ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วย แก้วมณี | ที่มาของ "มณิ โชติรโส" (มณีโชติรส) ในบท 'ยถา'  (อ่าน 1600 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



ว่าด้วย แก้วมณี | ที่มาของ "มณิ โชติรโส" (มณีโชติรส) ในบท "ยถา"

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
มณีโชติรส น. แก้ววิเศษชนิดหนึ่งมีรัศมีรุ่งเรือง.

ในอรรถกถาสูตรที่ ๕ ประวัติพระอนุรุทธเถระ ได้กล่าวถึงชาติหนึ่งของอนุพระอนุรุทธเถระ เกิดเป็นนายอันนภาระ นายอันนภาระได้ถวายภัตแด่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้ากระทำอนุโมทนาว่า

"อิจฺฉิตํ ปฏฺฐิตํ ตุยฺหํ         ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
 สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา    จนฺโท ปนฺนรโส ยถา.
 อิจฺฉิตํ ปฏฺฐิตํ ตุยฺหํ         ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
 สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา    มณิ โชติรโส ยถา ติ"
(๑-)

 สิ่งที่ท่านต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงสำเร็จพลันเทียว
 ความดำริจงเต็มหมด เหมือนพระจันทร์เพ็ญ ๑๕ ค่ำ ฉะนั้น
 สิ่งที่ท่านต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงสำเร็จพลันเทียว
 ความดำริจงเต็มหมด เหมือนมณีมีประกายโชติช่วง ฉะนั้น.(๒-)

_________________________________________________
(๑-) : https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=2634
(๒-) : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=146&p=5

 :25: :25: :25:

ความตอนหนึ่งใน อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒ (๓-)กล่าวว่า

พาหนะ ๕ ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต   
    ก็พระราชามีพาหนะทั้ง ๕ คือ :-
    นางช้างตัว ๑ ชื่อ ภัททวดี ไปได้วันละ ๕๐ โยชน์.
    ทาสชื่อว่า กากะ ไปได้ ๖๐ โยชน์.
    ม้า ๒ ตัว คือ ม้าเวลกังสิ และม้ามุญชเกสิไปได้ ๑๐๐ โยชน์
    ช้างนาฬาคิรีไปได้ ๑๒๐ โยชน์.

ประวัติที่จะได้พาหนะเหล่านั้น : ดังได้ยินมา พระราชาพระองค์นั้น ในเมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอุบัติขึ้น ได้เป็นคนรับใช้ของอิสรชนผู้หนึ่ง.

ต่อมาวันหนึ่ง เมื่ออิสรชนผู้นั้นไปนอกพระนคร อาบน้ำแล้วมาอยู่, พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต ไม่ได้ภิกษาเลยสักอย่างหนึ่ง เพราะชาวเมืองทั้งสิ้นถูกมารดลใจ มีบาตรตามที่ล้างไว้แล้ว (เปล่า) ออกไป.... ฯลฯ.....(ยกมาแสดงบางส่วน)

     แม้อิสรชนทำบาตรให้เต็มด้วยโภชนะของตน แล้วกล่าวว่า
    “เจ้าจงรีบไป ถวายบาตรนี้แก่พระผู้เป็นเจ้า เราจะให้ส่วนบุญ แต่ทานนี้แก่เจ้า.”

     @@@@@@@

เขารับบาตรนั้นแล้วไปด้วยฝีเท้า (เร็ว) ถวายบาตรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกล่าวว่า

     “ท่านเจ้าข้า เวลาจวนแจแล้ว, ข้าพเจ้าไปและมาด้วยฝีเท้าอันเร็วยิ่ง, ด้วยผลแห่งฝีเท้าของข้าพเจ้านี้ ขอพาหนะทั้งหลาย ๕ ซึ่งสามารถจะไปได้ ๕๐ โยชน์ ๖๐ โยชน์ ๑๐๐ โยชน์ ๑๒๐ โยชน์ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า,
      อนึ่ง ร่างกายของข้าพเจ้าผู้มาอยู่และไปอยู่ ถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผาแล้ว, ด้วยผลแห่งความที่ร่างกายถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผานั้นของข้าพเจ้า ขออาชญาของข้าพเจ้า จงแผ่ไปเช่นกับแสงแห่งดวงอาทิตย์ ในที่ๆ เกิดแล้วและเกิดแล้ว,
      ส่วนบุญในเพราะบิณฑบาตนี้ อันนายให้แล้วแก่ข้าพเจ้า, ด้วยผลอันไหลออกแห่งส่วนบุญนั้น ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมอันท่านเห็นแล้ว.”


พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “ขอความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้นี้ จงสำเร็จ” แล้วได้กระทำอนุโมทนาว่า :-
                         
     “สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน,
      ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดังพระจันทร์ ซึ่งมีในดีถีที่ ๑๕.
      สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน,
      ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดังแก้วมณี ชื่อว่าโชติรส.”


     "อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ       ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ ;
      สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา,  จนฺโท ปณฺณรโส  ยถา.
      อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ       ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ ;
      สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา,  มณิ โชติรโส ยถาติ

ได้ทราบว่า คาถา ๒ คาถานี้แล ชื่อว่า คาถาอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย. รัตนะ คือ แก้วมณี อันให้สิ่งที่มุ่งหมายทั้งปวง [แก้วสารพัดนึก] เรียกว่า “แก้วมณีโชติรส” ในคาถานั้น.

___________________________________
(๓-) : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=12&p=1




คัมภีร์มิลินทปัญหา ตอนมหาภูมิจลนปาตุภาวปัญหา แสดงรายชื่อแก้วมณีชนิดต่างๆ ดังนี้ (๔-)

ยถา มหาราช มหิยา พหู วิวิธมณโย วิชฺชนฺติ ฯ ตํ ยถา อินฺทนีโล มหานีโล โชติรโส เวฑุริโย อุมฺมารปุปฺโผ มโนหโร สุริยกนฺโต จนฺทกนฺโต วชิโร กชฺโชปกฺกมโก ปุสฺสราโค โลหิตงฺโค มสารคลฺโลติ เอเต สพฺเพ อติกฺกมฺม  จกฺกวตฺติมณิ อคฺคมกฺขายติ จกฺกวตฺติมณิ มหาราช สมนฺตา โยชนํ โอภาเสน ผรติ ฯ เอวเมว โข มหาราช

คัมภีร์มิลินทปัญหาแปลฉบับหนึ่ง แปลไว้ดังนี้

มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจแก้วทั้งหลายมีประการต่าง ๆ ในพื้นแผ่นดินนี้ คือ อินทนิล และมหานิล และโชติรส แก้วไพฑูรย์ แก้วอุมมารบุปผา แก้วมโนหรา แก้วสุริยกันต์ แก้วจันทกันต์ แก้ววิเชียร แก้วบุษราคัม แก้วแดง แก้วลาย แก้วทั้งหลายนี้จะมีรัศมีดีขึ้นไปกว่าแก้วมณีของบรมจักรพรรดิราชหามิได้ ตกว่าแก้วมณีแห่งสมเด็จบรมจักรพรรดิราชนี้มีรัศมีแผ่ไปโดยรอบคอบสว่างไปโยชน์หนึ่ง แก้วทั้งหลายจึงไม่ดียิ่งกว่าจักรวรรดิมณี ความนี้จะเปรียบฉันใด ทานคนทั้งหลายซึ่งให้นั้น จะได้มีคุณเท่ากันกับทานพระเวสสันดรนี้ไม่มี เปรียบดุจมณีทั้งหลายในพื้นปฐพีอันจะดีล่วงไปจากจักรวรรดิรัตนะไม่มี หามิได้

สรุปชื่อแก้วมณีชนิดต่างๆ ได้ ๑๓ ชนิด ดังนี้ (๕-)

