ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ชาตาชาดก ว่าด้วยเรื่อง ภรรยา 7  (อ่าน 4137 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

kobyamkala

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 2236
    • ดูรายละเอียด
ชาตาชาดก ว่าด้วยเรื่อง ภรรยา 7
« เมื่อ: ตุลาคม 10, 2013, 09:38:47 am »
นิทานธรรมประจำวันเรื่อง ชาตาชาดก (ชาดกว่าด้วยเรื่อง ภรรยา 7 แบบ)

๐๐๐ ณ เมืองสาวัตถี มีครอบครัวของเศรษฐีผู้หนึ่งนามว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นหลังจากรับสะใภ้ที่เป็นลูกสาวของตระกูลใหญ่เข้ามาอยู่ในบ้าน สะใภ้ที่ว่านี้ก็คือนางสุชาดาผู้เป็นน้องสาวของนางวิสาขา
ได้ยินว่า นางสุชาดานั้นเข้าไปยังเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เต็มไปด้วยยศอย่างใหญ่หลวง นางสุชาดานั้นคิดว่า เราเป็นธิดาของตระกูลใหญ่ จึงเป็นผู้ถือตัวจัด มักโกรธ ดุร้าย หยาบช้า ไม่กระทำวัตรปฏิบัติแก่พ่อผัว แม่ผัว และสามี เที่ยวคุกคามเฆี่ยนตีคนในเรือน ครั้นวันหนึ่ง พระศาสดาแวดล้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ เสด็จเข้าไปยังเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประทับนั่งอยู่ ฝ่ายมหาเศรษฐีก็เข้าไปนั่งใกล้พระศาสดา ฟังธรรมอยู่ ขณะนั้น นางสุชาดาทำการทะเลาะกับพวกทาสและกรรมกร พระศาสดาทรงหยุดธรรมกถาตรัสว่า นี่เสียงอะไร ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีหญิงสะใภ้ในตระกูลคนหนึ่ง ไม่มีความเคารพ นางไม่มีวัตรปฏิบัติต่อพ่อผัว แม่ผัว และสามี ไม่ให้ทาน ไม่รักษาศีล ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส เที่ยวก่อแต่การทะเลาะทุกวันทุกคืน
พระศาสดาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเรียกนางมา นางสุชาดามาถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระศาสดา ตรัสถามนางว่า ดูก่อนสุชาดา ภรรยาของบุรุษมี ๗ จำพวก เธอเป็นภรรยาพวกไหน ในบรรดาภรรยา ๗ จำพวกนั้น นางสุชาดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันไม่ทราบความแห่งพระดำรัสที่พระองค์ตรัสโดยย่อ ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่หม่อมฉันโดยพิสดารเถิด พระศาสดาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอจงเงี่ยโสตสดับ แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :
ภรรยาคนใดของชายมีอาการอย่างนี้คือมีจิตคิดประทุษร้ายสามี มิได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สามี ยินดีรักใคร่ในบุรุษอื่น ดูหมิ่นล่วงเกินสามี ขวนขวายเพื่อจะฆ่าสามีผู้ถ่ายมาด้วยทรัพย์ ภรรยาชนิดนั้น ท่านเรียกว่า วธกาภริยา ภรรยาเสมอเพชฌฆาต ภรรยาใดของชายมีอาการอย่างนี้ คือ สามีได้ทรัพย์สิ่งใดมา โดยทางศิลปวิทยาก็ดี โดยทางค้าขายก็ดี ทางกสิกรรมก็ดี แม้จะน้อยมากเพียงใด ก็มอบให้ภรรยาเก็บรักษาไว้ แต่ภรรยานั้นไม่รู้จักเก็บงำปรารถนาแต่จะใช้ทรัพย์นั้นให้หมดเปลืองไป ภรรยาชนิดนั้น ท่านเรียกว่า โจรีภริยาภรรยาเสมอดังโจร
ภรรยาใดของชายมีอาการอย่างนี้ คือ ไม่ปรารถนาทำการงานเกียจคร้าน กินจุ หยาบช้า ดุร้าย ปากคอเราะราน ประพฤติข่มขี่พวกคนผู้คอยรับใช้ภรรยาชนิดนั้น ท่านเรียกว่า อัยยาภริยาภรรยาเสมอดังเจ้า
ภรรยาใดของชายมีอาการอย่างนี้ คือ โอบอ้อมอารี ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีคล้ายมารดาตามรักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภรรยาชนิดนั้น ท่านเรียกว่า มาตาภริยา ภรรยาเสมอดังมารดา
ภรรยาใดของชายมีอาการอย่างนี้ คือ มีความเคารพสามีของตน มีความละอายใจ ประพฤติตามอำนาจ ความพอใจของสามี คล้ายกับน้องหญิงมีความเคารพพี่ชายฉะนั้น ภรรยาชนิดนั้น ท่านเรียกว่า ภคินีภริยา ภรรยาเสมอดังน้องหญิง
ภรรยาใดของชายมีอาการอย่างนี้ คือ เห็นสามีย่อมร่าเริงยินดี คล้ายกับหญิงสหาย เห็นมิตรสหายมาเรือนของตนฉะนั้น เป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูล มีศีลมีวัตรปฏิบัติต่อสามี ภรรยาชนิดนั้น ท่านเรียกว่าสขีภริยา ภรรยาเสมอดังเพื่อน
ภรรยาใดของชายมีอาการอย่างนี้ คือ เป็นคนไม่มีความขึ้งโกรธ ถึงจะถูกคุกคามด้วยการฆ่าและลงอาญา ก็ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย อดกลั้นต่อสามี ไม่โกรธ ยอมประพฤติตามอำนาจสามีภรรยาชนิดนั้น ท่านเรียกว่า ทาสีภริยาภรรยาเสมอดังทาส

