ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ปฐมสมโพธิกถา  (อ่าน 12799 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
ปฐมสมโพธิกถา
« เมื่อ: มิถุนายน 26, 2012, 12:05:36 pm »
0
ปริจเฉทที่ ๑ วิวาหมงคลปริวรรต
ตอนที่ ๑
วิวาหมงคลปริวรรต
พระเจ้าสุทโธทนะอภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายา


เนื้อความย่อ

 พระโพธิสัตว์ของเรา (ต่อมาคือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้) เคยเกิดเป็นพระเจ้ามหาสมมติเทวราชปกครองชมพูทวีป ทรงเป็นต้นพระราชวงศ์ “มหาสมมติหรือสมมติเทวราช” มีเหล่ากษัตริย์จากราชวงศ์นี้ต่อเนื่องมา ๘๔,๐๐๐ พระองค์

          ต่อมา เจ้าในราชวงศ์นี้ได้ตั้งราชวงศ์ใหม่ คือ “โอกกากราชวงศ์” มีกษัตริย์ต่อเนื่อง ๓ พระองค์ โดยพระเจ้าโอกกากราชพระองค์ที่๓ ทรงมีพระโอรสพระธิดากับพระอัครมเหสีพระองค์ใหญ่ รวม ๙ พระองค์ เป็นพระธิดา ๕ พระโอรส ๔

          หลังพระราชมารดาสิ้นพระชนม์ ทั้ง ๙ พระองค์ต้องเสด็จออกจากพระนคร เพราะพระราชบิดาได้ยกราชสมบัติให้แก่พระโอรสที่ประสูติจากพระอัครมเหสีพระองค์ใหม่ ซึ่งทั้ง ๙ พระองค์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ ๘ คน และหมู่ประชาชนพร้อมด้วยหมู่สัตว์พากันมุ่งหน้าไปทางป่าหิมพานต์ ได้พบกับกบิลพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญการดูพื้นที่ (ท่านว่าพราหมณ์นี้คือพระโพธิสัตว์ของเรา) ท่านแนะให้สร้างเมืองใหม่ตรงบริเวณที่ท่านอาศัยอยู่ในป่าสากะ แลให้ตั้งชื่อเมืองว่ากบิลพัสดุ์

          พระนครใหม่สร้างเสร็จแล้ว กษัตริย์เหล่านั้นยกพี่สาวคนโตให้เป็นดุจพระมารดา ทรงเกรงว่า ชาติตระกูลจะไม่บริสุทธิ์หากอภิเษกสมรสกับคนในราชวงศ์อื่น จึงอภิเษกสมรสกันเอง ๔ คู่ แล้วเจริญด้วยราชบุตรราชธิดาจำนวนมาก กษัตริย์เมืองใหม่นี้ได้ชื่อว่าศักยราชตระกูลหรือศากยวงศ์ สืบทอดราชวงศ์เรื่อยมา ซึ่งพระโพธิสัตว์ของเราในพระชาติหนึ่งก็เคยอุบัติในราชวงศ์นี้ คือสมัยที่ทรงเป็นพระเจ้าเวสสันดรหลังจุติแล้วทรงอุบัติในดุสิตภพ

          จนถึงสมัยพระเจ้าสีหหนุศากยะ ทรงส่งพราหมณ์ ๘ คน ออกเสาะแสวงหาสตรีที่คู่ควรแก่พระราชโอรสสุทโธทนะ ได้พบพระราชกุมารีสิริมหามายาผู้ทรงถึงพร้อมด้วยลักษณะของสตรีตามที่พราหมณ์ทำนาย ทรงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้อย่างยิ่งใหญ่ ณ พระนครเทวทหะ


          กลับถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว พระเจ้าสีหหนุทรงสละราชสมบัติมอบให้พระราชโอรสสุทโธทนะ เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงกบิลพัสดุ์

ปฐมกษัตริย์ “มหาสมมติวงศ์”

          ดังได้รู้มาในต้นปฐมกัป สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ของเราทั้งหลาย เกิดเป็นพระเจ้ามหาสมมติเทวราชปฐมกษัตริย์ เสวยราชสมบัติเป็นมหิสราธิปไตยในสกลชมพูทวีปนี้ มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า โรชราช พระเจ้าโรชราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า วรโรชราช พระเจ้าวรโรชราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า กัลยาณราช พระเจ้ากัลยาณราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่าวรกัลยาณราช พระเจ้าวรกัลยาราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่ามันธาตุราช พระเจ้ามันธาตุราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า สกมันธาตุราช๑ พระเจ้าสกมันธาตุราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า อุโบสถ พระเจ้าอุโบสถราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า วรราช พระเจ้าวรราชนั้นมีพระราชโอรสทรงพระนามว่า อุปวรราช พระเจ้าอุปวรราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า มฆเทวราช ได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์ เป็นลำดับมาถึง ๑๑ พระองค์ด้วยกัน

 

เกิดโอกกากราชวงศ์

          ลำดับแต่นั้นมา พระราชวงศานุวงศ์ได้เสวยราชสมบัติสืบกษัตริย์มาถึง ๘๔,๐๐๐ พระองค์ จึงถึงโอกกากวงศ์ทั้ง ๓ และพระเจ้าปฐมโอกกากราชได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์มาหลายชั่วกษัตริย์ จึงถึงพระเจ้าทุติยโอกกากราช พระเจ้าทุติยโอกกากราชเป็นบรมกษัตริย์ สืบพระวงศ์ต่อๆ กันมาจนถึงพระเจ้าตติยโอกกากราช

          พระเจ้าตติยโอกกากราชมีพระมเหสี ๕ พระองค์ คือ พระนางหัฏฐา  ๑ พระนางจิตตา ๑ พระนางชันตุ ๑ พระนางชาลินี ๑ พระนางวิสาขา ๑ พระมเหสีองค์หนึ่งๆ มีนางสนมเป็นบริวาร ๕๐๐ๆ ก็แลพระนางหัฏฐาซึ่งเป็นพระเชษฐอัครมเหสีใหญ่นั้นมีพระราชบุตร ๔ พระองค์ คือ โอกกากมุขราชกุมาร ๑ กรัณฑราชกุมาร ๑ หัตถินิเกสิราชกุมาร ๑ นิปุรราชกุมาร ๑ แลมีพระราชบุตรีอีก ๕ พระองค์ คือ นางปิยาราชกุมารี ๑ นางสุปิยาราชกุมารี ๑  นางอานันทาราชกุมารี ๑ นางวิชิตาราชกุมารี ๑  นางวิชิตาเสนาราชกุมารี ๑ รวมพระบุตรแลพระบุตรีเป็น ๙ พระองค์ด้วยกัน

 

พระเจ้าโอกกากราชที่ ๓ ยกราชสมบัติให้พระโอรสองค์เล็ก

          ครั้นสืบมา ณ กาลภายหน้า พระมเหสีผู้ใหญ่นั้นสิ้นพระชนม์ลง สมเด็จบรมกษัตริย์จึงไปนำมาซึ่งนางราชธิดาองค์อื่นอันทรงอุดมรูป ตั้งไว้ ณ ที่เป็นอัครมเหสีผู้ใหญ่ แลนางนั้นมีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงนามชันตุราชกุมาร ครั้นพระราชกุมารนั้นพระชนม์ได้ ๕ เดือน พระมารดาจึงประดับด้วยเครื่องราชกุมารปิลันธนาภรณ์นำขึ้นเฝ้าพระราชบิดา พระราชบิดาได้ทอดพระเนตรพระราชโอรสอันทรงสรีรรูปอันงาม ก็ทรงพระสิเนหปราโมทย์ จึงดำรัสพระราชทานพรแก่พระนางผู้เป็นมารดาว่า เจ้าจะปรารถนาพรอันใดก็จะให้สำเร็จมโนรถ

          แลนางนั้นได้โอกาสจึงคบคิดกับหมู่ญาติทั้งปวงทูลขอราชสมบัติให้แก่บุตรของตน สมเด็จบรมกษัตริย์ตรัสคุกคามว่า หญิงร้าย ไฉนเจ้ามากล่าวความพินาศฉิบหายปรารถนาจะกระทำอันตรายแก่โอรสผู้ใหญ่ของเราดังนี้ แลนางนั้นก็คอยท่วงที เมื่อเสด็จเข้าสู่ที่สิริครรภไสยาสน์ กระทำประโลมด้วยอิตถีมายายังพระภัสดาให้ยินดีด้วยวิธีกามเสวนกิจ แล้วพิดทูลวิงวอนว่า พระองค์เป็นบรมกษัตริย์ ได้ออกพระโอษฐ์พระราชทานพรอนุญาตแก่ข้าพระบาทแล้ว ซึ่งจะมิได้โปรดพระราชทานให้สมซึ่งประสงค์แห่งข้าพระองค์นั้นมิสมควร

 

พระโอรสพระธิดา ๙ พระองค์ต้องออกจากเมือง

          สมเด็จพระเจ้าโอกกากราชทรงคิดละอายพระทัยด้วยได้ลั่นพระโอษฐ์ออกแล้วเกรงจะเสียสัตย์ จึงดำรัสให้หาพระราชโอรสทั้ง ๔ มาเฝ้า แล้วตรัสเล่าความตามนัยหนหลัง แล้วตรัสสั่งว่าเจ้าจะปรารถนาช้างม้าแลรถรี้พลสักเท่าใด ก็จงนำไปเท่านั้น เหลือไว้แต่คชาชาติราชอัสสดุรงครถซึ่งสำหรับพระนคร จงพาจตุรงคนิกรทั้งปวงไปจากราชพารา ช่วยรักษาสัตย์ของบิดาไว้ ต่อเมื่อบิดาสวรรคาลัยแล้ว จึงกลับมาคืนเอาราชสมบัติ แล้วตรัสสั่งอมาตย์ ๘ นาย ให้ไปกับพระราชโอรสช่วยทำนุบำรุงรักษาอย่าให้มีภัยอันตรายได้

          พระราชกุมารทั้ง ๔ รับพระราชปริหารแล้ว กราบถวายบังคมลา ต่างองค์ทรงพระโสกาดูรพิลาปด้วยปิยวิปโยคทุกข์ซึ่งจะจำจากกัน แล้วทูลขอขมาโทษพระราชบิดา แลอำลาพระราชวงศานุวงศ์กับทั้งหมู่อนงค์นางสนมทั้งปวง แล้วพาพระเชษฐภคินีแลพระกนิษฐภคินีทั้ง ๕ พระองค์ออกจากพระนคร กับด้วยจตุรงคนิกรและอมาตย์ทั้ง ๘ เป็นบริวาร

          ส่วนประชาชนหญิงชายทั้งหลายได้แจ้งเหตุว่า พระราชกุมารจะเสด็จคืนมาครอบครองราชสมบัติในกาลเมื่อพระบรมกษัตริย์ราชบิดาทิวงคตแล้ว ก็ชวนกันดำริว่า เราจะติดตามไปอุปัฏฐากพระราชกุมาร ก็พากันตามเสด็จไปจากพระนครเป็นอันมาก แล้วเดินทางไปล่วง ๓ วันแล้ว สิ้นหนทางถึง ๓ โยชน์ ก็ยังไม่สิ้นรี้พลประชาชนอันตามเสด็จ

          จึงพระราชกุมารทั้ง ๔ มี พระโอกกากมุขเชษฐาธิราชเป็นประธาน ก็ตรัสปรึกษากันว่า พลนิกายของเรามากกว่ามาก แม้จะยกไปย่ำยีตีพระยาสามนตราชเมืองหนึ่งเมืองใด ชิงเอาบ้านเมืองแลชนบทแว่นแคว้น ก็จะได้สมความปรารถนาแลท้าวพระยาทั้งหลายเหล่านั้น ก็จะสู้รบเราไม่ได้ คงจะปราชัยพ่ายแพ้ แต่ทว่าจะประโยชน์อันใดด้วยจะเบียดเบียนเอาสมบัติบ้านเมืองของผู้อื่น และแผ่นพื้นชมพูทวีปก็ใหญ่กว้างควรจะไปสร้างนครในอรัญประเทศ ให้พ้นเขตแดนท้าวพระยาสามนตราชทั้งปวง ก็ดำเนินพลบ่ายหน้าเฉพาะป่าหิมพานต์ เที่ยวแสวงหาที่ภูมิสถานอันจะสร้างพระนครใหม่

 

กบิลพราหมณ์โพธิสัตว์แนะให้สร้างเมืองใหม่

          ในกาลนั้น พระบรมโพธิ์สัตว์แห่งเรา บังเกิดในสกุลพราหมณมหาศาลมีนามกบิลพราหมณ์ พิจารณาเห็นโทษในเบญจกามคุณจึงเสียสละสมบัติออกบรรพชาเป็นดาบส ไปสร้างบรรณศาลาสถิตอยู่ในสากพนสณฑ์ แทบใกล้ฝั่งสระโบกขรณี อันมีอยู่ ณ ชายป่าหิมวันตประเทศ แลพระผู้เป็นเจ้ารู้ในภูมิดลมงคลวิทยา พิจารณาเห็นคุณแลโทษในโอกาสสูงขึ้นไปได้ ๘๐ ศอก ในภายใต้ปฐพีลึกลงไปได้ ๘๐ ศอกดุจกัน และในภูมิประเทศที่แห่งนั้นมีกอหญ้าแลกอลดาวัลย์เวียนเป็นทักษิณาวรรตผันไปฝ่ายปราจีนทิศทั้งสิ้น ฝูงสัตว์ทั้งหลายเป็นต้นว่าสีหพยัคฆ์ไล่ซึ่งมฤคสุกรมาแลวิฬาร์ไล่ซึ่งหนู งูไล่ซึ่งมณฑกชาติมาถึงที่นั่น แล้วก็มิอาจติดตามต่อไปได้ สัตว์ที่แพ้นั้นกลับไล่คุกคามเอาสัตว์ที่มีอำนาจให้ปลาตนาการกลับไป เป็นที่ชัยมงคลภูมิประเทศพระดาบสแจ้งเหตุฉะนี้จึงจัดแจงสร้างบรรณศาลาอาศัยอยู่ในที่นั้น

          ครั้นพระผู้เป็นเจ้าเห็นพระราชกุมารทั้งหลายยาตราพลาพลนิกายมาเป็นอันมาก จึงได้ถามทราบความว่าสืบแสวงหาที่จะสร้างพระนคร ก็มีความกรุณาปรารถนาจะอนุเคราะห์ให้เป็นประโยชน์แก่พระราชกุมารทั้งปวง จึงบอกเหตุว่า บพิตรจงสร้างพระนครลงในที่บริเวณบรรณศาลาของอาตมานี้เถิด แลเมืองอันนี้นานไปภายหน้าจะเป็นอัครนครปรากฏในชมพูทวีป ผิวบุรุษบังเกิดในพระนครนี้จะมีอานุภาพมาก คนเดียวก็อาจสามารถจะข่มขี่ผจญเสียได้ซึ่งบุรุษอื่นร้อยคนพันคนให้พ่ายแพ้อำนาจ จงสร้างปราสาทราชคฤหสถานลงตรงที่บรรณศาลานี้ ผิวผู้ใดสถิตในที่นี้ถึงแม้นมาตรว่าเป็นบุตรคนจัณฑาลก็จะมีพลานุภาพมาก อาจข่มขี่เสียได้ซึ่งปัจจามิตร ดุจพลานุภาพแห่งบรมจักรพรรดิเป็นแท้ พระราชกุมารจึงเผดียงถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจะไปอยู่ ณ ที่ใด ดูก่อนบพิตร อย่าได้ทรงพระปริวิตกเลยด้วยที่อยู่ของอาตมา แลอาตมาก็จะไปสร้างบรรณศาลาอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่งนอกพระนคร บพิตรจงตั้งนามกรเมืองนี้ชื่อกรุงกบิลพัสดุ์เถิด

เกิดพระนครกบิลพัสดุ์

          แลพระราชกุมารทั้ง ๔ มีพระโอกกากมุขเชษฐาธิราชเป็นประธาน ก็ให้ฐาปนาการพระนครแลปราสาทราชนิเวศนฐานลงในที่นั้นๆ ตามคำพระดาบสเสร็จแล้ว ก็ตั้งนามบัญญัติชื่อกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี เหตุเป็นที่พระกบิลดาบสประสาทประสิทธิ์ให้ ก็เสด็จเข้าอาศัยสถิตสำเร็จนิวาสกิจกับด้วยหมู่อมาตย์และราษฎรประชาจตุรงคโยธาทั้งหลายในพระนครนั้น อันนี้เป็นเรื่องอุบัติแห่งกรุงกบิลพัสดุ์มหานคร โดยนัยพรรณนามานี้

 

เกิดศักยราชตระกูลจากการอภิเษกสมรสกันเอง

          ลำดับนั้น อมาตย์ทั้ง ๘ จึงปรึกษากันว่า พระราชกุมารทั้งหลายนี้ก็ทรงเจริญวัยวัฒนาถ้าอยู่ในสำนักพระราชบิดา ก็จะกระทำอาวาหวิวาหมงคลการ ก็กาลบัดนี้ เราทั้งหลายเป็นผู้ใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดให้มาทำนุบำรุงบริรักษ์พระราชกุมาร แลการอันนี้ก็เป็นภารธุระของเราควรจะจัดแจงจึงจะชอบ ก็ชวนกันเข้าไปกราบบังคมทูลปรึกษาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปขอพระราชธิดาแห่งกษัตริย์เมืองอื่นมาอภิเษกกับด้วยพระองค์


          เมื่อพระราชกุมารทั้งหลายทรงสดับดังนั้น จึงตรัสตอบว่า เรามิได้เห็นนางขัตติยราชธิดาแห่งกษัตริย์ทั้งหลายอื่น ซึ่งจะเป็นบรมขัตติยาสัมภินชาติชาตรีอันประเสริฐเสมอเหมือนด้วยเรา อนึ่ง ขัตติยราชกุมารทั้งหลายอื่นนั้นเล่าก็มิได้อสัมภินพงศ์กษัตริย์ชาติชาตรี เสมอเหมือนด้วยเชษฐกนิษฐภคินีโดยแท้ เบื้องว่าจะอภิเษกสังวาสกับด้วยขัตติยราชสกูลทั้งหลายอื่น เกรงว่าราชบุตรธิดาของเราซึ่งจะบังเกิดนั้น จะไม่เป็นขัตติยชาติอันบริสุทธิ์ฝ่ายข้างบิดาบ้าง ฝ่ายข้างมารดาบ้าง ก็จะถึงซึ่งชาติสัมเภทเสื่อมเสียขัตติยวงศ์ไป เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลายชอบใจจะอภิเษกสังวาส กับด้วยพระกนิษฐราชภคินีแห่งเรา ขัตติยวงศ์ของเราจึงจะบริสุทธิ์ขัตติยาสัมภินชาติโดยแท้

          และพระราชกุมารทั้งหลายจึงตั้งไว้ซึ่งเชษฐภคินี องค์เดียวนั้นในที่เป็นราชมารดาแล้ว ก็กระทำสกสกสังวาสกับด้วยพระกนิษฐภคินีทั้ง ๔ นางนั้นเป็นคู่ๆ กันด้วยกลัวชาติสัมเภท จนเจริญด้วยพระราชบุตรพระราชธิดาเป็นอันมาก เหตุดังนั้น กษัตริย์ทั้งหลายในกรุงกบิลพัสดุ์นั้นจึงได้นามกรปรากฏว่าศักยราชตระกูล เพราะทำสกสกสังวาสในราชวงศ์แห่งตนๆ อันนี้เป็นเรื่องต้นอุบัติเหตุแห่งศักยราชตระกูล

 

พระโพธิสัตว์เคยอุบัติในราชวงศ์นี้เป็นพระเวสสันดร

          จับเดิมแต่นั้นมา กษัตริย์ศักยราชทั้งหลายได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์ต่อๆ กันมาเป็นหลายชั่วกษัตริย์เป็นอันมากตราบเท่าถึงพระเจ้าสีวิราช พระเจ้าสญชัยราช แลพระเจ้าเวสสันตรราช ครั้งนั้นเปลี่ยนนามพระนครชื่อกรุงเชตุดร แลสมเด็จพระเวสสันตรราชได้เสวยราชสมบัติดำรงในทศพิธราชธรรม ทรงบริจาคพระยาเศวตปัจจัยนาคกับทั้งเครื่องคชาภรณ์อันมีราคาได้ ๒๔ แสนกหาปณะ ดำรงพระชนม์ตราบเท่าทิวงคต จุติขึ้นไปบังเกิดในดุสิตเทวโลก


          จึงพระชาลีราชโอรสได้ราชาภิเษกกับด้วยนางกัณหาชินากนิษฐภคินี ได้เสวยราชสมบัติสืบกันมา มีพระราชโอรสทรงพระนามพระสีวีวาหนราช พระสีวีวาหนราชมีพระราชโอรสทรงพระนามพระสีหัสสรราช พระสีหัสสรราชได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์เป็นลำดับมาเป็นอันมาก นับเป็นกษัตริย์ ๑๖๑,๐๐๐ พระองค์ จึงถึงพระเจ้าไชยเสนราช พระเจ้าไชยเสนราชมีพระราชบุตรทรงพระนามพระเจ้าสีหหนุราช ได้เสวยราชสมบัติสืบกันมา

พระเจ้าสีหหนุศักยะให้เหล่าอำมาตย์เสาะหาหญิงงามเพื่อพระราชโอรสสุทโธทนะ

ครั้งนั้น นามพระนครกลับเรียกกรุงกบิลพัสดุ์ดุจนามเดิม แลพระเจ้าสีหหนุราชนั้นมีพระราชโอรส ๓ พระองค์ ทรงพระนามพระสิริสุทโธทนราชกุมาร ๑ พระสุกโกทนราชกุมาร ๑ อมิตโตทนราชกุมาร ๑ มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ ทรงพระนามนางอมิตา ๑ นางปมิตา๑

          ในกาลนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงสีหหนุราชมีพระหฤทัยปรารถนาจะราชาภิเษกพระสิริสุทโธทนเชษฐราชโอรสผู้ใหญ่ ซึ่งทรงพระวัยวัฒนาการประดิษฐานไว้ในเศวตราชาฉัตร เสวยมไหศวริยสมบัติแทนพระองค์ ทรงพระดำริว่า ควรจะให้สืบแสวงหาซึ่งนางขัตติยราชธิดาอันอุดมวงศ์ ทรงซึ่งบวรรูปสิริโสภาคย์ แลบริบูรณ์ด้วยปัญจกัลยาณีอิตถีลักษณะ ๖๔ ประการ แลมีสันดานกอปรด้วยปริสุทธิศีลาจารวัตรมาอภิเษกในที่พระอัครมเหสี


จึงมีพระราชบัญชาดำรัสให้หามาซึ่งพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน อันถึงซึ่งฝั่งแห่งจตุเพทางคศาสตร์ เฉลียวฉลาดรอบรู้ทั่วไปในอิตถีลักษณะแล บุรุษลักษณะแลภูมิลักษณะทั้งสิ้น แล้วดำรัสสั่งโดยพระคาถาว่า จตุนฺนํ อิริยาปถานํ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความก็เหมือนกระแสพระราชดำริ แปลกออกไปแต่ดำรัสสั่งว่า ท่านทั้ง ๘ จงเที่ยวสืบเสาะแสวงหา ซึ่งนางรัตนกัญญาเราจะอภิเษกกับด้วยเจ้าสิริสุทโธทนราชโอรสของเราบนกองแก้ว แล้วจะประดิษฐานในที่เป็นอธิบดีกว่ากษัตริย์ศักยราชวงศ์ทั้ง ๖ แสน เป็นเอกอัครราชาธิราชอันประเสริฐกว่าพระยาทั้ง ๑๐๑ พระองค์ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเที่ยวสืบแสวงหาไปในทิศทั้งปวงแล้วพระราชทานทรัพย์ ๘,๐๐๐ กหาปณะแก่พราหมณ์ทั้ง ๘ กับมณีปิลันธนคิวาลังการาภรณ์เป็นบรรณาการข่าวสาส์นว่า ถ้าพบนางแก้วเห็นปานดังนั้นแล้ว ก็ให้ถวายแก้วอันเป็นเครื่องประดับพระศอนี้เป็นสำคัญไว้ แล้วก็ส่งพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นไปโดยพระราชประสงค์นั้น

ความงดงามของเจ้าหญิงสิริมหามายาแห่งเทวทหะ

          ในกาลนั้น พระสิริมหามายาราชเทวี มีมูลปณิธีกุศลได้ทรงบำเพ็ญมาแต่ศาสนา พระพุทธวิปัสสีศาสดาจารย์แลในที่นี้แสดงเรื่องความพิสดารดุจในมหาเวสสันดรชาดก ครั้นจุติจากชาติเป็นพระผุสดีก็ขึ้นไปอุบัติบังเกิดในดุสิตเทวพิภพ แล้วกลับจุติลงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ แห่งอัครมเหสีพระเจ้าชนาธิปราช ผู้เสวยสมบัติในเมืองเทวทหนคร ครั้นถ้วนกำหนดทศมาส ก็ประสูติจากพระครรภ์บริบูรณ์ไปด้วยรูปสิริโสภาคย์แลจตุสัฏฐีอิตถีลักษณะพร้อมทุกประการ

          และพระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาสรรเสริญซึ่งบุญสิริสมบัติว่า ตสฺสา ลกฺขณา วิสุทฺธา เป็นอาทิ อรรถาธิบายความเป็นสัมภาวนากถา พรรณนาพระรูปสิริวิลาสโดยพิสดาร มีทรงเบญจกัลยาณีเป็นอาทิ ยังพระราชธิดาให้สถิตในปราสาทแก้วแล้วให้หาพราหมณ์ทั้งหลายมาทำนายลักษณะ แลพราหมณาจารย์ผู้ถึงซึ่งฝั่งแห่งไตรเพทได้เห็นซึ่งพระราชทหรกุมารี จึงกล่าวสรรเสริญด้วยพระคาถาว่า อโห สุรูปา เวสานลา ชลนฺตา เป็นอาทิ อรรถาธิบายความเป็นสัมภาวนกถาโดยอเนกบรรยาย แล้วกราบทูลทำนายว่า พระราชธิดานี้ทรงพระอุดมรูปสิริวิลาสจะปูนเปรียบเสมอสองนั้นมิได้มี ทรงซึ่งนารีลักษณะทั้ง ๖๔ พร้อมบริบูรณ์เป็นเอกอัครรัตนกัญญาตั้งแต่อโธทิศาภาคอเวจี ตราบเท่าถึงอุทธังคทิศภวัครพรหมเป็นที่สุด มิได้มีเทพยดามนุษย์นารีใดจะเปรียบปานอาจจะให้ซึ่งสุขทั้ง ๓ ประการ กล่าวคือ มนุษยสุข ทิพยสุข นิพพานสุข ด้วยพระอานุภาพแห่งพระราชธิดานี้เป็นแท้

 

พวกพราหมณ์ทำนายว่าจะทรงเป็นพระพุทธมารดา

          สมเด็จบรมกษัตริย์จึงตรัสถามว่า ธิดาของเราจะได้เป็นเอกอัครมเหสีแห่งบรมจักรพัตราธิราชในโลกนี้หรือ หรือว่าจะมีบุตรอันประสูติจากพระครรภ์ เป็นองค์สัพพัญญูตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิให้ซึ่งนิพพานสุขแก่สัตวโลกประการใด พราหมณ์ทั้งหลายจึงกราบทูลทำนายว่าพระราชธิดาแห่งพระองค์จักเป็นพระพุทธมารดาโดยแท้

          พระเจ้าชนาธิปราชได้ทรงสดับก็กอปรด้วยพระปีติโสมนัสโดยยิ่ง จึงให้กระทำพระอู่แก้วขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการ กระทำมหาอุสสวอูฬารมงคล ในวันสุนทรนักษัตฤกษ์อันเชิญพระราชธิดาขึ้นพระอู่แก้ว แล้วถวายพระนามบัญญัติว่าพระสิริมหามายาราชกุมารี เหตุมีพระสิริรังสีอันรุ่งเรืองยิ่งนัก

          ครั้นจำเนียรภาคพระราชกุมารี ทรงพระวัยวัฒนากับด้วยมหันตบริวารยศกำหนดพระชนมายุได้ ๑๖ พระพรรษา มีพระสรีรรูปประภาปรากฏแผ่ออกจากพระบวรกายรุ่งเรือง ครุวนาดุจมหาอัคคีขันธ์ อันปรากฏเหนือยอดบรรพตอันสูงในเวลามัชฌันติกราตรีแลทรงพระอุดมรูปกายินทรีย์อันงามโดยยิ่ง หาหญิงอื่นในพื้นสกลโลกธาตุจะมีสิริวิลาสเสมอหามิได้

 

ความอัศจรรย์ ๑๒ ประการของพระนางสิริมหามายา

          อยู่มากาลวันหนึ่ง พระสิริมหามายาทรงซึ่งถาดทองอันเต็มด้วยภัตตาหารกับสุพรรณทัพพีทอง ตักโภชนะแจกมหาชนทั้งหลาย ผิจะยังมนุษย์ทั่วทั้งสกลชมพูทวีปให้บริโภคโภชนาอาหารก็พออิ่มถ้วนทุกคนด้วยกัน ชนทั้งหลายนั้นได้บริโภคแล้วก็มีอายุยืนยาวทั้งสิ้น แลภัตตาหารในถาดทองนั้นจะได้รู้หมดสิ้นหามิได้ เต็มบริบูรณ์อยู่ดังนั้น อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมเป็นปฐม


          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าทรงปรามาสซึ่งกายแห่งบุทคลอันมีโรคพยาธิแต่ยังไม่ถึงซึ่งสิ้นอายุ อันว่าฉันนวุติโรคทั้งหลายก็อันตรธานหาย มีอายุยืนสืบไป อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๒

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าทรงจับซึ่งใบรุกชชาติทั้งหลายใด แลใบไม้นั้นก็กลับกลายเป็นทองทั้งสิ้น อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๓

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าทรงจับซึ่งพืชผลแห่งพฤกษชาติทั้งหลายต่างๆ ทรงเพาะลงในพื้นภูมิภาคแลทรงรดอุทกวารีด้วยพระหัตถ์ ก็บังเกิดงอกขึ้นเป็นลำต้นในขณะนั้น บริบูรณ์พร้อมด้วยสาขาแลใบผลิดอกออกผลเห็นปรากฏแก่ตาโลก อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๔

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าเสด็จขึ้นไปสถิตอยู่บนยอดบรรพตอันปราศจากที่อุทกธารา แม้ว่ามีพระเสาวนีย์ออกพระโอษฐ์ว่า อาตมะกระหายน้ำ อันว่าท่ออุทกก็ทำลายคิรีออกเป็น ๒ ภาค ผุดพลุ่งขึ้นมามีประมาณเท่าลำตาลในที่เฉพาะพระพักตร์ ให้ได้เสวยรสวารีสมพระหฤทัยปรารถนา อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๕

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าเสด็จไปประพาสในภูมิสถานที่ใดๆ อันว่าภุมเทพยดาแลรุกขเทพยดา อากาศเทพยดาทั้งหลาย ก็นฤมิตซึ่งสุพรรณภาชน์เต็มไปด้วยทิพยโภชาหาร นำมาถวายให้เสวยกับทั้งบริวารทั้งปวงอันโดยเสด็จแลกิริยาที่จะอยากอาหารนั้นมิได้มี อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๖

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าเสด็จไปประพาสอุทยาน แลวนสถานศิขรที่ใดๆ อันว่าอุทยานเทพดาอรัญเทพยดาแลบรรพตเทพยดาทั้งหลายก็มาโสรจสรง พระสรีรอินทรีย์ด้วยทิพยสุคันโธทก แล้วนำมาซึ่งทิพย์อลังการาภรณ์ ตกแต่งประดับพระบวรกาย อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๗

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าเสด็จไปสู่สิริครรภไสยาสน์นั้น บรรทมหลับกับอนังคปริวาร อันว่ายักษราชาทั้ง ๘ ก็ถือพระขรรค์วชิราวุธมายืนแวดล้อมอภิบาล เพื่อจะให้บำราศจากภยันตรายทั้งปวง อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๘

          อนึ่ง พระสิริมหามายา ผิว่าเสด็จนิสัชนาการสถิต แลทรงพระดำเนินไปสู่ที่เล่น ณ ตำบลใดๆ ในเวลาทิวากาล อันว่าอสุรราชทั้งหลายก็ทรงเพศดุจเล่นการมหรสพมากระทำกิจบริรักษ์อยู่โดยรอบ อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๙

          อนึ่ง ถึงกาลเมื่ออุณหมาสสมัย เทพยดาอันสถิตในป่าหิมพานต์ ก็นำมาซึ่งอุทกธาราในสัตตมหาสระใส่ในหม้อทองมาโสรจสรงองค์พระสิริมหามายาราชบุตร อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๑๐

          อนึ่ง กาลเมื่อสีตสมัย เทพยดาทั้งหลายก็นำมาซึ่งทิพยวัตถา โดยยาวได้ ๘๐ ศอก กว้างได้ ๔๐ ศอก แต่ไม้กัลปพฤกษาอันบังเกิดบนหิมวันตบรรพต มาถวายพระสิริมหามายาราชเทวี อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๑๑

          อนึ่ง เบื้องว่าพระสิริมหามายาได้ทอดพระเนตรประชาชนชาวพระนครเข็ญใจ แลพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งสมมติว่าเป็นนักบวชก็ดี มีพระหฤทัยประสงค์จะทรงจำแนกทาน ขณะนั้นวัสสิกธาราล้วนหิรัญสุวรรณสัตตรัตนธนสารสมบัติ ก็ตกเรี่ยรายลงมาจากอากาศ พระราชธิดาก็เก็บเอาแก้ว ๗ ประการนั้น ทรงแจกจ่ายให้เป็นทาน อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๑๒

          แลพระสิริมหามายาราชบุตรีประกอบด้วยอัจฉริยธรรมทั้ง ๑๒ ประการเห็นปานดังนี้

          เบื้องว่าชนทั้งหลายปรารถนาซึ่งวัตถุใดๆ ก็พระราชทานซึ่งวัตถุนั้นๆ โดยอันควรแก่ความปรารถนาแห่งนรานิกรทั้งปวงทุกประการ แลพระราชธิดาได้ทรงบำเพ็ญทานมาแต่ในกาลบุเรภพ ทรงพระปรารภปณิธานความปรารถนาเป็นพระพุทธมารดาจึงได้สำเร็จซึ่งผลด้วยประการฉะนี้

 

บุรุษและมนุษย์ทั้งหลายเห็นพระนางแล้วต่างหลงใหล

          เบื้องว่า พระราชบุตรีทรงวัยวัฒนา อันว่าบุรุษทั้งหลายได้เห็นซึ่งพระสรีรรูปก็ถึงซึ่งเคลิ้มสติสมปฤดีใหลหลง หาสติสัมปชัญญะมิได้ แม้บริโภคโภชนาหารอยู่ก็เปิบคำข้าวใส่ในนาสิกแลกรรณแลบนศีรษะ ให้สำคัญว่ามุขทวาร ถึงซึ่งวิปการต่างๆ แลมนุษย์ทั้งหลายได้ทัศนาการเห็นพระบวรรูปสิริวิลาส ล้วนมีจิตปฏิพัทธ์สิเนหายิ่งนัก ปิ้มปานประหนึ่งว่าจะเป็นอุมมัตกชาติ ถึงซึ่งสติวิปลาสด้วยพระรูปพระโฉมถ้วนทุกๆ คน


 

 (เครดิต http://portal.in.th/i-dhamma )
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 29, 2012, 09:10:09 pm โดย Mr. งังจัง »
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
ปฐมสมโพธิกถา พระเจ้าสีหหนุทรงพระสุบิน ๒ ข้อ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2012, 12:38:40 pm »
0
พระสิริมหามายาราชธิดาเสด็จสรงน้ำและทรงพักผ่อนในพระราชอุทยาน

          อยู่มากาลครั้งหนึ่ง ถึงสมัยจิตรมาสบุรณมีทิวากาลเบื้องต้นแห่งคิมหฤดู พระราชพธูมีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปประพาสพระราโชทยาน จึงรับสั่งให้ตกแต่งสูปพยัญชนวิกัติภัตตาหาร พร้อมเสด็จแต่เวลาเช้า แล้วเสด็จขึ้นเฝ้ากราบทูลถวายบังคมพระราชบิดามารดร ราชกญฺญาหิ ปริวาเรตฺวา ก็เสด็จแวดล้อมด้วยอเนกอนงคนิกรเป็นบริวารแสนนางให้นำเครื่องโภชนาหารไปโดยเสด็จ แลทรงซึ่งอลังกตราชรถออกจากพระนคร ประดับด้วยอเนกนิกรมหันตยศไปสู่พระอุทยาน แลภายในอุทยานนั้น มีอุทกละหานตำบลหนึ่งกระแสน้ำหลั่งไหลออกจากช่องท้องบรรพต อันมีนามว่าสิตาคิรี เป็นที่รมณียฐาน ร่มรื่นไปด้วยพฤกษสาขาแลเวฬุคุมพฉายาสำราญระงับร้อนเย็นสบาย พระพายรำเพยพัดฉ่ำเฉื่อย อุทกธารํ นฺหายิตฺวา พระขัตติยราชธิดาก็เสด็จลงสรงสินธุธาราในห้วงละหานธารอันนั้น ครั้งสรงเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นจากกันทรวารีเสด็จประทับสถิตที่ริมฝั่งทรงนิสีทนาการเหนือขจิตรรัตนบัลลังก์ อันว่าชาวพนักงานก็นำเครื่องมาตั้งถวายในที่นั้น พระนางก็ทรงเสวยพระบวรกระยาหารพร้อมด้วยอนงค์อเนกปริวารทั้งปวงเสร็จแล้วก็ทรงเลือกสรรพนานาบุปผชาติ อันนิกรนารีราชปริวารเก็บมาถวาย ทรงร้อยกรองเป็นพู่พ่วงดวงกุสุมเสาวรสรุจิเรข เป็นอเนกนานาพรรคสรรพมาลาวิกัติวิจิตรพิพิธพึงชม ณ ภายใต้รุกขฉายาแทบกันทรธารา สำราญพระทัยในอุทยานภูมิสถาน

 

พวกพราหมณ์ไม่พบสตรีงามตามต้องการ จึงกลับมาค้นหาสตรีในเมืองเทวทหะ

          ในกาลนั้น ส่วนพราหมณ์ทั้ง ๘ ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสีหหนุราชดำรัสใช้ไปนั้น ก็เที่ยวจาริกไปในคามนิคมชนบทประเทศธานีต่างๆ สืบเสาะแสวงหาพิจารณาซึ่งลักษณะสตรีในขัตติยราชวงศ์ แลวงศ์เสนาบดีอมาตย์เศรษฐีคฤหบดีทั้งหลาย ทั่วทั้งแปดหมื่นสี่พันพระนคร ก็มิได้พานพบซึ่งสตรีอันบริบูรณ์ด้วยอิตถีลักขณะพร้อมทั้ง ๖๔ ประการ ได้เห็นแต่สตรีอันกอปรด้วยอิตถีลักขณะแต่ ๑๘ ประการมีอยู่บ้าง จึงนิวัฒนาการมาพิจารณาในศักยราชวงศ์ทั้งปวงจนมาถึงเมืองเทวทหนครโดยอนุกรมลำดับ ก็บรรลุถึงพระราโชทยานซึ่งพระสิริมหามายาเสด็จไปประพาสอยู่นั้น จึงเจรจาปรึกษากันว่า ในภายในพระอุทยานนี้ ชะรอยจะมีกษัตริย์พระองค์ใดเสด็จมาประพาสกับทั้งราชบริวาร จึงได้ยินเสียงมหาชนเล่นอื้ออึงอยู่ฉะนี้ ควรเราทั้งหลายจะเข้าดูให้รู้เหตุ ก็พากันเข้าไป

          ภายในพระอุทยานได้ทัศนาการเห็นสนามเล่น อันนางตรุณนารีทั้งหลายแสนนางบ้างฟ้อนรำ ขับร้อง แลบันลือศัพทดุริยางคดนตรีนี่สนั่นมีประการต่างๆ แลได้เห็นซึ่งพระราชกุมารีอันทรงสถิตบนรัตนขจิตบัลลังก์ ในท่ามกลางสภังคมณฑลสนามเล่น มีพระสิริวิลาสเลิศเล่ห์ประหนึ่งว่าเทวราชธิดาอันแวดล้อมด้วยอเนกนิกรเทพอัปสรกัญญาในดุสิตเทวพิภพ มิฉะนั้นดุจดวงแก้วมณีโชติรสอันประดิษฐานในท่ามกลางอเนกมณีทั้งปวง ถ้ามิดังนั้นดุจดวงดอกโกกนุทมาลาอันโสภาปรากฏในท่ามกลางแห่งอเนกบุปผชาติทั้งหลายในคิมหฤดูกาล มิฉะนั้นก็ปานประหนึ่งว่าองค์บรมจักรพัตราธิราชอันทรงสถิตในระหว่างแห่งขัตติยสามนต์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์ มิฉะนั้นก็เหมือนด้วยพระยาสุวรรณราชวิหคหงส์อันปรากฏในท่ามกลางแห่งหงส์อเนกคณา แลบินร่อนร่าบนอนิลบถประเทศฐาน มิฉะนั้น สุวณฺณนาวา วิย ก็ดุจกาญจนนาวาอันลอยอยู่ยังท่ามกลางมหรรณพสาครสมุทร มิฉะนั้น เทวินฺโท วิย ประดุจท้าวเทพย์วชรินทร์อันเสด็จนิสีทนาการเบื้องบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ภายใต้ตรุราชปาริกฉัตรพฤกษ์ในดาวดึงสเทวโลก แลแวดล้อมด้วยทวยเทพคณานิกรบรรษัทเป็นบริวาร

          มิฉะนั้น ปุณฺโณ ยถา ก็เปรียบปานบุรณจันทร์อันอเนกนักขัตตดาราแวดล้อม เป็นบริวารในระหว่างคัคนาดลวิถีทิศทิฆัมพร มิฉะนั้น สุริยปฺปภา ก็ดุจดวงประภากรอันมีรัศมีได้เก้าแสนส่องไพโรจน์จำรัส มิฉะนั้น มิคราชา วิย ก็เทียบทัดพญาไกรสรมฤคินทรราชอันลีลาศออกจากสุวรรณคูหาสถาน กอปรด้วยพระสิริลักขณโสภณประภาประภัสรชัชวาล แลประดุจคบเพลิงอันจุดไว้บนยอดบรรพตคีรี ทรงซึ่งกนกรัตนมณีอนัคฆปิลันธนอลังการกาญจนมาลาพิภูสิตพิพิธพรรณราย พระรัศมีก็โอภาสออกจากพระกายทั่วทุกขุมพระโลมา ปรากฏเหมือนดุจรดไปด้วยสุวัณโณทกธาราไพโรจน์จำรัส แลบริบูรณ์ด้วยอิริยาบถอันสำรวมเป็นอันดี แลรุ่งเรืองด้วยพระสิริขันธ์พรรณโสภาคย์

 

พวกพราหมณ์พบพระราชธิดาแล้วถึงกลับลืมตัว

          พราหมณ์ทั้ง ๘ บมิอาจดำรงสถิตอยู่ได้ ด้วยได้เห็นพระสิริลักขณวิลาสล้ำเลิศอเนกนิกรนารีก็ถึงซึ่งมุฬหสัญญีวิปลาสปราศจากสติสมปฤดี บมิรู้สึกตนว่านุ่งห่มประดับกายาประการใด เจรจาพึมเพ้อหลงใหลมีนานัปการดุจอาการอุมมัตตกเพศ ส่วนพระสิริมหามายาเมื่อได้ทอดพระเนตรวิกลกิริยาแห่งพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ ดังนั้น จึงตรัสว่า พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านี้มีอากัปวิการดังฤา? จึงดำรัสสั่งให้นางปริจาริกผู้หนึ่งไปถามดูให้รู้เหตุ


          ขณะนั้น โกณฑัญญพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งนับในพวกพราหมณ์ทั้ง ๘ ถึงซึ่งฝั่งแห่งศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ มีบุญสมภารได้บำเพ็ญมาแต่ในบุเรภพ กลับมีสมาธิจิตตั้งขึ้นได้ ได้สติสัมปชัญญะ เมื่อได้สดับคำนางปริจาริกมาถาม จึงแจ้งความตามสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชกรุงกบิลพัสดุ์ดำรัสใช้มานั้นให้ทราบทุกประการ แลนางผู้รับสั่งก็กลับไปกราบทูลให้ทราบตามประพฤติเหตุ

 

โกณฑัญญพราหมณ์เกิดมัวเมาจนสลบ

          พระสิริมหามายาจึงรับสั่งให้หาโกณฑัญญพราหมณ์นั้นมาเฝ้า ให้นั่ง ณ ที่ควรในภายในระหว่างคณานิกรอนงค์ปริวารทั้งแสนนาง จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสประภาษถามโดยสารพระคาถาว่า กิสฺมึ นุ รฏฺเฐ ตว ชาติภูมิ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ดังเราถาม ดูกรพราหมณาจารย์ชาติภูมิแห่งท่านอยู่ ณ แว่นแคว้นประเทศธานีอันใด แลมาสู่ที่นี้ด้วยเหตุไฉนจงแจ้งแก่อาตมา แม้จะปรารถนาสิ่งอันใด ก็จะให้สำเร็จมโนรถประสงค์แห่งท่าน เมื่อโกณฑัญญพราหมณ์ได้ทัศนาการพระบวรโอษฐ์แห่งพระสิริมหามายาราชบุตรี มีพรรณอันแดงดุจสีผลมะพลับทองอันสุกสดแลพระทนต์ก็งามปรากฏกลระเบียบวิเชียรรัตน์ประภัสรโอภาส ทั้งได้สดับพระสุรศัพท์สำนวนมธุรสารเสนาะ ดุจสำเนียงแห่งท้าวมหาพรหมอันเพราะพร้อมไปด้วยองค์ ๘ ประการ มิดังนั้น กรวิโก วิย เปรียบปานประดุจเสียงสกุณการเวก แลเสียงขับแห่งสกุณกินรี อันไพเราะเป็นปิยกถาบริบูรณ์ไปด้วยลักษณะอันนำมาซึ่งมโนภิรมย์แห่งมหาชนทั้งปวง ครุวนาดุจทำลายอุระล้วงเข้าไปจับเอาดวงหฤทัย แลลำไส้ใหญ่น้อย แลพราหมณ์นั้นก็มัวเมาไปด้วยราคฤดีมีกายแลจิตอันลำบาก ก็ล้มลงวิสัญญีภาพในที่นั้น

 

ฟื้นแล้วกราบทูลเหตุผลที่มา

          ครั้นพระราชธิดาได้ทอดทัศนาการ ก็ตรัสสั่งนางกำนัลให้นำเอาน้ำสีโตทกวารีมารดกายโกณฑัญญพราหมณ์ โกณฑัญญพราหมณ์ก็ได้อัสสาสปัสสาสะฟื้นตื่นสมปฤดีมีสติ จึงกราบทูลแถลงเหตุอันสมเด็จพระเจ้ากรุงสีหหนุราชดำรัสใช้มา แล้วทูลพรรณนาพระสิริลักษณะแห่งพระสิริสุทโธทนราชกุมาร โดยสาระพระคาถาว่า อยฺเย เทวิ สีหหนุ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า อันว่าสมเด็จท้าวสีหหนุราชชนาธิบดี มีพระสิริขันธ์อันรุ่งเรืองเจริญด้วยดิเรกมไหศวริยสมบัติ เป็นบรมกษัตริย์อันประเสริฐหาท้าวพระยาจะเสมอมิได้ อนึ่ง พระราชดนัยทรงพระนามพระสิริสุทโธทนราชกุมาร ทรงพระบวรรูปสิริสัณฐาน งามบริบูรณ์ด้วยพระสิริลักษณะเลิศบุรุษมนุษย์นิกร ทรงพระกายพละ ๑๐ กำลังกุญชรคชาชาติ ทั้งพระอาการก็องอาจงามสง่าดุจพระยาไกรสรสีหราชจตุบท สมเด็จพระราชบิดาทรงพระปรารภเริ่มการจะราชาภิเษกพระเอกอัตรโชรสในเศวตฉัตร เสวยมไหศวริยสมบัติเป็นมกุฎเกศขัตติยสามนตราช ๑๐๑ พระองค์


          วยปฺ ปตฺตกาเล บัดนี้ก็ทรงพระเจริญรุ่นดรุณวัยได้ ๑๖ พรรษา พระพักตร์ผ่องโสภาพรรณพิลาสเล่ห์ประดุจแว่นแก้ว แล้วสำเร็จรอบรู้ในศิลปศาสตร์ทั้งสิ้น สมเด็จบรมนรินทร์ราชชนกดำรัสใช้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ มาสืบแสวงหานางอันทรงเบญจกัลยาณีแลอิตถีลักษณะ ๖๔ ประการ จะอภิเษกเป็นพระอัครมเหสีพระราชกุมารดนัยปิโยรส

          ข้าพระบาททั้ง ๘ เที่ยวบทจรแสวงหาพิจารณาในอุตตมวงศ์แลหินพงศ์ทั้งหลาย ทั่วทั้งแปดหมื่นสี่พันพระนครก็บมิพบพาน จนมาถึงนครสถานที่นี้ ได้เห็นพระแม่เจ้าผู้ทรงศรีสุนทรลักษณ์ล่วงเสียซึ่งสตรีในมนุษย์โลกหามิเสมอได้ ดุจเทพอัปสรกัญญาทั้งรุ่งเรืองด้วยพระบวรวงศาประเสริฐกว่า สรรพอเนกนารี ข้าพระองค์ก็จะกลับคืนราชธานีกบิลพัสดุ์ กราบทูลบรมกษัตริย์ให้มาอัญเชิญไปอภิเษกเป็นพระมเหสีกับองค์เอกอัครโอรสสองกษัตริย์สมเสมอด้วยพระยศแลวัยวัฒนาการ ทั้งทรงศีลศรัทธา แลปรีชาญาณก็อย่างกันสมควรที่จะเสด็จเถลิงถวัลยราชาฉัตร งามดังองค์สมเด็จวชิรหัตถ์กับองค์สุชาดาเทพยอสุรินทร์ธิดา ข้าพระบาทก็ลุสมเจตนา มาประสบพระแม่เจ้าสำเร็จประโยชน์ในวันนี้

 

เพียงสดับคุณพระราชกุมาร เจ้าหญิงก็ทรงหลงรัก

          เมื่อพระสิริมหามายาราชบุตรีได้ทรงสดับข่าวสาส์นพระสิริสุทโธทนราชกุมาร แต่ยังไม่ได้ทัศนาการก็เกิดพระกมลดำริเสน่หา เหตุบุพเพสันนิวาสเนื่องมาแต่อดีตกาล

          พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาว่า ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ความเสน่หาบังเกิดอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือบุพเพสันนิวาสกับทั้งปัจจุบันประโยชน์ มีครุวนาดุจดวงดอกอุบลชาติอันอาศัยซึ่งอุทกวารีเป็นที่ตั้ง จึงบังเกิดขึ้นในชลธีฉะนั้น

          เบื้องว่าพระสิริมหามายาได้ทรงสวนาการกถิตกถาแห่งโกณฑัญญพราหมณาจารย์ก็บังเกิดมโนภิรมย์โดยยิ่ง แต่หากกระทำกำบังไว้ด้วยมายาสตรี แสร้งมีพระเสาวนีย์ดุจไม่เจริญพระหฤทัยว่า ดูกรพราหมณ์ อันความประการนี้ ตัวข้าเป็นตรุณกุมารียังมีราชบิดามารดาเป็นอิสราธิบดีอยู่ ท่านจงไปสู่สำนักพระชนกชนนี กราบทูลคดีโดยอัธยาศัยของท่าน ใช่การที่เราจะเจรจา

 

ทรงรับมณีปิลันธนคีวะ (เครื่องประดับสวมพระศอ)

          เมื่อพราหมณ์ได้สดับจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า สมเด็จพระเจ้ากรุงสีหหนุราช เมื่อดำรัสใช้ให้ข้าพระบาทมานั้น พระราชทานมณีปิลันธนคีวาลังการาภรณ์เป็นราชบรรณาการมาตรัสสั่งว่า ถ้าท่านไปสืบแสวงหาพบนางแก้วสมประสงค์ จงให้ซึ่งเครื่องประดับนี้แก่นางนั้นให้ทรงเป็นคีวาลังการ ขอจงทรงพระกรุณาโปรดรับซึ่งอาภรณ์อันเป็นของพระราชทานแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ไว้ ทรงเป็นอลงกตคีวาประสาธน์ในกาลบัดนี้ จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ท่านจงส่งมาเถิด แล้วให้นางปริจาริกผู้หนึ่งรับเอามณีปิลันธนะนั้นจากหัตถ์แห่งพราหมณ์ให้ล้างด้วยสุคนโธทกประพรมด้วยเครื่องเสาวคนธวิเลปนะแล้ว ให้ใส่ไว้ในกล่องแก้วพลางให้หาสุบัตตมหาอมาตย์อันตามเสด็จออกไปนั้นมาเฝ้า


          ตรัสเล่าความตามถ้อยคำของพราหมณ์ให้ฟังแล้ว ให้พาพราหมณ์ทั้ง ๘ กับกล่องแก้วนั้นนำเข้าไปสู่สำนักพระราชบิดาในเมืองเทวทหนคร แลโกณฑัญญพราหมณ์ก็เรียกพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้นเข้าไปในเมืองกับสุบัตตมหาอมาตย์ สุบัตตมหาอำมาตย์ก็นำพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นเข้าไปเฝ้าพระเจ้าชนาธิปราช ตํ ปวุตฺตึ อาโรเจตฺวา กราบบังคมทูลตามมูลคดีเหตุทั้งปวงนั้นให้ทรงทราบ

 

พวกพราหมณ์ทูลรายงานคุณสมบัติพระราชกุมาร

          ราชา สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงตรัสถามพราหมณ์ทั้ง ๘ ว่าเหตุนี้จริงหรือประการใด เต พฺราหฺมณา พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลว่าจริงทุกประการ จึงตรัสถามว่า พระสิริสุทโธทนราชกุมารนั้น มีชนมายุเท่าดังฤา? เทวราช  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช พระราชกุมารนั้นพระชนมายุได้คำรบ ๑๖ พรรษา ดูกรทวิชาจารย์ ราชกุมารนั้นรักษาซึ่งเบญจศีลแลทศพิธราชธรรมอยู่ฤา ข้าแต่นราธิบดี พระราชกุมารนั้นจำเดิมแต่ทรงพระเยาว์มาก็รักษาเบญจางคิกศีลแลทศพิธราชธรรมเป็นนิตยกาลมิได้ขาด ดูกรทวิชาชาติ อันว่าทศพิธราชธรรมนั้นคือสิ่งดังฤา?

