« เมื่อ: ธันวาคม 01, 2012, 01:00:07 pm »
0
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! คนไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ปลื้มช็อปตลาดนัด
คอตตอน ยูเอสเอ เผยผลสำรวจวิจัยตลาด 2012 COTTON USA Global Lifestyle Monitor ซึ่งเป็นการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคใน 9 ประเทศ อันได้แก่ บราซิล จีน โคลอมเบีย เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ตุรกี รวมถึงประเทศไทย ในงาน “A Cottonista Trip: Discover The COTTON USA Experience” พบว่า
ผู้บริโภคคนไทยร้อยละ 90 ยังคงนิยมซื้อเสื้อผ้าตามตลาดนัด
ในขณะที่มีอัตราเฉลี่ยการใช้จ่ายเงิน สำหรับช็อปปิ้งในปีที่ผ่านมาลดลง
จาก 10,400 บาท/คน/ปี เหลือ เฉลี่ยคนละ 6,300 บาทต่อปี
โดยสินค้าท็อปฮิตที่คนไทยเลือกซื้อมากที่สุดคือ เสื้อผ้า ของใช้จุกจิก
และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ในอัตราส่วนร้อยละ 44, 25 และ 11 ตามลำดับ
โดย “เสื้อยืด” เป็นไอเท็มเสื้อผ้าที่คนไทยมีมากที่สุดถึงคนละ 14 ตัว
และเมื่อถามถึงประเด็นที่ผู้บริโภคคนไทยมีความกังวลมากที่สุด ร้อยละ 96 ระบุว่ากังวลเรื่องปัญหาโลกร้อน และผู้บริโภคร้อยละ 70 ต้องการเสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของผ้าฝ้ายซึ่งผู้บริโภคมองว่าเป็นเส้นใยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
โดยการสำรวจวิจัยตลาด COTTON USA Global Lifestyle Monitor ประจำปี 2555 ในประเทศไทยนั้นได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ผู้ที่เลือกซื้อเสื้อผ้าสวมใส่เอง จำนวน 500 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 250 คน และเพศหญิง 250 คน ในช่วงอายุระหว่าง 15 – 54 ปี ที่พำนักอาศัยตามหัวเมืองใหญ่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี หาดใหญ่ และนครราชสีมา ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา พบว่า
ผู้บริโภคคนไทยร้อยละ 90 ชื่นชอบช็อปปิ้งเสื้อผ้าตลาดนัด
และชอบซื้อเสื้อผ้าลดราคามากกว่า 20% เพิ่มมากขึ้น จากผลวิจัยพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยยังคงนิยมซื้อเสื้อผ้าที่ตลาดนัดมากที่สุดถึงร้อยละ 90 ตามมาด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 63 และดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ร้อยละ 57 แต่ความนิยมในการซื้อเสื้อผ้าจากร้านเสื้อผ้าอิสระมีความนิยมเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 16% (จาก 32% ในปี 2553 เป็น 48% ในปี 2555)
และเมื่อเปรียบเทียบสถานที่ๆ ผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่ทำการสำรวจนิยมเลือกซื้อเสื้อผ้า พบว่า
ผู้บริโภคชาวจีนนิยมซื้อเสื้อผ้าจากห้างสรรพสินค้า 71% และอินเทอร์เน็ต 69%
ส่วนชาวตุรกีมักจะไปร้านเสื้อผ้าเฉพาะประเภท 80% และร้านเสื้อผ้าอิสระ 69% มากที่สุด
และเมื่อถามถึงความถี่ในการซื้อเสื้อผ้าลดราคามากกว่า 20% ขึ้นไป พบว่า
ผู้บริโภคคนไทยซื้อเสื้อผ้าลดราคามากกว่า 20% ขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น 5% (จาก 51% ในปี 2553 เพิ่มเป็น 56% ในปี 2555)