ดูก่อนสุชาดา ภรรยาของบุรุษมี ๗ จำพวกนี้แล บรรดา ภรรยา ๗ จำพวกนั้น ภรรยา ๓ จำพวกเหล่านี้ คือ ภรรยาเสมอดัง เพชฌฆาต ๑ ภรรยาเสมอดังโจร ๑ ภรรยาเสมอดังเจ้า ๑ ย่อมบังเกิดในนรก ส่วนภรรยา ๔ จำพวกนอกนี้ ย่อมบังเกิดในเทวโลก ชั้นนิมมานรดี ครั้นพระศาสดาตรัสจำแนกภรรยา ๗ จำพวก ด้วยพระคาถาแล้ว จึงตรัสนิคมพจน์ดังนี้ว่า :
ก็ภรรยาใดในโลกนี้ที่เรียกว่าวธกาภริยา โจรีภริยา และอัยยาภริยา เป็นคนทุศีลหยาบช้า มิได้เอื้อเฟื้อ ภรรยานั้น ครั้นแตกกายทำลายขันธ์ ย่อมไปสู่นรก
ส่วนภรรยาใดในโลกนี้ ที่เรียกว่า มาตาภริยา ภคินีภริยาสขีภริยา และทาสีภริยา เป็นคนดำรงอยู่ในศีล สำรวมระวังดีตลอดเวลานาน ภรรยานั้น ครั้นแตกกายทำลายขันธ์ ย่อมไปสู่สุคติ

เมื่อพระศาสดาทรงแสดงภรรยา ๗ จำพวก ด้วยประการ อย่างนี้แล้ว นางสุชาดาได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล เมื่อพระ ศาสดาตรัสว่า ดูก่อนสุชาดา บรรดาภรรยา ๗ จำพวกนี้ เธอเป็นภรรยาพวกไหน? นางสุชาดาจึงกราบทูลว่า กระหม่อมฉัน ขอเป็นภรรยาเสมอด้วยทาส พระเจ้าข้า แล้วถวายบังคมขอขมาพระศาสดา พระศาสดาทรงทรมานนางสุชาดาหญิงสะใภ้ ด้วยพระโอวาทครั้งเดียว เท่านั้น ด้วยประการดังนี้ ทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้วเสด็จไปพระวิหารเชตวัน เมื่อภิกษุสงฆ์แสดงวัตรแล้ว จึงเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงพระคุณของพระศาสดาในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาทรงทรมานนางสุชาดาหญิงสะใภ้ด้วยพระโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น ให้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล
พระศาสดา เสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ทรมานนางสุชาดาด้วยโอวาทครั้งเดียวเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