          โกณฑัญญพราหมณ์ ก็กราบทูลบรรยายโดยพระคาถาว่า ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ เป็นอาทิ แปลเนื้อความว่า ราชธรรม ๑๐ นั้น คือ ทานศีลแลปริจาคกับพระทัยชื่อแลอ่อน อีกอุโบสถ แลเมตตากรุณา ขันติกับทั้งทรงประพฤติมิได้ผิดจากขัตติยราชประเพณีมาแต่ก่อน ทรงรักษาในทศพิธราชธรรมดังพรรณนามาดังนี้ เป็นนิตยกาล

 


ทรงพิจารณาเห็นทั้งสองพระองค์เหมาะสมกันยิ่ง

          เมื่อได้ทรงสดับก็เบิกบานพระกมลปราโมทย์ จึงตรัสสรรเสริญโดยสาระพระคาถาว่า ธมฺมญฺ จเร สุจริตตํ เป็นอาทิ แปลเนื้อความว่า เบื้องว่าบุทคลใดประพฤติซึ่งสุจริตธรรม มิได้ประพฤติการทุจริต แลบุทคลผู้นั้นก็จะนอนเป็นสุขทั้งอิธโลกแลปรโลก แล้วทรงพระจิตนาว่า ธิดา ของอาตมะก็มีชนมพรรษาได้ ๑๖ ปีบริบูรณ์ อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็เป็นขัตติยสกูลอันใหญ่ ทั้งมีมหันตเดชานุภาพแผ่ไปทั่วสกลชมพูทวีป แล้วบริบูรณ์ไปด้วยพลสารสินธพแลทาสทาสี อีกสรรพโภคสมบัติก็มีเป็นอันมาก ทั้งกอปรด้วยบุญญาธิการมหันตปริวารอิสริยยศ ปรากฏเป็นเอกอัครราชาธิบดี มิได้มีกษัตริย์พระองค์ใดเสมอสอง ครองราชธานีกบิลพัสดุ์ เป็นใหญ่ในสักยรัฐชนบท ทั้งพระราชโอรสสิริสุทโธทนมหาราชกุมาร ก็ประกอบด้วยบุญญาภิสมภารเป็นมหัศจรรย์ แม้ได้อภิเษกสองครองกัน กับแม่สิริมหามายาธิดาของอาตมะนี้ก็จะเป็นอัครนราธิบดีในแผ่นพื้นสกลชมพูทวีป อันนางอื่นสักหมื่นแสนก็บมิเทียมเทียบเสมอด้วยธิดาของอาตมา สมควรที่จะเป็นอัครกัญญามิ่งมเหสี แห่งองค์บรมขัตติยาธิบดีอดุลยราชวงศ์

 

ตรัสให้เลี้ยงดูพวกพราหมณ์ แล้วทรงประชุมสโมสรสันนิบาตพิจารณาการสู่ขอ

          เมื่อทรงพระจินตนาดังนี้ โสมนสฺสชาโต ก็มีพระปิติบังเกิดในพระกมลสันดาน จึงดำรัสสั่งสุบัตตมหาอมาตย์ว่า ท่านจงไปสู่สำนักอัครเทวีแห่งเรา แล้วเล่าเหตุอันพราหมณ์ทั้งหลายมานี้ให้แจ้งแล้วให้ตกแต่งโภชนาหารมาเลี้ยงทวิชาจารย์ อมาตย์รับพระโองการแล้วไปกราบทูลพระราชเทวี พระราชเทวีทรงทราบเหตุแล้ว นานคฺครสโภชนํ สมฺปาเทตฺวา ก็ให้ตกแต่งนานัคครสโภชนาหารมาพระราชทานพราหมณ์ทั้ง ๘ ให้บริโภคตามรับสั่ง ส่วนพระสิริมหามายาพระราชธิดาเสด็จประพาสพระราชอุทยานอยู่จนเวลาสายัณห์ก็เสด็จลงจากรัตนบัลลังก์ก็มาทรงมงคลราชรถยาน นารีคเณหิ ปริวาเรตฺวา แวดล้อมด้วยอเนกนิกรปริวารคืนเข้าสู่พระนคร สมเด็จพระราชบิดรจึงรับสั่งให้หาพระราชธิดามาเฝ้า ให้สถิตร่วมบวรมัญจาอาสน์กับด้วยพระองค์ แล้วให้หาพระขัตติยราชวงศ์แลหมู่อมาตย์มีเสนาบดีเป็นอาทิ กับทั้งเศรษฐีคฤหบดีแลพระอัครมเหสีแห่งพระองค์มาสโมสรสันนิบาตพร้อมกันแล้ว ตรัสปรึกษาซึ่งเหตุอันนั้น ใครจะเห็นมิควรประการใด

 

ที่ประชุมเห็นชอบถวายพระราชธิดาสิริมหามายา

          เต ชนา ชนทั้งหลายได้สดับรับสาธุการพร้อมยินยอมชื่นชมด้วยกันทั้งสิ้น จึงตรัสสั่งอมาตย์พนักงานให้จัดแจงนิวาสฐานให้พราหมณ์ทั้ง ๘ อยู่อาศัยสำนักในราตรีวันนั้น ครั้นเวลารุ่งเช้าจึงให้หาพราหมณ์เข้ามาเฝ้า พระราชทานภัตตาหารให้บริโภคเสร็จแล้ว ก็โปรดพระราชทานรางวัลโดยสมควร กับทั้งราชบวรบรรณาการตอบแทนไปถวายพระเจ้าสีหหนุราช ตรัสอนุญาตยอมถวายพระราชธิดา แล้วก็ส่งพราหมณ์ทั้งปวงกลับคืนไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี


 

พระเจ้าสีหหนุทรงพระสุบิน ๒ ข้อ

          ในกาลวันนั้น ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชเสด็จโสรจสรงสุคันโธทกธารา แล้วเสวยพระกระยาหารในเวลาเช้า แล้วเสด็จออกยังพระโรงราชพินิจฉัย พรั่งพร้อมไปด้วยหมู่เสวกามาตย์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยลำดับ ปาจีนทิสํ โอโลเกตฺวา ทอดพระเนตรไปฝ่ายปราจีนโลกธาตุ โดยช่องสีหบัญชรปราสาท ทรงสถิตเหนือราชอาสน์ราชบัลลังก์ ดำรัสสั่งบังคับในราชกิจแก่หมู่อมาตย์ตามราชประเพณี ครั้งเวลาสายัณหสมัย ก็เสด็จคืนเข้าในพระที่รัตนมนเทียรสถาน เสวยพระบวรกระยาหารเสร็จแล้ว ล่วงเข้าราตรีกาลก็เสด็จเข้าสู่สิริครรภไสยาสน์ ทรงบรรทมเหนือบวรมัญจอาสน์นิทรารมณ์ ครั้นล่วงถึงปัจจุสสมัยราตรีกาล ก็เสวยซึ่งนิพพานสุบินนิมิตมหัศจรรย์ ประหลาด อันสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลกธาตุบมิเคยฝัน ในพระสุบินนั้นปรากฏเป็นความ ๒ ข้อ

 

พระสุบินข้อหนึ่ง ทรงเห็นวิมานรัตนะ ๗ ผุดขึ้นกลางชมพูทวีป

          ข้อหนึ่งว่ามีสัตตรัตนพิมานอันหนึ่ง ผุดขึ้นมาแต่พื้นภูมิภาคประดิษฐานในที่ท่ามกลางชมพูทวีป สูงพ้นภวัครพรหมมีพื้นที่ถึง ๒๘ ชั้น แลพื้นชั้นต่ำใหญ่กว้างแผ่ไปปกปิดเสียทั่วทั้งหมื่นจักรวาฬแลพื้นชั้น ๒ ปกปิดเสียซึ่งชั้นจาตุมหาราช พื้นชั้น ๓ ปกปิดเสียซึ่งชั้นดาวดึงส์ พื้นอันเศษถัดๆ  ขึ้นไปนั้น ก็ปิดปิดเสียซึ่งกามาพจรเทวโลกพื้นละชั้นโดยลำดับ ตราบเท่าถึงรูปาพจรพรหมโลกทั้ง ๑๖ ชั้น รุ่งเรืองงามยิ่งนัก แลยอดวิมานนั้นล้วนแล้วด้วยแก้วมณีโอภาสส่องสว่างไปทั่วทวิเขตทั้ง ๒ คือ หมื่นจักรวาฬอันเป็นชาติเขต แลแสนโกฏิจักรวาฬเป็นอาณาเขต ภายในวิมานนั้น มีรัตนบัลลังก์อันหนึ่งสูงได้ ๓๔ แสนโยชน์ โดยกว้างได้ ๗ แสนโยชน์ แลมีอัครบุรุษผู้หนึ่งอยู่บนบัลลังก์แก้วกับด้วยนางเทพอัปสรกัญญาบริวารเป็นอันมากดำริที่จะเปิดประตูพระอมตมหานฤพาน ตสฺมึ ขเณมหาเมโฆ ขณะนั้นมหาเมฆก็ตั้งขึ้นหลั่งลงซึ่งหยาดเมล็ดฝนทั่วทั้งห้องจักรวาฬ แลเมล็ดฝนนั้นปรากฏเป็นรูปต่างๆ ตกลงมาแทบบาทมูลแห่งอัครบุรุษผู้นั้น แล้วก็กลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น และอัครบุรุษนั้นก็สั่งสอนให้เล่าเรียนศิลปศาสตร์เป็นอันมาก จะให้ชนทั้งหลายเหล่านั้นได้ซึ่งอดุลยสุข อยํ เอโก พระสุบินนิมิตนี้เป็นประถม

 

พระสุบินข้อสอง ทรงเห็นหมู่สัตว์กลายเป็นมนุษย์ มีอัครบุรุษพาข้ามแม่น้ำหลายเที่ยว

          แลพระสุบินนิมิตอื่นข้อหนึ่งเป็นคำรบ ๒ ว่ายังมีมหาคงคาอันหนึ่งกว้างลึกยิ่งนัก ดาษไปด้วยระเบียบคลื่นอันใหญ่ แลอัครบุรุษนั้นตกแต่งผูกซึ่งเรือขนานอันล้วนแล้วด้วยแก้ว ประทับอยู่ที่ฝั่งมหาคงคา แลมีฝูงสัตว์ทั้งหลายผุดขึ้นมาจากน้ำแล้วกลับกลายเป็นมนุษย์ แล้วมีสัตว์เป็นอันมากมีรูปต่างๆ ผุดขึ้นมาจากภายใต้แผ่นดินแล้วก็กลายเป็นมนุษย์มาสู่สำนักอัครบุรุษ อัครบุรุษก็สั่งสอนให้เรียนซึ่งมนต์ทั้งสิ้นด้วยกัน แล้วก็พาชนบริษัทเหล่านั้นลงสู่รัตนมหานาวา แล่นข้ามมหาคงคานั้นไป แลโลโณทกวารีในมหานทีนั้น จะได้เข้าไปในลำนาวาแก้วแต่มาตรว่าหยาดหนึ่งก็หามิได้ ส่วนองค์อัครบุรุษก็ทรงจังกูฏนั่งถือท้ายเรือแก้วนั้นไปจนถึงฝั่งฟากโพ้น แล้วนำมหาชนขึ้นสู่ฝั่ง พาเข้าไปในเมืองหนึ่งมีนามอนาลัยนคร ประกอบด้วยปราการ ๗ ชั้น แลมีทั้งปรางคปราสาทอันรจนา แล้วพระองค์ก็กลับลงสู่รัตนนาวา ข้ามกลับมาบรรทุกชนทั้งหลายขนข้ามไปสู่พระนครนั้นเนืองๆ เป็นหลายครั้ง สิ้นข้อความในสุบินเป็น ๒ ข้อเท่านั้นก็พอบรรทมตื่นในเวลาปัจจุสสมัยกาล
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
ปฐมสมโพธิกถา พระนางจะเป็นพระพุทธมารดา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2012, 06:39:06 pm »
0
พราหมณ์ทำนายว่า หาคู่ให้พระราชกุมารได้แล้ว
และพระนางจะเป็นพระพุทธมารดา

          ครั้นเวลารุ่งเช้า ดำรัสให้หาพราหมณ์ผู้เป็นบิดาโกณฑัญญพราหมณ์มาทำนายพระสุบิน แลพราหมณ์นั้นพิจารณาในลักษณะพระสุบินด้วยศิลปศาสตร์แห่งตนๆ แล้วกราบทูลทำนายดุจเห็นด้วยทิพยจักษุญาณว่า พระองค์มีพระทัยประสงค์จะอภิเษกพระสุทโธทนราชกุมาร บัดนี้พราหมณ์ทั้ง ๘ ไปได้นางกุมารีอันทรงเบญจกัลยาณี แลอิตถีลักขณะบริบูรณ์พร้อม กปิลวตฺถุปุรํ นิวตฺเตตฺวา แลนิวัฒนาการมาสู่เมืองกบิลพัสดุ์ จึงตรัสถามว่าเมื่อได้นางกุมารีอันบริบูรณ์ด้วยอิตถีลักขณะดังนี้ จะมีคุณแก่เราเป็นประการใด เทว นรินฺท ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ในสมบัติคุณอันใดจะมีแก่พระองค์ก็หามิได้ แลพราหมณ์ทั้งหลายไปได้นางรัตนกัญญา นางนั้นจะเป็นพระมารดาแห่งพระสัพพัญญูเจ้า อันจะให้ซึ่งนิพพานสุขแก่สัตว์โลก จึงตรัสถามว่าพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นจะมาถึงสำนักเราเมื่อใด ข้าแต่บรมบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระพุทธเจ้าข้า พราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นจะมาถึงสำนักของพระองค์ในกาลบัดนั้น เหตุดังนั้น จึงทรงพระสุบินนิมิตให้เห็นประจักษ์ในพระกมลสันดาน สมเด็จบรมกษัตริย์ได้ทรงสวนาการก็เบิกบานบันเทิงพระหฤทัย ทรงพระโสมนัสยิ่งนัก


 

พราหมณ์อำมาตย์ ๘ คน กลับเข้าเฝ้าถวายรายงาน

          เมื่อพระเจ้าสีหหนุราชตรัสอยู่กับมหาพราหมณ์ผู้ทำนายพระสุบิน พอพราหมณ์ทั้ง ๘ มาถึงกรุงกบิลพัสดุ์ นำเอาเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายแล้วกราบทูลเหตุ ซึ่งไปแสวงหานางแก้วได้สมดังพระราชหฤทัยปรารถนา นางนั้นเป็นราชธิดาพระเจ้าชนาธิปราชเมืองเทวทหนคร เป็นศักยราชวงศ์อันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชทรงพระโสมนัสตรัสถามถึงสมบัติแลรี้พลพาหนะราชบริวารแห่งพระยาเทวทหนครนั้น มีมากน้อยสักเท่าใด พราหมณ์ก็กราบทูลสรรเสริญสมบัติและพลพาหนะแห่งพระเจ้าเทวทหนครนั้นมีเป็นอันมาก ด้วยพระคาถาว่า สกฺยวํสิสฺสโรราชา เป็นอาทิ อรรถาธิบายความเป็นสัมภาวนกถา สรรเสริญสมบัติแห่งพระเจ้าชนาธิปราช แล้วสรรเสริญโฉมพระสิริมหามายาราชธิดาว่างามหากษัตรีในโลกจะเปรียบเสมอสองมิได้โดยนัยพิสดาร แล้วกราบทูลตามยุบลคดี ซึ่งพระเจ้าชนาธิปราชดำรัสถาม แลเรื่องความอันตนกราบทูลแต่หลังแล้วตรัสยอมอนุญาตให้พระราชธิดานั้น


นัดวันวิวาหมงคล

          สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชจึงรับสั่งให้ประชุมกษัตริย์ศักยราชทั้ง ๖๐๐,๐๐๐ พระองค์ ปรึกษาพร้อมกันแล้วก็จัดให้กษัตริย์ ๓ พระองค์กับสุดิตมัตตเสนาบดีแลสุทธิยอมาตย์ คุมเครื่องราชบรรณาการไปกับพราหมณ์ทั้ง ๘ สู่เมืองเทวทหนคร กราบทูลนัดการวิวาหมังคลาภิเษก


          พระเจ้าชนาธิปราชก็ทรงพระโสมนัส จึงตรัสส่งกษัตริย์ ๓ พระองค์ กับอุปาหนเสนาบดีแลสุปดิษฐอมาตย์ให้คุมเครื่องราชบรรณาการตอบไปถวายสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราช กำหนดการวิวาหมงคล

 

ขบวนเสด็จไปกรุงเทวทหะ

          พระเจ้าสีหหนุราชจึงได้ตกแต่งมรรคาแต่กบิลพัสดุ์ไปตราบเท่าถึงเมืองเทวทหนคร ประดับด้วยอลังการต่างๆ แล้วจัดกษัตริย์ศักยราชวงศ์ขึ้นทรงกุญชรชาติ ๒,๐๐๐ ประดับหัตถาภรณ์ แล้วให้พระสิริสุทโธทนราชโอรสทรงช้างต้นพระยาเศวตไอยรารัตนปัจจัย แวดล้อมไปด้วยกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์เป็นบริวารแล้วจัดสินธพยาน ๓,๐๐๐ ให้ศักยราชกุมารขึ้นทรงถ้วนทุกตัวม้าแห่เสด็จโดยขบวนหน้าหลังแลมีพลเดินเท้าล้วนถือธนู ๙๐๐,๐๐๐ แห่ไปเบื้องหน้าแห่งคชาพาหนยาตร แล้วให้จัดเกวียนบรรทุกข้าวสารสัญชาตสาลี ๓๐,๐๐๐๑ เล่ม แลเกวียนบรรทุกทรัพย์พัสดุสิ่งของต่างๆ ๔,๐๐๐ เล่มเกวียน บรรทุกมัจฉมังสาผลาผลสิ่งของบริโภคทั้งปวง ๖,๐๐๐ เล่ม ให้ล่วงหน้าไปก่อน สยํ  ส่วนองค์พระเจ้าสีหหนุราชก็ทรงมงคลหัตถีแลช้างพระประเทียบทั้งปวงตามเสด็จแวดล้อมด้วยหมู่มุขเสนามาตย์ คหบดี เศรษฐี ทวิชาจารย์ แลจตุรงคโยธาหาญเป็นอันมาก เสด็จยาตราพลาพลไปเบื้องหลัง

 


พระเจ้าชนาธิปราชารับเสด็จ ณ อโสกอุทยาน (อยู่ในป่าลุมพินี)

          ชนาธิปราชา ส่วนสมเด็จพระเจ้าชนาธิปราชทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าสีหหนุราชเสด็จยาตราพลมา ก็เสด็จทรงพระราชยานน้อยแวดล้อมด้วยเสนามาตย์ราชพิริยโยธาหาญ  ออกจากพระนครไปถึงอโสกอุทยาน ยานา โอตาเรตฺวา จึงเสด็จลงจากพระราชยานเสด็จดำเนินด้วยพระบาทไปทำปัจจุคมนาการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ ถวายบังคมทูลเชิญเสด็จประเวสพระนคร สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชทอดพระเนตรเห็นป่าลุมพินีอันใหญ่กว้าง เป็นที่รัมณียสถาน จึงตรัสแก่พระเจ้าชนาธิปราช ขอพักพลประทับอยู่ในที่นั้น พระเจ้าชนาธิปราชให้รี้พลแผ้วถางภูมิประเทศที่นั้นถวาย


 

พระเจ้าสีหหนุตรัสให้สร้างมหามณฑปและปราสาท ๑ องค์
ส่วนพระเจ้าชนาธิปทรงให้สร้างปราสาท ๒ องค์

          พระเจ้าสีหหนุราชจึงตรัสสั่งสุรัตนวัฒกีอมาตย์ นายช่างผู้ใหญ่ให้กระทำมหามณฑปกว้างถึงกึ่งประโยชน์ กอปรด้วยเสาถึง ๘๐๐ ต้น แล้วให้กระทำปราสาททององค์หนึ่งมีพื้น ๑๙ ชั้น ในอโสกอุทยานให้นามโกกนุทปราสาท ส่วนพระเจ้าชนาธิปราชก็ให้สร้างปราสาท ๒ องค์ได้นามธัญมุตปราสาทองค์ ๑ เวฬุปัตปราสาทองค์ ๑ ณ พระอุทยานนั้น


 

สร้างเพื่อใช้เป็นสถานมหามงคลวิวาหะในเดือน ๔

          แลการปราสาททั้ง ๓ สำเร็จในเดือนหนึ่งบริบูรณ์ ครั้งถึงผคุณมาส พระเจ้าชนาธิปราช จึงให้ตกแต่งพระนครงามดุจดาวดึงส์เทวโลก แล้วให้ตกแต่งปราสาททั้ง ๓ และมหามณฑปในอโสกอุทยาน ในท่ามกลางมหามณฑปนั้นตั้งไว้ซึ่งกองแก้ว ๗ ประการ สูงประมาณชั่วลำตาลหนึ่ง ลาดด้วยผ้ากัมพลอันหาราคามิได้ เป็นบัลลังก์สำหรับจะราชาภิเษก ครั้นเวลารุ่งเช้าก็อัญเชิญพระสิริมหามายาราชธิดา ให้โสรจสรงเสาวคนธ์จันทโนทกธารา แล้วทรงเครื่องสิริราชกัญญาวิภูสนาภรณ์พร้อมเสด็จแวดล้อมด้วยคณาเนกนางขัตติยราชกุมารีแสนหนึ่งเป็นบริวาร


          ราชา ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็อันเชิญพระเจ้าสิริสุทโธทนราชโอรส ให้โสรจสรงสุคนโธทกธารา แล้วทรงราชาภิษิกพัสตร์รัตนราชปิลันธนาภรณ์พร้อมเสร็จ พออุตมฤกษ์ก็อัญเชิญเสด็จขึ้นทรงอลงกตมหามงคลราชรถ อันห้อยย้อยไปด้วยแก้วมีประการต่างๆ เทียมด้วยสินธพชาติทั้ง ๔ มีสีดังดอกกุมุทเสด็จไปสู่มหามงคลมณฑปที่ราชาภิเษก

 

หมู่เทวดาและพรหมร่วมยินดี แสดงตัวให้พระราชาทอดพระเนตร

          ตสฺมึ ขเณ ขณะนั้นก็ร้อนถึงบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ สมเด็จอมรินทราธิราชทรงพระอาวัชนาการทราบเหตุ จึงเสด็จแวดล้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมาก ดำรัสให้พระวิสสุกรรมเทพบุตรถือเอาซึ่งทิพยภูษา แล้วให้นางสุชาดาเทพอัปสรกัญญานำหน้าอมรบรรษัทลงสู่กรุงเทวทหนคร ในกาลนั้น หมู่ภุมเทพยดา และรุกขเทพยดา อากาศเทพยดาทั้งหลาย ก็ชวนกันอุโฆษณาสาธุการโกลาหลนี่สนั่น เทพยดาในชั้นฉกามาพจรสวรรค์แลมหาพรหมตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชตลอดถึงภวัครอกนิษฐภพ ได้สดับศัพท์สาธุการก็ชวนกันโสมนัสปรีดา แลท้าวสหัมบดีมหาพรหมพระหัตถ์เบื้องขวาทรงรัตนภิงคารพระเต้าแก้ว เต็มไปด้วยทิพยสุคนโธทก พระหัตถ์เบื้องซ้ายทรงรัตนจังโกฏก์ผอบแก้วเต็มไปด้วยสัตตรัตนมณี แลท้าวสุทธาวาสมหาพรหมพระกรทรงทิพย์เศวตฉัตรอันใหญ่ดุจบุรุณจันทรมณฑลลงสู่เทวทหนคร สมเด็จพระเจ้าชนาธิปราชได้ทอดพระเนตรเห็นเทพยคณะบรรษัททั้งหลาย ลงมาเป็นอันมาก ก็ทรงพระโสมนัสตรัสสรรเสริญบุญบารมีพระราชธิดาแห่งพระองค์อันเป็นมหัศจรรย์

          สกฺโก วิสฺสุกมฺมํ อาณาเปตฺวา สมเด็จอมรินทราธิราชจึงตรัสสั่งวิสสุกรรมเทพบุตรให้กระทำพื้นลานรอบมหามณฑป แลมรรคากึ่งโยชน์อันจะมาแต่พระนคร ตราบเท่าถึงพระอุทยานนั้น ให้ราบรื่นพื้นเสมอเป็นอันดี เทพยดาทั้งหลายก็มาประชุมเล่นมหรสพภิเษกสมโภชในที่นั้นๆ

