ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นิพพาน คืออะไรครับ  (อ่าน 5623 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

rainmain

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 323
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
นิพพาน คืออะไรครับ
« เมื่อ: มกราคม 09, 2010, 06:34:08 pm »
0
ผมอ่านข้อความในนี้หลาย กระทู้จะกล่าวถึงว่าการปฏิบัิติเพื่อนิพพาน อยากทราบว่า นิพพาน คืออะไรครับ
ืทำไมต้องทำเพื่อ นิพพาน ครับ ไม่เอา นิพพานได้ไหมครับ ถ้าปฏิบัติกรรมฐาน ::) ??? :o
บันทึกการเข้า
คิดดี พูดดี ทำดี เป็นกุศล และ กรรมฐาน เป็นมหากุศล นะครับ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28445
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ขอทำกรรมฐานอย่างเดียว ไม่ไปนิพพานได้ไหม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 10, 2010, 11:25:31 am »
0
ภาวนา ๒ (การเจริญ, การทำให้เกิดให้มีขึ้น, การฝึกอบรมจิตใจ : mental development)

๑. สมถภาวนา (การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ, การฝึกสมาธิ : tranquillity development)

๒. วิปัสสนาภาวนา (การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา : insight development)

สองอย่างนี้ ในบาลีที่มาท่านเรียกว่า ภาเวตัพพธรรม และ วิชชาภาคิยธรรม. ในคัมภีร์สมัยหลัง บางทีเรียกว่า กรรมฐาน (อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งงานเจริญภาวนา, ที่ตั้งแห่งงานทำความเพียรฝึกอบรมจิต, วิธีฝึกอบรมจิต — stations of mental exercises; mental exercise; สังคห.๕๑ ; Comp. 202)
________________________________________

สมถะ ธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต, ธรรมยังจิตให้สงบระงับจากนิวรณูปกิเลส, การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ (ข้อ ๑ ในกรรมฐาน ๒ หรือภาวนา ๒)

สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานคือสมถะ, งานฝึกจิตให้สงบ ดู สมถะ

วิปัสสนา
ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม; ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง (ข้อ ๒ ในกัมมัฏฐาน ๒ หรือภาวนา ๒) ดู ภาวนา, ไตรลักษณ์

วิปัสสนากัมมัฏฐาน
กรรมฐานคือวิปัสสนา ดู วิปัสสนา
________________________________________

ภาวนา ๓ (การเจริญ หมายถึงการเจริญกรรมฐานหรือฝึกสมาธิขั้นต่างๆ — stages of mental culture)
 
๑. บริกรรมภาวนา (ภาวนาขั้นบริกรรม, ฝึกสมาธิขั้นตระเตรียม ได้แก่ การถือเอานิมิตในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น กล่าวสั้นๆ คือ การกำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง — preliminary stage) ได้ในกรรมฐานทั้ง ๔๐

๒. อุปจารภาวนา (ภาวนาขั้นจวนเจียน, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอุปจาร ได้แก่ เจริญกรรมฐานต่อไป ถึงขณะที่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นในกรรมฐานที่เพ่งวัตถุก็ดี นิวรณ์สงบไปในกรรมฐานประเภทนึกเป็นอารมณ์ก็ดี นับแต่ขณะนั้นไปจัดเป็นอุปจารภาวนา — proximate stage) ขั้นนี้เป็น กามาวจรสมาธิ ได้ในกรรมฐานทั้ง ๔๐; อุปาจารภาวนา สิ้นสุดแค่โคตรภูขณะ ในฌานชวนะ

๓. อัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน คือ ถัดจากโคตรภูขณะในฌานชวนะเป็นต้นไป ต่อแต่นั้นเป็นอัปปนาภาวนา - concentrative or attainment stage)
ขั้นนี้เป็นรูปาวจรสมาธิ ได้เฉพาะในกรรมฐาน ๓๐ คือ หักอนุสสติ ๘ ข้างต้น ปฏิกูลสัญญา ๑ และจตุธาตุวัตถาน ๑ ออกเสีย คงเหลือ อสุภะ ๑๐ และกายคตาสติ ๑ (ได้ถึงปฐมฌาน) อัปปมัญญา ๓ ข้อต้น (ได้ถึงจตุตถฌาน) อัปปมัญญาข้อท้ายคืออุเบกขา ๑ กสิณ ๑๐ และ อานาปานสติ ๑ (ได้ถึงปัญจมฌาน) อรูป ๔ (ได้อรูปฌาน)
________________________________________

วิปัสสนาญาณ ๙
(ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง — insight-knowledge)
 
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on rise and fall)

๒. ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on dissolution)

๓. ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น — knowledge of the appearance as terror)
 
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์ — knowledge of contemplation on disadvantages)

๕. นิพพทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ — knowledge of contemplation on dispassion)
 
๖. มุญฺจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปจากสังขารเหล่านั้น — knowledge of the desire for deliverance)

๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป — knowledge of reflective contemplation)
 
๘. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร, คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ — knowledge of equanimity regarding all formations)
 
๙. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป — conformity-knowledge; adaptation-knowledge)
ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ ๕ ตามแนวไตรลักษณ์ — Comprehension-knowledge) เข้ามาเป็นข้อที่ ๑ จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ ๑๐ และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ
________________________________________

ข้อธรรมด้านบนนำมาจาก พจนานุกรม พุทธศาสน์ ของท่านเจ้าคุณปยุตโต
พอสรุปได้ว่า  กรรมฐานมี ๒ อย่าง คือ

    ๑.สมถกรรมฐาน เป็นการทำสมาธิ อย่างเดียว
   ๒.วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเจริญปัญญา เพื่อให้ถึงนิพพาน(ความหมายของนิพพานจะอธิบายต่อไป)


ตอบคำถามว่า ขอทำกรรมฐานอย่างเดียว ไม่ไปนิพพานได้ไหม  ขอตอบว่าได้ ทำได้ ๒ ทาง คือ

   ๑. เจริญสมถกรรมฐาน คือ ทำสมาธิอย่างเดียว สูงสุดของสมาธิ คือ อรูปฌาน ๔ หรือสมาบัติ ๘ การที่จะได้อรูปฌาน๔ ต้องได้รูปฌาน ๔ ก่อน จากนั้นจึงจะสามารถทำอรูปฌาน ๔ได้ นี่เป็นกฏตายตัว อรูปฌาน ๔ มีมาก่อนพุทธกาล อาฬารดาบส อาจารย์ของพระพุทธเจ้าของเราก็ได้ อรูปฌาน ๔
พระพุทธเจ้าเองก็ได้อรูปฌาน๔ ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ โดยเรียนจากอาฬารดาบสนั่นเอง

   ๒. เจริญวิปัสสนากรรฐาน การทำวิปัสสนาต้องผ่าน วิปัสสนาญาณ หากผ่านญาณที่ ๙ ก็จะเข้านิพพาน แต่หากไม่ประสงค์จะเข้านิพพาน ก็ให้หยุดที่ญาณที่ ๘ บำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ต่อไปเรื่อยๆ

เลือกเอานะครับชอบแบบไหน ขออนุโมทนา



ตอบคำถามที่ว่า ทำไมต้องทำเพื่อนิพพาน


   จุดประสงค์ของ การเข้านิพพานเป็นการหนี การเวียน ว่าย ตาย เกิด ใน ๓๑ ภพภูมิ ซึ่งเป็นคติในศาสนาพุทธ เชื่อว่า มี  นรก เปรต อสูรกาย เดรัจฉาน สวรรค์ และพรหม รวมทั้งหมดแล้วมี ๓๑ ชั้น  ทุกคนถ้าไม่เข้านิพพาน ไม่มีทางที่จะหนีวงจรนี้ได้

    ศาสนาพุทธสอนให้เชื่อว่า  การเวียน ว่าย ตาย เกิด อยู่ภายใน ๓๑ ภพภูมินี้เป็นทุกข์ การเข้าสู่นิพพาน
คือ การหยุดวงจร การเวียน ว่าย ตาย เกิด นั่นเอง  และเชื่อว่า นิพพาน คือ บรมสุข
   
   หากใครยังสนุกกับการเวียน ว่าย ตาย เกิด ภายใน ๓๑ ภพภูมินี้  ก็เป็นสิทธิของท่านนะครับ

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28445
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ความหมายของคำว่า "นิพพาน" โดยพิสดาร
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 10, 2010, 11:38:15 am »
0
นิพพานคืออะไร
           
- ความหมายของนิพพาน
- นิพพาน…อย่างไร
- ทฤษฎีว่าด้วยนิพพาน
- นิพพาน คือ ความจริงสูงสุด
- ลักษณะของความจริงที่เรียกว่านิพพาน
- ความจริงสูงสุดในคำสอนของพุทธศาสนา
- ปัญหาเรื่อง นิพพาน ของคนยุคปัจจุบัน...?

