ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ลำนำวิปัสสนา  (อ่าน 4033 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

สาวิตรี

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +6/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 148
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
ลำนำวิปัสสนา
« เมื่อ: มกราคม 30, 2011, 11:34:46 am »
0

ลำนำวิปัสสนา



เดี๋ยวฟุ้งซ่านงุ่นง่านเดี๋ยวง่วงเหงา
เดี๋ยวซึมเซาสงบเดี๋ยวสงสัย
เดี๋ยวโกรธเกลียดเดือดดาลรำคาญใจ
เดี๋ยวยึดไว้ท้อถอยเดี๋ยวปล่อยวาง

เดี๋ยวปวดหัวตัวร้อนนอนเป็นไข้
เดี๋ยวห่วงใยคิดถึงเดี๋ยวอ้างว้าง
เดี๋ยวอวดดีมีมานะไม่ละวาง
เดี๋ยวยิ้มกว้างร้องไห้ไม่พูดจา

เดี๋ยวปวดเข่าคันขาชาไปทั่ว
เดี๋ยวเบาตัวท้องจุกทุกข์หนักหนา
เดี๋ยวซู๊กสุข..เฉ๊ยเฉยเดี๋ยวเย็นชา
นี่กูบ้า..หรือเปล่า..ไม่เข้าใจ



...คืออารมณ์วิปัสสนาปรากฏแจ้ง
“ทุกข์”แสดงให้กำหนดเป็นบทใหญ่
“อนิจจา”เกิดขึ้นแล้วดับไป
“อนัตตา”มิใช่ใครบันดาล

ยืน.เดิน.นั่ง.กิน.ถ่าย ฯลฯ..ให้รู้เห็น
ความเพียรเด่น, สติมา, ปัญญาผสาน
ไม่เผลอ,เพ่ง..เร่งศึกษาอานาปานฯ
“วิปัสสนาญาณ”เกิดที่นี่...เดี๋ยวนี้เอยฯ

ชินวงส์

จากหนังสือสุขง่ายๆแค่ปลายจมูก
บันทึกการเข้า

สาวิตรี

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +6/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 148
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ลำนำวิปัสสนา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 30, 2011, 11:35:33 am »
0


สิ่งที่ผู้ปฏิบัติพึงระวัง...พระอาจารย์สายัณห์ ติกขปัญโญ

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ หมายถึง อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา เป็นธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนาอ่อนๆ (ตรุณวิปัสสนา) สภาพน่าชื่นชมแต่ที่แท้เป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นเหตุขัดขวางไม่ให้ก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ มี ๑๐ อย่าง คือ…

* โอภาส หมายถึง แสงสว่าง(ที่ปรากฏเป็นธรรมารมณ์ในใจ)
* ญาณ หมายถึง ความหยั่งรู้
* ปีติ หมายถึง ความอิ่มใจ
* ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบเย็น
* สุข หมายถึง ความสุขสบายใจ
* อธิโมกข์ หมายถึง ความน้อมใจเชื่อ ศรัทธาแก่กล้า ความปลงใจ
* ปัคคาหะ หมายถึง ความเพียรที่พอดี
* อุปัฏฐาน หมายถึง สติแก่กล้า สติชัด
* อุเบกขา หมายถึง ความมีจิตเป็นกลาง
* นิกันติ หมายถึง ความพอใจ ติดใจ

วิ ปัสสนูปกิเลสทั้งสิบนี้ เป็นภาวะที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และไม่เคยเกิดมี ไม่เคยประสบมาก่อน จึงชวนให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิด คิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว หรือหลงยึดเอาคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทางที่ถูก ถ้าหลงไปตามนั้นก็เป็นอันพลาดจากทาง เป็นอันปฏิบัติผิดไป คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น ทำให้พลาดจากทางวิปัสสนา แล้วก็จะทิ้งกรรมฐานเดิมเสีย นั่งชื่นชมอุปกิเลสของวิปัสสนาอยู่นั่นเอง

เมื่อ ผู้ปฏิบัติกำหนดรูปนามขันธ์ห้าเป็นอารมณ์ จนเริ่มมองเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แห่งสังขารทั้งหลาย จิตก็จะเริ่มเข้าสู่วิปัสสนาญาณอย่างอ่อน (ตรุณวิปัสสนา) ในช่วงนี้วิปัสสนูปกิเลสก็จะเกิดขึ้น
ดัง นั้น จึงควรตั้งสติ คือ การกำหนด มีสัมปะชัญญะ คือการทำความรู้ตัวให้ทั่วพร้อม พิจารณาด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นของไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสภาวะธรรมเหล่านี้
ก็ จะทำให้เราเกิดความหลงความยึดมั่นถือมั่นในวิปัสสนาญาณที่ตนปฏิบัติอยู่ เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าเราดีแล้ว ได้บรรลุคุณธรรมอันวิเศษแล้ว ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นในวิปัสสนูปกิเลสนั้น ท่านได้แบ่งออกเป็น ๓ อย่างด้วยกัน คือ

* ทิฏฐิคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยทิฏฐิ เช่น ยึดถือด้วยเห็นว่า “โอภาสเกิดขึ้นแก่เราแล้ว” เป็นต้น
* มานคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยมานะ เช่น ยึดถืออยู่ว่า “โอภาสน่าพึงพอใจได้เกิดขึ้นแล้ว จึงยึดสภาวะธรรมนี้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาด้วย” เป็นต้น
* ตัณหาคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยตัณหา(อยาก) เช่น ชื่นชมโอภาสอยู่ด้วยความอยาก จึงเกิดความชื่นชมยินดี เป็นต้น

เรื่องของจิตนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงขอฝากให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึ่งระวัง ในสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น ด้วยความมีสติ ทำความรู้ตัวให้ทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา เฝ้าดู ตามรู้ ตามเห็น จดจ่อ และปล่อยวาง ในทุกสภาวะที่เกิด
การปฏิบัติธรรมนั้น  เราปฏิบัติเพื่อปล่อย เพื่อวาง เพื่อละจากอัตตาตัวตน เพื่อความเป็นอิสระจากการ ยึดมั่นถือมั่น ใน ความสุข-ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเราเข้าใจและทำได้เช่นนี้ ก็จะทำให้เรามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีธรรมเป็นเครื่องอาศัย ใจเราก็จะแจ่มใส เบิกบาน ร่มเย็นอยู่เป็นปกติทุกเมื่อเชื่อวันอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย

ขอความเจริญในธรรม จงมีแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป…สาธุ
บันทึกการเข้า

สาวิตรี

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +6/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 148
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ลำนำวิปัสสนา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 30, 2011, 11:39:04 am »
0
ได้อะไร ในการไปวิปัสสนา







1.สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการไปวิปัสสนา

ในทันทีที่ข้าพเจ้าได้เข้าสู่บริเวณ
ศูนย์ปฏิบัติธรรมสุวรรณา จ.ขอนแก่น
ข้าพเจ้ารู้สึกได้ทันทีว่า

เหมือนได้มาอยู่ในอีกโลกๆ หนึ่ง
ซึ่งไม่ใช่โลกมนุษย์ในปัจจุบัน

เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความ ร่มรื่น สงบเย็น
ธรรมบริกรให้การต้อนรับ
ด้วยการยกมือไหว้อย่างนอบน้อม สวยงาม
พร้อมกล่าวทักทายต้อนรับด้วยด้วยมิตรไมตรี
ด้วยรอยยิ้มอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา
ต่อผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เมื่อวันแรกผ่านพ้นไป
ยิ่งทำให้ข้าพเจ้า รู้สึกราวกับว่า ได้มาอยู่ ในดินแดนแห่งพรหมโลก

ตลอดระยะเวลา 10 วัน
ทั้งอาจารย์ผู้ฝึกสอน ธรรมบริกร
และผู้เข้าฝึกอบรมปฏิบัติธรรมทุกคน ล้วนอยู่ในอาการสงบเงียบ
ไม่ได้ยินเสียงพูด เสียงคุย เสียงหัวเราะ เสียงร้องไห้
ของผู้ปฏิบัติแม้แต่คนเดียว

ทุกคนล้วนตั้งมั่นในความสงบ
มีสติ สัมปชัญญะ มีอุเบกขา
และยึดมั่นในศีลทั้ง 5 ข้อ เป็นอย่างดี

นับว่าเป็นความโชคดี
และมหาอานิสงค์อันประเสริฐยิ่งของข้าพเจ้า
หาสิ่งใดมาเปรียบปานมิได้เลย

แม้จะเปรียบว่า
การได้สร้างมหาเจดีย์ทองคำมาหลายชาติ
อันเป็นมหาอานิสงค์อันยิ่งใหญ่ฉันใด

ยังไม่อาจเปรียบได้กับอานิสงค์
จากการได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในครั้งนี้ได้เลย

เพราะทำให้ข้าพเจ้าได้รู้ ได้เข้าใจ ได้สัมผัส
กฎความจริงของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
ด้วยประสบการณ์จริงล้วนๆ ด้วยตนเอง

มิใช่เพียงได้ยิน หรือได้เรียนรู้จากตำรามา
แต่นี่เป็นความรู้ที่เกิดจากการได้สัมผัสความจริง ล้วนๆ ด้วยตนเอง

จึงเป็นความรู้ที่ก่อเกิดปัญญา
อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา
หลุดพ้นจากความทุกข์ ทั้งหลายทั้งปวง
หลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร
(ความทุกข์ จากการเวียนว่ายตายเกิดครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีที่สิ้นสุด)

บรรลุธรรมอันประเสริฐ เข้าสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์
สู่ดินแดนแห่งพระนิพพาน
ดินแดนอัน พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้า
และพระอรหันต์ทั้งหลายได้เข้าถึงแล้ว

และรอคอยสรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากความทุกข์
และเข้าสู่มหาอมตนิพพาน ด้วยความรัก ความเมตตา สงสาร
มิอาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้เลย

ในอดีต นับตั้งแต่จำความได้
เรื่อยมาจนถึงก่อนเข้าอบรมวิปัสสนา
ข้าพเจ้าพยายามดิ้นรน
ไขว่คว้าหาความสุขความเพลิดเพลิน
ความปิติยินดี สิ่งที่ชอบที่ถูกใจ
และพยายามเสือกไส ผลักดัน
ไม่รับเอาสิ่งที่เป็นความทุกข์ทั้งหลายออกไปให้ได้มากที่สุด
เท่าที่ความสามารถในขณะนั้นๆ พึงกระทำได้

แต่จนแล้วจนเล่า
ก็ไม่เห็นความทุกข์หดหายไปจากตัวเราเลย
ตรงข้ามยิ่งทวีความรุนรนแรง แตกแขนง
แยกออกเป็นสาขาความทุกข์อย่างมากมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับความสุขก็มิเคยได้พบความสุขที่แท้จริงเลย

มีแต่ความอยากความกระหายในสิ่งที่ชอบใจไม่มีที่สิ้นสุด
และเมื่อได้สิ่งที่ต้องการมาแล้วความสุขก็มิได้จีรังยั่งยืน
รู้สึกเบื่อหน่ายอยากจะผลักหนีออกไป
อยากได้สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิมอีก

ซึ่งล้วนแฝงด้วยความทุกข์ที่จะตามมาในภายหลัง
ซึ่งไม่เห็นมีความสุข ความชอบใจสิ่งใดเลยที่เป็นนิรันดร์
ล้วนแล้วแต่แฝงไว้ด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น

เมื่อข้าพเจ้าได้เข้ามาสู่ดินแดนแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
ดินแดนแห่งการปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า
จึงได้พบสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ ได้พบกฎธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
พบกฎของไตรลักษณ์(กฎความจริงตามธรรมชาติอันประเสริฐ 3 ประการ)
อันได้แก่

อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

อนิจจัง คือความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งปวง
สิ่งใดก็ตามเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดเปลี่ยนแปลงและดับไป
สิ่งนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงและดับไปเป็นธรรมดา

ดังเช่น ร่างกายของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย
ล้วนประกอบปรุงแต่งด้วย ด้วยธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ
- ธาตุดินก็ได้แก่ เนื้อหนัง เอ็น กระดูก
ขน เล็บ ฟัน ตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น
- ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำเลือด น้ำหนอง
น้ำมูก น้ำตา น้ำเหลือง น้ำอสุจิ เป็นต้น
- ธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ลมตีขึ้นข้างบน ลมตีลงด้านล่าง เป็นต้น
- ธาตุไฟ ได้แก่ อุณหภูมิภายในร่างกาย ความอบอุ่น
ความร้อน ในร่างกาย เป็นต้น

ธาตุทั้งสี่นี้จะปรุงแต่งรวมตัวกัน ในสภาวะที่เหมาะสม
เกิดเป็นร่างกายของมนุษย์แลสัตว์
เป็นแขน ขา หู ตา จมูก ลิ้น ผิวกาย
และเมื่อมีธาตุรู้ คือจิตเข้ามาผสมโรง
รับรู้ความรู้สึกต่างๆ ขึ้น จึงเกิดเป็นสิ่งมีชีวิต
ที่เราสมมุติว่า เป็น มนุษย์ เทวดาเป็นสัตว์
เป็นหมู หมา เป็ด ไก่ ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย
หรือสัตว์นรก ล้วนแต่อนิจจัง
เมื่อร่างกายก่อเกิดขึ้นชั่วระยะหนึ่ง ก็จะตั้งอยู่ระยะหนึ่ง
แล้วก็ค่อยๆ เสื่อมสลาย และดับไปในที่สุด
ไม่มีสรรพสัตว์ใดๆ คงสภาพอยู่อย่างนิรันดร์
ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งหมดทั้งสิ้น

มนุษย์ก็เช่นกัน เมื่อมีเกิด ก็ย่อมมี แก่ เจ็บ และในที่สุดก็ต้องตาย
แล้วก็เกิดใหม่ตามกฎธรรมชาติ หมุนวนเป็นลูกโซ่ ไม่มีที่สิ้นสุด
พระพุทธองค์เรียกว่า "วัฏฏสงสาร"

ทุกขัง คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้
ไม่ว่ามนุษย์แลสัตว์ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง

หากยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตน เป็นของๆตน
แต่แล้ววันหนึ่งมันก็ต้องเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย หรือดับไป
เช่น เมื่ออายุมากขึ้นใบหน้าเหี่ยวย่นก็เกิดความเสียใจ
เมื่อใดที่สีผมเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาว ก็เกิดความเศร้าสลดใจ
เมื่อฟันมันโยกคลอนก็ทุกข์เพราะเจ็บปวด ฯลฯ
ทุกอย่างทนอยู่สภาพเดิมมิได้
เราต้องเข้าใจ และตระหนักในสิ่งดังกล่าว

อนัตตา คือความไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีแก่นสาร
ของสรรพสิ่งทั้งปวง ดังที่กล่าวมาแล้ว
คือ ร่างกายของมนุษย์แลสัตว์ ล้วนไม่ใช่ตัวตน ไม่มีแก่นสาร

เพราะประกอบด้วยธาตุต่างๆ มารวมตัวกันจึงเกิดเป็นสิ่งมีชีวิต
ซึ่งเรามาสมมติเอาเองว่า นี่คือมนุษย์ นี่คือสัตว์ นี่คือผู้หญิง นี่คือผู้ชาย
ครั้นมาพิจารณาดู ธาตุต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายบ้าง
เช่นธาตุดิน ก็ประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆ อีกจำนวนมาก
เช่นฝุ่นละออง เหล็ก แคลเซี่ยม วิตามิน ไขมัน อื่นๆอีกมากมาย
ธาตุอื่นๆก็ล้วนแต่ประกอบขึ้นด้วยอนูเล็กๆอยู่จำนวนมาก เช่นกัน
จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเขาหรือตัวใคร ของใครทั้งสิ้น
ล้วนแต่เป็น อนูเล็กๆ พลุกพล่าน เกิดดับๆๆ อยู่ตลอดเวลา

มันเป็นกฎธรรมชาติ เป็นสัจธรรม เกิดขึ้นเอง มีเอง ในธรรมชาติ
มิได้มีผู้ใดเป็นคนสร้าง หรือเป็นผู้วางกฎความจริงนี้ไว้
พระพุทธเจ้า ก็มิใช่ผู้ตั้ง ผู้บัญญัติกฎของไตรลักษณ์นี้ขึ้นแต่อย่างใด
เป็นแต่เพียงพระองค์เป็นผู้ค้นพบกฎความจริงดังกล่าว

มาตีแผ่ให้มนุษย์ เทวดา สรรพสัตว์อื่นๆ
ได้รู้ได้เข้าใจในกฎความจริงอันนี้เท่านั้น
เมื่อกฎของความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มันมีอยู่อย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้
ใครจะดัดแปลง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ไม่ได้
หากผู้ใด บุคคลใด หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
ว่ามันเป็นตัว เป็นตน เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราหรือของเขาเมื่อใด
บุคคลผู้นั้นย่อมมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
เวียนว่ายตายเกิดในภพแล้วภพเล่า
พบกับความทุกข์ตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุด

ตรงข้ามหากผู้ใด บุคคลใด สัตว์เหล่าใด
เห็นความจริงและเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น
ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนแล้ว ย่อมคลายความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นอนุสัย
เป็นอาสวะกิเลศที่นอนเนื่องในจิตไร้สำนึก
หรือที่เรียกว่าสัญชาติญาณนั้น

ให้ค่อยๆหลุดลอก จางหายไป
จนกิเลศทั้งหลายทั้งปวงหมดสิ้นจาก ทั้งจิตไร้สำนึก จิตใต้สำนึก
รวมทั้ง จิตสำนึก แล้ว

เขาย่อมหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
หลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร บรรลุมรรคผลนิพพาน
ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

และมีกฎธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง
ที่ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เคยเห็น
จากประสบการณ์ในอดีตมาก่อนเข้าร่วมวิปัสสนาในครั้งนี้

นั่นคือ
การกำจัดกิเลส ด้วยอุเบกขา
กิเลส ของมนุษย์ มีทั้งกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด

กิเลสอย่างหยาบ สามารถกำจัดด้วยศีล
การรักษาศีล เช่นศีล 5 ก็จะสามารถกำจัดการกระทำบาปอกุศลต่างๆ
เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การพูดปด การประพฤติผิดในกาม
การเสพสิ่งเสพติด เป็นต้น
ศีลยิ่งรักษาได้มากข้อเพียงใด
ยิ่งทำให้กิเลสอย่างหยาบหลุดล่วงไปได้มากเพียงนั้น
ผู้รักษาศีลอยู่เป็นนิจ ย่อมเป็นผู้ไม่เสื่อม
ย่อมพบแต่ความสุข ความเจริญยิ่งๆขึ้นไป

กิเลสอย่างกลาง กำจัดด้วยสมาธิ
เมื่อจิตที่เป็นสมาธิตั้งมั่น มีความสงบนิ่งอยู่ไม่ซัดส่าย
ไม่คิดปรุงแต่งต่อกิเลสทั้งหลาย ย่อมกำจัดกิเลสอย่างกลางได้

