ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: งานใหญ่! บุญเลี้ยงหอหลวงชาวด่านซ้าย พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ‘บุญเดือนเจ็ด’  (อ่าน 2874 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29347
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



งานใหญ่! บุญเลี้ยงหอหลวงชาวด่านซ้าย พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ‘บุญเดือนเจ็ด’

ความเชื่อของชาวอีสาน ยังเหนียวแน่นในเรื่อง ภูตผีวิญญาณ ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเข้ามามีบทบาทในสังคมภาคอีสานก็ตาม ทั้งที่หลักการของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุผลแต่ไม่สามารถลบล้างความเชื่อที่มีมาแต่บรรพบุรุษ บางครั้งยังเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาร่วมกับความเชื่อได้อย่างกลมกลืน ถ้าสิ่งใดทำแล้วเกิดประโยชน์ก็จะทำสิ่งนั้น วิถีชีวิตของคนอีสานจึงผูกพันกับความเชื่อมาโดยตลอด อันเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา เกิดการคิดค้นหาตัวตนของคนอีสานอย่างแท้จริง

ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่เจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น มีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนสืบมา ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำ ฮีต คือ จารีต หมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน จึงหมายถึงประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา



บุญเดือนเจ็ด หรือ บุญซำฮะ หนึ่งในงานบุญ ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ ของชาวอีสานโดยทั่วไป หมู่บ้านแทบทุกหมู่บ้านในภาคอีสานจะมี “ดอนปู่ตา” ซึ่งเป็นป่าสงวนของชาวบ้านอยู่ติดกับหมู่บ้าน โดยมีความเชื่อว่าบริเวณดอนปู่ตา เป็นที่อยู่อาศัยของผีบรรพบุรุษของหมู่บ้านให้ถือเป็นสิ่งหวงห้ามที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีการทำบุญเดือนเจ็ด ตรงกับขึ้น 9 ค่ำ ของทุกปี ชาวด่านซ้ายและจังหวัดใกล้เคียง เรียก “ บุญเลี้ยงหอหลวง ” แต่เป็นการคารวะดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่มาสร้างเจดีย์ศรีสองรักโดยมี “เจ้าพ่อกวน” เจ้าแม่นางเทียม แสน นางแต่ง ลูกผึ้ง ลูกเทียน ไพร่น้อย และประชาชน ร่วมประกอบพิธีกรรม

เจ้าพ่อกวน ตำแหน่ง เจ้าพ่อกวน จะเป็นสายญาติของเจ้าพ่อกวนคนก่อนเสมอ ซึ่งเชื่อกันว่าบุคคลในตระกูลนี้ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองแต่โบราณ เจ้าพ่อกวนถือศีลแปดไว้ผมยาว เกล้าผมไว้กลางศีรษะ มีผ้าขาวคาดศีรษะ สวมเสื้อสีขาว นุ่งผ้า และมีผ้าขาวพาดบ่าเสมอ เจ้าพ่อกวนมีหน้าที่เข้าทรง “เจ้าเมืองวัง” ในพิธีเซ่นไหว้ต่าง ๆ หรือเมื่อมีผู้อัญเชิญให้เข้าทรง เพื่อสอบถามสาเหตุหรือปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องการเจ็บไข้ เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุศรีสองรัก เจ้าพ่อกวนคนปัจจุบัน คือ นายถาวร เชื้อบุญมี เจ้าพ่อกวนคนที่ 7 ซึ่งได้รับตำแหน่งต่อจากบิดาคือ นายแถว เชื้อบุญมี



เมื่อปีพุทธศักราช 2101 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ร่มขาวเวียงจันทน์ ได้ทำไมตรีต่อกันเพื่อร่วมต่อสู้กับพม่า โดยสร้างเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นที่เมืองด่านซ้าย ชื่อว่า “เจดีย์ศรีสองรัก” เพื่อเป็นสักขีพยานแห่งการมีพระราชไมตรีต่อกัน หลังจากการก่อสร้างเสร็จได้ทำพิธีสมโภชและถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