ส่วนแหล่งที่มาของไอเดียในการซื้อเสื้อผ้า ผู้บริโภคคนไทยให้ความเชื่อถือบุคคลใกล้ชิดเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะเพื่อน และเพื่อนร่วมงานที่มีอิทธิพลเป็นอันดับ 1 ถึงร้อยละ 53 ตามมาด้วยสมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 40 และตัดสินใจโดยความชอบของตนเองร้อยละ 33 
ในขณะที่ตามร้านค้าปลีกนั้น ผู้บริโภคชาวไทยนิยมหาแหล่งไอเดียจากการจัดดิสเพลย์หน้าร้าน ถึงร้อยละ 33 แค็ตตาล็อกและพนักงานขาย ร้อยละ 14 และใบปลิว ร้อยละ 4
โดยช่องทางการสื่อสารที่ผู้บริโภคได้ไอเดียในการซื้อเสื้อผ้ามากที่สุด คือ โทรทัศน์ ร้อยละ 32 นิตยสาร ร้อยละ 26 และดารานักแสดง ร้อยละ 12
“เสื้อยืด” เป็นไอเท็มเสื้อผ้าที่คนไทยมีมากที่สุดถึงคนละ 14 ตัว
เมื่อถามถึงประเภทเสื้อผ้าที่ผู้บริโภคคนไทยมีไว้ครอบครองในตู้เสื้อผ้า พบว่า เสื้อยืด เป็นไอเท็มเสื้อผ้าที่คนไทยมีมากที่สุด ถึงคนละ 14 ตัว ตามมาด้วยชุดชั้นในสตรีคนละ 12 ตัว กางเกงในคนละ 11 ตัว กางเกงขาสั้นคนละ 8 ตัว
ในขณะที่ “ยีนส์” ยังคงเป็นไอเท็มยอดฮิต ที่ครองใจในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยมาติดต่อกัน
โดยสัดส่วนจำนวน ไอเท็มยีนส์ที่ผู้บริโภคชาวไทยทั้งเพศหญิงและเพศชายมีไว้ในตู้เสื้อผ้า พบว่า
ผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉลี่ยมีกางเกงยีนส์ถึง 6 ตัว ตามมาด้วย ยีนส์ขาสั้น 4 ตัว เสื้อเชิ้ตเดนิม 3 ตัว กระโปรงยีนส์ 2 ตัว เดรสเดนิม 2 ตัว และแจ็กเกต 1 ตัว
และนอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลในการตัดสินใจเลือกซื้อเสื้อผ้าส่วนใหญ่ พบว่า
ผู้บริโภคชาวไทยพิจารณาถึงความทนทานในการใช้งานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ตามมาด้วยราคาและคุณภาพ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งยืนยันถึงความนิยมในการสวมใส่ยีนส์ของผู้บริโภคชาวไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย
ผู้บริโภคคนไทยร้อยละ 96 กังวลกับปัญหาโลกร้อนมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคประเทศอื่นๆ
ด้านประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม ผู้บริโภคคนไทยให้ความกังวลกับปัญหาโลกร้อนมากที่สุดถึงร้อยละ 96 ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งผู้บริโภคคนไทยกว่าร้อยละ 60 ใช้ความพยายามในการหาซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยร้อยละ 91 เห็นพ้องต้องกันว่าเส้นใยฝ้ายเป็นเส้นใยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 7 ใน 10 ของผู้บริโภคต้องการเสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของผ้าฝ้าย และทำการตรวจสอบป้ายบอกรายละเอียดเส้นใยอย่างน้อยเป็นบางครั้งเมื่อทำการซื้อเสื้อผ้า จากผลวิจัยดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า ผู้บริโภคคนไทยนิยมซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้ามากที่สุด
โดยผู้บริโภคคำนึงถึงความทนทาน ราคาและคุณภาพ โดยผู้บริโภคนิยมซื้อเสื้อผ้าในแบบเบสิกมากกว่าที่จะซื้อเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่น
ซึ่งเสื้อผ้าประเภท “เสื้อยืด” ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากที่สุด และ “ผ้าฝ้าย” เป็นวัตถุดิบที่ผู้บริโภคมองว่าเป็นเส้นใยที่ให้ความอบอุ่น มีคุณภาพสูงและเป็นธรรมชาติ เหมาะแก่การนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/content/life/309688