๓. ละกิเลสด้วยการอบรมจิตในขั้นสมถะเชื่อมต่อไปวิปัสสนา ๑
(อุบายดึงสมถะยกจิตขึ้นพิจารณาสงเคราะห์ลงสู่ทางวิปัสสนา)
- ในการเจริญปฏิบัติของระดับนี้ต้องอาศัยสมาธิให้มีจิตตั้งมั่นพอสมควรที่เอื้อต่อสติให้เห็นตามจริง บุคคลทั่วไปก็เจริญได้
- แม้ผู้ไม่เจริญในสมาธิแต่มีความระลึกรู้ตามก็พอที่จะพิจารณาได้ แต่จะไม่สามารถเห็นตามจริงได้อย่างผู้ที่มีจิตตั้งมั่นควรแก่งาน
- ผู้ไม่เจริญในสมาธิ เมื่อมีจิตตั้งมั่นพอให้เห็นตามจริงบ้างคือ เห็นความเกิดขึ้นเป็นไป แต่ไม่สามารถรู้ลำดับอนุโลม ปฏิโลมได้ ไม่สามารถเห็นความแปรปรวนปรุงแต่ง เหตุที่ผันให้เกิดดับได้ แต่ต้องอาศัยการทบทวนไปมาด้วยสมมติฐานเป็นอันมากและยังไม่สามารถจะเพ่งเล็งจะเป็นจริงตามนั้นได้เลย ต้องอาศัยให้พบเจอบ่อยๆทบทวนบ่อยๆจึงจะเห็นได้ ด้วยประการดังนี้
๓.๑ อุบายดึงสมถะยกจิตขึ้นพิจารณาสงเคราะห์ลงสู่ทางวิปัสสนา
๓.๑.๑ พุทธานุสสติ
ให้สงเคราะห์ลงพิจารณาให้เห็นตามจริงดังนี้ว่า
ก. พระพุทธเจ้านั้น ทรงตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง ทรงเป็นผู้ไกลจากกิเลส พระตถาคตทรงได้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ให้เรารู้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีตัวตนอันที่เราจะไปบังคับจับต้องให้มันเป็นไปดั่งใจได้ ไม่มีสิ่งใดคงอยู่นาน เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ด้วยประกรฉะนี้จึงขี้นชื่อว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นปารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรามันเป็นทุกข์
(ให้น้อมจิตกำหนดนิมิตรำลึกถึงว่า "พระพุทธเจ้านั่งตรัสเทศนาจำแนกธรรมสั่งสอนให้เรารู้ใน สัจธรรม แห่งไตรลักษณ์")
ข. พระตถาคตทรงได้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ให้เรารู้เห็นว่า
- แม้รูปขันธ์อันมีอาการทั้ง 32 เหล่านี้ก็ดี - เวทนาขันธ์ความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ เฉยๆเหล่านี้ก็ดี - สัญญาขันธ์ความจดจำสำคัญมั่นหมายใจของใจเหล่านี้ก็ดี - สังขารขันธ์ความปรุงแต่งประกอบจิตเหล่านี้ก็ดี - วิญญาณขันธ์ความรู้อารมณ์เหล่านี้ก็ดี - เป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามกาลและสภาวะปรุงแต่งภายนอกและภายใจ ขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นจึงเป็นทุกข์
(ให้น้อมจิตกำหนดนิมิตรำลึกถึงว่า "พระพุทธเจ้านั่งตรัสเทศนาจำแนกธรรมสั่งสอนให้เรารู้ใน สัจธรรม เพื่อคลายอุปาทานใน ขันธ์๕ ")
ค. พระตถาคตทรงได้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ให้เรารู้เห็นว่า ด้วยเพราะไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งหลายเหล่านี้ มีเกิดดับ สิ่งนี้มีในเราบ้างมีในเขาบ้าง จึงมีไว้เพียงสักแต่ระลึกรู้ ไม่ได้มีไว้เสพย์ด้วยประการทั้งปวงดังนี้
- เมื่อกายจะเกิดขึ้น แปรปรวน เสื่อมสูญ และ ดับไป ก็มีไว้สักแต่เพียงรู้ในสภาพ รู้ในสภาวะความเป็นไปของมันเท่านั้น สิ่งนี้มีในเราบ้างมีในเขาบ้าง ไม่ได้มีไว้ให้เข้าไปเสพย์ให้ยึดมั่นถือมั่น สักแต่รู้ว่ามันเกิดขึ้น สักแต่รู้ว่ามันแปรเปลี่ยน สักแต่รู้ว่ามันดับไป
- เมื่อความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความว่างเฉยๆก็ดี มันจะเกิดขึ้นก็สักแต่รู้ว่ามันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ก็สักแต่รู้ว่ามันตั้งอยู่ มันดับไปก็สักแต่รู้ว่ามันกดับไป สิ่งนี้มีในเราบ้างมีในเขาบ้าง สักแต่มีไว้ระลึกรู้เท่านั้นไม่ได้มีไว้เสพย์
