในโลกที่มีศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเนปาลระบุให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐโลกวิสัย นอกจากศาสนาฮินดูที่คนเนปาลส่วนใหญ่นับถือแล้ว เนปาลยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญของพุทธศาสนา คือลุมพินีวัน ที่ประสูติของพระโคตมพุทธเจ้า


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/เนปาล
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

คณะพระโสณะ และพระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไทย พม่า มอญ

สายที่ ๘. พระโสณกะกับพระอุตตระไปประกาศพระศาสนาที่สุวรรณภูมิ

   ฝ่ายพระโสณกเถระ  กับพระอุตตรเถระได้ไปยังแคว้นสุวรรณภูมิ. ก็โดยสมัยนั้น  ที่แคว้นสุวรรณภูมินั้น   มีนางรากษสตน(๒)หนึ่ง  ขึ้นมากจากสมุทรเคี้ยวกินพวกทารกที่เกิดในราชตระกูล. ในวันนั้นเอง มีเด็กคนหนึ่งเกิดในราชตระกูล. มนุษย์ทั้งหลายเห็นพระเถระแล้ว สำคัญอยู่ว่า ผู้นี้จักเป็นสหายของพวกรากษส จึงพากันถือเอาอาวุธไปประสงค์จะประหารพระเถระ.
   พระเถระ พูดว่า พวกท่านถืออาวุธมาทำไรกัน?   
   มนุษย์เหล่านั้น พูดว่า พวกรากษสย่อมเคี้ยวกันพวกเด็กที่เกิดแล้วๆ ในราชตระกุล,พวกท่านเป็นสหายของรากษสเหล่านั้น.
   พระเถระพูดว่า  พวกข้าพเจ้าหาได้เป็นสหายของรากษสไม่ พวกข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นสมณะ งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ จากความประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ 
จากการดื่มน้ำเมา  เป็นผู้ฉันหนเดียว  มีศีล  ประพฤติพรหมจรรย์มีกัลยาณธรรม.
_____________________________
(๒.) รากษส  ยักษ์,  ผีเสื้อน้ำ,  ปีศาจ,  เวตาลหรือค้างคาว เป็นชื่อของพวกอสูรอย่างเลว มีนิสัย ดุร้าย  ชอบเที่ยวตามป่าทำลายพิธีและกินคน  สูบโลหิตของสัตว์เป็นอาหาร,  สถานที่อยู่
ของพวกนี้อยู่ในทะเลหรือสระใหญ่.



พระเถระทรมานพวกรากษสให้หนีไป แล้วป้องกันเกาะไว้

   ก็ในขณะนั้นเอง  นางรากษสตนหนึ่ง  พร้อมด้วยบริวาร  ขึ้นมาจากสมุทรด้วยคิดว่า  เด็กเกิดในราชตระกุล,  พวกเราจักเคี้ยวกันเด็กนั้น. พวกมนุษย์เห็นนางรากษสตนนั้นแล้ว  ก็กลัวร้องเสียงดังว่า  นางรากษสนี้กำลังมาเจ้าข้า !
        พระเถระนิรมิตอัตภาพมากหลายกว่าพวกรากษสเป็นสองเท่า  ปิดล้อมข้างทั้งสองด้วยอัตภาพเหล่านั้น  กั้นนางรากษสนั้น พร้อมทั้งบริวารไว้ตรงกลาง. นางรากษสตนนั้น  พร้อมทั้งบริษัท  ได้คิดดังนี้ว่า  สถานที่นี้  จักเป็นของอันรากษสเหล่านี้ได้แล้วแน่นอน,  ส่วนพวกเราก็จักเป็นภักษาของรากษสเหล่านี้.  พวกรากษสทั้งหมดได้รีบหนีไปแล้ว.


   ฝ่ายพระเถระ  ขับไล่รากษสเหล่านั้นให้หนีไปแล้ว จนมองไม่เห็นจึงได้ตั้งอารักขาไว้โดยรอบเกาะ(๑.)  อนึ่ง  ท่านให้หมู่มหาชน ซึ่งประชุมพร้อมกันอยู่ในสมัยนั้นเลื่อมใส ด้วยพรหมชาลสุตตันตกถา(๒) ทั้งให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีลแล้ว. ก็ในสันนิบาตนี้ประชาชนประมาณหกหมื่นได้บรรลุธรรมแล้ว.
        พวกเด็กในตระกูลประมาณสามพันห้าร้อยบวชแล้ว. กุลธิดาประมาณหนึ่งพันห้าร้อยนาง ก็บวชแล้ว.   พระเถระนั้น ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในแคว้นสุวรรณภูมินั้นแล้ว  ด้วยประการฉะนี้.


