ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เทศน์มหาชาติ : มรดกไทยมรดกโลก  (อ่าน 2065 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
เทศน์มหาชาติ : มรดกไทยมรดกโลก
« เมื่อ: ธันวาคม 27, 2011, 07:23:22 pm »
0


เทศน์มหาชาติ : มรดกไทยมรดกโลก

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมเขียนถึงงานฉลองวัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เนื่องในโอกาสที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก ประจำปี 2554”

แจกแจงรายละเอียดให้ทราบว่าจะมีการแสดงการละเล่นและอะไรๆอีกหลายอย่างที่เป็นมรดกไทย...ที่คณะกรรมการจัดงานฉลองจะนำไปแสดงในงานมรดกโลกครั้งนี้

หนึ่งในมรดกไทยที่ผมเอ่ยถึงและอยากจะนำมาเขียนอีกครั้งในวันนี้ ในคอลัมน์ซอกแซกประจำสัปดาห์นี้ ก็คือ การแสดง “ธรรมกัณฑ์เทศน์” หรือ “เทศน์มหาชาติ” ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ผมมีหลายๆเหตุผลที่ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับมรดกไทยชิ้นนี้...เหตุผลแรกเลยก็คือ คนเราพอแก่ตัวก็ย่อมคิดถึงความหลังเป็นธรรมดา...ผมไม่ได้ฟังเทศน์มหาชาติมากว่า 60 ปีแล้ว...ยังจำได้ว่าช่วงที่ตามยายไปฟังที่วัดข้างบ้านที่อำเภอบรรพตพิสัยนั้น อายุยังไม่เต็ม 10 ขวบเลยครับ

บรรยากาศความคึกคักของศาลาวัดที่ตกแต่งให้ดูเป็นป่าหิมพานต์ มีต้นไม้ กิ่งไม้ ตลอดจนต้นกล้วย ต้นอ้อย เขียวขจี ที่ประดับไฟฟ้าหลากสียังคง อยู่ในกล่องความทรงจำของสมองมาจนถึงบัดนี้

ผู้คนขวักไขว่เต็มศาลา ส่วนใหญ่เป็นคนแก่กับเด็กๆ แน่นอนสำหรับคนแก่ๆนั้นต่างก็ไปฟังอย่างตั้งอกตั้งใจและศรัทธา เพราะเชื่อว่าเทศน์มหาชาติเป็นเทศน์กัณฑ์ใหญ่ กล่าวถึงชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะทรงประสูติอีกครั้ง และทรงบรรลุนิพพานในชาติต่อมา

ฟังแล้วจะได้บุญได้กุศลมากกว่าเทศน์อื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวง

แต่สำหรับเราเด็กๆไปฟังเพราะโดนปู่ย่าตายายบังคับเสียมากกว่า และก็มักจะไปนั่งหลับเป็นแถวๆ เพราะเทศน์มหาชาติมักเทศน์ตอนกลางคืน อันเป็นเวลานอนของเด็กๆทั่วไป

ผมเองในที่สุดก็หลับ แต่ก่อนหลับสามารถเก็บเกี่ยวอะไรต่อมิอะไรไว้ได้หลายอย่าง รวมทั้งท่วงทำนองลีลาการเทศน์ของพระ ซึ่งออกในทำนอง “แหล่” แบบเดียวกับเพลงแหล่ของ “พรภิรมย์” นั่นเอง



สำหรับเหตุผลที่ 2 เผอิญผมเคยไปกราบครูฝากเนื้อฝากตัวเป็นสมาชิกชมรมนักกลอนที่วัดพระเชตุพนฯเมื่อประมาณปี 2502 ขณะเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

อ่านข่าวหนังสือพิมพ์พบว่า ชมรมนักกลอนแห่งประเทศไทยเขาจะมีพิธีไหว้ครูที่พระตำหนัก กรมสมเด็จ พระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็น พระตำหนักอยู่ในวัดโพธิ์... ผมกับเพื่อนๆที่อยากจะเป็น นักเลงกลอนกับเขาบ้าง  จึงนั่งรถเมล์ รสพ.หมายเลข 1 ไปลงที่ท่าเตียนเดินเข้า วัดโพธิ์ในวันรุ่งขึ้น

กราบฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ต่อหน้าพระฉายา ลักษณ์ของ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ สมเด็จพระสังฆราชในรัชกาลที่ 4 และกวีเอกของกรุงรัตน โกสินทร์ ที่ได้ทรงประพันธ์บทกวีต่างๆไว้มากมาย อาทิ “ลิลิตตะเลงพ่าย” เป็นต้น...มาเรียบร้อย