และ จะข่ม กดไม่ให้อาสวะกิเลสที่นอนเนื่องในอนุสัย
ในจิตไร้สำนึกบางส่วนไม่ให้ก่อความทุกข์ได้

เช่นเมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่น มีอุเบกขาเป็นอารมณ์
ไม่มีอารมณ์อื่นใดเข้ามากวน ไม่มีความรู้สึกสุข ทุกข์
วางเฉยเป็นกลางๆอยู่

จิตที่เป็นอุเบกขานี้ย่อมกำจัด ความรักใคร่ในกาม
ความง่วงเหงาหาวนอน ความพยาบาท
ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย เป็นต้น
แต่เมื่อใดที่ออกจากสมาธิ
อาสวะกิเลสเหล่านี้ก็โผล่ขึ้นมาเล่นงานได้

กิเลสอย่างละเอียด เช่นความยึดมั่นถือมั่นร่างกายและจิตใจว่า
เป็นตัวตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา ของเขา
ความกลัว ความรู้สึกสุข
อวิชชาหรือความไม่รู้ในความเป็นจริงของธรรมชาติ ฯลฯ
ลำพังศีล และสมาธิ ไม่สามารถที่จะกำจัดออกได้

เนื่องจากเป็นอาสวะกิเลสที่ฝังแน่น ภายใต้จิตไร้สำนึก
ที่แต่ละคนสะสมมาตั้งแต่อดีต
ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านภพ-ชาติมาแล้ว
จึงยากที่จะกำจัดออกได้โดยง่าย

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้มาด่าเรา ตัวเราจะรู้สึกโกรธขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว
และจะเกิดปฏิกริยาทางร่างกายโต้ตอบ
เช่นตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปวดตึงตามใบหน้า เป็นต้น

ความโกรธ เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณภายใต้จิตไร้สำนึก
จิตใต้สำนึกยังไม่รับรู้เลย
ต่อมาจิตใต้สำนึกจึงปรุงแต่งเป็นความต่อต้านขึ้น
เช่น ต้องตอบโต้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายๆวิธี เป็นต้น

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อตอนที่เรานอนหลับ
ถ้าร่างกายรู้สึกร้อนในขณะหลับ จิตไร้สำนึกจะสั่งให้ถอดเสื้อออก
หรือยันผ้าห่มออกไปจากร่างกาย หรือเวลามียุงมากัด
จิตไร้สำนึกจะสั่งให้ปัดยุง หรือตบยุง หรือเกาบริเวณที่ถูกกัดนั้น
จนเป็นรอยผื่นแดง

เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่า เสื้อหรือผ้าห่มหล่นไปกองอยู่ข้างเตียง
หรือมีรอยผื่นแดงและคันบริเวณที่ถูกยุงกัด
ทั้งๆที่ในขณะหลับอยู่นั้นเราไม่รู้สึกตัวเลยว่าได้ถอดเสื้อ
หรือยันผ้าห่มออกไป หรือเกา

เพราะจิตสำนึกมันหลับอยู่
ต่อเมื่อตื่นนั่นแหละจิตสำนึกมันจึงจะทำงานรับรู้ต่อไป
จะเห็นได้ว่ากิเลสที่เกิดภายใต้จิตไร้สำนึกนี้
ยากต่อการกำจัดออกไปได้
จึงต้องใช้ปัญญาที่เกิดจากการได้สำผัสจริงๆ ด้วยตนเอง
จึงจะกำจัดได้

เช่น เมื่อยังเด็กเรายังไม่รู้ว่า โทษของกระแสไฟฟ้ามันเป็นอย่างไร
ก็เล่นซุกซน เอาไม้ไปเสียบ เอามือไปแหย่ปลั๊กไฟ
จนเกิดไฟฟ้าช็อต รู้สึกเจ็บปวด
จิตไร้สำนึกจะสั่งให้รีบเอามือออกจากปลั๊กไฟทันที

และต่อมาความจดจำอย่างฝังใจจะบังเกิดขึ้น ปัญญาจึงเกิดขึ้น
เราจะไม่กล้าเอามือไปแหย่ให้ไฟช็อตอีกเลย
ตราบเท่าที่ยังมีสติจำความได้
จึงเป็นปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์จริงๆ ได้สัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ

เช่นเดียวกัน เมื่อจิตมีสมาธิตั้งมั่น
ก็จะเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ของขันธ์ ทั้ง 5
คือ รูป (ร่างกาย)
เวทนา (ความรู้สึกทุกข์ สุขหรือเฉยๆ)
สัญญา (ความจำได้หมายรู้)
สังขาร(ความปรุงแต่งต่างๆ)
วิญญาณ(ความรับรู้อารมณ์ต่างๆ)