 

ขบวนพระราชธิดามายามีพระอินทร์

          ส่วนพระสิริมหามายาทรงเครื่องแล้วแวดล้อมด้วยนางขัตติยกัญญาแสนหนึ่งเป็นบริวาร เสด็จลงจากปราสาทมาทรงราชรถ แลนางสุชาดาเทพอัปสรอสุรธิดา ก็ทรงทิพยรถยานออกจากพระนครไปสู่อุทยาน แวดล้อมด้วยคณาเนกนางเทพอัปสรเป็นบริวารนำหน้ารถพระสิริมหามายาราชบุตรี สมเด็จท้าวโกสีย์แลพระเจ้าชนาธิปราช กับทั้งสุนันทาเทวีราชชนนีแลหมู่นางสนมนารีนิกรกัญญา กับกษัตริย์ขัตติยวงศาทั้งหลายเป็นอันมากก็ตามไปในเบื้องหลัง หมู่เทพบรรษัททั้งหลายก็ถือฉัตรแลธงชายธงปฏากแห่ไปทั้งสองฟากถนนวิถี เทพยดามนุษย์ทั้งปวงก็มาสโมสรสันนิบาต นั่งแวดล้อมมหามงคลวิวาหมณฑปอยู่โดยรอบในขณะนั้น อันว่าทิพยมณฑาบุบผชาติ แลนานาทิพยกุสุมวัสสธารก็บันดาลตกเต็มทั่วพื้นภูมิสถาน โดยยาวได้สองโยชน์กว้างได้โยชน์หนึ่งแต่ล้วนกองดอกไม้ทิพย์อันตกลงมาสูงเสมอหลังม้า

 

ขบวนพระราชกุมารสุทโธทนะมีท้าวมหาพรหม

          ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็ให้ตรวจเตรียมพลสารสินธพพยุหยาตร แลให้พระสิริสุทโธทนราชกุมารลงจากราชรถ เสด็จขึ้นทรงมงคลเศวตหัตถี อันมีนามรัตนปัจจัยกุญชร เบื้องบนหลังดาดด้วยข่ายเงินทองแก้วทั้ง ๗ ประการ แลตั้งซึ่งสุวรรณรัตนปราสาทเป็นราชาอาสน์ที่สถิต มีกษัตริย์ศักยราชวงศ์ ๑๐๑ พระองค์แวดล้อมเป็นบริวาร แลท้าวสุทธาวาสมหาพรหมทรงซึ่งทิพยเศวตฉัตรอันใหญ่นำเสด็จไปในเบื้องหน้า และราชกุมารทั้งสอง คือ พระสุกโกทนะแลอมิโตทนะผู้เป็นพระอนุชาเสด็จทรงมงคลราชรถอันเดียวกัน พร้อมด้วยจตุรงคโยธาหาญแห่ตามท้าวมหาพรหมไปในเบื้องหน้าพระคชาธารพระสิริสุทโธทนเชษฐา สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็เสด็จแวดล้อมด้วยขัตติยวงศ์ศักยราช ๖๐๐,๐๐๐ ไปในเบื้องหลัง ช้างพระที่นั่งพระราชโอรส แลหมู่เทพยดาทั้งหลายก็แวดล้อมไปเป็นอันมาก กษัตริย์ทั้งสองฝ่าย เสด็จมาถึงซุ้มทวารพระอุทยานแล้วเสด็จเข้าสู่มหามณฑปกับด้วยเทพยเจ้าทั้งปวง


 

พรหมสุทธาวาสจูงพระสุทโธทนราชกุมาร นางสุชาดาธิดาอสูรจูงพระราชธิดามายา
ให้ทรงจับพระหัตถ์อภิเษกสมรส




          ฝ่ายท้าวสุทธาวาสมหาพรหมกำหนดซึ่งกาลอันได้อุดมมหุติฤกษ์แล้ว ก็จูงพระหัตถ์พระสิริสุทโธทนราชกุมารขึ้นสถิต ณ เบื้องบนกองแก้ว นางสุชาดาอสุรินทรธาดาก็จูงพระหัตถ์พระสิริมหามายาขึ้นสถิตบนรัตนราศีที่อภิเษกนั้น แลกษัตริย์ทั้งสองก็จับพระหัตถ์ซึ่งกันและกัน สมเด็จท้าวสหัสนัยน์ ก็เป่าทิพย์วิไชยุตมหาสังข์ทักขิณาวัฏ ปัญจสิขคันธรรพเทพบุตรก็ดีดซึ่งพิณสามสาย เทพยดา มนุษย์ทั้งหลายก็ประโคมทิพยดุริยางค์แลมนุษย์ดุริยางค์ บันลือศัพท์โกลาหลนี่สนั่นพร้อมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แลท้าวสุทธาวาสมหาพรหมก็หลั่งทิพย์อุทกธาราจากรัตนภิงคาร ถวายมุทธาภิสิญจนาการแล้วกล่าวมงคลสารประสิทธิ์พรโดยอเนกบรรยาย


 

เกิดแผ่นดินไหวและพระราชมารดาบูชาหมู่เทพ
ขอให้พระธิดาประสูติพระโอรสแล้วได้เป็นพระสัพพัญญู

          ขณะนั้น ก็บังเกิดมหัศจรรย์ต่างๆ มีพื้นพสุนธรากัมปนาทเป็นต้น อันว่าห่าฝนแก้ว ๗ ประการก็บันดาลตกลงจากอากาศเต็มตลอดปริเวณโยชน์หนึ่ง โดยรอบมหามณฑปนั้น เทพยดาทั้งหลายทั่วจักรวาฬก็โปรยปรายสัตตรัตนมณี นฤโฆษศัพท์สาธุการเอิกเกริกโกลาหลบันลือลั่นเป็นอันเดียว ตั้งแต่พื้นภูมิภาคตลอดถึงภวัครพรหม แลกษัตริย์ทั้งหลายมีสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชเป็นอาทิ แลมหาชนบรรษัทเห็นมหัศจรรย์ดังนั้น ก็มีโลมชาติสยดสยอง แซ่ซ้องสรรเสริญพระกฤษดาภินิหารแห่งกษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ เสียงนฤโฆษ ครุวนาดุจเสียงมหาเมฆอันกึกก้องในท้องมหาสมุทร


          ส่วนพระสุนันทาเทวีก็จุดธูปเทียนกับทั้งสุคนธบุปผชาติบูชาเทพยดาทั้งหลาย แล้วตรัสประกาศด้วยบาทพระคาถาว่า สพฺเพ เทวา จ นาคา จ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ข้าแต่เทพยดาทั้งหลายอันมีมหิทธิฤทธิ์ จงสดับคำแห่งข้าพเจ้า ขอให้ราชธิดาของข้าพเจ้าประสูติพระโอรส ให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในโลก เป็นอาทิดังนี้ วนฺทิตฺวา แล้วถวายวันทนาบูชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ แลบรรดากษัตริย์ทั้งหลายมีสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชเป็นอาทิ ก็อภิวาทบูชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ ดุจนั้น

          ท้าวมหาพรหมแลเทพยดาก็กระทำสักการบูชาด้วยนานาทิพยสุคนธ์ กุสุมชาติเหล่าอสุรราชทั้ง ๘ คนก็บูชาด้วยผลมะตูมสุกอันนำมาแต่ป่าหิมพานต์ ท้าวเวสวัณมหาราชก็บูชาด้วยทิพยภูษาต่างๆ อันตกลงแต่ไม้กัลปพฤกษ์ บนยอดหิมวันตบรรพตกับทั้งผลหว้าอันเกิดแต่ชมพูพฤกษ์ประจำทวีป แต่เครื่องสักการบูชาแห่งเทพยดาทั้งหลายกองสูงชั่วลำตาลหนึ่ง แลหมู่อมรินทรพรหมต่างถวายมงคลพรมีอเนกประการ แลเล่นมหรสพสมโภชถึง ๗ วันเป็นกำหนด แล้วท้าวเทพยดาทั้งหลายก็ถวายโอวาทนุศาสน์ให้ตั้งอยู่ในเบญจางคิกศีล แล้วก็นิวัตนาการสู่เทวโลก
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธุลีธวัช (chai173)

  • ปัญญา นัตถิ อฌายโต “ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ”
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +35/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 2905
  • Respect: +2
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: ปฐมสมโพธิกถา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2012, 07:35:11 pm »
0


หนังสือ "ปฐมสมโพธิกถา" เป็นหนังสือที่ผมได้รู้ซึ้งถึงคำคำหนึ่งคือ การเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ของ

พระบรมโพธิสัตว์เจ้า และด้วยหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้ซึ้งถึงความเสียสละเพียรสั่งสมพระบารมีเพื่อมวลหมู่

สัตว์ใหญ่นั้น ยิ่งใหญ่เพียงใด ทำให้ผมปรารถนาพุทธภูมิแต่นั้นมา แม้สั่นคลอนบ้างจากความเห็นทุกข์

โทษภัยในสังสารวัฏฏ์ แต่เมื่อได้ย้อนรำลึกถึงคำคำว่า การเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ของพระบรม

โพธิสัตว์เจ้าแล้ว ยังคงถึงซึ่งปิติปราโมทย์ปรารถนาอยู่ เพราะไม่มีใดอื่นจากนี้ในสังสารทุกข์จักยิ่งใหญ่

กว่าความเป็นโพธิสัตว์ ครับ!
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2012, 07:57:37 pm โดย THAWATCHAI173 »
บันทึกการเข้า
ศรัทธา, ศีล, พาหุสัจจะ, วิริยารัมภะ, ปัญญา

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
พระเจ้าสุทโธทนะอภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายา
 
ปฐมกษัตริย์ “มหาสมมติวงศ์”

          ดังได้รู้มาในต้นปฐมกัป สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ของเราทั้งหลาย เกิดเป็นพระเจ้ามหาสมมติเทวราชปฐมกษัตริย์ เสวยราชสมบัติเป็นมหิสราธิปไตยในสกลชมพูทวีปนี้ มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า โรชราช พระเจ้าโรชราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า วรโรชราช พระเจ้าวรโรชราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า กัลยาณราช พระเจ้ากัลยาณราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่าวรกัลยาณราช พระเจ้าวรกัลยาราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่ามันธาตุราช พระเจ้ามันธาตุราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า สกมันธาตุราช๑ พระเจ้าสกมันธาตุราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า อุโบสถ พระเจ้าอุโบสถราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า วรราช พระเจ้าวรราชนั้นมีพระราชโอรสทรงพระนามว่า อุปวรราช พระเจ้าอุปวรราชนั้น มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า มฆเทวราช ได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์ เป็นลำดับมาถึง ๑๑ พระองค์ด้วยกัน

 

เกิดโอกกากราชวงศ์

          ลำดับแต่นั้นมา พระราชวงศานุวงศ์ได้เสวยราชสมบัติสืบกษัตริย์มาถึง ๘๔,๐๐๐ พระองค์ จึงถึงโอกกากวงศ์ทั้ง ๓ และพระเจ้าปฐมโอกกากราชได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์มาหลายชั่วกษัตริย์ จึงถึงพระเจ้าทุติยโอกกากราช พระเจ้าทุติยโอกกากราชเป็นบรมกษัตริย์ สืบพระวงศ์ต่อๆ กันมาจนถึงพระเจ้าตติยโอกกากราช

          พระเจ้าตติยโอกกากราชมีพระมเหสี ๕ พระองค์ คือ พระนางหัฏฐา  ๑ พระนางจิตตา ๑ พระนางชันตุ ๑ พระนางชาลินี ๑ พระนางวิสาขา ๑ พระมเหสีองค์หนึ่งๆ มีนางสนมเป็นบริวาร ๕๐๐ๆ ก็แลพระนางหัฏฐาซึ่งเป็นพระเชษฐอัครมเหสีใหญ่นั้นมีพระราชบุตร ๔ พระองค์ คือ โอกกากมุขราชกุมาร ๑ กรัณฑราชกุมาร ๑ หัตถินิเกสิราชกุมาร ๑ นิปุรราชกุมาร ๑ แลมีพระราชบุตรีอีก ๕ พระองค์ คือ นางปิยาราชกุมารี ๑ นางสุปิยาราชกุมารี ๑  นางอานันทาราชกุมารี ๑ นางวิชิตาราชกุมารี ๑  นางวิชิตาเสนาราชกุมารี ๑ รวมพระบุตรแลพระบุตรีเป็น ๙ พระองค์ด้วยกัน

 

พระเจ้าโอกกากราชที่ ๓ ยกราชสมบัติให้พระโอรสองค์เล็ก

          ครั้นสืบมา ณ กาลภายหน้า พระมเหสีผู้ใหญ่นั้นสิ้นพระชนม์ลง สมเด็จบรมกษัตริย์จึงไปนำมาซึ่งนางราชธิดาองค์อื่นอันทรงอุดมรูป ตั้งไว้ ณ ที่เป็นอัครมเหสีผู้ใหญ่ แลนางนั้นมีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงนามชันตุราชกุมาร ครั้นพระราชกุมารนั้นพระชนม์ได้ ๕ เดือน พระมารดาจึงประดับด้วยเครื่องราชกุมารปิลันธนาภรณ์นำขึ้นเฝ้าพระราชบิดา พระราชบิดาได้ทอดพระเนตรพระราชโอรสอันทรงสรีรรูปอันงาม ก็ทรงพระสิเนหปราโมทย์ จึงดำรัสพระราชทานพรแก่พระนางผู้เป็นมารดาว่า เจ้าจะปรารถนาพรอันใดก็จะให้สำเร็จมโนรถ

          แลนางนั้นได้โอกาสจึงคบคิดกับหมู่ญาติทั้งปวงทูลขอราชสมบัติให้แก่บุตรของตน สมเด็จบรมกษัตริย์ตรัสคุกคามว่า หญิงร้าย ไฉนเจ้ามากล่าวความพินาศฉิบหายปรารถนาจะกระทำอันตรายแก่โอรสผู้ใหญ่ของเราดังนี้ แลนางนั้นก็คอยท่วงที เมื่อเสด็จเข้าสู่ที่สิริครรภไสยาสน์ กระทำประโลมด้วยอิตถีมายายังพระภัสดาให้ยินดีด้วยวิธีกามเสวนกิจ แล้วพิดทูลวิงวอนว่า พระองค์เป็นบรมกษัตริย์ ได้ออกพระโอษฐ์พระราชทานพรอนุญาตแก่ข้าพระบาทแล้ว ซึ่งจะมิได้โปรดพระราชทานให้สมซึ่งประสงค์แห่งข้าพระองค์นั้นมิสมควร

 

พระโอรสพระธิดา ๙ พระองค์ต้องออกจากเมือง

          สมเด็จพระเจ้าโอกกากราชทรงคิดละอายพระทัยด้วยได้ลั่นพระโอษฐ์ออกแล้วเกรงจะเสียสัตย์ จึงดำรัสให้หาพระราชโอรสทั้ง ๔ มาเฝ้า แล้วตรัสเล่าความตามนัยหนหลัง แล้วตรัสสั่งว่าเจ้าจะปรารถนาช้างม้าแลรถรี้พลสักเท่าใด ก็จงนำไปเท่านั้น เหลือไว้แต่คชาชาติราชอัสสดุรงครถซึ่งสำหรับพระนคร จงพาจตุรงคนิกรทั้งปวงไปจากราชพารา ช่วยรักษาสัตย์ของบิดาไว้ ต่อเมื่อบิดาสวรรคาลัยแล้ว จึงกลับมาคืนเอาราชสมบัติ แล้วตรัสสั่งอมาตย์ ๘ นาย ให้ไปกับพระราชโอรสช่วยทำนุบำรุงรักษาอย่าให้มีภัยอันตรายได้


          พระราชกุมารทั้ง ๔ รับพระราชปริหารแล้ว กราบถวายบังคมลา ต่างองค์ทรงพระโสกาดูรพิลาปด้วยปิยวิปโยคทุกข์ซึ่งจะจำจากกัน แล้วทูลขอขมาโทษพระราชบิดา แลอำลาพระราชวงศานุวงศ์กับทั้งหมู่อนงค์นางสนมทั้งปวง แล้วพาพระเชษฐภคินีแลพระกนิษฐภคินีทั้ง ๕ พระองค์ออกจากพระนคร กับด้วยจตุรงคนิกรและอมาตย์ทั้ง ๘ เป็นบริวาร

          ส่วนประชาชนหญิงชายทั้งหลายได้แจ้งเหตุว่า พระราชกุมารจะเสด็จคืนมาครอบครองราชสมบัติในกาลเมื่อพระบรมกษัตริย์ราชบิดาทิวงคตแล้ว ก็ชวนกันดำริว่า เราจะติดตามไปอุปัฏฐากพระราชกุมาร ก็พากันตามเสด็จไปจากพระนครเป็นอันมาก แล้วเดินทางไปล่วง ๓ วันแล้ว สิ้นหนทางถึง ๓ โยชน์ ก็ยังไม่สิ้นรี้พลประชาชนอันตามเสด็จ

          จึงพระราชกุมารทั้ง ๔ มี พระโอกกากมุขเชษฐาธิราชเป็นประธาน ก็ตรัสปรึกษากันว่า พลนิกายของเรามากกว่ามาก แม้จะยกไปย่ำยีตีพระยาสามนตราชเมืองหนึ่งเมืองใด ชิงเอาบ้านเมืองแลชนบทแว่นแคว้น ก็จะได้สมความปรารถนาแลท้าวพระยาทั้งหลายเหล่านั้น ก็จะสู้รบเราไม่ได้ คงจะปราชัยพ่ายแพ้ แต่ทว่าจะประโยชน์อันใดด้วยจะเบียดเบียนเอาสมบัติบ้านเมืองของผู้อื่น และแผ่นพื้นชมพูทวีปก็ใหญ่กว้างควรจะไปสร้างนครในอรัญประเทศ ให้พ้นเขตแดนท้าวพระยาสามนตราชทั้งปวง ก็ดำเนินพลบ่ายหน้าเฉพาะป่าหิมพานต์ เที่ยวแสวงหาที่ภูมิสถานอันจะสร้างพระนครใหม่

 

กบิลพราหมณ์โพธิสัตว์แนะให้สร้างเมืองใหม่

          ในกาลนั้น พระบรมโพธิ์สัตว์แห่งเรา บังเกิดในสกุลพราหมณมหาศาลมีนามกบิลพราหมณ์ พิจารณาเห็นโทษในเบญจกามคุณจึงเสียสละสมบัติออกบรรพชาเป็นดาบส ไปสร้างบรรณศาลาสถิตอยู่ในสากพนสณฑ์ แทบใกล้ฝั่งสระโบกขรณี อันมีอยู่ ณ ชายป่าหิมวันตประเทศ แลพระผู้เป็นเจ้ารู้ในภูมิดลมงคลวิทยา พิจารณาเห็นคุณแลโทษในโอกาสสูงขึ้นไปได้ ๘๐ ศอก ในภายใต้ปฐพีลึกลงไปได้ ๘๐ ศอกดุจกัน และในภูมิประเทศที่แห่งนั้นมีกอหญ้าแลกอลดาวัลย์เวียนเป็นทักษิณาวรรตผันไปฝ่ายปราจีนทิศทั้งสิ้น ฝูงสัตว์ทั้งหลายเป็นต้นว่าสีหพยัคฆ์ไล่ซึ่งมฤคสุกรมาแลวิฬาร์ไล่ซึ่งหนู งูไล่ซึ่งมณฑกชาติมาถึงที่นั่น แล้วก็มิอาจติดตามต่อไปได้ สัตว์ที่แพ้นั้นกลับไล่คุกคามเอาสัตว์ที่มีอำนาจให้ปลาตนาการกลับไป เป็นที่ชัยมงคลภูมิประเทศพระดาบสแจ้งเหตุฉะนี้จึงจัดแจงสร้างบรรณศาลาอาศัยอยู่ในที่นั้น

          ครั้นพระผู้เป็นเจ้าเห็นพระราชกุมารทั้งหลายยาตราพลาพลนิกายมาเป็นอันมาก จึงได้ถามทราบความว่าสืบแสวงหาที่จะสร้างพระนคร ก็มีความกรุณาปรารถนาจะอนุเคราะห์ให้เป็นประโยชน์แก่พระราชกุมารทั้งปวง จึงบอกเหตุว่า บพิตรจงสร้างพระนครลงในที่บริเวณบรรณศาลาของอาตมานี้เถิด แลเมืองอันนี้นานไปภายหน้าจะเป็นอัครนครปรากฏในชมพูทวีป ผิวบุรุษบังเกิดในพระนครนี้จะมีอานุภาพมาก คนเดียวก็อาจสามารถจะข่มขี่ผจญเสียได้ซึ่งบุรุษอื่นร้อยคนพันคนให้พ่ายแพ้อำนาจ จงสร้างปราสาทราชคฤหสถานลงตรงที่บรรณศาลานี้ ผิวผู้ใดสถิตในที่นี้ถึงแม้นมาตรว่าเป็นบุตรคนจัณฑาลก็จะมีพลานุภาพมาก อาจข่มขี่เสียได้ซึ่งปัจจามิตร ดุจพลานุภาพแห่งบรมจักรพรรดิเป็นแท้ พระราชกุมารจึงเผดียงถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจะไปอยู่ ณ ที่ใด ดูก่อนบพิตร อย่าได้ทรงพระปริวิตกเลยด้วยที่อยู่ของอาตมา แลอาตมาก็จะไปสร้างบรรณศาลาอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่งนอกพระนคร บพิตรจงตั้งนามกรเมืองนี้ชื่อกรุงกบิลพัสดุ์เถิด

เกิดพระนครกบิลพัสดุ์

          แลพระราชกุมารทั้ง ๔ มีพระโอกกากมุขเชษฐาธิราชเป็นประธาน ก็ให้ฐาปนาการพระนครแลปราสาทราชนิเวศนฐานลงในที่นั้นๆ ตามคำพระดาบสเสร็จแล้ว ก็ตั้งนามบัญญัติชื่อกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี เหตุเป็นที่พระกบิลดาบสประสาทประสิทธิ์ให้ ก็เสด็จเข้าอาศัยสถิตสำเร็จนิวาสกิจกับด้วยหมู่อมาตย์และราษฎรประชาจตุรงคโยธาทั้งหลายในพระนครนั้น อันนี้เป็นเรื่องอุบัติแห่งกรุงกบิลพัสดุ์มหานคร โดยนัยพรรณนามานี้

 

เกิดศักยราชตระกูลจากการอภิเษกสมรสกันเอง

          ลำดับนั้น อมาตย์ทั้ง ๘ จึงปรึกษากันว่า พระราชกุมารทั้งหลายนี้ก็ทรงเจริญวัยวัฒนาถ้าอยู่ในสำนักพระราชบิดา ก็จะกระทำอาวาหวิวาหมงคลการ ก็กาลบัดนี้ เราทั้งหลายเป็นผู้ใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดให้มาทำนุบำรุงบริรักษ์พระราชกุมาร แลการอันนี้ก็เป็นภารธุระของเราควรจะจัดแจงจึงจะชอบ ก็ชวนกันเข้าไปกราบบังคมทูลปรึกษาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปขอพระราชธิดาแห่งกษัตริย์เมืองอื่นมาอภิเษกกับด้วยพระองค์


          เมื่อพระราชกุมารทั้งหลายทรงสดับดังนั้น จึงตรัสตอบว่า เรามิได้เห็นนางขัตติยราชธิดาแห่งกษัตริย์ทั้งหลายอื่น ซึ่งจะเป็นบรมขัตติยาสัมภินชาติชาตรีอันประเสริฐเสมอเหมือนด้วยเรา อนึ่ง ขัตติยราชกุมารทั้งหลายอื่นนั้นเล่าก็มิได้อสัมภินพงศ์กษัตริย์ชาติชาตรี เสมอเหมือนด้วยเชษฐกนิษฐภคินีโดยแท้ เบื้องว่าจะอภิเษกสังวาสกับด้วยขัตติยราชสกูลทั้งหลายอื่น เกรงว่าราชบุตรธิดาของเราซึ่งจะบังเกิดนั้น จะไม่เป็นขัตติยชาติอันบริสุทธิ์ฝ่ายข้างบิดาบ้าง ฝ่ายข้างมารดาบ้าง ก็จะถึงซึ่งชาติสัมเภทเสื่อมเสียขัตติยวงศ์ไป เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลายชอบใจจะอภิเษกสังวาส กับด้วยพระกนิษฐราชภคินีแห่งเรา ขัตติยวงศ์ของเราจึงจะบริสุทธิ์ขัตติยาสัมภินชาติโดยแท้

          และพระราชกุมารทั้งหลายจึงตั้งไว้ซึ่งเชษฐภคินี องค์เดียวนั้นในที่เป็นราชมารดาแล้ว ก็กระทำสกสกสังวาสกับด้วยพระกนิษฐภคินีทั้ง ๔ นางนั้นเป็นคู่ๆ กันด้วยกลัวชาติสัมเภท จนเจริญด้วยพระราชบุตรพระราชธิดาเป็นอันมาก เหตุดังนั้น กษัตริย์ทั้งหลายในกรุงกบิลพัสดุ์นั้นจึงได้นามกรปรากฏว่าศักยราชตระกูล เพราะทำสกสกสังวาสในราชวงศ์แห่งตนๆ อันนี้เป็นเรื่องต้นอุบัติเหตุแห่งศักยราชตระกูล

 

พระโพธิสัตว์เคยอุบัติในราชวงศ์นี้เป็นพระเวสสันดร

          จับเดิมแต่นั้นมา กษัตริย์ศักยราชทั้งหลายได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์ต่อๆ กันมาเป็นหลายชั่วกษัตริย์เป็นอันมากตราบเท่าถึงพระเจ้าสีวิราช พระเจ้าสญชัยราช แลพระเจ้าเวสสันตรราช ครั้งนั้นเปลี่ยนนามพระนครชื่อกรุงเชตุดร แลสมเด็จพระเวสสันตรราชได้เสวยราชสมบัติดำรงในทศพิธราชธรรม ทรงบริจาคพระยาเศวตปัจจัยนาคกับทั้งเครื่องคชาภรณ์อันมีราคาได้ ๒๔ แสนกหาปณะ ดำรงพระชนม์ตราบเท่าทิวงคต จุติขึ้นไปบังเกิดในดุสิตเทวโลก