๐๐๐ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตได้สมรสกับมเหสี ต่อมาก็มีพระราชโอรสตัวน้อยซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัตเป็นอย่างมาก มเหสีของพระเจ้าพรหมทัตเป็นหญิงดุร้ายชอบด่าบริวารข้าทาสอยู่เสมอ“พวกเจ้าดูแลพระโอรสกันอย่างไรเนี่ย ถึงได้หกล้มได้ ฉันจะลงโทษพวกเจ้าทุกคน ทหาร!..เอาตัวพวกนี้ไปลงทัณฑ์เฆี่ยนให้หลังลายเลย” เมื่อพระโอรสเจริญวัยก็ทรงเป็นห่วงพฤติกรรมของมารดาแต่ก็ไม่สามารถจะว่ากล่าวอะไรได้ “ทำไมพวกเจ้าถึงทำงานไม่เรียบร้อยอย่างนี้ ดูซิ ตรงนี้ยังมีฝุ่นหนาอยู่เลย ปัดกวาดให้มันสะอาดหน่อยสิ นี่มันในวังนะ ไม่ใช่ชนบทบ้านของพวกเจ้า ไปทำให้มันสะอาดไม่อย่างนั้นพวกเจ้าจะโดนเฆี่ยนหลังลายแน่” เมื่อพระโอรสได้เรียนรู้วิชาต่างๆ จากในวังจนหมดสิ้นแล้ว ก็เดินทางไปศึกษาศิลปะที่เมืองตักศิลา

“หม่อมฉันจะตั้งใจเรียนพระเจ้าค่ะ เสด็จพ่อเสด็จแม่ดูแลตัวเองด้วยนะ” “พวกเจ้าดูแลพระโอรสให้ดีๆล่ะ อย่าให้รู้เชียวนะว่าเจ้าดูแลลูกของเราขาดตกบกพร่องน่ะ” เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงสวรรคต พระโอรสก็ทรงขึ้นครองราชย์สืบมา
พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยคุณธรรม แต่ด้านของมเหสีเองกลับมีนิสัยดุร้ายอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง “เอาออกไปให้หมด..พวกเจ้านำสำรับมาให้ฉันทาน ดูซิของอย่างนี้ใครจะไปทานได้ ฉันแก่ขนาดนี้แล้ว ยังจะเอาของหวานๆ มาให้อีก อยากให้ฉันตายๆ ไปนักหรือไง ไม่ได้เรื่องได้ราวเลยซักคน...”

“เฮ้อไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ท่านแม่ก็ยังมีนิสัยดุร้ายอย่างเดิมเราจะทำอย่างดีนะ..ให้ท่านแม่เปลี่ยนไปได้” พระโอรสทรงครุ่นคิดถึงวิธีที่จะตักเตือนพระมารดาอยู่นานก็คิดไม่ได้สักที จนมาวันหนึ่งพระองค์เสด็จไปยังอุทยานพร้อมกับมารดามีบริวารติดตามไปด้วยคณะใหญ่
เดินไปสักพักพวกข้าทาสบริวารก็เอามือปิดหูเพราะรำคาญเสียงร้องของนกต้อยตีวิด “โอ๊ย...รำคาญเจ้านกนี่จริงๆ เลยร้องแสบแก้วหูไปหมด” “นั่นนะซิ น่าจะจับมาถอนขนให้หมด โอ๊ย..ปวดแก้วหู” “เจ้านกบ้านี่เสียงไม่เพราะแล้วยังร้องอยู่ได้ ไม่รู้จักสำนึกรีบๆ เดินกันเถอะลูก แม่อยู่แถวนี้ต่อไปได้อารมณ์เสียมากกว่านี้แน่ๆ เลย”
พอเดินต่อมาได้สักพัก ทั้งมเหสีและบริวารก็อารมณ์ขึ้น เพราะได้ยินเสียงร้องของนกดุเหว่า “อือ..อย่างนี้ซิ ค่อยอารมณ์ดีขึ้นมาหน่อย ลมเย็นๆ สบาย เสียงนกร้องไพเราะอย่างกับเสียงเพลงฟังแล้วระรื่นหูดีจริงๆ” “เสียงนกดุเหว่านี้เพราะจริงๆ ฟังเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ ยิ่งฟังก็ยิ่งเพราะ”
“นั่นนะสินะ ถ้าได้ฟังเสียงนกดุเหว่าร้องทุกวันก็คงจะดี ร้องต่ออีกนะเจ้านก อย่าเพิ่งหยุดร้องเสียละ” เสียงร้องของนกทั้งสองชนิดนี้ทำให้พระโอรสทรงคิดถึงคำจะใช้ตักเตือนมารดาได้ “ใช่ซินะหากเรานำนกทั้งสองนี้มายกตัวอย่างเสด็จแม่จะน่าเปลี่ยนพฤติกรรมได้”
“ลูกเอ๋ย..ฟังเสียงนกดุเหว่าร้องซิ ไพเราะจริงๆ เจ้าชอบไหม๊ละ” “ชอบพะยะค่ะ เสด็จดูซินกดุเหว่าสีดำตัวนี้ สีก็ไม่สวยแถมลายพล้อยไปทั้งตัว แต่ที่น่าแปลกที่มันกลายเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายจำนวนมาก พวกเราที่เป็นมนุษย์ก็ยังชอบเลยนะ แต่นกต้อยตีวิดที่เราเห็นตะกี้สีสันสวยงามน่ารักแต่กลับร้องแสบแก้วหู

