« เมื่อ: มกราคม 23, 2012, 12:55:53 pm »
0
อั่งเปาโนมิคส์
“ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” แต่ลูกหลานมักจะพูดกลับไปว่า “อั่งเปา ตั่วๆไก๊ไล้” แปลว่า ขอซองหนาๆนะ ดูจะเป็นสิ่งที่ลูกหลานที่ยังไม่ถึงวัยทำงาน อยากให้วันตรุษจีนมาถึงเร็วๆ...จะได้รับเงินสดในสภาพใบใหม่ๆ เอากลับไปฝากป่าป๊า หม่าม้า เพื่อจะได้เอาไปฝากในธนาคาร จะได้มีเงินเยอะๆในอนาคต
ผมมานั่งลองนึกดู ก็แทบไม่น่าเชื่อว่า ลูกหลานคนจีนนับตั้งแต่แรกเกิดเรื่อยมาจนถึงก่อนถึงวัยทำงานครั้งแรกในชีวิต จะได้รับซองอั่งเปา หรือแต๊ะเอียต่อเนื่องถึง 20 ปี แต่จำนวนซอง และมูลค่าเงินในซองในแต่ละปีอาจจะแตกต่างกันไป ก็ขึ้นอยู่กับตามความสนิทชิดเชื้อ เครือข่ายญาติมิตรกว้างขวางแค่ไหน
ภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปีดีหรือแย่ และลูกหลานประพฤติตัวอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ในแต่ละปีเม็ดเงินในเทศกาลตรุษจีน เฉพาะที่อยู่ในซองอั่งเปา อาจมีสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ดูได้จากธนบัตรใบใหม่ในแต่ละปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำมาเตรียมให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อลูกค้าธนาคารจะได้เบิกไปเตรียมเป็นเงินอั่งเปาให้กับลูกหลาน
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในมุมมองของการบริหารเงินๆทองๆกับเม็ดเงินอั่งเปาในแต่ละปี กลับอยู่ที่เมื่อให้ซองแดงไปแล้ว จะปลูกฝังให้เด็กๆหลานๆในวัยเด็กเข้าใจ และรู้จักการหามูลค่าเพิ่มให้กับเงินออมของตัวเองเป็นอย่างไร?
(ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนขึ้นทุกปี ข้าวของก็มีแต่แพงขึ้นไม่มีลง ต้นทุนค่าครองชีพก็ถีบตัวสูงลิบลิ่ว ผลตอบแทนจากการลงทุนก็ยิ่งหายากมากขึ้นเรื่อยๆ)
จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดกับการสร้างต้นแบบการออมให้ลูกหลาน คือ พ่อ และแม่ เป็นต้นฉบับที่ลูกมักจะจดจำ ทั้งด้านดี และด้านไม่ดี ไม่ว่าจะลอกเลียนแบบการกระทำ พฤติกรรม และนิสัยบางอย่าง รวมถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือ
เรื่องการใช้เงินของพ่อ และแม่ เมื่อพ่อและแม่ทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีในการใช้เงินอย่างคุ้มค่า ลูกๆหลานๆย่อมซึมซับคำสอน และเห็นสัญลักษณ์ต่างๆที่มาจากการใช้เงินเป็น เพื่อให้เกิด ทั้งประโยชน์ และความสุข
ในช่วงแรกเกิด นับว่าเป็นวัยที่เริ่มทำความรู้จักกับเงินได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสอนลูกให้รู้จักลักษณะเหรียญ และลักษณะธนบัตร จากใบละ 20 บาท ถึงใบละ 1,000 บาท นั่นคือการทำให้ลูกหลานเกิดการจดจำ และทำความเข้าใจค่าของเงิน และที่ควรจะเน้นให้มากที่สุด คือ ที่มาของเงินของพ่อและแม่ล้วนมาจากการออกแรง การออกความคิด ไม่มีของฟรีในโลกบนความเป็นจริง
ซึ่งจะทำให้ลูกหลานได้เข้าถึงความเข้าใจที่ว่า คนเราต้องทำงาน จึงจะได้เงินมาใช้ ไม่ใช่นั่งรอให้มีคนช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา เมื่อลูกหลานโตถึงวัยที่เริ่มไปโรงเรียน นับเป็นโอกาสดีที่พ่อและแม่จะสอนให้ลูกรู้จักวางแผนการเงินครั้งแรกในชีวิตด้วยตนเอง
โดยเริ่มจากให้เงินลูกไปโรงเรียนในจำนวนที่เหมาะสม
แล้วคอยตรวจดูว่าหลังกลับมาจากโรงเรียน เขาเหลือเงินเท่าไร
แล้วสอนให้ลูกรู้จักการออมด้วยการหยอดกระปุก
สิ่งที่ดีที่สุดไปกว่านั้น คือ การถามลูกหลานว่า “เอาเงินไปทำอะไรบ้างในแต่ละวัน?”