ความหมายของนิพพาน

คำว่า  “นิพพาน”  มาจาก  นิ  อุปสรรค  แปลว่า  ออกไป   หมดไป  ไม่มี  เลิก+วาน  แปลว่าพัดไป  หรือเป็นไปบ้าง   เครื่องร้อยรัดบ้าง  ใช้เป็นกิริยาของไฟหรือการดับไปหรือของที่ร้อนเพราะไฟ  แปลว่า  ดับไฟหรือดับร้อน  หมายถึง  หายร้อน  เย็นลง  หรือเย็นสนิท  (แต่ไม่ใช่ดับสูญ)  แสดงสภาวะทางจิตใจ  หมายถึง  เย็นใจ  สดชื่น ชุ่มชื่นใจ   ดับความร้อนใจ  หายร้อนรน  ไม่มีความกระวนกระวาย  หรือแปลว่า  เป็นเครื่อง  ดับกิเลส  คือ  ทำให้ราคะ   โทสะ  โมหะ  หมดสิ้นไป  แต่ในปัจจุบันนิยมแปลว่า  ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด   หรือออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยรัดติดไว้กับภพ  นิพพานเป็นการดับสนิทของไฟ  กล่าวคือ  ไฟคือราคะ  ไฟคือโทสะ  นิพพานจึง หมายถึง  สภาพเย็นสนิท

นิพพาน ตามความหมายเชิงอรรถ   พูดในเชิงภาพพจน์หรืออุปมาเมื่อ  อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  ดับไป  นิพพานก็ปรากฏแทนที่พร้อมกัน  หรืออาจกล่าวได้ว่า  การดับอวิชชา  ตัณหาอุปาทาน  นั่นแหละ  คือ  นิพพาน  “จิตใจเปิดเผยกว้างขวางไม่มีประมาณ  โปร่งโล่ง  เป็นอิสระเป็นภาวะที่แจ่มใส  สะอาด  สว่างสงบ   ละเอียดอ่อน  ประณีต   ลึกซึ้ง”  สำหรับผู้เข้าถึงก็รู้เห็นประจักษ์แจ้งเองเมื่อนั้น  ดังคุณบท  คือ  คำแสดงคุณลักษณะของนิพพานว่า  “นิพพาน อันผู้บรรลุเห็นได้เองไม่ขึ้นกับกาลเวลา  เรียกให้มาดได้  ควรนอบน้อมเอามาไว้  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”ส่วนข้อความภาวะโดยตรงจะยกมาประกอบพิจารณาดังพุทธพจน์ที่ปรากฏในขุททกนิกาย  อุทานมีเรื่องหนึ่งว่า  คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมมีกถาเกี่ยวกับนิพพานแก่ภิกษุทั้งหลายพระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานว่า

.....มีอยู่นะ  ภิกษุทั้งหลาย  อายตนะที่ไม่มีปฐวี  ไม่มีอาโป  ไม่มีเตโช  ไม่มีวาโย   ไม่มีอากาสานัญจายตนะ  ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ  ไม่มีอากิญจัญญายตนะ   ไม่มีแนวสัญญายตนะไม่มีโลกนี้  ไม่มีปรโลก  ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่าง  เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็นการมา  การไป  การหยุดอยู่  การจุติ   การอุบัติ  อายตนะนั้นไม่มีที่ตั้งอาศัย  (แต่ก็)ไม่เป็นไป ทั้งไม่ต้องมีเครื่องยึดหน่วง  นั่นแหละคือจุดจบของทุกข์

ขุ.อุ.๒๕/๑๕๘/๑๗๕.  พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับหลวง ๒๕๑๔.



จากพุทธพจน์ข้างต้นนี้ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า  ผู้ปฏิบัติย่อมเข้าถึงได้ในสภาวะที่ปราศจากกิเลสด้วยสติปัญญาของมนุษย์เอง  ปุถุชนไม่สามารถนึกเห็น  ไม่อาจคิดให้เข้าใจภาวะของนิพพานได้เพราะธรรมดาของมนุษย์   เมื่อไม่เห็นประจักษ์เองซึ่งสิ่งใดก็เรียนรู้สิ่งนั้นด้วยอาศัยความรู้เก่าพื้นเทียบภาวะของนิพพาน  นิพพานไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใดทีปุถุชนเคยรู้เคยเห็นดังนั้นปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือคิดเข้าใจได้  แต่จะว่านิพพานไม่มีก็ไม่ถูก

การบรรลุนิพพานและธรรมขั้นสูงอื่น ๆ   เป็นสิ่งที่มีอยู่และเป็นไปได้จริงว่า  ในเมื่อทำปัญญาให้เกิดขึ้น  ดังพุทธพจน์เป็นเครื่องแสดงว่าพระพุทธองค์ทรงยืนยัน  ทรงตรัสโต้มติของพราหมณ์คนหนึ่งผู้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะรู้จะเห็นญาณทรรศนะวิเศษยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ความว่า

นี่แน่ะ  มาณพ  เปรียบเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด  เขาไม่เห็นรูปดำ รูปขาว  รูปเขียว  รูปเหลือง  รูปแดง รูปสีชมพู   รูปที่เรียบเสมอและไม่เรียบ  ไม่เห็นหมู่ดาว  ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์ (ถ้า)   เขากล่าวว่า  รูปดำ  รูปขาวไม่มี  คนเห็นรูปดำรูปขาวก็ไม่มี   รูปเขียวไม่มี คนเห็นรูปเขียวก็ไม่มี  ฯลฯ  ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ไม่มี  คนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็ไม่มี ข้าฯ   ไม่รู้  ข้า ฯ   ไม่เห็นสิ่งนั้น  ๆ  เพราะฉะนั้น   สิ่งนั้น ๆ  ย่อมไม่มี   เมื่อเขากล่าวดังนี้   จะชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือมาณพ  มาณพทูลตอบว่า  ไม่ถูกต้องพระองค์จึงตรัสต่อไปว่า  ข้อนี้ก็เช่นกัน  พราหมณ์โปกขรสาติ  โอปมัญญาโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุรควัน  เป็นคนมือบอดไม่มีจักษุการที่เขาจะรู้เห็นธรรมบรรลุญาณทัศนะวิเศษอันประเสริฐเหนือกว่ามนุษยธรรม  จึงเป็นไปไม่ได้

ม.ม.๑๓/๗๑๙/๖๕๖.  พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับหลวง ๒๕๑๔.

ประเภทนิพพาน


ตามภาวะที่แท้จริง  นิพพานมีอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ที่แยกประเภทออกไป  เพื่อแสดงอาการของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิพพานบ้าง  พูดถึงนิพพานโดยปริยายคือความหมายบางด้านเท่านั้นโดยจำแนกได้  ๒  ประการคือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่  นิพพานธาตุยังมีเบญจขันธ์เหลือ  หมายถึง  นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่และยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์


๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่  นิพพานธาตุไม่มีเบญจขันธ์ เหลือ  หมายถึง  นิพพานของพระอรหันต์ผู้ที่ดับขันธ์แล้วและไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์

เพื่อที่จะศึกษาวิเคราะห์เรื่องนิพพานให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่ง ๆ  ขึ้นไปจะได้ยกสาระสำคัญเกี่ยวกับสอุปาทิเสสนิพพานธาตุและอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ   ดังความปรากฏใน  ขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ  ว่า

แท้จริงพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคองค์อรหันต์ได้ตรัสไว้  ข้าพเจ้าได้สดับมานี้  ภิกษุทั้งหลายนิพพานธาตุ  ๒  อย่างเหล่านี้  กล่าวคือ  สอุปาทนิเสสนิพพานธาตุ  และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ภิกษุทั้งหลาย  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  เป็นไฉน  ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยเป็นอรหันต์สิ้นอาลวะแล้ว  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว   ปลงภาระลงได้แล้วบรรลุประโยชน์ตนแล้ว  มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นไปแล้วหลุดพ้นแล้ว  เพราะ  รู้ชอบ  อินทรีย์   ๕  ของเธอยังดำรงอยู่เทียว  เพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่เสียหายเธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ  ย่อมเสวยทั้งสุขและทุกข์   อันได้เป็นความสิ้นราคะความสิ้นโทสะ  ความสิ้นโมหะ  ของเธอ  อันนี้เรียกว่า  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  เป็นไฉน  ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะ....หลุดพ้นแล้ว  เพราะรู้ชอบอารมณ์ที่ได้เสวย  (เวทยิต)  ทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของเธอซึ่งเธอไม่ติดใจเพลินแล้ว  (อนภินันทิต)  จักเป็นของเย็น   ข้อนี้เรียกว่า  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