“หอหลวง” ซึ่งเป็นสถานที่สิงสถิตของพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ของสองอาณาจักร ทั้งสองพระองค์มีบัญชาให้ขุนแสนหมื่นทั้งสองพระนคร มาเป็นขวัญและกำลังใจให้กับไพร่ฟ้าประชาชนที่มาร่วมกันก่อสร้างเจดีย์ศรีสองรัก โดยให้หาทำเลที่เหมาะสมในการสิงสถิตของพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ได้ทำเลเหมาะสมใกล้เจดีย์ศรีสองรัก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 50 เมตร ใช้เป็นที่ตั้งศาลพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจระหว่างการก่อสร้างเจดีย์ฯของทุกคน



นายถาวร เชื้อบุญมี เจ้าพ่อกวน คนปัจจุบัน กล่าวว่า บุญเลี้ยงหอหลวง เป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องกันมากว่า 453 ปี กำหนดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ถ้าปีไหนตรงกับวันพุธ จะเลื่อนไปทำในวันขึ้น 10 ค่ำแทน เนื่องด้วยวันพุธ เปรียบเสมือนวันของพระพุทธเจ้า เป็นวันบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ จะละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สุราเมรัย และถือศีลเป็นสำคัญ

ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันที่ 16-18 มิถุนายน 2556 โดยวันที่ 16 มิถุนายน เป็นวันรวม ชาวบ้านส่วนใหญ่ จะทยอยเดินทางมาพร้อมสัมภาระ เสื้อผ้า นำข้าวสารเอามารวมกัน เพื่อหุงหาอาหารเลี้ยงดูกันจนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธีรวม 3 วัน นอกจากนี้ต้องนำ ไก่ หมู ตัวตุ่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ เหล้า มาเซ่นไหว้ เพื่อแก้บนตามที่มีใครบนไว้ตลอดปีที่ผ่านมา



ในวันที่ 17 มิถุนายน อันเป็นวันแรกเริ่มพิธี ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า ผู้คนที่มาร่วมงานต้องนุ่งขาวห่มขาวมารวมตัวกันที่บ้านเจ้าพ่อกวน โดยเจ้าพ่อกวนจะเดินนำไปประกอบพิธีกรรมกันที่หอหลวง ตามเส้นทางเดิมที่ใช้เดินมาแต่โบราณ จะมีพิธีฆ่าควาย เชิญวิญญาณเจ้าเมืองวัง เข้าทรงเจ้าพ่อกวน และทำพิธีบูชาสักการะ ห้ามมิให้ส่งเสียง พูดคุย หรือออกนอกบริเวณจนกว่าจะเสร็จพิธี

ส่วนใน วันที่ 18 มิถุนายน เป็นพิธีเลี้ยง “หอน้อย” หรือหอเจ้าแสนเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านเดิ่น ริมน้ำหมัน ในเขตเทศบาลตำบลด่านซ้าย ห่างจากบ้านเจ้าพ่อกวน ประมาณ 500 เมตร เป็นสถานที่สิงสถิตดวงวิญญาณของเจ้าแสนเมือง เจ้านายฝ่ายขวา เจ้าเมืองรุ่นแรก ที่อพยพมาจากอาณาจักรล้านช้างมาปกครองเมืองด่านซ้าย พิธีกรรมคล้ายวันเลี้ยงหอหลวง เป็นพิธีถวายไก่ต้ม หมูต้ม ที่ชาวบ้านได้บนไว้ พร้อมจะนำด้ายสีขาวเข้าร่วมในพิธี นำกลับไปบ้านผูกข้อมือให้กับลูกหลานเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต



หลังเสร็จพิธีเลี้ยงหอหลวง ในช่วงเย็นจะมีพิธีกรรมที่บ้านเจ้าพ่อกวน แจ้งแก่ดวงวิญญาณเจ้าเมืองว่า พิธีเลี้ยงหอในปีนี้ได้เสร็จลงแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี

ความเชื่อ ความศรัทธา และยึดมั่น ในขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกันมากว่า 450 ปี ที่ยังคงอยู่ในจิตใจของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย บน “ดินแดนแห่งสัจจะและไมตรี”.


ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.dailynews.co.th/thailand/210549
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