
มีคำจำกัดความ พระลักษณะ และ พระรัศมี ใน พระยุคลหก หรือไม่คะ

ทำเนียมของกรรมฐานมัชฌิมาฯ จะไม่บอกปริยัติล่วงหน้า การสอบอารมณ์ต้องทำต่อหน้าพระอาจารย์ พระอาจารย์จะเป็นผู้บอกเองว่า อารมณ์กรรมฐานในขณะนั้นๆ คืออะไร การสอนต้องเป็นไปตามลำดับของจิต การอธิบายข้ามขั้นตอนโดยไม่เป็นไปตามลำดับของจิตของผู้ปฏิบัติแล้ว อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน หรือไม่ก็อาจยึดเป็นอุปทานได้
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อถามมาแล้ว จำป็นต้องรักษาศรัทธา ขอนำข้อมูลเท่าที่หาได้มาเปิดเผยดังนี้ ลักษณะอาการ ของปีติ ยุคล สุข
๑. พระขุททกาปีติ เกิดขุนลุก หนังศรีษะ พองสยองเกล้า
๒. ขะณิกาปีติ เกิดในจักขุทวาร เป็นประกายเหมือนตีเหล็กไฟ เหมือนสายฟ้าแลบ
๓. พระโอกกันติกาปีติ เกิดดังขี่เรือต้องระลอกคลื่น เกิดลมพัดไปทั่วกายก็มี
๔. พระอุพเพงคาปีติ เกิดให้กายเบา ให้กายลอยขึ้น หกคะเมน
๕. พระผรณาปีติ เกิดให้กายประดุจอาบน้ำ เย็นซาบซ่านทั่วสกลกาย
๖. พระกายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิ เกิดกายใจสงบระงับ ไม่กระวนกระวายฟุ้งซ่าน
๗. พระกายลหุตา จิตลหุตา ความเบากาย เบาใจไม่ง่วงเหงาหาวนอน
๘. พระกายมุทุตา จิตมุทุตา ความอ่อนไม่กระด้างของกายและจิต เริ่มข่มนิวรณธรรมได้บ้าง
๙. พระกายกัมมัญญตา จิตกัมมัญญตา กายจิตควรแก่การงาน ไม่มีกามฉันท์ วิจิกิจฉา
๑๐. พระกายปาคุญญตา จิตปาคุญญตา ความแคล่วคล่องแห่งกายและจิต ไม่เฉื่อยชา
๑๑. พระกายุชุคคตา จิตตุชุคคตา ความเป็นสภาพตรงกายและจิต
๑๒. พระกายสุข จิตสุข ความสบายกาย ความสบายใจนำพาให้เกิดความตั้งมั่นของจิต คือ สมาธิ
๑๓. พระอุปจารสมาธิ พุทธานุสสติ จิตตั้งมั่นเป็นอุปจารพุทธานุสสติ สามารถข่มนิวรณธรรม เป็นกามาวจรจิต เป็นอุปจารฌาน มีศีล เกิดปราโมทย์ เกิดปีติ ๕ ประการ เกิดยุคลธรรม ๖ ประการ เกิดสุขสมาธิ ๒ ประการ ย่อมทำให้สัมมาสมาธิสมบูรณ์ ที่สมบูรณ์เพราะเกิดเป็นขั้นเป็นตอนเป็นลำดับ ปีติ เป็นราก เป็นเง่า เป็นเค้า เป็นมูล ของสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ
หมายเหตุ : ข้อ ๖-๑๑ เป็นส่วนของยุคลหกอ้างอิง
คู่มือสมถะ-วิปัสสนากรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ (หน้า ๕๐-๕๑)
ของสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรมหาเถรเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร(พลับ) กรุงเทพฯ
พระครูสังฆรักษ์วีระ ฐานวีโร รวบรวมเรียบเรียง