ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มะม่วง กับ พุทธประวัติ ตอนที่ ๑. "มะม่วง กะ สีม่วง"  (อ่าน 11544 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
เหตุที่ "มะม่วง" ต้องเป็นมะ"ม่วง"


ฤดูร้อนนี้เป็นฤดูมะม่วงหลายคนชอบมะม่วงเปรี้ยว
เปรี้ยวจนเข็ดฟันจิ้มกินกับน้ำปลาหวาน ซอยหอมแดงโรยกุ้งแห้งลงหน่อย
เป็นมะม่วงแก้ว มะม่วงแรด หรือมะม่วงสามฤดูตอนดิบก็เปรี้ยวได้ใจ

 

หลายคนชอบมะม่วงสุกหอม จะกินเปล่าๆก็รสดี จะกินกับข้าวเหนียวมูนน้ำกะทิ
ก็พาลจะพาให้น้ำหนักขึ้นไปหลายกิโลขีดมะม่วงอกร่องหอมหวานแบบ
สมัยก่อนดูจะถูกกลืนพันธุ์ไปมากแล้ว หลังๆมานี่มีแต่มะม่วงพันธุ์อะไรมิทราบ
ลูกใหญ่โตก็จริงแต่ความหอมหวานดูจะเทียบกับอกร่อง
จากท้องร่องเมืองนนท์สมัยก่อนไม่ได้เลย

หลายคนก็ชอบมะม่วงมัน พันธุ์ที่ขึ้นชื่อสุดเห็นจะเป็นเขียวเสวย
แต่เวลาซื้อมะม่วงมาสับกินที่น่าแค้นใจที่สุดเห็นจะเป็นว่าตอนซื้อจากตลาดมา
แม่ค้าบอกว่าเป็นมะม่วงมัน เปรี้ยวหน่อยๆ แต่พอฝานลงไปกัดกร็อบคำแรก
รสเปรี้ยวกลิ่นเปรี้ยวก็กัดลิ้นจนเกือบจะได้คายออกมา
เข้าตำราความจริงย่อมหายตอนแม่ค้าอยากขายของ


ปัญหามีอยู่ว่า ไอ้ลูกมะม่วง หรือ mango ตามภาษาฝรั่งนี้เหตุไฉนจึงเรียกว่า "มะม่วง"
ทั้งๆที่ตอนดิบก็มีสีเขียว ตอนสุกก็มีสีเหลือง ไม่ยักกะมีสีม่วงเลยแม้แต่น้อย
 

และคำว่า "มะม่วง" นี้ก็ดูเป็นคำไทยแท้แต่โบราณ แม้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังปรากฏว่า

"เมืองสุโขไทนี๋จึ่งชม สร๋างป่าหมากป่าพลูท่ววเมือ-
งนี๋ทุกแห่ง ป่าพร๋าวก่หลายในเมืองนี๋ ป่าลาง
ก่หลายในเมืองนี๋ หมากม่วงก่หลายในเมืองนี๋
หมากขามก่หลายในเมืองนี๋ ใครสร๋างได๋ไว๋แก่ม
นน"

คุณเพ็ญชมพู จากโต๊ะห้องสมุด เว็บไซต์ pantip.com ได้กรุณาอธิบายความไว้ว่า

เรื่องนี้มีอยู่ ๓ สมมุติฐาน

๑. มะม่วงมาจากคำว่า หมากม่วง และคำว่าม่วงไม่ใช่คำไทยแต่เลียนมาจากภาษามลายูว่า manga ( มลายู manga ---> ทมิฬ mangai ---> โปรตุเกส manga ---> อังกฤษ mango) ซึ่งต้องออกเสียงว่า หมากมางกา แต่ออกเสียงยาก คนไทยจึงออกเสียงเป็น หมากม่วง

๒. คนโบราณเรียกมะม่วง เพราะใบอ่อนของมะม่วงป่ามีสีม่วง ดังกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้ากุ้งที่ว่า

