ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตำนานสงกรานต์ไทย ไม่ได้มาจากมอญ  (อ่าน 1470 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ตำนานสงกรานต์ไทย ไม่ได้มาจากมอญ
« เมื่อ: เมษายน 12, 2013, 07:08:58 am »
0
ภาพการจราจรติดขัดบนถนนหลายแห่งคือตำนานหน้าใหม่ของสงกรานต์

ตำนานสงกรานต์ไทย ไม่ได้มาจากมอญ
โดย วิภา จิรภาไพศาล ศิลปวัฒนธรรม มติชน 10 เมษายน 2556

ก่อน พ.ศ.2532 เทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุด 1 วันก็เหมือนเทศกาลอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของคนแต่ละชุมชนจะทำกัน เช่น ชุมชนวิสุทธิ์กษัตริย์มีเวทีประกวดเทพีสงกรานต์, ชุมชนมอญพระประแดงมีการเล่นสะบ้า ฯลฯ


แต่หลัง พ.ศ.2532 สงกรานต์กลายเป็นเทศกาลระดับชาติที่ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้สงกรานต์เป็นช่วงวันหยุดยาว 3 วัน คือวันที่ 12-14 เมษายน โดยกำหนดให้วันที่ 14 เมษายนเป็น "วันครอบครัว" เพื่อให้ผู้คนที่มาทำงานต่างถิ่นได้กลับบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ก่อนหน้านั้นเคยประกาศให้วันที่ 13 เมษายนเป็น "วันผู้สูงอายุ"

เมื่อเปิดทีวีในช่วงก่อนและหลังเทศกาล เราท่านก็จะเห็นการเชิญชวนให้กลับบ้าน การรอคอยลูกหลานของผู้เฒ่าผู้แก่ และภาพลูกๆ หลานๆ ซื้อสินค้าในโฆษณากลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้าน ทั้งแรงประชาสัมพันธ์และความผูกพันทำให้มีผู้คนเดินทางเป็นจำนวนมาก หากคนส่วนหนึ่งที่มีจำนวนไม่น้อยไม่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา แต่เป็นการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว ความจริงในวันนี้สงกรานต์จึงเป็นหนึ่งในเทศกาลที่เกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตจำนวนมาก

   นั่นคือตำนานหน้าใหม่บางส่วนที่เรากำลังเริ่มจดจำเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์
   แต่ตำนานเก่า-ใหม่ก็ไม่ได้ขาดกันอย่างสิ้นเชิง เทศกาลสงกรานต์หลายสิบปีที่ผ่านมา สื่อหลายประเภทยังคงบอกเล่าตำนานสงกรานต์เรื่องเดิมที่ฟังตั้งแต่เด็กจนโต


ปฏิทินสงกรานต์ของธนาคารออมสิน พ.ศ.2520
เขียนภาพเกี่ยวตำนานสงกรานต์โดยอาจารย์ประสงค์ ปัทมานุช แผนกช่างเขียน กองการโฆษณา ธนาคารออมสิน

นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนเมษายนนี้ นิยะดา เหล่าสุนทร เขียนบทความหนึ่งที่กล่าวถึงตำนานสงกรานต์เก่าแก่ในชื่อ "นิทานเรื่องตำนานสงกรานต์ที่ไม่ได้มาจากมอญ" แต่จริงๆ ยังมีบริบทอื่นๆ ที่ข้อเขียนของนิยะดาเล่าไว้

ตำนานสงกรานต์ที่ว่ามีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ เศรษฐีคนหนึ่งอาภัพไม่มีลูก วันหนึ่งนักเลงพูดดูถูกว่าเศรษฐีรวยก็ไม่มีความหมายเพราะไม่มีลูก เศรษฐีน้อยใจจึงได้บวงสรวงพระจันทร์ พระอาทิตย์ขอลูกอยู่ 3 ปีก็ไม่ได้ผล ต่อมาเศรษฐีบูชาอธิษฐานขอลูกกับรุกขเทวดา รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี ไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็ประทานเทพบุตรองค์หนึ่งให้มาเกิดเป็นลูกเศรษฐี เศรษฐีตั้งชื่อให้ลูกว่า ธรรมบาลกุมาร ธรรมบาลกุมารโตขึ้นเรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุได้ 7 ขวบ

