ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คิดอย่างไร ไม่ให้ทุกข์  (อ่าน 2391 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

tasawang

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 116
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
คิดอย่างไร ไม่ให้ทุกข์
« เมื่อ: เมษายน 01, 2012, 03:22:21 pm »
0


ชีวิตกับความทุกข์นี้ดูเหมือนว่าจะเป็นของที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ทุกข์เป็นสัจจะ” หมายความว่า เป็นความจริง เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ตลอดเวลา

มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งตรัสว่า “ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์หามีอะไรไม่” ชีวิตจิตใจของเรานั้นมีเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เกิด-ดับ.. เกิด-ดับ.. อยู่ในชีวิตของเรา

แต่ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่แก้ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ค้นพบวิธีการแก้ทุกข์เป็นคนแรก แล้วก็ใช้วิธีนั้นเยียวยาพระองค์เอง จนพระองค์หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างเด็ดขาด ไม่มีความทุกข์ยากลำบากใจเกิดขึ้นในใจต่อไป

ตามปกติคนเราไม่ได้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็เพราะความคิดผิดในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับความนึกคิดจิตใจของเรา เมื่อใดเราคิดผิดไป เราก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน

การที่คิดผิดนั้นก็เพราะอำนาจอวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในเรื่องปัญหาเหล่านั้น ความทุกข์อาจเกิดแทรกแซงขึ้นได้ แต่ว่าความทุกข์มันก็เป็นสิ่งไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเป็นของเที่ยงแท้ถาวรคงทนอยู่อย่างนั้นตลอดไป อะไรๆมันเกิดขึ้นนั้น มันอยู่ในสภาพที่เรียกว่าเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา

ความทุกข์ก็เกิด-ดับ ความสุขก็เกิด-ดับ อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเป็นเรื่องเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าถ้ามีเหตุปัจจัยเครื่องส่งเสริม การเกิดนั้นก็ง่ายมาก แล้วก็ดับอยู่เหมือนกัน

ความเกิด-ดับของสิ่งทั้งหลายนั้น มันชั่วขณะเดียวเท่านั้น ชั่วขณะหายใจเข้าหายใจออกเท่านั้นเอง แล้วมันก็ดับไปก่อน แต่มันเกิดอีก ทำไมจึงได้เกิดขึ้นมาอีก ก็เพราะว่าเราเอาใจเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในทางที่ผิด เราไปยึดสิ่งนั้นไว้ ไปคิดในเรื่องนั้นโดยไม่ถูกต้อง เราก็มีความทุกข์ติดต่อเรื่อยๆกันไป

ตัวอย่างเช่นว่าเรากลุ้มใจ ความกลุ้มใจนั้นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ว่าเราก็ยังกลุ้มอยู่ตลอดเวลา ที่เรากลุ้มนั้น ก็เพราะว่าเราใส่เชื้อแห่งความกลุ้มเข้าไปในความคิดของเรา คล้ายกับไฟที่มันไหม้เชื้อ เมื่อมีเชื้อให้ไหม้ ไฟก็ลุกโพลงเรื่อยไป ไม่รู้จักดับไม่รู้จักสิ้น

แต่ถ้าหมดเชื้อเมื่อใดไฟมันก็ดับลงเมื่อนั้น แต่ถ้ายังมีเชื้ออยู่ไฟก็ไม่ดับ

คนที่หมั่นใส่เชื้อเพลิง ไฟก็ลุกโหมอยู่ตลอดเวลาฉันใด ในจิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเพิ่มเชื้อให้แก่ความทุกข์ ให้แก่ความกลุ้มใจอะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็เกิดเรื่อยไปไม่รู้จักจบสิ้น เช่นว่า

ความกลุ้มใจเกิดขึ้นเพราะว่าเราคิดในแง่ที่ให้เกิดความกลุ้มใจ

ความโกรธก็คิดในแง่ที่ให้เกิดความโกรธ

ความเกลียดก็เพราะคิดในแง่ที่ให้เกิดความเกลียด

ความริษยาเกิดขึ้นในใจ ก็เพราะความคิดในแง่ริษยา

แล้วมันก็มีเชื้อคืออารมณ์ที่เราใส่ลงไปนั่นแหละ มันก็ลุกโพลงอยู่ในใจของเรา เผาใจของเราให้เร่าร้อนอยู่ด้วย ปัญหาอย่างนั้นตลอดเวลา ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เพราะว่าเราไม่รู้จักตัดต้นเหตุ

