'ผีปอบ' ขึ้นชั้น 'ภูตร้ายอมตะ'
"หนุ่มสาวป่วย ทยอยตายปริศนากว่า 30 ศพ ช่วงแค่ 4 เดือน เชื่อฝีมือผีปอบอาละวาด...” ...นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำบรรยายภาพข่าวเหตุการณ์การทำพิธีจับ “ผีปอบ” โดยพระสงฆ์ร่วมกับหมอผี โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “เซียงข้อง” โดยพิธีครั้งนี้มีการทำกันใน 4 หมู่บ้านของจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน
นี่เป็นอีกเหตุการณ์-อีกครั้งที่บ่งชี้ว่า “ผีปอบยังมีอยู่ ?”
อย่างน้อยก็ “ในความเชื่อ” ของคนไทยจำนวนไม่น้อย
ในบรรดา “ผี” ต่าง ๆ ที่มีชื่อ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่คนในประเทศไทยเชื่อกันมาแต่โบราณ และจนวันนี้ก็ยังมีความเชื่อกันอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก ที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดในพื้นที่ภาคกลาง น่าจะเป็น “ผีกระสือ” ส่วนในภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องยกให้ “ผีปอบ”
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวสำหรับ “ผีปอบ” นั้น แม้จะเชื่อกัน มากในบางภาค แต่ความป๊อปปูลาร์เกี่ยวเนื่องก็กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งในจุดนี้ยืนยันได้ทั้งจากเรื่องเล่าขานกันปากต่อปาก จากหนังสือเกี่ยวกับผีปอบที่มีการพิมพ์ขาย จากละครทีวีเกี่ยวกับผีปอบ และโดยเฉพาะจากภาพยนตร์เกี่ยวกับผีปอบที่เคยมีการสร้างเป็นสิบ ๆ ภาค และทำเงินได้ดีพอสมควรทุกภาค จนคาแรกเตอร์ “ปอบหยิบ” ติดอยู่ในความทรงจำคนไทยทั่วไป
และแม้แต่ในโลกไซเบอร์ก็มีเรื่องราวของ “ผีปอบ”
เหล่านี้ยืนยันว่า “ผีปอบ” ถือว่าป๊อปปูลาร์ไม่น้อย !!
ทั้งนี้ ลองค้นเรื่องราว “ผีปอบ” ในโลกไซเบอร์-ในอินเทอร์เน็ต ก็มีเนื้อหาอยู่พอสมควร เช่นเนื้อหาประกอบการประชาสัมพันธ์หนังสือเกี่ยวกับผีปอบที่ว่า... “...ผีปอบเป็นผีที่จัดอยู่ในประเภทผีดุร้าย โผล่ขึ้นมาที่ไหนจะมีคนตายศพแล้วศพเล่า และเป็นการตายอย่างไร้เหตุผลหาสาเหตุไม่เจอ ผู้ที่เชื่อว่าผีปอบมีจริงบอกว่า ผีปอบได้แอบเข้าสิงร่าง กินตับ ไต ไส้ พุง จนร่างที่ถูกสิงซีดผอม หมดแรงลงอย่างรวดเร็ว และตายในที่สุด ผีปอบเป็นผีที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องรูปร่าง ไม่เหมือนกับผีกระสือที่มีหัวกับไส้ลอยไปแล้วมีไฟกะพริบวาบ ๆ แต่ผีปอบจะปรากฏตัวด้วยการเข้าสิงใช้ร่างกายผู้อื่นเป็นสื่อ...”