- เมื่อโลภะ(กาม ราคะ) โทสะ โมหะ มันจะเกิดขึ้นก็สักแต่รู้ว่ามันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ก็สักแต่รู้ว่ามันตั้งอยู่ มันดับไปก็สักแต่รู้ว่ามันดับไป สิ่งนี้มีในเราบ้างมีในเขาบ้าง สักแต่มีไว้ระลึกรู้เท่านั้นไม่ได้มีไว้เสพย์
- เมื่อกิเลสนิวรณ์เกิดดับ-ก็รู้ หรือ ขันธ์๕เกิดดับ-ก็รู้ หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมมารมณ์เกิดดับ-ก็รู้ สิ่งนี้มีในเราบ้างมีในเขาบ้าง พิจารณาสงเคราะห์ลงให้เห็นตามจริง รู้เห็นในอริยะสัจ๔
(ให้น้อมจิตกำหนดนิมิตรำลึกถึงว่า "พระพุทธเจ้านั่งตรัสเทศนาจำแนกธรรมสั่งสอนให้เรารู้ใน สัจธรรม เพื่อคลายอุปาทานในธรรมทั้งปวง ")
ง. เมื่อรำลึกถึงว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงธรรมเทศนาแก่เราผู้ไหว้อยู่ให้ได้ประพฤติตามในข้อ ก-ค นี้แล้ว ก็ให้เราพึงเจริญระลึกเพื่อยกจิตเข้าสู่วิปัสนาคือ สักแต่รู้ว่ามันเกิดขึ้น ปรุงแต่งสืบต่อตั้งอยู่ แปรปรวนให้เสื่อม และ ดับไป ไม่เข้าไปร่วมเสพย์ เป็นการ การอบรมจิตดังนี้
๑. ให้พึงเจริญน้อมจิตเข้าไปหวนรำลึกถึงกำหนดเอานิมิตรูปพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะพระพุทธรูปที่เราเคารพศรัทธา ภาพวาด ภาพถ่ายใดๆก็ตามที่เราดูแล้วสงบกายใจ จากนั้นก็น้อมเอารูปนิมิตของพระพุทธเจ้านั้นมาพิจารณาลงในธรรมอันเรียกว่า ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ โดยพิจารณาให้เห็นว่า พระพุทธเจ้านั้นได้รับความสุขอันเป็นนิรันดร์ ได้รับอมตะธรรมอันเป็นบรมสุข ดับไปแล้วซึ่ง กิเลส ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติทั้งหลายทั้งปวง ด้วยมีความสำรวมกาย-วาจา-ใจ พึงเสพย์ในกุศลธรรมอันควรเสพย์ มีปฏิปทาอันงดงามเรียบร้อย มีศีลบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้จึงปราศจากความร้อนรุ่มกายใจ (ดั่งนิมิตที่เรากำหนดขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าทรงสงบร่มเย็นเป็นสุขมีกิริยาท่าทางอันงดงามสำรวมกายใจมีพระเมตตาและพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพกว้างไปไม่มีประมาณอยู่ด้วยความสงบแจ่มใส เบิกบานด้วยธรรม)
- เราสาวกผู้กราบไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าก็จักประพฤติตามพระตถาคตนั้น(ถือเอาคุณแห่งปฏิปทาการเจริญปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสรู้เป็นแบบอย่าง)
๒. พึงพิจารณาภาพพระพุทธเจ้าในนิมิตที่กำหนดขึ้นมานั้นว่า พระตถาคตมีความนิ่งเฉย วางเฉย มีความวางใจไว้กลางๆ ไม่หยิบจับเอาสิ่งใดมาเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ของจิต ไม่ว่าจะความสุข ความทุกข์ โลภะ(กาม ราคะ) โทสะ โมหะ จะเกิดขึ้นก็สักแต่รู้ว่าเกิดขึ้น ความสุข ความทุกข์ โลภะ(กาม ราคะ) โทสะ โมหะ จะดับไปก็สักแต่รู้ว่าดับไป ไม่เข้าไปร่วมเสพย์ เพราะมีมีไว้สักแต่ระลึกรู้เท่านั้นไม่ได้มีไว้เสพย์ พระองค์จึงทรงความสุขสงบร่มเย็นกายใจมีความวางเฉยไม่ติดข้องใจใส่ใจในสิ่งไรๆเหล่านี้อยู่ได้ด้วยความไม่ร้อนรุ่มเร่าร้อนกายใจ
- เราสาวกผู้กราบไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าก็จักประพฤติตามพระตถาคตนั้น(ถือเอาคุณแห่งปฏิปทาการเจริญอบรมจิตของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสรู้เป็นแบบอย่าง)
๓. พึงพิจารณาดูภาพนิมิตนั้นว่าพระพุทธเจ้ามีความสงบอันขจัดทิ้งซึ่งอุปาทานทั้งปวงดังนี้แล้ว ด้วยทรงเห็นว่า ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นแล้วสิ่งใดจะเกิดขึ้นหรือสิ่งใดจะดับไป กายนี้จะแตกสูญไป หรือ ใจนี้จะร้อนรุ่มเร่าร้อนยังไง พระองค์ก็ไม่ทรงเข้าไปยึดไว้ถือไว้ด้วยเห็นว่ามันมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็มีเสื่อมไปเป็นธรรมดา และมีความดับสูญสลายไปเป็นธรรมดา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นแม้สิ่งใดจะเกิดขึ้นหรือสิ่งใดจะสูญดับสลายไปก็มิอาจทำให้พระพุทธเจ้านั้นทรงหวั่นไหวได้ ยังคงแต่ความสงบร่มเย็นเป็นสุขอยู่ไม่เสื่อมไปด้วยความไม่เข้าไปยึดอุปาทานเราสาวกผู้กราบไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าก็จักประพฤติตาม