ไม่เห็นจะมีใครชอบมันซักคน ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่สมบูรณ์วรรณะมีเสียงอันไพเราะน่ารักน่าชมแต่พูดจาหยาบกระด้างย่อมไม่เป็นที่รักของใครๆทั้งในโลกนี้และโลกหน้า พระองค์ก็ได้เห็นมิใช่หรือว่านกดุเหว่าสีดำตัวนี้ไม่น่ารักเลย แต่กลับเป็นที่รักของสัตว์อื่นๆ เพราะเสียงร้องด้วยเสียงอันไพเราะ
เพราะฉะนั้นบุคคลควรพูดคำอันสละสลวย คิดก่อนพูด พูดพอประมาณไม่ฟุ้งซ่าน ถ้อยคำของผู้ที่แสดงอรรถเป็นธรรมเป็นถ้อยคำไพเราะเป็นถ้อยคำที่เป็นภาษิต” “จริงอย่างที่เจ้าพูด แม่เป็นถึงมเหสี เป็นมารดาของเจ้าแท้ๆ กลับคิดไม่ได้ ที่ผ่านมาแม่ก็เป็นเหมือนนกต้อยตีวิดนั่นแหละ
จากนี้เองแม่จะเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ ขอบใจเจ้ามากนะ ที่เตือนแม่ให้ได้สติ” “พระเจ้าค่ะ ลูกดีใจที่เสด็จแม่เสด็จแม่คิดได้ จากนี้ไปทั้งบ่าวทั้งไพล่และราษฎรก็คงรักและเทิดทูนเสด็จแม่มากขึ้นแน่ๆ พะยะคะ”

พระมเหสีในครั้งนั้น กำเนิดเป็น นางสุชาดา
พระโอรสเสวยพระชาติเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บันทึกการเข้า
แล้วลองแอบมาแย้มกะลา
เพื่อดูโลก เห็นแล้วตกใจโลกนี้กว้างใหญ่จริง ๆ

ธุลีธวัช (chai173)

  • ปัญญา นัตถิ อฌายโต “ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ”
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +35/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 2905
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: ชาตาชาดก ว่าด้วยเรื่อง ภรรยา 7
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 11, 2013, 12:04:53 am »
น้องกบร่ายมายาวมาก  thk56  ผมทราบเรื่องราวจากพระสูตรนี้นานมาแล้ว แต่ก็   thk56  อยู่ดีที่มาย้ำเตือนเรื่องราวทำนองนี้ และยังคงเป็นปัญหาในทุกเรือนครัวอยู่อย่างน่าใจระเหี่ยอยู่นะครับ! "เห็นใจคนมีเรือน"
บันทึกการเข้า
ศรัทธา, ศีล, พาหุสัจจะ, วิริยารัมภะ, ปัญญา