มะม่วงไพรใบอ่อนมี คิดผ้าสีม่วงอ่อนแทน
ขลิบอ่าตาตักแตน หน้าทอทองกรองข่ายทรงฯ

มะม่วงใบอ่อนเจ้า เรียมแหงน ดูนา
คิดมะม่วงอ่อนอรแทน ผิดผ้า
รึงขลิบตาตักแตน ริมเรื่อง
ถักทองกรองข่ายหน้า ประหลาดหน้าเจ้าเคยทรงฯ

๓. มะม่วงมีถิ่นกำเนิดจากอินเดีย ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Mangifera Indica Linn อยู่ในวงศ์ ANACAR DIACEAE (Mangi = มะม่วง fera = เกิด Indica = อินเดีย) มะม่วงที่มาจากอินเดียต้นแรก ๆ ให้ผลสีม่วง คนไทยจึงเรียกว่า หมากม่วง

อยากจะถามทุกท่านว่า เชื่อข้อไหนมากกว่ากัน พร้อมมีรูปประกอบมาดังนี้
 

ขอให้กินมะม่วงไทย ผลไม้ไทย อย่างเอร็ดอร่อยในฤดูร้อนครับ

ที่มา  http://terasphere.exteen.com/20090402/entry
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 26, 2011, 02:26:20 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
มนต์เสน่ห์มะม่วงอินเดีย
โดย ฉลอง สุขทอง


“ประเทศคุณไม่มีมะม่วงหรือไง?” วินิตเพื่อนสมัยเรียนชาวอินเดียเปิดประเด็นขึ้นมา
เมื่อเห็นผมสั่งน้ำมะม่วงยี่ห้อโปรด “ฟรุตตี้” (Frooti) มาดื่มระหว่างมื้ออาหารเช่นทุกครั้งที่เรานัดทานข้าวกัน


“ก็มีอยู่ ต่ำน้ำมะม่วงรสชาติแบบนี้ กลิ่นนี้ และราคาอย่างนี้ มีเฉพาะที่นี่เพียงแห่งเดียว”
ผมตอบไปตามความรู้สึก คำว่า “ที่นี่” ผมหมายถึง “อินเดีย” นั่นเอง

ว่าไปแล้วประสบการณ์เกี่ยวกับมะม่วงของผมมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะหนักไปในด้านการเป็นนักบริโภคเสียมากกว่า มะม่วงสุกเป็นสิ่งที่ผมโปรดปรานมากที่สุด มะม่วงน้ำดอกไม้ หรืออกร่องทองนอกฤดูกาล ราคาขายกิโลกรัมละเกือบร้อยบาทก็เคยซื้อมาแล้ว

เมืองไทยเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้มากที่สุดประเทศหนึ่ง เรามีผลไม้หลากหลายแตกต่างกันไปตามฤดูกาล โดยเฉพาะมะม่วง ปลูกกันได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ เรามีการพัฒนาพันธุ์ไว้หลายสายพันธุ์ ทั้งประเภทไว้กินดิบ กินสุก หรือกินสุก ๆ ดิบๆ ก็ตามแต่ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่ไม่เป็นรองชาติใด

หันมามองทางด้านการแปรรูปกันบ้าง คนไทยเรามีความเชี่ยวชาญเรื่องการถนอมอาหารมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เราชำนาญในการทำอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ของหมักดองต่าง ๆ รวมทั้งการดัดแปลงเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าพืชผลที่เราผลิตได้มีมากเกินที่จะบริโภคได้ทันนั่นเอง อย่างเช่นมะม่วงขณะยังดิบสามารถทำเป็น มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม นำมาใส่แทนมะนาวหรือมะขามในแกงส้ม ฯลฯ


