ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เจาะลึกตำนานมังกร "เล้ง-เล่ง-หลง-หลุง"  (อ่าน 4616 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29302
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เจาะลึกตำนานมังกร "เล้ง-เล่ง-หลง-หลุง"

เทศกาลตรุษจีนในปีมังกรนี้ มีความหมายอย่างมากสำหรับคนเชื้อสายจีน เนื่องจากคนจีนยกย่องให้ "มังกรเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง" เป็นสัตว์อมตะ มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถเหาะเหิรเดินอากาศ หรือแม้กระทั่งเดินดิน ดำน้ำ ล่องหนหายตัว แปลงกายให้เล็กใหญ่ สั้นยาว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ "มังกรมีลูกแก้วอยู่ในปาก"

นอกจากนี้ "มังกรเป็นพาหนะของเจ้าแม่กวนอิม" และถึงจะเป็นสัตว์ดุร้าย แต่ก็สามารถบันดาลประโยชน์สุขให้เกิดแก่มนุษย์ได้ เพราะสามารถทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ บันดาลให้เกิดฝน ลม และไฟ รวมทั้งช่วยกำจัดสิ่งชั่วร้าย

สำหรับตำนานเล่าขานถึงเรื่องมังกรมีอยู่ว่า เมืองจีนในช่วงฤดูหนาวมีแต่ความแห้งแล้ง สาเหตุมาจากเป็นช่วงเวลาที่มังกรหลับ แต่เมื่อมังกรตื่นขึ้นจะนำพาเอาน้ำมาด้วยอย่างมหาศาลจนเกิดอุทกภัย สร้างความเดือดร้อนไปทั่วแผ่นดิน

จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนหมู่มากนี้ ทำให้เจ้าแม่กวนอิมโพธิสัตว์ลงโทษให้มังกรต้องเข้าไปจำศีลภาวนาชดใช้กรรมอยู่ภายในถ้ำนาน 3,000 ปี จนมังกรบังเกิดบารมี กลายเป็นสัตว์ชั้นเทพ สามารถเหาะขึ้นไปยังสรวงสวรรค์ได้ ทั้งยังต้องทำหน้าที่เฝ้าดูแลลูกแก้ววิเศษของเจ้าแม่กวนอิมโพธิสัตว์ เราจึงมักเห็นรูปวาดของมังกรจีนมีลูกแก้วอยู่ด้วย

ชาวจีนเรียกมังกรว่า "เล้ง-เล่ง-หลง-หลุง" โดยหลังจากฟังตำนานที่เล่าต่อกันมา ก็ยกให้ "มังกรเป็นสัญลักษณ์ของพลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และเพศชาย" เนื่องจากมังกรจีนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์แห่งเทพเจ้าในสรวงสวรรค์และเป็นตัวแทนของจักรพรรดิ ผู้เป็นโอรสจุติมาจากสวรรค์ ชาวจีนจึงมีความเชื่อว่าหากผู้ที่ได้พบเห็นมังกร จะถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองมาก ผู้ที่มีโอกาสจะได้ขี่หลังมังกรจะต้องเป็นคนมีศีล มีสัตย์ มีจิตใจบริสุทธิ์ดีงาม ถึงจะมีมังกรมารับไปเป็นเซียนอยู่บนสวรรค์

ในตำนานโบราณยังมีการแบ่งชนิดของมังกรจีนเป็น 3 ชนิด ประกอบด้วย "มังกรแท้ ชิวเล้ง" เป็นมังกรขนาดใหญ่ มีเขาและปีก เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด เป็นใหญ่เหนือมังกรทั้งปวง อาศัยอยู่บนฟ้าหรือบนสวรรค์

ชนิดต่อมา "มังกรหลี่ หรือ ลี่" เป็นมังกรไม่มีเขา อาศัยอยู่ในมหาสมุทร และอีกชนิด คือ "มังกร เจี่ยว หรือ เฉียว" เป็นพวกมังกรมีเกล็ด อาศัยตามลุ่มหนองหรือถ้ำตามภูเขา มีขนาดตัวเล็กกว่ามังกรที่อยู่บนท้องฟ้า มีหัวและลำคอเล็ก ไม่มีเขา หน้าอกเป็นสีเลือดหมูหรือสีน้ำตาลเข้ม ด้านข้างลำตัวและสันหลังมีลายแถบเป็นสีเขียวและสีเหลือง มี 4 ขา ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับงู มีลำตัวยาวประมาณ 13 ฟุต