- เราสาวกผู้กราบไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าก็จักประพฤติตามพระตถาคตนั้น(ถือเอาคุณแห่งวิปัสนาญาณของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสรู้มาเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกพิจารณา)
๔. น้อมพิจารณาเข้ามาสู่ตนว่าแม้แต่นิมิตที่เรากำหนดขึ้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าอยู่นี้ก็ไม่คงอยู่นานก็เสื่อมไปแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา ฌาณมีเกิดขึ้นก็เสื่อมได้เพราะสักแต่เป็นเพียงจิตสังขารเท่านั้น ความสุขพอมันเกิดขึ้นเดี๋ยวมันก็ดับไป ความทุกข์พอมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป แล้วเราจะเข้าไปยึดเอาสิ่งใดกับความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเหล่านี้อย่างไรได้เล่า พอไม่เป็นไปดั่งใจปารถนาพอใจยินดี พรัดพรากดับสูญไปก็เป็นทุกข์อีก ดังนั้นแล้วเราผู้เป็นสาวกผู้กราบไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้า พึงปฏิบัติตามพระตถาคตดังนี้ คือ มีศีลสังวร สำรวมกาย วาจา ใจ ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นร่วมเสพย์กับ กาย เวทนา จิต ธรรมเหล่านี้ สักแต่เพียงระลึกรู้เท่านั้นดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ธรรมทั้งปวงไม่มีตัวตนอันที่เราจะไปบังคับมันให้เป็นดั่งใจปารถนาได้ ไม่คงอยู่นาน มีความสูญสลายไปเป็นธรรมดาไม่อาจจะยื้อมันไว้ได้ เพราะมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สักที่มีไว้ระลึกรู้ดำรงอยู่ชั่วคราว แม้กายและใจอันเราอาศัยอยู่นี้ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
- เราสาวกผู้กราบไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าก็จักประพฤติตามพระตถาคตนั้น(ถือเอาคุณแห่งวิปัสนาญาณของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสรู้น้อมเข้ามาสู่พิจารณาในตน)
(เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ให้พึงน้อมระลึกถึงข้อ ก-ง ดังนี้ จึงชื่อว่าระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยคุณแห่งการตรัสรู้(เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) คุณแห่งความเป็นครูผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเพราะพระพุทธเจ้า และ ได้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายดังนี้
จ. แล้วพึงตั้งรำลึกเอาเฉพาะนิมิตที่กำหนดเป็นรูปพระพุทธเจ้านั้นไปเรื่อยๆ พึงบริกรรมพุทโธ ไปทุกลมหายใจเข้าออก ให้เพ่งดูนิมิตไปเรื่อยๆ บริกรรมพุทโธทุกลมหายใจเข้าออกนั้นไปเรื่อยๆ ตามดูนิมิตกับพุทโธไปไม่ลดละ เพื่อยกจิตขึ้นวิปัสนาญาณให้เห็นตามจริงดังนี้
๑. พึงระลึกเอานิมิตที่เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อทรงพระชนน์อยู่เป็นที่ตั้งแห่งสติ กำหนดเห็นเมื่อประสูติ เจริญวัยเติบโต เจ็บป่วย แก่ชรา ปรินิพพานร่างกายสูญสลาย เหลือแต่พระธาตุ ไม่มีรูปร่างอาการทั้ง 32 ใดหลงเหลืออยู่ นี่แม้พระพุทธเจ้าก็ยังมี ขันธ์๕ อันไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีตัวตน ไม่อาจจะล่วงพ้นสิ่งนี้ไปได้ แล้วปุถุชนอย่างเราจะเหลืออะไรให้ยึดมั่นถือมั่นได้บ้างเล่า ขันธ์๕ นี้ของเรา คือ กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราก็ต้องเสื่อมและดับสลายไปเช่นกัน แล้วจะไปปารถนาเอาสิ่งไรๆจากสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนให้มันเป็นทุกข์เปล่าๆ ไม่ว่าเราหรือใครๆก็ตามก็ยึดมั่นในขันธ์๕ ไม่ได้ เหมือนจุดสุดท้ายแห่งขันธ์๕ ของพระพุทธเจ้าที่ไม่คงอยู่นั้น ดังนั้นเราก็สักแต่เพียงใช้ ขันธ์๕ นี้ไว้ระลึกรู้ ใช้ดำเนินตามร้อยพระพุทธเจ้า เพื่อให้เห็นตามจิรงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน เพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพานตามพระพุทธเจ้านั้น
- นี่เรียกว่าเห็นสัจธรรมไตรลักษณ์ในรูปขันธ์ที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความเกิดดับและสูญสลายไปในที่สุด ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นาน ในรูปขันธ์ของพระตถาคตอันเราระลึกถึงเป็นนิมิตแห่งพุทธานุสสติอยู่นี้ ความที่เห็นว่าไม่มีพระพุทธเจ้าในรูปขันธ์นั้นแล้ว เห็นถึงความไม่มีตัวตนใดๆ ไม่อาจจะบังคับชี้สั่งให้มันเป็นไปดั่งใจได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่ในสามโลกไม่มีใครอื่นยิ่งกว่ามี อภิญญา มีวิโมกธรรม มีปฏิสัมภิทาญาณ เป็นผู้รู้แจ้งโลกก็ยังไม่อาจไปบังคับชี้สั่งรูปขันธ์คือพระวรกายของพระตถาคตนั้นให้มันคงอยู่เที่ยงแท้แน่นอนได้ บังคับไม่ให้เจ็บป่วย ไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ดับสูญไปก็ไม่ได้ จากการเพ่งนิมิตพระพุทธเจ้าเป็นกสินในพุทธานุสสตินี้ทำให้เราได้เห็นในวิปัสนาญาณดังนี้ว่า เพราะธรรมชาติทั้งปวงล้วนแล้วแต่เกิดมา ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ ธรรมทั้งปวงไม่มีตัวตนอันที่เราจะไปบังคับชีสั่งให้มันเป็นไปดั่งใจได้ สิ่งไม่เที่ยงไม่มีตัวตนเหล่านี้เป็นทุกข์
๒. จากนั้นเราจะเห็นว่านิมิตรูปพระพุทธเจ้าที่เรากำหนดขึ้นมาเพ่งจดจ่อเทียบกสินนั้นจะ เกิด-ดับ สลับไปมา หรือ แปรเปลี่ยนไป หรือ ดับไป ของมันเอง
- นี่ทำให้เห็นว่า มโนสังขาร หรือ จิตสังขาร(สังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)ทางใจหรือจิตทั้งหลาย - สังขารทางใจ, จิตสังขาร, จิตตสังขาร, ความคิด, ความนึก, ความคิดนึกปรุงแต่ง, สิ่งปรุงแต่งต่างๆที่เกิดแก่ใจ เช่น อาการความรู้สึกโลภ โกรธ หลง หดหู่ ฯลฯ. เช่น สภาพที่ปรุงแต่งกระทำทางใจ ได้แก่ มโนสัญเจตนา คือ ความจงใจทางใจ) มันมีความแปรเปลี่ยนไป รวนเรแปรผัน เสื่อมโทรมแล้วดับไปของมันเอง ไม่คงอยู่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน นี่ทำให้เราเห็นความไม่เที่ยงของจิตและเจตสิก เมื่อพอมันเกิดแล้วดับไปแต่เราหมายเข้าไปปารถนากับจิตและเจตสิกให้มันคงอยู่ตามใจปารถนา แต่พอมันไม่เป็นไปตามที่ใจเราปารถนาได้เราก็เป็นทุกข์ สิ่งใดที่ไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์อย่างนี้ นี่ทำให้เราเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จากนิมิตที่เรากำหนดขึ้นมาเพ่งเป็นพุทธานุสสติอยู่นั้น
- ถึงแม้แต่กายและใจเราตรงต่อพระพุทธเจ้าไม่เคยเสื่อมคลาย แต่เราก็ยังไม่สามารถบังคับให้ มโนสังขาร หรือ จิตสังขาร(สังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)ทางใจหรือจิตทั้งหลาย - สังขารทางใจ, จิตสังขาร, จิตตสังขาร, ความคิด, ความนึก, ความคิดนึกปรุงแต่ง, สิ่งปรุงแต่งต่างๆที่เกิดแก่ใจ เช่น อาการความรู้สึกโลภ โกรธ หลง หดหู่ ฯลฯ. เช่น สภาพที่ปรุงแต่งกระทำทางใจ ได้แก่ มโนสัญเจตนา คือ ความจงใจทางใจ) ของเรานั้นไม่แปรเปลี่ยนไปจากนิมิตรูปพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ ขนาดเราตั้งใจกำหนดสร้างนิมิตรูปพระพุทธเจ้านั้นตั้งขึ้นมาเพ่งจดจ่ออยู่แท้ๆ แต่เราก็ยังไม่สามารถที่จะไปจับต้องบังคับชี้สั่งให้จิตสังขารหรือมโนสังขารนั้นมันเป็นไปดั่งใจเราต้องการได้ ไม่เห็นความเป็นตัวตนของเราในจิตสังขาร ทำให้เราเห็นว่าจิตและเจตสิกเหล่านี้เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เพราะถ้ามันมีตัวตนเราก็ต้องบังคับจับต้องชี้สั่งให้มันเป็นไปตามใจปารถนาได้ นี่ทำให้เราเห็นความไม่มีตัวตนจากนิมิตที่เรากำหนดขึ้นมาเพ่งเป็นพุทธานุสสติอยู่นั้น
