อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สังคีติสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในบุญญกิริยาวัตถุต่อไป.
ทานนั่นเอง ชื่อว่าทานมัย. การทำบุญนั้นด้วยวัตถุ (คือที่ตั้ง) แห่งบุญญานิสงส์เหล่านั้นด้วย
ดังนั้น จึงชื่อบุญญกิริยาวัตถุ (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ). แม้ในบุญญกิริยาวัตถุข้ออื่นๆ ก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้.
แต่โดยความหมาย พึงทราบบุญญกิริยาวัตถุ ๓ อย่างเหล่านี้
พร้อมทั้งบุรพภาคเจตนา (ความตั้งใจก่อนแต่จะทำ)
และอปรภาคเจตนา (ความตั้งใจภายหลังจากทำแล้ว)
ด้วยอำนาจแห่งเจตนาที่สำเร็จด้วยทาน เป็นต้น ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น.
และในเรื่องนี้ บุคคลทำกรรมอย่างหนึ่งๆ ด้วยกาย นับตั้งแต่บุรพภาคเจตนา ก็จัดเป็นกายกรรม.
เมื่อเปล่งวาจาอันมีความหมายอย่างนั้น จัดเป็นวจีกรรม.
เมื่อไม่ได้ยังองค์แห่งกายและองค์แห่งวาจาให้ไหว คิดด้วยใจ (อย่างเดียว) ก็จัดเป็นมโนกรรม.
อีกนัยหนึ่ง สำหรับผู้ให้ทานวัตถุมีข้าวเป็นต้น (ในเวลาที่กล่าวว่า) ข้าพเจ้าให้อันนทาน (ให้ข้าว) เป็นต้นก็ดี
ในเวลาที่ระลึกถึงทานบารมีแล้วให้ก็ดี จัดเป็นบุญญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน.
ตั้งอยู่ในวัตรและศีลแล้วให้ จัดเป็นบุญญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล.
เริ่มตั้งความพิจารณาโดยความสิ้นไปเสื่อมไปแล้วให้ จัดเป็นบุญญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา.
บุญกิริยาวัตถุอย่างอื่นมีอีก ๗ อย่าง คือ บุญญกิริยาวัตถุ
- อันประกอบด้วยความเคารพยำเกรง
- ประกอบด้วยการขวนขวาย (ช่วยทำกิจของผู้อื่น)
- การให้ส่วนบุญ
- การอนุโมทนาส่วนบุญ
- อันสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
- อันสำเร็จด้วยการฟังธรรม
- บุญกิริยาวัตถุคือการทำความเห็นให้ตรงดังนี้.
บรรดาบุญญกิริยาวัตถุทั้ง ๗ นั้น
- ความเคารพยำเกรง พึงทราบโดยอาการ เช่นเห็นพระผู้เฒ่าแล้ว ลุกรับ รับบาตรจีวร กราบไหว้ หลีกทางให้เป็นต้น.
- การขวนขวาย พึงทราบด้วยการทำวัตร ปฏิบัติแก่พระภิกษุผู้แก่กว่าตน ด้วยการที่เห็นภิกษุเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต แล้วถือบาตรไปชักชวน รวบรวมภิกษาในบ้าน และด้วยการได้ฟังว่า ไปเอาบาตรของพวกภิกษุมา ดังนี้แล้วเร่งรีบไปนำบาตรมา เป็นต้น.
- การให้ส่วนบุญพึงทราบ ด้วยการที่ถวายปัจจัย ๔ แล้ว (ตั้งจิตอุทิศ) ให้เป็นไปว่าส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์.
- การอนุโมทนาส่วนบุญ พึงทราบด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้ว่า สาธุ ถูกดีนักแล้ว.
- ภิกษุรูปหนึ่งตั้งอยู่ในความปรารถนาว่า คนทั้งหลายจักรู้จักเราว่า เป็นธรรมกถึกด้วยอุบายอย่างนี้. เป็นผู้หนักในลาภแสดงธรรม ข้อนั้นไม่มีผลมาก.
- ภิกษุรูปหนึ่งแสดงธรรมที่ตนคล่องแก่ชนอื่นๆ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน นี้ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยการแสดงธรรม.
- บุคคลผู้หนึ่ง เมื่อจะฟังธรรมก็ฟังด้วยความมุ่งหมายว่า คนทั้งหลายจักได้รู้จักเราว่ามีศรัทธาด้วยอาการอย่างนี้ ข้อนั้นไม่มีผลมาก.
- บุคคลผู้หนึ่งฟังธรรมด้วยจิตที่อ่อนโยนแผ่ประโยชน์ว่าจักมีผลมากแก่เราด้วยอาการอย่างนี้ นี้ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยการฟังธรรม.
- ส่วนการทำความเห็นให้ตรง เป็นลักษณะกำหนดสำหรับบุญญกิริยาวัตถุทุกอย่าง.
ที่จริง คนทำบุญอย่างใดๆ ก็ตาม มีผลมากได้ ก็ด้วยความเห็นตรงนั่นเอง.
บุญญกิริยาวัตถุ ๗ อย่างเหล่านี้
พึงทราบว่ารวมเข้าได้กับบุญญกิริยาวัตถุ ๓ อย่างข้างต้นนั่นเอง ด้วยประการดังนี้.
ในที่นี้ ความเคารพยำเกรงและการขวนขวาย (ช่วยทำกิจของผู้อื่น) รวมลงได้ในสีลมัยบุญญกิริยาวัตถุ.
การให้ส่วนบุญและการอนุโมทนาส่วนบุญ รวมลงได้ในทานมัยบุญญกิริยาวัตถุ,
การแสดงธรรมและการฟังธรรม รวมลงได้ในภาวนามัยบุญญกิริยาวัตถุ,
การทำความเห็นให้ตรง รวมลงได้ทั้ง ๓ อย่าง._____________________________________________________
ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=221&p=3อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=4501&Z=7015บุญกิริยาวัตถุ 10 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี )
1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ)
2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี)
3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ)
4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม)
5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้)
6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น)
7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น)
8. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้)
9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้)
10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง)
ข้อ 4 และข้อ 5 จัดเข้าในสีลมัย; 6 และ 7 ในทานมัย; 8 และ 9 ในภาวนามัย; ข้อ 10 ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา______________________
อ้างอิง ที.อ. 3/246; สังคหะ 29.
ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง, การแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง
ข้อ ๑๐ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐_______________________________________________________
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ขอบคุณภาพจาก
http://www.bloggang.com/, http://variety.teenee.com/ ,http://www.oknation.net/ ,
http://www.dmc.tv/i

คำว่า "ทิฏฐุชุกัมม์" ไม่ปรากฏในชั้นพระไตรปิฎก แต่อยู่ในชั้นอรรถกถา
เป็นการอธิบายเพื่อขยายความ บุญญกิริยาวัตถุ ๓ (ทาน ศีล ภาวนา) ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฏก
"ทิฏฐุชุกัมม์" เป็นการทำความเห็นให้ตรง จัดอยู่ในบุญญกิริยาวัตถุทั้งหมด
ดังนั้นความหมายโดยรวมของ ทิฏฐุชุกัมม์ จึงหมายถึงการทำบุญในที่ข้อ ๑ ถึงข้อที่ ๙ นั่นเอง
หากถามว่าแล้วต่างจากสัมมาทิฏฐิอย่างไร ขอให้ดูในกระทู้ถัดไป...... 