    ๑. อินฺทนีโล - อินทนิล
    ๒. มหานีโล - มหานิล
    ๓. โชติรโส - โชติรส
    ๔. เวฑุริโย - ไพฑูรย์
    ๕. อุมฺมารปุปฺโผ - อุมมารบุปผา
    ๖. มโนหโร - มโนหรา
    ๗. สุริยกนฺโต - สุริยกันต์
    ๘. จนฺทกนฺโต - จันทกันต์
    ๙. วชิโร - วิเชียร
  ๑๐. กชฺโชปกฺกมโก - ?
  ๑๑. ปุสฺสราโค - บุษราคัม
  ๑๒. โลหิตงฺโค - แก้วแดง (โกเมน.?)
  ๑๓. มสารคลฺโล - แก้วลาย (เพชรตาแมว)

____________________________
(๔-) : https://dhamtara.com/?p=18855
(๕-) : https://dhamtara.com/?p=18916

 :25: :25: :25:

ความตอนหนึ่งในอรรถกถาราชสูตร (๖-) กล่าวว่า

ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ทรัพย์อันเป็นวัตถุที่หวงแหนอันต่างโดยประเภทแห่งแก้วมณี ทรัพย์อันเป็นสาระ ทรัพย์อันเกิดจากกระพี้ และทรัพย์อันเกิดจากพุ่มไม้ เป็นต้น อันนำรายได้เข้าทุกวันทรัพย์นั่นแหละ เขาเก็บไว้ในห้องอันเป็นสาระ เป็นต้น ชื่อ โกสะ.

    แก้วมณี ๒๔ อย่าง คือ
    วชิระ มหานีละ อินทนิล มรกต ไพฑูรย์
    ปทุมราค (ทับทิม) ปุสสราค (บุษราคัม) กักเกตนะ ผุลากะ วิมละ
    โลหิตังกะ ผลึก ประพาฬ โชติรส โคมุตตกะ
    โคเมทกะ โสคันธิกะ มุกดา สังข์ อัญชนมูละ
    ราชาวัฏฏะ อมตังสกะ สัสสกะ และพราหมณี ชื่อว่า มณี.
    โลหะ ๗ ชนิด และกหาปณะ ชื่อว่า ทรัพย์เป็นสาระ.

_______________________________________
(๖-) : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=52

 :25: :25: :25:

ความตอนหนึ่งในอรรถกถาภัททิตถิกาวิมาน (๗-) กล่าวว่า

ที่จริง บทนั้นเป็นปฐมาวิภัตติแต่ใช้ในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ มีคำอธิบายดังนี้ว่า ดูก่อนเทพธิดา ท่านทัดทรงประดับไว้เหนือเศียร ซึ่งมาลัยดอกมณฑารพ คือพวงมาลัยที่ทำด้วยดอกมณฑารพเหล่านั้น เพราะดอกมณฑารพเหล่านั้นซึ่งสีสรรต่างๆ คือ เขียว เหลือง ดำ แดงเข้ม แดงและสีอื่นๆ มีสีขาวเป็นต้น อันห้อมล้อมด้วยกลีบเกสรคือละออง ตามที่เป็นอยู่มีสัณฐานทรวดทรงงามเป็นต้น หรือเพราะสีแห่งวรรณะตามที่กล่าวแล้วต่างๆ กัน เกิดจากต้นมณฑารพ.
               
เพื่อแสดงว่าต้นไม้ที่มีดอกเหล่านั้นไม่ทั่วไปแก่สวรรค์ชั้นอื่น เพราะดอกไม้เหล่านั้นมีสีพิเศษแปลกออกไป พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นยิเม อญฺเญสุ กาเยสุ รุกฺขา สนฺติ สุเมธเส ดังนี้. ในบทเหล่านั้น