นอกจากนี้ยังมีบทความ “ตำนานผีปอบ” สรุปได้ว่า... ผีปอบ มีต้นกำเนิดมาจากผู้ที่มีวิชาไสยศาสตร์มนต์ดำจนแก่กล้า สามารถใช้ อำนาจอันเข้มขลังจากเวทมนตร์คาถาไปกระทำร้ายหรือทำลายชีวิตผู้อื่นได้ เช่น ทำเสน่ห์ยาแฝด ฝังรูปฝังรอย เสกหนังควาย เสกตะปูเข้าท้อง หรือใช้มนตราบังคับวิญญาณภูตผีไปเข้าสิง
วิชาไสยศาสตร์เหล่านี้มีข้อห้าม ข้อปฏิบัติกำกับอยู่ด้วย ผู้ที่มีวิชาอาคมทางไสยศาสตร์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงระบุว่าเป็น “เดียรัจฉาน วิชา” จะต้องระวังไม่ให้ละเมิดข้อห้าม ข้อปฏิบัติเด็ดขาด หากกระทำผิดข้อห้าม ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “คะลำ” ก็จะเกิดโทษหนักในข้อ “ผิดครู” วิญญาณบรมครูจะลงโทษให้ กลายเป็นปอบ
หรืออีกประการหนึ่งของผู้ที่กลายเป็นปอบก็คือ เล่นคาถาอาคม อย่างคลั่งไคล้ และใช้ความขลังแห่งวิชามนต์ดำไปทำลาย ทำร้ายผู้อื่นอย่างไม่กลัวบาปกลัวกรรม กระทำชั่วเป็นอาจิณกรรม กระทั่งถูกอาถรรพณ์ของไสยเวทย้อนกลับมาเข้าตัวเอง กลายเป็น “ปอบ” ไปในที่สุด
ในบทความดังกล่าวนี้ยังว่าไว้อีกว่า... ผีปอบแบ่งออกเป็นหลายประเภทคือ... “ปอบธรรมดา” หมายถึงคนที่มีปอบสิงอยู่ในร่าง คือตนเองเป็นปอบ เมื่อคนประเภทนี้ตายไป ปอบที่สิงสู่อยู่ก็จะตายตามไปด้วย, “ปอบเชื้อ” หมายถึงครอบครัวใดพ่อแม่เป็นปอบ เมื่อพ่อแม่ตายไป ลูกหลานจะสืบทอด เป็นปอบต่อไป อีกประการหนึ่งคือ เป็นกรรมพันธุ์ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม เรียกว่าเป็นปอบต่อเนื่องกันไปไม่รู้จบ
“ปอบแลกหน้า” หมายถึงปอบเจ้าเล่ห์ เอาความผิดโยนให้ผู้อื่น เวลาไปเข้าสิงใคร เมื่อถูกสอบถามว่ามีผู้ใดเลี้ยงหรือบังคับ ปอบจะไม่บอกความจริง แต่ไปกล่าวโทษว่าเป็นคนนั้นคนนี้โดยที่ผู้ถูกระบุชื่อไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย, “ปอบกักกึก” (กึก แปลว่า ใบ้) หมายถึงปอบที่ไม่ยอมพูดอะไรเวลามีคนถาม จนกว่าญาติพี่น้องจะไปตามหมอผีมาขับไล่ จึงจะยอมเปิดปากพูดว่าตนเป็นปอบของใคร มีใครใช้ให้มาเข้าสิง
ผู้ที่ถูกผีปอบเข้าสิง หรือที่เรียกว่า “ปอบเข้า” จะมีอาการแตกต่างกันไป บางคน “แสดงกิริยาอาการดุร้าย” บางคนจะ “นอนซมซึมคล้ายกับป่วยไข้อย่างหนัก” บางคนจะ “ร่ำไห้รำพันไปต่าง ๆ นานา” แต่ไม่ว่าจะมีทีท่าอาการอย่างไร ลักษณะผู้ที่ถูกปอบเข้าสิงจะเรียกร้องให้นำ “อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ” มาให้กิน เวลากินก็จะแสดง ความตะกละ มูมมาม และกินได้จุผิดปกติ
ทั้งนี้ เรื่องราวของผีปอบยังมีต่อเนื่องไปถึงวิธีไล่-วิธีปราบของหมอผี รวมถึงการ “เกิดคดีทำร้ายผู้อื่นเพราะเข้าใจผิดคิดว่าปอบเข้า !!” ซึ่งในเนื้อหานั้น ณ ที่นี้ขอละไว้ และก็จะไม่ก้าวล่วงในความเชื่อเรื่อง “ผีปอบ” แต่จะสรุปด้วยคำกล่าวของจิตแพทย์ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ที่เคยสะท้อนความเชื่อเรื่อง “ผี” ไว้ว่า...
“หากเชื่อมากไป ก็ย่อมจะไม่ส่งผลดีต่อการใช้ชีวิต” “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ถูกหรือไม่ถูก แต่อยู่ที่จะสามารถปรับทิศทางความเชื่อให้อยู่ในด้านบวกได้หรือไม่ ??
ที่มา
http://www.udclick.com/home1/index.php?option=com_content&task=view&id=74877&Itemid=111051ขอบคุณภาพจาก
http://images.udclick.com/,http://new.goosiam.com/,http://movie.mthai.com/
อัปโหลดโดย HUMPYAI เมื่อ 8 ต.ค. 2008
เพลงประกอบละครปอบผีฟ้ารุ่นเก่า