ครั้งเมื่อสุก เรานำมาทำเป็นของหวานข้าวเหนียวมะม่วง แปรรูปเป็นน้ำมะม่วง มะม่วงแผ่น มะม่วงกวน มะม่วงอบแห้ง ฯลฯพอผมมีโอกาสได้มาเที่ยวและใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียบ้างตามวาระและโอกาส ก็ยังไม่ทิ้งนิสัยเดิม คือ ชอบหาดูของชอบของโปรดตามย่านร้านตลาดต่าง ๆ

แถบถิ่นที่ได้ไปเยือนพบว่าอินเดียก็มีผลไม้นานาชนิดไม่น้อยหน้าชาติใดเช่น เดียวกัน กล้วยหอมมีวางขายในตลาดทุกฤดูกาล (กล้วยที่นี่มักขายกันเป็นลูก ๆ จะซื้อยกหวีก็ต้องนับจำนวนลูกก่อนเพื่อสะดวกในการคำนวณราคาที่เป็นเช่นนี้ก็ เพราะว่าคนเดินถนนทั่ว ๆ ไป ซื้อกินเพียงครั้งละลูกสองลูกเท่านั้น)

องุ่นมีขายมากหน้าร้อน เป็นองุ่นดำและเขียวชนิดไม่มีเมล็ด ราคาเริ่มต้นตั้งแต่กิโลกรับละ 10 รูปีขึ้นไป เรียกว่าถูกสุด ๆ ชนิดที่ต้องเหมาซื้อเป็นเข่งเอามาหมักทำไวน์ (เป็นภูมิปัญญาของคนไทยไกลบ้าน)

ทับทิมเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีอยู่อุดมสมบูรณ์หลายสายพันธุ์ มีทั้งที่เหมือนและแตกต่างไปจากบ้านเรา พันธุ์ที่ได้รับความนิยมมีลักษณะเปลือกนอกสีแดงอมม่วง ขนาดผลไม้ใหญ่นัก เนื้อข้างในเป็นสีของทับทิมจริง ๆ (เพื่อนผมชอบพูดว่าสีแดงเหมือนเลือด ซึ่งเขาไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน) แบบที่นำมาทำเครื่องประดับอย่างไรอย่างนั้น รสชาติหวานสนิท หากมีที่ว่างในกระเป๋าเหลือพอผมเป็นต้องหอบกลับมาฝากมิตรสหายให้ได้ลิ้มลอง กันแทบทุกครั้ง


สำหรับมะม่วงนั้น ภาษาฮินดูเรียกว่า “อาม” (Am) คนอินเดียถือว่าเป็น “สุดยอดของผลไม้เขตร้อน” (Tropical fruit) ในสมัยราชวงค์โมกุลเรืองอำนาจ มะม่วงได้รับการยกย่องว่าเป็น “สุดยอดผลไม้ของอินเดีย” (Finest fruit of Hindustan) เพราะมีมะม่วงอยู่มากมายในรัฐอุตตรประเทศ ดินแดนที่จักรวรรดิโมกุลเคยรุ่งเรืองมาก่อน

ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ฉันน้ำมะม่วง
น้ำกล้วยได้ในยามเย็น ด้วยถือว่าเป็นน้ำปานะอย่างหนึ่ง



ปัจจุบันตามงานเทศกาลรื่นเริงหรืองานมงคลต่าง ๆ
เราจะเห็นชาวอินเดียนำใบมะม่วงผูกเรียงร้อยกันเป็นธงประดับประดาอาคารสถาน
ที่หรือบ้านเรือน ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้เจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองและประสบความสำเร็จ
จะเห็นได้ว่ามะม่วงเกี่ยวพันอยู่กับชีวิตของชาวอินเดียมานานตั้งอดีตจวบจนปัจจุบัน


เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ เกือบทุกรัฐสามารถปลูกมะม่วงได้ดี สายพันธ์มะม่วงจึงมีหลากหลาย เท่าที่มีการสำรวจพบว่าสายพันธุ์ของมะม่วงที่ปลูกในอินเดียอยู่ประมาณ 1,000 สายพันธุ์ ในการตั้งชื่อสายพันธุ์มะม่วงของอินเดียมาจากหลายปัจจัย เช่น ตั้งชื่อตามราชวงศ์ สถานที่ปลูกขนาดและรูปทรงของผล รสชาติ สี และฤดูกาลที่ผลิต เป็นต้น

