'มะกัน-ผู้ดี' เจาะข้อมูลทำวิจัย "พระกับการเมือง"
เจ้าหน้าที่รัฐสภาจากประเทศสหรัฐอเมริกาสนใจพระพุทธศาสนาในไทย อาจารย์อังกฤษเก็บข้อมูลทำวิจัยพระกับการเมือง
9ธ.ค.2555 พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร ไปบรรยาย เรื่อง "Buddhism in Thailand" แก่เจ้าหน้าที่รัฐสภาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ณ พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า สถาบันพระปกเกล้า หลานหลวง โดยมี รศ.ดร. นิยม รัฐอมฤต ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และ พลเอกเอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลให้การต้อนรับและร่วมรับฟัง
ทั้งนี้พระมหาหรรษา เปิดเผยว่า
"ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน? ทำอย่างไร? จึงจะสามารถเข้าถึงความสุขดังกล่าวได้"
นี่เป็นประโยคทอง ที่ได้รับจากฝรั่งที่เป็นคณะทำงานจากรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาที่มาดูงานที่เมืองไทยโดยการต้อนรับของสถาบันพระปกเกล้าในวันนี้ ส่วนตัวไม่แปลกใจที่เห็นฝรั่งถามคำถามเช่นนี้ เพราะสิ่งที่ฝรั่งโหยไห้อาลัยหามาเนิ่นนานตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ "ความสุขแท้"
เพราะสังคมฝรั่งจะได้รับการตอกย้ำว่า
เมื่อมีสิ่งเสพมาก หรือแสวงสิ่งเสพให้มากๆ หรือหลากหลายแล้วจะพบความสุข
แต่ความจริงที่ฝรั่งพบคือ "ยิ่งเสพมาก ยิ่งทุกข์มาก" จึงทำให้ฝรั่งหลายคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "บิลล์ เกตส์" ตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม
ซึ่งเป็นที่มาของวัตถุนิยม และบริโภคนิยมว่า "เรามาถูกทางแล้วหรือ???"
คำตอบที่ได้หยิบยื่นให้เป็นธรรมบรรณาการ คือ ความสุขที่จริงแท้ (True happiness)
นั้นไซร้ไม่ต้องไปหาไกลแสนไกล แต่สามารถหาได้ง่ายๆ จากใจของเราเอง
โดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงกำลังกายกำลังทรัพย์มากมายมหาศาล
สุขแท้นั้นต้องเป็นสุขที่ปราศจากเงื่อนไข และเป็นสุขที่ไม่จำเป็นต้องอาศัย
หรือพึ่งพาปัจจัยภายนอกเข้ามามาเป็นตัวกระตุ้นหรือปลุกเร้า เช่น รถ คู่ครอง บ้าน การงาน สุรา และยาเสพติด

โดยได้ยกกรณีพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวอย่างว่า ความสุขที่อาศัยวัตถุหรือสิ่งเสพนั้น ไม่สามารถทำให้เจ้าชายสิทธัตถะอิ่มลึก และอิ่มนาน อีกทั้งยิ่งทำให้พระองค์เกิดความสงสัยมาโดยตลอดในขณะเป็นเจ้าชายว่า มีความสุขอื่นอีกไหมที่ยั่งยืนยาวนานโดยไม่กลับมาทุกข์อีก
แม้ว่าพระองค์จะอาศัยสิ่งเสพที่ดีที่สุดอยู่ข้างกาย แต่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถทำให้พระองค์ลิ่มรสของความสุขแท้และยาวนานได้ ไม่ว่าจะเป็นปราสาท ๓ ฤดู อาหารรสเลิศ ดนตรีขับกล่อมที่ไพเราะ มีพระมเหสีที่สวยที่สุด แต่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถตอบโจทย์ และทำให้พระองค์หายสงสัยว่า ความสุขที่ไม่อาศัยสิ่งเสพนั้น มีอยู่หรือไม่ ถ้ามีหน้าตาควรจะเป็นอย่างไร?
จากคำถามดังกล่าวจึงทำให้พระองค์เพียรพยายามที่จะหาคำตอบ
สุดท้าย พระองค์พบว่า ความสุขที่พระองค์พบนั้น คือ นิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ
เครื่องมือสำคัญที่นำเสนอและฝรั่งสนใจในทุกเวที คือ "สมาธิ"
จึงย้ำว่า หนึ่งในเครื่องมือในการที่จะพาตัวเองเข้าถึงความสุข คือ"สมาธิ"
เพราะสมาธิจะช่วยให้ผู้ฝึกมีจิตใจเยือกเย็น มั่นคง และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาโดยไม่ตกเป็นทาสของวัตถุหรือสิ่งเสพที่เข้ามายั่วยวนจิตใจ และดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบและยั่วยวนตามความเป็นจริง
ส่วนตัวไม่รู้เลยว่าคำตอบนั้นถูกใจเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นและสัมผัสได้คือ "ดวงตาที่เปี่ยมเย็น น้ำเสียงขอบคุณที่เต็มไปด้วยไมตรีจิต" การมาเมืองไทยของท่านเหล่านี้อาจจะซื้อของฝากกลับบ้านมากมากมาย แต่หนึ่งในของฝากเหล่านั้นที่จะทำให้ฝรั่งเหล่านี้ ติดตา และตรึงใจไปอีกแสนนาน คือ
"พระพุทธศาสนาในเมืองไทย" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สมาธิ" ที่เป็นสมบัติของโลก
ที่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด พูดภาษาใดย่อมสามารถลิ้มรสของความสุขที่เกิดจากสมาธิได้เสมอเหมือนกัน"
อาจารย์อังกฤษเก็บข้อมูลทำวิจัยพระกับการเมืองไทย ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ดันแคน แมคคาโก (Prof. Dr. Duncan McCargo) ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ (Professor of Southeast Asian Politics) มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร (University of Leeds, United Kingdom) ได้เข้าสัมภาษณ์พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดี มจร ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ดันแคนยังได้เดินทางไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร และพระนิสิต มจร วิทยาเขตอุบลราชธานีและขอนแก่น ในมุมมองต่างๆ เช่น เรื่องพระพุทธศาสนากับปมปัญหาต่างๆ ในสังคมไทย
เพื่อให้ทราบถึงมุมมองของพระสงฆ์ไทยอีสาน เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลเตรียมเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระสงฆ์กับการเมือง,พระพุทธศาสนาในฐานะเครื่องมือของชนชั้นปกครองในสังคมไทย,การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวพุทธภายใต้อุดมการณ์รัฐชาติปัจจุบัน,พระพุทธศาสนาเถรวาทกับสถาบันสงฆ์ไทยในอนาคต เป็นต้น ซึ่งเป็นการสอบถามความเห็นโดยทั่วไปทั้งมุมมองส่วนตัวและมุมมองในนามทัศนคติของนิสิตวิทยาเขตขอนแก่น
ทั้งนี้ ศ.ดร.ดันแคนอายุ 47 ปี มีความรอบรู้ในสาขาวิชารัฐศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเมืองและสื่อในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศตะวันตกโดยศึกษาภาคสนามในหลายประเทศ เช่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เขมร อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย
มีความสนใจศึกษาการเมืองไทยเป็นพิเศษ ผลงานเกี่ยวกับการเมืองเป็นที่ยอมรับในประชาคมวิชาการและวงการสื่อสารมวลชนระดับนานาชาติ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเสนอบทความวิชาการ สัมมนาพิเศษในสถานการณ์วิกฤตการเมืองไทยวิกฤติปัญหาคนไทยมุสลิม บทบาทของสื่อในประเทศไทย ผลงานดีเด่นซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา คือ หนังสือเรื่อง “Tearing Apart the Land : Islam and Legitimacy in Southern Thailand”
นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นแขกรับเชิญที่สำคัญของรัฐบาล และสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระอีกหลายแห่งในการเข้าร่วมสัมมนา และประชุมเกี่ยวกับเรื่องปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.komchadluek.net/detail/20121209/146750/มะกันผู้ดีเจาะข้อมูลทำวิจัยพระกับการเมือง.html#.UMV-YazjrRd (หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก พระเมธีธรรมาจารย์ พระเมธีธรรมาจารย์และPhra Dhammawong)