ในตอนท้ายของพระสูตร   พระพุทธองค์ได้ตรัสคาถาประพันธ์ว่า  นิพพานธาตุ  ๒  อย่าง  เหล่านี้  พระผู้ทรงจักษุ  ผู้คงที่  ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด  ได้ทรงประกาศไว้แล้ว  (คือ)  นิพพานธาตุอย่างหนึ่งเป็นทิฏฐธัมมิกะ  (มีในปัจจุบันหรือทันตาเห็น)   ชื่อว่าสอุปาทิเสส  เพราะสิ้นตัณหาเครื่องไปสู่ภพส่วนนิพพานธาตุอีกอย่างหนึ่ง   เป็นสัมปรายิกะ  (มีในเบื้องหน้าสัมปรายิกะหรือเป็นของล้ำ)  เป็นที่ภพทั้งหลายดับไปหมดสิ้น  ชื่อว่า  อนุปาทิเสส  ชนเหล่าใดรู้บทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งแล้วนี้  มีจิตหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ  ชนเหล่านั้นยินดีในนิพพาน  เป็นที่สิ้นกิเลสเพราะบรรลุธรรมอันเป็นสาระ  เป็นผู้คงที่  ละภพได้ทั้งหมด

ขุ.อิติ. ๒๕/๒๒๒/๒๓๑. พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับหลวง.



จากพุทธพจน์ที่แสดงนิพพานธาตุ  ๒  อย่างดังกล่าวมาแล้ว  จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวถึงนิพพานโดยบรรยายอาการ  หรือลักษณะแห่งการเกี่ยวข้องกับนิพพาน  กล่าวคือเป็นการกล่าวถึงนิพพานเท่าที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้บรรลุ  หรืออาจกล่าวได้ว่า  ใช้บุคคลผู้บรรลุนิพพานเป็นอุปกรณ์สำหรับทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพาน  มิใช่เป็นการบรรยายภาวะของนิพพานล้วน ๆ  โดยตรง  และ

อาจจะชี้แจงได้อีกว่า  ผู้ที่บรรลุพระอรหันต์เป็นบุคคลผู้ซึ่งดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง  ปราศจากการเสพอารมณ์ทั้งที่พอใจและไม่พอใจ  ย่อมไม่ยึดมั่นในอารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา  และอนิฏฐารมณ์คือ  อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา  หลักการนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้อีกว่านิพพานนั้นอาจมีผู้เข้าใจได้อย่างแน่นอน
 
นิพพานซึ่งแบ่งเป็น  ๒  ประเภทนั้น  นิพพานอย่างแรกในรุ่นอรรถกถาว่า  กิเลสปรินิพพาน  (ดับกิเลสสิ้นเชิง)  นิพพานอย่างที่สอง  ตรงกับคำที่คิดขึ้นใช้ในรุ่นอรรถกถาว่า  ขันธปรินิพพาน  (ดับขันธ์  ๕  สิ้นเชิง)   สำหรับความหมายของนิพพานทั้งสองอย่างนั้น  พระราชวรมุนี (ประยุทธ์  ปยุตฺโต)   ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

๑.   สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ   แปลว่า  ภาวะของนิพพานที่เป็นไปกับด้วยอุปธิเหลืออยู่หรือนิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕  ได้แก่  นิพพานของพระอรหันต์  ในเวลา ที่เสวยอารมณ์ต่าง ๆ  รับรู้สุขทุกข์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕   หรือนิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕   ในกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์พูดอีกอย่างหนึ่งว่านิพพานท่ามกลางกระบวนการรับรู้ทางประสาททั้ง ๕  ซึ่งเกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕   โดยฐานเป็นอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรับรู้นิพพานในข้อนี้  เป็นด้านที่เพ่งถึงผลซึ่งปรากฏออกมาในการรับรู้  หรือการเกี่ยวข้องกับโลก  คือ  สิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตตามปกติของพระอรหันต์ 

ดังนั้น  จึงเล็งไปที่ความหมายในแง่ของความสิ้นราคะ  โทสะ  และโมหะ  ซึ่งทำให้การรับรู้หรือเสวยอารมณ์ต่าง ๆ  เป็นไปด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ  ขยายความออกไปว่า  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่  ภาวะจิตของพระอรหันต์นั้นผู้ยังมีอินทรีย์สำหรับอารมณ์ต่าง ๆ  บริบูรณ์ดีอยู่ตามปกติเสวยอารมณ์ทั้งหลายด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ  ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน  การเสวยอารมณ์หรือเวทนานั้น  ไม่ถูกกิเลสครองงำหรือชักจูง  จึงไม่ทำให้เกิดตัณหา  ทั้งในทางบวกและทางลบ  (  ยินดี-ยินร้าย-ชอบ-ชัง-ติดใจ-ขัดใจ)     พูดอีกอย่างหนึ่งว่าไม่มีตัณหาที่จะปรุงแต่งภพหรือชักนำไปสู่ภพ  (ภวเนตฺติ) 


ภาวะนี้มีลักษณะที่มองได้ ๒  ด้าน ด้านหนึ่ง  คือ  การเสวยอารมณ์  นั้นเป็นเวทนาอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ในตัว   เพราะไม่มีสิ่งกังวลติดข้องค้างใจหรือเงื่อนปมใด ๆ   ภายในที่จะมารบกวน  และอีกด้านหนึ่งเป็นการเสวยอารมณ์อย่างไม่สงบ  ไม่อภินันท์  ไม่ถูกครอบงำ  หรือผูกมัดตัว   ไม่ทำให้เกิดการยึดติดหรือมัวเมาเป็นเงื่อนงำต่อไปอีก   ภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นไปอยู่ตลอดเวลาในการดำรง ชีวิตามปกติของพระอรหันต์เป็นเรื่องปัจจุบันเฉพาะหน้า  แต่ละเวลาแต่ละขณะที่รับรู้อารมณ์ในชีวิตประจำวัน  ซึ่งเรียกว่าทิฏฐิธรรม  แปลว่า  อย่างที่เห็น ๆ  กัน  หรือทันตา

เห็นในเวลานั้น ๆ ตามความหมายดังที่กล่าวมานี้นิพพานธาตุอย่างที่หนึ่ง  จึงต้องเป็นภาวะของพระอรหันต์ที่ยังทรงชีพและดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกอยู่ตามปกติ   อย่างที่เห็น ๆ  กันและทันตาเห็นปัจจุบัน
 
๒  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  แปลว่า  ภาวะของนิพพานที่ไม่มีอุปาทิเหลืออยู่   หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕  ได้แก่  นิพพานของพระอรหันต์พ้นจากเวลาที่เสวยอารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕   หรือ  นิพพานของพระอรหันต์ที่นอกเหนือจากความเกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕   ในกระบวนการรับรู้  เสวยอารมณ์ 

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า   ภาวะของนิพพานเองล้วน ๆ  แท้ ๆ  ซึ่งประจักษ์แก่พระอรหันต์ในเมื่อประสบการณ์ในกระบวนการรับรู้ทางประสาททั้ง  ๕   สิ้นสุดลงหรือในเมื่อไม่มีการรับรู้หรือในเมื่อไม่มีการเกี่ยวข้องกับการรับรู้อารมณ์ทางประสาททั้ง  ๕   เหล่านั้น   (รวมทั้งอารมณ์ผ่านทางประสาททั้ง  ๕  นั้น  ที่ยังค้างอยู่ในใจ) 

ขยายความออกไปว่า  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่ภาวะนิพพานที่พระอรหันต์ประสบอันเป็นส่วนที่ลึกซึ้งลงไปหรือล้ำเลยออกไปกว่าที่มองเห็นกันได้พ้นจากเวลาที่เสวยอารมณ์หรือรับรู้ประสบการณ์ทางอินทรีย์ทั้ง  ๕   แล้ว  กล่าวคือ  หลังจากรับรู้ประสบการณ์  หรือเสวยอารมณ์  โดยไม่อภินันท์  ด้วยตัณหา  ไม่เสริมแต่งคลอเคลียหรือกริ่มกรุ่นด้วยกิเลสคือราคะ  โทสะ  และโมหะ  (อภินันทิตะ)  แล้ว  อารมณ์หรือประสบการณ์เหล่านั้น ก็ไม่ค้างคาที่จะมีอำนาจครอบงำชักจูงหรือรบกวนต่อไปอีก  จึงกลายเป็นของเย็น  (สีติภวิสฺสนฺติ)  คือสงบราบคาบหมดพิษสงไป  ไม่อาจก่อชาติก่อภพขึ้นได้อีก