          จึงพระชาลีราชโอรสได้ราชาภิเษกกับด้วยนางกัณหาชินากนิษฐภคินี ได้เสวยราชสมบัติสืบกันมา มีพระราชโอรสทรงพระนามพระสีวีวาหนราช พระสีวีวาหนราชมีพระราชโอรสทรงพระนามพระสีหัสสรราช พระสีหัสสรราชได้เสวยราชสมบัติสืบพระวงศ์เป็นลำดับมาเป็นอันมาก นับเป็นกษัตริย์ ๑๖๑,๐๐๐ พระองค์ จึงถึงพระเจ้าไชยเสนราช พระเจ้าไชยเสนราชมีพระราชบุตรทรงพระนามพระเจ้าสีหหนุราช ได้เสวยราชสมบัติสืบกันมา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 26, 2012, 08:46:56 pm โดย Mr. งังจัง »
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
ปฐมสมโพธิกถา ความงดงามของเจ้าหญิงสิริมหามายา
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มิถุนายน 27, 2012, 08:54:42 pm »
0
พระเจ้าสีหหนุศักยะให้เหล่าอำมาตย์เสาะหาหญิงงามเพื่อพระราชโอรสสุทโธทนะ

ครั้งนั้น นามพระนครกลับเรียกกรุงกบิลพัสดุ์ดุจนามเดิม แลพระเจ้าสีหหนุราชนั้นมีพระราชโอรส ๓ พระองค์ ทรงพระนามพระสิริสุทโธทนราชกุมาร ๑ พระสุกโกทนราชกุมาร ๑ อมิตโตทนราชกุมาร ๑ มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ ทรงพระนามนางอมิตา ๑ นางปมิตา๑


          ในกาลนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงสีหหนุราชมีพระหฤทัยปรารถนาจะราชาภิเษกพระสิริสุทโธทนเชษฐราชโอรสผู้ใหญ่ ซึ่งทรงพระวัยวัฒนาการประดิษฐานไว้ในเศวตราชาฉัตร เสวยมไหศวริยสมบัติแทนพระองค์ ทรงพระดำริว่า ควรจะให้สืบแสวงหาซึ่งนางขัตติยราชธิดาอันอุดมวงศ์ ทรงซึ่งบวรรูปสิริโสภาคย์ แลบริบูรณ์ด้วยปัญจกัลยาณีอิตถีลักษณะ ๖๔ ประการ แลมีสันดานกอปรด้วยปริสุทธิศีลาจารวัตรมาอภิเษกในที่พระอัครมเหสี

จึงมีพระราชบัญชาดำรัสให้หามาซึ่งพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน อันถึงซึ่งฝั่งแห่งจตุเพทางคศาสตร์ เฉลียวฉลาดรอบรู้ทั่วไปในอิตถีลักษณะแล บุรุษลักษณะแลภูมิลักษณะทั้งสิ้น แล้วดำรัสสั่งโดยพระคาถาว่า จตุนฺนํ อิริยาปถานํ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความก็เหมือนกระแสพระราชดำริ แปลกออกไปแต่ดำรัสสั่งว่า ท่านทั้ง ๘ จงเที่ยวสืบเสาะแสวงหา ซึ่งนางรัตนกัญญาเราจะอภิเษกกับด้วยเจ้าสิริสุทโธทนราชโอรสของเราบนกองแก้ว แล้วจะประดิษฐานในที่เป็นอธิบดีกว่ากษัตริย์ศักยราชวงศ์ทั้ง ๖ แสน เป็นเอกอัครราชาธิราชอันประเสริฐกว่าพระยาทั้ง ๑๐๑ พระองค์ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเที่ยวสืบแสวงหาไปในทิศทั้งปวงแล้วพระราชทานทรัพย์ ๘,๐๐๐ กหาปณะแก่พราหมณ์ทั้ง ๘ กับมณีปิลันธนคิวาลังการาภรณ์เป็นบรรณาการข่าวสาส์นว่า ถ้าพบนางแก้วเห็นปานดังนั้นแล้ว ก็ให้ถวายแก้วอันเป็นเครื่องประดับพระศอนี้เป็นสำคัญไว้ แล้วก็ส่งพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นไปโดยพระราชประสงค์นั้น

ความงดงามของเจ้าหญิงสิริมหามายาแห่งเทวทหะ

          ในกาลนั้น พระสิริมหามายาราชเทวี มีมูลปณิธีกุศลได้ทรงบำเพ็ญมาแต่ศาสนา พระพุทธวิปัสสีศาสดาจารย์แลในที่นี้แสดงเรื่องความพิสดารดุจในมหาเวสสันดรชาดก ครั้นจุติจากชาติเป็นพระผุสดีก็ขึ้นไปอุบัติบังเกิดในดุสิตเทวพิภพ แล้วกลับจุติลงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ แห่งอัครมเหสีพระเจ้าชนาธิปราช ผู้เสวยสมบัติในเมืองเทวทหนคร ครั้นถ้วนกำหนดทศมาส ก็ประสูติจากพระครรภ์บริบูรณ์ไปด้วยรูปสิริโสภาคย์แลจตุสัฏฐีอิตถีลักษณะพร้อมทุกประการ


          และพระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาสรรเสริญซึ่งบุญสิริสมบัติว่า ตสฺสา ลกฺขณา วิสุทฺธา เป็นอาทิ อรรถาธิบายความเป็นสัมภาวนากถา พรรณนาพระรูปสิริวิลาสโดยพิสดาร มีทรงเบญจกัลยาณีเป็นอาทิ ยังพระราชธิดาให้สถิตในปราสาทแก้วแล้วให้หาพราหมณ์ทั้งหลายมาทำนายลักษณะ แลพราหมณาจารย์ผู้ถึงซึ่งฝั่งแห่งไตรเพทได้เห็นซึ่งพระราชทหรกุมารี จึงกล่าวสรรเสริญด้วยพระคาถาว่า อโห สุรูปา เวสานลา ชลนฺตา เป็นอาทิ อรรถาธิบายความเป็นสัมภาวนกถาโดยอเนกบรรยาย แล้วกราบทูลทำนายว่า พระราชธิดานี้ทรงพระอุดมรูปสิริวิลาสจะปูนเปรียบเสมอสองนั้นมิได้มี ทรงซึ่งนารีลักษณะทั้ง ๖๔ พร้อมบริบูรณ์เป็นเอกอัครรัตนกัญญาตั้งแต่อโธทิศาภาคอเวจี ตราบเท่าถึงอุทธังคทิศภวัครพรหมเป็นที่สุด มิได้มีเทพยดามนุษย์นารีใดจะเปรียบปานอาจจะให้ซึ่งสุขทั้ง ๓ ประการ กล่าวคือ มนุษยสุข ทิพยสุข นิพพานสุข ด้วยพระอานุภาพแห่งพระราชธิดานี้เป็นแท้

 

พวกพราหมณ์ทำนายว่าจะทรงเป็นพระพุทธมารดา

          สมเด็จบรมกษัตริย์จึงตรัสถามว่า ธิดาของเราจะได้เป็นเอกอัครมเหสีแห่งบรมจักรพัตราธิราชในโลกนี้หรือ หรือว่าจะมีบุตรอันประสูติจากพระครรภ์ เป็นองค์สัพพัญญูตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิให้ซึ่งนิพพานสุขแก่สัตวโลกประการใด พราหมณ์ทั้งหลายจึงกราบทูลทำนายว่าพระราชธิดาแห่งพระองค์จักเป็นพระพุทธมารดาโดยแท้

          พระเจ้าชนาธิปราชได้ทรงสดับก็กอปรด้วยพระปีติโสมนัสโดยยิ่ง จึงให้กระทำพระอู่แก้วขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการ กระทำมหาอุสสวอูฬารมงคล ในวันสุนทรนักษัตฤกษ์อันเชิญพระราชธิดาขึ้นพระอู่แก้ว แล้วถวายพระนามบัญญัติว่าพระสิริมหามายาราชกุมารี เหตุมีพระสิริรังสีอันรุ่งเรืองยิ่งนัก


          ครั้นจำเนียรภาคพระราชกุมารี ทรงพระวัยวัฒนากับด้วยมหันตบริวารยศกำหนดพระชนมายุได้ ๑๖ พระพรรษา มีพระสรีรรูปประภาปรากฏแผ่ออกจากพระบวรกายรุ่งเรือง ครุวนาดุจมหาอัคคีขันธ์ อันปรากฏเหนือยอดบรรพตอันสูงในเวลามัชฌันติกราตรีแลทรงพระอุดมรูปกายินทรีย์อันงามโดยยิ่ง หาหญิงอื่นในพื้นสกลโลกธาตุจะมีสิริวิลาสเสมอหามิได้

 

ความอัศจรรย์ ๑๒ ประการของพระนางสิริมหามายา

          อยู่มากาลวันหนึ่ง พระสิริมหามายาทรงซึ่งถาดทองอันเต็มด้วยภัตตาหารกับสุพรรณทัพพีทอง ตักโภชนะแจกมหาชนทั้งหลาย ผิจะยังมนุษย์ทั่วทั้งสกลชมพูทวีปให้บริโภคโภชนาอาหารก็พออิ่มถ้วนทุกคนด้วยกัน ชนทั้งหลายนั้นได้บริโภคแล้วก็มีอายุยืนยาวทั้งสิ้น แลภัตตาหารในถาดทองนั้นจะได้รู้หมดสิ้นหามิได้ เต็มบริบูรณ์อยู่ดังนั้น อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมเป็นปฐม


          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าทรงปรามาสซึ่งกายแห่งบุทคลอันมีโรคพยาธิแต่ยังไม่ถึงซึ่งสิ้นอายุ อันว่าฉันนวุติโรคทั้งหลายก็อันตรธานหาย มีอายุยืนสืบไป อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๒

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าทรงจับซึ่งใบรุกชชาติทั้งหลายใด แลใบไม้นั้นก็กลับกลายเป็นทองทั้งสิ้น อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๓

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าทรงจับซึ่งพืชผลแห่งพฤกษชาติทั้งหลายต่างๆ ทรงเพาะลงในพื้นภูมิภาคแลทรงรดอุทกวารีด้วยพระหัตถ์ ก็บังเกิดงอกขึ้นเป็นลำต้นในขณะนั้น บริบูรณ์พร้อมด้วยสาขาแลใบผลิดอกออกผลเห็นปรากฏแก่ตาโลก อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๔

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าเสด็จขึ้นไปสถิตอยู่บนยอดบรรพตอันปราศจากที่อุทกธารา แม้ว่ามีพระเสาวนีย์ออกพระโอษฐ์ว่า อาตมะกระหายน้ำ อันว่าท่ออุทกก็ทำลายคิรีออกเป็น ๒ ภาค ผุดพลุ่งขึ้นมามีประมาณเท่าลำตาลในที่เฉพาะพระพักตร์ ให้ได้เสวยรสวารีสมพระหฤทัยปรารถนา อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๕

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าเสด็จไปประพาสในภูมิสถานที่ใดๆ อันว่าภุมเทพยดาแลรุกขเทพยดา อากาศเทพยดาทั้งหลาย ก็นฤมิตซึ่งสุพรรณภาชน์เต็มไปด้วยทิพยโภชาหาร นำมาถวายให้เสวยกับทั้งบริวารทั้งปวงอันโดยเสด็จแลกิริยาที่จะอยากอาหารนั้นมิได้มี อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๖

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าเสด็จไปประพาสอุทยาน แลวนสถานศิขรที่ใดๆ อันว่าอุทยานเทพดาอรัญเทพยดาแลบรรพตเทพยดาทั้งหลายก็มาโสรจสรง พระสรีรอินทรีย์ด้วยทิพยสุคันโธทก แล้วนำมาซึ่งทิพย์อลังการาภรณ์ ตกแต่งประดับพระบวรกาย อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๗

          อนึ่ง พระสิริมหามายาผิว่าเสด็จไปสู่สิริครรภไสยาสน์นั้น บรรทมหลับกับอนังคปริวาร อันว่ายักษราชาทั้ง ๘ ก็ถือพระขรรค์วชิราวุธมายืนแวดล้อมอภิบาล เพื่อจะให้บำราศจากภยันตรายทั้งปวง อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๘

          อนึ่ง พระสิริมหามายา ผิว่าเสด็จนิสัชนาการสถิต แลทรงพระดำเนินไปสู่ที่เล่น ณ ตำบลใดๆ ในเวลาทิวากาล อันว่าอสุรราชทั้งหลายก็ทรงเพศดุจเล่นการมหรสพมากระทำกิจบริรักษ์อยู่โดยรอบ อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๙

          อนึ่ง ถึงกาลเมื่ออุณหมาสสมัย เทพยดาอันสถิตในป่าหิมพานต์ ก็นำมาซึ่งอุทกธาราในสัตตมหาสระใส่ในหม้อทองมาโสรจสรงองค์พระสิริมหามายาราชบุตร อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๑๐

          อนึ่ง กาลเมื่อสีตสมัย เทพยดาทั้งหลายก็นำมาซึ่งทิพยวัตถา โดยยาวได้ ๘๐ ศอก กว้างได้ ๔๐ ศอก แต่ไม้กัลปพฤกษาอันบังเกิดบนหิมวันตบรรพต มาถวายพระสิริมหามายาราชเทวี อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๑๑

          อนึ่ง เบื้องว่าพระสิริมหามายาได้ทอดพระเนตรประชาชนชาวพระนครเข็ญใจ แลพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งสมมติว่าเป็นนักบวชก็ดี มีพระหฤทัยประสงค์จะทรงจำแนกทาน ขณะนั้นวัสสิกธาราล้วนหิรัญสุวรรณสัตตรัตนธนสารสมบัติ ก็ตกเรี่ยรายลงมาจากอากาศ พระราชธิดาก็เก็บเอาแก้ว ๗ ประการนั้น ทรงแจกจ่ายให้เป็นทาน อันนี้เป็นอัจฉริยธรรมคำรบ ๑๒

          แลพระสิริมหามายาราชบุตรีประกอบด้วยอัจฉริยธรรมทั้ง ๑๒ ประการเห็นปานดังนี้

          เบื้องว่าชนทั้งหลายปรารถนาซึ่งวัตถุใดๆ ก็พระราชทานซึ่งวัตถุนั้นๆ โดยอันควรแก่ความปรารถนาแห่งนรานิกรทั้งปวงทุกประการ แลพระราชธิดาได้ทรงบำเพ็ญทานมาแต่ในกาลบุเรภพ ทรงพระปรารภปณิธานความปรารถนาเป็นพระพุทธมารดาจึงได้สำเร็จซึ่งผลด้วยประการฉะนี้

 

บุรุษและมนุษย์ทั้งหลายเห็นพระนางแล้วต่างหลงใหล

          เบื้องว่า พระราชบุตรีทรงวัยวัฒนา อันว่าบุรุษทั้งหลายได้เห็นซึ่งพระสรีรรูปก็ถึงซึ่งเคลิ้มสติสมปฤดีใหลหลง หาสติสัมปชัญญะมิได้ แม้บริโภคโภชนาหารอยู่ก็เปิบคำข้าวใส่ในนาสิกแลกรรณแลบนศีรษะ ให้สำคัญว่ามุขทวาร ถึงซึ่งวิปการต่างๆ แลมนุษย์ทั้งหลายได้ทัศนาการเห็นพระบวรรูปสิริวิลาส ล้วนมีจิตปฏิพัทธ์สิเนหายิ่งนัก ปิ้มปานประหนึ่งว่าจะเป็นอุมมัตกชาติ ถึงซึ่งสติวิปลาสด้วยพระรูปพระโฉมถ้วนทุกๆ คน

 

พระสิริมหามายาราชธิดาเสด็จสรงน้ำและทรงพักผ่อนในพระราชอุทยาน

          อยู่มากาลครั้งหนึ่ง ถึงสมัยจิตรมาสบุรณมีทิวากาลเบื้องต้นแห่งคิมหฤดู พระราชพธูมีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปประพาสพระราโชทยาน จึงรับสั่งให้ตกแต่งสูปพยัญชนวิกัติภัตตาหาร พร้อมเสด็จแต่เวลาเช้า แล้วเสด็จขึ้นเฝ้ากราบทูลถวายบังคมพระราชบิดามารดร ราชกญฺญาหิ ปริวาเรตฺวา ก็เสด็จแวดล้อมด้วยอเนกอนงคนิกรเป็นบริวารแสนนางให้นำเครื่องโภชนาหารไปโดยเสด็จ แลทรงซึ่งอลังกตราชรถออกจากพระนคร ประดับด้วยอเนกนิกรมหันตยศไปสู่พระอุทยาน แลภายในอุทยานนั้น มีอุทกละหานตำบลหนึ่งกระแสน้ำหลั่งไหลออกจากช่องท้องบรรพต อันมีนามว่าสิตาคิรี เป็นที่รมณียฐาน ร่มรื่นไปด้วยพฤกษสาขาแลเวฬุคุมพฉายาสำราญระงับร้อนเย็นสบาย พระพายรำเพยพัดฉ่ำเฉื่อย อุทกธารํ นฺหายิตฺวา พระขัตติยราชธิดาก็เสด็จลงสรงสินธุธาราในห้วงละหานธารอันนั้น ครั้งสรงเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นจากกันทรวารีเสด็จประทับสถิตที่ริมฝั่งทรงนิสีทนาการเหนือขจิตรรัตนบัลลังก์ อันว่าชาวพนักงานก็นำเครื่องมาตั้งถวายในที่นั้น พระนางก็ทรงเสวยพระบวรกระยาหารพร้อมด้วยอนงค์อเนกปริวารทั้งปวงเสร็จแล้วก็ทรงเลือกสรรพนานาบุปผชาติ อันนิกรนารีราชปริวารเก็บมาถวาย ทรงร้อยกรองเป็นพู่พ่วงดวงกุสุมเสาวรสรุจิเรข เป็นอเนกนานาพรรคสรรพมาลาวิกัติวิจิตรพิพิธพึงชม ณ ภายใต้รุกขฉายาแทบกันทรธารา สำราญพระทัยในอุทยานภูมิสถาน

 

พวกพราหมณ์ไม่พบสตรีงามตามต้องการ จึงกลับมาค้นหาสตรีในเมืองเทวทหะ

          ในกาลนั้น ส่วนพราหมณ์ทั้ง ๘ ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสีหหนุราชดำรัสใช้ไปนั้น ก็เที่ยวจาริกไปในคามนิคมชนบทประเทศธานีต่างๆ สืบเสาะแสวงหาพิจารณาซึ่งลักษณะสตรีในขัตติยราชวงศ์ แลวงศ์เสนาบดีอมาตย์เศรษฐีคฤหบดีทั้งหลาย ทั่วทั้งแปดหมื่นสี่พันพระนคร ก็มิได้พานพบซึ่งสตรีอันบริบูรณ์ด้วยอิตถีลักขณะพร้อมทั้ง ๖๔ ประการ ได้เห็นแต่สตรีอันกอปรด้วยอิตถีลักขณะแต่ ๑๘ ประการมีอยู่บ้าง จึงนิวัฒนาการมาพิจารณาในศักยราชวงศ์ทั้งปวงจนมาถึงเมืองเทวทหนครโดยอนุกรมลำดับ ก็บรรลุถึงพระราโชทยานซึ่งพระสิริมหามายาเสด็จไปประพาสอยู่นั้น จึงเจรจาปรึกษากันว่า ในภายในพระอุทยานนี้ ชะรอยจะมีกษัตริย์พระองค์ใดเสด็จมาประพาสกับทั้งราชบริวาร จึงได้ยินเสียงมหาชนเล่นอื้ออึงอยู่ฉะนี้ ควรเราทั้งหลายจะเข้าดูให้รู้เหตุ ก็พากันเข้าไป

          ภายในพระอุทยานได้ทัศนาการเห็นสนามเล่น อันนางตรุณนารีทั้งหลายแสนนางบ้างฟ้อนรำ ขับร้อง แลบันลือศัพทดุริยางคดนตรีนี่สนั่นมีประการต่างๆ แลได้เห็นซึ่งพระราชกุมารีอันทรงสถิตบนรัตนขจิตบัลลังก์ ในท่ามกลางสภังคมณฑลสนามเล่น มีพระสิริวิลาสเลิศเล่ห์ประหนึ่งว่าเทวราชธิดาอันแวดล้อมด้วยอเนกนิกรเทพอัปสรกัญญาในดุสิตเทวพิภพ มิฉะนั้นดุจดวงแก้วมณีโชติรสอันประดิษฐานในท่ามกลางอเนกมณีทั้งปวง ถ้ามิดังนั้นดุจดวงดอกโกกนุทมาลาอันโสภาปรากฏในท่ามกลางแห่งอเนกบุปผชาติทั้งหลายในคิมหฤดูกาล มิฉะนั้นก็ปานประหนึ่งว่าองค์บรมจักรพัตราธิราชอันทรงสถิตในระหว่างแห่งขัตติยสามนต์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์ มิฉะนั้นก็เหมือนด้วยพระยาสุวรรณราชวิหคหงส์อันปรากฏในท่ามกลางแห่งหงส์อเนกคณา แลบินร่อนร่าบนอนิลบถประเทศฐาน มิฉะนั้น สุวณฺณนาวา วิย ก็ดุจกาญจนนาวาอันลอยอยู่ยังท่ามกลางมหรรณพสาครสมุทร มิฉะนั้น เทวินฺโท วิย ประดุจท้าวเทพย์วชรินทร์อันเสด็จนิสีทนาการเบื้องบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ภายใต้ตรุราชปาริกฉัตรพฤกษ์ในดาวดึงสเทวโลก แลแวดล้อมด้วยทวยเทพคณานิกรบรรษัทเป็นบริวาร

          มิฉะนั้น ปุณฺโณ ยถา ก็เปรียบปานบุรณจันทร์อันอเนกนักขัตตดาราแวดล้อม เป็นบริวารในระหว่างคัคนาดลวิถีทิศทิฆัมพร มิฉะนั้น สุริยปฺปภา ก็ดุจดวงประภากรอันมีรัศมีได้เก้าแสนส่องไพโรจน์จำรัส มิฉะนั้น มิคราชา วิย ก็เทียบทัดพญาไกรสรมฤคินทรราชอันลีลาศออกจากสุวรรณคูหาสถาน กอปรด้วยพระสิริลักขณโสภณประภาประภัสรชัชวาล แลประดุจคบเพลิงอันจุดไว้บนยอดบรรพตคีรี ทรงซึ่งกนกรัตนมณีอนัคฆปิลันธนอลังการกาญจนมาลาพิภูสิตพิพิธพรรณราย พระรัศมีก็โอภาสออกจากพระกายทั่วทุกขุมพระโลมา ปรากฏเหมือนดุจรดไปด้วยสุวัณโณทกธาราไพโรจน์จำรัส แลบริบูรณ์ด้วยอิริยาบถอันสำรวมเป็นอันดี แลรุ่งเรืองด้วยพระสิริขันธ์พรรณโสภาคย์

 

พวกพราหมณ์พบพระราชธิดาแล้วถึงกลับลืมตัว

          พราหมณ์ทั้ง ๘ บมิอาจดำรงสถิตอยู่ได้ ด้วยได้เห็นพระสิริลักขณวิลาสล้ำเลิศอเนกนิกรนารีก็ถึงซึ่งมุฬหสัญญีวิปลาสปราศจากสติสมปฤดี บมิรู้สึกตนว่านุ่งห่มประดับกายาประการใด เจรจาพึมเพ้อหลงใหลมีนานัปการดุจอาการอุมมัตตกเพศ ส่วนพระสิริมหามายาเมื่อได้ทอดพระเนตรวิกลกิริยาแห่งพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ ดังนั้น จึงตรัสว่า พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านี้มีอากัปวิการดังฤา? จึงดำรัสสั่งให้นางปริจาริกผู้หนึ่งไปถามดูให้รู้เหตุ


          ขณะนั้น โกณฑัญญพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งนับในพวกพราหมณ์ทั้ง ๘ ถึงซึ่งฝั่งแห่งศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ มีบุญสมภารได้บำเพ็ญมาแต่ในบุเรภพ กลับมีสมาธิจิตตั้งขึ้นได้ ได้สติสัมปชัญญะ เมื่อได้สดับคำนางปริจาริกมาถาม จึงแจ้งความตามสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชกรุงกบิลพัสดุ์ดำรัสใช้มานั้นให้ทราบทุกประการ แลนางผู้รับสั่งก็กลับไปกราบทูลให้ทราบตามประพฤติเหตุ

 

โกณฑัญญพราหมณ์เกิดมัวเมาจนสลบ

          พระสิริมหามายาจึงรับสั่งให้หาโกณฑัญญพราหมณ์นั้นมาเฝ้า ให้นั่ง ณ ที่ควรในภายในระหว่างคณานิกรอนงค์ปริวารทั้งแสนนาง จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสประภาษถามโดยสารพระคาถาว่า กิสฺมึ นุ รฏฺเฐ ตว ชาติภูมิ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ดังเราถาม ดูกรพราหมณาจารย์ชาติภูมิแห่งท่านอยู่ ณ แว่นแคว้นประเทศธานีอันใด แลมาสู่ที่นี้ด้วยเหตุไฉนจงแจ้งแก่อาตมา แม้จะปรารถนาสิ่งอันใด ก็จะให้สำเร็จมโนรถประสงค์แห่งท่าน เมื่อโกณฑัญญพราหมณ์ได้ทัศนาการพระบวรโอษฐ์แห่งพระสิริมหามายาราชบุตรี มีพรรณอันแดงดุจสีผลมะพลับทองอันสุกสดแลพระทนต์ก็งามปรากฏกลระเบียบวิเชียรรัตน์ประภัสรโอภาส ทั้งได้สดับพระสุรศัพท์สำนวนมธุรสารเสนาะ ดุจสำเนียงแห่งท้าวมหาพรหมอันเพราะพร้อมไปด้วยองค์ ๘ ประการ มิดังนั้น กรวิโก วิย เปรียบปานประดุจเสียงสกุณการเวก แลเสียงขับแห่งสกุณกินรี อันไพเราะเป็นปิยกถาบริบูรณ์ไปด้วยลักษณะอันนำมาซึ่งมโนภิรมย์แห่งมหาชนทั้งปวง ครุวนาดุจทำลายอุระล้วงเข้าไปจับเอาดวงหฤทัย แลลำไส้ใหญ่น้อย แลพราหมณ์นั้นก็มัวเมาไปด้วยราคฤดีมีกายแลจิตอันลำบาก ก็ล้มลงวิสัญญีภาพในที่นั้น


 

