[๓๐๘]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไรๆ ก็ตาม ไม่เจริญ ไม่ทำให้มาก ซึ่งกายคตาสติแล้ว มารย่อมได้ช่อง ย่อมได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเหวี่ยงก้อนศิลาหนักไปที่กองดินเปียก ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะ สำคัญความนั้นเป็นไฉน ก้อนศิลาหนักนั้น จะพึงได้ช่องในกองดินเปียก หรือหนอ ฯ
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตาม ไม่เจริญ ไม่ทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว มารย่อมได้ช่อง ย่อมได้อารมณ์ ฯ
[๓๐๙]ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไม้แห้งเกราะ ทันใดนั้น มีบุรุษมาถือเอาเป็นไม้สีไฟด้วยตั้งใจว่า จักก่อไฟทำเตโชธาตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นถือเอาไม้แห้งเกราะโน้นเป็นไม้สีไฟ แล้วสีกันไป จะพึงก่อไฟทำเตโชธาตุได้ หรือหนอ ฯ
ภิ. ได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตาม ไม่เจริญ ไม่ทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว มารย่อมได้ช่อง ย่อมได้อารมณ์ ฯ
[๓๑๐]ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อกรองน้ำว่างเปล่า อัน เขาตั้งไว้บนเครื่องรอง ทันใดนั้น มีบุรุษมาถือเอาเป็นเครื่องตักน้ำ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงได้น้ำเก็บไว้หรือ หนอ ฯ
ภิ. ได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตาม ไม่เจริญ ไม่ทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว มารย่อมได้ช่อง ย่อมได้อารมณ์ ฯ
[๓๑๑]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้วทำ ให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนกลุ่มด้ายเบาๆ ลงบนแผ่นกระดานเรียบอันสำเร็จด้วยไม้แก่นล้วน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กลุ่มด้ายเบาๆนั้นจะพึงได้ช่องบนแผ่นกระดานเรียบอันสำเร็จด้วยไม้แก่นล้วน หรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ ฯ
[๓๑๒]ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไม้สดมียาง ทันใดนั้น มีบุรุษมาถือเอาเป็นไม้สีไฟด้วยตั้งใจว่า จักก่อไฟทำเตโชธาตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นถือเอาไม้สดมียางโน้นเป็นไม้สีไฟ แล้วสีกันไป จะพึงก่อไฟทำเตโชธาตุได้หรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้อารมณ์ ฯ
[๓๑๓]ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อกรองน้ำ มีน้ำเต็มเปี่ยม เสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มกินได้ อันเขาตั้งไว้บนเครื่องรอง ทันใดนั้น มีบุรุษ มาถือเอาเป็นเครื่องตักน้ำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงได้น้ำเก็บไว้หรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่ได้(เพิ่มขึ้นอีกเลย เพราะความที่มีอยู่ในหม้อกรองอยู่แล้วนั่นเอง)เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ ฯ
[๓๑๔]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้ว ทำ ให้มากแล้ว เธอย่อมถึงความเป็นผู้สามารถในธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่ง อันเป็นแดนที่ตนน้อมจิตไป โดยการทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งนั้นๆได้ ในเมื่อมีสติเป็นเหตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อกรองน้ำ มีน้ำเต็มเปี่ยม เสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มกินได้ อันเขาตั้งไว้บนเครื่องรอง บุรุษมีกำลังมายังหม้อกรองน้ำนั้นโดยทางใดๆ จะพึงถึงน้ำได้โดยทางนั้นๆ หรือ ฯ
ภิ. ได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว เธอย่อมถึงความเป็นผู้สามารถในธรรมที่ควรทำ ให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่ง อันเป็นแดนที่ตนน้อมจิตไปโดยการทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่ง นั้นๆ ได้ ในเมื่อมีสติเป็นเหตุ ฯ
[๓๑๕]ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสระโบกขรณีสี่เหลี่ยม ในภูมิภาคที่ราบ เขาพูนคันไว้ มีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มกินได้ บุรุษมีกำลังเจาะคันสระโบกขรณีนั้นทางด้านใดๆ จะพึงถึงน้ำทางด้านนั้นๆ ได้ หรือ ฯ
ภิ. ได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตามเจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว เธอย่อมถึงความเป็นผู้สามารถในธรรมที่ควรทำ ให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่ง อันเป็นแดนที่ตนน้อมจิตไปโดยการกระทำให้แจ้งด้วยความ รู้ยิ่งนั้นๆ ได้ ในเมื่อมีสติเป็นเหตุ ฯ
[๓๑๖]ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนรถม้าอาชาไนยเขาเทียมม้า แล้วมีแส้เสียบไว้ในที่ระหว่างม้าทั้ง๒ จอดอยู่บนพื้นที่เรียบตรงทางใหญ่ ๔ แยก นายสารถีผู้ฝึกม้า เป็นอาจารย์ขับขี่ผู้ฉลาด ขึ้นรถนั้นแล้ว มือซ้ายจับสายบังเหียน มือขวาจับแส้ ขับรถไปยังที่ปรารถนาได้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว เธอย่อมถึงความเป็นผู้สามารถในธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่ง อันเป็นแดนที่ตนน้อมจิตไปโดยการกระทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งนั้นๆ ได้ในเมื่อมีสติเป็นเหตุ ฯ