ถัดจากนั้นฝึกให้ลูกหลานตัดสินใจ และบริหารจัดการเงินเอง
โดยให้เงินเป็นรายสัปดาห์เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่าในแต่ละวันควรใช้เงินเท่าไร?
ถ้าจะพอเหลือให้สามารถใช้ไปถึงปลายสัปดาห์ จะทำยังไ?
และเหลือเก็บเท่าไร?
เมื่อไรก็ตามที่ลูกหลานก้าวเข้าสู่วัยรุ่น จากเงินที่ให้เป็นรายวัน ก็ปรับไปเป็นเงินเดือนครั้งแรกในชีวิต โดยสิ่งที่ต้องระวัง คือ การวิ่งซื้อหาของเล่นไปจนถึงของใช้ต่างๆตามเพื่อนๆ ซึ่งเพื่อนๆแต่ละคนก็มีฐานะทางครอบครัวที่แตกต่างกันออกไป จึงควรหัดให้ลูกหลานรู้จักเก็บเงิน และเลือกซื้อของเล่นของใช้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน พ่อและแม่ก็ไม่ควรซื้อของแพงๆให้ใช้ บนหลักการที่ว่า เกินความจำเป็นในแต่ละวัย
เมื่อใดก็ตามที่พ่อและแม่ยอมให้อารมณ์ที่เรียกว่า “ตามใจ” อยู่เหนือ “เอาใจ”
มันหมายถึง การปลูกฝังด้านมืดของเงินทอง เพราะคำว่าคุณค่าของเงินจะไม่มีวันที่ลูกหลานจะเข้าใจ
ที่ยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่ คือ พ่อและแม่ที่คิดว่าการที่ลูก “ไม่มี” ของเหมือนกับเพื่อน
แล้วจะทำให้ลูกหลานตัวเองรู้สึก “ด้อย” กว่าเพื่อนนั้น
เป็นความคิดที่ผิด และสิ่งที่มักทำให้มีความคิดอย่างนี้ มาจาก “การคิดแทน”
ซึ่งมักเป็นจุดตายของคนเราไม่ว่าวัยไหนก็ตาม ผมกล้าพูดได้ว่า พ่อและแม่สมัยนี้(และในอนาคต) มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากให้ลูกหลานลำบากเหมือนพ่อแม่ที่ผ่านมา ในความเป็นจริง ในจังหวะชีวิตของลูกหลาน ย่อมต้องมีช่วงยากลำบากในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตใจ อารมณ์ การงาน หรือแม้แต่เงินทอง
ดังนั้น การไม่บอกลูก หรือห้ามปรามให้รู้จักกินรู้จักใช้ แต่กลับให้ลูกใช้ชีวิตอย่างสุขสบายข้ามพรมแดน มีการใช้จ่ายเกินตัว เกินวัย เกินความสามารถ หรือเกินศักยภาพในการเงินของตัวเอง โดยคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือการแสดงความรักให้กับลูกหลาน ไม่อยากให้ลูกหลานน้อยหน้ากว่าคนอื่น สิ่งเหล่านี้กำลังนำไปสู่หายนะทางการเงินในบั้นปลายชีวิต
การให้ อั่งเปา หรือแต๊ะเอียในปีนี้ ปีต่อๆไป จนกว่าลูกหลานจะเริ่มต้นทำงานครั้งแรกในชีวิตนั้นไม่ยากเท่ากับการให้ต้นแบบ พฤติกรรมการเงินที่ดี และให้การปลูกฝังวิธีคิดบริหารจัดการด้านการเงินที่ยั่งยืน เมื่อถึงวันนั้น พ่อและแม่จะไม่มีวันเสียใจเลย เมื่อได้เห็นลูกหลานที่มีคุณภาพด้านการเงิน และนั่นคือ คำตอบที่สมบูรณ์แบบสำหรับชีวิตลูกหลานที่ไม่มีวันยากลำบากเหมือนพ่อ และแม่ในช่วงที่ผ่านมาครับ
บทความโดย บัญชา ชุมชัยเวทย์ ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.thairath.co.th/content/eco/232625