โขงแห้ง!รอยพระพุทธบาทเวินปลาโผล่
น้ำโขงแห้งรอยพระพุทธบาทเวินปลาบนโขดหินตำนานลี้ลับพญานาคกลางลำน้ำโผล่ อบต.เวินพระบาทเล็งจัดงานใหญ่สงกรานต์ให้ชาวไทย-ลาวกราบไหว้
6มี.ค.2556 จากที่ระดับน้ำแม่น้ำโขงลดลงในช่วงหน้าแล้งซึ่งปีนี้ระดับน้ำแห้งเร็วมากและเกิดหาดทรายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2555 จนถึงเดือนมีนาคมปี 2556 โดยเฉพาะน้ำที่บริเวณวัดบ้านเวินพระบาท ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นวัดโบราณเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อระดับน้ำลดจะมีโขดหินขนาดใหญ่ห่างจากฝั่งประมาณ 40 เมตร โผล่ขึ้นกลางน้ำ
โดยโขดหินนี้นักปราชญ์โบราณได้บันทึกในใบลานตำนานพระอุรังคธาตุก่อสร้างพระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ.8 ว่า รอยพระพุทธบาทเวินปลา ที่ชาวไทยและชาวลาวให้การเคารพนับถือมากมาตั้งแต่โบราณนับ 2,000 ปี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาทบนโขดหินตามคำร้องขอของพญานาคและพญาปลาตะเพียนทองในลำน้ำโขงไว้กราบไหว้
ช่วงหน้าฝนโขดหินนี้จะจมอยู่ใตน้ำให้เหล่าพญานาคปลาและสิ่งลี้ลับในใต้น้ำโขงกราบไหว้ แต่ช่วงหน้าแล้งรอยพระพุทธบาเวินปลาจะโผล่ขึ้นพ้นน้ำให้โลกมนุษย์ได้กราบไหว้ และในบางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดคือมีรอยพญานาคเกิดขึ้นในบรรไดท่าน้ำของวัด จนชาวบ้านตั้งศาลให้และปั้นพญานาคสีทองขนาดใหญ่ขึ้นริมตลิ่งโขง
ในช่วงวันสงกรานต์ทางชาวบ้านและองค์การบริหารส่วนตำบลเวินพระบาท
จะทำสะพานไม้ให้ประชาชนลงไป ทำพิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาท ซึ่งก็จะมีนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด
ตลอดจนชาวลาวเดินทางมาร่วมพิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาทจนแน่นขนัดทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังชมทิวทัศน์สะพานข้ามโขงได้อีกด้วยเพราะอยู่ใกล้กัน
ดร.อร่ามจิต ชินช่าง เลขานุการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครพนมกล่าว่า หลายปีก่อนทางศูนย์วัฒนธรรมได้มอบหมายให้ตนจัดทำหนังสือ”อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์”โดยทำการสืบค้นทั้งศิลปะวัฒนธรรมตลอดจนแหล่งวัตถุโบราณทั้งฝั่งไทย-ลาว ตั้งแต่ยุคอาณาจักรศรีโคตรหลังการก่อสร้าง”พระธาตุพนม”รุ่นแรกราวปี พ.ศ.8 ของพญา 5 หัวเมือง เพื่อเก็บพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า บันทึกไว้หนังสือนี้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังสองฝั่งแม่น้ำโขงได้ศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของตัวเองมีที่มาอย่างไร
ดร.อร่ามจิต กล่าวต่อว่า โขดหินนี้หรือรอยพระพุทธบาทเวินปลา มีความสำคัญมากเกี่ยวพันถึงยุคพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จปรินิพพานหลังตรัสรู้และเดินทางมาเผยแพร่พระธรรมในลุ่มน้ำโขง
สมัยนั้นเป็นเมืองมีพญาเมืองต่างๆปกครอง อาทิ เมืองหนองหารหลวงปกครองด้วยพญาสุวรรณภิงคาร สกลนครในปัจจุบันฯลฯ
หลังสืบค้นเรื่องนี้นักปราชญ์โบราณได้บันทึกในใบลานเป็นภาษาธรรมค้นพบในหลวงพระบางฯชุดผูกตำนานพระอุรังธาตุก่อสร้างพระธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ.8 ว่า รอยพระพุทธบาทเวินปลาก็ถูกบันทึกไว้ในตำนานพระอุรังธาตุนั้นด้วย
สรุปใจความสั้นๆว่าหลังพระพุทธเจ้าเดินทางเผยแพร่พระธรรมผ่านมาตรงนี้เหล่าพญานาคและพญาปลาตะเพียนทองได้อัญเชิญพระพุทธองค์ลงใต้บาดาลใต้น้ำโขงเผยแพร่พระธรรมและก่อนเสด็จขึ้นมาบนโลกพญานาค พญาปลาตะเพียนทองได้ขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทบนโขดหินตามคำร้องขอของพญานาคและพญาปลาตะเพียนทองในลำน้ำโขงไว้กราบไหว้ โดยในช่วงหน้าฝนโขดหินนี้จะจมอยู่ใต้น้ำให้เหล่าพญานาค ปลาและสิ่งลี้ลับในใต้น้ำโขงกราบไหว้
"ช่วงหน้าแล้งรอยพระพุทธบาทเวินปลาก็จะโผล่ขึ้นพ้นน้ำให้โลกมนุษย์กราบไหว้และในบางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดทุกปีก่อนถึงวันสงกรานต์บางครั้งก็พบงูใหญ่เลื้อยบนโขดหิน และประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมามีรอยพญานาคเกิดขึ้นในบันไดท่าน้ำของวัด จนชาวบ้านตั้งศาลให้และปั้นพญานาคสีทองขนาดใหญ่ขึ้นริมตลิ่งโขง สรุปแล้วรอยพระพุทธธาตุเวินปลาแห่งนี้สำคัญมากมีบันทึกโบราณอ้างอิงด้วย" ดร.อร่ามจิต กล่าวว่า
นายวิชุกร กุหลาบศรี อดีต ผอ.ททท.เขต 4 นครพนม กล่าวว่า
สมัยที่ตนปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานการท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับรอยพระพุทธบาทเวินปลาแห่งนี้มาก
ถือว่าเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว เพราะเป็นรอยพระบาทแห่งเดียวที่พระองค์ได้ประทับรอยบนโขดหินกลางลำน้ำโขง
ซึ่ง ททท.บรรจุไว้ในแผนที่ท่องเที่ยวและมีการจัดสรรงบประมาณหลายล้านบาท สร้างอาคารเก็บของเก่าแก่ตลอดจนเอกสารประวัติต่างให้นักท่องเที่ยวได้อ่านด้วย
นายชาญชัย โชติวุฒิมนตรี นายก อบต.เวินพระบาท กล่าวว่า ช่วงวันสงกรานต์ทุกปี ชาวบ้านและองค์การบริหารส่วนตำบลเวินพระบาทจะทำสะพานไม้ให้ประชาชนลงไปทำพิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นพิธีใหญ่มาก มีนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัดตลอดจนชาวลาวเดินทางมาร่วมพิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาทจนแน่นขนัดทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังชมทิวทัศน์สะพานข้ามโขงได้อีกด้วยเพราะอยู่ใกล้กัน
ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.komchadluek.net/detail/20130306/153314/โขงแห้ง!รอยพระพุทธบาทเวินปลาโผล่.html#.UTgCIzd6W85