ฟื้นแล้วกราบทูลเหตุผลที่มา

          ครั้นพระราชธิดาได้ทอดทัศนาการ ก็ตรัสสั่งนางกำนัลให้นำเอาน้ำสีโตทกวารีมารดกายโกณฑัญญพราหมณ์ โกณฑัญญพราหมณ์ก็ได้อัสสาสปัสสาสะฟื้นตื่นสมปฤดีมีสติ จึงกราบทูลแถลงเหตุอันสมเด็จพระเจ้ากรุงสีหหนุราชดำรัสใช้มา แล้วทูลพรรณนาพระสิริลักษณะแห่งพระสิริสุทโธทนราชกุมาร โดยสาระพระคาถาว่า อยฺเย เทวิ สีหหนุ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า อันว่าสมเด็จท้าวสีหหนุราชชนาธิบดี มีพระสิริขันธ์อันรุ่งเรืองเจริญด้วยดิเรกมไหศวริยสมบัติ เป็นบรมกษัตริย์อันประเสริฐหาท้าวพระยาจะเสมอมิได้ อนึ่ง พระราชดนัยทรงพระนามพระสิริสุทโธทนราชกุมาร ทรงพระบวรรูปสิริสัณฐาน งามบริบูรณ์ด้วยพระสิริลักษณะเลิศบุรุษมนุษย์นิกร ทรงพระกายพละ ๑๐ กำลังกุญชรคชาชาติ ทั้งพระอาการก็องอาจงามสง่าดุจพระยาไกรสรสีหราชจตุบท สมเด็จพระราชบิดาทรงพระปรารภเริ่มการจะราชาภิเษกพระเอกอัตรโชรสในเศวตฉัตร เสวยมไหศวริยสมบัติเป็นมกุฎเกศขัตติยสามนตราช ๑๐๑ พระองค์

          วยปฺ ปตฺตกาเล บัดนี้ก็ทรงพระเจริญรุ่นดรุณวัยได้ ๑๖ พรรษา พระพักตร์ผ่องโสภาพรรณพิลาสเล่ห์ประดุจแว่นแก้ว แล้วสำเร็จรอบรู้ในศิลปศาสตร์ทั้งสิ้น สมเด็จบรมนรินทร์ราชชนกดำรัสใช้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ มาสืบแสวงหานางอันทรงเบญจกัลยาณีแลอิตถีลักษณะ ๖๔ ประการ จะอภิเษกเป็นพระอัครมเหสีพระราชกุมารดนัยปิโยรส

          ข้าพระบาททั้ง ๘ เที่ยวบทจรแสวงหาพิจารณาในอุตตมวงศ์แลหินพงศ์ทั้งหลาย ทั่วทั้งแปดหมื่นสี่พันพระนครก็บมิพบพาน จนมาถึงนครสถานที่นี้ ได้เห็นพระแม่เจ้าผู้ทรงศรีสุนทรลักษณ์ล่วงเสียซึ่งสตรีในมนุษย์โลกหามิเสมอได้ ดุจเทพอัปสรกัญญาทั้งรุ่งเรืองด้วยพระบวรวงศาประเสริฐกว่า สรรพอเนกนารี ข้าพระองค์ก็จะกลับคืนราชธานีกบิลพัสดุ์ กราบทูลบรมกษัตริย์ให้มาอัญเชิญไปอภิเษกเป็นพระมเหสีกับองค์เอกอัครโอรสสองกษัตริย์สมเสมอด้วยพระยศแลวัยวัฒนาการ ทั้งทรงศีลศรัทธา แลปรีชาญาณก็อย่างกันสมควรที่จะเสด็จเถลิงถวัลยราชาฉัตร งามดังองค์สมเด็จวชิรหัตถ์กับองค์สุชาดาเทพยอสุรินทร์ธิดา ข้าพระบาทก็ลุสมเจตนา มาประสบพระแม่เจ้าสำเร็จประโยชน์ในวันนี้

 

เพียงสดับคุณพระราชกุมาร เจ้าหญิงก็ทรงหลงรัก

          เมื่อพระสิริมหามายาราชบุตรีได้ทรงสดับข่าวสาส์นพระสิริสุทโธทนราชกุมาร แต่ยังไม่ได้ทัศนาการก็เกิดพระกมลดำริเสน่หา เหตุบุพเพสันนิวาสเนื่องมาแต่อดีตกาล


          พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาว่า ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ความเสน่หาบังเกิดอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือบุพเพสันนิวาสกับทั้งปัจจุบันประโยชน์ มีครุวนาดุจดวงดอกอุบลชาติอันอาศัยซึ่งอุทกวารีเป็นที่ตั้ง จึงบังเกิดขึ้นในชลธีฉะนั้น

          เบื้องว่าพระสิริมหามายาได้ทรงสวนาการกถิตกถาแห่งโกณฑัญญพราหมณาจารย์ก็บังเกิดมโนภิรมย์โดยยิ่ง แต่หากกระทำกำบังไว้ด้วยมายาสตรี แสร้งมีพระเสาวนีย์ดุจไม่เจริญพระหฤทัยว่า ดูกรพราหมณ์ อันความประการนี้ ตัวข้าเป็นตรุณกุมารียังมีราชบิดามารดาเป็นอิสราธิบดีอยู่ ท่านจงไปสู่สำนักพระชนกชนนี กราบทูลคดีโดยอัธยาศัยของท่าน ใช่การที่เราจะเจรจา

 

ทรงรับมณีปิลันธนคีวะ (เครื่องประดับสวมพระศอ)

          เมื่อพราหมณ์ได้สดับจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า สมเด็จพระเจ้ากรุงสีหหนุราช เมื่อดำรัสใช้ให้ข้าพระบาทมานั้น พระราชทานมณีปิลันธนคีวาลังการาภรณ์เป็นราชบรรณาการมาตรัสสั่งว่า ถ้าท่านไปสืบแสวงหาพบนางแก้วสมประสงค์ จงให้ซึ่งเครื่องประดับนี้แก่นางนั้นให้ทรงเป็นคีวาลังการ ขอจงทรงพระกรุณาโปรดรับซึ่งอาภรณ์อันเป็นของพระราชทานแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ไว้ ทรงเป็นอลงกตคีวาประสาธน์ในกาลบัดนี้ จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ท่านจงส่งมาเถิด แล้วให้นางปริจาริกผู้หนึ่งรับเอามณีปิลันธนะนั้นจากหัตถ์แห่งพราหมณ์ให้ล้างด้วยสุคนโธทกประพรมด้วยเครื่องเสาวคนธวิเลปนะแล้ว ให้ใส่ไว้ในกล่องแก้วพลางให้หาสุบัตตมหาอมาตย์อันตามเสด็จออกไปนั้นมาเฝ้า


          ตรัสเล่าความตามถ้อยคำของพราหมณ์ให้ฟังแล้ว ให้พาพราหมณ์ทั้ง ๘ กับกล่องแก้วนั้นนำเข้าไปสู่สำนักพระราชบิดาในเมืองเทวทหนคร แลโกณฑัญญพราหมณ์ก็เรียกพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้นเข้าไปในเมืองกับสุบัตตมหาอมาตย์ สุบัตตมหาอำมาตย์ก็นำพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นเข้าไปเฝ้าพระเจ้าชนาธิปราช ตํ ปวุตฺตึ อาโรเจตฺวา กราบบังคมทูลตามมูลคดีเหตุทั้งปวงนั้นให้ทรงทราบ

 

พวกพราหมณ์ทูลรายงานคุณสมบัติพระราชกุมาร

          ราชา สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงตรัสถามพราหมณ์ทั้ง ๘ ว่าเหตุนี้จริงหรือประการใด เต พฺราหฺมณา พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลว่าจริงทุกประการ จึงตรัสถามว่า พระสิริสุทโธทนราชกุมารนั้น มีชนมายุเท่าดังฤา? เทวราช  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช พระราชกุมารนั้นพระชนมายุได้คำรบ ๑๖ พรรษา ดูกรทวิชาจารย์ ราชกุมารนั้นรักษาซึ่งเบญจศีลแลทศพิธราชธรรมอยู่ฤา ข้าแต่นราธิบดี พระราชกุมารนั้นจำเดิมแต่ทรงพระเยาว์มาก็รักษาเบญจางคิกศีลแลทศพิธราชธรรมเป็นนิตยกาลมิได้ขาด ดูกรทวิชาชาติ อันว่าทศพิธราชธรรมนั้นคือสิ่งดังฤา?

          โกณฑัญญพราหมณ์ ก็กราบทูลบรรยายโดยพระคาถาว่า ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ เป็นอาทิ แปลเนื้อความว่า ราชธรรม ๑๐ นั้น คือ ทานศีลแลปริจาคกับพระทัยชื่อแลอ่อน อีกอุโบสถ แลเมตตากรุณา ขันติกับทั้งทรงประพฤติมิได้ผิดจากขัตติยราชประเพณีมาแต่ก่อน ทรงรักษาในทศพิธราชธรรมดังพรรณนามาดังนี้ เป็นนิตยกาล

 

ทรงพิจารณาเห็นทั้งสองพระองค์เหมาะสมกันยิ่ง

          เมื่อได้ทรงสดับก็เบิกบานพระกมลปราโมทย์ จึงตรัสสรรเสริญโดยสาระพระคาถาว่า ธมฺมญฺ จเร สุจริตตํ เป็นอาทิ แปลเนื้อความว่า เบื้องว่าบุทคลใดประพฤติซึ่งสุจริตธรรม มิได้ประพฤติการทุจริต แลบุทคลผู้นั้นก็จะนอนเป็นสุขทั้งอิธโลกแลปรโลก แล้วทรงพระจิตนาว่า ธิดา ของอาตมะก็มีชนมพรรษาได้ ๑๖ ปีบริบูรณ์ อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็เป็นขัตติยสกูลอันใหญ่ ทั้งมีมหันตเดชานุภาพแผ่ไปทั่วสกลชมพูทวีป แล้วบริบูรณ์ไปด้วยพลสารสินธพแลทาสทาสี อีกสรรพโภคสมบัติก็มีเป็นอันมาก ทั้งกอปรด้วยบุญญาธิการมหันตปริวารอิสริยยศ ปรากฏเป็นเอกอัครราชาธิบดี มิได้มีกษัตริย์พระองค์ใดเสมอสอง ครองราชธานีกบิลพัสดุ์ เป็นใหญ่ในสักยรัฐชนบท ทั้งพระราชโอรสสิริสุทโธทนมหาราชกุมาร ก็ประกอบด้วยบุญญาภิสมภารเป็นมหัศจรรย์ แม้ได้อภิเษกสองครองกัน กับแม่สิริมหามายาธิดาของอาตมะนี้ก็จะเป็นอัครนราธิบดีในแผ่นพื้นสกลชมพูทวีป อันนางอื่นสักหมื่นแสนก็บมิเทียมเทียบเสมอด้วยธิดาของอาตมา สมควรที่จะเป็นอัครกัญญามิ่งมเหสี แห่งองค์บรมขัตติยาธิบดีอดุลยราชวงศ์

 

ตรัสให้เลี้ยงดูพวกพราหมณ์ แล้วทรงประชุมสโมสรสันนิบาตพิจารณาการสู่ขอ

          เมื่อทรงพระจินตนาดังนี้ โสมนสฺสชาโต ก็มีพระปิติบังเกิดในพระกมลสันดาน จึงดำรัสสั่งสุบัตตมหาอมาตย์ว่า ท่านจงไปสู่สำนักอัครเทวีแห่งเรา แล้วเล่าเหตุอันพราหมณ์ทั้งหลายมานี้ให้แจ้งแล้วให้ตกแต่งโภชนาหารมาเลี้ยงทวิชาจารย์ อมาตย์รับพระโองการแล้วไปกราบทูลพระราชเทวี พระราชเทวีทรงทราบเหตุแล้ว นานคฺครสโภชนํ สมฺปาเทตฺวา ก็ให้ตกแต่งนานัคครสโภชนาหารมาพระราชทานพราหมณ์ทั้ง ๘ ให้บริโภคตามรับสั่ง ส่วนพระสิริมหามายาพระราชธิดาเสด็จประพาสพระราชอุทยานอยู่จนเวลาสายัณห์ก็เสด็จลงจากรัตนบัลลังก์ก็มาทรงมงคลราชรถยาน นารีคเณหิ ปริวาเรตฺวา แวดล้อมด้วยอเนกนิกรปริวารคืนเข้าสู่พระนคร สมเด็จพระราชบิดรจึงรับสั่งให้หาพระราชธิดามาเฝ้า ให้สถิตร่วมบวรมัญจาอาสน์กับด้วยพระองค์ แล้วให้หาพระขัตติยราชวงศ์แลหมู่อมาตย์มีเสนาบดีเป็นอาทิ กับทั้งเศรษฐีคฤหบดีแลพระอัครมเหสีแห่งพระองค์มาสโมสรสันนิบาตพร้อมกันแล้ว ตรัสปรึกษาซึ่งเหตุอันนั้น ใครจะเห็นมิควรประการใด

 

ที่ประชุมเห็นชอบถวายพระราชธิดาสิริมหามายา

          เต ชนา ชนทั้งหลายได้สดับรับสาธุการพร้อมยินยอมชื่นชมด้วยกันทั้งสิ้น จึงตรัสสั่งอมาตย์พนักงานให้จัดแจงนิวาสฐานให้พราหมณ์ทั้ง ๘ อยู่อาศัยสำนักในราตรีวันนั้น ครั้นเวลารุ่งเช้าจึงให้หาพราหมณ์เข้ามาเฝ้า พระราชทานภัตตาหารให้บริโภคเสร็จแล้ว ก็โปรดพระราชทานรางวัลโดยสมควร กับทั้งราชบวรบรรณาการตอบแทนไปถวายพระเจ้าสีหหนุราช ตรัสอนุญาตยอมถวายพระราชธิดา แล้วก็ส่งพราหมณ์ทั้งปวงกลับคืนไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
พระเจ้าสีหหนุทรงพระสุบิน ๒ ข้อ

          ในกาลวันนั้น ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชเสด็จโสรจสรงสุคันโธทกธารา แล้วเสวยพระกระยาหารในเวลาเช้า แล้วเสด็จออกยังพระโรงราชพินิจฉัย พรั่งพร้อมไปด้วยหมู่เสวกามาตย์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยลำดับ ปาจีนทิสํ โอโลเกตฺวา ทอดพระเนตรไปฝ่ายปราจีนโลกธาตุ โดยช่องสีหบัญชรปราสาท ทรงสถิตเหนือราชอาสน์ราชบัลลังก์ ดำรัสสั่งบังคับในราชกิจแก่หมู่อมาตย์ตามราชประเพณี ครั้งเวลาสายัณหสมัย ก็เสด็จคืนเข้าในพระที่รัตนมนเทียรสถาน เสวยพระบวรกระยาหารเสร็จแล้ว ล่วงเข้าราตรีกาลก็เสด็จเข้าสู่สิริครรภไสยาสน์ ทรงบรรทมเหนือบวรมัญจอาสน์นิทรารมณ์ ครั้นล่วงถึงปัจจุสสมัยราตรีกาล ก็เสวยซึ่งนิพพานสุบินนิมิตมหัศจรรย์ ประหลาด อันสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลกธาตุบมิเคยฝัน ในพระสุบินนั้นปรากฏเป็นความ ๒ ข้อ


 

พระสุบินข้อหนึ่ง ทรงเห็นวิมานรัตนะ ๗ ผุดขึ้นกลางชมพูทวีป

          ข้อหนึ่งว่ามีสัตตรัตนพิมานอันหนึ่ง ผุดขึ้นมาแต่พื้นภูมิภาคประดิษฐานในที่ท่ามกลางชมพูทวีป สูงพ้นภวัครพรหมมีพื้นที่ถึง ๒๘ ชั้น แลพื้นชั้นต่ำใหญ่กว้างแผ่ไปปกปิดเสียทั่วทั้งหมื่นจักรวาฬแลพื้นชั้น ๒ ปกปิดเสียซึ่งชั้นจาตุมหาราช พื้นชั้น ๓ ปกปิดเสียซึ่งชั้นดาวดึงส์ พื้นอันเศษถัดๆ  ขึ้นไปนั้น ก็ปิดปิดเสียซึ่งกามาพจรเทวโลกพื้นละชั้นโดยลำดับ ตราบเท่าถึงรูปาพจรพรหมโลกทั้ง ๑๖ ชั้น รุ่งเรืองงามยิ่งนัก แลยอดวิมานนั้นล้วนแล้วด้วยแก้วมณีโอภาสส่องสว่างไปทั่วทวิเขตทั้ง ๒ คือ หมื่นจักรวาฬอันเป็นชาติเขต แลแสนโกฏิจักรวาฬเป็นอาณาเขต ภายในวิมานนั้น มีรัตนบัลลังก์อันหนึ่งสูงได้ ๓๔ แสนโยชน์ โดยกว้างได้ ๗ แสนโยชน์ แลมีอัครบุรุษผู้หนึ่งอยู่บนบัลลังก์แก้วกับด้วยนางเทพอัปสรกัญญาบริวารเป็นอันมากดำริที่จะเปิดประตูพระอมตมหานฤพาน ตสฺมึ ขเณมหาเมโฆ ขณะนั้นมหาเมฆก็ตั้งขึ้นหลั่งลงซึ่งหยาดเมล็ดฝนทั่วทั้งห้องจักรวาฬ แลเมล็ดฝนนั้นปรากฏเป็นรูปต่างๆ ตกลงมาแทบบาทมูลแห่งอัครบุรุษผู้นั้น แล้วก็กลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น และอัครบุรุษนั้นก็สั่งสอนให้เล่าเรียนศิลปศาสตร์เป็นอันมาก จะให้ชนทั้งหลายเหล่านั้นได้ซึ่งอดุลยสุข อยํ เอโก พระสุบินนิมิตนี้เป็นประถม

 

พระสุบินข้อสอง ทรงเห็นหมู่สัตว์กลายเป็นมนุษย์ มีอัครบุรุษพาข้ามแม่น้ำหลายเที่ยว

          แลพระสุบินนิมิตอื่นข้อหนึ่งเป็นคำรบ ๒ ว่ายังมีมหาคงคาอันหนึ่งกว้างลึกยิ่งนัก ดาษไปด้วยระเบียบคลื่นอันใหญ่ แลอัครบุรุษนั้นตกแต่งผูกซึ่งเรือขนานอันล้วนแล้วด้วยแก้ว ประทับอยู่ที่ฝั่งมหาคงคา แลมีฝูงสัตว์ทั้งหลายผุดขึ้นมาจากน้ำแล้วกลับกลายเป็นมนุษย์ แล้วมีสัตว์เป็นอันมากมีรูปต่างๆ ผุดขึ้นมาจากภายใต้แผ่นดินแล้วก็กลายเป็นมนุษย์มาสู่สำนักอัครบุรุษ อัครบุรุษก็สั่งสอนให้เรียนซึ่งมนต์ทั้งสิ้นด้วยกัน แล้วก็พาชนบริษัทเหล่านั้นลงสู่รัตนมหานาวา แล่นข้ามมหาคงคานั้นไป แลโลโณทกวารีในมหานทีนั้น จะได้เข้าไปในลำนาวาแก้วแต่มาตรว่าหยาดหนึ่งก็หามิได้ ส่วนองค์อัครบุรุษก็ทรงจังกูฏนั่งถือท้ายเรือแก้วนั้นไปจนถึงฝั่งฟากโพ้น แล้วนำมหาชนขึ้นสู่ฝั่ง พาเข้าไปในเมืองหนึ่งมีนามอนาลัยนคร ประกอบด้วยปราการ ๗ ชั้น แลมีทั้งปรางคปราสาทอันรจนา แล้วพระองค์ก็กลับลงสู่รัตนนาวา ข้ามกลับมาบรรทุกชนทั้งหลายขนข้ามไปสู่พระนครนั้นเนืองๆ เป็นหลายครั้ง สิ้นข้อความในสุบินเป็น ๒ ข้อเท่านั้นก็พอบรรทมตื่นในเวลาปัจจุสสมัยกาล


พราหมณ์ทำนายว่า หาคู่ให้พระราชกุมารได้แล้ว
และพระนางจะเป็นพระพุทธมารดา

          ครั้นเวลารุ่งเช้า ดำรัสให้หาพราหมณ์ผู้เป็นบิดาโกณฑัญญพราหมณ์มาทำนายพระสุบิน แลพราหมณ์นั้นพิจารณาในลักษณะพระสุบินด้วยศิลปศาสตร์แห่งตนๆ แล้วกราบทูลทำนายดุจเห็นด้วยทิพยจักษุญาณว่า พระองค์มีพระทัยประสงค์จะอภิเษกพระสุทโธทนราชกุมาร บัดนี้พราหมณ์ทั้ง ๘ ไปได้นางกุมารีอันทรงเบญจกัลยาณี แลอิตถีลักขณะบริบูรณ์พร้อม กปิลวตฺถุปุรํ นิวตฺเตตฺวา แลนิวัฒนาการมาสู่เมืองกบิลพัสดุ์ จึงตรัสถามว่าเมื่อได้นางกุมารีอันบริบูรณ์ด้วยอิตถีลักขณะดังนี้ จะมีคุณแก่เราเป็นประการใด เทว นรินฺท ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ในสมบัติคุณอันใดจะมีแก่พระองค์ก็หามิได้ แลพราหมณ์ทั้งหลายไปได้นางรัตนกัญญา นางนั้นจะเป็นพระมารดาแห่งพระสัพพัญญูเจ้า อันจะให้ซึ่งนิพพานสุขแก่สัตว์โลก จึงตรัสถามว่าพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นจะมาถึงสำนักเราเมื่อใด ข้าแต่บรมบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระพุทธเจ้าข้า พราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นจะมาถึงสำนักของพระองค์ในกาลบัดนั้น เหตุดังนั้น จึงทรงพระสุบินนิมิตให้เห็นประจักษ์ในพระกมลสันดาน สมเด็จบรมกษัตริย์ได้ทรงสวนาการก็เบิกบานบันเทิงพระหฤทัย ทรงพระโสมนัสยิ่งนัก

 

พราหมณ์อำมาตย์ ๘ คน กลับเข้าเฝ้าถวายรายงาน

          เมื่อพระเจ้าสีหหนุราชตรัสอยู่กับมหาพราหมณ์ผู้ทำนายพระสุบิน พอพราหมณ์ทั้ง ๘ มาถึงกรุงกบิลพัสดุ์ นำเอาเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายแล้วกราบทูลเหตุ ซึ่งไปแสวงหานางแก้วได้สมดังพระราชหฤทัยปรารถนา นางนั้นเป็นราชธิดาพระเจ้าชนาธิปราชเมืองเทวทหนคร เป็นศักยราชวงศ์อันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชทรงพระโสมนัสตรัสถามถึงสมบัติแลรี้พลพาหนะราชบริวารแห่งพระยาเทวทหนครนั้น มีมากน้อยสักเท่าใด พราหมณ์ก็กราบทูลสรรเสริญสมบัติและพลพาหนะแห่งพระเจ้าเทวทหนครนั้นมีเป็นอันมาก ด้วยพระคาถาว่า สกฺยวํสิสฺสโรราชา เป็นอาทิ อรรถาธิบายความเป็นสัมภาวนกถา สรรเสริญสมบัติแห่งพระเจ้าชนาธิปราช แล้วสรรเสริญโฉมพระสิริมหามายาราชธิดาว่างามหากษัตรีในโลกจะเปรียบเสมอสองมิได้โดยนัยพิสดาร แล้วกราบทูลตามยุบลคดี ซึ่งพระเจ้าชนาธิปราชดำรัสถาม แลเรื่องความอันตนกราบทูลแต่หลังแล้วตรัสยอมอนุญาตให้พระราชธิดานั้น


นัดวันวิวาหมงคล

          สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชจึงรับสั่งให้ประชุมกษัตริย์ศักยราชทั้ง ๖๐๐,๐๐๐ พระองค์ ปรึกษาพร้อมกันแล้วก็จัดให้กษัตริย์ ๓ พระองค์กับสุดิตมัตตเสนาบดีแลสุทธิยอมาตย์ คุมเครื่องราชบรรณาการไปกับพราหมณ์ทั้ง ๘ สู่เมืองเทวทหนคร กราบทูลนัดการวิวาหมังคลาภิเษก

          พระเจ้าชนาธิปราชก็ทรงพระโสมนัส จึงตรัสส่งกษัตริย์ ๓ พระองค์ กับอุปาหนเสนาบดีแลสุปดิษฐอมาตย์ให้คุมเครื่องราชบรรณาการตอบไปถวายสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราช กำหนดการวิวาหมงคล


 

ขบวนเสด็จไปกรุงเทวทหะ

          พระเจ้าสีหหนุราชจึงได้ตกแต่งมรรคาแต่กบิลพัสดุ์ไปตราบเท่าถึงเมืองเทวทหนคร ประดับด้วยอลังการต่างๆ แล้วจัดกษัตริย์ศักยราชวงศ์ขึ้นทรงกุญชรชาติ ๒,๐๐๐ ประดับหัตถาภรณ์ แล้วให้พระสิริสุทโธทนราชโอรสทรงช้างต้นพระยาเศวตไอยรารัตนปัจจัย แวดล้อมไปด้วยกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์เป็นบริวารแล้วจัดสินธพยาน ๓,๐๐๐ ให้ศักยราชกุมารขึ้นทรงถ้วนทุกตัวม้าแห่เสด็จโดยขบวนหน้าหลังแลมีพลเดินเท้าล้วนถือธนู ๙๐๐,๐๐๐ แห่ไปเบื้องหน้าแห่งคชาพาหนยาตร แล้วให้จัดเกวียนบรรทุกข้าวสารสัญชาตสาลี ๓๐,๐๐๐๑ เล่ม แลเกวียนบรรทุกทรัพย์พัสดุสิ่งของต่างๆ ๔,๐๐๐ เล่มเกวียน บรรทุกมัจฉมังสาผลาผลสิ่งของบริโภคทั้งปวง ๖,๐๐๐ เล่ม ให้ล่วงหน้าไปก่อน สยํ  ส่วนองค์พระเจ้าสีหหนุราชก็ทรงมงคลหัตถีแลช้างพระประเทียบทั้งปวงตามเสด็จแวดล้อมด้วยหมู่มุขเสนามาตย์ คหบดี เศรษฐี ทวิชาจารย์ แลจตุรงคโยธาหาญเป็นอันมาก เสด็จยาตราพลาพลไปเบื้องหลัง


 

พระเจ้าชนาธิปราชารับเสด็จ ณ อโสกอุทยาน (อยู่ในป่าลุมพินี)

