.
“บวชพระ” ของผู้ชายสมัยอยุธยา บวชด้วยเหตุผลอะไรบ้าง.?
ภาพประกอบเนื้อหา – พระสงฆ์สยามในอดีต
“บวชพระ” หรือ อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ ในปัจจุบันมักได้อ้างอิงคำตอบหลักๆ ว่าเพื่อแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่, ศึกษาพระธรรมกล่อมเกลาจิตใจ ฯลฯ แล้วหากเป็นสมัยอยุธยา “การบวช” เวลานั้น เป็นด้วยหตุผลอันใดกันบ้าง เหมือนหรือต่างจากทุกวันนี้อย่างไร
@@@@@@@
(๑) บวชพระเพื่อการศึกษา
การบวชเป็นไปเพื่อเพิ่มโอกาสในการศึกษา คงเป็นเรื่องปกติและเหตุจำเป็นในยุคที่ไม่มีสถาบันการศึกษาโดยตรงเช่นปัจจุบัน พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงพาลูกชายไปฝากที่วัด ซึ่งไม่ใช่แค่บวชเรียนทางธรรม แต่ยังสอนเรียนทางโลก ที่สามารถร่ำเรียนไปพร้อมๆ กัน
การศึกษาจากวัด พระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ดังที่ “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ : ราชอาณาจักรสยาม” ตอนหนึ่งบันทึกว่า “พระสงฆ์อันเป็นอาจารย์ในวัด สอนเป็นต้นว่าให้อ่าน ให้เขียนหนังสือ หัดคิดเลข และทำบัญชี”
นอกจากนี้ การบวชยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการรับราชการ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงกำหนดให้ผู้ชายที่เข้ารับราชการทุกคนจะต้องเคยบวชเรียนมาก่อน
(๒) บวชหนีงาน
พระสงฆ์ในสังคมอยุธยาได้สิทธิ์พิเศษไม่ต้องสังกัดมูลนาย, ไม่ต้องเกณฑ์แรงงาน, ไม่ต้องจ่ายส่วย ฯลฯ การบวชจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ไพร่สามารถพ้นจากระบบไพร่ได้ชั่วคราว หรือเป็นวิธีหลบหนีออกจากระบบเกณฑ์แรงงาน จนบางครั้งก็ทำให้ขาดแรงงานที่จำเป็น ซึ่งบางคนที่บวชก็ไม่มีศรัทธาต่อพระศาสนา
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จึงมีการสอบไล่พระที่ไปบวชเพื่อหลีกเลี่ยงราชการ แล้วประพฤติย่อหย่อนไม่ปฏิบัติพระธรรมวินัย ไม่ศึกษาเล่าเรียนก็ไล่ออกไปใช้แรงงาน โดยจัดให้มี “การสอบความรู้พระสงฆ์” ทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว พระรูปใดที่สอบไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ให้สึกออกมาเป็นแรงงานดังเดิม
(๓) บวชอวดรวย
ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของสังคมอยุธยาก็คือ “การสร้างวัด” บรรดาขุนนางใหญ่ที่มากอำนาจ หรือเศรษฐีผู้มีอันจะกินทั้งหลาย แม้จะมีอำนาจหรือทรัพย์สินมากมาย อวดดีสร้างบ้านเรือนให้ใหญ่ดั่งใจไม่ได้ เพราะจะเป็นการทำเทียมเจ้านาย อาจมีโทษถึงชีวิต การสร้างวัดของตนเองจึงเป็น “ทางออก” ให้ได้อวดบารมี
ภาพโคลงภาพ “สร้างกรุงศรีอยุธยา” เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “พระราชพงศาวดาร เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการดังความตอนหนึ่งใน “นิราศทวาราวดี” ของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) ที่ว่า
เมื่อครั้งกรุงยังสนุกสุขสบาย ได้ยินฝ่ายผู้เฒ่าเขาเล่ามา
ว่าเศรษฐีมีทรัพย์ไม่นับได้ สร้างวัดให้ลูกรักนั้นนักหนา
ถ้าบุตรใครไม่มีซึ่งวัดวา ไปเล่นอารามเขาเศร้าฤทัย
เจ้าของเขาเฝ้าเปรยเยาะเย้ยหยอก กลับมาบอกบิดาน้ำตาไหล
พ่อก็สร้างอารามให้ตามใจ วัดจึงได้เกลื่อนกลาดดูดาษดา
@@@@@@@
(๔) บวชหนีภัยการเมือง
ผู้บวชมักเป็นผู้นำหรือเจ้านายที่มีหน้าที่ในบ้านเมือง เมื่อมีการการเปลี่ยนรัชกาล หรือผู้มีอำนาจที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายตนเองขึ้นมาเป็นใหญ่ เช่น กรณี พระเฑียรราชา พระอนุชาต่างพระมารดากับสมเด็จพระไชยราชา ทรงเลือกออกบวชหลังสมเด็จพระไชยราชาเสด็จสวรรคต พระนางศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราชกุมอำนาจไว้ในมือได้
เมื่อ “บวชพระ” ด้วยเหตุผลข้างแล้วเป็นเช่นไร วงการสงฆ์ในสมัยนั้นเป็นเช่นไร
“ประดนธรรม” หนังสือที่แต่งขึ้นในสมัยปลายอยุธยา ตอนหนึ่งกล่าวว่า
“…บ้างบวชอยู่บ้าน…ทำการงาน…อนึ่งบวชปองวัตถุเงินทองของส่วยของสัด ค่านาค่าสวน ด้านด้วยคำนับ ชิงกันเป็นเจ้าวัด…สารพัดทั่วแผ่นดิน หมอนวด หมอยา หมอกฤษ์ หมอชตา…ลวงราษฎร์ทั้งหลาย…ใช่ลูกพระตถาคต บวชเป็นขบถต่อพระศาสนา”
ภาพพระสงฆ์ในจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหารอ่านเพิ่มเติม :-
• บรรพชาอุปสมบท ทางเลือกที่ช่วยเจ้านายหลายพระองค์ “รอด”
• พระสงฆ์ “อิทธิพล” หนึ่งในท้องถิ่น ด้วยความรู้และอาคมที่สร้างศรัทธาบารมีขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : วิภา จิรภาไพศาล
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ.2568
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 31 มกราคม 2568
website :
https://www.silpa-mag.com/history/article_147469อ้างอิง : พระมหาทศพล จนฺทวํโส (มาบัณฑิตย์). “การบวชในสมัยอยุธยา” ใน วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 (กรกฎาคม 2562)