เมื่อเห็นแล้วก็วิปัสสนาหรือพิจารณาอย่างแยบคาย ให้เห็นโดยละเอียด
เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร เกิดดับๆๆ
เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวอึดอัด แน่นตึง มึนชาตัวสั่น ตรงนั้นตรงนี้อยู่ตลอดเวลา
ร่างกายทุกส่วนล้วนเกิดดับๆๆ เปลี่ยนแปลง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตลอดเวลา
เมื่อเห็นดังนี้ ปัญญาจึงเกิด จะค่อยๆคลายความยึดมั่นถือมั่นลงไป
จนกระทั่งหมดไปในที่สุด

และเมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆ จะเห็นว่า
เมื่อเราเกิดความกลัว โกรธ พยาบาท หรือไม่ชอบใจเกิดขึ้น
ลมหายใจจะแรง ถี่ รู้สึกเจ็บปวด อึดอัด แน่นตึง ตัวสั่น
ตามส่วนต่างๆของร่างกาย
และเมื่อสังเกตดูด้วยใจที่เป็นกลาง(อุเบกขา)
ไม่ปรุงแต่งตอบโต้ปฏิกริยาเหล่านั้น
ความเจ็บปวด แน่นตึง อาการต่างๆจะตั้งอยู่ระยะหนึ่ง
และค่อยๆดับไปในที่สุด
สักพักก็จะเกิดขึ้นที่จุดเดิมหรือจุดอื่นๆ อีก
ไม่เหมือนเดิม และค่อยๆดับไป เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อเราเฝ้าดูอาการต่างๆที่เกิดขึ้นตามร่างกาย(เวทนา) ไปเรื่อยๆ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นอุเบกขา
ไม่ต่อต้าน หรือยินดี ในความทุกข์
หรือความสุขที่เกิดขึ้นนั้นๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

จนในที่สุดเวทนา ความรู้สึกต่างๆ จะหายไป
ไม่มีความเจ็บปวด ความอึดอัดแน่นตึงหายไป

มีความรู้สึกเบาสงบ เย็นสบาย เกิดปิติปราโมทย์ขึ้น
อย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนในชีวิต ปัญญาจึงเกิดขึ้น

เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้น อาการทางร่างกายจะปรากฏเป็นความเจ็บปวด
ความอึดอัด แน่นตึง ตัวสั่น หรือเย็นสบาย
และหากเฝ้าดูด้วยจิตที่เป็นกลาง(อุเบกขา)
กิเลสที่เกิดขึ้นนั้นๆ ก็จะค่อยๆหลุดออกไป ระลอกแล้วระลอกเล่า
ไม่อาจกล่าวได้ว่ากี่ชั่วโมง กี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี กิเลสจึงจะหมด
ขึ้นอยู่กับความเพียรปฏิบัติ
และความแน่นหนาของกิเลสในแต่ละบุคคล

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกเจ็บปวด หรือแน่นตึง มึนชา หรือตัวสั่น
ในขณะที่จิตมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ ก็แสดงว่าอาสวะกิเลส
อันได้แก่ ความกลัว ความโกรธ ความพยาบาท ความหลง ฯลฯ
ที่ตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิตไร้สำนึก

ได้ถูกเขย่าให้หลุดลอยขึ้นมาเหนือผิว
และหากเราเพียงแต่คอยเฝ้าสังเกตดูเฉยๆ
ด้วยใจที่เป็นกลาง (อุเบกขา)
อาการต่างๆที่เกิดขึ้นทางร่างกาย ก็จะค่อยๆดับไป

นั่นแสดงว่า อาสวะกิเลสได้หลุดออกไปจากจิตเราแล้ว 1 ครั้ง
และเมื่ออาการต่างๆเกิดขึ้นอีก
ก็เพียงแต่เฝ้าดูอีกด้วยใจที่เป็นกลาง เฉยๆ
ไม่ปรุงแต่ง ชอบหรือไม่ชอบ จนกระทั่งดับไป
เกิดแล้วดับๆๆๆ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า
กิเลสที่นอนเนื่องตกตะกอนอยู่ก็จะค่อยๆถูกกำจัดออกไป

หากเฝ้าปฏิบัติวิปัสสนาไปเรื่อยๆ โดยไม่ลดละความเพียร
ในที่สุดกิเลสที่นอนเนื่องตกตะกอนอยู่
ก็จะค่อยๆถูกกำจัดออกไปอย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกัน เมื่อใดที่เรามีความรู้สึกสุข ปิติยินดี เบาสบายกาย
กิเลสในทางบวกอันได้แก่ ความรักใคร่ พอใจ ชอบใจ
ก็จะหลุดลอยขึ้นมาเหนือผิว
หากเพียงแต่เฝ้าดูอาการด้วยใจที่เป็นกลาง
ไม่ปรุงแต่งว่าชอบใจ พอใจ
อาการนั้นๆก็จะค่อยสงบลง และหายไป

ก็แสดงว่ากิเลสในทางบวกก็จะถูกกำจัดออกไป เช่นกัน
ความสุขทั้งหลายก็เป็นกิเลส ซึ่งจะก่อความทุกข์ตามมาเช่นกัน