[๓๑๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุเสพแล้วโดยมาก เจริญ แล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้ว ให้ดำรงอยู่เนืองๆแล้ว อบรมแล้ว ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๐ ประการ นี้ คือ
(๑) อดกลั้นต่อความไม่ยินดี และความยินดีได้ ไม่ถูกความไม่ยินดีครอบงำ ย่อมครอบงำความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย ฯ
(๒) อดกลั้นต่อภัยและความหวาดกลัวได้ ไม่ถูกภัยและความหวาดกลัวครอบงำ ย่อมครอบงำภัยและความหวาดกลัว ที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย ฯ
(๓) อดทน คือเป็นผู้มีปรกติอดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน, ต่อทำนองคำพูดที่กล่าวร้าย ใส่ร้าย, ต่อเวทนาประจำสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ ไม่ใช่ความสำราญ ไม่เป็นที่ชอบใจ พอจะสังหารชีวิตได้ ฯ
(๔) เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเกิดมีในมหัคคตจิต(อันเป็น)เครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ไม่ยาก ไม่ลำบาก ฯ
(๕) ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ปรากฏตัวหรือหายตัวไปนอกฝา นอกกำแพง นอกภูเขาได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ทำการผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศโดยบัลลังก์เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากปานฉะนี้ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ฯ
(๖) ย่อมฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ได้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ฯ
(๗) ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น และ บุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ, จิตมีโทสะก็ รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ,จิตมีโมหะก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ, จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่, จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน, จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ, จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า, จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น, จิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว หรือจิตยังไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น ฯ (เห็นจิตตสังขารหรือมโนสังขาร หรือก็คือการเห็นเจตสิกคือกลุ่มอาการของจิต)
(๘) ย่อมระลึกถึงขันธ์ ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติ บ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวัฏวิวัฏกัปบ้าง ว่าในชาติโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว บังเกิดในชาติโน้น แม้ในชาตินั้น เราก็มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว จึงเข้าถึงในชาตินี้ ย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เช่นนี้ ฯ
(๙) ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณ ดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบแล้วด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป จึงได้เข้าถึงอบายทุคติวินิบาต นรก
ส่วนสัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบแล้วด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป จึงได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์
ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เช่นนี้ ฯ
(๑๐) ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลายกายคตาสติอันภิกษุเสพแล้วโดยมาก เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้ว ให้ดำรงอยู่เนืองๆแล้ว อบรมแล้ว ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๐ ประการได้ ดังนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ กายคตาสติสูตร ที่ ๙ เคลัญญสูตร
แสดง สติสัมปชัญญะในเวทนา
อานาปานสติสูตร
แสดงรายละเอียดของอานาปานสติ
สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่ใช้ในการปฏิบัติพระกรรมฐาน
สัมมาสติและสมาธิอย่างไร ที่ใช้ในการปฏิบัติกายคตาสติ ที่มักเข้าใจกันผิดจนเป็นวิปัสสนูปกิเลส
ขอขอบคุณที่มาจาก
http://www.nkgen.com/486.htmหากพิจารณาด้วยดีแล้ว การเจริญปฏิบัติใน กายานุปัสสนา และ กายคตาสติ จะเป็นวิธีเดียวกัน แต่เจตนาและมนสิการที่สงเคราะห์ลงในธรรมนั้นต่างกัน เวลาเจริญสมาธิหีือเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ให้พึงระลึกความมุ่งใจหมายจะทำ แล้วกระทำไว้ในใจ หรือ ใส่ใจในกายคตาสติจักเป็นการดี แลพึงหวังอานิสงส์ในข้อที่ ๑-๖ จากกายคตาสตินั้น เมื่อทำเป็นประจำทุกวันจนชำนาญรู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ให้พึงระลึกความมุ่งใจหมายจะทำ แล้วกระทำไว้ในใจ หรือ ใส่ใจในกายานุปัสนา แลพึงหวังอานิสงส์ในข้อที่ ๗-๑๐ ดังนี้