« เมื่อ: มกราคม 10, 2014, 11:25:49 pm »
0
10 วิธีถนอมรักษาดวงตา
ดวงตาคือประตูที่เปิดการมองเห็นสู่โลกอันกว้างใหญ่ ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ เพราะความรู้สึกใดๆจากใจนี้ ไม่ว่าจะโกรธ เกลียด หรือยินดี ยินร้าย ก็ส่องผ่านดวงตาให้คนรอบข้างได้เห็นได้รับรู้ และดวงตายังเป็นแว่นขยายส่องโรคร้ายหลายโรคที่แฝงอยู่ในร่างกาย ซึ่งแพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยมองผ่านดวงตา เช่น อาการตาเหลือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคตับอักเสบ โรคไตอักเสบเรื้อรัง โรคเนื้องอกในสมองอันตรายที่สมอง โรคเลือด โรคบวมในคนตั้งครรภ์ โรคเรื้อน โรคต่อมไทรอยด์ และโรคเบาหวาน เป็นต้น เพราะโรคเหล่านี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะของลูกตาและที่ชั้นประสาทจอตา
เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลรักษา และถนอมดวงตาคู่นี้ให้อยู่กับเราตราบนานเท่านาน ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา หมั่นบริหารดวงตา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำร้ายดวงตา ดังนี้ 
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา
สารอาหารจำพวก ลูทีน ซีแซนทีน เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ และวิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญในการบำรุงสายตา ที่มีอยู่มากในผักและผลไม้สีเหลือง แดง ส้ม เขียวแก่ อาทิ แครอท บร็อกโคลี พริกหวาน ตำลึง ปวยเล้ง ผักบุ้ง คะน้า ฟักทอง มะเขือเทศ มะละกอ ฯลฯ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก กระจกตาเสื่อม
นอกจากนี้ ในตับหมู ตับไก่ ไข่แดง ก็อุดมด้วยวิตามินเอ สำหรับคนที่ชอบรับประทานปลา ขอให้เลือกปลาแซลมอน ซาร์ดีน สวาย ซึ่งมีไขมันโอเมก้า-3 ช่วยปกป้องหลอดเลือดเล็กๆในลูกนัยน์ตา 2. หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันนานกว่า 19 ชั่วโมง
ซึ่งอาจทำให้คุณสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร และเกิดอันตรายต่อดวงตาได้ รวมถึงไม่ควรสวมแว่นตานานเกินไป โดยเฉพาะแว่น 3 มิติ
ที่สำคัญคือ ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับ เนื่องจากมันจะปิดกั้นดวงตาไม่ให้ได้รับก๊าซออกซิเจน จึงควรถอดออกเพื่อพักดวงตาในเวลานอน เช่นเดียวกับขณะว่ายน้ำก็ไม่ควรใส่ เพราะเลนส์อาจลื่นหลุดจากตาได้ 3. อย่าอ่านหนังสือในที่มีแสงน้อย
เพราะแสงสว่างที่ไม่พอ แม้จะไม่ทำอันตรายต่อดวงตา แต่จะทำให้สายตาอ่อนล้า ดังนั้น ถ้ารู้สึกล้า ตาลาย ควรหยุดสักครู่เพื่อพักดวงตา 4. อย่าใช้ยาหยอดตาแก้ภูมิแพ้เป็นประจำ
เพราะมันช่วยบรรเทาอาการเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่เมื่อใช้เป็นประจำทุกวัน อาจเกิดอาการแพ้รุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากยาส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณกระจกตาหดตัว ทำให้ขาดออกซิเจน ซึ่งแม้อาการบวมแดงและคันตาจะหายไป แต่ก็เกิดผลร้ายต่อดวงตาอย่างแน่นอน
และการใช้ยาหยอดตาแก้ตาแดงเป็นประจำก็เช่นกัน จะยิ่งทำให้ตาแดงมากขึ้น เพราะเมื่อใช้ไปนานๆ ร่างกายจะดื้อยา ใช้ไม่ได้ผล 5. ใช้แตงกวาวางบนเปลือกตา