๓. การกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจจะเปลี่ยนไปรู้อย่างอื่นบ้าง คำบริกรรมว่า พุทโธ หายไปบ้าง
- นี่ทำให้เห็นว่า เราไม่อาจจะไปบังคับให้จิตและเจตสิกมันซื่อตรงต่อเราให้มันรับรู้จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ จดจ่ออยู่ที่คำบริกรรมพุทโธตลอดไปไม่ได้เลย จิต เจตสิกมันมีความรวนเร แปรผัน แปรเปลี่ยนไป ดับไปของมันเอง(ไม่เที่ยง)เอาแน่เอานอนกับมันไม่ได้เชื่อถือไม่ได้ ยึดมั่นถือมั่นในมันไม่ได้เลย จิต เจตสิกเหล่านี้เราไม่อาจจะไปบังคับจับต้องชี้สั่งให้มันคงอยู่ที่ลมหายใจและคำบริกรรมพุทโธไม่เสื่อมคลายตามที่ใจเราปารถนาไม่ได้เลย มันเปลี่ยนแปรไปของมันเองทุกขณะ(ไม่มีตัวตน)
๔. พอถึงจุดๆหนึ่ง เมื่อลมหายใจเราแผ่วเบาเหมือนไม่หายใจ
- ให้วิเคราะห์ลงในธรรมดังนี้ว่า ไอ้เจ้ารูปขันธ์นี้ เดี๋ยวมันก็หายใจยาวบ้าง เดี๋ยวมันก็หายใจสั้นบ้าง เดี๋ยวมันก็หายใจแรง เดี๋ยวมันก็หายใจเบา เดี๋ยวมันก็เหมือนไม่หายใจ เอาแน่นอนกับมันไม่ได้ มันไม่คงสภาวะใดอยู่ได้นานเลยไม่มีความซื่อตรงเที่ยงแท้แน่นอนในตัวมันเลย(อนิจจัง) มันไม่มีตัวตนอันที่เราจะไปบังคับจับต้องชี้สั่งให้มันคงอยู่ในสภาวะใดๆตลอดไปตามใจเราปารถนาได้(อนัตตา) แม้แต่รูปขันธ์มันจำเป็นต้องใช้ลมหายใจเพื่อยังชีพอยู่ แต่ตอนนี้มันจะไม่หายใจซะแล้ว มันจะทิ้งลมหายใจไปซะแล้วทั่งๆที่ตัวมันอาจจะสูญสลายได้เมื่อทิ้งลมหายใจไป ขนาดรูปขันธ์ของเราเองแท้ๆเรายังบังคับมันไม่ให้ทิ้งลมหายใจไม่ได้เลย แล้วเราจะไปเอาอะไรกับรูปขันธ์ที่รวนเรแปรปรวน ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนอย่างนี้ มันทิ้งลมหายใจได้เราก็ทิ้งรูปขันธ์นี้ได้เช่นกัน เราจักไม่ใส่ใจต่อรูปขันธ์ที่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนเหล่านี้ไป ถวายเป็นพุทธบูชาแล้วขึ้นไปหาพระพุทธเจ้าเสียยังดีกว่า นี่ให้เห็นไตรลักษณ์ของรูปขันธ์ เพิกถอนความยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ไป อุปาทานในรูปขันก็จักดับไป
- พึงหวนระลึกทบทวนว่า ทั้งๆที่เราเป็นผู้กำหนดนิมิตขึ้นมาเอง กำหนดคำบริกรรมขึ้นมาขึ้นมาเอง กำหนดจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาเอง กำหนดสติรู้ตามลมหายใจขึ้นมาเอง กำหนดบริกรรมพุทโธขึ้นมาเองแท้ๆ แต่มันก็ยังดับไปของมันเอง แม้จะตั้งใจบังคับให้มันคงอยู่มันก็ยังดับไป ไม่ว่าจะกำหนดแบบนี้ไปสักที่ร้อยกี่พันกี่ล้านครั้งมันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมันอย่างนี้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่าธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราดังนี้ นี่เป็นการสงเคราะห์ภาวะธรรมลงในธรรมตามจริงให้เห็นวิปัสนาญาณจากพุทธานุสสติ
- ดึงสภาวะนี้ไปเรื่อยๆก็จะถึงฌาณ ๔ เป็นขั้นต่ำ เมื่อจิตจดจ่อพึงเห็นไตรลักษณ์จากนิมิตภาพของพระพุทธเจ้านั้น จนคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไรๆอยู่อย่างนี้ เราก็จะเข้าถึงยถาภูญาณทัสสนะ เข้าถึงนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายอันเห็นตามจริงในธรรมทั้งปวงแล้วเพียรปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ด้วยปัญญาขั้นที่ ๑-๔ ได้ ดังนี้
