บทที่ 7 การรักษาศีล
7.1 วิรัติ หรือ เวรมณีแม้ว่า ศีล จะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมนุษย์ก็ตาม แต่การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีล นั้น ย่อมมิใช่เพียงแค่การไม่ทำความชั่วแต่เพียงอย่างเดียว เพราะบางคนที่ยังไม่ทำความชั่ว อาจเป็นเพราะยังไม่มีโอกาสที่จะทำ เช่น นักโทษที่ถูกกักขังไว้ ไม่มีโอกาสไปเบียดเบียนใคร ย่อมไม่อาจบอกได้ว่า เขาเป็นผู้ รักษาศีล หรือเด็กทารกที่นอนอยู่ในแปล แม้จะไม่ได้ทำความชั่วอะไร แต่ก็เป็นไปเพราะความที่ไม่รู้เดียงสา จึงไม่อาจกล่าวว่าเด็กนั้นรักษาศีลได้
เพราะศีลนั้น สำคัญที่เจตนา การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีล จึงต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจ และ ความ ตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว นี่เอง คือความหมายของคำว่า วิรัติ หรือ เวรมณี
“ วิรัติ” จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการมีศีล บุคคลใดก็ตาม จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล รักษาศีล ก็ต่อเมื่อมีวิรัติ อย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้
1. สมาทานวิรัติ
2. สัมปัตตวิรัติ
3. สมุจเฉทวิรัติ 1)
7.1.1 สมาทานวิรัติ
สมาทานวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาป เพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว หมายความว่าเราได้ ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล ครั้นไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็ไม่ยอมให้ศีลขาด ดังมีเรื่องเล่าถึง การสมาทานวิรัติของอุบาสกท่านหนึ่ง อุบาสกผู้หนึ่ง 2)
ณ ประเทศศรีลังกา อุบาสกผู้หนึ่งได้รับศีลจากพระปิงคลพุทธรักขิตเถระแห่งอัมพริยวิหาร วันหนึ่ง อุบาสกผู้นี้ได้ออกไปไถนา พอถึงเวลาพัก ก็ปลดโคออกจากไถปล่อยให้กินหญ้าไปตามสบาย ปรากฏว่า โคได้หายไป เขาจึงออกตามหา จนไปถึงภูเขาชื่อทันตรวัฑฒมานะ ณ ที่นั้นเอง เขาได้ถูกงูเหลือมตัวหนึ่งรัด เข้า จึงชักมีดอันคมกริบออกมา เงื้อขึ้นหมายจะฆ่างูนั้น แต่แล้วเขากลับฉุกคิดได้ว่า
“ตัวเรานี้ได้รับศีลจากพระเถระผู้เป็นที่เคารพศรัทธา การจะมาล่วงละเมิดศีลเช่นนี้ช่างไม่สมควรเลย เขาได้เงื้อมีดขึ้นถึง 3 ครั้ง แต่ในที่สุดก็ตกลงใจว่า เราจะยอมสละชีวิต แต่จะไม่ยอมสละศีล”
คิดได้ดังนี้จึงโยนมีดทิ้งไป ด้วยเดชแห่งศีลที่ตั้งใจรักษา จึงทำให้งูเหลือมใหญ่นั้นคลายตัวออก แล้วเลื้อยหนีเข้าป่าไป7.1.2 สัมปัตตวิรัติ
สัมปัตตวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเฉพาะหน้า แม้ว่าเดิมทีนั้น ไม่ได้สมาทานศีลไว้ แต่เมื่อไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็คำนึงถึง ชาติ ตระกูล การศึกษา หรือความดีต่างๆ เป็นต้น จึงทำให้เกิดความตั้งใจที่จะงดเว้นจากบาปเวรขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง ดัง เช่นเรื่องราวของจักกนอุบาสก
จักกนอุบาสก 3)
