จริงๆแล้วการที่จะปล่อยวาง หรือทิ้งสิ่งใดได้ จิตจะต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งนั้น ๑๐๐ % ว่าไม่มีอะไรดีเลย จิตจึงจะยอมปล่อย ถ้ายังเห็นว่ายังมีส่วนดีเหลืออยู่บ้าง หรือยังนำความสุขมาให้ได้บ้าง เราจะทิ้งไม่ลง
แต่สำหรับกรณีที่เป็นลูกสาวนั้น คงต้องใช้เหตุผลอื่นมาพิจารณาประกอบด้วย คงจะปล่อยวางอย่างเดียวไม่ได้
พ่อแม่เป็นพระพรหมของลูก จึงต้องใช้หลักพรหมวิหาร ๔ คือ
๑. เมตตา คือความอยากให้ลูกมีความสุข
๒. กรุณา คือช่วยให้เขาพ้นทุกข์ด้วยการสั่งสอน ส่งเสริม ช่วยเหลือ ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น
๓. มุทิตา คือยินดีกับลูกเมื่อเขาได้ดี
๔. อุเบกขา เมื่อได้ทำข้อ ๑-๓ เต็มที่แล้วไม่ได้ผลก็ต้องวางเฉย
ข้อ ๑-๓ เป็นปฏิสัมพันธ์ของแม่และลูก ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ส่วนข้อ ๔ นั้น เมื่อช่วยไม่ได้แล้วก็ต้องปล่อยให้ธรรมทำหน้าที่ต่อไปตามเหตุปัจจัยที่แต่ละคนสร้างเอาไว้
การทำใจปล่อยวาง ให้สงบสุขที่ต้องการนั้น เราสั่งให้จิตปล่อยวางไม่ได้หรอก เพราะจิตเป็นอนัตตา เราต้องเจริญวิปัสสนาจนเห็นว่าขันธ์ ๕ (คือกายกับใจ)ของเรานี้เป็นตัวทุกข์จริงๆจึงจะสามารถปล่อยวางกายใจได้ ถ้าเราปล่อยวางกายใจของเราได้แล้ว กายใจของคนอื่นก็ปล่อยวางได้แน่นอน
จากคุณ : sspp1