ผู้ที่หวังหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
จำเป็นต้องละกิเลสทั้งความทุกข์
และความสุขให้หมดสิ้นไปอย่างสิ้นเชิงจึงจะหลุดพ้นได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จริงด้วยตนเอง
และความรู้ที่ได้จากการได้ยินได้ฟังมา
และจากการพินิจพิจารณาอย่างแยบคาย
และมีบางส่วนที่ไม่อาจจะอธิบายเป็นคำพูด หรือตัวหนังสือได้
เพราะธรรมชาติเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน

บางครั้งก็อยู่เหนือเหตุเหนือผลที่มนุษย์จะพึงหามาอธิบายได้
จึงมิอาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้เลย

นับเป็นอานิสงค์อันยิ่งใหญ่ ประเสริฐยิ่ง
ยิ่งกว่าการได้สร้างมหาเจดีย์ทองคำ
ครั้งแล้วครั้งเล่า ชาติแล้วชาติเล่า

มิเพียงแต่ข้าพเจ้าเองที่จะได้รับอานิสงส์นี้
ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เช่นท่าน มงคล กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส
ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายวินัยและสวัสดิการ คุณอนุสิทธิ์ ชมวงศ์
ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการนิติกรรมฯหนองคาย
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกๆท่าน ตลอดจนชาวกรุงไทยทุกคน
จะต้องได้รับอานิสงค์นี้เช่นกันไม่มากก็น้อย

สรุปสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเข้าไปวิปัสสนา

1. ได้ประพฤติพรหมจรรย์
อันได้แก่การรักษาศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์
2. ได้รู้ เข้าใจ ในความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ อันได้แก่ กฎไตรลักษณ์ และการประหารกิเลสด้วยอุเบกขา
3. มีความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น สัตว์อื่น อย่างหาประมาณมิได้
4. เป็นที่รักและเคารพต่อสุจริตชนทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย
5. ความทุกข์ทั้งปวงจะค่อยๆจางหายไป ความสงบสุขทั้งกายและใจจะเข้ามาแทนที่
6. ความมีสติ มีสมาธิ และอุเบกขา ต่อการประกอบกิจใดๆ ทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวันจะมีมากขึ้น
7. หลุดพ้นจากอบายภูมิ อันได้แก่ ภูมิของสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และสัตว์นรก
8. ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ย่อมได้รับความคุ้มครองจากพระรัตนตรัย เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง
9. ได้อานิสงค์อันยิ่งใหญ่ และประเสริฐยิ่งกว่า การได้สร้างเจดีย์ทองคำมาแล้วหลายภพหลายชาติ

2. สิ่งที่ธนาคารจะได้รับจากการให้พนักงานไปเข้าวิปัสสนา

1. ธนาคารฯ จะมีบุคคลากรที่เต็มเปี่ยมไปด้วย ความรัก ความเมตตา
ความเสียสละ และให้อภัยต่อผู้อื่น เพิ่มขึ้น
2. ธนาคารจะไม่เกิดความเสียหายทั้งชื่อเสียง และทรัพย์สิน
จากผู้ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนานี้ เพราะผู้ที่ผ่านการฝึกปฏิบัติในแนวนี้
ย่อมเป็นผู้ที่ยึดมั่นใน ศีล สมาธิ และปัญญา
ย่อมไม่เบียดเบียน รังแกผู้อื่น ไม่ทุจริตต่อหน้าที่
ย่อมเป็นผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยความปรารถนาดีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อองค์กร
3. ผู้ผ่านการปฏิบัติธรรมตามแนวนี้ ย่อมตระหนักถึงผู้มีพระคุณ
อันได้แก่องค์กร ลูกค้า ตลอดจนเพื่อนร่วมงานทุกคน
ย่อมประพฤติปฏิบัติตนในอันที่จะก่อประโยชน์ต่อองค์กร ต่อลูกค้า
และเพื่อนพนักงาน ทั้งต่อหน้าแลลับหลัง
ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
เช่น พนักงานผู้ที่ผ่านการวิปัสสนาย่อมพยายามเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นไป โดยไม่เรียกร้องหรือหวังสิ่งตอบแทน
4. ความขัดแย้งของบุคลากร จะลดลง ความสมัครสมานสามัคคีจะเข้ามาแทนที่
ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแนวนี้
(วิปัสสนาสากล ในแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า)
จะไม่สร้างความตึงเครียดภายในองค์กร จะไม่เอารัดเอาเปรียบ
โกรธ อาฆาตต่อเพื่อนร่วมงาน มีแต่ความเสียสละและให้อภัย
และปรารถนาดีต่อผู้อื่น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้
ล้วนเป็นความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ค้นพบ
และตรัสสั่งสอนไว้ เป็นกฎความจริงทางธรรมชาติ
ที่ไม่มีผู้ใดตั้งขึ้น บัญญัติขึ้น มันเป็นเอง มีขึ้นเองตามธรรมชาติ
เป็นปัจจัตตัง ผู้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ย่อมรู้เอง
เห็นเอง
ผู้ไม่ปฏิบัติจะเห็นธรรมะได้อย่างไร เปรียบเสมือนมีคนมาบอกว่า
ส้มลูกนี้หวานนะ หากเราไม่ลองชิมดูจะทราบได้อย่างไรว่ามันหวาน
มันอาจจะเปรี้ยว ขื่นขม หรือเป็นอย่างอื่นก็ได้
ต่อเมื่อเราได้ชิมแล้วจึงรู้ว่า โอ้ส้มลูกนี้หวานจริงหนอ
หรือโอ้ นี่เราถูกหลอก มันเปรี้ยวต่างหาก อย่างนี้เป็นต้น
เฉกเช่นเดียวกับธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน
พระองค์ได้ทดลองปฏิบัติ ได้รับรสของธรรมะแล้ว
จึงได้ตรัสสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
ผู้ใดประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้ว
ย่อมถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน
ผู้ที่รู้แล้วแต่ไม่ยอมทดลองปฏิบัติเลย ย่อมไม่เห็นสัจจธรรม
จะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างไร