สายพันธ์มะม่วงที่มีชื่อเสียงเป็นลำดับต้น ๆ ของอินเดีย ได้แก่ “พันธุ์อัลฟองโซ” (Alphonso) ปลูกกันมากในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) แถบเมืองรัตนคีรี (Ratnagiri) ห่างจากบอมเบย์ลงไปทางใต้ราว 500 กิโลเมตร ถือว่าเป็นสุดยอดของสายพันธ์มะม่วงในอินเดียในปัจจุบัน ราคาขายในตลาดราวกิโลกรับละ 200 รูปี (ปัจจุบันหนึ่งรูปีมีค่าประมาณเก้าสิบสตางค์)

มะม่วงอินเดียพันธุ์ อัลฟองโช ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์ http://www.onefineday.in.th

ส่วนสายพันธุ์ Dussehri ชื่อนี้มีชื่อเสียงมานาน ปลูกกันทั่วไปในรัฐอุตตรประเทศ บริเวณรอบ ๆ เมืองลักเนา (Luck now) เมืองหลวงของรัฐ ส่วนพันธุ์ Langra เป็นที่นิยมและรู้จักดีของตลาดต่างประเทศแถบตะวันออกกลาง นิยมปลูกกันมากที่เมืองเชานปุระ (Jaunpur) ทางที่ราบตอนบนของประเทศไม่ไกลจากเมืองพาราณสี นอกจานี้ยังมีพันธุ์อื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน ได้แก่ Banganapalle, Safeda, Neelam, Chausa ฯลฯ

ปี พ.ศ.2537 อินเดียได้เป็นเจ้าภาพจัดประกวดพันธุ์มะม่วงระดับนานาชาติครั้งที่ 8 ที่กรุงนิวเดลี ซึ่งการประกวดครั้งนั้นพบว่ามะม่วงอินเดียพันธุ์ Rajawalla มีขนาดใหญ่ที่สุด คือมีน้ำหนักมากกว่าสองกิโลกรัม และพบมะม่วงที่มีผลเล็กที่สุดคือพันธุ์ Moti Dana มีน้ำหนักเฉลี่ยน้อยกว่าสองกรัม

ในปีหนึ่ง ๆ นั้น อินเดียผลิตมะม่วงรวมกันได้ประมาณ 150,000 ตัน นับเป็นผู้ผลิตมะม่วงรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52% ของมะม่วงที่ผลิตได้จากทั่วโลกรวมกัน รองลงมาคือ จีน ผลิตได้ประมาณ 40,000 ตัน ส่วนตลาดส่งออกมะม่วงที่สำคัญของอินเดีย คือ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และยุโรป
เมื่อมีการผลิตมะม่วงได้มากมายขนาดนี้ก็จำเป็นอยู่ดีที่จะต้องมีการศึกษาค้น คว้าการแปรรูปผลผลิตเพื่อหาหนทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด


กรณีมะม่วงดิบ ผมไม่เคยเห็นคนอินเดียกินมะม่วงดิบแบบคนไทยกินกัน คือกินเล่นเปล่า ๆ กินกับน้ำปลาหวานหรือจิ้มกับเกลือ แต่คนอินเดียจะนำมะม่วงดิบมาสับเป็นชิ้น ๆ ใส่พริกเครื่องเทศบางอย่างลงไปแล้วหมักทิ้งไว้ เรียกกันว่า “Pickle” หรือ “Chutney”

เป็นเครื่องเคียงที่มีรสจัดเอาไว้ทานกับโรฏีหรือปาตี ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกครัวเรือน เช่นเดียวกับน้ำพริกหรือน้ำปลาในบ้านเรา นอกจากนั้นยังนำมาสกัดทำเป็นน้ำผลไม้บรรจุขวดขาย (น้ำมะม่วงดิบ) เช่นเดียวกับน้ำฝรั่งหรือน้ำแอปเปิลทั่วๆไป
 

