
ถ้าจะพิจารณา กาย เพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ในกาย ควรทำอย่างไร ครับ

หากเป็นศิษย์กรรมฐานมัชฌิมา ต้องระลึกถึง "มหาราหุโลวาทสูตร" โดยเฉพาะเรื่องธาตุมหาราหุโลวาทสูตร
สูตรว่าด้วย การประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรใหญ่
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนพระราหุลในระหว่างที่ท่านตามเสด็จไปบิณฑบาตในเวลาเช้าว่า
พึงพิจารณาเห็นรูปทุกชนิด ทั้งอดีตอนาคตปัจจุบัน ,ภายในภายนอก ,หยาบละเอียด ,เลวดี ,ไกลใกล้
ว่ารูปทั้งหมดนั้น มิใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
พระราหุลกลับจากที่นั้น นั่งคู้บัลลงก์(ขัดสมาธิ) ณ โคนไม้ตันหนึ่ง ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
พระสารีบุตรเห็นเข้าจึงสอนให้เจริญอานาปาปานสติ (สติกำหนดลมมหายใจเข้าออก).
ในเวลาเย็นพระราหุลออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามถึงวิธีเจริญอานาปานสติที่จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
๒. พระผู้มีพระภาคตรัสสอน เรื่องรูปภายใน(ร่างกาย) ที่แข้นแข็ง มีผม ขน เป็นต้น
ที่เรียกว่าธาตุดินภายใน ตลอดจนธาตุน้ำ ,ไฟ ,ลม ,อากาศ ทั้งภายนอกภายใน
ให้เห็นเป็นแต่สักว่าธาตุ ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายธาตุเหล่านั้น
ทำจิตให้คลายกำหนด(หรือความติดใจ) ในธาตุเหล่านั้น
๓. ครั้นแล้วตรัสสอนให้เจริญภาวนา(อบรมจิต) เสมอด้วยธาตุแต่ละอย่าง
ซึ่งผัสสะที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจเกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ได้
โดยชี้ให้เห็นว่า ธาตุเหล่านั้นย่อมไม่แสดงอาการผิดปกติ เช่น เบื่อหน่าย
เกลียดชังสิ่งสะอาดหรือสกปรก ที่ทิ้งลงไปใส่ หรือที่ธาตุเหล่านั้นฝ่านไป.
๔. ตรัสสอนให้เจริญ
เมตตาภาวนา (ไมตรีจิต คิดจะให้เป็นสุข) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละพยาบาท (ความคิดปองร้าย) ได้ ,
กรุณาภาวนา (เอ็นดู คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละวิหิงสา (การคิดเบียดเบียน ) ได้ ,
มุทิตาภาวนา (พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละอรติ (ความไม่ยินดีหรือริษยา ) ได้,
อุเบกขาภาวนา (วางใจเป็นกลาง) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละปฎิฆะ (ความขัดใจ) ได้,.
อสุภภาวนา(เห็นความไม่งาม) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละราคะ (ความกำหนัดยินดี) ได้,
อนิจจสัญญาภาวนา (กำหนดหมายสิ่งที่ไม่เที่ยง) ซึ่งเป็นเหตุให้ละอัสมิมานะ (ความถือตัวถือตนได้).
๕. ครั้นแล้วตรัสสอนวิธีเจริญสติกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีเหตุผลมาก มีอานิสงส์มาก ( แบบเดียวกับที่ตรัสไว้ในอานาปานบรรพ คือ หมวดว่าด้วยลมหายใจเข้าออกในมหาสติปัฎฐาน ที่ย่อมาแล้วในพระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔) อ้างอิง
พระไตรปิฎก ฉบับประชาชน โดย อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prasuttanta/5.2.htmlขอบคุณภาพจาก facebook Weera Sukmetup Phrakrusittisongvon