บทว่า อิเม ประกอบความว่า ต้นไม้มีดอกประกอบด้วยสีและสัณฐานเป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วไม่มี.
บทว่า กาเยสุ แปลว่า ในหมู่เทพทั้งหลาย.
บทว่า สุเมธเส แปลว่า ดูก่อนเทพธิดาผู้มีปัญญาดี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นีลา ได้แก่ มีสีเขียวโดยมณีรัตนะ มีอินทนิล และ มหานิล เป็นต้น.
บทว่า ปีตา ได้แก่ มีสีเหลืองโดยมณีรัตนะ มีบุษราคัม กักเกตนะ และ ปุลกะ เป็นต้น และทองสิงคี.
บทว่า กาฬา ได้แก่ มีสีดำโดยมณีรัตนะ มีแก้วหินอัสมกะ แก้วหินอุปลกะ เป็นต้น.
บทว่า มญฺชิฏฺฐา ได้แก่ มีสีแดงเข้มโดยมณีรัตนะ มีแก้วโชติรส แก้วโคปุตตา และ แก้วโคเมทกะ เป็นต้น.
บทว่า โลหิตา ได้แก่ มีสีแดงโดยมณีรัตนะ มีแก้วทับทิม แก้วแดง แก้วประพาฬ เป็นต้น.
ส่วนอาจารย์บางพวกเอาบทมีนีละ เป็นต้น กับบทนี้ว่า รุกฺขา ประกอบกันกล่าวว่า นีลารุกฺขา เป็นต้น.

____________________________________________
(๗-) : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=22

ยังมีต่อ...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 13, 2025, 10:36:31 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



มหาแก้วมณีโชติรส (ดวงแก้วมณีโชติ)

เป็น ๑ ในของคู่บารมีของพระมหาบุรุษ หากพระองค์ท่านมิได้ออกบวชเพื่อตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้า เพราะหากมหาบุรุษผู้ใดไม่ออกบวช มหาบุรุษผู้นั้นจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิผู้มีอำนาจครอบครองได้ทั้งไตรโลก (อันเป็นเหตุให้พระเจ้าสุทโธทนะไม่อยากให้เจ้าชายสิทธัตถะบวช)

เมื่อถึงกาลที่พระมหาจักรพรรดิอภิเษกเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ สมบัติทั้ง ๗ ประการอันคู่บารมีพระมหาจักรพรรดิ คือ  จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว และมหาแก้วมณีโชติรสนี้ ก็จะเสด็จมาหาพระมหาจักรพรรดิและถวายการอารักขาตามหน้าที่แห่งตน

ซึ่งในกรณีของ "มหาแก้วมณีโชติรส" นั้น หากพระมหาจักรพรรดิองค์ใหม่ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์แล้ว  เมื่อใดก็ตามที่พระมหาจักรพรรดินั้นนึกถึงแก้วมหามณีโชติรส แก้วมณีผู้เป็นพญาของเหล่าแก้วมณีและรัตนะทั้งหลายนี้ ก็จะเหาะออกมาจากคูหาอันเป็นที่พำนัก ซึ่งซ่อนอยู่ใน "เขาวิบูลบรรพต" พร้อมด้วยแก้วมณีที่เป็นบริวาร ๘๔๐๐๐ ดวง มาหาพระมหาจักรพรรดิผู้เป็นนายทันที

อำนาจวิเศษของแก้วมหามณีโชติรส คือ มีรัศมีที่สว่างหากเย็นและนิ่มนวลดุจแสงจันทร์วันเพ็ญ จึงสามารถให้แสงสว่างแก่ผู้ที่หลงอยู่ในความมืดได้ และแสงของแก้วมหามณีโชติรสยังสามารถขจัด "ความมืดทั้ง ๔ ประการ" ได้อีกด้วย

_________________________________
ที่มา : Krarakrata (remix : cartoon version)
ลำดับตอนที่ #8 : มหาแก้วมณีโชติรส (ดวงแก้วมณีโชติ) อัปเดตล่าสุด 23 ก.ย. 53
https://writer.dek-d.com/Hyakkimaru/writer/viewlongc.php?id=646226&chapter=8




"ความมืดทั้ง ๔ ประการ" คืออะไร.?