       จำเดิมแต่นั้นมาชนชาวสุวรรณภูมิก็ได้ตั้งชื่อพวกเด็กที่เกิดในราชตระกูลว่า โสณุตตระ(โสณุดร) สืบมา.
       พระโสณะและพระอุตตระ ผู้มีฤทธิ์มาก ไปยังแคว้นสุวรรณภูมิแล้วขับไล่ปีศาจทั้งหลายให้หนีไป ได้แสดงพรหมชาลสูตร*แล้วแล.

_________________________________
(๑.) นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานกันว่า ประเทศไทยของเรานี้อยู่ในแหลมทอง  คือแคว้น สุวรรณภูมิ   ได้รับพระพุทธศาสนาในคราวที่พระโสณกเถระและพระอุตตรเถระถูกส่งให้มาประกาศพระศาสนาในภาคนี้
     แต่ถ้าจะสันนิษฐานอีกแง่หนึ่งแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะใจความในเรื่องนี้บ่งชัดอยู่แล้วว่า  สถานที่ท่านทั้งสอบไปประกาศนั้นเป็นเกาะไม่ใช่เป็นแผ่นดิน เชื่อมติดต่อกัน และท่านก็ทำการป้องกันเกาะไว้โดยรอบ มิให้พวกผีเสื้อน้ำมารกกวนประชาชนได้, 
     อนึ่ง ถ้าแหลมทองนี้รวมทั้งประเทศพม่า ญวน  ลาว เขมร และไทย  อย่างที่พวกนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์เข้าใจแล้ว ก็ยิงกว้างใหญ่ไพศาล  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ท่านจะป้องกันได้อย่างไร ? ขอได้โปรดพิจารณาดูเถิด.
(๒.)  ที. สี.  ๙/๑
* ที.สี. ๙/๑.


ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก หนังสือพุทะประวัติด้วยแผนที่ (ขรรคชัย ชนะกุล)


ราชอาณาจักรไทย

สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า


รัฐมอญ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


สายที่ ๙. พระมหินทเถระไปประกาศพระศาสนาที่เกาะลังกา

   ส่วนพระมหินทเถระผู้อันพระอุปัชฌายะ และภิกษุสงฆ์เชื้อเชิญว่า ขอท่านจงไปประดิษฐานพระศาสนายังเกาะตัมพปัณณิทวีปเถิด  ดังนี้  จึงดำริว่า เป็นกาลที่เราจะไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปหรือยังหนอ ?
        ครั้งนั้น เมื่อท่านใคร่ควรอยู่ ก็ได้มีความเห็นว่า ยังไม่ใช่กาลที่ควรจะไปก่อน.
   ถามว่า  ก็พระเถระนั้น ได้มีความเห็นดังนี้ เพราะเห็นเหตุการณ์อะไร ?
   แก้ว่า  เพราะเห็นว่า  พระเจ้ามุฏสีวะ  ทรงพระชราภาพมาก.



พระมหินทเถระเที่ยวเยี่ยมญาติจนกว่าจะถึงเวลาไปเกาะลังกา

   ลำดับนั้น  พระเถระดำริว่า พระราชาพระองค์นี้ ทรงพระชราภาพมาก เราไม่อาจรับพระราชานี้ยกย่องเชิดชูพระศาสนาได้  ก็บัดนี้  พระราชโอรสของพระองค์ ทรงพระนามว่า เทวานัมปิยดิส จักเสวยราชย์  (ต่อไป) เราจักอาจรับพระราชานั้นยกย่องเชิดชูพระศาสนาได้ เอาเถิด เราจักเยี่ยวพวกญาติเสียก่อน  จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง,    บัดนี้  เราจะพึงได้กลับมายังชนบทนี้อีกหรือไม่.