ข้าพเจ้า เป็นเพียงผู้หนึ่งซึ่งศรัทธาในคำสอนของพระพุทธองค์
แม้จะได้เพียรปฏิบัติมาบ้างแล้วหลายปี แต่ยังไม่มีวี่แววที่จะเกิดปัญญา
เห็นความจริงของธรรมชาติด้วยประสบการณ์จริง
แม้จะรู้ว่าร่างกายมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็เพียงได้อ่านได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น

แต่เมื่อได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าแล้ว
รู้สึกตรงกับจริตของตนเอง
จิตมีสมาธิ ตั้งมั่น และมีอุเบกขาเร็วกว่าที่เคยปฏิบัติมา
อีกทั้งได้สัมผัสความเป็นอนิจจังของสังขาร
ด้วยประสบการณ์จริงข้าพเจ้าจึงแน่ใจแล้วว่า
แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง
เป็นแนวทางที่ข้าพเจ้าพึงยึดถือปฏิบัติต่อไป
จนกว่า ขันธ์ 5 จะแตกสลายไป
และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
จึงได้แสดงความคิดเห็นมาค่อนข้างยาวนี้เพื่อเป็นธรรมทาน
ขอเพื่อนชาวธนาคารกรุงไทยทั้ง-หลาย
มนุษย์ทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
ขอให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
ขอให้อย่าได้มีความลำบากกาย ลำบากใจเลย
ขออย่าได้มีเวรมีภัยต่อกัน และกันเลย
ขออย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
ขอให้มีโอกาสได้ข้ามพ้นวัฏฏสงสาร เทอญ...

_/_ _/_ _/_ _/_ _/_ _/_ _/_

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=mahatep
บันทึกการเข้า

หมิว

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +3/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 398
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ลำนำวิปัสสนา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มกราคม 30, 2011, 11:49:22 am »
0


เดี๋ยวนี้ชอบวิปัสสนา มากคะ
บันทึกการเข้า
ใจดี น่ารัก และ ไม่ชอบคนที่กวน...ใจ
แสงพระธรรม นำทาง นำสู่ใจ ได้รับแสงสว่าง
แสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาไม่มี

ธุลีธวัช (chai173)

  • ปัญญา นัตถิ อฌายโต “ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ”
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +35/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 2905
  • Respect: +2
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: ลำนำวิปัสสนา
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มกราคม 30, 2011, 07:13:42 pm »
0
เดี๋ยวฟุ้งซ่านงุ่นง่านเดี๋ยวง่วงเหงา
เดี๋ยวซึมเซาสงบเดี๋ยวสงสัย
เดี๋ยวโกรธเกลียดเดือดดาลรำคาญใจ
เดี๋ยวยึดไว้ท้อถอยเดี๋ยวปล่อยวาง

เดี๋ยวปวดหัวตัวร้อนนอนเป็นไข้
เดี๋ยวห่วงใยคิดถึงเดี๋ยวอ้างว้าง
เดี๋ยวอวดดีมีมานะไม่ละวาง
เดี๋ยวยิ้มกว้างร้องไห้ไม่พูดจา

เดี๋ยวปวดเข่าคันขาชาไปทั่ว
เดี๋ยวเบาตัวท้องจุกทุกข์หนักหนา
เดี๋ยวซู๊กสุข..เฉ๊ยเฉยเดี๋ยวเย็นชา
นี่กูบ้า..หรือเปล่า..ไม่เข้าใจ



              "นี่แหละ...คน!"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 30, 2011, 07:21:29 pm โดย THAWATCHAI173 »
บันทึกการเข้า
ศรัทธา, ศีล, พาหุสัจจะ, วิริยารัมภะ, ปัญญา