 :25: :25: :25:

ว่าด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด

คำว่า ผู้มีพระจักษุ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค มีพระจักษุด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด คือ

๑. มีพระจักษุด้วยมังสจักขุบ้าง         
๒. มีพระจักษุด้วยทิพพจักขุบ้าง
๓. มีพระจักษุด้วยปัญญาจักขุบ้าง     
๔. มีพระจักษุด้วยพุทธจักขุบ้าง
๕. มีพระจักษุด้วยสมันตจักขุบ้าง

พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไร คือ ในพระมังสจักขุของพระผู้มีพระภาคมีสีอยู่ ๕ สี คือ

(๑) สีเขียว
(๒) สีเหลือง
(๓) สีแดง
(๔) สีดำ
(๕) สีขาว

    - ณ ที่ที่มีขนพระเนตรขึ้น มีสีเขียว เขียวสนิท น่าชม น่าดู ดุจดอกผักตบ ต่อจากนั้น ก็เป็นสีเหลือง เหลืองสนิท สีเหมือนทองคำ น่าชม น่าดู ดุจดอกกรรณิการ์
    - เบ้าพระเนตรทั้งสองข้างของพระผู้มีพระภาคมีสีแดง แดงสนิท น่าชม น่าดู ดุจสีปีกแมลงทับ
    - กลางดวงพระเนตรมีสีดำ ดำเข้ม ไม่เศร้าหมอง สนิท น่าชม น่าดู ดุจสีสมอดำ ต่อจากนั้น เป็นสีขาว ขาวสนิท เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู ดุจสีดาวประกายพฤกษ์

พระผู้มีพระภาคมีพระมังสจักขุนั้นอยู่โดยปกติ เนื่องในพระอัตภาพ เกิดด้วยสุจริตกรรมที่ทรงสั่งสมมาในภพก่อน ทรงมองเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน

@@@@@@@

แม้ในเวลาที่มีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

(๑) ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว
(๒) เป็นวันอุโบสถข้างแรม
(๓) ป่าชัฏรกทึบ
(๔) มีเมฆก้อนใหญ่ผุดขึ้นมา

      - ในความมืดที่ประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงมองเห็นได้ตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ไม่มีหลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์มาปิดกั้นการเห็นรูปทั้งหลายได้
      - หากบุคคลเอางาเมล็ดเดียวทำเครื่องหมาย แล้วใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา พระผู้มีพระภาคก็ทรงสามารถหยิบเอางาเมล็ดนั้นขึ้นมาได้

พระมังสจักขุตามปกติของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยมังสจักขุเป็นอย่างนี้

__________________________________________
ที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ , พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส , ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



แก้วมณีโชติรส

ในสมัยโบราณมีแก้ววิเศษอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อ “แก้วมณีโชติรส” แก้ววิเศษนี้ มีแสงนวลเย็น ส่องสว่างสุกปลั่งอยู่ตลอดเวลา ลือกันว่า ใครได้ครอบครองแก้ววิเศษนี้ คนนั้นก็เหมือนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีชัยเหนือทวีปทั้งสี่ (สมัยโบราณเชื่อกันว่าโลกนี้มี ๔ ทวีป คือบุพพวิเทหทวีป ชมพูทวีป อมรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป) เดชานุภาพแผ่ไปได้ทั้งในน้ำและบนฟ้านภากาศ

ชายหนุ่มคนหนึ่ง ได้ยินเรื่องราวปรัมปราเกี่ยวกับแก้วมณีโชติรสนี้มานานแล้วแม่เล่าให้เขาฟังว่า ใครก็ตามได้ครอบครองแก้ววิเศษนี้ ก็จะพ้นจากความยากจนในฉับพลันทันที เขาจะมีทุกสิ่งทุกอย่างได้เพียงชั่วพริบตา เพียงขอให้แก้วมณีโชติรสนี้เนรมิตให้

ชายหนุ่มผู้เป็นลูกกตัญญู คิดตลอดเวลาว่า วันหนึ่งเขาจะต้องครอบครองแก้ววิเศษนี้ให้ได้ เขาสู้ทนรออยู่จนอายุ ๒๐ เมื่อคิดว่าตนบรรลุนิติภาวะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว เขาจึงขออนุญาตมารดาบิดาออกท่องไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ด้วยความตั้งใจว่าจะต้องไปแสวงหาแก้ววิเศษนี้มาครอบครองให้ได้

