ไต่ไปบนหลังคาโลก
Delight Moment 53 / สุมิตรา จันทร์เงา
ทิเบต เป็นความฝันของฉันมานานเนิ่นเช่นเดียวกับแผ่นดินลี้ลับอีกมากมาย แต่โอกาสที่จะได้ไปสัมผัสทิเบตนั้นยากลำบากกว่าแผ่นดินทุรกันดารอื่นหลายเท่า เพราะไม่เพียงการเตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจให้เต็มร้อย เพื่อต่อสู้กับสภาพอากาศเบาบางบนที่สูงในระดับหลังคาโลกเท่านั้น
แต่แผนการเดินทางก็ต้องจัดการอย่างดีโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้บรรลุสู่จุดหมายปลายทางอย่างราบรื่นปลอดภัย โดยเฉพาะการเดินทางสู่ทิเบตโดยทางรถยนต์ที่ตัดผ่านเทือกเขาหิมาลัยนานถึง 5 วัน เป็น 5 วันที่อิ่มเต็มกับการเสพรสธรรมชาติอันสวยสดงดงามของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งตามตำนานในพุทธศาสนาและวรรณคดีก็คือ “ป่าหิมพานต์” นั่นเองป่าหิมพานต์ ณ พรมแดนเนปาล-ทิเบต
ทิเบตยุคที่ยังปกครองตนเองอย่างอิสระ ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินลี้ลับกว้างใหญ่ไพศาลที่มีสินแร่ธรรมชาติมากมาย แต่ก็ทุรกันดารยากที่คนภายนอกจะเข้าถึงด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศบนที่สูง ความยากลำบากในการคมนาคมขนส่ง
ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะตัว รวมไปถึงความรักสงบสันโดษของชาวเมือง ทำให้ผู้คนในประเทศนี้ไม่ประสงค์จะต้อนรับอาคันตุกะจากต่างแดนเท่าใดนักบ้านแบบทิเบตมีรั้วรอบขอบชิดสร้างง่ายๆ ปิดทึบป้องกันลม หิมะ และพายุทะเลทราย
ถึงขนาดเคยมีข้อห้ามในอดีต ไม่ให้ชาวต่างชาตินอกจากชาวเนปาล ภูฐาน แคชเมียร์และจีน เข้าประเทศอย่างเด็ดขาด แต่ดูเหมือนยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ
ในที่สุดความอยากรู้อยากเห็นนั้นก็นำพาชาวตะวันตก ที่มีวิญญาณการบุกเบิกผจญภัยฝ่าฟันความยากลำบาก เข้าไปจนถึงใจกลางทิเบตสำเร็จแล้วนำเรื่องราวของทิเบต ออกมาเขียนตีแผ่ให้ชาวโลกรู้
ปรากฏเป็นหนังสือหลายเล่มหนึ่งในนั้นแปรมาเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดโด่งดัง เรื่อง 7 Years in Tibet ที่เป็นแรงบันดาลใจอันล้ำลึกให้ฉันตามหาความฝันมาถึงดินแดนแห่งนี้
ทิเบตปัจจุบัน เป็นเขตปกครองหนึ่งของจีน ดังนั้นการเดินทางเข้าสู่ทิเบตจึงทำได้อย่างสะดวกสบายกว่าเดิมมาก สามารถเข้าได้สองเส้นทางหลัก ๆ คือ
ผ่านทางนครกาฏมาณฑุ ประเทศเนปาล กับผ่านออกมาทางเมืองเฉินตู ประเทศจีน ระยะทางจากกาฏมาณฑุถึงลาซาทางรถยนต์ประมาณ 1,000 กิโลเมตร
ส่วนจากเฉินตู-ลาซา รวม 3,000 กิโลเมตร ค่อนข้างยาวไกลส่วนหนึ่งของเส้นทางไต่หลังคาโลก
ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่เริ่มต้นจากเฉินตูก็มักจะเลือกโดยสารเครื่องบินมากกว่า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางมาก(11-13 วัน) แต่ถ้าเริ่มต้นที่กาฏมาณฑุ การเดินทางยอดนิยมที่พลาดไม่ได้ คือ เดินทางด้วยรถยนต์ขาไปแล้วกลับเครื่องบิน หรือบินไปแล้วค่อยกลับทางรถยนต์ ก็จะได้อรรถรสของการไต่หลังคาโลกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
