« เมื่อ: ธันวาคม 01, 2011, 07:49:04 pm »
0
เปิดตัว'นามานุกรม พระมหากษัตริย์ไทย'เล่มแรกของชาติ พระเทพฯพระราชนิพนธ์คำนำ
เปิดตัว “นามานุกรม พระมหากษัตริย์ไทย” รวม 54 พระองค์ ตั้งแต่กรุงสุโขทัย-รัตนโกสินทร์ เล่มแรกของชาติ เฉลิมพระเกียรติในหลวง 84 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ พระราชนิพนธ์คำนำด้วยพระองค์เอง พิมพ์แจกสถานศึกษา ห้องสมุด สถานที่ราชการทั่วประเทศ 50,000 เล่ม ชี้ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หลังพบปัจจุบันพระราชประวัติบางส่วนถูกบิดเบือน...
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ศ.เกียรติคุณคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย พล.ต.ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี บรรณาธิการวิชาการ และ ผศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี บรรณาธิการวิชาการ แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554
ศ.เกียรติคุณคุณหญิงไขศรี กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นชอบให้มูลนิธิฯ จัดทำนามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทยเป็นฉบับแรกของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครรวบรวมและเรียบเรียงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ได้ครบพระองค์ ดังนั้น ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดทำหนังสือดังกล่าว โดยรวบรวมพระนามพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่รัชกาลสมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งสิ้น 54 พระองค์
ศ.เกียรติคุณคุณหญิงไขศรี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 พระองค์ ถึงแม้ไม่ได้จัดลำดับเป็นรัชกาล ได้แก่ ขุนวรวงศาธิราช และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางมูลนิธิฯ พบว่า มีเอกสารไทยและต่างชาติบันทึกพระราชประวัติและพระกรณียกิจที่สำคัญไว้ เช่น การศึกสงคราม การต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงพระเกียรติคุณ ก็ได้นำมาบันทึกในหนังสือนามานุกรมฉบับดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม นามานุกรมฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ข้อมูลพระมหากษัตริย์ไทยเกิดความคลาดเคลื่อน ดังนั้น นามานุกรมฉบับนี้ จะเป็นข้อมูลอ้างอิงและค้นคว้าสำหรับเรื่องของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์
“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์คำนำด้วยพระองค์เอง และทรงมอบหมายให้มูลนิธิฯ จัดพิมพ์นามานุกรมฉบับดังกล่าว จำนวน 50,000 เล่ม เพื่อแจกให้แก่สถานศึกษา ห้องสมุดทั่วประเทศ 30,000 เล่ม ส่วนที่เหลือจะแจกให้แก่หน่วยงานราชการ เอกชน รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดว่าจะนำข้อมูลทั้งหมดจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก เพื่อสามารถค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้” เลขานุการมูลนิธิฯ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี บรรณาธิการวิชาการ กล่าวว่า เนื้อหานามานุกรม มีลักษณะพิเศษกว่าเล่มอื่นๆ ดังนี้
1. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์คำนำ ทรงระบุไว้อย่างชัดเจนว่า นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย ไม่เคยมีผู้ใดรวบรวมมาก่อน โดยมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้องจากนักประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีการวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทย
2. คณะบรรณาธิการมีการจัดแบ่งเนื้อหา นามานุกรม โดยเรียบเรียงตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
3. นามานุกรมเล่มนี้ ไม่ได้เรียงตามลำดับตัวอักษร ก-ฮ เพราะอาจจะไม่เห็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์
4. มีเนื้อหาสั้น กระขับ และไม่ยาวจนเกินไป มีรายพระนามของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ประชาชนอาจไม่รู้จักมาก่อน
5. การเรียบเรียงข้อมูลของแต่ละรัชกาล เรียบเรืยงตามเนื้อหา พระราชประวัติ ประกอบด้วย สถานที่ประสูติ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ปรากฏ พระราชกรณียกิจ ที่ได้มีการรวบรวมจากเอกสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการระบุปีที่สวรรคตด้วย
6. มีรูปภาพประกอบของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ส่วนบางพระองค์ที่ไม่มีรูปจะใช้ภาพพระพุทธรูปประจำพระองค์ หรือพระราชานุสาวรีย์แทน
7. จุดเด่นอีกประการคือ มีการระบุถึงพระราชกรณียกิจ ที่ทรงมีพระประสงค์สิ่งเดียว คือ เพื่อประชาชน ทั้งยังทรงปฏิบัติพระองค์อย่างมีจรรยานุวัตร หรือข้อพึงปฏิบัติที่กษัตริย์ควรปฏิบัติตลอดมา.ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
http://www.thairath.co.th/content/edu/220518