ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุฯ ลำพูน  (อ่าน 2227 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุฯ ลำพูน
« เมื่อ: มีนาคม 22, 2012, 07:40:01 pm »
0


ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุฯลำพูน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บรรจุประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน เป็นงานท่องเที่ยวประจำปี

     22 มี.ค.55 ที่ห้องจามเทวี ศาลากลางจังหวัดลำพูน พระราชปัญญาโมลี รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร และรักษาการเจ้าคณะจังหวัดลำพูน พร้อม นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน คณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ประกอบด้วย เจ้าคณะอำเภอ , เจ้าคณะตำบล , เจ้าอาวาสวัดกว่า 100 รูปในจังหวัด พร้อมส่วนราชการ และองค์กรท้องถิ่น
    ร่วมประชุมงานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย ประจำปี 2555 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-5 พ.ค. ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน

    นายพงษ์เทพ มนัสตรง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (เดือน 8 เหนือ) ชาวบ้านเรียกว่า ประเพณีแปดเป็ง ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยจัดขึ้นทุกปี เพราะถือว่าพระธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญหนึ่งในแปดพระธาตุเจดีย์ของประเทศไทย น้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนั้นเป็นน้ำสรงพระราชทาน น้ำทิพย์จากดอยขะม้อ และน้ำสรงของประชาชน

     วัตถุประสงค์ของประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย เพื่อเป็นการสักการะพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันเก่าแก่ และนับเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดลำพูนและชาวพุทธทั่วไป เพื่อสักการะพระบรมอัฐิธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นการบูชาเสาหลักเมือง เพราะชาวลำพูนถือว่า เจดีย์พระธาตุหริภุญชัยเป็นเสาหลักเมือง

     เมื่อสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัยจึงได้ทำบุญเสาหลักเมืองลำพูนด้วย ในวันขึ้น 13 ค่ำ จะมีพิธีฝังเสาสำหรับผูกเชือกดึงหม้อน้ำสรง ชาวบ้านเรียกว่า เสาก๊างน้ำ ในวันนี้ฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า หลังจากฝังเสาก๊างน้ำแล้ว เทวดาจะต้องสรงน้ำพระธาตุก่อนใคร เมื่อเสร็จงานเรียบร้อยแล้ว เสาก๊างน้ำจะถอดเก็บรักษาไว้

     ตอนบ่ายวันขึ้น 15 ค่ำ ราว 13.00 น. แต่ในปีนี้ตรงกับวันฉัตรมงคล เวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมด้วยข้าราชการ นักเรียน นักศึกษาประชาชน ร่วมขบวนแห่นำน้ำสรงพระราชทาน พร้อมเครื่องสักการะบูชาและน้ำทิพย์ดอยขะม้อ ไปยังวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร แล้วทำพิธีถวายสักการะ โดยคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ มีเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นประธานนำสวดถวายอดิเรก



    หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน จะทำพิธีสรงน้ำพระธาตุโดยสรงน้ำพระราชทานก่อน ต่อจากนั้นประชาชนจึงเข้าสรงน้ำ เมื่อน้ำสรงเมื่อเต็มหม้อแล้ว ประชาชนจะช่วยกันดึงเชือกให้หม้อน้ำสรงเลื่อนขึ้นไปยังองค์พระธาตุ ซึ่งบนองค์พระธาตุ มีชายแต่งตัวชุดขาวคล้ายพราหมณ์ประมาณ 5-6 คน คอยรับน้ำสรง เพื่อนำไปสรงรอบๆองค์พระธาตุ ประชาชนจะสรงน้ำกันอย่างไม่ขาดสายจนถึงเวลาประมาณ 17.00-19.00 น. เป็นอันเสร็จพิธี

      ประเพณีนี้แสดงถึงความยึดมั่นในพระพุทธศาสนาและพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะของประชาชน ด้วยการแสดงคารวะต่อพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในครอบครัวและชุมชน มาร่วมสักการะบูชาองค์พระธาตุร่วมกัน พร้อมกับแสดงความยินดีปรีดา ด้วยการแสดงตีกลองหลวง ฟ้อนพื้นเมือง แห่ครัวทานเพื่อนมัสการและสักการะพระบรมธาตุ

      พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุคู่เมืองลำพูนมาแต่โบราณ มีตำนานเล่าว่า
      ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังชัยภูมิของชาวเม็ง ทรงหยุดประทับนั่ง ณ สถานที่หนึ่ง พระญาชมพูนาคราช และพระญากาเผือกได้มาอุปัฏฐาก และมีชาวลัวะผู้หนึ่งนำลูกสมอมาถวาย พระองค์ทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า ที่นี่ในอนาคตจะเป็น นครหริภุญชัยบุรี เป็นที่ประดิษฐาน พระสุวรรณเจดีย์ ซึ่งบรรจุธาตุกระหม่อม ธราตุกระดูก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง     
      ในครั้งนั้นพระญาทั้งสองได้ทูลขอพระเกศาธาตุ นำไปบรรจุในกระบอกไม้รวกและโกศแก้วใหญ่ ไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับ


      ต่อมาในสมัยพระยาอาทิตยราช ผู้ครองเมืองหริภุญชัย (ราว พ.ศ.1420) ได้เสด็จลงห้องพระบังคน แต่มีกาขัดขวางไม่ให้เข้า ภายหลังทรงทราบว่าที่แห่งนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ จึงทรงให้รื้อวังและขุดพระบรมธาตุมาบรรจุโกศทองคำ และสร้างมณฑปปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุหริภุญชัยได้รับการบูรณะเรื่อยมา โดยพระเจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ เมื่อ 500 กว่าปีมาแล้ว

      "ภายในวัดยังมี พระสุวรรณเจดีย์ เจดีย์ยุคแรกในศิลปะหริภุญชัย เจดีย์เชียงยัน เจดีย์เก่าแก่ทรงปราสาทห้ายอด และ หอระฆัง ที่แขวนกังสดาลใหญ่ เป็นต้น ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย น้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนี้จะต้องนำมาจากบ่อน้ำบนยอดดอยขะม้อที่อยู่นอกเมือง ตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ

      อนึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จึงได้นำประเพณีการสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นปฎิทินการท่องเที่ยวประจำปีของ ททท. ซึ่งจะทำให้จังหวัดลำพูนมีชื่อเสียง และสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอายุยาวนานนับพันๆปี ดึงนักท่องเที่ยวไหลหลงชื่นชมความงดงามและอยากมาเที่ยวอีกหลายครั้ง 
      ตลอดจนเป็นการสร้างเศรฐกิจมวลรวมของจังหวัดได้ดีอีกด้วย แต่ปัญหาที่พบคือการประชาสัมพันธ์ยังไม่กว้างไกล ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมไปเที่ยวจังหวัดอื่นมากกว่า" นายพงษ์เทพ กล่าว

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20120322/126079/ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุฯลำพูน.html
http://images.mistersensor.multiply.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 22, 2012, 07:41:51 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