ส่วนมะม่วงสุกนิยมนำมาแปรรูปเป็นน้ำมะม่วงสีเหลืองปนส้มบรรจุขวดและกระป๋อง ขาย มีทั้งแบบเข้มข้นมากและเข้มข้นน้อย น้ำมะม่วงสุกได้รับการต้อนรับอย่างดีทั้งจากผู้บริโภคชาวอินเดียเองและตลาด ต่างประเทศ มีการเสิร์ฟน้ำมะม่วงในเที่ยวบินระหว่างประเทศของสายการบินแอร์อินเดีย มีน้ำมะม่วงสุกหลายยี่ห้อแข่งขันกันอยู่ในตลาด ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากเป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่ Maaza, Duke และ Frooti มีมูลค่าตลาดต่อปีรวมกันนับพันล้านรูปี

ผมพบเจอความแปลกบางอย่างเกี่ยวกับการกินมะม่วงสุกของคนที่นี่ กล่าวคือในหมู่คนเดินถนนทั่ว ๆ ไป (ไม่อยากระบุว่าเป็นคนชั้นต่ำ) เมื่อซื้อหามะม่วงสุกมาได้แล้วลูกสองลูก ก็จัดการบีบคลึงเพื่อให้เนื้อมะม่วงข้างในเหลวเป็นน้ำเสียก่อน จากนั้นก็ค่อยเจาะเปลือกมะม่วงตรงขั้วออกแล้วจึงดูดน้ำกิน ไม่เห็นเขาต้องเดือดร้อนวิ่งหามีดมาปอกให้เสียเวลาประการใด

พฤติกรรมเช่นว่านี้ช่างสอดคล้องกับของพี่น้องอีสานบ้านเฮาเสียเหลือเกิน เมื่อสมัยเป็นเด็กเราก็กินมะม่วงป่าที่หาเก็บมาได้ด้วยวิธีการเดียวกันนี่ แหละ บางครั้งเมื่อเอาเมล็ดออกแล้วยังยัดข้าวเหนียวใส่เข้าไปแทน กินเล่นเป็นของหวานและอยู่ท้องดีทีเดียว บอกไม่ได้เหมือนกันว่าพฤติกรรมการกินมะม่วงแบบนี้ใครเป็นต้นแบบ ใครลอกแบบใครมา
 

ครั้นผมมีโอกาสได้นั่งในภัตตาคารหรู จึงทดลองสั่งมะม่วงสุกมาชิมดูบ้าง ปรากฏว่ามะม่วงที่บริกรนำมาเสิร์ฟให้อยู่ในลักษณะที่ยังไม่ได้ปอกเปลือก เพียงแต่หั่นครึ่งลูกตามแนวขวางจนรอบ พร้อมกับแนบช้อนขนาดเล็กแต่ใหญ่กว่าช้อนชงกาแฟนิดหน่อยเคียงคู่มาด้วย

จนผมต้องหันไปถามย้ำกับบริการถึงวิธีการกินจึงได้ความกระจ่างว่าการหั่น มะม่วงตรงกลางก็เพื่อให้สามารถบิดดึงแยกออกจากกันได้ ต่อจากนั้นจึงใช้ช้อนคว้านแซะตักกินเนื้อมะม่วงที่อยู่ภายในให้เหลือไว้แค่ เปลือกกับเมล็ด
เป็นเกร็ดความรู้ใหม่ที่ผมคิดไว้ในใจว่าจะนำมาเผยแพร่ในบ้านเราดูบ้างเหมือนกัน