วันไหนที่ได้ครอบครองแก้ววิเศษ วันนั้น เขาจะเนรมิตชีวิตและครอบครัวให้หลบลี้หนีหายจากความจนและความทุกข์ทั้งปวงเสียให้สิ้น

ยุคสมัยแห่งความลำบากในชีวิตของเขาจะต้องยุติลง เมื่อเขามีแก้วมณีโชติรสนั้นอยู่ในมือ เขาจะกลายเป็นอภิอัครมหาเศรษฐีของโลก ที่มีทุกอย่างในชีวิตพร้อมสรรพชายหนุ่มออกเดินทางจากบ้านเกิดจรไปทุกหนทุกแห่ง ในที่สุดก็ทะลุไปถึงเทือกเขาแห่งหนึ่งซึ่งลือกันว่ามีเซียนวิเศษพำนักอยู่บนยอดเขา

@@@@@@@

แม้ทางเดินขึ้นเขาจะสูงชันและเสี่ยงอันตรายเพียงใดก็ตาม แต่ชายหนุ่มก็หาได้ย่อท้อไม่ เขาสู้ปีนเขาขึ้นไปโดยใช้เวลาถึงหนึ่งเดือนเต็มก็ไปพบกับกระต๊อบหลังเล็กๆของผู้วิเศษที่ว่า ทันทีที่ไปถึงกระต๊อบของเซียนวิเศษ ชายหนุ่มไม่รอรี รีบแจ้งความประสงค์ว่าที่ต้องต้องระหกระเหินเดินทางออกจากบ้านมาเป็นเวลากว่าสิบปี ก็เพราะต้องการแก้วมณีโชติรส เซียนวิเศษได้ฟังแล้วก็ยิ้มอย่างมีเมตตา ก่อนจะเอ่ยว่า

“อ้อ.! นึกว่าต้องการอะไร ที่แท้ก็อยากได้แก้ววิเศษ” ว่าแล้วเซียนวิเศษก็ล้วงลงไปในย่ามข้างกายพลางคว้าเอาแก้วใสดวงหนึ่งซึ่งมีรัศมีนวลใยสุกปลั่งออกมาส่งให้ชายหนุ่มด้วยท่าทางที่ดูแสนจะธรรมดา ไม่มีทีท่าของความห่วงหวงเลยแม้แต่น้อย ชายหนุ่มดีใจเหลือจะกล่าว ตะลีตะลานยื่นมือเข้าไปรับเอาแก้ววิเศษนั้นมาใส่ย่าม แล้วรีบกราบลาผู้วิเศษเดินลงจากเขาทันที

คืนนั้นเอง ระหว่างที่ยังพำนักอยู่ที่ยอดเขาลูกหนึ่ง ชายหนุ่มซึ่งบัดนี้มีแก้ววิเศษอยู่ในย่าม รู้สึกระหยิ่มยิ้มย่องดีใจจนนอนไม่หลับเขาลุกขึ้นมาลูบๆ คลำๆ แก้ววิเศษนั้นนับร้อยนับพันครั้ง ปากก็พร่ำพรรณนาว่าเขาจะไม่จนอีกต่อไปแล้ว เขาจะกลายเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เนรมิตทุกอย่างได้ตามปรารถนา เขาจะเป็นมหาราชาแห่งโลก เขาจะสยบโลกทั้งใบไว้ใต้ฝ่าเท้า เขาจะเสพสุขท่ามกลางสาวสวรรค์กำนัลในนับหมื่นนางทั้งกลางวันกลางคืน เขาจะ...เขาจะ...เขาจะ...

แต่แล้วก่อนอาทิตย์อุทัยไขแสงนั้นเอง ชายหนุ่มผู้โชคดีก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ในเมื่อแก้วที่เขาได้มานี้ เป็นแก้ววิเศษที่คนทั่วหล้าต่างก็ต้องการจะครอบครองเป็นเจ้าของ ทว่าทำไมเซียนวิเศษคนนั้น กลับไม่สนใจใยดีแก้ววิเศษดวงนี้เลย พอเขาขอ..ท่านก็สามารถล้วงไปหยิบแก้วใบนี้ให้เขาได้อย่างง่ายดายเหมือนถ่มน้ำลายทิ้ง

