มนะ ใจ_________________________________________________
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
คำว่า ใจ คือ จิต มนะ มานัส หทัย บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า ใจ__________________________________________________
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=0&Z=486
มโนธาตุ เป็นไฉน
จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑร มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนธาตุที่สมกัน เกิดในลำดับแห่งการเกิดดับ
ของจักขุวิญญาณธาตุจิต ฯลฯ
ของโสตวิญญาณธาตุ จิต ฯลฯ
ของฆานวิญญาณธาตุ จิต ฯลฯ
ของชิวหาวิญญาณธาตุ
จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑร มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนธาตุที่สมกัน เกิดในลำดับแห่งการเกิด ดับของกายวิญญาณธาตุ หรือความพิจารณาอารมณ์ทีแรกในธรรมทั้งปวง นี้เรียกว่า มโนธาตุ___________________________________________
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=35&A=2323&w=_%C1%E2%B9%B8%D2%B5%D8_
ธาตุ 6 (สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง คือมีอยู่โดยธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีอัตตา มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ ) ได้แก่
1. ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน)
2. อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือ ธาตุน้ำ)
3. เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ)
4. วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่ และค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม)
5. อากาสธาตุ (สภาวะที่ว่าง โปร่งไป เป็นช่อง)
6. วิญญาณธาตุ (สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์, ธาตุรู้ ได้แก่ วิญญาณธาตุ 6 คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~ มโนวิญญาณธาตุ)_____________________________________
อ้างอิง :- ม.อุ. 14/169/125 ; อภิ.วิ. 35/114/101.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ธาตุกัมมัฏฐาน 6 (กรรมฐานคือธาตุ, กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ กำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วนๆ ให้เป็นว่าเป็นเพียงธาตุสี่แต่ละอย่างไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)
1. ปฐวีธาตุ คือ ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะแข้นแข็งเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
2. อาโปธาตุ คือ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะเอิบอาบเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้.
3. เตโชธาตุ คือ ธาตุที่มีลักษณะร้อน ภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะร้อนเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
4. วาโยธาตุ คือ ธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายในสำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะพัดผันไปเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
5. อากาสธาตุ คือ ธาตุที่มีลักษณะเป็นช่องว่าง ภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์ เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องทวารหนัก ทวารเบา ช่องแห่งอวัยวะทั้งหลาย หรือที่อื่นใดที่มีลักษณะเป็นช่องว่างอย่างเดียวกันนี้
6. วิญญาณธาตุ คือ ธาตุที่มีลักษณะเป็นเครื่องรู้แจ้งอารมณ์ กล่าวคือ วิญญาณธาตุ 6.
ตัวอย่างธาตุที่แสดงข้างต้นนี้ ในปฐวีธาตุมี 19 อย่าง ในอาโปธาตุมี 12 อย่าง เติมมัตถลุงค์ คือมันสมอง เข้าเป็นข้อสุดท้ายในปฐวีธาตุ รวมเป็น 32 เรียกว่า อาการ 32 หรือ ทวัตติงสาการ.
ธาตุกัมมัฏฐานนี้ เรียกอย่างอื่นว่า ธาตุมนสิการ (การพิจารณาธาตุ) บ้าง จตุธาตุววัฏฐาน (การกำหนดธาตุสี่) บ้าง เมื่อพิจารณากำหนดธาตุ 4 ด้วยสติสัมปชัญญะ มองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปในกาย ตระหนักว่ากายนี้ก็สักว่ากาย มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ดังนี้ จัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานส่วนหนึ่ง (หมวดที่ 5 คือ ธาตุมนสิการบรรพ).______________________________________________________________
อ้างอิง :- ที.ม. 10/278/329 ; ม.มู. 12/342/350 ; ม.อุ. 14/684-687/437 ; ม.อุ. 14/684-689/437-440 ; วิสุทธิ. 2/161.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)