
ในฐานะ ชาวพุทธ เราควรทำอย่างไร ในวัน วิสาขบูชา คะ
หรือเพียงแค่ไปทำบุญที่วัด และเวียนเทียน ที่วัด คะ

ใครใคร่อยากทำกิจกรรมอะไร ก็ตามอัธยาศัยครับ
แต่ในวันพระใหญ่เช่นนี้ เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ คนในสมัยพุทธกาลนิยมถืออุโบสถศีลอุโบสถศีล ศีลที่รักษาเป็นอุโบสถ หรือ ศีลที่รักษาในวันอุโบสถ ได้แก่ ศีล ๘ ที่อุบาสกอุบาสิกาสมาทานรักษาเป็นการจำศีลในวันพระ คือขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (แรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด)
อุโบสถ 1. การสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางวินัยของภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ด้วย อุโบสถมีชื่อเรียกย่อยออกไปหลายอย่าง การทำอุโบสถจะมีการสวดปาฏิโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบองค์สงฆ์จตุรวรรค คือ ๔ รูป ขึ้นไป ถ้าสงฆ์ครบองค์กำหนดเช่นนี้ทำอุโบสถ เรียกว่า สังฆอุโบสถ
แต่ถ้ามีภิกษุอยู่เพียง ๒ หรือ ๓ รูป เป็นเพียงคณะ ท่านให้บอกความบริสุทธิ์แก่กันและกันแทนการสวดปาฏิโมกข์ เรียกอุโบสถนี้ว่า คณอุโบสถ หรือ ปาริสุทธิอุโบสถ
ถ้ามีภิกษุอยู่ในวัดรูปเดียว ท่านให้ทำเพียงอธิษฐาน คือตั้งใจกำหนดจิตต์ว่า วันนี้เป็นอุโบสถของเรา (“อชฺช เม อุโปสโถ”) อุโบสถที่ทำอย่างนี้ เรียกว่า ปุคคลอุโบสถ หรือ อธิษฐานอุโบสถ;
อุโบสถที่ทำในวันแรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า จาตุทสิก
ทำในวันขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า ปัณณรสิก
ทำในวันสามัคคี เรียกว่า สามัคคีอุโบสถ
2. การอยู่จำรักษาองค์ ๘ ที่โดยทั่วไปเรียกกันว่า ศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกานั้น จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๒.๑ ปกติอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตามปกติชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ปัจจุบันนิยมรักษากันเฉพาะในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับ คือ แรม ๑๕ หรือ ๑๔ ค่ำ (ปกติอุโบสถอย่างเต็ม มี ๘ วัน คือ วัน ๕ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำของทุกปักษ์ ถ้าเดือนขาดรักษาในวันแรม ๑๓ ค่ำเพิ่มด้วย)
๒.๒ ปฏิชาครอุโบสถ อุโบสถของผู้ตื่นอยู่ (คือผู้กระตือรือร้นขวนขวายในกุศล ไม่หลับใหลด้วยความประมาท) ได้แก่ อุโบสถที่รักษาครั้งหนึ่งๆ ถึง ๓ วัน คือ รักษาในวันอุโบสถตามปกติ พร้อมทั้งวันหน้าและวันหลังของวันนั้น ซึ่งเรียกว่า วันรับและวันส่งด้วย เช่น อุโบสถที่รักษาในวัน ๘ ค่ำ มีวัน ๗ ค่ำเป็นวันรับ วัน ๙ ค่ำเป็นวันส่ง (เดือนหนึ่งๆ จะมีวันรับและวันส่งรวม ๑๑ วัน, วันที่มิใช่วันอุโบสถ ในเดือนขาดมี ๑๐ วัน เดือนเต็ม ๑๑ วัน)
๒.๓ ปาฏิหาริยอุโบสถ อุโบสถที่พึงนำไปคือให้เป็นไปตรงตามกำหนดเป็นประจำในแต่ละปี หมายความว่าในแต่ละปีมีช่วงเวลาที่กำหนดไว้เฉพาะที่จะรักษาอุโบสถประเภทนี้ อย่างสามัญ ได้แก่ อุโบสถที่รักษาเป็นประจำตลอด ๓ เดือน ในพรรษา (อย่างเต็มได้แก่ รักษาตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒, ถ้าไม่สามารถรักษาตลอด ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน จะรักษาเพียง ๑ เดือน ระหว่างวันปวารณาทั้ง ๒ คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ เดือน ๑๒ ก็ได้, อย่างต่ำสุดพึงรักษากึ่งเดือนต่อจากวันปวารณาแรกไป คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑);
อย่างไรก็ตาม มติในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับอุโบสถ ๒ ประเภทหลังนี้ คัมภีร์ต่างๆ ยังแสดงไว้แตกต่างไม่ลงกันบ้าง ท่านว่าพอใจอย่างใด ก็พึงถือเอาอย่างนั้น เพราะแท้จริงแล้ว จะรักษาอุโบสถในวันใดๆ ก็ใช้ได้ เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ถ้ารักษาได้ในวันตามนิยมก็ย่อมควร
3. วันอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ คือ วันจันทร์เพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) และวันจันทร์ดับ (แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ เมื่อเดือนขาด), สำหรับคฤหัสถ์ คือ วันพระ ได้แก่ วันขึ้นและวันแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ และวันจันทร์ดับ
4. สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกตามศัพท์ว่า อุโปสถาคาร หรือ อุโปสถัคคะ,
ไทยมักตัดเรียกว่า โบสถ์_________________________________________________
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
วันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ท้าวจาตุมหาราชจะลงมาตรวจดูโลกว่า "อธิษฐานอุโบสถ" หรือไม่
[๔๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในดิถีที่ ๘ ของปักษ์ เทวดาผู้เป็นบริวารของท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า
ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์
อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในดิถีที่ ๑๔ ของปักษ์ พวกโอรสของท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ด้วยตนเองทีเดียวว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ปฏิบัติ ทำบุญมีอยู่น้อย ท้าวจาตุมหาราช
ย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้น แก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมาประชุมกันอยู่ ณ สุธรรมาสภาว่า
ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา... ปฏิบัติ ทำบุญ มีน้อย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมพากันเสียใจว่า
ดูกรผู้เจริญทั้งหลาย กายทิพย์จักเสื่อมหาย อสุรกายจักเต็มบริบูรณ์ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มาก ท้าวจาตุมหาราชย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้น แก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมาประชุมกัน ณ สุธรรมาสภาว่า
ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแล
เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมพากันดีใจว่า
ดูกรผู้เจริญทั้งหลาย กายทิพย์จักเต็มบริบูรณ์ อสุรกายจักเสื่อมสูญ ฯ_____________________________________________________________
ราชสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3717&Z=3740ขอบคุณภาพจาก
http://th.watthainorway.no/