ก่อนเข้านอน ให้นำแตงกวาแช่เย็น หั่นเป็นแว่นตามขวาง วางบนเปลือกตาทั้ง 2 ข้าง กดเบาๆนาน 10 นาที เพื่อไม่ให้ตาบวม เพราะแตงกวามีกรดแอสคอร์บิคและกรดคาเฟอิก ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันการสะสมน้ำเกินจำเป็นในร่างกาย ทั่วโลกจึงมักนำแตงกวาไปใช้รักษาอาการบวมและโรคผิวหนังอักเสบ
หรือจะนำชาถุงจุ่มในน้ำเย็น 2-3 นาที และวางบนเปลือกตานาน 15-20 นาที เพื่อป้องกันตาบวม เพราะสารแทนนินในชาสามารถลดอาการบวมอักเสบได้ 6. อย่าจ้องมองจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป
แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่า การมองจอคอมพิวเตอร์ส่งผลเสียต่อดวงตา แต่ที่แน่ๆคือ มันทำให้ตาแห้งและล้า เพราะแสงสะท้อนจากจอที่สว่างหรือมืดเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า
อีกทั้งคนทั่วไปมักไม่ค่อยกระพริบตาเมื่อกำลังดูจอคอมพิวเตอร์ จึงยิ่งทำให้ตาแห้งมากขึ้น วิธีที่ดีที่จะช่วยลดอาการตาแห้ง คือ กระพริบตาทุกๆ 30 วินาที 7. สวมแว่นนิรภัยเมื่อจำเป็น
ขณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีหรืออยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองอันตรายในอากาศ ต้องสวมแว่นนิรภัยเสมอ เพื่อป้องกันสิ่งอันตรายเข้าตา 8. อย่ามองไปที่มีแสงสว่างจ้า
หรือเพ่งมองแสงอาทิตย์โดยตรง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อดวงตา 9. สวมแว่นกันแดดที่เคลือบสารป้องกันรังสี UV
เลือกใช้เลนส์โพลารอยด์ ที่สามารถตัดแสงสะท้อนของดวงอาทิตย์ในแนวระนาบที่เป็นอันตรายต่อดวงตา และป้องกันรังสี UV ได้ อย่าเลือกเพียงเลนส์สีเท่านั้น เพราะจะทำให้รูม่านตาขยายและรับรังสี UV มากขึ้นเพราะการถูกรังสี UV เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อสายตา นอกจากนี้ ยังมีส่วนทำให้เป็นโรคต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ต้อลม และต้อเนื้อ อีกด้วย
ภัยจากรังสี UV ที่เกิดกับดวงตา จะสะสมไปเรื่อยๆตลอดชีวิต จึงควรหาวิธีป้องกันตั้งแต่เด็ก ด้วยการสวมหมวกและแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน หรือแม้แต่อยู่ในที่ร่ม ก็ยังถูกรังสี UV ที่สะท้อนจากตึกและวัตถุต่างๆได้
ดังนั้น ถ้ารู้จักป้องกันตั้งแต่เด็ก จะช่วยไม่ให้สายตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น

10. บริหารดวงตาและพักสายตา
เมื่อคร่ำเคร่งกับการอ่านหนังสือ หรือทำงานที่ใช้สายตามากเกินไป ขอให้หยุดพักและบริหารดวงตาด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
• เพ่งมองไปยังวัตถุใกล้ตัวและไกลตัว ทำซ้ำๆกันหลายครั้ง
• นั่งลง งอแขนทั้งสองข้างขึ้นชิดลำตัว หลับตาก้มหน้าพักบนฝ่ามือราว 10 วินาที จากนั้นลืมตา และทำซ้ำหลายๆครั้ง
• ชูนิ้วโป้งและเหยียดแขนตรงไปข้างหน้า ขณะเพ่งมองไปที่นิ้วโป้ง ค่อยๆดึงแขนกลับจนนิ้วโป้งห่างจากใบหน้าราว 5 นิ้ว จากนั้นค่อยๆมองนิ้วโป้งเลื่อนกลับไปยังจุดเดิม ทำซ้ำๆ จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย เบญญา
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9570000000370