ถนนสายดอกไม้ : ขุนวาง-แม่จอนหลวง
ถนนสายดอกไม้ : ขุนวาง-แม่จอนหลวง : เรื่อง // ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์
ย่างเข้าปีใหม่ กับสภาพอากาศหนาวๆ เหมาะกับดอกไม้บางชนิดที่จะเบ่งบานสีสัน รับแสงตะวัน มีมากมายหลายชนิด รวมทั้ง "นางพญาเสือโคร่ง" หรือ ซากุระดอย ดูจะเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งคนหนุ่ม สาว อาซิ้ม อาซ้อ ทั้งโดยสารรถประจำทาง เหมารถตู้ ไปรถยนต์ส่วนตัว หรือวัยรุ่นหน่อยก็จะเช่ารถมอเตอร์ไซค์ บิดขึ้นดอยสูง ไปอิงแอบไอหนาว ใต้ต้นนางพญาเสือโคร่ง
ดอยอินทนนท์ ชื่อนี้ไม่ได้อยู่ใน list เดินทางแต่ต้น หากแต่เป็นสถานที่ตั้งของ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่-ขุนวาง และ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่-แม่จอนหลวง ที่มีนางพญาเสือโคร่งเยอะ และกำลังบานสะพรั่ง ทำให้ฉันต้องมุ่งหน้าไปดอยอินทนนท์อีกครั้ง กับเพื่อนอีก 2 คน
คราวนี้ขับรถไปกันเอง ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าเชียงใหม่ในเวลาค่อนดึก กะว่าไปถึงช่วงเช้า ได้เวลาเที่ยวพอดี ดีที่ว่าในรถเรามีมือวางขับรถได้ทุกคน เลยสลับกันได้เมื่ออีกคนเหนื่อยล้า และดูเหมือนตลอดการเดินทางครั้งนี้ ฉันเป็นคนที่เหนื่อยล้ามากที่สุด เลยทำหน้าที่เที่ยวอย่างเดียว
แต่ถ้าใครไม่ขับรถไป จะนั่งเครื่องบิน หรือรถทัวร์ ก็ไปต่อรถได้ที่อาเขต (ขนส่งเชียงใหม่) นั่งรถสองแถวเหลืองไปจอมทอง และต่อรถสองแถวเหลืองจอมทอง-อินทนนท์ ก็ได้เหมือนกัน
เส้นทางสู่ศูนย์วิจัยเกษตรฯ ขุนวาง ไปได้ทั้งทางสันกำแพง-แม่วาง หรือ จอมทอง-ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นเส้นที่ไปง่ายที่สุด
ขับรถขึ้นดอยอินทนนท์ทั้งที เลยพาเพื่อนแวะไปดูลาดเลาสถานที่พักผ่อนอีกแห่งที่มีนักท่องเที่ยวคนไทยไม่มากนักที่รู้จัก "Bamboo Pink House" ณ บ้านผาหมอน เผื่อเป็นตัวเลือกยามที่แหล่งท่องเที่ยวคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ที่นี่ ใครจะมาต้องตั้งใจจริงๆ เพราะจากปากทางเข้าไป 7 กม. แถวเป็นทางลูกรัง มีลาดยางเป็นบางช่วง
"ผมก็นึกว่าเป็นหมู่บ้านเฉยๆ ไม่มีอะไร หรือมีบ้านพักแบบนี้" เพื่อนร่วมทางเอ่ยขึ้นหลังจากที่เข้าไปเห็นบรรยากาศชวนพักผ่อน เอาเป็นว่ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง ...ตามอ่านกันนะคะ
ออกจากบ้านผาหมอน เลี้ยวขวา เลยบ้านแม่กลางหลวงขึ้นไป จนถึง กม. 31 แยกขวามือไปบ้านขุนวาง (16 กม.) ถนนลาดยาง แต่ก็มีบางช่วงเป็นทางลูกรัง สภาพเส้นทางไม่ถึงกับเลวร้ายเพราะรถเก๋งก็ไปได้ แค่หยอดหลุมไปนิดหน่อย ถึงบ้านขุนวาง ก็ต้องเลยต่อไปอีกราว 2 กม. ถึง ศูนย์วิจัยเกษตรฯ ขุนวาง และนี่แหละที่หมายของฉัน
