ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แปลก.!! ประเพณีบวชนาคมอญ "ไม่โกนผม แต่งตัวเป็นสตรีเหล็ก"  (อ่าน 3657 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29309
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


อิ่มบุญ..บวชนาคมอญ
วิถีบุญ-วิถีธรรม เรื่อง / ภาพ โดยไตรเทพ ไกรงู

       ประวัติของคำว่า "นาค" ในสมัยพุทธกาล คือ เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ มีพญานาคผู้หนึ่งได้แปลงร่างเป็นมนุษย์เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ อยู่มาวันหนึ่งได้เผลอนอนหลับ ร่างจึงกลับกลายเป็นพญานาคดังเดิม ภิกษุอื่นไปพบเข้าก็เกิดความเกรงกลัว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเรียกมาตรัสถาม ได้ความว่าเพราะเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงปลอมตัวมาบวช
 
       พระพุทธองค์ทรงดำริว่า "สัตว์ดิรัจฉานไม่อยู่ในฐานะควรจะบวช จึงโปรดให้ลงเพศบรรพชิตกลับไปเป็นาคดั่งเดิม" แต่ภิกษุนั้นมีความอาลัย จึงขอฝากชื่อนาคไว้ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีคำเรียกขานคนที่ต้องการจะบวชว่า "นาค" สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
       อย่างไรก็ตามภาพของนาคที่เราพบเห็นอยู่ทั่วไป คือ "โกนผม นุ่งขาว ห่มขาว" แต่ในชุมชนมอญการแต่งตัวของนาคมอญจะแตกต่างจากนาคทั่วๆ อย่างสิ้นเชิง ชนิดที่เรียกว่าผู้ที่ไม่รู้และไม่เคยเห็นมาก่อน หากไปร่วมงานบวชพระของชาวมอญอาจจะเข้าใจว่า "ผู้ที่บวชพระเป็นสาวประเภทสองหรืออย่างไร"





        โดยในวันสุกดิบใหญ่ผู้บวชหรือนาคจะต้องแต่งกายด้วยผ้าถุงไหมสีสดสวย ให้เข้ากับผ้าสไบที่ห่มอย่างงดงาม แต่งหน้าทาปากด้วยสิปสติกสีแดงเข้ม ใส่ต่างหู สวมกำไลขา ทัดดอกไม้พร้อมกับตกแต่งด้วยเครื่องประดับต่างๆ อย่างครบถ้วน เช่น แหวน เข็มขัดนาก สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไลเท้า เป็นต้น มีขบวนบริวารแห่แหนนาคไปวัด เพื่อทำพิธีขอขมาโทษต่อศาลพระภูมิเจ้าที่ และฟังเทศน์เป็นภาษามอญ เรียบร้อยแล้ว จึงนำนาคกลับไปทำพิธีต่อที่บ้าน
 
        การแต่งตัวของนาคมอญนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีคติความเชื่อที่ว่าการบวชนั้นเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่โดยแต่งตัวต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน ไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ พระภูมิเจ้าที่ รวมทั้งทำบุญเลี้ยงพระ ระหว่างแห่นาคไปวัดในวันบวชนั้นยังคงแต่งชุดสวยอยู่ และจะโกนผมก็ต่อมื่อจะแห่นาครอบโบสถ์เท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้จะแต่งเฉพาะในวันสุกดิบใหญ่เท่านั้น และถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมากสำหรับชุมชนมอญหลายแห่ง ที่ถือเอาความสะดวกเข้าว่า การแต่งตัวก็จะเป็นเช่นเดียวกับนาคไทย
 
       หลังจากพระสงฆ์สวดมนต์เย็นเสร็จแล้ว จะมีการทำขวัญนาคซึ่งเรียกว่า "ตกเบ็ด" โดยใช้ไม้สั้นๆ ผูกสายสิญจน์แทนคันเบ็ด ปลายเบ็ดผูกด้วยแหวนตามฐานะเจ้าภาพ และหมอทำขวัญก็จะกล่าวสั่งสอนนาคเป็นภาษามอญ แล้วให้เจ้าภาพกับญาติพี่น้องผลัดกันใช้เบ็ดแตะตามที่ต่าง ๆ อาทิ ตัวนาค สิ่งของเครื่องใช้ในการบวชของนาค เป็นการเตือนสติให้นาครู้ตัวว่า กำลังจะบวชเป็นพระ รุ่งขึ้นก็มีพิธีโกนผมนาคและจัดขบวนแห่แหนนาคไปอุปสมบท ณ อุโบสถภายในวัด เป็นอันเสร็จพิธีบวชนาคมอญ





บุญเข้าพรรษามอญ

      ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา คนไทยเชื้อสายมอญยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีการทำบุญ เช่นเดียวกับคนไทย แต่ยังมีขนบธรรมเนียมที่แตกหลายอย่าง ได้แก่
 