เมื่ออ่านในโปรแกรมที่คณะกรรมการจัดงานเฉลิมฉลองวัดโพธิ์ส่งมาให้...ระบุว่าเทศน์มหาชาติกัณฑ์ต่างๆที่จะแสดงในครั้งนี้ล้วนประพันธ์โดยพระองค์ท่านจึงรู้สึกตื่นเต้น อยากจะหาโอกาสไปฟังสักกัณฑ์หนึ่ง

หรือหากไม่มีโอกาสไปเพราะช่วงนี้งานเข้าเหลือเกิน...ก็ไม่เป็นไร...ถือเสียว่าข้อเขียนซอกแซกสัปดาห์นี้เป็นการเขียนบูชาครู  บูชากวีผู้ยิ่งใหญ่ ผู้รังสรรค์นิพนธ์ต่างๆไว้มากมาย แม้จะทรงเพศบรรพชิตอยู่ก็ตาม

สำหรับประเพณีการเทศน์มหาชาตินั้นมีจารึกไว้ว่า แสดงกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่วัดต่างๆจะจัดขึ้นช่วงหลังรับกฐินแล้วอาจจะเป็นราวๆเดือน 12 หรือเดือนอ้าย (เดือน 1)...

กล่าวกันว่า บรรยากาศการเทศน์มหาชาติในยุคกรุงศรีอยุธยาคึกคักมาก เป็นที่ทรงโปรดของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ต่างๆ

ลีลาการเทศน์ก็เป็นไปอย่างสนุกสนานสอด คล้องกับตัวละครในเรื่องพระเวสสันดรชาดก

ต่อมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์เทศน์มหาชาติก็ยังเป็นที่นิยมและเป็นที่ทรงโปรดของทุกรัชกาล และหลายๆรัชกาลที่ทรงผนวชตามพระราชประเพณีนั้น ก็ได้ทรงฝึกการเทศน์มหาชาติ  และได้ขึ้นเทศน์ถวายแด่พระบรมวงศานุวงศ์ด้วยในช่วงที่มีเทศกาล

ไม่เพียงแต่จะเป็นพระราชประเพณีในวังหลวงเท่านั้น การเทศน์มหาชาติยังแพร่กระจายออกไปทั่วทุกแห่งหนในราชอาณาจักร รวมทั้งที่ตำบลบ้านนอกอย่างบ้านเก่าของผมที่นครสวรรค์ก็มีโอกาสได้สัมผัสกับประเพณีนี้ มาจนถึงรุ่นผม และทราบว่าปัจจุบันก็ยังมีเป็นประจำทุกปี



พูดถึงนครสวรรค์ก็นึกได้เมื่อหลายปีก่อนโน้น เคยมีข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รายงานว่า มี สามเณรนักเทศน์ รูปหนึ่งได้รับฉายาว่า “สามเณรเสียงทอง” เทศน์มหาชาติได้เด็ดดวงนัก ร่ำลือกันไปทั้งนครสวรรค์


ผมไม่แน่ใจว่าต่อมาสามเณรเสียงทองรูปนี้จะสึกออกมากลายเป็นนักร้องเพลงแหล่ชื่อดัง ทศพล หิมพานต์ ที่แหล่คู่กับ ไวพจน์ เพชร-สุพรรณ อย่างเอร็ดอร่อยในขณะนี้ หรือมิใช่...แต่ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน

เฮ้อ! เนื้อที่หมดเสียแล้ว ขอสรุปเลยดีกว่าว่า ในระหว่างวันที่ 24-31 ธันวาคมนี้ จะมีเทศน์ มหาชาติวันละกัณฑ์ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป เริ่มด้วย กัณฑ์มหาราช ในวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม ไปจนถึงกัณฑ์ นครกัณฑ์ ซึ่งเป็นกัณฑ์สุดท้าย ในวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม

มีสามเณรมาแสดงด้วย  ได้แก่  สามเณรกิตติ ชอนครบุรี  จากวัดสระเกศ ในกัณฑ์  จุลพน  จะแสดงได้โดดเด่นเป็นที่ติดอกติดใจญาติโยมเหมือนสามเณรเสียงทองที่เอ่ยถึงข้างต้นหรือไม่ ขอเชิญท่านที่สนใจแวะไปฟังและร่วมติดกัณฑ์เทศน์ได้ครับ

นี่ผมเน้นเฉพาะเทศน์มหาชาติ ที่ผมมีความระลึกถึงและมีความผูกพันเก่าๆเท่านั้นนะครับ...ยังมีการแสดงเฉลิมฉลองที่น่าสนใจอีกมาก ระหว่าง 24 ธันวาคม-2 มกราคมนี้ ที่วัดโพธิ์ “มรดกความทรงจำของโลก” ที่คนไทยเราสมควรจะช่วยกันดูแลรักษาไว้ตราบนาน เท่านาน.


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.thairath.co.th/column/life/zoomzokzak/225695
http://campus.sanook.com/,http://mahachat.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