หลังจากลงชื่อ แจ้งความจำนงค์ในสมุดทะเบียนที่ป้อมปากทางเข้าแล้ว ก็ต้องไปติดต่อที่สโมสรเรื่องที่พัก-อาหาร ฉันไม่ได้จองล่วงหน้า เลยได้นอนกางเต็นท์สมใจ แถมด้วยเพื่อนเตนท์อีกหลายหลัง
ระหว่างที่เพื่อนไปจับจองกางเต็นท์ ฉันออกเดินดูต้นไม้ ดอกไม้รอบบริเวณ ทริปนี้สบายจริงๆ จนเพื่อนบอกว่าฉันเสียบการ์ดผิดมาแหงๆ แทนที่จะเป็นโหมดแอดเวนเจอร์อย่างที่ถนัด กลายเป็นโหมดหวานแหววแต๋วจ๋า ซะงั้น ... ก็แหม ถนนสายนี้มีแต่ดอกไม้สวยๆ สีชมพูหวานๆ ถ่ายรูปกันเพลินไปเลยทีเดียว
ที่ขุนวางช่วงหัวค่ำดูจะเป็นที่ปรารถนาของตัวคุ่นอยู่ไม่น้อย ฉันเองโดนกัดไปหลายจุดทีเดียว ไปที่นี่ให้ดีควรใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวดีที่สุด เราจัดการมื้อค่ำแบบง่ายๆ นั่งคุยกันจนลมหนาวกระโชกมา ก็พากันมุดเข้าไปนั่งคุยในเตนท์ต่อ ที่นี่เขาห้ามส่งเสียงดังหลัง 4 ทุ่ม แต่ดูเหมือนคืนนั้น (เสาร์ที่ 7 ม.ค.) จะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่มาพัก ส่งเสียงเริงราตรีซะเกือบตี2 เท่าที่ฉันหลับๆ ตื่นๆ ดูเวลาว่าเมื่อไหร่จะเงียบกันซะที
วันรุ่งขึ้นฉันเลยตื่นแบบสายๆ แวะไปช่วยเพื่อนทำอาหารเช้า ก่อนจะฉวยกล้องออกเดินเลาะไปตามถนนลึกด้านในตามที่สายตามองเห็นทิวสีชมพูของนางพญาเสือโคร่ง ผ่านแปลงต้นพีชที่กำลังออกผล แล้วก็ตะลึงกับ ถนนสายดอกไม้สีชมพู ที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ฉันมาถูกจังหวะจริงๆ ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานแน่นต้นตลอดแนวริมถนน ส่วนด้านในเป็นแปลงเพาะทั้งกาแฟ พีช พลัม ฯลฯ
เสียงสาวๆ กรี๊ดกร๊าด กับความสวยหวานของถนนเส้นนี้ เดินไป หยุดถ่ายรูปกันไป เก็บไว้ในความทรงจำ
คุณปั๊ป ชัญญานุช สิงคมณี เจ้าหน้าที่สาวสวยของหน่วยขุนวาง เล่าให้ฟังว่า ที่นี่นอกจากจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ช่วงโลว์ซีซั่น เดือนเมษายน-ตุลาคม จะเป็นช่วงเวลาของการทำงานวิจัย ซึ่งจะมีทั้งไม้ดอกปลูกตกแต่ง วิจัยกล้วยไม้ ไปจนถึงไม้ผลเมืองหนาว มันฝรั่ง กาแฟ มะคาเดเนีย โดยเฉพาะมันฝรั่งจะเน้นวิจัยต่อยอด ขยายผลแล้วส่งให้เกษตรกรใน 7 หมู่บ้านรอบโครงการนำไปปลูก 
มิน่า ฉันดูแล้ว ที่นี่แอบกิ๊บเก๋ ด้วยการตั้งชื่อบ้านพักตามไม้ดอกและไม้ผล เหมือนประกาศความสำเร็จของงานวิจัยของศูนย์ ให้พูดกันได้ปากต่อปาก
ออกจากขุนวางก็บ่ายกว่าเข้าไปแล้ว ตกลงว่าจะแวะเข้าไปดูที่ทางที่สถานีย่อยแม่จอนหลวงก่อน ถ้าไม่ถูกใจค่อยลงไปหาที่นอนด้านล่างแทน พ้นรั้วขุนวางก็เลี้ยวขวา เกาะแนวรั้วตามป้ายบอกทางเข้าหน่วยต้นน้ำขุนวาง แต่เลยเข้าไปนิดเดียวก็เห็นป้ายบอกสถานีย่อยแม่จอนหลวง นั่นไง ทำฉันเกือบหลง เพราะไม่เห็นป้ายนี้ แถมถนนที่เห็นบอกได้แค่ว่า รถกระบะน่าจะเหมาะที่สุด ไม่ต้องถึงกับ 4WD หรอก แต่รถเก๋ง หรือรถตู้ก็ดูจะทรมานรถเกินไป คาดว่าหนาวหน้าถนนหน้าจะเสร็จพร้อมรับนักท่องเที่ยวไปนอนชมดอกนางพญาเสือโคร่งรับไอหนาวแน่ๆ