        พระเถระนั้น ครั้นดำริอย่างนั้นแล้ว จึงไหว้พระอุปัชฌยะและภิกษุสงฆ์ออกไปจากวัดอโศการาม  เที่ยวจาริกไปทางทักขิณาคิรีบท  ซึ่งเวียนรอบนครราชคฤห์ไปพร้อมกับพระเถระ ๔ รูป   มีพระอิฏฏิยะเป็นต้นนั้น
สุมนสามเณร   ผู้เป็นโอรสของพระนางสังฆมิตตา  และภัฒฑกอุบาสกเยี่ยมพวกญาติอยู่จนเวลาล่วงไปถึง ๖  เดือน. ครั้นนั้น พระเถระได้ไปถึงเมืองชื่อเวทิสนคร อันเป็นสถานที่ประทับของพระมารดาโดยลำดับ



ประวัติย่อของพระมหินทเถระ

   ได้ยินว่า  พระเจ้าอโศกทรงได้ชนบท(ได้กินเมือง) ในเวลายังทรงพระเยาว์ เมื่อเสด็จไปกรุงอุชเชนี      ผ่านเวทิสนคร ได้ทรงรับธิดาของเวทิสเศรษฐี (เป็นอัครมเหษี). ในวันนั้นนั่นเอง พระนางก็ทรงครรภ์แล้วได้
ประสูติมหินทกุมาร  ที่กรุงอุชเชนี. 
        ในเวลาที่พระกุมารมีพระชนม์ได้ ๑๔ พรรษา พระราชาทรงได้รับการอภิเษกขึ้นครองราชย์.

   
        สมัยนั้น   พระนางที่เป็นมารดาของมหินทกุมารนั้น ก็ประทับอยู่ที่ตำหนักของพระประยูรญาติ เพราะเหตุนั้น  ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า  พระเถระได้ไปถึงเมืองชื่อเวทิสนคร อันเป็นสถานที่ประทับของพระมารดาโดยลำดับ.
   ก็แล พระเทวีผู้เป็นพระมารดาของพระเถระ ทอดพระเนตรเห็นพระเถระผู้มาถึงแล้ว   ก็ทรงไหว้เท้าทั้งสองด้วยเศียรเกล้า  แล้วถวายภิกษาทรงมอบถวายวัดชื่อ เวทิสคิรีมหาวิหาร ที่ตนสร้างถวายพระเถระ. พระเถระ
นั่งคิดอยู่ที่วิหารนั้นว่า  กิจที่เราควรกระทำในที่นี้สำเร็จแล้ว, 
     
        บัดนี้เป็นเวลาที่ควรจะไปยังเกาะลังกาหรือยังหนอแล.  ลำดับนั้น ท่านดำริว่า ขอให้พระราชกุมารพระนามว่า  เทวนัมปิยดิสเสวยอภิเษกที่พระชนกของเราทรงส่งไปถวายเสียก่อน, ขอให้ได้สดับคุณพระรัตนตรัย และเสด็จออกไปจากพระนคร  เสด็จขึ้นสู่มิสสกบรรพตมีมหรสพเป็นเครื่องหมาย,   
        เวลานั้น เราจักพบพระองค์ท่านในที่นั้น. พระเถระก็สำเร็จการพักอยู่ที่เวทิสคิรีมหาวิหารนั้น และสิ้นเดือนหนึ่งต่อไปอีก.


   ก็โดยล่วงไปเดือนหนึ่ง  คณะสงฆ์และอุบาสกแม้ทั้งหมด ซึ่งประชุมกันอยู่ในวันอุโบสถ ในดิถีเพ็ญแห่งเดือนแปดต้น (คือวันเพ็ญเดือน ๗) ได้ปรึกษากันว่า เป็นกาลสมควรที่พวกเราจะไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปหรือยังหนอ ? เพราะเหตุนั้น  พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย  จึงได้กล่าวว่า
   ในกาลนั้นได้มี พระสังฆเถระชื่อมหินท์โดยนาม ๑
                        พระอิฏฏิยเถระ ๑
                        พระอุตติยเถระ๑
                        พระภัททสาลเถระ ๑
                        พระสัมพลเถระ ๑
                        สุมนสามเณร ผู้ได้ฉฬภิญญา มีฤทธิ์มาก ๑
                        ภัณฑกอุบาสก  ผู้ได้เห็นสัจจะเป็นที่ ๗ แห่งพระเถระเหล่านั้น ๑,     
        ท่านมหานาคเหล่านั้นนั่นแล พักอยู่ในที่เงียบสงัด  ได้ปรึกษากันแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.



