มหาวิทยาลัยนาลันทา
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มหาวิทยาลัยนาลันทา ที่เหลือแต่ซากอิฐใหญ่โตมโหฬาร ที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันไปชมเมื่อมาถึงเมืองนาลันทานั้น เดิมทีเป็นบริเวณบ้านเกิดของพระสารีบุตร
พระสารีบุตร หลังจากออกบวชแล้ว ได้ชักนำน้องชายคือ จุนทะ ออกบวชด้วย เมื่อจะนิพพาน (ตรงนี้แปลว่าตาย) ได้มาเทศน์โปรดมารดาให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นการแสดงกตเวทิตาธรรมให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง
หลังจากท่านนิพพานแล้ว ชาวนาลันทาได้สร้างสถูป ณ สถานที่ท่านดับขันธ์ไว้บูชา และสร้างกุฏิวิหารล้อมรอบพระสถูปนั้นด้วย ตกถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงจาริกแสวงบุญมานมัสการเจดีย์พระสารีบุตรแห่งนี้ ให้สร้างเจดีย์เพิ่มขึ้นอีกสององค์สำหรับพระสารีบุตรองค์หนึ่ง สำหรับพระโมคคัลลานะอีกองค์หนึ่ง และให้สร้างกุฏิวิหารล้อมรอบเจดีย์นั้น เพื่อให้เป็นสถานที่อยู่ของพระสงฆ์ และเป็นสถานที่เล่าเรียนพระพุทธศาสนา
นาลันทา ได้เป็นสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.1172 ดังจดหมายเหตุที่พระถังซัมจั๋งเล่าไว้คราวท่านจาริกมาศึกษา ณ สถาบันแห่งนี้ว่า
"มีตึกสูงถึง 6 ชั้น มีนักศึกษาประมาณ 10,000 คน
มีพระพุทธรูปปางสมาธิสูงถึง 16 วา
มีครูอาจารย์ 1,500 ท่าน
มีห้องสมุดใหญ่ถึง 3 หลัง อยู่ในมหาวิทยาลัยเดียว....."
ความกว้างใหญ่ไพศาลของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ถูกลบหายไปจากความทรงจำของผู้คนมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่กองทัพมุสลิม โดยการนำของอิคเทีย ขิลจิ บุกเข้าทำลายล้างจนสิ้นซาก
ว่ากันว่าพวกเติร์กมุสลิมเอาเชื้อเพลิงมาสุมแล้วจุดไฟเผากิน เวลาเป็นแรมเดือนกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมอดไหม้หมดสิ้น คิดดูเอาก็แล้วกันว่ามหาวิทยาลัยนี้จะมหึมาแค่ไหน
เมื่อประมาณ พ.ศ.2358 ลอร์ดแฮมิลตัน นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้อ่านบันทึกของหลวงจีนถังซัมจั๋ง เดินทางมาสำรวจพื้นที่ หวังจะพบที่ตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทาแห่งนี้ แต่ก็ไม่พบ เพราะมัวไปดูเสียที่อื่น ซึ่งห่างจากตัวมหาวิทยาลัยถึง 1 กิโลเมตร
ต่อมาอีก 45 ปี ท่านเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม และพรรคพวกเดินทางมาสำรวจ ได้ค้นพบที่ตั้งมหาวิทยาลัย ช่วยกันแต่งเจดีย์และตึกต่างๆ ในเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่เศษ ดังใครไปก็จะได้เห็นซากอิฐปรักหักพังเรียงรายกันยาวเหยียด ให้บรรยากาศขรึมขลังประหลาด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2403
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1499 ท่าน เจ.กัสสปะ พระอินเดียได้รับการอุปสมบทที่ลังกา กลับมาฟื้นฟูมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น จัดการเรียนการสอนแผนกภาษาบาลีโดยเฉพาะ ระยะแรกๆ ยังไม่มีที่เรียนถาวรก็อาศัยวัดจีนไปก่อน
ต่อมาได้สร้างอาคารเรียนขึ้น ตรงข้ามกับที่ตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทาเก่า ตั้งชื่อว่า "นวนาลันทามหาวิหาร" พระไทยไปเรียนปริญญาโทและเอกทางภาษาบาลีจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้หลายรูป ท่านมหายอดก็เป็นรูปหนึ่งในจำนวนนั้นหลวงพ่อพระองค์ดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แกะสลักด้วยหินแกรนิตสีดำ เดิมประดิษฐานอยู่ในมหาวิทยาลัยนาลันทา
ไม่ห่างไกลจากมหาวิทยาลัยนาลันทานัก มีพิพิธภัณฑ์รวบรวมศิลปวัตถุที่ขุดพบบริเวณนาลันทาและกรุงราชคฤห์มาไว้มากมาย ส่วนมากเป็นรูปสลักหินและรูปสำริดของพระโพธิสัตว์ และเทพของศาสนาพราหมณ์ ดูป้ายอธิบายส่วนมากบอกว่า เป็นศิลปะยุคคุปตะและยุคปาละ สวยๆ ทั้งนั้น แต่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป
เดินอ้อมหลังตึกพิพิธภัณฑ์ ได้ยินเสียงหัวหน้าธัมมาตะโกนเรียกหาผมโหวกเหวกๆ นัยว่าท่านต้องการให้ดูอะไรสักอย่าง
"นี่แน่ะไต้ คุณดูซะ ตุ่มแขกมันใหญ่โตขนาดไหน" พลางชี้ให้ดูตุ่มยักษ์สองใบตั้งเรียงกันอยู่
"มันมโหฬารอย่างนี้ทุกใบเหรอโยม" พระไกรสร หนึ่งในหลวงพ่อหลวงพี่ที่ไปกับทัวร์คราวนี้ถามขึ้น
"ส่วนมากใหญ่เกือบขนาดนี้ทั้งนั้น" หัวหน้าตอบ "สมัยพุทธกาลก็คงใหญ่ขนาดนี้ ไม่งั้นพระวินัยไม่ระบุห้ามจำพรรษาในตุ่มหรอก"
เออ จริงสินะ สมัยเรียนนักธรรมอ่านเจอข้อความว่าห้ามพระจำพรรษาในตุ่ม นึกสงสัยว่าหนังสือเขียนผิด ตุ่มอะไรคนจะเข้าไปอยู่ได้ พอมาเห็นของจริงเข้า มันใหญ่พออยู่ได้จริงๆ
อลัชชีบางรูปอาศัยตุ่มใหญ่ชนิดนี้หลอกลวงชาวบ้านบริโภคไปวันๆ ก็มี นั่งอยู่บนกุฏิเห็นญาติโยมกำลังเดินมาหาแอบเข้าไปซ่อนในตุ่ม พวกเขาค้นหาไม่เจอ กำลังเดินกลับไป อลัชชีรีบออกจากตุ่มมาเรียกพวกเขากลับ ครั้นถูกถามว่า "เมื่อกี้ท่านอยู่ที่ไหน พวกผมหาไม่พบ"
"อยู่ที่นี่แหละ" เจ้ากูตอบ
"ทำไมพวกผมไม่เห็นละครับ"
"อาตมาจะให้พวกคุณมองเห็นหรือไม่เห็นก็ได้" เจ้ากูโอ่ ชาวบ้านฟังแล้วก้มกราบจนก้นโด่ง เชื่อมั่นว่าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา
อย่างนี้เรียกว่า "อรหันต์ตุ่ม" ครับ!!!ข้อมูลและภาพจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341126190&grpid=&catid=06&subcatid=0600ขอบคุณภาพจาก
http://www.watthasai.org/,http://www.pixpros.net/