พูดเป็นสำนวนว่า   พระอรหันต์มีความสามารถพิเศษที่จะทำให้อารมณ์หรือประสบการณ์ต่าง ๆ  ที่ผ่านเข้ามา  มีสภาพเป็นกลางปราศจากอำนาจครอบงำหน่วงเหนี่ยว   กลายเป็นของสงบเย็นอยู่ใต้อำนาจของท่าน  พระอรหันต์จึงได้ชื่อที่เป็นคุณลักษณะอย่างอื่นว่า  สีติภูตะ  หรือสีตะ  แปลว่า  เป็นผู้เย็นแล้ว  ภาวะที่ประจักษ์โดยปราศจากประสบการณ์เสริมแต่งค้างคาอยู่  หรือภาวะที่ประสบในเมื่อไม่มีอารมณ์ภายนอกคั่งค้างครองใจหรือคอยรบกวนอย่างเช่นนี้ 

นับว่าเป็นภาวะชั้นในซึ่งอยู่นอกเหนือจากการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก   ล้ำเลิศไปกว่าระดับการรับรู้ทางอินทรีย์  ๕   พ้นจากกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์ที่พัวพันอยู่กับขันธ์  ๕  เป็นอารมณ์  ท่านผู้บรรลุนิพพานแล้ว  ก็จึงมีนิพพานเป็นอารมณ์  คือประจักษ์หรือประสบนิพพานในฐานะที่เป็นธัมมายตนนิพพาน  ในข้อที่สองนี้   เป็นด้านที่เพ่งถึงภาวะของนิพพานเองแท้ ๆ  ที่ประจักษ์แก่พระอรหันต์พ้นจากกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์ภายนอก  นอกเหนือจากการดำเนินชีวิตตามปกติ   เป็นภาวะที่พูดถึงหรือบรรยายได้เพียงแค่ลักษณะของการเกี่ยวข้องกับนิพพานนั้น  ถึงจุดที่ประสบการณ์ที่รู้ที่เข้าใจกัน  ซึ่งไม่ใช่นิพพานได้สิ้นสุดลงส่วนภาวะของนิพพานเองแท้ ๆ   ซึ่งลึกเลยไปกว่านั้น   เป็นเรื่องของผู้ประสบและประจักษ์เองจะรู้และเข้าใจ  คือเป็นสันทิฏฐิกะ  ดังได้กล่าวมาแล้ว
 
ถ้าจะอุปมาเปรียบมนุษย์ปุถุชนทั้งหลายเหมือนคนที่ว่ายน้ำฝ่ากระแสคลื่นลมในทะเลใหญ่  ผู้บรรลุนิพพานก็เหมือนคนที่ขึ้นฝั่งได้แล้ว   ภาวะที่ขึ้นอยู่บนฝั่งแล้ว   ซึ่งเป็นภาวะเต็มอิ่มสมบูรณ์ในตัวของมันเอง  มีความปลอดโปร่งโล่งสบาย  ซึ่งบุคคลผู้นั้นประสบอยู่ภายใน  ประจักษ์แก่ตนเองโดยเฉพาะ  เปรียบได้กับอนุปาทิเสสนิพพาน  ส่วนภาวะที่ไม่ถูกบีบคั้นคุกคาม  ไม่ติดขัดจำกัดตัวอยู่ในเกลียวคลื่น  ไม่ถูกขัดไปขัดมา  ไม่เป็นผู้ตกอยู่ใต้อำนาจนองคลื่นลม  สามารถเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่รอบข้างอย่างเป็นอิสระและได้ผลดี   ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ตามความปรารถนาเปรียบได้กับสอุปาทิเสสนิพพาน

หรือถ้าจะอุปมาให้ใกล้ตัวมากกว่านั้นเปรียบมนุษย์ปุถุชนทั้งหลายเหมือนคนเจ็บไข้  ผู้บรรลุนิพพานก็เหมือนคนที่หายป่วยแล้วหรือคนที่สุขภาพดี  ไม่มีโรค  ความไม่มีโรค  หรือความแข็งแรงมีสุข ภาพดีนั้นเป็นภาวะที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง  ซึ่งบุคคลผู้รู้นั้นจะประสบประจักษ์อยู่ภายในตนเองโดยเฉพาะ  ภาวะนี้จะอิ่มเอิบชื่นบานปลอดโปร่ง  โล่งสบายคล่องเบาอย่างไร  เป็นประสบการณ์เฉพาะตัวของผู้นั้น  คนอื่นอาจคาดหมายตามอาการและเหตุผล  แต่ก็ไม่สามารถประสบเสวยได้  ภาวะนี้เปรียบได้กับอนุปาทิเสสนิพพาน  ส่วนภาวะอีกด้านหนึ่งซึ่งเนื่องอยู่ด้วยกันนั่นเอง  และอาจแสดงออกได้หรือมีผลต่อการแสดงออกในการดำเนินชีวิตหรือติดต่อเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ  คือ  ความไม่ถูกโรคบีบคั้น   ไม่อึดอัด  ไม่อ่อนแอ ไม่ถูกขัดขวาง    ถ่วงหรือชะงักงันด้วยความเจ็บปวดและอ่อนเปลี้ย  เป็นต้น  สามารถขยับเขยื้อน  เคลื่อนไหวทำอะไรต่าง ๆ  ได้ตามต้องการ ภาวะนี้เทียบได้กับสอุปาทิเสสนิพพาน

สรุปความว่า  นิพพานมีอย่างเดียว  แต่แบ่งออกเป็น  ๒  ด้าน  ด้านที่หนึ่ง  คือ  นิพพานในแง่ของความสิ้นกิเลส  ซึ่งมีผลต่อการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก  หรือต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  ด้านที่สอง  คือ  นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะจำเพาะของผู้บรรลุซึ่งไม่อาจหยั่งถึงได้ด้วยประสบการณ์ทางอินทรีย์   ๕   เป็นเรื่องนอกเหนือจากประสบการณ์ที่เนื่องด้วยขันธ์  ๕  ทั้งหมดอนุปาทิเสสนิพพาน  คือ  นิพพานตามความหมายในทางปฏิบัติเมื่อสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวัน  พูดอีกอย่างหนึ่งว่า  อนุปาทิเสสนิพพาน  คือ  นิพพานตามความหมายที่พระอรหันต์มีนิพพานเป็นอารมณ์  สอุปาทิเสสนิพพาน คือ  นิพพานในความหมายที่พระอรหันต์มีขันธ์  ๕  เป็นอารมณ์

นอกจากนี้ยังมีข้อความเกี่ยวกับนิพพานหลายแห่ง  แต่ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเฉพาะอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอย่างเดียว เช่น  พระพุทธพจน์แสดงพระธรรมวินัยว่า  มีความอัศจรรย์เหมือนดังมหาสมุทร  ๘  ประการว่า  “แม้ภิกษุจำนวนมากมายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นิพพานธาตุจะปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะเหตุนั้นก็หามิได้  เปรียบได้กับสายฝนที่หลั่งลงจากฟากฟ้า  มหาสมุทรจะทำให้มหาสมุทรปรากฏเป็นความพร่องหรือเต็มไปเพราะเหตุนี้ก็หามิได้”  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าเมื่อเป็นพระอรหันต์ล้วนคงตัวอยู่อย่างนั้นไม่มีเสื่อมหรือผันแปรเป็นอย่างอื่นได้อีกเลย


 ๏๏๏๏๏๏๏๏ .:: นิพพาน…อย่างไร ::. ๏๏๏๏๏๏๏๏ 




สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้สำรอกตัณหา ดับตัณหา  ไม่มีอาลัยในตัณหา  เมื่อพ้นจากตัณหาได้  ไม่มีเหตุแห่งทุกข์  ความดับทุกข์ก็เกิดขึ้น  เปรียบเหมือนความร้อนกับความเย็น  เมื่อไม่มีเหตุแห่งความร้อน  ความเย็นย่อมปรากฏขึ้น  ความดับทุกข์ย่อมเกิดขึ้นตามสัดส่วนแห่งตัณหาที่ละได้  เหมือนความมืดกับความสว่างเป็นข้าศึกกัน  เมื่ออย่างหนึ่งเพิ่มอย่างหนึ่งต้องลดลง 


นิโรธเป็นชื่อหนึ่งของนิพพาน  นิโรธกับนิพพานจึงเป็นอย่างเดียวกัน  เป็นไวพจน์ของกันและกัน  การเรียนรู้เรื่องนิโรธ  ก็คือการศึกษาให้เข้าใจซึ่งนิพพานนั่นเอง