พระอินทร์ทรงเล่าเรื่องพุทธพยากรณ์ถวายให้พระมหินท์ทราบ

   เวลานั้นท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งทวยเทพ เสด็จเข้าไปหาพระมหินทเถระ แล้วได้ตรัสคำนี้ว่า     
        ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ!  พระเจ้ามุฏสีวะ สวรรคตแล้ว,     
        บัดนี้ พระเจ้าเทวานัมปิยดิสมหาราชเสวยราชย์แล้ว, และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ก็ทรงพยากรณ์องค์ท่านไว้แล้วว่า  ในอนาคตภิกษุชื่อมหินท์  จักยังชาวเกาะตัมพปัณณิทวีปให้เสื่อมใส       
        ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ! เพราะเหตุดังนั้นแล เป็นกาลสมควรที่ท่านจะไปยังเกาะอันประเสริฐแล้ว     แม้กระผมก็จักร่วมเป็นเพื่อนท่านด้วย.


        ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท้าวสักกะจึงได้ตรัสอย่างนั้น?
        แก้ว่า เพราะได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ที่ควงแห่งโพธิพฤกษ์นั่นเอง ได้ทอดพระเนตรเห็นสมบัติแห่งเกาะนี้ในอนาคต จึงได้ตรัสบอกความนั่นแก่ท้าวสักกะนั้น และทรงสั่งบังคับไว้ด้วยว่า   ในเวลานั้น  ถึงบพิตรก็ควรร่วมเป็นสหายด้วย, ดังนี้ ฉะนั้น ท้าวสักกะจึงได้ตรัสอย่างนั้น.



พระมหินทเถระพร้อมกับคณะไปเกาะลังกา

         พระเถระรับคำของท้าวสักกะนั้นแล้ว   เป็น ๗ คนทั้งตน  เหาะขึ้นไปสู่เวหาจากเวทิสบรรพต  แล้วดำรงอยู่บนมิสสกบรรพต  ซึ่งชนทั้งหลายในบัดนี้จำกันได้ว่า  เจติยบรรพตบ้าง ทางทิศบูรพาแห่งอนุราชบุรี. 
         เพราะเหตุนั้น  พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวไว้ว่า


    พระเถระทั้งหลายพักอยู่ที่เวทิสคิรีบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์  สิ้น ๓๐ ราตรีได้ ดำริว่า เป็นกาลสมควร ที่จะไปยังเกาะอันประเสริฐ,  พวกเราจะพากันไปสู่เกาะอันอุดม  ดังนี้แล้ว ได้เหาะขึ้นจากชมพูทวีป ลอยไปในอากาศดุจพญาหงส์บินไปเหนือท้องฟ้าฉะนั้น,  พระเถระทั้งหลายเหาะขึ้นไปแล้วอย่างนั้น  ก็ลงที่ยอดเขาแล้ว  ยืนอยู่บนยอดบรรพต  ซึ่งงามไปด้วยเมฆ  อันตั้งอยู่ข้างหน้าแห่งบุรีอันประเสริฐราวกะว่า  หมู่หงส์จับอยู่บนยอดเขาฉะนั้น.

        ก็ท่านพระมหินทเถระ  ผู้มาร่วมกับพระเถระทั่งหลาย  มีพระอิฏฏิยะ เป็นต้น ยืนอยู่อย่างนั้น  บัณฑิตพึงทราบว่า ได้ยืนอยู่แล้วในเกาะนี้ ในปีที่ ๒๓๖  พรรษา นับมาแต่ปีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน.



ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอบคุณภาพจาก หนังสือพุทะประวัติด้วยแผนที่ (ขรรคชัย ชนะกุล)



ศรีลังกา  หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา  เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดียใกล้ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอนุทวีปอินเดีย ชื่อในอดีตได้แก่ ลงกา ลังกาทวีป สิงหลทวีป และ ซีลอน ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในสมัยอาณานิคมจนถึง พ.ศ. 2517 และเป็นชื่อที่ยังคงใช้ในบางโอกาส ซึ่งชื่อในปัจจุบันคือ ศรีลังกา ชีวิตบนเกาะนี้ ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ระหว่างรัฐบาล และกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ซึ่งได้มีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อต้นปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002)

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/ศรีลังกา
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