ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ให้คนไข้ตายอย่างสงบ..จะขัดจรรยาบรรณแพทย์..หรือไม่?  (อ่าน 1802 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29302
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ปุจฉา-วิสัชนากับพระไพศาล วิสาโล
ให้คนไข้ตายอย่างสงบ จะขัดจรรยาบรรณแพทย์ หรือไม่?


ให้คนไข้ตายอย่างสงบ จะขัดจรรยาบรรณแพทย์ หรือไม่?

        อีนางน้อย หนูเมย์ ปุจฉา :  พระอาจารย์ขา แล้วจะขัดกับจรรยาบรรณแพทย์ไหมคะ ที่บอกว่ายังไงก็ต้องช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอด แต่ถ้าเป็นหนู หนูก็อยากให้คนป่วยจากไปแบบสงบมากกว่าที่มาทนทรมานถ้ารักษาแล้วไม่มีทางรอด แต่หนูก็เชื่อเรื่องปฏิหาริย์นะคะ แม้เพียงเศษเสี้ยวเล็กน้อย มันก็คือความหวัง
 
          วิสัชนา :  แม้แพทย์จะมีหน้าที่ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย แต่ต้องตระหนักถึงความจริงว่า ในที่สุดทุกคนก็ต้องตาย ไม่มีใครที่หนีความตายพ้น ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการเพียบหนัก หรืออยู่ในระยะสุดท้าย สุดวิสัยที่จะเยียวยาได้ การช่วยให้เขาจากไปอย่างสงบ น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการยื้อชีวิตเขาให้นานที่สุดราวกับว่าความตายของผู้ป่วยเป็นความพ่ายแพ้ของตน การยื้อชีวิตของเขาในภาวะเช่นนั้นด้วยเทคโนโลยีนานาชนิดบ่อยครั้ง ก็ไม่ต่างจากการยื้อความทรมานให้ยาวนานที่สุด
 
         จะว่าไปแล้วแพทย์จำนวนมากย่อมรู้ดีว่าผู้ป่วยคนใดที่อยู่ในภาวะที่สุดวิสัยจะเยียวยาได้ ทางเลือกจึงมีแค่ว่าเขาจะอยู่ได้นานแค่ไหน และตายอย่างไร ในเมื่อจะต้องตายแล้ว ไม่ดีกว่าหรือที่จะช่วยให้เขาอยู่อย่างทุกข์น้อยที่สุดและตายอย่างสงบ แทนที่จะมีชีวิตยืนยาวขึ้นแค่สัปดาห์หรือแค่เดือน แต่อยู่อย่างทุกข์ทรมานและตายอย่างทุรนทุราย
 
         ต้องย้ำในที่นี้ว่าคำว่า "ช่วย" ให้เขาตายสงบนี้ ไม่ได้หมายถึง การทำให้เขาตายเร็วขึ้น แต่หมายถึงการประคับประคองทั้งกายและใจ โดยให้มีความเจ็บปวดน้อยที่สุดและมีความสบายมากที่สุด
 
         อาตมาเห็นด้วยว่า 'ปาฏิหาริย์' นั้นมีจริง มีหลายคนที่โอกาสรอดมีเพียงน้อยนิด กลับมีชีวิตอยู่ได้นานและมีความสุขตามอัตภาพ แม้กรณีอย่างนี้มีน้อยมาก แต่ก็ไม่ควรมองข้าม อย่างไรก็ตามจำเป็นจะต้องชั่งตรองให้ดีระหว่างผลดีกับผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการพยายามยื้อชีวิตเขา

         โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า หากเขารอดชีวิต ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ถือว่าโชคดีมากๆ แต่หากลงเอยด้วยการที่เขาตายอย่างทุกข์ทรมาน (ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นเช่นนั้น) ไม่เพียงจะเป็นผลร้ายต่อเขาเท่านั้น หากยังเป็นภาพที่ติดตาฝังใจญาติมิตรลูกหลานและสร้างความทุกข์แก่เขาไปอีกนาน

 

ไปในที่อโคจร จะเป็นบาปไหม?
 
         มินทนิต เซเว่นไทน์ ปุจฉา :  นมัสการพระคุณเจ้า หนูมีข้อสงสัยที่อยากจะถามพระอาจารย์หน่อยค่ะ คือหนูเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่เที่ยวที่อโคจร ผับ ร้านเหล้า เป็นต้น แต่เวลาไปเที่ยวกับเพื่อนๆ หนูก็ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เลยนะคะ ไม่สูบบุหรี่ หรือยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขด้วย แต่แค่อยากไปเปลี่ยนบรรยากาศในการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำเปล่า น้ำโค้ก ฟังเพลงเฉยๆ
         หนูเลย อยากทราบว่า การที่หนูไปเที่ยวที่แบบนั้นแต่ไม่ได้ทำผิดศีล หนูจะบาปหรือเปล่าคะ?
 
         วิสัชนา: ที่คุณเล่ามานั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีล ๕ แต่การอยู่ในสถานที่อย่างนั้นย่อมเสี่ยงต่อการผิดศีลได้ เพราะมีบรรยากาศที่โน้มน้าวให้ทำเช่นนั้นได้ง่าย จึงควรระมัดระวัง และตั้งจิตให้มั่นเพื่อรักษาศีลได้อย่างที่ตั้งใจไว้



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20120207/122305/ให้คนไข้ตายอย่างสงบจะขัดจรรยาบรรณแพทย์หรือไม่.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