กล่าวถึงความโดดเด่นที่เป็นจุดขายของมะม่วงอินเดีย จากการไปพิสูจน์ลิ้มลองรสชาติมาด้วยตัวเอง ผมยืนยันได้ว่ามะม่วงหลายสายพันธุ์ของที่นี่สมแล้วกับที่งอกงามอยู่บนดินแดน แห่งกลิ่มอายและมีสีสันอย่างอินเดีย เพราะมีคุณสมบัติพรั่งพร้อม ทั้งรสชาติและความหอมหวาน รูปทรง และสีสันของผลไม้ที่งดงามสะดุดตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พันธุ์อัลฟองโซ มะม่วงยอดนิยมของคนอินเดีย นอกจากจะให้รสชาติที่หอมหวานชื่นใจแล้วสีของผลยังสุกปลั่งเป็นสีส้มสด เชิญชวนให้น่าลิ้มลองยิ่งนัก


ใครอยากรู้ว่ามะม่วงพันธุ์นี้ได้รับความนิยมในตลาดโลกขนาดไหน ลองพิมพ์คำว่า “Alphonso Mango” .ใน www.google.com รวมทั้งใน amazon.com ด้วย จะพบเว็บไซต์ผู้ผลิตน้ำมะม่วงชนิดเข้มขน (mango pulp) ส่งขายต่างประเทศมากมาย

ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการเกษตรก้าวหน้า และทันสมัยมากขึ้น คนอินเดียจึงสามารถมีมะม่วงกินได้ตลอดทั้งปี แต่ฤดูกาลจริง ๆ ของมะม่วง (สุก) อยู่ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี ช่วงนี้แผงขายผลไม้หลายจุดของเมืองจะดูเหลืองอร่ามไปด้วยมะม่วง บ้างก็วางขายอยู่ในรถเข็นเป็นแผงลอยเคลื่อนที่ บ้างก็ใส่ไว้ในเข่งเหนือศีรษะเที่ยวตะลอนขายไปตามถนนและย่านชุมชน

แต่อุปสรรคสำคัญที่ลูกค้าแฟนพันธุ์แท้เช่นเราเจอบ่อยคือ ไม่ว่าจะซื้อมากซื้อน้อยเพียงใดส่วนลดที่ได้แทบจะไม่เคยเจอเพราะคนอินเดีย ทั้งหลายส่วนใหญ่ขายในราคา “Fixed Price” ตายตัว ยิ่งกว่าราคาของในสรรพสินค้า อาจมีน้ำใจยึดหยุ่นให้บ้างเพียงแค่ปาดให้ลองชิมชิ้นสองชิ้น ต้องโชคดีเป็นพิเศษจึงจะได้เจอพ่อค้าใจดียอมลดราคาหรือแถมให้

หากอยากได้ของแถมหรือส่วนลดก็ต้องใช้ความสามารถทู่ชี้กล่อมเกลากันนานหน่อย (มีข้อแม้ว่า...คุณเองอย่ายอมถอดใจไปเสียก่อนหละ) หรือไม่งั้นก็ต้องงัดเอากลยุทธ์ขั้นสุดยอดมาใช้ ด้วยการต่อราคาเสร็จแล้วเดินหนีทำทีไม่สนใจจึงจะสำเร็จ

อย่างไรก็ตามทุกครั้งก็ไม่วายซื้อมา ที่หนักไปกว่านั้นบางคราวยังซื้อหอบหิ้วทั้งผลสุก ผลดิบ และน้ำมะม่วง ขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยเป็นของฝากญาติมิตรอีกต่างหาก
จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อต้องมนต์เสน่ห์มะม่วงอินเดียเข้าให้แล้ว

ที่มา http://chalongs.blogspot.com/2010/10/blog-post_29.html


มะม่วง กับ พุทธประวัติ ตอนที่ ๒. "รู้แล้วจะประหลาดใจ"
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3522.0

มะม่วง กับ พุทธประวัติ ตอนที่ ๓. "มะม่วงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใด"
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3523.0

มะม่วง กับ พุทธประวัติ ตอนที่ ๔. ทรงตรัสถึงมะม่วงไว้ว่า...(จบ)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3524.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 26, 2011, 04:12:30 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