สิ่งที่ควรทราบไว้ก็คือการเดินทางเข้าไปเที่ยวทิเบตโดยตนเองนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะนอกจากจะต้องขอวีซ่าเข้าประเทศจีนแล้ว ยังต้องทำใบขอนุญาตเข้าทิเบตแยกอีกต่างหาก ซึ่งจำเป็นต้องต้องทำผ่านบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวเท่านั้น
ฉะนั้นใครที่คิดว่าจะแบกเป้ขึ้นหลังแล้วลุยเดี่ยวไปได้ก็ควรจะคิดใหม่ค่ะ
โชคดีมากที่ฉันได้ร่วมทางไปกับโครงการวัฒนธรรมศึกษาของสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ที่คณาจารย์ผู้นำทางมีความเชี่ยวชาญเรื่องทิเบต แผนการท่องหิมพานต์สู่หลังคาโลกจึงเป็นจริงขึ้นมาได้ในช่วงเดือนเมษายนเมื่อหลายปีก่อนเมาท์เท่นไฟลท์จากลาซา-กาฎมาณฑุ เที่ยวบินหิมาลัยที่ไม่อาจลืมเลือน
เราเลือกเดินทางผ่านเนปาลเข้าสู่ทิเบตด้วยทางรถยนต์ กลับทางเครื่องบินซึ่งเป็นเมาท์เท่นไฟลต์ ชมเทือกหิมาลัยอันอลังการจากมุมสูง นับเป็นประสบการณ์บินบนเที่ยวบินสวยสุดยอดครั้งหนึ่งในชีวิตที่ลืมไม่ลงเลยทีเดียว ภูมิทัศน์บนเส้นทางเลาะเลียบหิมาลัย
เส้นทางลุยหิมาลัยของฉันผ่านไปบนถนนมิตรภาพ(Friendship Road)ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและเนปาล แต่ตามสภาพที่เห็นดูเหมือนการก่อสร้างดูแลถนนหนทาง จะตกอยู่ภายใต้อำนาจอันล้นฟ้าของกองทหารจีนเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับช่วงนั้นสถานการณ์การเมืองของเนปาลไม่ค่อยเรียบร้อยนัก
นับแต่กษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงยึดอำนาจการปกครองเป็นต้นมา ก็เกิดความไม่สงบตามแนวชายแดนจากฝีมือการก่อการร้าย ของกลุ่มกบฏที่เรียกตัวเองว่าพวก “เหมา” อยู่เป็นประจำ และบ่อยครั้งที่ฝ่ายกบฏออกอาละวาด
ปิดเส้นทางจากกาฎมาณฑุสู่เมืองโกดารีซึ่งเป็นประตูสู่ชายแดนจีน ทำให้การเดินทางไปทิเบตโดยเส้นทางนี้เป็นไปอย่างยากลำบากและค่อนข้างอันตรายพอสมควร
ดังนั้น ขบวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการข้ามเข้าสู่พรมแดนจีน จึงจำเป็นต้องเดินทางร่วมกันไปเป็นหมู่คณะใหญ่หลายสิบคันรถภายใต้การอารักขาอย่างเข้มงวดของขบวนรถถังหุ้มเกราะ พร้อมทหารมีอาวุธครบครันนำหน้าและปิดท้ายขบวน ซึ่งรัฐบาลกาฏมาณฑุจัดให้วิ่งไปชายแดนได้เพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้น รอนแรมไปบนเส้นทางหนาวสั่นแบบนี้สองคืน
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ระยะทางแค่ 112 กิโลเมตรจากกาฎมัณฑุไปโกดารี เราต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 ออกจากโรงแรมตอน 5 นาฬิกา และใช้เวลาเดินทางยาวนานถึง 8 ชั่วโมง โดยค่อยๆ ขับตามกันไปอย่างระแวดระวังและหยุดพักสับเปลี่ยนชุดอารักขาบ่อยครั้ง