อยู่มาวันหนึ่งท้าวกบิลพรหมลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า "ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน" โดยให้เวลา 7 วัน

ถึงวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารคิดหาคำตอบไม่ได้ ขณะนอนอยู่ใต้ต้นตาลบังเอิญได้ยินนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่คุยกัน นางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารที่ไหน ผัวตอบว่าจะไปกินศพธรรมบาลกุมารที่ท้าวกบิลพรหมฆ่าเพราะตอบคำถามไม่ได้ นางนกถามว่าท้าวกบิลพรหมถามเรื่องอะไร เมื่อผัวเล่าให้ฟังนางนกก็ตอบไม่ได้ ผัวจึงเฉลยว่า ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้าคนจึงต้องล้างหน้าทุกเช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อกคนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นศรีจะอยู่ที่เท้าคนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน


ชานชาลาที่มีผู้โดยสารมากกว่าปกติในเทสกาลสงกรานต์ทั้งที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และเพื่อการท่องเที่ยว

วันที่ 7 ธรรมบาลกุมารเอาคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมเรียกลูกสาวทั้งเจ็ดมาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ลูกสาวทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะลูกสาวคนโตอัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาส จากนั้นมาทุกๆ 1 ปี ลูกสาวของท้าวกบิลพรหมทั้งเจ็ด ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่นี้

ตำนานสงกรานต์ข้างต้น ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินกันมาแล้ว ที่มาของตำนานอ้างมาจากจารึกเรื่องมหาสงกรานต์ ในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน จึงเป็นที่ยอมรับและเชื่อถืออย่างกว้างขวาง มีการกล่าวอ้างบ่อยครั้งมาก

แต่ผู้เขียน (นิยะดา) อธิบายสรุปในทางวิชาการว่า
   1.ตำนานสงกรานต์ ไม่ได้มาจากพระบาลีฝ่ายรามัญ หรือนิทานของมอญตามที่เข้าใจกัน
   2.เรื่องของการทายปัญหาระหว่างพรหม 2 องค์ และอีกฝ่ายรู้คำตอบได้จากนกนั้น เป็นเรื่องที่รู้กันมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว และเป็นเรื่องเล่าที่มาจากนิทานของพราหมณ์ที่เล่าต่อๆ กันมา
   3.ปัญหาที่ว่าด้วยเรื่องสิริมงคลของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องที่แพร่หลายรู้กันทั่วไปในสมัยอยุธยา
   4.เรื่องการแห่แหนศีรษะของท้าวกบิลพรหมและมีธิดาแวดล้อม อาจเป็นได้ที่มาจากความเชื่อของมอญ ซึ่งจำเป็นต้องค้นคว้าต่อไป


ทำไมผู้เขียน (นิยะดา) จึงสรุปเช่นนั้น
   - หนึ่งนั้นเพราะเชื่อถือตามพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วิจารณ์ว่าที่มาของเรื่องนี้เลอะเทอะ ไม่น่าเชื่อถือ โดยมีการบันทึกไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน
   - หนึ่งพบว่าสมัยอยุธยามีบันทึกเรื่องเล่าเช่นนี้ คือรูปแบบการถามปัญหาเรื่องสิริที่มีเดิมพันถึงชีวิตที่เรียกว่า "ปกรณัม" ซึ่งมีที่มาจากนิทานอินเดียและนิทานเปอร์เซีย ปกรณัมที่เกี่ยวข้องกับตำนานนี้คือ ปักษีปกรณัม
   - หนึ่งด้วยปัญหาเรื่องสิริซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในตำนานสงกรานต์ คนรัตนโกสินทร์รับรู้กันค่อนข้างแพร่หลาย ดังจะเห็นได้จากงานของสุนทรภู่ใน "สวัสดิรักษาคำกลอน"


รายละเอียดส่วนต่างๆ นี้ขอได้โปรดหาติดตามรายละเอียด และหาความบันเทิงอ่านในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม"
ลองช่วยกันพินิจดูทีเถอะว่า ตำนานสงกรานต์ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ฟังกันมาหลายครั้ง จนเป็นตำนาน หรืออยู่ในขั้นตอนการสร้างตำนาน เท็จจริงประการใด


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365581069&grpid=03&catid=&subcatid=
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