          ชนาธิปราชา ส่วนสมเด็จพระเจ้าชนาธิปราชทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าสีหหนุราชเสด็จยาตราพลมา ก็เสด็จทรงพระราชยานน้อยแวดล้อมด้วยเสนามาตย์ราชพิริยโยธาหาญ  ออกจากพระนครไปถึงอโสกอุทยาน ยานา โอตาเรตฺวา จึงเสด็จลงจากพระราชยานเสด็จดำเนินด้วยพระบาทไปทำปัจจุคมนาการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ ถวายบังคมทูลเชิญเสด็จประเวสพระนคร สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชทอดพระเนตรเห็นป่าลุมพินีอันใหญ่กว้าง เป็นที่รัมณียสถาน จึงตรัสแก่พระเจ้าชนาธิปราช ขอพักพลประทับอยู่ในที่นั้น พระเจ้าชนาธิปราชให้รี้พลแผ้วถางภูมิประเทศที่นั้นถวาย

 

พระเจ้าสีหหนุตรัสให้สร้างมหามณฑปและปราสาท ๑ องค์
ส่วนพระเจ้าชนาธิปทรงให้สร้างปราสาท ๒ องค์

          พระเจ้าสีหหนุราชจึงตรัสสั่งสุรัตนวัฒกีอมาตย์ นายช่างผู้ใหญ่ให้กระทำมหามณฑปกว้างถึงกึ่งประโยชน์ กอปรด้วยเสาถึง ๘๐๐ ต้น แล้วให้กระทำปราสาททององค์หนึ่งมีพื้น ๑๙ ชั้น ในอโสกอุทยานให้นามโกกนุทปราสาท ส่วนพระเจ้าชนาธิปราชก็ให้สร้างปราสาท ๒ องค์ได้นามธัญมุตปราสาทองค์ ๑ เวฬุปัตปราสาทองค์ ๑ ณ พระอุทยานนั้น


 

สร้างเพื่อใช้เป็นสถานมหามงคลวิวาหะในเดือน ๔

          แลการปราสาททั้ง ๓ สำเร็จในเดือนหนึ่งบริบูรณ์ ครั้งถึงผคุณมาส พระเจ้าชนาธิปราช จึงให้ตกแต่งพระนครงามดุจดาวดึงส์เทวโลก แล้วให้ตกแต่งปราสาททั้ง ๓ และมหามณฑปในอโสกอุทยาน ในท่ามกลางมหามณฑปนั้นตั้งไว้ซึ่งกองแก้ว ๗ ประการ สูงประมาณชั่วลำตาลหนึ่ง ลาดด้วยผ้ากัมพลอันหาราคามิได้ เป็นบัลลังก์สำหรับจะราชาภิเษก ครั้นเวลารุ่งเช้าก็อัญเชิญพระสิริมหามายาราชธิดา ให้โสรจสรงเสาวคนธ์จันทโนทกธารา แล้วทรงเครื่องสิริราชกัญญาวิภูสนาภรณ์พร้อมเสด็จแวดล้อมด้วยคณาเนกนางขัตติยราชกุมารีแสนหนึ่งเป็นบริวาร

          ราชา ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็อันเชิญพระเจ้าสิริสุทโธทนราชโอรส ให้โสรจสรงสุคนโธทกธารา แล้วทรงราชาภิษิกพัสตร์รัตนราชปิลันธนาภรณ์พร้อมเสร็จ พออุตมฤกษ์ก็อัญเชิญเสด็จขึ้นทรงอลงกตมหามงคลราชรถ อันห้อยย้อยไปด้วยแก้วมีประการต่างๆ เทียมด้วยสินธพชาติทั้ง ๔ มีสีดังดอกกุมุทเสด็จไปสู่มหามงคลมณฑปที่ราชาภิเษก

 

หมู่เทวดาและพรหมร่วมยินดี แสดงตัวให้พระราชาทอดพระเนตร

          ตสฺมึ ขเณ ขณะนั้นก็ร้อนถึงบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ สมเด็จอมรินทราธิราชทรงพระอาวัชนาการทราบเหตุ จึงเสด็จแวดล้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมาก ดำรัสให้พระวิสสุกรรมเทพบุตรถือเอาซึ่งทิพยภูษา แล้วให้นางสุชาดาเทพอัปสรกัญญานำหน้าอมรบรรษัทลงสู่กรุงเทวทหนคร ในกาลนั้น หมู่ภุมเทพยดา และรุกขเทพยดา อากาศเทพยดาทั้งหลาย ก็ชวนกันอุโฆษณาสาธุการโกลาหลนี่สนั่น เทพยดาในชั้นฉกามาพจรสวรรค์แลมหาพรหมตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชตลอดถึงภวัครอกนิษฐภพ ได้สดับศัพท์สาธุการก็ชวนกันโสมนัสปรีดา แลท้าวสหัมบดีมหาพรหมพระหัตถ์เบื้องขวาทรงรัตนภิงคารพระเต้าแก้ว เต็มไปด้วยทิพยสุคนโธทก พระหัตถ์เบื้องซ้ายทรงรัตนจังโกฏก์ผอบแก้วเต็มไปด้วยสัตตรัตนมณี แลท้าวสุทธาวาสมหาพรหมพระกรทรงทิพย์เศวตฉัตรอันใหญ่ดุจบุรุณจันทรมณฑลลงสู่เทวทหนคร สมเด็จพระเจ้าชนาธิปราชได้ทอดพระเนตรเห็นเทพยคณะบรรษัททั้งหลาย ลงมาเป็นอันมาก ก็ทรงพระโสมนัสตรัสสรรเสริญบุญบารมีพระราชธิดาแห่งพระองค์อันเป็นมหัศจรรย์

          สกฺโก วิสฺสุกมฺมํ อาณาเปตฺวา สมเด็จอมรินทราธิราชจึงตรัสสั่งวิสสุกรรมเทพบุตรให้กระทำพื้นลานรอบมหามณฑป แลมรรคากึ่งโยชน์อันจะมาแต่พระนคร ตราบเท่าถึงพระอุทยานนั้น ให้ราบรื่นพื้นเสมอเป็นอันดี เทพยดาทั้งหลายก็มาประชุมเล่นมหรสพภิเษกสมโภชในที่นั้นๆ

 

ขบวนพระราชธิดามายามีพระอินทร์

          ส่วนพระสิริมหามายาทรงเครื่องแล้วแวดล้อมด้วยนางขัตติยกัญญาแสนหนึ่งเป็นบริวาร เสด็จลงจากปราสาทมาทรงราชรถ แลนางสุชาดาเทพอัปสรอสุรธิดา ก็ทรงทิพยรถยานออกจากพระนครไปสู่อุทยาน แวดล้อมด้วยคณาเนกนางเทพอัปสรเป็นบริวารนำหน้ารถพระสิริมหามายาราชบุตรี สมเด็จท้าวโกสีย์แลพระเจ้าชนาธิปราช กับทั้งสุนันทาเทวีราชชนนีแลหมู่นางสนมนารีนิกรกัญญา กับกษัตริย์ขัตติยวงศาทั้งหลายเป็นอันมากก็ตามไปในเบื้องหลัง หมู่เทพบรรษัททั้งหลายก็ถือฉัตรแลธงชายธงปฏากแห่ไปทั้งสองฟากถนนวิถี เทพยดามนุษย์ทั้งปวงก็มาสโมสรสันนิบาต นั่งแวดล้อมมหามงคลวิวาหมณฑปอยู่โดยรอบในขณะนั้น อันว่าทิพยมณฑาบุบผชาติ แลนานาทิพยกุสุมวัสสธารก็บันดาลตกเต็มทั่วพื้นภูมิสถาน โดยยาวได้สองโยชน์กว้างได้โยชน์หนึ่งแต่ล้วนกองดอกไม้ทิพย์อันตกลงมาสูงเสมอหลังม้า

 

ขบวนพระราชกุมารสุทโธทนะมีท้าวมหาพรหม

          ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็ให้ตรวจเตรียมพลสารสินธพพยุหยาตร แลให้พระสิริสุทโธทนราชกุมารลงจากราชรถ เสด็จขึ้นทรงมงคลเศวตหัตถี อันมีนามรัตนปัจจัยกุญชร เบื้องบนหลังดาดด้วยข่ายเงินทองแก้วทั้ง ๗ ประการ แลตั้งซึ่งสุวรรณรัตนปราสาทเป็นราชาอาสน์ที่สถิต มีกษัตริย์ศักยราชวงศ์ ๑๐๑ พระองค์แวดล้อมเป็นบริวาร แลท้าวสุทธาวาสมหาพรหมทรงซึ่งทิพยเศวตฉัตรอันใหญ่นำเสด็จไปในเบื้องหน้า และราชกุมารทั้งสอง คือ พระสุกโกทนะแลอมิโตทนะผู้เป็นพระอนุชาเสด็จทรงมงคลราชรถอันเดียวกัน พร้อมด้วยจตุรงคโยธาหาญแห่ตามท้าวมหาพรหมไปในเบื้องหน้าพระคชาธารพระสิริสุทโธทนเชษฐา สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็เสด็จแวดล้อมด้วยขัตติยวงศ์ศักยราช ๖๐๐,๐๐๐ ไปในเบื้องหลัง ช้างพระที่นั่งพระราชโอรส แลหมู่เทพยดาทั้งหลายก็แวดล้อมไปเป็นอันมาก กษัตริย์ทั้งสองฝ่าย เสด็จมาถึงซุ้มทวารพระอุทยานแล้วเสด็จเข้าสู่มหามณฑปกับด้วยเทพยเจ้าทั้งปวง

 

พรหมสุทธาวาสจูงพระสุทโธทนราชกุมาร นางสุชาดาธิดาอสูรจูงพระราชธิดามายา
ให้ทรงจับพระหัตถ์อภิเษกสมรส




          ฝ่ายท้าวสุทธาวาสมหาพรหมกำหนดซึ่งกาลอันได้อุดมมหุติฤกษ์แล้ว ก็จูงพระหัตถ์พระสิริสุทโธทนราชกุมารขึ้นสถิต ณ เบื้องบนกองแก้ว นางสุชาดาอสุรินทรธาดาก็จูงพระหัตถ์พระสิริมหามายาขึ้นสถิตบนรัตนราศีที่อภิเษกนั้น แลกษัตริย์ทั้งสองก็จับพระหัตถ์ซึ่งกันและกัน สมเด็จท้าวสหัสนัยน์ ก็เป่าทิพย์วิไชยุตมหาสังข์ทักขิณาวัฏ ปัญจสิขคันธรรพเทพบุตรก็ดีดซึ่งพิณสามสาย เทพยดา มนุษย์ทั้งหลายก็ประโคมทิพยดุริยางค์แลมนุษย์ดุริยางค์ บันลือศัพท์โกลาหลนี่สนั่นพร้อมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แลท้าวสุทธาวาสมหาพรหมก็หลั่งทิพย์อุทกธาราจากรัตนภิงคาร ถวายมุทธาภิสิญจนาการแล้วกล่าวมงคลสารประสิทธิ์พรโดยอเนกบรรยาย

 

เกิดแผ่นดินไหวและพระราชมารดาบูชาหมู่เทพ
ขอให้พระธิดาประสูติพระโอรสแล้วได้เป็นพระสัพพัญญู

          ขณะนั้น ก็บังเกิดมหัศจรรย์ต่างๆ มีพื้นพสุนธรากัมปนาทเป็นต้น อันว่าห่าฝนแก้ว ๗ ประการก็บันดาลตกลงจากอากาศเต็มตลอดปริเวณโยชน์หนึ่ง โดยรอบมหามณฑปนั้น เทพยดาทั้งหลายทั่วจักรวาฬก็โปรยปรายสัตตรัตนมณี นฤโฆษศัพท์สาธุการเอิกเกริกโกลาหลบันลือลั่นเป็นอันเดียว ตั้งแต่พื้นภูมิภาคตลอดถึงภวัครพรหม แลกษัตริย์ทั้งหลายมีสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชเป็นอาทิ แลมหาชนบรรษัทเห็นมหัศจรรย์ดังนั้น ก็มีโลมชาติสยดสยอง แซ่ซ้องสรรเสริญพระกฤษดาภินิหารแห่งกษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ เสียงนฤโฆษ ครุวนาดุจเสียงมหาเมฆอันกึกก้องในท้องมหาสมุทร

          ส่วนพระสุนันทาเทวีก็จุดธูปเทียนกับทั้งสุคนธบุปผชาติบูชาเทพยดาทั้งหลาย แล้วตรัสประกาศด้วยบาทพระคาถาว่า สพฺเพ เทวา จ นาคา จ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ข้าแต่เทพยดาทั้งหลายอันมีมหิทธิฤทธิ์ จงสดับคำแห่งข้าพเจ้า ขอให้ราชธิดาของข้าพเจ้าประสูติพระโอรส ให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในโลก เป็นอาทิดังนี้ วนฺทิตฺวา แล้วถวายวันทนาบูชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ แลบรรดากษัตริย์ทั้งหลายมีสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชเป็นอาทิ ก็อภิวาทบูชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ ดุจนั้น

          ท้าวมหาพรหมแลเทพยดาก็กระทำสักการบูชาด้วยนานาทิพยสุคนธ์ กุสุมชาติเหล่าอสุรราชทั้ง ๘ คนก็บูชาด้วยผลมะตูมสุกอันนำมาแต่ป่าหิมพานต์ ท้าวเวสวัณมหาราชก็บูชาด้วยทิพยภูษาต่างๆ อันตกลงแต่ไม้กัลปพฤกษ์ บนยอดหิมวันตบรรพตกับทั้งผลหว้าอันเกิดแต่ชมพูพฤกษ์ประจำทวีป แต่เครื่องสักการบูชาแห่งเทพยดาทั้งหลายกองสูงชั่วลำตาลหนึ่ง แลหมู่อมรินทรพรหมต่างถวายมงคลพรมีอเนกประการ แลเล่นมหรสพสมโภชถึง ๗ วันเป็นกำหนด แล้วท้าวเทพยดาทั้งหลายก็ถวายโอวาทนุศาสน์ให้ตั้งอยู่ในเบญจางคิกศีล แล้วก็นิวัตนาการสู่เทวโลก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 29, 2012, 09:07:08 pm โดย Mr. งังจัง »
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
เฉลิมฉลองยาวนาน ๓ เดือน
ให้สร้างปราสาท ๓ องค์ในกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อคู่อภิเษก

          ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชและกษัตริย์ทั้งปวงยับยั้งอยู่ในมณฑป เล่นการมหรสพสมโภชทุกทิวาราตรีถ้วนถึงไตรมาส แล้วดำริกาลที่จะกลับยังกรุงกบิลพัสดุ์ในเชษฐมาสกาฬปักษ์ จึงตรัสสั่งกษัตริย์ศักยราช ๓๐๐,๐๐๐ กับสุทธิย์อมาตย์ให้ไปสร้างปราสาทองค์หนึ่ง ณ กรุงกบิลพัสดุ์ มีพื้นได้ ๗ ชั้น มีเสา ๕๐๐ ต้น แล้วไปด้วยไม้จันทร์ถวายนามจันทนปราสาท แล้วให้พระสุกโกทนราชโอรสกับกษัตริย์ ๑๐๑ องค์ ไปสร้างปราสาทอีกองค์หนึ่ง มีพื้น ๙ ชั้น มีเสา ๕๐๐ ต้น แล้วไปด้วยไม้ราชพฤกษ์ ส่วนสมเด็จพระเจ้าชนาธิปราชก็ตรัสใช้พระขัตติยวงศ์ทั้งหลายกับสุปดิษฐอมาตย์ไปสร้างปราสาท ณ กรุงกบิลพัสดุ์อีกองค์หนึ่ง มีพื้น ๗ ชั้น มีเสา ๑,๐๐๐ ต้น แล้วไปด้วยไม้แก่นทั้งสิ้น


          แลการสร้างปราสาททั้ง ๓ สำเร็จแล้วก็กลับสู่เมืองเทวทหนคร สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็ให้ตกแต่งประดับมรรคาตั้งแต่เมืองเทวทหนครถึงกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วให้ราชโอรสแลพระสุณิสาขึ้นทรงอลงกตกาญจนราชอันเดียวกัน มีอเนกนิกรคณานางกำนัล ๑๐๐,๐๐๐ กับกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ แลขัตติวงศาศักยราช ๖๐๐,๐๐๐ ตามเสด็จแวดล้อมเป็นบริวาร ส่วนพระองค์ก็ทรงคชาธารแวดล้อมด้วยจตุรงคโยธาหาญ เสด็จยกพยุหะแสนยาพลากรไปในเบื้องหน้า

ใช้เวลา ๔ เดือนครึ่งขนสิ่งต่างๆ ไปกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

          ฝ่ายพระเจ้าชนาธิปราชก็เสด็จยาตราพลาพลไปในเบื้องหลัง ให้นำเอาสรรพสวิญญาณวัตถุแลอวิญญาณวัตถุซึ่งจะพระราชทานแก่พระราชธิดา เป็นต้นว่าทาสีทาสาสิ่งละแสนโกฏิแลช้างพัง ๑,๐๐๐ ช้างพลาย ๑,๐๐๐ สินธพชาติ ๘๔,๐๐๐ อุสุภกาสรสิ่งละอักโขเภณีตามไปภายหลัง แลหนทางตั้งแต่เมืองเทวทหนครจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์นั้น โดยกว้างถึง ๓ โยชน์เต็มไปด้วยสัตว์แลมนุษย์ทั้งหลายหาระหว่างมิได้ แลหมู่มหาชนนำไปซึ่งพัสดุสิ่งของทั้งปวงสู่กรุงกบิลพัสดุ์ถึง ๔ เดือนกึ่ง จึงถึงพร้อมบริบูรณ์

          สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชทรงทำมงคลราชาภิเษกกษัตริย์ทั้ง ๒ เหนือรัตนบัลลังก์ถึงสามครั้ง แล้วอัญเชิญเสด็จขึ้นสถิต ณ จันทนปราสาท แล้วมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสครองมไหศวริยสมบัติแทนพระองค์ บรรดากษัตริย์ทั้งหลายมีสมเด็จพระเจ้าชนาธิปราชเป็นอาทิ ก็ถวายบังคมลากลับไปสู่พระนครแห่งตนๆ สมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนมหาราชและพระสิริมหามายาเทวี ก็ทรงอุปัฏฐากพระราชชนกชนนีโดยเคารพแลทรงปฏิบัติในเบญจางคิกศีล แลทศพิธราชธรรมโดยโบราณราชประเพณีทุกประการ

          ราชา สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชทรงพระชราโรคาเบียดเบียนก็เสด็จทิวงคต สมเด็จพระราชโอรสและพระราชสุณิสา กับพระขัตติยประยูรคณามัจจามาตย์ทั้งปวง ก็ประชุมกระทำการฌาปนกิจถวายเพลิงพระบรมศพโดยอุฬาริกกราชสักการบูชา สิริสุทฺโธทโน สมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนมหาราชก็เสวยมไหศวริยราชถวัลยรัชสืบสันตติวงศ์ดำรงพิภพกรุงกบิลพัสดุ์ เสวยสิริสมบัติกับด้วยพระสิริมหามายาสุขุมาลชาติราชเทวีเป็นบรมสุข

 

วิวาหมงคลปริวรรต ปริจเฉทที่ ๑ จบ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 29, 2012, 09:08:47 pm โดย Mr. งังจัง »
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
เนื้อความย่อ

          ครั้งสมัยพระพุทธเจ้าทีปังกร พระโพธิสัตว์ของพวกเรานี้ เป็นสุเมธดาบส ทรงมีบารมีญาณพร้อมบรรลุพระอรหัตเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าทีปังกรแล้ว แต่ทรงสละโอกาสนั้นเพื่อจะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเองในอนาคต และทรงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าความปรารถนานั้นจักสำเร็จ เมื่อล่วงไป ๔ อสงไขยแสนมหากัป

          จากนั้นเป็นต้นมา ก็ทรงบำเพ็ญบารมี ๓ ระดับ คือ บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ รวมเรียกว่า สมดึงสบารมี (บารมี ๓๐ ถ้วน) พร้อมด้วยบำเพ็ญมหาบริจาค ๕ คือ การสละทานอย่างใหญ่ ได้แก่ สละทรัพย์ ๑ สละอวัยวะ ๑ สละชีวิต ๑ สละลูก ๑ สละเมีย ๑ (จัดอยู่ในทานบารมีทั้ง ๓ ระดับนั่นแหละ)

          ท่านอ้างตามคัมภีร์ชินมหานิทานว่า พระพุทธเจ้าของพวกเราได้รับพยากรณ์ในสำนักของพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ เริ่มแต่พระพุทธเจ้าทีปังกรจนถึงพระพุทธเจ้ากัสสปะ ในระหว่างนั้นทรงเกิดเป็นอัตภาพต่างๆ และได้บำเพ็ญบารมี ๓ ระดับครบบริบูรณ์ในสมัยเป็นพระเจ้าเวสสันดร ทรงจุติจากความเป็นราชาแล้วเกิดในดุสิตเทวโลก รอคอยเวลาตรัสรู้

          ก่อนพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้หนึ่งแสนปี พวกสุทธาวาสพรหมได้ลงมาบอกหมู่มนุษย์ว่าอีกแสนปีจะมีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ หากต้องการพบพระองค์ก็อย่าละเมิดศีล ๕ จงบำเพ็ญทานศีล ภาวนา ซึ่งพวกเทพและมนุษย์ตื่นเต้นกันมาก เรียกว่าเกิดพุทธโกลาหล แล้วเทวดาและพรหมก็ประชุมกันเพื่อสืบหาว่าผู้ใดจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็พบว่าสันตุสิตเทวราชในสวรรค์ชั้นดุสิต คือพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันเข้าเฝ้ากราบทูลให้เสด็จจุติไปอุบัติในพระครรภ์พระมารดา

          ก่อนจะรับเชิญจุติ พระโพธิสัตว์ได้พิจารณาปัญจมหาวิโลกนะ (การตรวจดูอย่างยิ่งใหญ่ ๕ อย่าง) เช่น ขณะนี้พวกมนุษย์มีอายุเท่าใด? เป็นต้น เมื่อเห็นว่าทั้ง ๕ อย่างพร้อมแล้ว จึงรับคำอาราธนาของหมู่เทพ และพรหม จุติ (ตาย,เคลื่อน) จากดุสิตเทวโลกปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระสิริมหามายาราชเทวี)
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
ปริจเฉทที่ ๒
ดุสิตปริวรรต
พระโพธิสัตว์รับเชิญจุติจากภพดุสิต

 

          สมเด็จพระผู้มีพระภาค ทรงพระมหากรุณาแก่สัตว์โลก ปรารถนาจะรื้อสัตว์ให้พ้นจากห้วงมหรรณพสงสาร แลละเสียซึ่งจักรพรรดิราชสมบัติอันจะมาถึงใน ๗ วัน มิได้ทรงพระอาลัย ดุจก้อนเขฬะอันข้องอยู่ในปลายพระชิวหา พระหฤทัยปรารถนาจะถือเอาซึ่งผล คือพระสัพพัญญุตญาณในไม้กัลปพฤกษ์ คือพระสมดึงสบารมี มีดอกอันบานคือเบญจมหาบริจาค แลตั้งอยู่เหนือภูมิภาค กล่าวคือไตรพิธสมบัติทั้งสาม

 

พระพุทธเจ้าของพวกเราทรงตั้งความปรารถนา
และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งสมัยพระพุทธทีปังกรเจ้า

          จึงมีคำปุจฉาว่า กิริยาที่พระสัพพัญญูปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเป็นดังฤา? วิสัชนาว่าพระบรมโพธิสัตว์แห่งเรา เมื่ออดีตภพที่สุด ๔ อสงไขยแสนกัป นับถอยหลังไปแต่มหาภัทกัปนี้ บังเกิดเป็นพระสุเมธดาบสได้พบพระพุทธทีปังกรเจ้า แลละเสียซึ่งพระอรหัตอันจะบรรลุในสำนักพระพุทธองค์โดยแท้ ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณและได้พุทธพยากรณ์แล้ว ทรงบำเพ็ญเบญจมหาบริจาคแลพระสมดึงสบารมีมีทานเป็นต้น  ในชาติกันดารอันจะนับจะประมาณมิได้

          พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวสรรเสริญพระบารมีโดยสารพระคาถาว่า ทานํ สีลญฺจ เนกฺขมฺมํ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ด้วยบารมี ๑๐ ทัศ แลพระบรมโพธิ์สัตว์ทรงบำเพ็ญพระสมดึงสบารมีทั้งปวง คือพระทศบารมี ๑๐ พระทศอุปบารมี ๑๐ พระทศปรมัตถบารมี ๑๐ แลปลูกซึ่งบุญพีชนะจะบริโภคซึ่งผล ยังฉายาแห่งกุศลพฤกษ์ให้ร่มเย็นแก่มหาชนทั้งหลาย ครุวนาดุจปลูกซึ่งอัมพพฤกษ์



บารมี ๓๐ ครบถ้วนสมัยเป็นพระเวสสันดร

          พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวนัยอุปมาด้วยพระคาถาว่า ตเถวสํสารปเถ ชนานํ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ชนทั้งหลายใดๆ จะนำไปซึ่งทรัพย์แลองค์แลชีวิตแห่งพระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์บมิได้เอื้อเฟื้อแก่พระองค์ ทรงบำเพ็ญซึ่งมูลปณิธิกุศลจนสำเร็จดุจใด ด้วยพระทัยปรารถนาจะให้เป็นประโยชน์แก่นรชนทั้งหลาย อันท่องเที่ยวอยู่ในสงสารมรรคาดุจนั้น แต่พระองค์ให้พระโลหิตเป็นทานก็มากกว่ากระแสน้ำในมหาสาครทั้ง ๔ แต่ให้พระมังสะเป็นทาน ก็อาจยังพื้นแผ่นมหาปฐพีให้พ่ายแพ้ แต่ตัดพระเศียรกับทั้งพระเกศโมลีให้เป็นทาน ก็ประมาณสูงกว่าเขาพระสิเนรุราช แต่ควักพระเนตรให้เป็นทาน ก็มากกว่าดวงดาราในนภากาศ แลจำเดิมแต่บำเพ็ญกฤษฎาภินิหาร แต่บาทมูลสมเด็จพระพุทธทีปังกรเป็นต้น แต่บำเพ็ญพระสมดึงสบารมีมาสำเร็จลงในชาติเป็นพระเวสสันดรนั้น



บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
บัดนี้ จะรับพระราชทานแทรกความเข้าให้พิสดาร ตามพระบาลีในคัมภีร์ชินมหานิทานว่า สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคแห่งเราได้พยากรณ์ในสำนักพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้ง ๒๔ พระองค์ มีพระพุทธทีปังกรเป็นต้น จนพระพุทธกัสสปเป็นปริโยสาน และทรงก่อสร้างกฤษฎาภินิหารมาได้ซึ่งอานิสงส์เป็นอันมาก

          จึงมีคำปุจฉาว่า อานิสงส์แห่งองค์พระบรมโพธิสัตว์นั้นเป็นดังฤา? วิสัชนาโดยพระคาถาว่า เอวํ สพฺพงฺคสมฺปนฺนา เป็นอาทิ แปลเนื้อความว่า นรชาติทั้งหลายบริบูรณ์ด้วยบารมีทั้งปวง เที่ยงที่สำเร็จแก่พระโพธิญาณ แลสังสรณาการไปในสังสารวัฏนับด้วย ๑๐๐ โกฏิเป็นอันมาก ได้ซึ่งอานิสงส์ คือเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ไม่เป็นคนจักษุบอดแต่กำเนิด ๑ ไม่เป็นคนหนวกแต่กำเนิด ๑ ไม่เป็นคนบ้า ๑ ไม่เป็นคนใบ้ ๑ ไม่เป็นคนเปลี้ย ๑ ไม่เกิดในมิลักขประเทศ ๑ ไม่เกิดในท้องแห่งทาสี ๑ ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ ๑ เพศไม่กลับเป็นสตรี ๑ ไม่ทำอนันตริยกรรมห้า ๑ ไม่เป็นโรคเรื้อน ๑ เมื่อเกิดในกำเนิดแห่งสัตว์เดียรัจฉานกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ และไม่ใหญ่กว่าช้าง ๑ ไม่เกิดในขุปปิปาสิกเปรตแลนิชฌามตัณหิกเปรต แลกาลกัญชิกาสูร ๑ ไม่เกิดในอวีจิมหานรกแลโลกันตริกนรก ๑ เมื่อเกิดในกามาพจรไม่เป็นมาร ๑ เมื่อเกิดในรูปาพจรภพไม่เกิดในสุทธาวาสภพ ๑ ไม่เกิดในอรูปภพ ๑ ไม่ย่างก้าวไปสู่จักรวาฬอื่น ๑ เมื่อบังเกิดเป็นมนุษย์ในภพใดๆ ก็มีพระทัยยินดีที่จะบรรพชา แลประพฤติในจริยาทั้ง ๓ มีญาตัตถจริยาเป็นอาทิ แลทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ มีพระทานบารมีเป็นต้น พระอุเบกขาบารมีเป็นที่สุด



การบำเพ็ญบารมี ๓ ระดับของพระโพธิสัตว์

          พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาว่า ทเสว ปารมี โหนฺติ เป็นอาทิ แปลเนื้อความว่า กิริยาที่ทรงสั่งสมพระบารมีเพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณจัดเป็นสิ่งละ ๓ ประการ คือพระบารมี ๑๐ แลอุปบารมี ๑๐ แลปรมัตถบารมี ๑๐

          แลทรงบำเพ็ญทานในชาติเป็นเวลามพราหมณ์เป็นอาทินั้น จัดเป็นทานบารมี ทรงควักพระเนตรให้เป็นทานในชาติเป็นพระยาสีวิราชนั้น จัดเป็นทานอุปบารมี ทรงสละชีวิตให้เป็นทานในชาติเป็นพญาสสบัณฑิตนั้น จัดเป็นทานปรมัตถบารมี

          ทรงบำเพ็ญศีล ในชาติเป็นพญาสีลวกุญชรราชนั้น จัดเป็นสีลบารมี ในชาติเป็นพญาภูริทัตนาคินทรราชนั้น จัดเป็นสีลอุปบารมี ในชาติเป็นพญาสังขบาลนาคราชนั้น จัดเป็นสีลปรมัตถบารมี

          ทรงบำเพ็ญเนกขัมบรรพชา ในชาติเป็นพระอโยฆรราชกุมารนั้น จัดเป็นเนกขัมบารมี ในชาติเป็นพระหัตถิปาลกุมารนั้น จัดเป็นเนกขัมอุปบารมี ในชาติเป็นพระยาจุลสุตโสมราชนั้น จัดเป็นเนกขัมปรมัตถบารมี

          ทรงพระปรีชาญาณในชาติเป็นสัมภวกุมาร จัดเป็นปัญญาบารมี ในชาติเป็นวิธุรบัณฑิตอมาตย์จัดเป็นปัญญาอุปบารมี ในชาติเป็นเสนกบัณฑิตพราหมณ์ จัดเป็นปัญญาปรมัตถบารมี


          ทรงพระวิริยภาพในชาติเป็นพญามหากระปิราช จัดเป็นวิริยบารมี ในชาติเป็นพระยาสีลวมหาราช จัดเป็นวิริยอุปบารมี ในชาติเป็นพระยามหาชนกราช จัดเป็นวิริยปรมัตถบารมี

          ทรงพระขันติธรรม ในชาติเป็นพระจุลธรรมบาลราชกุมาร จัดเป็นขันติบารมี ในชาติเป็นพระธรรมิกเทวบุตร จัดเป็นขันติอุปบารมี ในชาติเป็นพระขันติวาทีดาบส จัดเป็นขันติปรมัตถบารมี

          ทรงกระทำสัจกิริยา ในชาติเป็นสกุณโปฎกนกคุ่มนั้น จัดเป็นสัจบารมี ในชาติเป็นพญามัจฉาปลาช่อนนั้น จัดเป็นสัจอุปบารมี ในชาติเป็นพระยามหาสุตโสมราช จัดเป็นสัจปรมัตถบารมี

          ทรงกระทำอธิฏฐาน ในชาติเป็นพญากุกกุรราช จัดเป็นอธิฏฐานบารมี ในชาติเป็นมาตังคจัณฑาลบัณฑิต จัดเป็นอธิฏฐานอุปบารมี ในชาติเป็นมูคผักกบัณฑิตคือพระเตมิยราชกุมารนั้น จัดเป็นอธิฏฐานปรมัตถบารมี

          ทรงเจริญพระเมตตา ในชาติเป็นสุวรรณสามดาบส จัดเป็นเมตตาบารมี ในชาติเป็นพระกัณหาทีปายนดาบส จัดเป็นเมตตาอุปบารมี ในชาติเป็นพระยาเอกราช จัดเป็นเมตตาปรมัตถบารมี

          ทรงประพฤติอุเบกขาในชาติเป็นกัจฉปบัณฑิต จัดเป็นอุเบกขาบารมี ในชาติเป็นพญามหิสราชจัดเป็นอุเบกขาอุปบารมี ในชาติเป็นโลมหังสบัณฑิต จัดเป็นอุเบกขาปรมัตถบารมี

          สิริเป็นสมดึงสบารมี ๓๐ ทัศบริบูรณ์มิได้ยิ่งมิได้หย่อน

 
สมัยเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรพระบารมีครบถ้วน
จุติแล้วอุบัติในดุสิตเทวโลก

 

          แลในชาติเป็นพระเวสสันดรนั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๑๐ พร้อมทุกประการมิได้เศษ แลกาลเมื่อพระชนมายุได้ ๘ พระพรรษา มีพระทานัธยาศัยดำริจักให้อัชฌัตติกทาน แลกาลเมื่อพระราชทานเศวตกุญชรปัจจัยนาค แลกาลเมื่อทรงปริจาคสัตตสดกมหาทาน แลกาลเมื่อต้องปัพพาชานียกรรมออกจากพระนคร แลกาลเมื่อบริจาคบุตรทานแลภริยาทาน แลกาลเมื่อสมาคมแห่งหกกษัตริย์ในท้องคิรีวงกต มหาปฐพีก็กัมปนาททุกครั้งถ้วนถึงคำรบ ๗ ครั้งเป็นมหามหัศจรรย์ เหตุนั้นจึ่งตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ในคัมภีร์จริยาปิฎกด้วยบาทพระคาถาว่า อเจตนายํ ปฐวี เป็นอาทิ
          อรรถาธิบายก็คล้ายกับความหลัง ทรงบำเพ็ญพระสมดึงสบารมีบริบูรณ์ในชาติเป็นพระยามหาเวสสันดร เบื้องหน้าแต่นั้นก็เป็นปัจฉิมภวิกชาติได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณสำเร็จพุทธภูมิบารมี

          แลในชาติเป็นพระเวสสันดรนั้น กาลเมื่อวันประสูติ ตรัสแก่พระมารดาว่าจะบำเพ็ญทาน แลทรงบริจาคมหาทานทั้งหลาย ดุจนัยพรรณนามาแล้วจัดเป็นพระทานบารมี แลกาลเมื่อทรงสถิตอยู่ในฆราวาส ทรงรักษาเบญจางคิกศีลเป็นนิจแลรักษาอุโบสถศีลทุกๆ กึ่งเดือน จัดเป็นพระสีลบารมี กาลเมื่อเสด็จออกจากพระนครสละเสียซึ่งกามคุณ ทรงบรรพชาเป็นดาบสอยู่ในอรัญประเทศนั้น จัดเป็นพระเนกขัมบารมี กาลเมื่อทรงพระดำริจักให้อัชฌัตติกทานแต่ยังสถิตอยู่ในทารกภูมิ

          แลเมื่อพระราชทานสองพระโอรสแก่ชูชกพราหมณ์กอปรด้วยพระวิจารณญาณ บรรเทาเสียซึ่งความรักแลความโศกแต่บุตรวิโยคนั้นจัดเป็นพระปัญญาบารมี กาลเมื่อเสด็จดำรงราชสมบัติทรงพระอุตสาหะเสด็จออกสู่ฉทานศาลาทุกๆ กึ่งเดือนมิได้ขาด แลกาลเมื่อออกทรงพาหิรบรรพชา อุตสาหะบูชาเพลิง เพื่อจักบำรุงซึ่งเตโชกสิณภาวนานั้น จัดเป็นพระวิริยบารมี กาลเมื่อพระราชบิดาตรัสสั่งให้นฤเทศพระองค์เสียจากพระนครด้วยคำชาวสีวิราษฎร์ยกโทษมิได้มีความพิโรธในพระราชบิดร แลกาลเมื่อพราหมณ์ตีพระโอรสทั้งสองอดกลั้นเสียซึ่งความโกรธในพราหมณ์ จัดเป็นพระขันติบารมี

          กาลเมื่อตรัสปฏิญาณจะให้อัฐิทานแลบุตรแก่พราหมณ์ แล้วก็ทรงเสียสละบริจาคให้โดยสัตย์ มิได้ตรัสกลับกลอกล่อลวงนั้น จัดเป็นพระสัจบารมี กาลเมื่อทรงพระสมาทานมั่นมิได้กระทำในพระทัยเสน่หาอาลัยในพระราชบุตรอันทรงสละให้เป็นทาน แลกาลเมื่อทอดพระเนตรเห็นหมู่สกเสนา สำคัญว่าข้าศึกสะดุ้งแต่มรณภัย พระมัทรีทูลเล้าโลมพระทัยแล้วเสด็จลงจากยอดบรรพตกระทำพระทัยมั่น มิได้หวั่นไหวแต่ภัยนั้น จัดเป็นพระอธิฏฐานบารมี

          กาลเมื่อแผ่พระเมตตาไปแก่ชาวกลึงคราษฎร์ พระราชทานกุญชรทาน แลกาลเมื่อสถิตในวงกตแผ่พระเมตตาทั่วไปแก่สรรพสัตว์จตุบททวิบาทนั้น จัดเป็นพระเมตตาบารมี กาลเมื่อตัดเสียซึ่งเสน่หาในพระปิยบุตรแลมิได้โกรธแก่พราหมณ์ ตั้งพระทัยเป็นมัชฌัตตารมณ์ท่ามกลางไม่รักไม่ชังแก่ผู้ใดนั้น จัดเป็นพระอุเบกขาบารมี


          แลพระมหาบุรุษบำเพ็ญพระบารมีสำเร็จในชาติเป็นพระเวสสันดรนั้น ครั้นสิ้นพระชนมายุก็จุติไปบังเกิดเป็นสันดุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในชั้นดุสิตเทวโลกกำหนดอายุถึง ๕๗ โกฏิกับ ๖๐ แสนปีในมนุษย์นี้ นับเป็นปีในชั้นดุสิตได้ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์

 

เมื่อบารมีครบถ้วนแล้ว จึงทรงอยู่ในดุสิตภพครบ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์

          บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนา ตามเรื่องความในดุสิตปริวรรคเดิมนั้นสืบต่อไปในลำดับนี้ พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาซ้ำสรรเสริญพระบารมีอีกสองบทว่า คมฺภีรปารทานาทิ เป็นอาทิ อรรถาธิบายว่า พระมหาสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๑๐ มีทานเป็นต้นเหมือนดุจฝั่งมหาสาครอันลึก ทรงว่ายข้ามด้วยกำลังถึงฝั่งสงสารมหรรณพด้วยบริจาคภริยาทานคือพระมัทรี ยังพระทศบารมีให้สำเร็จแล้ว เสด็จสถิตในดุสิตเทวพิภพบรรลุซึ่งกาลอันแก่กล้าแห่งพระโพธิญาณ เทพยดาทั้งหลายจึงอาราธนาให้จุติลงสู่พระครรภ์แห่งพระพุทธมารดาในปัจฉิมชาตินั้น

          แท้จริง พระมหาบุรุษราชเจ้าเบื้องว่าบำเพ็ญพระบารมียังมิได้บริบูรณ์ แม้ถึงจะบังเกิดในดุสิตเทวโลก ก็มิได้สถิตอยู่จนตราบเท่าสิ้นพระชนมายุเหตุฤา? เหตุใดในเทวพิภพนั้นยากที่จะบำเพ็ญพระบารมีให้บริบูรณ์ได้ ย่อมกระทำอธิมุตตกาลกลั้นพระทัยให้วายชีพจุติลงมาเกิดในมนุษยโลกจะได้สืบสร้างพระบารมีให้บริบูรณ์ ในกาลครั้งนั้น พระบารมีนั้นแก่กล้าบริบูรณ์อยู่แล้ว อาจสามารถจะได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณในอนันตรภพเป็นแท้ จึงเสด็จสถิตอยู่ในดุสิตเทวโลกตราบเท่าถ้วนกำหนดชนมายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์

 


[/size]
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ เกิดพุทธโกลาหล
สุทธาวาสพรหมแจ้งข่าวแก่มนุษย์ว่าอีกแสนปี
พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ เกิดพุทธโกลาหล


          ล้ำโกลาหล ๕ ประการอันมีในโลก คือ กัปโกลาหล ๑ พุทธโกลาหล ๑ จักรวรรดิโกลาหล ๑ มงคลโกลาหล ๑ โมไนยโกลาหล ๑

          ในกาลนั้น สุทธาวาสมหาพรหมทั้งหลายประดับซึ่งพรหมอาภรณ์อันเป็นทิพย์ ลงมาเที่ยวทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุอุโฆษณาการซึ่งเหตุแห่งพุทธโกลาหลแก่มนุษย์ว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้นฤทุกข์ เบื้องหน้าแต่นี้ล่วงไปอีกแสนปี พระสัพพัญญูจะบังเกิดในโลกถ้าจะใคร่พบเห็นจงเว้นจากเบญจพิธเวรทั้ง ๕ อุตส่าห์บำเพ็ญทานรักษาศีลเจริญภาวนา กระทำการกุศลต่างๆ

          เหตุดังนั้น เทพยดาแลพรหมทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ ได้สดับซึ่งพุทธโกลาหลดังนี้จึงสโมสรสันนิบาตปรึกษาแก่กันว่าสัตว์ผู้ใดหนอจะได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูในโลก


หมู่เทพรู้ว่าสันตุสิตเทพบุตรจะเป็นพระพุทธเจ้า จึงเข้าเฝ้าทูลเชิญจุติ

          ครั้นลุกาลแสนปีล่วงไป ปัญจบุพนิมิตทั้ง ๕ ก็บังเกิดมีแก่พระมหาสัตว์ คือทิพยบุปผาที่ประดับพระกายนั้นเหี่ยวแห้ง ๑ ทิพยพัสตรภูษาที่ทรงนั้นมีสีอันเศร้าหมอง ๑ พระเสโทบังเกิดไหลออกจากพระกัจฉประเทศ ๑ พระสรีรกายกอปรด้วยอาการชราปรากฏ ๑ มีพระทัยพระสันเป็นทุกข์เหนื่อยหน่ายจากเทวโลกมิได้มีความยินดีที่จะสถิตย์ในทิพยอาสน์นั้น ๑

          เมื่อปัญจบุพนิมิตบังเกิดแก่พระมหาสัตว์ดังนี้ เทพยเจ้าทั้งหลายก็รู้แจ้งประจักษ์ว่าสันตุสิตเทวราชองค์นี้ คือองค์พระสัพพัญญูโพธิสัตว์อันจะได้ตรัสในโลกเป็นแท้ แลท้าวมหาพรหมทั้งหมื่นจักรวาฬกับฉกามาพจรเทวราชทั้ง ๖ ชั้น แลท้าวจาตุมหาราชจักรวาฬละสี่ๆ สิริเป็นท้าวมหาราช ๔ หมื่นพระองค์


          แลเทพยดาทั้งหลายอันเศษชวนกันมาสันนิบาตในมงคลจักรวาฬนี้ พาเอาเทพยเจ้าในจักรวาลนี้มีสมเด็จอมรินทราธิราชเป็นอาทิไปสู่ดุสิตเทวโลก เข้าสู่ทิพยวิมานแห่งพระโพธิสัตว์กราบทูลอาราธนา เหตุดังนั้น พระสัพพัญญูเมื่อได้ตรัสรู้แล้วจึงบัณฑูรพระคาถาสำแดงเหตุในหนหลังว่า ยทา หํ ตุสิเต กาเย เป็นอาทิ แปลเนื้อความว่า กาลเมื่อตถาคตเป็นสันตุสิตเทวราชอยู่ในดุสิตเทวโลก เทพยบรรษัทมาทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีเพียรเป็นอันมาก กาลบัดนี้สมควรที่พระองค์จะจุติลงไปบังเกิดในมาตุคัพโภทร จะได้ขนข้ามสัตวนิกรในมนุษยโลกกับทั้งเทวโลกให้พ้นจากโอฆสงสารวัฏ ให้ได้ตรัสรู้ซึ่งทางปฏิบัติอันจะเข้าสู่พระอมตมหานฤพาน แล้วมีคำอธิบายสืบต่อไปว่าเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาฬ มายกขึ้นซึ่งทศนขสโมธานสมุชลิตอัญชลีทูลอาราธนาวิงวอนพระมหาบุรุษราชเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นฤทุกข์ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระทศบารมีมา ใช่จะปรารถนาซึ่งสักกสมบัติแลมารสมบัติ พรหมสมบัติแลจักรวรรดิสมบัตินั้นหามิได้ ตั้งพระทัยปรารถนาซึ่งภาวะจะตรัสเป็นพระสัพพัญญู จะกู้ขนสัตวโลกให้บรรลุพระอมตมหานฤพาน เหตุดังนั้น กาลบัดนี้ก็เป็นสมัยเพื่อประโยชน์ จะได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้โปรดสัตวโลกในครั้งนี้



สันตุสิตเทพทรงใคร่ครวญอันยิ่งใหญ่ ๕ ประการ

          ในลำดับนั้น สมเด็จพระมหาสัตว์ยังมิได้รับปฏิญาณแก่เทพยนิกรอันมาทูลอาราธนา ทรงพิจารณาดูซึ่งปัญจมหาวิโลกนะทั้ง ๕ ประการ ด้วยสามารถทรงกำหนดซึ่งกาลแลทวีป แลประเทศ และตระกูลกับทั้งพระมารดา

          แลพิจารณาดูซึ่งกาลทั้งนั้นเป็นปฐมว่า กาลเมื่ออายุแห่งสัตว์ในมนุษยโลกเจริญมากขึ้นไปกว่าแสนปีก็ใช่กาลที่พระสัพพัญญูจะบังเกิดในโลกเหตุฤา? เหตุว่า สัตว์ทั้งหลายจะมิได้รู้ซึ่งชาติ ชรา มรณะ มากไปด้วยความประมาทในสันดาน เบื้องว่าพระศาสดาจารย์จะตรัสเทศนาซึ่งพระไตรลักษณ์ก็จะไม่สำคัญสัญญาที่จะสดับจักมิได้เชื่อฟัง อภิสมัยมรรคผลก็จักมิได้บังเกิด พระพุทธศาสนาก็จะมิได้เป็นนิยานิกธรรม เหตุดังนั้นจึงใช่กาลที่พระพุทธเจ้าจะบังเกิดในโลก ประการหนึ่ง กาลเมื่ออายุสัตว์ลดถอยน้อยลงไปกว่า ๑๐๐ ปี ก็ใช่กาลที่พระสัพพัญญูจะบังเกิดในโลก เหตุฤา?  เหตุว่าสัตว์ทั้งหลายในกาลนั้นมีสันดานหนาไปด้วยกิเลส จะมิได้ตั้งอยู่ในพุทธานุศาสนกถา ครุวนาดุจเอาท่อนไม้ขีดลงในน้ำพลันที่จะอันตรธานมิได้ปรากฏ เหตุดังนั้นใช่กาลที่พระสุคตจะบังเกิดในโลก แลกาลเมื่ออายุสัตว์ตั้งอยู่จำเดิมแต่แสนปีลงมาตราบเท่ากำหนด ๑๐๐ ปี จะมีสันดานสดับรับรสพระสัทธรรมควรแก่กาลที่พระสัพพัญญูจะบังเกิดในโลก เมื่อพระมหาสัตว์ทรงพิจารณาเห็นอายุสัตว์ในกาลนั้นตั้งอยู่ ๑๐๐ ปีเป็นกำหนดเห็นสมควรที่จะจุติลงไปบังเกิด

          แล้วทรงพิจารณาดูซึ่งทวีปทั้ง ๔ เห็นทวีปทั้ง ๓ มิได้เป็นที่บังเกิดแห่งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดแต่ในชมพูทวีปอันเดียวทุกๆ พระองค์

          แล้วทรงพิจารณาซึ่งประเทศสืบต่อไป เห็นในมัชฉิมประเทศเป็นที่บังเกิดแห่งพระอริยเจ้าทั้งปวง มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเป็นอาทิ อนึ่ง สมเด็จบรมจักรพรรดิแลกษัตริย์พราหมณ์คหบดีมหาศาล มเหสักข์ที่มีบุญมาก ก็ล้วนบังเกิดแต่ในมัชฌิมประเทศนั้นทั้งสิ้น จะได้บังเกิดในประจันตประเทศทั้งปวงนั้นหามิได้ และกรุงกบิลพัสดุ์ประดิษฐานอยู่ในที่ภูมิภาคแห่งมัชฌิมประเทศ ควรที่อาตมาจะบังเกิดในพระนครนั้น

          แล้วทรงพิจารณาดูซึ่งตระกูลสืบไปว่า ธรรมดาพระสัพพัญญูเจ้า จะได้บังเกิดในตระกูลเศรษฐี คหบดีแลพ่อค้าพ่อครัวนั้นหามิได้ ย่อมบังเกิดในตระกูลทั้งสองคือ ขัตติยตระกูล ๑ แลพราหมณตระกูล ๑ อันโลกสมมตินับถือว่าประเสริฐ กาลบัดนี้โลกสมมติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ ควรที่อาตมะจะบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ แลสมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนมหาราชนั้นจะเป็นบิดาแห่งอาตมา

          แล้วทรงพิจารณาดูซึ่งพระชนนีสืบไปว่า ธรรมดาพุทธมารดาซึ่งจะเป็นสตรีมีสันดานอันต่ำช้าชาติโลเลต่างๆ มีเป็นนักเลงสุราเป็นอาทินั้นหามิได้ ย่อมบำเพ็ญพระบารมีมาถึงแสนกัปบริบูรณ์ จำเดิมแต่บังเกิดมาก็รักษาเบญจศีลบริสุทธิ์มิได้ด่างพร้อยเป็นนิจกาล ทอดพระเนตรเห็นพระสิริมหามายาราชเทวี พระอัครมเหสีกรุงสิริสุทโธทนมหาราช มีพระบารมีครบแสนกัปบริบูรณ์แล้ว ทรงรักษาเบญจศีลาจารวัตรอันบริสุทธิ์ พระราชเทวีองค์นี้จะเป็นพระมารดาแห่งอาตมา

 


ทรงรับคำอาราธนาจุติจากเทวดา ปฏิสนธิในพระครรภ์พระสิริมหามายา




          เมื่อทรงพิจารณาซึ่งปัญจมหาวิโลกนะทั้ง ๕ บริบูรณ์แล้วก็กระทำสงเคราะห์แก่เทพยดาทั้งปวง โปรดประทานปฏิญาณว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้นฤทุกข์ กาลนี้ควรที่อาตมาจะจุติลงไปบังเกิดเป็นพระสัพพัญญูโปรดสัตวโลกทั้งปวง ท่านทั้งหลายจงกลับไปสู่นิวาสฐานแห่งตนๆ เถิด

          เมื่อส่งเทพยเจ้าทั้งหลายไปสิ้นแล้ว ก็เสด็จแวดล้อมด้วยเทพยบริวารไปสู่ทิพยนันทวันอุทยาน อันมีในดุสิตเทวโลก เสด็จเที่ยวประพาสชมซึ่งทิพยพฤกษชาติมีพรรณต่างๆ เทพยบริวารทั้งหลายกราบทูลตักเตือนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นฤทุกข์ ขออัญเชิญเสด็จพระองค์จงจุติจากดุสิตเทวโลกนี้เถิด จงไปบังเกิดในมนุษย์สุคติจะได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูโปรดสัตวโลก แล้วก็ทูลสรรเสริญสรรพกุศลซึ่งทรงบำเพ็ญสั่งสมมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาสัตว์ก็จุติในทิพยอุทยานนั้น ลงมาสู่ปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระสิริมหามายาราชเทวี พระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนมหาราชกรุงกบิลพัสดุ์ เหตุดังนั้น พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวนิคมคาถาในที่สุดปริเฉทว่า กตญฺชลีหิ เทวหิ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความก็ซ้ำเหมือนนัยถวายวิสัชนามาแล้วแต่หลังฯ

 


ดุสิตปริวรรต ปริจเฉทที่ ๒ จบ
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม