ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สิบสองมนล่องผ่องไต ไทยใหญ่ใต้คืนวันเพ็ญ.."ลอยกระทงแบบไทยใหญ่"  (อ่าน 1793 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29312
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

สิบสองมนล่องผ่องไต ไทยใหญ่ใต้คืนวันเพ็ญ
โดย...กาญจน์ อายุ

ท้องฟ้าที่แม่ฮ่องสอนมืดเร็วกว่าปกติ หมดเสียงเคารพธงชาติแค่ครึ่งชั่วโมงทั้งเมืองก็ต้องเปิดไฟแล้ว
เป็นสัญญาณของฤดูหนาวที่กลางวันจะสั้นกว่ากลางคืน แต่น่าแปลกที่ความหนาวยังไม่มาเยือน แม้ว่าจะย่างเข้าเดือน 12 ของปีแล้ว

คืนนั้นเป็นวันพุธ พระจันทร์เต็มดวง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชุมชนชาวไทยใหญ่ใน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ต่างทราบดีว่าวันนั้นมีความสำคัญยิ่งอย่างไร



ลุงซอน-สมัคร สุขศรี แกนหลักชุมชนไทยใหญ่ผู้สืบสานประเพณีโบราณ แถลงไขว่า วันพุธที่ 28 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา เป็นวันดียิ่งสำหรับชาวไทยใหญ่เพราะมีเรื่องดีสองเรื่องมาบรรจบกัน

“อย่างแรก วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือน 12 วันที่ชาวไต (ชาวไทยใหญ่) มีประเพณีสิบสองมนล่องผ่องไต สิบสอง แปลว่า เดือน พ.ย. มน แปลว่า พระจันทร์เต็มดวง ล่องผ่อง แปลว่า ลอยกระทง ไต แปลว่า ชาวไทยใหญ่ รวมกันแล้วพูดเป็นภาษากลางได้ว่า ประเพณีลอยกระทงของชาวไทยใหญ่ เป็นประเพณีที่ต่างจากทั่วไปทั้งรูปแบบกระทง ความเชื่อ และพิธีกรรม

ลุงซอนอธิบายรูปแบบกระทงว่า กระทง หรือ “ส่างอุ๊กปุ๊ก” ทำจากไม้ไผ่ กระดาษเงิน กระดาษทอง กระดาษแก้วหลากสี ฉลุกระดาษเป็นลวดลายไทยใหญ่ผสมพม่า ประกอบเป็นชั้นๆ คล้ายวิหาร มีความสูงประมาณ 24 เมตร แต่จะไม่มีฉัตรบนยอดเพราะ “ไม่ได้นำไปบูชาพระพุทธเจ้า”



เชื่อมโยงต่อไปถึงความเชื่อของประเพณีสิบสองมนล่องผ่องไต ที่ชาวไทยใหญ่ทำส่างอุ๊กปุ๊กขึ้นเพื่อบูชาพระอุปคุตหรือพระอรหันต์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ทำให้ไม่มีฉัตรเพราะเป็นการบูชาสาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง ลุงซอน เล่าว่า
     พระอุปคุตมีทั้งสิ้น 8 องค์ มรณภาพไปแล้ว 4 องค์ อีก 4 องค์ยังคงปฏิบัติธรรมอยู่กลางแม่น้ำ
     “การลอยส่างอุ๊กปุ๊ก จึงเป็นการบูชาพระอุปคุตที่ยังมีชีวิตในแม่น้ำ ให้พระอรหันต์ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องอัฐบริขารต่างๆ ที่ลอยไปด้วย”


ชาวบ้านที่แอบขโมยเครื่องอัฐบริขาร ชาวไทยใหญ่จะเรียกว่า “ตางต้อด” ขโมยจะแอบนำเครื่องอัฐบริขารไปถวายพระที่วัดในเวลากลางคืน แต่ก่อนจะถวายได้พระสงฆ์จะถามก่อนว่าของที่นำมาเป็นของผีหรือของคน หากขโมยนิ่งไม่ตอบอะไร พระจะรับของนั้นไว้ และให้พรกลับไป

ส่วนพิธีกรรมในวันสิบสองมนล่องผ่องไต จะเริ่มจากการทำส่างอุ๊กปุ๊กโดยการร่วมแรงกันของเพื่อนบ้านในชุมชน จากนั้นในช่วงเย็นเมื่อหมดเสียงเคารพธงชาติแค่ครึ่งชั่วโมง ชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อตั้งขบวนแห่ส่างอุ๊กปุ๊กไปยังแม่น้ำปาย



“ขบวนแห่จะนำด้วยเครื่องอัฐบริขาร ต่อด้วยแถวชาวบ้านพร้อมกระทงเล็กสองแถว จากนั้นคือส่างอุ๊กปุ๊กที่ชาวบ้านผู้ชายช่วยกันแห่และปิดท้ายด้วยวงดนตรี” ขบวนจะ “ค่อยๆ” แห่ไปรอบชุมชน ชาวบ้านต่างรำวงขยับเท้าไปตามเสียงกลองยาวอย่างสนุกสนาน ผ่านบ้านไหนคนในบ้านก็จะออกมาสมทบ ทำให้กว่าจะถึงแม่น้ำปายขบวนก็ยิ่งยาวและครึกครื้น

เมื่อถึงริมน้ำ ชาวบ้านจะ “นิมนต์พระสงฆ์” หนึ่งรูปมาประกอบพิธี เป็นการทำบุญและรับพรในวันดีใต้คืนวันเพ็ญ พระสงฆ์และชาวบ้านร่วมสวดมนต์เป็นภาษาไทยใหญ่ดังแว่วทั่วแม่น้ำปาย เล่นเอาคนฟังไม่ได้ศัพท์อย่างฉันเข้าถึงความศรัทธาที่ส่งออกมาจากน้ำเสียงและความตั้งใจ



เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยตามขนบโบราณ ชาวบ้านชายจะช่วยกันหามส่างอุ๊กปุ๊กไปลอยกลางแม่น้ำปาย ไหลไปพร้อมๆ กับกระทงเล็กที่ชาวบ้านนำมาลอย แต่ไม่รู้ว่าค่ำคืนนั้นจะมีตางต้อดขโมยเครื่องอัฐบริขารไปถวายพระสงฆ์หรือไม่ และดูเหมือนชาวบ้านจะไม่สนใจด้วย เพราะพวกเขาได้ให้ใจส่งไปบูชาพระอุปคุตและได้ทำบุญแด่พระสงฆ์เสร็จสิ้นแล้ว

     เรื่องดีเรื่องที่ 2 ของวันพุธที่ 28 พ.ย. 2555 คือเป็น “วันเพ็ญพุธ” ชาวไทยใหญ่มีความเชื่อว่า
     วันเพ็ญพุธ คือวันที่พระอุปคุตทั้ง 4 องค์จะออกมายังโลกมนุษย์เพื่อรับบิณฑบาต
     หากใครพบและได้ใส่บาตรแล้วจะรุ่งเรือง ลุงซอนอธิบายลักษณะของพระอุปคุตว่า
     “พระอุปคุตมีผมยาวประบ่าใส่จีวร” แต่ในวันนั้นคนแม่ฮ่องสอนยังไม่มีใครพบท่าน

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปี 2555 จึงเป็นวันมหาดีของชาวไทยใหญ่ และเป็นวัน “มหาสุข” ของพวกเขาด้วย ต่างจากคนบางกลุ่มที่ร่วมประเพณีลอยกระทงเช่นกัน แต่เป็นการลอยแบบเน้นความสนุกและความคะนอง ตามการรายงานจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ระบุว่า แค่ใน จ.เชียงใหม่ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 55 ราย จากการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ และเกิดอุบัติเหตุทางการจราจร 36 ราย เสียชีวิต 1 ราย ฟังแล้วหดหู่นักในวันดีงามเช่นนี้



วันเพ็ญเดือน 12 ณ วัดพระธาตุดอยกองมู
เช้ามืดวันเพ็ญเดือน 12 แม่อุ๊ยพ่ออุ๊ยนุ่งขาวห่มขาวมานั่งปั้นข้าวมธุปายาสที่วัดพระธาตุดอยกองมู ตามความเชื่อในพุทธประวัติ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู “ท่านพระครูอนุสิฐธรรมสาร” เล่าว่า
     ก่อนพุทธศาสนาจะบังเกิด นางสุชาดาได้บนบานกับเหล่าเทวดาให้มีคู่ครองที่มีศักดินาเท่ากัน
     สิ่งที่เธอขอเป็นจริง เมื่อนางได้พบเจ้าชายสิทธัตถะจึงคิดว่าพระองค์คือเทวดาที่เธอได้ไปบนบานไว้
     เธอจึงทำข้าวมธุปายาสจำนวน 50 ก้อน มาถวาย เจ้าชายสิทธัตถะรับไว้ทั้งหมด
     แบ่งถวายให้รุกขเทวดา 1 ก้อน อีก 49 ก้อน ทรงเสวยเองทั้งหมด
     และในวันต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า”


     ชาวเชียงใหม่จึงร่วมกันทำข้าวมธุปายาสจำนวน 49 ก้อน ถวายเป็นพุทธบูชาให้กับพระพุทธเจ้า
     ซึ่งจะถวายทุกวันพระในช่วงเข้าพรรษา โดยจะไล่ไปในวัดเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ และวัดพระธาตุดอยกองมูจะถึงกำหนดจัดในวันเพ็ญเดือน 12 พอดี



    ข้าวมธุปายาสทำจากข้าวเหนียวนึ่งผสมน้ำผึ้ง น้ำนม น้ำตาล และเนย
    ได้ข้าวสีเหลืองอ่อน และส่วนหนึ่งจะเป็นข้าวเหนียวแดงนึ่งกับน้ำอ้อย เรียกว่า ข้าวทิพย์
    ปั้นเป็นก้อนกลมถาดละ 49 ก้อน จำนวน 6 ถาด ถวายพระสงฆ์และบูชาพระธาตุ


นอกจากพิธีถวายข้าวมธุปายาสในช่วงเช้ามืด ช่วงพลบค่ำในวันเพ็ญเดือน 12 จะมีงาน “ลอยกระทงสวรรค์” ที่วัดพระธาตุดอยกองมู เป็นกระทงขนาดเล็ก ทำจากกระดาษสี มีฐานเป็นโฟม จุดเทียนตรงกลาง ผูกติดกับลูกโป่งสวรรค์สีสวย เวลาลอยจะปล่อยให้กระทงลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า
     เชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และได้ทำบุญจากการซื้อกระทงสวรรค์ของวัด
     วัดพระธาตุดอยกองมูในค่ำคืนวันเพ็ญ จึงสว่างไสวด้วยกระทงสวรรค์และแสงเทียนของชาวพุทธที่มาสักการะพระธาตุ





ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.posttoday.com/กิน-เที่ยว/เที่ยวทั่วไทย/192333/สิบสองมนล่องผ่องไต-ไทยใหญ่ใต้คืนวันเพ็ญ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 09, 2012, 02:04:46 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