พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖)
[๑๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ จะพึงปฏิบัติในพระสรีระของพระตถาคตอย่างไร ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเธอจงอย่าขวนขวาย เพื่อบูชาสรีระตถาคตเลย จงสืบต่อพยายามในประโยชน์ของตนๆ เถิด จงเป็นผู้ไม่ประมาทในประโยชน์ของตนๆ มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้วอยู่เถิด กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ผู้เลื่อมใสยิ่งในตถาคตมีอยู่ เขาทั้งหลายจักกระทำการบูชาสรีระตถาคต ฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เขาทั้งหลาย จะพึงปฏิบัติในพระสรีระของตถาคตอย่างไร ฯ
ดูกรอานนท์ พึงปฏิบัติในสรีระตถาคต เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ ฯ
ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ก็เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ฯ
ดูกรอานนท์ เขาห่อพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลีแล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ ห่อพระสรีระพระจักรพรรดิด้วยผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญพระสรีระลงในรางเหล็กอันเต็มด้วยน้ำมัน ครอบด้วยรางเหล็กอื่น แล้วกระทำจิตกาธารด้วยไม้หอมล้วน ถวายพระเพลิงพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ
สร้างสถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง
เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยประการฉะนี้แล
พวกกษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตเป็นต้น พึงปฏิบัติในสรีระตถาคตเหมือนที่เขาปฏิบัติพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ
พึงสร้างสถูปของตถาคตไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง
ชนเหล่าใดจักยกขึ้นซึ่งมาลัยของหอมหรือจุณจักอภิวาท หรือจักยังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น
การกระทำเช่นนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน ฯ
[๑๓๔] ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก
ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง
สาวกของพระตถาคตเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง
พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง ฯ
ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมาก ยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ
ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ
ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สาวกของพระตถาคตจึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล สาวกของพระตถาคตจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ
ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของพระธรรมราชาผู้ทรงธรรมนั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็นถูปารหบุคคล
ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้แล ฯอ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๑๘๘๘ - ๓๙๑๕. หน้าที่ ๗๘ - ๑๕๙.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1888&Z=3915&pagebreak=0ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67ขอบคุณภาพจาก
http://www.mindvacation.net/,http://www.dhammathai.org/
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปรินิพพานสูตร
ถูปารหปุคฺคลวณฺณนา
ถามว่า ในคำว่า ราชา จกฺกวตฺติ เหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตการสร้างสถูปแก่พระราชาผู้อยู่กลางเรือนสวรรคตแล้ว ไม่ทรงอนุญาตสำหรับภิกษุผู้มีศีล.
ตอบว่า เพราะไม่อัศจรรย์.
แท้จริง เมื่อทรงอนุญาตสถูป สำหรับภิกษุปุถุชน ก็ไม่พึงมีโอกาสสำหรับสถูปทั้งหลายในเกาะสีหล ถึงในที่อื่นๆ ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สถูปเหล่านั้นไม่อัศจรรย์ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ทรงอนุญาต.
พระเจ้าจักรพรรดิบังเกิดพระองค์เดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น สถูปของพระองค์จึงอัศจรรย์.
ส่วนสำหรับภิกษุปุถุชนผู้มีศีล จะทำสักการะแม้อย่างใหญ่ อย่างภิกษุผู้ปรินิพพานก็ควรเหมือนกัน. ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10.0&i=67&p=4ขอบคุณภาพจาก
http://www.dhammajak.net/
ถูปารหบุคคล 4 (บุคคลผู้ควรแก่สถูป, ผู้มีคุณความดีพิเศษควรสร้างสถูปไว้เคารพบูชา)
1. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้า)
2. พระปัจเจกพุทธเจ้า
3. พระตถาคตสาวก (สาวกของพระพุทธเจ้า ปกติหมายเอาพระอรหันต์)
4. พระเจ้าจักรพรรดิ (จอมราชผู้ทรงธรรม, พระเจ้าธรรมิกราช)อ้างอิง ที.ม. 10/134/165.
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ขอบคุณภาพจาก
http://www.khaosod.co.th/