เมื่อครั้งที่จักกนะอุบาสกยังเล็กอยู่นั้น มารดาของเขาได้ล้มป่วยลง หมอบอกว่าต้องใช้เนื้อกระต่าย เป็นๆ มาทำยารักษาจึงจะหาย พี่ชายของจักกนะจึงบอกให้เขาไปหากระต่ายมา จักกนะจึงออกไปที่ทุ่งนา และได้พบกระต่ายน้อยตัวหนึ่งกำลังกินข้าวกล้าอยู่ เมื่อกระต่ายน้อยเห็นจักกนะ มันจึงรีบวิ่งหนี แต่ก็หนีไม่พ้น เพราะบังเอิญไปถูกเถาวัลย์พันตัวไว้ ได้แต่ร้องอยู่ จักกนะจึงจับตัวมาได้ แต่เมื่อเห็นอาการลนลานด้วยความ กลัวของกระต่ายน้อย เขาเกิดความสงสาร คิดขึ้นมาว่า
“ควรหรือที่เราจะเอาชีวิตของผู้อื่นมาเพื่อช่วยชีวิตมารดาของเรา”
จักกนะจึงปล่อยกระต่ายน้อยตัวนั้น พร้อมกับกล่าวว่า
“เจ้าจงไปกินหญ้ากินน้ำของเจ้าตามสบายเถิด”
เมื่อกลับมาถึงบ้าน จักกนะถูกพี่ชายซักถาม จึงเล่าความจริงให้ฟัง และถูกพี่ชายต่อว่าอย่างมากมาย แต่เขาก็มิได้โต้ตอบ ได้แต่ขยับเข้าไปใกล้ๆ มารดา แล้วกล่าวสัจวาจาว่า
“ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมา ยังไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์ใดเลย ด้วยคำสัตย์นี้ ขอให้มารดาจงหายจากโรคเถิด”
ทันใดนั้นเอง มารดาของเขาก็หายป่วยเป็นอัศจรรย์
7.1.3 สมุจเฉทวิรัติ
สมุจเฉทวิรัติ หรือ เสตุฆาตวิรัติ คือ การงดเว้นจากบาปได้อย่างเด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยเจ้า ซึ่งละกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ได้แล้ว เมื่อใจท่านปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำความชั่ว จึงไม่มีการผิดศีลอย่างแน่นอน
จะเห็นว่า วิรัติ นั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะการกระทำใดๆ ก็ตาม หากปราศจากความตั้งใจมุ่งมั่น แล้ว การกระทำนั้นๆ ย่อมไม่หนักแน่นมั่นคง พร้อมจะแปรเปลี่ยนอยู่เรื่อยไป ดังนั้น แม้จะยังไม่ได้ทำความ ชั่วขึ้นก็ตาม แต่ถ้าหากไม่มีวิรัติ ก็ไม่จัดว่าเป็นการรักษาศีล
7.2 องค์แห่งศีลแม้ว่าเราจะตั้งใจรักษาศีลอย่างดี แต่ก็มีบางครั้งบางคราวที่เราอาจพลาดพลั้งเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น โดยที่เราเองก็มิได้ตั้งใจ ซึ่งก็อาจเป็นไปเพราะความจำเป็นบางอย่าง หรืออาจเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ละเหตุผลนั้นล้วนเป็นเหตุให้เราเกิดความไม่สบายใจ หรือเกิดความสงสัยขึ้นว่า การกระทำของเรา ผิดศีล หรือ ศีลขาดหรือไม่ และบางคนถึงกับเกิดความทุกข์ใจในการรักษาศีล ว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าวิสัยของเรา หรือไม่ ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย
เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถรักษาศีลอย่างถูกต้อง จึงมีความจำเป็นที่เราต้องศึกษา ข้อวินิจฉัยของศีลแต่ละข้อ ว่าการกระทำอย่างใดจึงถือว่าศีลขาด อย่างไรถือว่า ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อยซึ่งข้อวินิจฉัย มีดังต่อไปนี้
(ยกมาแสดงบางส่วน)
7.2.4 การพูดเท็จ องค์แห่งการพูดเท็จ การพูดเท็จต้องประกอบด้วยองค์ 4 คือ 7)
1. เรื่องไม่จริง
2. มีจิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง
3. พยายามที่จะพูดให้ผิดไปจากความจริง
4. คนฟังเข้าใจความที่พูดนั้นลักษณะของการพูดเท็จ การพูดเท็จ มี 7 ประการ คือ
- การพูดปด ได้แก่ การโกหก
- การสาบาน ได้แก่ การทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อด้วยการสาบาน
- การทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ การอวดอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันไม่เป็นจริง
- มารยา ได้แก่ การแสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง
- ทำเลศ ได้แก่ การพูดเล่นสำนวน คลุมเครือ ให้คนฟังเข้าใจผิด
- พูดเสริมความ ได้แก่ การเสริมให้มากกว่าความเป็นจริง
- พูดอำความ ได้แก่ การตัดข้อความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสีย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อน
การพูดอนุโลมการพูดเท็จ มี 2 ประการ คือ
1. อนุโลมพูดเท็จ คือ เรื่องที่ไม่จริง แต่พูดโดยมีเจตนาให้คนอื่นเชื่อถือ ได้แก่
- เสียดแทง เป็นการว่าผู้อื่นให้เจ็บใจ เช่น การประชด การด่า
- สับปลับ เป็นการพูดปดด้วยความคะนองปาก
2. ปฏิสสวะ คือ การรับคำของผู้อื่นด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ แต่ภายหลังเกิดกลับใจไม่ทำตาม ที่รับนั้น ได้แก่
- ผิดสัญญา คือ การที่สองฝ่ายทำสัญญาต่อกัน แต่ภายหลังฝ่ายหนึ่งได้บิดพลิ้ว ไม่ทำตาม ที่สัญญาไว้
- เสียสัตย์ คือ การที่ฝ่ายหนึ่งได้ให้คำสัตย์ไว้ แต่ภายหลังได้บิดพลิ้วไม่ทำตามนั้น
- คืนคำ คือการรับคำว่าจะทำสิ่งนั้นๆ โดยไม่มีข้อแม้ แต่ภายหลังหาได้ทำตามนั้นไม่
ยถาสัญญา คือ การพูดตามโวหารที่ตนเองจำได้ ถือว่าไม่ผิดศีล มี 4 ประการ
1. พูดโวหาร ได้แก่ การพูดหรือเขียนตามธรรมเนียม เช่น ขอแสดงความเคารพอย่างสูง ซึ่ง ใจจริงอาจไม่เคารพเลยก็ได้ เช่นนี้ถือว่าไม่ผิดศีล
2. การเล่านิทานหรือนิยายให้ผู้อื่นฟัง หรือแต่งเรื่องขึ้นเพื่อใช้เป็นบทละคร หรือภาพยนตร์
3. การพูดด้วยความเข้าใจผิด
4. การพูดเพราะความพลั้งเผลอ
การพูดเท็จ มีโทษมากหรือโทษน้อย ขึ้นอยู่กับ
1. ความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใด
2. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด
3. ผู้พูดนั้นเป็นใคร เช่น
- คฤหัสถ์ที่โกหกว่า ไม่มี เพราะไม่อยากให้ของของตน อย่างนี้มีโทษน้อย แต่การเป็นพยาน เท็จมีโทษมาก
- บรรพชิตพูดเล่นมีโทษน้อย แต่การพูดว่าตน รู้เห็น ในคุณวิเศษที่ตนไม่รู้ไม่เห็นมีโทษมากขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือวิถีชาวพุทธ ของมหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย
ที่มา
http://book.dou.us/doku.php?id=sb101:7อ้างอิง
1) อรรถกถาธรรมสังคณี จิตตุปปาทกัณฑ์, มก. เล่ม 75 หน้า 299.
2) มหามกุฏราชวิทยาลัย, มังคลัตถทีปนี ฉบับภาษาบาลี - มงฺคลตฺถทีปนี (ทุติโย ภาโค), พิมพ์ครั้งที่ 13, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราขวอทยาลัย, 2539), เล่มที่ 2 ข้อ 158 หน้า 129.
3) มหามกุฏราชวิทยาลัย, มังคลัตถทีปนี ฉบับภาษาบาลี - มงฺคลตฺถทีปนี (ทุติโย ภาโค), พิมพ์ครั้งที่ 13, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, เล่มที่ 2 ข้อ 156 หน้า 127.
7) อรรถกถาธรรมสังคณี จิตตุปปาทกัณฑ์, มก. เล่ม 75 หน้า 292.
ขอบคุณภาพจาก
http://www.dhammada.net/,http://sphotos-a.xx.fbcdn.net/,http://www.dhammajak.net/,http://www.sawasdee.us/