ระยะทาง 7 กม. แต่ใช้เวลาพอควร โดยเฉพาะช่วงถนนที่กำลังทำ แถมต้องระวังรถสวนทาง ในรายทางยังมีสีชมพูของดอกนางพญาเสือโคร่งแทรกอยู่ในป่าสน
ถึงที่ทำการของ ศูนย์วิจัยเกษตรฯแม่จอนหลวง เห็นลานกางเต็นท์โล่งๆ มีต้นเมเปิ้ลใหญ่ๆ ล้อมรอบ แอบดีใจดูเหมือนนักท่องเที่ยวจะเหลือไม่กี่กลุ่ม คืนนี้คงหลับสบาย แต่ก่อนจะคุยเรื่องที่พัก เราก็ออกเดินสำรวจบริเวณ การตกแต่งสถานที่เหมือนสวนเมืองหนาว ต้นคริสต์มาสยอดแดง กอป๊อปปี้ ต้นอาร์คาเซีย
รวมถึงไม่ดอกอื่นๆ ที่ฉันไม่รู้จักอีกเยอะ ที่ที่ตื่นตาเห็นจะเป็นแปลงกุหลาบหลากสีที่ดอกใหญ่มากๆ บางดอกแทบจะเท่าหน้าฉันทีเดียว 555 และขาดไม่ได้ ต้นนางพญาเสือโคร่งที่กำลังออกดอก รวมถึง นางพญาเสือโคร่งสีขาว ที่อยู่ตรงมุมศาลาชมวิวก็กำลังออกดอกแน่นต้น บ้านพักที่นี่ดูสวยงาม ไล่ระดับตามไหล่เขา 
เซ้ง ละว้าง พ่อหลวงชาวม้งที่ดูแลหน่วยย่อยแม่จอนหลวง บอกว่า ที่นี่เปิดรับนักท่องเที่ยวมาได้ตั้งแต่ปี 2545 ตามนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมทั้งเปิดให้นักศึกษามาฝึกงานได้ ส่วนใหญ่คนเข้ามาก็บอกกันปากต่อปาก เพราะสภาพเส้นทางยังไม่ดีนัก และอยู่ลึก
ซึ่งศูนย์วิจัยแห่งนี้ เน้นวิจัยพวกชา กาแฟ เกาลัดจีน มะคาเดเนีย และไม้ผลเมืองหนาว พวกบ๊วย สาลี่ พลับ บนเนื้อที่ 1,250 ไร่ ซึ่งพอวิจัยได้ผลก็ส่งให้กรมวิชาการเกษตร นำไปช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป ตอนนี้ทางศูนย์ต้องเลี้ยงตัวเองด้วยการจำหน่ายผลผลิตที่ได้ และกล้าพันธุ์ รวมถึง "เหล้าบ๊วย" ที่กำลังวิจัยผลิตและจำหน่าย
ฉันอ้อยอิ่งกับบรรยากาศรายรอบ ที่พักแม่จอนหลวง เดินถ่ายรูปได้ไม่รู้เบื่อ ชมวิวอาทิตย์ตกที่เห็นได้ชัดแต่เย็นนี้ฟ้ามีเมฆสีหม่นเยอะเกินไปจนกลัวฝนจะตก เช้าตรู่ขึ้นมา ตามดงพญาเสือโคร่งในหุบ มีนกเล็กๆ ออกหากินน้ำหวานเต็มไปหมด เหมือนเป็นสวรรค์ย่อยๆ ของนักดูนกเลยทีเดียว แต่ที่นี่จะไม่ใช่สวรรค์แน่ๆ ถ้านักท่องเที่ยวทิ้งขยะไว้ที่นั่น เพราะการจัดการขยะในสถานที่ธรรมชาติเป็นเรื่องยุ่งยากจริงๆ ดังนั้นนักท่องเที่ยวควรนำขยะกลับออกมาทิ้งด้านนอกด้วยทุกครั้ง เพื่อธรรมชาติที่สวยงามของเราทุกคน
และวันนี้ ขุนวาง-แม่จอนหลวง สวรรค์ของนักล่าถนนสายสีชมพู ยังรอทุกคนอยู่ ณ ดอยอินทนนท์ ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20120115/120285/ถนนสายดอกไม้:ขุนวางแม่จอนหลวง.html