ชายหนุ่มไตร่ตรองอยู่จนรุ่งสาง ในที่สุดเขาก็คิดว่า สิ่งที่วิเศษที่สุดไม่น่าจะใช่แก้วมณีโชติรสดวงนี้เสียแล้ว หากแต่น่าจะเป็นอย่างอื่นมากกว่า พอแสงแรกประดับดินยังไม่ถึงนาที หยาดเพชรยังกระพริบพรายสุกปลั่งอยู่เหนือยอดหญ้าสลอน ชายหนุ่มรีบล้างหน้าล้างตาปีนเขาลูกแล้วลูกเล่าขึ้นไปจนพบเซียนวิเศษอีกครั้งหนึ่ง

ผู้วิเศษถามว่า “เจา้หนู เมื่อวานเจ้ามาขอของวิเศษ ข้าก็ให้เจ้าแล้ว วันนี้ เจ้าต้องการอะไรอีก”





ชายหนุ่มนั่งสำรวมอยู่ต่อหน้าผู้วิเศษ สังเกตอากัปกิริยาของผู้ที่อยู่เบื้องหน้าอย่างละเมียดละไม ก็พบว่า ผู้ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าของตนนั้นช่างมีท่วงทีสง่างาม แม้จะแต่งตัวมอซอ แต่กลับมีบุคลิกภาพโดดเด่นเสียยิ่งกว่าผู้ที่ห่มกายด้วยอาภรณ์แพงระยับ ยิ่งหากพินิจดวงหน้าด้วยแล้วก็จะพบว่า ท่านคือผู้เฒ่าที่มีความสุขมากที่สุดคนหนึ่งในโลกเป็นแน่ ท่ามกลางความเงียบ ชายหนุ่มล้วงลงไปในย่ามของตน หยิบแก้ววิเศษออกมา

“อาจารย์ครับ ผมขอคืนแก้ววิเศษดวงนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างจากท่านอาจารย์ขอรับ”

ผู้วิเศษยื่นมือไปรับแก้วมณีโชติรส พลางถามว่า “เจ้าอยากได้อะไรจากฉันหรือ”

ชายหนุ่มตอบ
    “ผมอยากได้สภาพจิตใจที่ทำให้ท่านสามารถหยิบของวิเศษออกจากย่ามมาให้ผม โดยที่ไม่รู้สึกเสียดายเลยนั่นต่างหากครับ”

เซียนผู้เฒ่าหัวเราะเบาๆ ก่อนจะบอกว่า
     “อือ.! ในที่สุดฉันก็ค้นพบ ผู้ที่คู่ควรต่อแก้ววิเศษตัวจริงในวันนี้เอง เจ้าหนุ่มเอ๋ย แก้ววิเศษที่แท้ไม่ได้ทำมาจากแก้วหรอกนะ หากคืออะไร เธอย่อมรู้อยู่แก่ใจของเธอเอง เธอไม่ต้องขอสิ่งที่ว่านั้นจากฉันหรอกนะ เพราะในตัวเธอ ก็มี ‘สิ่งนี้’ อยู่โดยสมบูรณ์แล้ว”

ชายหนุ่มยิ้มอย่างผู้ที่เข้าใจ เขาลาผู้วิเศษเดินกลับลงจากยอดเขาด้วยหัวใจปลอดโปร่ง และเป็นสุขสองมือของเขา ในย่ามของเขาไม่มีแก้ววิเศษอยู่ในนั้นเลย เขาเดินมือเปล่ากลับบ้านแต่วันนั้นชายหนุ่มกลับรู้สึกว่า การเดินทางกลับบ้านคราวนี้ เขากลับไปพร้อมกับแก้ววิเศษที่เขาแสวงหามานานปีจริงๆ

 


ขอบคุณที่มา :-
บางตอนจากหนังสือ ธรรมะ ชาล้นถ้วย ของท่าน ว.วชิรเมธี
เฟซบุ้ค ไหว้พระ · แก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อ 15 มีนาคม 2021 · อ่านประมาณ 1 นาที
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 13, 2025, 11:39:49 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