ขณะที่บางตำราแบ่งชนิดตามถิ่นที่อยู่ มีทั้ง "หลง" เป็นมังกรแห่งสวรรค์ "หลี่" เป็นมังกรแห่งทะเล และ "เจี่ยว" เป็นมังกรแห่งภูเขาและที่ลุ่ม

ไม่เพียงแค่นั้น ตำนานมังกรจีน ยังมีการแบ่งชั้นวรรณะไว้อย่างชัดเจน ลำดับจากสูงไปต่ำ เริ่มจาก "มังกรสวนนิ" เป็นมังกรที่ใช้สลักบนบัลลังก์ขององค์พระประติมากรรม และใช้แทนฐานรูปสิงโต ตามด้วย "มังกรเฉาฟง" ใช้สลักบนสถาปัตยกรรมชายคา โบสถ์

"มังกรฟูเหลา" ใช้ประดับบนยอดระฆังและกลอง ซึ่งเป็นเครื่องเสียงที่ใช้สำหรับต่อสู้หรือใช้ในการประกอบพิธีการที่สำคัญ ขณะที่ "มังกรไยสู" ใช้สลักบนฝักดาบ บนกระบังดาบ และบริเวณใบดาบ รวมทั้งใบง้าว

"มังกรฉีเหวิน" ใช้ประดับบนชื่อสะพาน เพราะเป็นมังกรน้ำและยังใช้สลักบนบริเวณหลังคาอาคารสถาปัตยกรรม เพื่อป้องกันไฟ ส่วน "มังกรปาเซียน" ใช้สลักที่บริเวณส่วนล่างของสถาปัตยกรรม เชื่อกันว่ามังกรปาเซียนสามารถช่วยพยุงน้ำหนักได้ ซึ่งเหมือนกันคนไทยที่มักจะใช้ยักษ์ในการช่วยพยุงน้ำหนัก

"มังกรฉิวนิว" ใช้สลักบนลูกปิดของ “ซอ” เพราะมังกรฉิวนิวนั้นชอบฟังเพลง หากเป็น "มังกรปิกัน" ใช้สำหรับสลักบนประตูคุก เพื่อป้องกันการวิวาทของนักโทษ

สุดท้าย "พญามังกร" เป็นมังกร 4 ตัว เป็นพี่น้องกัน ซึ่งปกครองอยู่เหนือทะเลทั้งสี่ คือ ทะเลตะวันออก, ใต้, ตะวันตก, และเหนือ โดยอาศัยอยู่ในปราสาทมหาสมุทรหรูหรา หรือวังใต้ทะเล และกินไข่มุกเจียงตู หรือไข่มุก และโอปอล เป็นอาหาร บางแหล่งข้อมูลระบุว่า มังกร 4 ตัวนี้ มีผู้ควบคุมชื่อ ฉิน แท็ง เป็นมังกรที่มีสีแดงเลือด มีแผงคอเป็นไฟ และยาว 900 ฟุต

อย่างไรก็ตาม ชาวจีนโบราณยังมีความเชื่อว่า มีสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ 4 ชนิด คือ กิเลน หงส์ เต่า และมังกร โดยถือกันว่ามังกรนั้น เป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ดังที่กล่าว ส่วนการนำสัญลักษณ์มังกรมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด รูปปั้น หรือประดับตามข้าวของเครื่องใช้ ยังต้องยึดถือเรื่องรายละเอียด อย่างของจักรพรรดิ มังกรจะมี 5 เล็บ ของขุนนางจะมี 4 เล็บ ส่วนของสามัญชนจะมี 3 เล็บเท่านั้น

การได้รู้ตำนานมังกรจีนที่ยิ่งใหญ่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตรุษจีนในปีมังกรทองนี้ สร้างความรู้สึกมิ่งมงคลเสียจริง.


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.dailynews.co.th/article/440/8533
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