นิพพาน  แปลตามตัวอักษรว่า  การออกจากตัณหาบ้าง  ความดับกิเลสบ้าง  ความสงบระงับความกระวนกระวายบ้าง  ยังมีคำอื่นอีกมากที่มีความหมายเท่ากับนิพพาน  เช่น  วิมุติ  เป็นต้น


การศึกษานิพพานในแง่ของความสงบ  ดูเหมือนจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น  เพราะความสงบเป็นสิ่งที่ทุกคนเคยได้รับรู้ได้สัมผัสอยู่เสมอ  แต่มักเป็นความสงบชั่วคราว  แล้วกลับวุ่นวายใหม่อีก


คราวใดที่เรามีความรู้สึกต้องการ  หรือปรารถนาอะไรสักอย่างหนึ่ง  แต่ยังไม่ได้สิ่งนั้น  เวลานั้นจิตใจของเราย่อมกระวนกระวาย  ถ้ามีความต้องการรุนแรงมาก  ความกระวนกระวายก็มีมาก  พอเราได้สิ่งนั้นสมความต้องการแล้ว  ความกระวนกระวายก็สงบลง  กลายเป็นความสงบ  แต่เป็นความสงบชั่วคราว  ตัวอย่าง  เช่น  เรากระหายน้ำ  ความกระวนกระวายย่อมเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของความกระหาย  พอได้ดื่มน้ำในขนาดที่ต้องการ  ความกระวนกระวายนั้นก็สงบระงับลงระยะหนึ่ง  ไม่นานนักก็จะกระหายอีก  และต้องดื่มอีก  แต่ในขณะที่เราอิ่มอยู่นั้น  ใครจะเอาน้ำวิเศษอย่างไรมาให้เราก็ไม่ปรารถนาดื่ม  แต่ในขณะที่กระหายจัด  แม้รู้ว่าน้ำนั้นเจือด้วยของโสโครกบางอย่างซึ่งอาจให้เกิดโรคได้ภายหลัง  บางทีคนก็ยอมเสี่ยงเพราะไม่อาจทนต่อความกระหายได้


ความกระหายทางจิตก็เช่นเดียวกัน  ถ้ากระหายจัดบุคคลย่อมอาจทำอะไรลงไป  เพื่อระงับความกระหายนั้น  บางทีถูก  บางทีผิด  เพราะรู้บ้าง  เพราะไม่รู้บ้าง  บางทียอมทำทั้งๆ ที่รู้  เพราะไม่อาจหยุดยั้งความกระหายที่กำลังเร้าความรู้สึกอยู่อย่างรุนแรงนั้นได้  พอได้สมปรารถนาแล้ว  ความกระวนกระวายก็ระงับไป  เหลืออยู่แต่ความสงบ  ในขณะที่สงบอยู่นั้น  จิตของบุคคลย่อมหวนระลึกถึงเหตุผลความควรไม่ควร  ความรู้จริงเห็นแจ้งในสิ่งที่ควรทำ  และควรเว้น  ท่านลองคิดดูว่า  แม้นิพพานอย่างโลกๆ ยังให้เหตุผลให้ความสงบสุข  ความสว่างไสวแก่ท่านถึงเพียงนี้  ถ้าเป็นนิพพานจริงๆ นิพพานซึ่งเกิดขึ้นเพราะการละกิเลสได้  จะให้ความสงบสุข  ความสว่างไสวแก่ท่านสักเพียงใด
 
เกี่ยวกับนิโรธ  หรือ  นิพพานนี้  ท่านแสดงไว้  ๕  ประการ  คือ



๑. ตทังคนิโรธ  คือ  ดับกิเลสได้ชั่วคราว  เช่น  เมื่อเมตตากรุณาเกิดขึ้น  ความโกรธและความคิดพยาบาทคือความคิดเบียดเบียนย่อมดับไป  เมื่ออสุภสัญญา  คือ  ความกำหนดว่าไม่งามเกิดขึ้น  ราคะ  ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ย่อมดับไป  รวมความว่า  ดับกิเลสด้วยองค์ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว


๒. วิขัมภนนิโรธ คือ  ดับกิเลส หรือข่มกิเลสไว้ได้ด้วยกำลัง ฌาน  เช่น  ข่มนิวรณ์ ๕  ไว้ด้วยกำลังฌาน (นิวรณ์  คือ  สิ่งที่ขัดขวางจิต  ไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม  มี ๕ อย่าง  คือ 

๑.กามฉันท์  พอใจในกามคุณ  ๒.พยาบาท  คิดร้ายผู้อื่น  ๓.ถีนมิทธะ  ความหดหู่  ซึมเซา  ๔.อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่านและรำคาญ  ๕.วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัย    ฌาน  คือการเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่มีหลายลำดับขั้น)  ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป  ตลอดเวลาที่ฌานยังไม่เสื่อม  บุคคลผู้ได้ฌานย่อมมีอาการเสมือนหนึ่งผู้ไม่มีกิเลส  ท่านเปรียบเหมือนศิลาทับหญ้า  ตลอดเวลาที่ศิลาทับอยู่  หญ้าย่อมไม่อาจงอกงามขึ้นมาได้  เป็นเสมือนหนึ่งว่าตายแล้ว  แต่พอยกศิลาออกหญ้าย่อมงอกงามได้อีกและอาจงอกงามกว่าเดิมก็ได้  หรือเหมือนโรคบางอย่างที่ถูกคุมไว้ด้วยยา  ตลอดเวลาที่ยามีกำลังอยู่  โรคย่อมสงบระงับไป


๓. สมุจเฉทนิโรธ  ความดับกิเลสอย่างเด็ดขาด  เป็นความหลุดพ้นของท่านผู้ละกิเลสได้แล้ว  กิเลสใดที่ท่านละได้แล้วกิเลสนั้นไม่เกิดขึ้นอีก  ไม่หวนกลับมาหาท่านอีก  เปรียบเหมือนหญ้าที่ถูกขุดรากทิ้งแล้ว  ถูกแดดแผดเผาจนแห้งแล้ว  งอกขึ้นไม่ได้อีก  ตัวอย่างเช่น  การตัดกิเลสของพระอริยบุคคล ๔ จำพวก  มีพระโสดาบัน  เป็นต้น 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 10, 2010, 11:40:18 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28445
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ความหมายของคำว่า "นิพพาน" โดยพิสดาร
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มกราคม 10, 2010, 11:51:29 am »
0
๔. ปฏิปัสสัทธินิโรธ  ความดับกิเลสอย่างสงบระงับไปในขณะแห่งอริยผลนั่นเอง  ไม่ต้องขวนขวายเพื่อการดับอีก  เหมือนคนหายโรคแล้ว  ไม่ต้องขวนขวายหายาเพื่อดับโรคนั้นอีก

๕. นิสสรณนิโรธ  แปลตามตัวว่า  ดับกิเลสด้วยการสลัดออกไป  หมายถึง  ภาวะแห่งการดับกิเลสนั้นยั่งยืนตลอดไป  ได้แก่  นิพพานนั่นเอง  เหมือนความสุข  ความปลอดโปร่งอันยั่งยืนของผู้ที่หายโรคแล้วอย่างเด็ดขาด


ในบรรดานิโรธ ๕  นั้น  นิโรธหรือนิพพานข้อที่ ๑ นั้น  เป็นของปุถุชนทั่วไป  ข้อที่ ๒  เป็นของท่านผู้ได้ฌาน  ข้อ ๓ – ๕  เป็นของพระอริยบุคคล




****  พระอริยบุคคล  หมายถึงผู้ใด  ****

ท่านผู้บรรลุนิพพานแล้ว  ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป  ท่านเรียกว่า  พระอริยบุคคล  คือ  ท่านผู้ประเสริฐมีคุณธรรมสูง  มี  ๔  จำพวกด้วยกัน  คือ


๑. พระโสดาบัน  ละสังโยชน์กิเลส  (กิเลสซึ่งหน่วงเหนี่ยวสัตว์ไว้ในภพ)  ได้  ๓  อย่าง  คือ  สักกายทิฏฐิ  ความเห็นว่าขันธ์ ๕  เป็นตัวตนหรือของตน , วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยในทางดำเนินให้ถึงนิพพาน , สีลัพพตปรามาส  การลูบคลำศีลและพรต  กล่าวคือ  มิได้ประพฤติศีลหรือบำเพ็ญพรตเพื่อความบริสุทธิ์  และเพื่อความขัดเกลากิเลส  แต่เพื่อลาภสักการะ  ชื่อเสียง  เป็นต้น  การประพฤติศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงายก็อยู่ในข้อนี้เหมือนกัน  ฯลฯ


