พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค
๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖)
[๑๒๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ บางทีใครๆ จะทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรว่า
ดูกรนายจุนทะ มิใช่ลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของ ท่านเป็นครั้งสุดท้ายเสด็จปรินิพพานแล้ว ดังนี้ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจ ของนายจุนทกัมมารบุตรเสียอย่างนี้ว่า
ดูกร นายจุนทะ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เสด็จปรินิพพานแล้ว เรื่องนี้เราได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
บิณฑบาตสองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก บิณฑบาตสองคราวเป็นไฉน คือ
ตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างหนึ่ง
ตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอย่างหนึ่ง
บิณฑบาตสองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า
มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก กรรมที่นายจุนทกัมมารบุตรก่อสร้างแล้ว เป็นไปเพื่ออายุ ... เป็นไปเพื่อวรรณะ ... เป็นไปเพื่อความสุข ... เป็นไปเพื่อยศ ...เป็นไปเพื่อสวรรค์ ... เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่ยิ่ง
ดูกรอานนท์ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตร เสียด้วยประการฉะนี้ ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
[๑๒๗] บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่ คนฉลาดเทียว ย่อมละกรรมอันลามก เขาดับแล้วเพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป ฯ อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๑๘๘๘ - ๓๙๑๕. หน้าที่ ๗๘ - ๑๕๙.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1888&Z=3915&pagebreak=0ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67ขอบคุณภาพจาก
http://download.buddha-thushaveiheard.com/
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปรินิพพานสูตร
กมฺมารปุตฺตจุนฺทวตฺถุวณฺณนา บทว่า สูกรมทฺทวํ ได้แก่ ปวัตตมังสะของสุกรที่ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่ง ไม่หนุ่มนัก ไม่แก่นัก.
นัยว่า ปวัตตมังสะนั้นนุ่มสนิท.
อธิบายว่า ให้จัดปวัตตมังสะนั้น ทำให้สุกอย่างดี.
อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ก็คำว่า สูกรมัททวะ นี้เป็นชื่อของข้าวสุกอ่อน ที่จัดปรุงด้วยปัญจโครส (ขีร นมสด ทธิ นมส้ม ฆตํ เนยใส ตกฺกํ เปรียง และโนนีตํ เนยแข็ง) และถั่ว เหมือนของสุก ชื่อว่าควปานะ ขนมผสมน้ำนมโค.
อาจารย์บางพวกกล่าวว่า วิธีปรุงรส ชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็สูกรมัททวะนั้นมาในรสายนศาสตร์.
สูกรมัททวะนั้น นายจุนทะตบแต่งตามรสายนวิธี ด้วยประสงค์ว่าการปรินิพพานจะยังไม่พึงมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
แต่เหล่าเทวดาในมหาทวีปทั้ง ๔ ซึ่งมีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีปเป็นบริวาร ใส่โอชะลงในสูกรมัททวะนั้น. ฯลฯ กุสินาราคมนวณฺณนา ถามว่า พระตถาคตสรรเสริญบิณฑบาตใด ที่นางสุชาดาถวายแล้วตรัสรู้ บิณฑบาตนั้นพระองค์เสวยในเวลาที่ยังมีราคะโทสะและโมหะ แต่บิณฑบาตนี้ที่นายจุนทะถวายแล้ว พระองค์เสวยในเวลาที่ปราศจากราคะโทสะโมหะ มิใช่หรือ แต่ไฉน บิณฑบาตทั้งสองนี้จึงมีผลเท่าๆ กัน.
แก้ว่า เพราะเสมอกันโดยการปรินิพพาน เสมอกันโดยการเข้าสมาบัติ และเสมอกันโดยการระลึกถึง.
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยบิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ และเสวยบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
รวมความว่า มีผลเสมอกันโดยการปรินิพพาน.
ก็ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ พระองค์ทรงเข้าสมาบัตินับได้สองล้านสี่แสนโกฏิ
แม้ในวันเสด็จปรินิพพาน พระองค์ก็ทรงเข้าสมาบัติเหล่านั้นทั้งหมด.
รวมความว่า มีผลเสมอกันโดยเสมอกันด้วยสมาบัติ.
ในกาลต่อมา นางสุชาดาได้ทราบว่า เล่ากันมาว่า
ผู้ที่เราเห็นนั้นไม่ใช่รุกขเทวดา เป็นพระโพธิสัตว์ ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์นั้นฉันบิณฑบาตนั้นแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
พระองค์ดำรงอยู่ได้ด้วยบิณฑบาตนั้น ๗ สัปดาห์.
เมื่อนางได้ฟังดังนั้น ก็ระลึกได้ว่า เป็นลาภของเราหนอ จึงเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง.
ครั้นต่อมา นายจุนทะได้สดับว่า ได้ยินว่า
บิณฑบาตครั้งสุดท้ายที่เราถวาย เราได้ยอดธรรมแล้ว ได้ยินว่า พระศาสดาเสวยบิณฑบาตของเราเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หวนระลึกได้ว่า เป็นลาภของเราหนอ จึงเกิดโสมนัสอย่างแรง
พึงทราบว่า มีผลเสมอกันแม้โดยการเสมอกันแห่งการระลึกถึงอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.ฯลฯที่มา
84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67&p=3#กมฺมารปุตฺตจุนฺทวตฺถุวณฺณนาขอบคุณภาพจาก
http://download.buddha-thushaveiheard.com/