      "บุญแขวนลูกกัลปพฤกษ์" เป็นบุญที่จัดขึ้นในวันพระสุดท้ายเดือน ๙ ของทุกๆ ปี โดยในบุญดังกล่าวนั้น ทางวัดจะตัดกิ่งไม้ขนาดใหญ่มายึดติดกับเสาศาลาวัด จากนั้นชาวบ้านก็จะนำผลไม้ทุกชนิดมาผูกแขวนที่ต้นไม้ ซึ่งภายหลังนี้มีการนำข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งเงินมาผูกแขวนที่ต้นไม้ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับต้นผ้าป่า ทั้งนี้มีคติความเชื่อว่า เป็นบุญที่ทำเพื่อภพอื่นและชาติหน้า โดยเชื่อว่า ผลไม้นานาชนิด รวมทั้งข้าวของเรื่องใช้ที่แขวนไว้กับกัลปพฤกษ์จะติดตามตัวในภพอื่นและชาติหน้า
 
       “ประเพณีพระทิ้งบาตร” ของวัดในชุมชนมอญกระทุ่มมืดซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งถือเป็นธุดงค์บาตรอย่างหนึ่ง โดยพระที่ถือธุดงค์บาตรนั้นต้องตั้งจิตอธิษฐานว่า จะถือฉันในบาตรเป็นวัตรเพียงมื้อเดียว คือ จะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร ประเพณีปรากฏเฉพาะชุมชนมอญกระทุ่มมือเท่านั้น
       ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดถึง ๗ วัด ใน อ.บางเลน จ.นครปฐม และ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี คือ
       ๑.วัดหม่อมแช่ม (วัดสโมสร)
       ๒.วัดยอดพระพิมล
       ๓.วัดไทรน้อย
       ๔.วัดราษฎร์นิยม
       ๕.วัดบึงลาดสวาย
       ๖.วัดเกษตราราม และ
       ๗.วัดบอนใหญ่

    ส่วนวัดมอญในชุมชนอื่นๆ นั้นไม่ปรากฏว่ามีประเพณีดังกล่าว

 



       "ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง" ในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ และเป็นประเพณีที่เชื่อกันว่า เมื่อทำแล้วผู้ทำจะได้อานิสงส์สูง เพราะนอกจากจะบูชาแด่พระสงฆ์ผู้สืบทอดพระศาสนาแล้ว พระสงฆ์ยังสามารถเก็บน้ำผึ้งไว้ใช้เป็นยาได้ ด้วยน้ำผึ้งเป็นส่วนผสมของยาโบราณที่สำคัญหลากหลายชนิด ดังนั้นชาวบ้านจะนำน้ำผึ้งที่บรรจุในภาชนะต่างๆ มาตักหรือรินลงบาตรพระ เช่นเดียวกับการตักข้าวใส่บาตรพระนั่นเอง
 
        "ประเพณีล้างเท้าพระและตักบาตรดอกไม้" หลังจากทำบุญออกพรรษาเรียบร้อยแล้วในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยชาวมอญจะจัดเตรียมภาชนะใส่น้ำสะอาด ขันตักน้ำ และดอกไม้ธูปเทียนใส่ลงในย่ามพระสงฆ์เพื่อบูชาแด่พระสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์ก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนที่รับจากชาวบ้านเข้าไปบูชาพระพุทธองค์ พร้อมกับทำพิธีปวารณาออกพรรษาในอุโบสถจนแล้วเสร็จ การล้างเท้าพระและตักบาตรดอกไม้ จึงเป็นประเพณีสำคัญที่ชาวมอญเชื่อว่า หากได้ปฏิบัติแล้วจะได้อานิสงส์สูงอีกเช่นกัน
 
        "ประเพณีตักบาตรน้ำมัน" หรือ การเติมน้ำมันตะเกียง โดยจัดขึ้น ๓ วัน ในช่วงออกพรรษา โดยมีคติความเชื่อว่า การตักบาตรน้ำมัน เปรียบดั่งการเติมกุศลกรรม คือ บุญ เพื่อรักษาเปลวไฟ ให้สว่าง ไม่ดับ ก่อนกาลเวลาอันควร ควรเติม บุญกุศล ไว้ให้มาก เติมทุกวัน แม้วันหนึ่ง กายจะดับ แต่บุญนี้ก็ยังคงอยู่ ไม่ไปไหน เมื่อสู่ภพภูมิใหม่ เมื่อเปลี่ยนไส้ตะเกียงใหม่ เราก็มีเสบียง คือน้ำมันที่ได้เติมไว้เหลือเฟือ พอที่จะมีแรงที่จะต้องว่ายเวียนในสังสารวัฏ ต่อไป จนกว่าเราจะหาทางออกไปได้ คือ นิพพาน



ขอบคุณภาพข่าวจาก www.komchadluek.net/detail/20120727/136215/อิ่มบุญบวชนาคมอญ.html#.UBNeIqDjrnU
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