ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สัมผัส.."วิสาขบูชา" ของเวียดนาม  (อ่าน 1209 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29307
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
สัมผัส.."วิสาขบูชา" ของเวียดนาม
« เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2013, 11:12:48 am »
0


สัมผัสวิสาขบูชาของเวียดนาม

เหลเฟิ่ตด๋าน (L Pht n) หรือเทศกาลวิสาขบูชาในเวียดนาม คงไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของคนไทยมากนัก โดยอาจเข้าใจว่าคนเวียดนามเป็นขงจื๊อมากกว่าเป็นพุทธ  แต่ที่จริงแล้วคนเวียดนามเป็นคนมี 3 ศาสนารวมกัน เขาเรียกว่า Tam gio [ตามเซ้า] คือ ขงจื๊อ-เต๋า-พุทธ และศาสนาพุทธค่อนข้างมีอิทธิพลต่อสังคมเวียดนามมานานแล้ว ดังนั้นเขาก็นับถือศาสนาพุทธ จึงมีการฉลองวันวิสาขบูชาเหมือนกับเราด้วย
ปัจจุบันวันวิสาขบูชาเป็นวันเดียวกันหมดทั่วทุกประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งกำหนดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เมื่อ ค.ศ. 1950 ให้เป็นวันเพ็ญ เดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติทุกปี -  Ngy Rm Thng T [หง่ายซั่มท้างตือ]  (หรือ วันเพ็ญ เดือน 2-เวสาขมาส ตามปฏิทินจันทรคติของอินเดีย) และในปีนี้วันวิสาขบูชาตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า วันวิสาขะเป็นวันที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนาเพราะเป็นวันที่ตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  ด้วยเหตุนี้เองในปี ค.ศ.  1999 องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้ วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล หรือเป็น วันวิสาขบูชาโลก โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป  เวียดนามได้ปรับชื่อเทศกาลวิสาขบูชาให้เหมาะสมกับยุคใหม่ คือ จาก เหลเฟิ่ตด๋าน (L Pht n) เป็นได่เหลเฟิ่ตด๋าน (i L Pht n) หรือ มหาเทศกาลวิสาขบูชา และเริ่มมีงานฉลองอย่างใหญ่โตขึ้นมาก

ประวัติความเป็นมาของเทศกาลวิสาข บูชาในเวียดนามเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1958 เมื่อรัฐบาลเวียดนามใต้ได้ประกาศให้วิสาขบูชาเป็นวันเทศกาลที่สำคัญวันหนึ่งของคนเวียดนามใต้ ทั้ง ๆ ที่มีผู้คนนับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกในเวียดนามใต้จำนวนไม่น้อย  ส่วนในเวียดนามเหนือก็มีงานฉลองวันวิสาขบูชาของพระและชาวบ้านตามวัดต่าง ๆ เท่านั้น  ในช่วงหลังสงครามตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 คนเวียดนามทั้งเหนือและใต้เพิ่งได้รวมชาติ และคนทั้งประเทศเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพและความสงบสุข ทำให้ศาสนาพุทธได้รับความสนใจจากประชาชน และประชาชนเข้าร่วมพิธีกรรมในเทศกาลต่าง ๆ ของศาสนาพุทธมากขึ้นกว่าแต่ก่อน



ส่วนรัฐบาลเวียด นามยิ่งเห็นความสำคัญของศาสนาพุทธในฐานะที่มีพัฒนาการในประเทศของตนเองราว 2,000 ปี และยังให้ความสำคัญกับความเป็นสากลของศาสนาพุทธด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างมิตรภาพและสันติภาพระหว่างประเทศได้อย่างดี  ดังนั้นในปี ค.ศ. 2008 จึงขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่มหาเทศกาลวิสาขบูชาแห่งสหชาติวิสาขะ 2008 เรียกว่า i L Pht n Lin Hp Quc Vesak 2008  [ได่เหลเฟิ่ตด๋านเลียนเหิ่บก๊วกเวซัก 2008] ที่เมืองห่าโหน่ย (ฮานอย) นิญบิ่ญ และหะลอง (ฮาลอง) ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม  ทั้งนี้ในช่วงเวลาเดียวกันที่นครโห่จี๊มิญก็ได้มีการจัดงานใหญ่เฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาร่วมขบวนกับทางภาคเหนือด้วย

เดิมคนเวียดนามเคยเรียกเทศกาลวิสาขบูชาตามอย่างภาษาจีน โดยออกเสียงเป็นภาษาเวียดนามว่า Pht n [เฟิ่ตด๋าน] หมายถึงวันประสูติของพระพุทธเจ้า  แต่เพื่อให้เป็นสากลมากขึ้น เวียดนามจึงเริ่มใช้คำบาลี (Veskha-เวสาขะ) โดยเรียกวิสาขะอย่างย่อว่า เวซัก-Vesak ตามอย่างสากล (ออกเสียงอย่างภาษาฝรั่งเศส) และเรียกชาติที่ฉลองวันวิสาขบูชาว่า Quc Vesak [ก๊วกเวซัก] ดังกล่าวข้างต้น