เส้นทางไต่หิมาลัยของเราเป็นดังนี้
วันที่ 1 กาฏมาณฑุ-เนยลัม ระยะทาง 154 กิโลเมตร ความสูง 3,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล
วันที่ 2 เนยลัม-สหัตเส ระยะทาง 370 กิโลเมตร ความสูง 3,950 เมตร
วันที่ 3 ลหัตเส-ซิกกัตเส ระยะทาง 210 กิโลเมตร ความสูง 3,900 เมตร
วันที่ 4 ซิกกัตเส-แกนตเส ระยะทาง 90 กิโลเมตร ความสูง 3,950 เมตร
วันที่ 5 แกนตเส-ลาซา ระยะทาง 260 กิโลเมตร ความสูง 3,650 เมตร หลังคาโลก กลางเดือนเมษายน
วันแรกสู่หิมาลัยก็เริ่มประสบการณ์หฤโหด ที่ต้องฝึกความอดทนอดกลั้นกันอย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะการกลั้นปัสสาวะให้ได้นานที่สุด เพราะรถแต่ละคันต้องขับตามกันไปโดยไม่มีสิทธิ์หยุด จนกว่าจะถึงจุดเช็คพอยท์ ซึ่งแต่ละจุดมักเป็นชุมชนขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง และไม่มีจุดไหนเลยที่มีห้องน้ำสาธารณะไว้บริการเลย
พวกเราแต่ละคนจำเป็นต้องสวมวิญญาณคนตาบอดมองไม่เห็นสายตาจับจ้องมองของใครทั้งสิ้น พอรถจอดก็กรูกันลงไปหาที่ทางที่เหมาะเจาะของใครของมัน อะไรๆจะผลุบโผล่ออกมาบ้างก็ช่างมัน
คิดเสียว่า…ชาตินี้เจอกันหนเดียว ไม่เห็นจำเป็นจะต้องอายอะไร…สนุกค่ะ ส้วมหลุมชนิดหรูในภัตตาคารริมทางแห่งหนึ่ง
แต่สำหรับใครที่ไม่ค่อยมีใจรักความสมบุกสมบันอาจลำบากหน่อย เพราะแค่วันแรกกว่าเราจะผ่านเข้าไปถึงเซงมูเมืองหน้าด่านสู่ทิเบตก็บ่ายโข ได้กินอาหารกลางวันเอาตอนบ่าย 3 โมงครึ่ง หิวกันจนท้องกิ่วตาลายไปหมด
กระนั้นสวรรค์ก็ชดเชยความยากลำบากทางกาย ด้วยความอิ่มเอมใจกับวิวทิวทัศน์ธรรมชาติอันสวยสดอลังการของป่าใหญ่บนเทือกหิมาลัยระหว่างพรมแดนเนปาล-ทิเบต อันเป็นต้นธารแห่งแหล่งน้ำอันอุดมที่หล่อเลี้ยงโลก ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำแยงซีเกียง หิมะค่อยๆละลายกลางเป็นธารน้ำสายจ้อย ไหลรวมไปให้กำเนิดแม่น้ำใหญ่
ระหว่างที่รถไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ป่ายิ่งทึบและเขียวขจี น้ำตกใหญ่น้อยสาดสายกระเซ็นซ่าตามซอกหลืบศิลาใกล้บ้างไกลบ้าง ใหญ่บ้างเล็กบ้าง บางช่วงมองไปทางไหนก็เห็นแต่น้ำตกพราวตา บางตอนถนนต้องลอดผ่านสายน้ำตกเป็นม่านขาว ช่างเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์เหลือเชื่อ ช่างยิ่งใหญ่และงดงาม ความอุดมสมบูรณ์ของป่ามหิมพานต์ระหว่างชายแดนเนปาล-จีน
ด้วยความสูงลิบลิ่วของขุนเขา มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นแต่อากาศอ้างว้างกับผืนไพรชะอุ่ม
ฉันรู้สึกราวตัวเองเป็นปักษีกำลังโผบิน ร่อนหาสระอโนดาต เพื่อเริงเล่นชลธีกับเหล่ากินรีนางสวรรค์
ฉันขนลุกซู่ เมื่อนึกได้ว่านี่เองหรือคือ “หิมพานต์”
ที่เราได้ยินแต่การเล่าขานตามตำนานวรรณคดี
นี่แหละสวรรค์ที่ฉันสัมผัสได้จริงแล้วในชีวิตนี้ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345636823&grpid=&catid=02&subcatid=0200