๓.๑.๒ สีลานุสสติ และ จาคานุสติ
๑. ให้พึงหวนระลึกถึง ศีล และ ทาน ใดๆที่เรานั้นได้กระทำมาดีแล้ว บริสุทธิ บริบูรณ์ดีแล้ว คือ ศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ทานอันสละให้สิ่งที่เสมอตนหรือสูงกว่าตน สละให้เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ให้แล้วไม่มาติดแวะข้องใจ เสียใจ เสียดายในภายหลัง เมื่อเราหวนระลึกถึงจิตย่อมยังความอิ่มเอมใจให้เกิดเป็นสุขร่มเย็น เบากายสบายใจ
๒. เมื่อเราหวนรำลึกถึงศีลหรือทานอันเป็นกุศลอันได้ทำมาดีแล้วย่อมมีอานิสงส์ดังนี้
- มีความสุขใจพอใจยินดีในสิ่งที่ได้กระทำมาแล้วนั้น(ฉันทะ-อิทธิบาท๔ ก็เกิดขึ้น)
- จิตย่อมต่อเนื่องจดจ่อให้เราระลึกถึงผลจากการกระทำมาดีแล้วนั้นด้วยความยินดี ทำให้จิตแช่มชื่นเบิกบานมีจิตตั้งมั่นยินดีในความเพียรที่จะทำต่อไปโดยไม่ลดละไม่ทิ้งเครื่องแห่งกุศลอันนี้ไป(วิริยะ-อิทธิบาท๔ ก็เกิดขึ้น)
- จิตย่อมจดจ่อใฝ่ใจในศีลและทานอันดีละซึ่งสิ่งที่ยังให้ศีลและทานอันงามนั้นเสื่อม ตั้งใจทำให้ศีลและทานอันงามนั้นเกิดขึ้น ดำรงมั่นคงไว้ และ รักษาเอาไว้ไม่ให้เสื่อม(จิตตะ-อิทธิบาท๔ ก็เกิดขึ้น)
- ด้วยเหตุดังนี้จิตจะคอยสอดส่องแลดูในข้อวัตรทั้ง 3 ข้อข้างต้นของตนเองโดยอัตโนมัติว่า หย่อนไปไหม ตึงไปไหม ดำเนินไปในความหดหู่ไหม ทำด้วยความฟุ้งซ่านหรือไม่ วิเคราะห์ลงในธรรมเห็นความเป็นเหตุเป็นผลจากการปฏิบัติเพื่อยังความงดงามอันดีในการปฏิบัตินั้น(วิมังสา-อิทธิบาท๔ ก็เกิดขึ้น)
(อานิสงส์จากการปฏิบัติในศีลและทานอันงามนี้ทำครั้งเดียวนี่ถึงอิทธิบาท ๔ ได้เลย ทำให้เราตั้งมั่นในกุศล)
๓. เมื่อพึงหวนระลึกด้วยความยินดีที่ได้เจริญปฏิบัติอย่างนี้อยู่เนืองๆจิตก็จะแช่มชื่น อิ่มเอมตื้นตัน เป็นสุข ด้วยเหตุที่ทำให้จิตเป็นสุขเช่นนี้ๆทำให้จิตเรานั้นมีความพอใจยินดีแนบในอารมณ์ที่ระลึกอยู่นั้น ทำให้จิตมีความจดจ่อเป็นสมาธิมากขึ้น แนบอารมณ์กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น จนเมื่อเข้าถึงความสงบใจรำงับอยู่ได้ ยังปัสสัทธิให้เกิดขึ้น ก็จะเข้าถึงซึ่งสัมมาสมาธิสลัดทิ้งซึ่งกิเลสนิวรณ์ได้
(ผมเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า คนเรานั้นไม่ว่ามันจะระลึกอะไร คิดอะไรที่ทำให้จิตมันเป็นสุขแล้วแนบไปกับอารมณ์นั้นอยู่ได้ มันก็เป็นสมาธิหมดทั้งนั้น เพียงแต่หากจิตแนบไปกับอกุศลวิตกมันก็จะไม่มีกำลังมากพอที่จะให้เห็นตามจริงเพราะมีโมหะนั้นปิดกั้นอยู่ให้แนบอารมณ์จดจ่อไปกับ โลภะ โทสะ นี่จึงชื่อว่า เห็นผิด คิดผิด ไปจนถึงระลึกผิด จิตตั้งมั่นผิด
** ในส่วนนี้เป็นสิ่งที่ผมเห็นมาเองไม่มีครูบาอาจารย์สอน หากกล่าวผิดก็ผิดที่ผมผู้เดียวไม่ใช่พระพุทธเจ้าตรัสสอนผิดหรือครูบาอาจารย์สอนผิดแต่อย่างใด **
** สาเหตุที่ผมกล้าจะกล่าวบอกเช่นนี้นั้น เพราะผมได้เห็นว่า ผมนี่โง่หนอ แม้มีศรัทธาอยู่ เพียรพยายามจะเจริญแต่กุศลอยู่ แต่ไม่เคยรู้ว่าอกุศลเหรือการดำเนินภาวะที่ผิดเป็นอย่างไร แล้วจะทำให้รู้และบอกคนอื่นได้ยังไงว่าเขาปฏิบัติมาผิดหรือถูก เวลาจะกล่าวกับเขาก็พูดได้แค่จำๆตามกันมาหรือเชื่อตามๆกันมาเท่านั้นไม่เคยเห็นเองตามจริง ผมจึงหันไปเจริญปฏิบัติใน "มิจฉัตตะ 10" คือ ภาวะที่ผิด ทั้ง 10 ประการ ซึ่งมันประกอบไปด้วยความหลงทั้งนั้น นี่จึงทำให้ผมเห็นและเข้าใจถึงโมหะที่น้อยคนจะสัมผัสและรู้ได้ตามจริง เมื่อรู้แล้วผมจึงถอยออกมาด้วยผมอาศัยศรัทธา ความเพียรที่จะละอกุศล ทำให้กุศลเกิดขึ้น คงกุศลไว้ รักษากุศลไม่ให้เสื่อม(ปธาน๔) ร่วมกับ สมาธิ สัมปชัญญะ และ สติ จึงเห็นตามจริงในสิ่งผิดแล้วถอยออกมาได้**)
๔. เมื่อรับรู้ได้ถึงความจดจ่อของจิตมีความแนบอารมณ์แลดูในสิ่งที่นึกคิดอยู่นั้นด้วยสติ โดยจะเห็นเหมือนว่าเรานี้ดูละครที่แสดงความเป็นไปของจิต ก็ให้พึงหวนระลึกเอาศีลและทานที่ทำมาแล้วนั้นวิเคราะห์ลงในธรรมดังนี้