๒. พระสกทาคามี  ละสังโยชน์ได้เหมือนพระโสดาบัน  แต่มีคุณธรรมเพิ่มขึ้น  ทำราคะ  โทสะ  และโมหะให้เบาบางลง


๓. พระอนาคามี  ละกิเลสเพิ่มขึ้นอีก  ๒  อย่าง  คือ  กามราคะ  ความกำหนัดในกามคุณ  และปฏิฆะ  ความหงุดหงิดรำคาญใจ


๔. พระอรหันต์  ละสังโยชน์เพิ่มขึ้นอีก  ๕  อย่าง  คือ  รูปราคะ  ความติดสุขในรูปฌาน  ,อรูปราคะ  ความติดสุขในอรูปฌาน , มานะ  ความทะนงตัว , อุทธัจจะ  ความฟุ้งซ่าน  ,อวิชชา  ความเขลา  ความไม่รู้ตามเป็นจริง
 
นิพพาน  หรือความดับทุกข์ นั้น  เป็นความต้องการโดยธรรมชาติของมนุษย์  ใครบ้างไม่ต้องการดับทุกข์  เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น  คนเราก็ทุรนทุรายใคร่ดับ  ถ้าดำเนินการให้ถูกวิธี  ก็ดับได้  ถ้าดำเนินการผิดวิธีก็ดับไม่ได้  หรือถ้าดับได้ก็เป็นอย่างเทียม  การดับทุกข์ได้ครั้งหนึ่งเราเรียกกันเป็นโวหารว่า  “ความสุข”  ซึ่งมีทั้งอย่างแท้และอย่างเทียม  ความสุขที่เจือด้วยทุกข์จัดเป็นสุขเทียม  เช่น  สุขจากการสนองความอยากได้  หรือสุขที่ได้จากกามคุณ



ความสุขแท้จริงหรือสุขที่ไม่เจือทุกข์นั้น  ท่านมีคำเรียกว่า  นิรามิสสุข  เช่น สุขจากการบำเพ็ญคุณงามความดีต่างๆ เป็นสุขที่ละเอียดประณีตกว่า  ยั่งยืนกว่ามีคุณค่าสูงกว่า
นิโรธหรือนิพพานควรจะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตคนทุกคน  เพราะถ้าปราศจากจุดมุ่งหมายนี้เสียแล้ว  มนุษย์จะว้าเหว่เคว้งคว้าง  หาทิศทางแห่งชีวิตที่ดำเนินไปสู่ความร่มเย็นไม่ได้



****    ความมีอยู่จริงและเป็นไปได้แห่งนิพพาน    ****

บางท่านอาจมีความเห็นว่า  นิพพานเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง  และเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะหมดกิเลสบรรลุสภาวะที่ทางศาสนาเรียกว่า  นิพพาน  ผู้ที่ข้องใจเรื่องนี้เป็นเพราะเขาไม่เคยฝึกจิตเลย  มีชีวิตอยู่ด้วยการตามใจตัวเองแต่ประการเดียว  ถ้าเขาต้องการยับยั้งตนบ้างก็เพราะในเวลานั้นหรือในเรื่องนั้นเขาไม่อาจตามใจตัวเองเพราะมีอุปสรรคอย่างอื่นขวางอยู่  เขาต้องอดทนด้วยความกระวนกระวายใจ  แต่พอโอกาสเปิดหรือมีช่องทางที่จะตามใจตัวเองได้  เขาก็ตามใจตัวเองอยู่ร่ำไป  เขาไม่รู้จักสำรวมตน  ไม่รู้จักยับยั้งตนหรือความต้องการของตน  จิตของเขาคลุกอยู่กับกิเลสจนเกรอะกรังมืดมิด  ไม่อาจเห็นแสงสว่างแห่งจิตได้  เปรียบเหมือนกระจกใสที่โคลนจับจนหนา  บุคคลไม่อาจเห็นความใสของกระจก  และเมื่อไม่เห็นความใสของกระจก  ก็ไม่อาจเห็นภาพของตน  ที่อาศัยกระจกนั้นสะท้อนออกมาได้  คือกระจกนั้นหมดคุณภาพในการสะท้อนภาพ 



แต่เมื่อบุคคลขัดเอาโคลนออกหรือฝุ่นละอองซึ่งจับหนาออกมาแล้ว  ทำกระจกนั้นให้ใส  เขาย่อมมองเห็นความใสของกระจกและเงาของตนตามเป็นจริงที่กระจกนั้นสะท้อนภาพออกมา  ทำนองเดียวกัน  เมื่อจิตสะอาด  มีรัศมีตามสภาพของมัน (ประภัสสร)  ย่อมเห็นตามเป็นจริง  เมื่อโสโครกด้วยกิเลส  ย่อมมองไม่เห็นเลยหรือไม่เห็นตามเป็นจริง


ปกติภาพของจิตนั้นผ่องใส  แต่เศร้าหมองไปเพราะกิเลสที่จรมา  เมื่อสามารถกำจัดกิเลสได้จิตย่อมผ่องใสดังเดิม  เปรียบเหมือนน้ำ  ปกติภาพของน้ำคือใสสะอาดไม่มีสีไม่มีกลิ่น  แต่มีสีมีกลิ่นเพราะสารอย่างอื่นลงไปผสม  เมื่อสามารถกำจัดสารนั้นออกโดยวิธีกลั่นกรอง  หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง  น้ำนั้นย่อมบริสุทธิ์ดังเดิม  ดังที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่า  “น้ำกลั่น”  คือน้ำที่กลั่นแล้ว  กลายเป็นน้ำบริสุทธิ์

อนึ่ง  กิเลสที่อยู่ตื้น เช่น  วีติกกมกิเลส  กล่าวคือ ความชั่วทางกาย  วาจา  บุคคลอาจละมันได้ด้วยศีล  หรือการสำรวมอินทรีย์  ควบคุมกาย วาจาให้อยู่ในสุจริต  ดีงามอยู่เสมอ  เมื่อนานเข้าย่อมกลายเป็นความเคยชิน  สามารถให้เป็นไปได้โดยง่าย  ไม่ต้องฝืน  เข้าทำนองการอบรมบ่มนิสัยจนอิ่มตัว  หรืออยู่ตัวแล้ว  ย่อมเป็นได้เองไม่ต้องบังคับ 



ส่วนกิเลสที่อยู่ละดับกลางที่เรียกว่า  ปริยุฏฐานกิเลส  ห่อหุ้มจิตอยู่ชั้นนอก  เช่น  นิวรณ์ ๕  มีกามฉันทะ  ความพอใจในกาม เมื่อได้ประสบอารมณ์อันน่าพอใจ  เป็นต้น  บุคคลย่อมกำจัดเสียได้ด้วยกำลังสมาธิ  เป็นการข่มไว้ชั่วคราวเหมือนกินยาคุมโรคไว้ไม่ให้ลุกลาม  และให้มีกำลังอ่อนลงเพื่อสะดวกแก่การกำจัดในขั้นสุดท้าย



กิเลสที่อยู่ลึกลงไป  เรียกว่า  อนุสัย  ห่อหุ้มจิตอยู่ชั้นใน เช่น  กามราคะ  ภวราคะ (ความพอใจในภพ)  เป็นต้น  บุคคลสามารถกำจัดเสียได้ด้วยปัญญา  ความรู้แจ้งในเรื่องชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิปัสสนาปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง  เป็นศัตราอันคมกล้าสำหรับฟาดฟันกิเลสให้ขาดสะบั้นลง



เปรียบกิเลสเหมือนสัตว์ร้ายเป็นต้นว่า  งู  การควบคุมกาย วาจา  ให้เรียบร้อยปราศจากโทษ  เหมือนการขังงูไว้ในเขตจำกัดไม่ให้เลื้อยไปไหนตามใจชอบ  สมาธิ คือการทำจิตให้สงบเหมือนการเอาไม่หนีบคองูไว้ให้อยู่กับที่  และให้เพลากำลังลง (สมาธิเหมือนไม้หนีบ)  ปัญญาเหมือนศัตราอันคมฟาดฟันคองูให้ขาดสะบั้นแยกหัวกับตัวออกจากกัน  ไม่มีพิษอีกต่อไป
 
การละกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยการอบรมกาย วาจา ใจ เมื่อการละกิเลสเป็นสิ่งเป็นไปได้  นิพพานก็เป็นสิ่งเป็นไปได้  เพราะนิพพานก็คือการละกิเลสมีตัณหา เป็นต้น  สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า  ตณฺหาย  วิปฺปหาเนน  นิพฺพานํ  อิติ  วุจฺจติ  “เพราะละตัณหาได้  เราเรียกว่า นิพพาน”