การประชุมนี้เป็นครั้งแรกของเวียดนาม หลังจากที่มีการจัดขึ้นในประเทศต่าง ๆ นับตั้งแต่ ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา  หัวข้อการประชุมประกอบด้วยประเด็นต่าง ๆ คือ 
1. การสร้างสังคมที่มีความยุติธรรม เป็นประชาธิปไตย และมีอารยธรรม 
2. การแก้ปัญหาโลกร้อนและระบบนิเวศของโลกด้วยวิถีพุทธ 
3. การขจัดความขัดแย้งที่ก่อสงครามและการสร้างสันติสุขด้วยวิถีพุทธ
4. การป้องกันสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดกับครอบครัวด้วยวิถีพุทธ
5. การร่วมมือกันระหว่างพุทธศาสนิกชนนานาชาติเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคม
6. การศึกษาพุทธศาสนา
7. การส่งเสริมพุทธศาสนาแนวทางรับใช้สังคมและการพัฒนา (Engaged Buddhism หรือ Phtgio nhp th [เฟิ่ตเสาเหยิบเท้]) และ
8. ศาสนาพุทธกับการปรับตัวเข้ากับยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ



การจัดการประชุมวิสาขบูชาโลกของเวียดนามเกิดผลดีต่อประเทศหลายประการ  สำหรับเวียดนามเองแล้ว ได้สร้างการรวมตัวและความสมัครสมานระหว่างศาสนาพุทธในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ นั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยคือ เวียดนามได้เปิดตัวเมืองนิญบิ่ญ (Ninh Bnh) อดีตเมืองหลวง ด้วยการโชว์โครงการสร้างวัดพุทธใหม่ขนาดมหึมาในพื้นที่วัดเก่าแก่แต่เดิมชื่อ วัดบ๊ายดิ๊ญ (Cha Bi nh) โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในรูปแบบ CSR-Coporate Social Responsibility ของภาคธุรกิจเอกชน โดยมี นักธุรกิจชื่อดังของเวียดนาม Nguyn Vn Trng [เหงวียนวันเจื่อง] เป็นเจ้าของโครงการนี้ในเขตอุทยานสำหรับการท่องเที่ยวจ่างอาน-Khu Du Lch Trng An [คูซูลิคจ่างอาน] และรัฐบาลให้การสนับสนุน นับว่าเป็นการใช้ทุนสร้างอย่างมหาศาล และเป็นตัวอย่างการสร้างวัดพุทธมหายานแบบจีนที่สมบูรณ์ สวยงามอลังการอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของเวียดนาม

แม้ว่าเวียดนามจะนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับบ้านเรา แต่ศาสนาพุทธของเขานั้นมีประวัติศาสตร์และความเป็นมาเฉพาะในแบบของเวียดนาม ซึ่งมีพัฒนาการที่แตกต่างกันระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้  ศาสนาพุทธของเวียดนามทั้งเหนือและใต้มีทั้งที่เป็นนิกายมหายาน (Bc Tng [บั๊กตง] - อุตตรนิกาย) และนิกายหินยาน (Nam Tng [นามตง] - ทักษิณนิกาย)  ส่วนเฉพาะในเวียดนามใต้มีพัฒนาการของศาสนาพุทธมหายานของชาวจีนโพ้นทะเล และศาสนาพุทธเถรวาทของคนเขมรในเขตที่อยู่ใกล้กับกัมพูชา รวมทั้งยังมีนิกายที่พัฒนาขึ้นใหม่ไม่นาน เรียกว่า ภิกขาจารพุทธธรรม (พระสงฆ์ออกบิณฑบาต) -o Pht Kht S [ด่าวเฟิ่ตเคิ้ตสี] ของคนเวียดนามใต้ด้วย  นิกายมหายานในเวียดนามใต้นั้นได้รับอิทธิพลจากจีนค่อนข้างมาก  ส่วนนิกายมหายานในเวียดนามเหนือมีลักษณะผสมผสานระหว่างอิทธิพลของอินเดียกับจีนและความเชื่อพื้นเมืองที่มีมาแต่เดิมของเวียดนาม


ศาสนาพุทธได้เข้ามาในเวียดนามราว 300-200 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยผ่านทางอินเดีย  ต่อมาเมื่อตกเป็นอาณานิคมของจีนเมื่อ 111 ปีก่อนคริสต์ศักราช และอยู่ใต้การปกครองของจีนนับพันปี จึงรับอิทธิพลศาสนาพุทธแบบจีน ซึ่งผสมผสานมากับลัทธิเต๋า  ในช่วงต้นของประวัติศาสตร์เวียดนามหลังเป็นอิสระจากจีนแล้ว  (ระหว่าง ค.ศ. 968-1400) ศาสนาพุทธมีบทบาทค่อนข้างมากทั้งในทางสังคมและการเมือง โดยรัฐถือว่าเป็นศาสนาของทางการหรือเป็นศาสนาประจำรัฐ  เหตุเพราะมีพระภิกษุในพุทธศาสนาที่รอบรู้ มีความสามารถจำนวนมาก ประกอบกับรัฐเองต้องการหาอุดมการณ์ทางศาสนามาค้ำจุนการปกครองที่สามารถทำให้ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  แม้ว่าภายหลัง ค.ศ. 1400 รัฐเวียดนามเริ่มให้ความสำคัญกับลัทธิขงจื๊อมากขึ้นและมากกว่าศาสนาพุทธ  แต่ศาสนาพุทธก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมเวียดนามตลอดมา อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมทำนุบำรุงไม่น้อยในสมัยราชวงศ์เหงวียน (ระหว่าง ค.ศ. 1802-1945)

พุทธศาสนาในเวียดนามมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการที่ยาวนานมาก โดยมีบทบาททั้งในทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม  อีกทั้งในช่วงสมัยสงครามเวียดนาม ศาสนาพุทธโดยเฉพาะในเวียดนามใต้กลายเป็นศูนย์รวมพลังของการต่อต้านความรุนแรงและพลังความรักชาติ รักเพื่อนมนุษย์ เนื่องจากในระหว่างสงครามนั้น เวียดนามใต้ได้กลายเป็นสนามรบหรือแผ่นดินที่ลุกเป็นไฟ ยิ่งตอนหลัง ๆ ของสงคราม ชีวิตผู้คนปราศจากสันติสุข บาดเจ็บล้มตาย เต็มไปด้วยความหวาดกลัวภัยจากสงครามและการจลาจลต่าง ๆ แทบไม่เว้นวัน ทำให้มีพระและฆราวาสจำนวนมากต้องออกมารวมตัวกันต่อต้านสงคราม

ด้วยเหตุนี้ คนเวียดนามปัจจุบันจึงได้ซาบซึ้งว่าสันติสุขและการปราศจากซึ่งการรบราฆ่าฟันนั้นมีคุณค่าเพียงใด  วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญยิ่งในพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้สัจธรรมอันประเสริฐ ทรงชี้เหตุของความทุกข์และการดับทุกข์ของมนุษย์  และทรงนำทางให้เห็นว่าการฆ่าคือการริดรอนสิทธิเสรีภาพทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด  ดังนั้นการฆ่าจึงเป็นศีลข้อห้ามข้อแรกสุดที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้น มนุษย์ควรอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เบียดเบียน และอยู่กันด้วยความเมตตากรุณาต่อกัน
     


ในวันวิสาขบูชา หรือ ได่เหลเฟิ่ตด๋านของเวียดนาม คนเวียดนามส่วนใหญ่จะไปชุมนุมฟังเทศน์ฟังธรรมและทำบุญและถวายภัตตาหารที่วัด  วัดต่าง ๆ จัดงานขึ้น โดยมีการแห่ขบวนเรือหรือขบวนรถตกแต่ง  บางวัดก็มีการเวียนเทียน แห่โคมไฟ การละเล่นหรือการแสดง  คนที่ไปไหว้พระทำบุญร่วมงานตามวัดที่ตนศรัทธาก็จะถือโอกาสขอพรให้ตัวเองไปด้วย  นอกจากนี้ สิ่งที่นิยมทำกันอีกอย่างหนึ่งก็คือการปลดปล่อยชีวิต เรียกว่า ฟ้องซิญ (phng sinh) โดยมากจะนำสัตว์ เช่น ปลา ปู เต่า หรือนกไปปล่อย ซึ่งมักจะทำในโอกาสงานบุญอื่น ๆ เหมือนกัน

ด้วยหลักคำสอนของศาสนาพุทธทำให้คนเวียดนามเชื่อว่า การปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตจะเป็นบุญกุศลมากที่สุด - Chng sinh trong su ng u l cha m ta, cu vt sng c tc l cu c cha m ta [จุ๋งซิญจองเส้าเดื่องเด่วหล่าจาแมะตา กิ๋วเวิ่ตโส้งเดือกตึ้กหล่ากิ๋วเดือกจาแมะตา] สิ่งมีชีวิตทั้ง 6 ทิศ ก็เหมือนเป็นพ่อแม่ของเรา การช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตให้อยู่ได้จึงเสมอด้วยการช่วยเหลือพ่อแม่ของตนเอง  สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นอะไรจึงมีความสำคัญเท่ากันหมด และมีค่าเสมอกันหมด

วิสาขบูชาเป็นวันหนึ่งที่สำคัญของโลก ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนหลักที่ใช้เป็นสากลได้ หลักที่จะทำให้โลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และบุคคลย่อมพ้นทุกข์ได้โดยการเข้าถึงและปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง

สำหรับคนในชาติอาเซียนบนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีศาสนาพุทธเป็นสายใยเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมถึงกัน สามารถนำคุณค่านี้มาร่วมมือกันสร้างหลักมนุษยธรรมนิยมสากลได้ นอกเหนือจากการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุธรรมอย่างเดียว หรือนำมาระงับอคติและความขัดแย้งที่มีต่อกันได้บนพื้นฐานของความรักในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน.


พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล

ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.dailynews.co.th/education/206450
วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2556 เวลา 00:00 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