พระพุทธเจ้าท่านชี้ไว้ชัดในเรื่องนี้ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่บางทีเราก็ลืมไปถึงหลักความจริงข้อนี้ ไม่ได้เอาหลักความจริงข้อนี้มาใช้ เป็นหลักในการปฏิบัติ แก้ไขปัญหา เช่น มีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไม่ได้คิดนึกตรึกตรองเพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เราปล่อยให้ใจของเรามีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนตลอดเวลา ไม่คิดแก้ไม่สะสาง เราก็มีความทุกข์เรื่อยไป

เพราะฉะนั้น ในการแก้ไขปัญหาชีวิต คือความทุกข์ความเดือดร้อน เราต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องประกอบ เอาธรรมะเข้าไปแก้

บางทีมันมีเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา แล้วเราก็มีความไม่สบายใจด้วยปัญหานั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เช่นว่าเราต้องสูญเสียอะไรบางอย่างในชีวิตของเราไป จะเป็นบุคคลก็ตาม จะเป็นวัตถุสิ่งของเครี่องใช้ไม้สอยก็ตาม

เวลาสิ่งนั้นสูญหายไป เราก็มีความระทมตรมตรอมใจ มีความทุกข์อยู่ในใจตลอดเวลา ไม่สบายไม่อยากพูดกับใคร นั่งคนเดียว ปล่อยจิตปล่อยใจไปตามอารมณ์ อันเป็นเหตุที่จะให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจเท่านั้น

ไม่พยายามเปลี่ยนความคิด ไม่พยายามวิเคราะห์วิจัย ตัวปัญหาที่มันเกิดขึ้นในใจของเราว่า มันคืออะไร ทำไมมันจึงทำให้เรามีความคิดอย่างนั้นมีความคิดอย่างนี้ การไม่วิเคราะห์วิจัยนั้นแหละเรียกว่า “ไม่ใช้ปัญญา” เป็นเครื่องพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ชัดในเรื่องนี้ ท่านบอกว่า เมื่อใดมีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา จงใช้ปัญญาเพ่งพินิจในเรื่องนั้น เพ่งพินิจหมายความว่าดูอย่างละเอียด ดูอย่างรอบคอบ ดูให้มันลึกซึ้ง เพื่อจะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และเราจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร

ตามปกติคนเราทั่วๆ ไปนั้น ไม่ค่อยจะได้ใช้สิ่งนี้ ที่ไม่ได้ใช้นั้นเพราะอะไร เพราะว่าไม่เคยใช้เลย ก็ใช้ไม่เป็น แต่ถ้าหัดใช้บ่อยๆ ก็เคยชินเป็นนิสัย แล้วเราก็จะหยิบเอาปัญหาขึ้นมาวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

จึงอยากขอแนะนำญาติโยมทั้งหลายว่า เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเราต้องหมั่นคิด

แต่ว่าการคิดนั้นอย่าคิดในแง่ที่ให้เกิดความกลุ้มใจ ในแง่ที่ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เราต้องคิดในแง่ที่ว่าความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร มันเกิดจากอะไร มันอาศัยอะไร แล้วเมื่อสิ่งนั้นมาอยู่ในใจของเรานั้น สภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร มีความทุกข์มีความเบาใจ มีความสุขใจ ร้อนใจ เย็นใจ หรือว่าสงบใจอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องเพ่งลงไปพิจารณาลงไป ให้เข้าใจเรื่องนั้นชัดเจนถูกต้อง


(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม
วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๐)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554
โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
บันทึกการเข้า

ธุลีธวัช (chai173)

  • ปัญญา นัตถิ อฌายโต “ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ”
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +35/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 2905
  • Respect: +2
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: คิดอย่างไร ไม่ให้ทุกข์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 01, 2012, 06:06:02 pm »
0
“ทุกข์เป็นสัจจะ” ชีวิต อวิชชา ทุกข์ เกิด-ดับ พิจารณาไป

ทุกข์ สุาจริง

   ทุกข์อย่างไร นั่นทุกข์ ฤาสุขใช่   สุขครวญใคร่ หมายไฉน อย่างไรถาม
ทุกข์เกิดดับ เหตุมี ใช่เพียงนาม   สุขยื้อปราม เพียงขณะ หาสุขจริง

   ทุกข์เพียงทุกข์ ไหม้เผา ให้เขลาหม่น   สุขเพียงยล ยากไฉน ให้แอบอิง
ทุกข์ถวิล ซ่านหา หลากชายหญิง   สุขเสพชิง แท้ชัง กรรมเนื่องกัน.


                                                                                                                                                                 ธรรมธวัช.!




http://dungtrin.com/empty4/05.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 01, 2012, 06:15:53 pm โดย THAWATCHAI173 »
บันทึกการเข้า
ศรัทธา, ศีล, พาหุสัจจะ, วิริยารัมภะ, ปัญญา