พระสารีบุตรได้ตอบปริพาชกผู้หนึ่ง  ชื่อชัมพุขาทกะว่า  “ความสิ้นราคะ  โทสะ  และโมหะ  อันนี้แลเรียกว่านิพพาน”

นอกจากนี้  ความดับภพก็เรียกว่านิพพานเหมือนกัน  สมดังที่พระสารีบุตรกล่าวกับพระอานนท์ว่า  “ภวนิโรโธ  นิพฺพานํ  การดับภพเสียได้ชื่อว่านิพพาน”  (อังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ หน้า ๑๑)

รวมความว่า  พระนิพพานหรือทุกขนิโรธนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง  เป็นไปได้จริงและมีเป็นขั้นๆ ละเอียดประณีตขึ้นไปโดยลำดับ
 


****    สภาพแห่งนิพพาน    ****

สภาพแห่งนิพพานเป็นอย่างไร  ยากที่จะอธิบายได้  แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็อธิบายในเชิงปฏิเสธว่า  อันนั้นก็ไม่ใช่  อันนี้ก็ไม่ใช่  แต่นิพพานมีอยู่แน่ๆ ดังเช่นพระพุทธดำรัสที่ปรากฏในขุททกนิกาย  อุทาน  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕  หน้า ๒๐๖  ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย  อายตนะนั้น(คือนิพพานนั้น) ไม่ใช่ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม  ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ,  ไม่ใช่วิญญานัญจายตนะ,  ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ,  ไม่ใช่โลกนี้  ไม่ใช่โลกอื่น,  ไม่ใช่ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์  ไม่ใช่การมา  การไป  ไม่ใช่การดำรงอยู่,  การจุติ  และอุบัติ  อายตนะนั้นหาที่ตั้งมิได้,  ไม่เป็นไป  ไม่มีอารมณ์  แต่อายตนะนั้นมีอยู่  นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์”


 แปลความว่า  พระพุทธองค์ท่านไม่มีภาษาจะเรียกนิพพานเหมือนกัน  แต่ทรงยืนยันว่ามีอยู่แน่ๆ จะเปรียบด้วยอะไรก็ไม่เหมือน  ไม่มีคำเรียกในโลกียวิสัย  โดยอาจเปรียบให้ฟังว่า  เปรียบเหมือนชายผู้หนึ่งเกิดในชนบท  เจริญเติบโตในชนบท  แต่ต่อมาเขาได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพ ฯ  และได้เข้าชมโบสถ์พระแก้ว  ได้นมัสการพระแก้วมรกต  เขาได้เห็นด้วยตนเอง  สัมผัสสถานที่นั้นด้วยตนเอง  ต่อมาเขากลับไปชนบทได้เล่าให้หมู่ญาติฟังว่าที่กรุงเทพฯ  มีสถานที่แห่งหนึ่งเขาเรียกว่า โบสถ์พระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  สวยงามมากงามเหลือเกิน  พวกญาติสนใจชวนกันซักถามขอให้เขาเล่าให้ฟัง  อุปมาให้ฟังก็ได้ว่าโบสถ์พระแก้วนั้นเป็นอย่างไร  เหมือนอะไรในหมู่บ้านนี้  ตำบลนี้  หรือในเมืองนี้เท่าที่เขาพอจะมองเห็นได้  บุรุษผู้นั้นมองไม่เห็นสิ่งใดเหมือน  จึงปฏิเสธเรื่อยไปว่า  อย่างนั้นก็ไม่ใช่อย่างนี้ก็ไม่ใช่  ไม่มีอะไรเหมือน  ไม่เหมือนอะไร  แต่โบสถ์พระแก้วมีอยู่จริง  มีอยู่แน่ๆ เขาได้เห็นมาแล้วด้วยตนเอง


อีกอุปมาหนึ่ง  เปรียบเหมือนสัตว์น้ำ เช่นปลาผู้เกิดในน้ำ  เจริญเติบโตในน้ำ  ไม่เคยเห็นบกไม่เคยขึ้นบก  ต่อมามีเต่าตัวหนึ่งซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก เที่ยวไปบนบก  ไปเห็นช้างซึ่งมีรูปร่างใหญ่โตเหลือเกิน  จึงนำเรื่องนี้ไปเล่าให้หมู่ปลาฟัง  ฝูงปลาขอให้เทียบให้ดูว่าใหญ่อย่างไร  เหมือนอะไรที่พวกมันเคยเห็น  และพอจะนึกรู้ได้  เต่าก็ตอบปฏิเสธเรื่อยไปว่าไม่เหมือนอย่างนั้นไม่เหมือนอย่างนี้  แต่ช้างมีอยู่แน่ๆ เพราะได้เห็นกับตามาแล้ว
พระนิพพานก็เป็นทำนองนั้น  คือไม่เหมือนอะไร  และไม่มีอะไรเหมือน




คุณภาพแห่งนิพพาน


คุณภาพหรือคุณสมบัติแห่งนิพพาน  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มากอย่าง  ขอยกมากล่าวเพียง  ๒  ประการ  คือ

๑. พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง  เพราะไม่ถูกกิเลส  มีราคะ  โทสะ  และโมหะ  เป็นต้นเบียดเบียน  ปุถุชนเดือดร้อนอยู่เพราะ ความอยากอันใด  ความยึดมั่นอันใด  ความอยากและความยึดมั่นอันนั้นไม่มีในนิพพาน  เพราะฉะนั้นนิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง


๒. พระนิพพานสงบอย่างยิ่ง  ประณีตอย่างยิ่ง  เป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง  เป็นที่สละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง  เป็นที่สิ้นตัณหา  เป็นที่คลายกิเลส  เป็นที่ดับแห่งกิเลสทั้งปวง


ข้อมูลจากนายวศิน  อินทสระ
*************************************************************



ทฤษฎีว่าด้วยนิพพาน

ผู้ที่ฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานจนมรรคญาณปรากฏขึ้น บรรลุพระโสดาบัน  พระสกทาคามีพระอนาคามีแล้วเท่านั้น   จึงจะมีปัญญาเข้าใจนิพพานได้อย่างถูกต้อง  และพระอรหันต์เท่านั้นที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะแห่งนิพพาน  และสัมผัสนิพพานได้อย่างแท้จริง   สำหรับปุถุชนทั่วไปย่อมไม่มีใครที่จักสามารถเข้าใจซาบซึ้ง  และรู้รสชาติแห่งนิพพานได้อย่างแน่นอน  จริงอยู่มีผู้พยายามอธิบายถึงลักษณะของนิพพานว่า  มีลักษณะเป็นอย่างนั้น  อย่างนี้ ก็ว่ากันไปตามสติปัญญาและจินตนาการ  คาดคะเนเอาตามความนึกคิดของตน

นิพพานนั้น  แบ่งออกได้เป็น  ๒  ประเภท คือ นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่
(สอุปาทิเสสนิพพาน)  อย่างหนึ่งกับนิพพานของพระอรหันต์ที่ดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้ว   (อนุปาทิเสสนิพพาน)  อีกอย่างหนึ่ง

นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า  พระอรหันต์ทั้งหลาย  กิเลสสังโยชน์ของท่านดับหมดแล้วแต่ร่างกายและจิตของท่านยังมีอยู่  เรียกว่า   ยังมีขันธ์  ๕  เหลืออยู่ คือ มีรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ   แต่มีความบริสุทธิ์ยิ่งกว่าคนธรรมดาสามัญ  จิตที่เป็นอกุศลไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย  ร่างกายยังมีความต้องการอาหาร  พักผ่อนหลับนอนมีการเจ็บป่วยอยู่  แต่จิตใจของท่านเป็นอุเบกขา  บริโภคอาหารด้วยความต้องการของร่างกาย  มิใช่ความอยากที่เจือปนไปด้วยกิเลส  ตัณหา 

เมื่อร่างกายเจ็บป่วย ก็มีทุกขเวทนาทางกายเท่านั้น  ทุกขเวทนาทางจิตแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มี  จิตของพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเป็นแต่เพียงอาศัยกายเท่านั้น  เหมือนนกอาศัยรัง  ไม่ถือว่ารังเป็นตัวตนของนก  จิตจึงมีแต่ความผ่องแผ้วอยู่เป็นนิจ   เป็นชีวิตที่เกษมสันต์บริสุทธิ์  นอกจากนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเข้าสู่อรหัตตผลสมาบัติ  น้อมเอานิพพานเป็นอารมณ์ได้ตามปรารถนาระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่