ก. แม้ศีลและทานที่ระลึกอยู่นี้นั้น จะยังความสุขมาให้แก่เราได้ ก็เพราะการกระทำในศีลและทานที่งดงามอันนั้นก็ได้ผ่านมาแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ดับไปแล้ว
- ก็เพราะเมื่อการกระทำนั้นๆได้ดับไปแล้ว ความเข้าไปหวนระลึกในสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้
- ก็เมื่อความหวนระลึกถึงศีลและทานอันดีที่เราได้ทำไปแล้วนั้นดับไป ความสุขเบิกบานใจจากการได้ระลึกถึงนั้นจึงเกิดขึ้น
- เมื่อความสุขนั้นดับไปความสงบรำงับจากสุขนั้นจึงเกิดขึ้นแก่เรา
- เพราะความสงบรำงับนั้นดับไป ความจดจ่อแนบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานจึงเกิดขึ้น
ข. จิตอันสงบเย็นที่จดจ่อแนบสิ่งกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานจะไม่เกิดขึ้น -> หากเราไม่มีความสงบรำงับอันตัดขาดจากนิวรณ์ -> ความสงบรำงับอันตัดขาดจากนิวรณ์จะไม่เกิดขึ้น -> หากเราไม่มีความสุขร่มเย็นอันเกิดแต่ความอิ่มเอมแช่มชื่นเบากายใจ -> ความสุขร่มเย็นอันเกิดแต่ความอิ่มเอมแช่มชื่นเบากายใจจะเกิดขึ้นไม่ได้ -> หากเราไม่ปราศจากความเร่าร้อนเศร้าหมองอันตรึงหนักกายใจ -> ความปราศจากสภาพที่เร่าร้อนเศร้าหมองอันตรึงหนักกายใจจะเกิดขึ้นไม่ได้ -> หากเราไม่ คิด พูด ทำ ในสิ่งที่ดีงามบริสุทธิ์ที่ประกอบไปด้วยประโยชน์อันสงเคราะห์เอื้อเฟื้อไม่เบียดเบียนต่อตนเองและผู้อื่น
- ด้วยเหตุดังนี้ ศีล และ ทาน จึงชื่อว่าความปกติของคน ด้วยอานิสงส์ที่ทำให้คนทั้งหลายไม่เร่าร้อนเศร้าหมองอันตรึงหนักกายใจนั่นเอง เป็นสิ่งที่ควรเสพย์และเจริญให้มากดังนี้
ค. เมื่อพิจารณาในข้อ ก. และ ข. นี้เรียกว่าอนุโลม-ปฏิโลมเจริญเข้าสู่ธัมมะวิจยะให้เห็นความเป็นไปตามจริงด้วยสติจากศีลและทานที่เราทำมาดีแล้วนั้นจะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้มัน เกิด-ดับ แล้วก็ เกิด-ดับ ไปเรื่อยๆอยู่ตลอดเวลาตามเหตุปัจจัยด้วยตัวของมันเอง จะไปบังคับให้มันคงอยู่ตลอดไปดั่งใจก็ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สักแต่มีเกิดและดับไปตามเหตุปัจจัย ไปยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งใดๆไม่ได้เลย
๑. ทีนี้ลองหวนระลึกนึกคิดทบทวนดูสิว่า แม้เราจะเพียรพยายามบังคับให้กายและใจเรานี้ตั้งมั่นดำรงจดจำอยู่ในศีลและทานตลอดเวลา แต่พอเราน้อมไปรู้อารมณ์อื่นๆ เช่น กำลังนั่งคุยเล่นสนุกสนานกับเพื่อนบ้าง ฟังเพลงบ้าง วิ่งออกกำลังกายบ้าง ขี้บ้าง เยี่ยวบ้าง อาบน้ำบ้าง ทำงานบ้าง ดูหนังบ้าง หรือเวลาที่นอน ในขณะนั้นเราก็ไม่ได้มีกายและใจที่ตั้งดำรงอยู่ในศีลและทานแต่กลับเอากายและใจไปตั้งจดจ่ออยู่ที่อารมณ์เหล่านั้น แม้จะพยายามไปบังคับให้ศีลและทานตั้งอยู่ในขณะที่เราน้อมไปรู้ในอารมณ์เหล่านั้นมันก็ทำไม่ได้ เพราะกายใจที่ตั้งในศีลและทานดับไปแล้ว การข้าไปรู้ในอารมณ์สิ่งเหล่านั้นจึงเกิดขึ้น
๒. แม้แต่ขณะที่เรากำลังเจริญในศีลอยู่ในขณะนั้นกายและใจก็ไม่ได้ดำเนินไปในทาน จะไปบังคับให้ในขณะที่เจริญในศีลให้มีทานตั้งอยู่ร่วมด้วยก็ไม่ได้ นั่นเพราะกายใจที่ตั้งในศีลดับไป การที่เข้าไปตั้งกายใจในทานจึงเกิดขึ้น
๓. แม้ในขณะที่เราตั้งกายใจมั่นเจริญขึ้นในศีลข้อละเว้นจากปาณาติบาต ศีลข้ออื่นๆทั้งหมดก็ดับไปในขณะนั้นไม่ตั้งอยู่เลย เมื่อตั้งกายใจมั่นในศีลข้อละเว้นจากอทินนาทาน กายใจที่ตั้งมั่นในการละเว้นจากปาณาติบาตก็ดับไป
๔. แม้ความเป็นศีลและทานทั้งปวงที่เราตั้งกายใจมั่นถืออยู่เป็นอันมากมันก็ยัง แปรปรวน รวนเร เปลี่ยนไป เกิด-ดับๆ ตามเหตุปัจจัยของมันอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่เราตั้งไว้บนกายใจของเราแท้ๆก็ยังบังคับมันให้เป็นดั่งใจเราปารถนาไม่ได้เลย
- ด้วยเหตุนี้จึงไปยึดมั่นถือมั่นปารถนาเอาศีลในกายและใจไม่ได้ เพราะกายและใจมันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้มันตั้งอยู่คงอยู่ในกายและใจตลอดไปไม่ได้
๕. ถึงแม้เราจะตั้งทรงอารมณ์ในศีลและทานไว้ในขันธ์ทั้ง ๕ ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อกายและใจนี้เจ็บป่วย เสื่อมโทรม ดับสูญไป เราจะเอาศีลและทานไปตั้งไว้ที่ไหนได้
- ด้วยเหตุนี้จึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ว่าเป็นของเที่ยง มีตัวตน เป็นที่คงอยู่ไว้แห่งศีลและทานไม่ได้
- ด้วยเหตุนี้จึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาขันธ์ว่าเป็นของเที่ยง มีตัวตน เป็นที่คงอยู่ไว้แห่งศีลและทานไม่ได้
- ด้วยเหตุนี้จึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสัญญาขันธ์ว่าเป็นของเที่ยง มีตัวตน เป็นที่คงอยู่ไว้แห่งศีลและทานไม่ได้
- ด้วยเหตุนี้จึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสังขารขันธ์ว่าเป็นของเที่ยง มีตัวตน เป็นที่คงอยู่ไว้แห่งศีลและมานไม่ได้
- ด้วยเหตุนี้จึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในวิญญาณขันธ์ว่าเป็นของเที่ยง มีตัวตน เป็นที่คงอยู่ไว้แห่งศีลและทานไม่ได้
ดังนั้นขันธ์ ๕ จึงมีไว้สักแต่ให้ระลึกรู้ เป็นเพียงที่อาศัยชั่วคราวให้เราดำรงศีลและทานเพื่อให้บารมีศีลและทานนั้นเต็มกำลังใจเท่านั้น ไม่ได้มีไว้ให้ยึดมั่นถือมั่น นี่จึงขั้นชื่อว่ากายไม่มีตัวตน-ใจไม่มีตัวตน กายไม่เที่ยง-ใจไม่เที่ยง กายไม่ใช่เรา-ใจไม่ใช่เรา กายไม่ใช่ของเรา-ใจไม่ใช่ของเรา เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ถอนอุปาทานในขันธ์ ๕ ไปเสีย มันไม่เที่ยง-ไม่มีตัวตน-เป็นทุกข์ เกิดมา-ตั้งอยู่-ดับไป สักแต่มีไว้ระลึกรู้และเป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น
- "บารมี" แปลว่า "เต็ม" หลวงพ่อฤๅษีท่านกล่าวว่า บารมีพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าหมายถึงเต็มกำลังใจ ไม่ใช่เต็มเฉยๆ เช่น ทานบารมี ถ้าหากต้องใช้ของทั้งโลกยกมาให้หมดถึงจะเต็มทานบารมีเราจะทำอย่างไรถึงจะยกมาได้ ดังนั้นเต็มมันต้องเต็มที่ใจเรานี้จึงเรียกว่า บารมี ส่วนตัวผมก็พอจะเข้าใจในสิ่งนี้แต่ก้อยังขัดๆใจเพราะไม่เคยเจอสักที จนเมื่อผมนอนหลับไปแล้วได้ฝันถึงเรื่องที่ทำให้มีความสุขอันหาประมาณไม่ได้ ผมได้นอนเพียงแค่ 2 ชม. แต่ได้ตื่นมาด้วยความปลื้มใจ ตื้นตันใจ แช่มชื่นเย็นใจเป็นสุขเต็มกำลังใจ แม้ไม่ได้นอนจนถึงตี 4 ของอีกวันผมก็ยังรู้สึกมีกำลังกระปี้กระเป่า หรือ เมื่อเวลาเดินในระยะทางไกลๆแต่เดินไปกับคนที่รักหรือเดินไปด้วยความสุขสบายใจ จากที่ผมเคยเดินแบบเหนื่อยหอบกลับไม่มีอาการเจ็บปวดเหนื่อยหอบเลยแถมร่างกายก็ยังคงเดิมอยู่จิตใจก็แช่มชื่นเป็นสุข ผมจึงได้เข้าใจว่าเต็มกำลังใจมันเป็นอย่างนี้นี่เอง
- บารมีเต็มมันเป็นยังไง "อนุสสติ๖" นอกจากอานิสงส์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแล้วนั้น ยังมีเอาไว้เพื่อสิ่งใด ก็เพื่อให้หวนระลึกถึง "ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา" ที่ตนได้ทำมาดีแล้วนั้นเพียงพอแค่ไหน มีเต็มกำลังใจที่เรียกว่า "บารมี" แล้วหรือยัง หากเต็มกำลังใจแล้วความแช่มชื่นเป็นสุขร่มเย็นย่อมมีเป็นอันมากแก่กายใจตนจนอิ่มเต็มเข้าสู่สัมมาสมาธิก็ง่าย มี กาย วาจา ใจ เป็นไปในกุศลดังกล่าวโดยง่ายไม่มีความคับข้องใจ กดข่มอึดอัดกายใจ