นิพพานของพระอรหันต์ที่ดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้วนั้น  เป็นกรณีที่พระอรหันต์ดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้ว  จึงปราศจากร่างกายและจิต  ที่เรียกว่า   ปราศจากขันธ์   ๕  คือ รูป  เวทนา   สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ซึ่งดับสนิทไม่มีเหลือแล้ว   จึงแตกต่างจากนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่

ตามปกติ ผู้ที่มิใช่พระอรหันต์เมื่อถึงแก่ความตายแล้วจิตยังไม่ดับสนิท  ต้องไปเกิดในภพภูมิต่าง ๆ อีก  ตามอำนาจแห่งผลกรรม  ตามอำนาจแห่งกรรมอารมณ์  กรรมนิมิตอารมณ์คตินิมิตอารมณ์  หรือตามสภาวะพลังจิตของตน  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  พระอรหันต์เท่านั้น  เมื่อดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้ว  จิตหรือขันธ์  ๕ จึงจะดับสนิท  ไม่ต้องไปเกิดตามอำนาจแห่งผลกรรมอีก  เป็นการดับสนิทที่แท้จริงตลอดกาลนิรันดร

ปัญหามีว่า  แล้วนิพพานนั้นคืออะไร ?  นิพพานนั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง  ที่จิตของพระอริยะหรือพระอรหันต์เท่านั้นที่จะสัมผัสได้ จิตของปุถุชนไม่อาจสัมผัสได้เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เยือกเย็น  ความทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายดับสนิท เป็นความสุขอันยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง  จึงไม่มีลักษณะเกิดขึ้น  ตั้งอยู่   แล้วดับไปเหมือนสิ่งต่าง ๆ มีลักษณะคงที่และนิรันดร  แต่มิใช่บ้านเมือง  โลก  ภพภูมิต่าง ๆ 

นิพพานไม่ใช่จิต แต่จิตของพระอริยะหรือพระอรหันต์สัมผัสได้  นิพพานไม่ใช่สิ่งประกอบเข้ากับจิต  ที่เรียกว่า  เจตสิก

เพราะสิ่งที่ประกอบเข้ากับจิตทั้งหลาย  เช่นปีติ  สุข  อุเบกขา เป็นต้น  เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แล้วก็ดับไปได้ไม่คงที่  ไม่เป็นที่นิรันดร

นิพพานนั้นเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ใกล้ตัวเรา ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น  จึงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย  มีลักษณะคงที่  และนิรันดร จิตที่สัมผัสนิพพานได้จะเป็นจิตที่เยือกเย็น  ความทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายดับสนิท  เป็นความสุขอันยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง  แต่จิตที่จะสัมผัสนิพพานได้นั้น   จะต้องเป็นจิตที่ฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน  จนมรรคญาณปรากฏ  กิเลสและสังโยชน์ทั้งหลายดับสนิทหมดแล้ว   ความจริงจิตที่ดับกิเลสและสังโยชน์ได้สนิทแล้ว   ก็เป็นจิตที่เยือกเย็นความทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายดับสนิท   และเป็นความสุขอัดยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงอยู่ในตัวเองแล้ว  สภาวะที่จิตสัมผัสอยู่ดังกล่าวนั้นเอง  เรียกว่า “นิพพาน”

จิตที่มีกิเลสและสังโยชน์ย่อมจะมีความทุกข์  ความเร่าร้อน  ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยตัณหา  อุปาทานเป็นจิตที่ไม่อาจสัมผัสความเยือกเย็น  และความสุขอันยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง  และนิรันดร  อย่างพระนิพพานได้

จิตที่ได้รับการฝึกอบรมสมาธิหรือสมถกรรมฐาน  จะเป็นจิตที่เริ่มบริสุทธิ์ผุดผ่องมากขึ้น  จิตจะเริ่มรู้รสของปราโมทย์ปีติ  ความสงบระงับ  (ปัสสัทธิ)  สุข  ที่ปราศจากอามิส  อุเบกขา  ความว่าง  (อากาสานัญจายตนะ)  เป็นต้น  อันเกิดจากอำนาจของสมาธิ  หรือสมถกรรมฐาน  แต่ธรรมชาติดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีปัจจัยปรุงแต่ง  จึงเป็นสภาวะชั่วคราว  ไม่คงทนถาวร  เกิดขึ้นตั้งอยู่  แล้วก็ดับไป  เมื่อออกจากฌานสมาบัติ  จิตเสื่อม  สภาวะดังกล่าวก็หายไปจากจิตได้  สภาวะจิตดังกล่าวจึงไม่อาจสัมผัสนิพพาน  ซึ่งมีลักษณะคงทนถาวร  และไม่มีปัจจัยปรุงแต่งได้จึงต้องฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ให้จิตเกิดปัญญาญาณเพิ่มมากขึ้น   จนมรรคญาณปรากฏ  บรรลุพระโสดาบัน  พระสกทาคามี พระอนาคามี  และพระอรหันต์  ในที่สุด 

ในขณะที่  มรรคญาณและผลญาณปรากฏขึ้นนั้นเอง  จิตได้สัมผัสกับนิพพานซึ่งเป็นธรรมชาติที่เยือกเย็นความทุกข์และความเร่าร้อนทั้งหลายดับสนิทและเป็นความสุขอันยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง   และหลังจากนั้นก็จะสามารถสัมผัสกับนิพพานได้ตามปรารถนา  โดยการกำหนดจิตเข้าสู่ผลญาณสมาบัติ

ความจริงเรื่องนิพพาน  แม้นิพพานในปัจจุบัน(สอุปาทิเสสนิพพาน)  ก็เป็นการยากที่ปุถุชนจะเข้าใจได้  เพราะเป็นสิ่งที่ลุ่มลึก  ยากที่จะเห็น  ยากที่จะรู้  ไม่ใช่สิ่งที่จะหยั่งถึงได้ด้วยการคาดคะเน  นึกคิด  จินตนาการเอาตามความเข้าใจของตนเองได้เลย



ผมขอแสดงไว้เท่านี้ก่อน ความจริงฉบับเต็มมีเป็นร้อยหน้า
ที่มา  http://gotokhow.org

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ธุลีธวัช (chai173)

  • ปัญญา นัตถิ อฌายโต “ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ”
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +35/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 2905
  • Respect: +2
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: นิพพาน คืออะไรครับ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มกราคม 11, 2010, 06:25:11 pm »
0



      นิพพาน คือ สภาวะไร้ซึ่งสิ่งเสียดแทงใดใด กล่าวคือ สภาวะไม่ปรุงแต่งไม่มีสังขารว่า สิ่งนี้เป็นเรา(ปรารถนา

ให้เป็น) สิ่งนี้คือเรา (ปรารถนาจะเป็น) สิ่งนี้ของเรา (ปรารถนาได้มา) ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นสังขาร คือการปรุงแต่ง

ต่อยอดต่อกรรมต่อภพต่อชาติเวียนวนเกิดดับ (ปรุงแต่งด้วยจิต) ที่สุดก่อรูปก่อนามธาตุขันธ์กายเนื้อกายหนังเอ็น

กระดูก รู้ร้อนรู้หนาว จำได้หมายรู้ พอใจไม่พอใจ รับรู้อารมณ์ด้วยใจ ต่างๆเหล่านี้เป็นเขาเป็นเรา เวียนว่ายใน

สังสารวัฏฏ์ไม่สิ้นไม่สุด การสิ้นทุกข์ไม่ปรุงแต่งก่อภพก่อชาติได้นั้นมีหนทางเดียวคือ การภาวนาเท่านั้นให้จิตตั้ง

มั่นเข้มแข็งเป็นอารมณ์เดียวเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียวแล้วปัญญาเกิดได้เองเมื่อปัญญาเกิดย่อมปล่อยวางได้

ไม่ยึดหน่วงหวงแหนของเราของเขาจิตกอร์ปด้วยกุศลมีพระไตรรัตนะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวสภาวะแห่งจิตย่อมเลื่อนขั้น

ไปตามลำดับแห่งคุณธรรม(ความเป็นพระอริยะเจ้า) ที่สุดพระนิพพานเป็นที่ไป..........ดังนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 21, 2010, 07:52:52 pm โดย THAWATCHAI173 »
บันทึกการเข้า
ศรัทธา, ศีล, พาหุสัจจะ, วิริยารัมภะ, ปัญญา

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: นิพพาน คืออะไรครับ
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: ตุลาคม 21, 2010, 01:38:51 am »
0
 :25:
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: นิพพาน คืออะไรครับ
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: ตุลาคม 21, 2010, 01:39:28 am »
0
 :25:
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม