ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตาบอดคลำช้าง  (อ่าน 8713 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ตาบอดคลำช้าง
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2014, 10:26:43 am »
0


ตาบอดคลำช้าง

นินทาและสรรเสริญ เป็นโลกธรรม ที่อยู่คู่มนุษยชาติมาตลอด เพราะในโลกนี้ “นักพูด” มีมากกว่า “นักทำ” ผู้ที่มีปกติชอบพูดวิพากษ์วิจารณ์ เยาะเย้ยถากถางผู้อื่น มักเป็นผู้ไม่รู้จริงในสิ่งที่พูด เพราะธรรมดาว่า กระบอกไม้ไผ่ที่ปราศจากน้ำย่อมตีดัง โบราณเปรียบผู้ที่ไม่รู้ ไม่เห็นจริง แต่ชอบพูดวิพากษ์วิจารณ์ไปตามความเข้าใจที่ผิดๆ ของตน ด้วยคำพังเพยว่า “ตาบอดคลำช้าง” ซึ่งมีที่มาจาก คำสอนเชิงอุปมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน ปฐมกิรสูตร ว่า

     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น มีสมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก ผู้มีลัทธิคำสอนแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี… สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”


       ans1 ans1 ans1

    พระภิกษุที่เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ได้ทราบข่าวนั้น จึงกราบทูลเล่าเหตุการณ์นี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอดไม่มีจักษุ จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ ฯลฯ ก็เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่

     ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงสาวัตถีนี้เองมีพระราชาพระองค์หนึ่งรับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า “พ่อหนุ่ม เจ้าจงไป จงบอกให้คนตาบอดทั้งหมดในกรุงสาวัตถีมาประชุมร่วมกัน” บุรุษนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พาคนตาบอดทั้งหมดในกรุงสาวัตถีเข้าไปเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า “ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายในกรุงสาวัตถีมาประชุมกันแล้ว พระเจ้าข้า”



พระราชาตรัสว่า “พ่อหนุ่ม ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลายเถิด “บุรุษนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลาย คือ
แสดง หัวช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า “ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”
แสดง หูช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า “ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”
แสดง งาช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า “ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”
แสดง งวงช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า“ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”
แสดง ตัวช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า“ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”
แสดง เท้าช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า“ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”
แสดง ระหว่างขาอ่อนช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่งบอกว่า “ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”
แสดง หางช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า “ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”
แสดง ขนหางช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า “ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้”


          :25: :25: :25:

     ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นครั้นแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลายแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระราชาพระองค์นั้นถึงที่ประทับแล้วกราบทูลดังนี้ว่า “ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายเห็นช้างแล้วพระเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”

     ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระราชาพระองค์นั้นได้เสด็จไปหาคนตาบอดเหล่านั้น ได้ตรัสกับคนตาบอดทั้งหลายดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านเห็นช้างแล้วหรือ” คนตาบอดเหล่านั้นกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นแล้วพระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านกล่าวว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นช้างแล้ว ช้างเป็นอย่างไร”
คนตาบอดพวกที่คลำหัวช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนหม้อ พระเจ้าข้า”
คนตาบอดพวกที่คลำหูช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนกระด้ง พระเจ้าข้า”
คนตาบอดพวกที่คลำงาช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนตอไม้ พระเจ้าข้า”
คนตาบอดพวกที่คลำงวงช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนงอนไถ พระเจ้าข้า”
คนตาบอดพวกที่คลำตัวช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนยุ้งข้าว พระเจ้าข้า”
คนตาบอดพวกที่คลำเท้าช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนเสา พระเจ้าข้า”
คนตาบอดพวกที่คลำระหว่างขาอ่อนช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนครก พระเจ้าข้า”
คนตาบอดพวกที่คลำหางช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนสากตำข้าว พระเจ้าข้า”
คนตาบอดพวกที่คลำขนหางช้าง กราบทูลอย่างนี้ว่า “ช้างมีรูปร่างเหมือนไม้กวาด พระเจ้าข้า”


     st12 st12 st12

    ภิกษุทั้งหลาย คนตาบอดเหล่านั้นต่างกำหมัดทุ่มเถียงกันว่า “อย่างนี้คือช้าง อย่างนี้มิใช่ช้าง ช้างต้องไม่เป็นอย่างนี้ ช้างต้องเป็นอย่างนี้” ภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นั้นจึงทรงพอพระทัย ด้วยเหตุนั้น

    ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด ไม่มีจักษุจึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ฯลฯ ก็เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกันใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”



อวิชชา ความไม่รู้ ปิดบังดวงจิต

        มนุษย์ผู้มีตาดีทั้งหลายในโลกนี้ ส่วนมากก็เป็นเช่น “คนตาบอด” ในวัฏสงสาร เพราะถูกอวิชชา ความไม่รู้ ปิดบังไว้ดังนั้น เราท่านอาจเป็นหนึ่งในพวก “ตาบอดคลำช้าง” โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ หนทางสว่างที่จะพ้นจากความเป็นคนบอดได้คือ “ปิดตา เปิดใจ รวมจิตให้หยุดนิ่งเป็นหนึ่งที่ศูนย์กลางกาย” เมื่อใจบริสุทธิ์ ย่อมเกิดความสว่างไสว ทำลายความมืดบอดให้สิ้นไปได้ เมื่อนั้นเราจึงจะได้เป็น “คนตาดี” อย่างแท้จริง

อ้างอิง : ปฐมกิรสูตร : พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน, มมร. เล่ม ๔๔ หน้า ๖๑๒.


ขอบคุณภาพและบทความจาก dou.us/ตาบอดคลำช้าง/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ตาบอดคลำช้าง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2014, 10:37:16 am »
0




นิทานสาธก : ตาบอดคลำช้าง
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ
โดย เสฐียร์พงษ์ วรรณปก


ผมเคยคิดว่า นิทานเรื่องตาบอดคลำช้าง เป็นนิทานอีสปหรือนิทานพื้นบ้าน ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสู่ลูกหลานฟัง มารู้ว่า เป็นนิทานที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้สาวกของพระองค์ฟัง ก็ต่อเมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว

ข้อความมีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ในส่วนที่ว่าด้วยอุทาน ชื่อกิรสูตรที่ 1 ขอแปลเป็นไทยด้วยสำนวนพอเข้าใจได้ดังนี้ครับ


 ans1 ans1 ans1

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร เมืองสาวัตถี พวกเดียรถีย์ (นักบวชนอกศาสนาพุทธ) ต่างลัทธิ สมณะพราหมณ์ และปริพาชก ที่อาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี มีทิฐิ (ทฤษฎี) แตกต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีทิฐินิสัยต่างกัน

พวหนึ่งว่า โลกนี้เที่ยง
พวกหนึ่งว่า โลกไม่เที่ยง
พวกหนึ่งว่า โลกนี้มีที่สุด
พวกหนึ่งว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด


พวกหนึ่งว่า ชีวะ (วิญญาณ) กับสรีระร่างกายเป็นอย่างเดียวกัน
พวกหนึ่งว่า ชีวะกับสรีระต่างกัน

พวกหนึ่งก็ว่า สัตว์หลังตายยังคงอยู่
พวกหนึ่งก็ว่า สัตว์หลังตายไม่คงอยู่
พวกหนึ่งก็ว่า สัตว์หลังตายจะคงอยู่ก็มิใช่ ไม่คงอยู่ก็มิใช่


แต่ละพวกก็ยืนยันว่าทฤษฎีของตนเท่านั้นถูกต้อง ของคนอื่นผิดหมด

 :41: :41: :41:

ดูๆ ก็ไม่ต่างกับสังคมไทยสมัยนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เถียงกันในปรัชญาลึกซึ้ง อย่างสมัยพุทธกาล หากเถียงสองประเด็นว่า "ท้ากษิณออกไป" กับ "ท้ากทักษิณสู้ๆ" ก็ก่อให้เกิดความบาดหมางกันของคนในชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายอัญเดียรถีย์และปริพาชกเหล่านั้น เป็นคนมืดบอดไม่มีตา จึงไม่รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ อะไรคือมิใช่ประโยชน์ อะไรคือความชอบธรรม อะไรคือความไม่ชอบธรรม เมื่อไม่รู้ก็ทะเลาะวิวาทกันทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก ยึดมั่นว่า (ความเห็นของกู) เท่านั้นถูกอย่างอื่นผิดหมด

ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วในอดีตพระราชาพระองค์หนึ่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งให้หาช้างมาให้คนตาบอดแต่กำเนิดเก้าคนดู คนตาบอดทั้งเก้านั้น ต่างก็ใช้มือลูบคลำส่วนต่างๆ ของช้าง แล้วก็กำหนดว่า ช้างเป็นเช่นนี้ๆ


 :25: :25: :25:

เมื่อถูกพระราชาตรัสถามว่า ช้างเหมือนอะไร
(1) คนที่คลำศีรษะช้างกราบทูลว่า "เหมือนหม้อน้ำ"
(2) คนที่คลำหูก็กราบทูลว่า "เหมือนกระด้ง"
(3) คนคลำงาก็ว่า "เหมือนเสาอินทขีล (หลักเมือง)"
(4) คนที่คลำงวงก็ว่า "เหมือนงอนไถ"
(5) คนที่คลำร่างกายก็ว่า "เหมือนฉางข้าว"
(6) คนที่คลำเท้าก็ว่า "เหมือนเสาเรือน"
(7) คนคลำหลังก็ว่า "เหมือนครกตำข้าว"
(8) คนคลำหางก็ว่า "เหมือนสาก"
(9) คนที่คลำปลายหางก็ว่า "เหมือนไม้กวาด"


แต่ละคนก็ว่า ตนเท่านั้นถูกต้อง คนอื่นผิดหมด "ช้างมันเป็นเช่นนี้โว้ย ไม่ใช่อย่างที่เอ็งว่า" ว่าแล้วก็ลงไม้ลงมือตลุมบอนกันอุตลุด พระราชาทรงพระสรวลก้ากๆ ด้วยความสำราญพระราชหฤทัยเต็มที่

 st12 st12 st12

ในทำนองเดียวกันภิกษุทั้งหลาย พวกอัญเดียรถีย์และปริพาชกที่มืดบอด ไร้จักษุไม่รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์ อะไรคือความชอบธรรม อะไรมิใช่ความชอบธรรม จึงทะเลาะวิวาทกันทุ่มเถียงกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก "นี้เท่านั้นโว้ยถูกต้อง อย่างอื่นผิดหมด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าอดีตนิทานนี้จบแล้ว ทรงสรุปด้วยพุทธวจนะเป็นคาถาประพันธ์ว่า
อิเมสุ กิร สชฺชนฺติ อเก สมณพฺราหฺมณา
วิคฺคยฺห นํ วิวทนฺติ ชนา เอกงฺคทสฺสิโน

สมณะบางพวกดังกล่าวนี้
ต่างยึดมั่นทฤษฎีที่ตนเห็น
มองแง่มุมไม่จบครบประเด็น
จึงทุ่มเถียงคอเป็นเอ็นไม่ฟังใคร


 ans1 ans1

สรุปว่ากิเลสที่มีบทบาททำให้คนทะเลาะเบาะแว้งไม่รู้จบ มีอยู่ 3 ตัวใหญ่ๆ คือ
1. ตัณหา ความอยาก ความต้องการ ตนเองต้องการอย่างนี้ จะเอาอย่างนี้ ไม่คำนึงว่าที่ตนต้องการนั้นมันขัดกับศีลธรรมจริยธรรมหรือไม่ ขัดแย้งกับความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือไม่ ก็กูจะเอาอย่างนี้นี่มีอะไรอ๊ะเปล่า
2. มานะ ความถือตัว ถือตัวว่ากูเป็นใคร ลูกเต้าเหล่าใคร ตำแหน่งหน้าที่การงานยิ่งใหญ่แค่ไหน สำคัญแค่ไหน มันเป็นใคร (Who is he? ว่างั้นเถอะ) จึงมาขัดแย้งกับกู
3. ทิฐิ ความเห็น ความเห็นของตนเป็นสำคัญคิดว่าในประเทศนี้ไม่มีความเห็นของใครถูกต้องเท่ากับความเห็นของกู


เจ้าตัณหามานะทิฐินี้ ทางพระท่านเรียกว่า ตัมมยา ผู้ที่ปฏิบัติจนสามารถกำราบตัณหามานะทิฐิได้ เรียกว่า อตัมมยา ภาวะที่ปราศจากตัณหามานะและทิฐิ เรียกว่า อตัมมยตา

ปุถุชนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องมีตัณหามานะทิฐิเหมือนกัน ต่างเพียงว่าใครมีมากมีน้อยเท่านั้น จะให้ไม่มีความคิดเห็นต่างกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ขอแต่เพียงไม่ยึดมั่นในกิเลสของตัวเกินไป ถึงขั้นตลุมบอนกันดังคนตาบอดคลำช้างก็นับว่าดีถมเถแล้ว

 :49: :49: :49:

พูดอีกนัยหนึ่งกิเลสทั้งสามนี้รวมอยู่ใน "ตัวกู" "ตัวสู" ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านกล่าวเตือนใจในบทกวีว่า
"อันความจริง "ตัวกู" มิได้มี
แต่พอเผลอมันเป็นผีโผล่มาได้
พอหายเผลอ "ตัวกู" ก็หายไป
หมด "ตัวกู" เสียได้เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ยจงถอนซึ่ง "ตัวกู"
และถอนทั้ง "ตัวสู" อย่างเต็มที่
มีกันแต่ปัญญาและปรานี
หน้าที่ใครทำให้ดีเท่านี้เอย"

ครับ เท่านี้จริงๆ

ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10235


ขอบคุณภาพและบทความจาก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=4821
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ตาบอดคลำช้าง
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2014, 11:07:38 am »
0

๔. กิรสูตรที่ ๑

     [๑๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล สมณะ พราหมณ์ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่างๆ กัน มีทิฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มี
ความชอบใจต่างกัน อาศัยทิฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า

        ๑. โลกเที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า ฯ
        ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
        ๒. โลกไม่เที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า ฯ

        สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
        ๓. โลกมีที่สุด ...
        ๔. โลกไม่มีที่สุด ...
        ๕. ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ...
        ๖. ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น ...
        ๗. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ...
        ๘. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก ...
        ๙. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี นี้แหละจริง อื่นเปล่า ฯ

        สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
        ๑๐. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ นี้แหละจริง อื่นเปล่า ฯ


        สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้ ฯ





     [๑๓๗] ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ภิกษุมากรูปด้วยกัน นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

     ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส สมณะ พราหมณ์ ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่างๆ กัน มีทิฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน อาศัยทิฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง นี้แหละจริง ... ธรรมเป็นเช่นนี้ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัญญเดียรถีย์เป็นคนบอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายมิใชประโยชน์ ไม่รู้จักธรรมไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรมก็บาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากว่าธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้ ฯ





     [๑๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครสาวัตถีนี้แล มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ครั้งนั้นแล พระราชาพระองค์นั้นตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นี่แน่ะเธอ คนตาบอดในพระนครสาวัตถีมีประมาณเท่าใด ท่านจงบอกให้คนตาบอดเหล่านั้นทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน บุรุษนั้นทูลรับพระราชดำรัสแล้ว พาคนตาบอดในพระนครสาวัตถีทั้งหมดเข้าไปเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับ

    ครั้นแล้วได้กราบบังคมทูลพระราชาพระองค์นั้นว่า ขอเดชะ พวกคนตาบอดในพระนครสาวัตถีมาประชุมกันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พระราชาพระองค์นั้นตรัสว่า แนะพนาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงแสดงช้างแก่พวกคนตาบอดเถิด บุรุษนั้นทูลรับพระราชดำรัสแล้วแสดงช้างแก่พวกคนตาบอด คือ
     แสดงศีรษะช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า  ช้างเป็นเช่นนี้
     แสดงหูช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
     แสดงงาช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
     แสดงงวงช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
     แสดงตัวช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่าช้างเป็นเช่นนี้
     แสดงเท้าช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
     แสดงหลังช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
     แสดงโคนหางช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
     แสดงปลายหางช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล บุรุษนั้น ครั้นแสดงช้างแก่พวกคนตาบอดแล้ว เข้าไปเฝ้าพระราชาพระองค์นั้นถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ คนตาบอดเหล่านั้นเห็นช้างแล้วแล บัดนี้ ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงสำคัญเวลาอันควรเถิด พระเจ้าข้า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล พระราชาพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปถึงที่คนตาบอดเหล่านั้น ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า
    ดูกรคนตาบอดทั้งหลาย พวกท่านได้เห็นช้างแล้วหรือ คนตาบอดเหล่านั้น กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า ฯ





     รา. ดูกรคนตาบอดทั้งหลาย ท่านทั้งหลายกล่าวว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เห็นช้างแล้ว ดังนี้ ช้างเป็นเช่นไร ฯ
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำศีรษะช้างได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนหม้อ พระเจ้าข้า
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำหูช้างได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนกะด้ง พระเจ้าข้า
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำงาช้างได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนผาล พระเจ้าข้า
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำงวงช้างได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนงอนไถ พระเจ้าข้า
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำตัวช้างได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนฉางข้าว พระเจ้าข้า
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำเท้าช้างได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนเสา พระเจ้าข้า
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำหลังช้างได้กราบทูลว่าอย่างนี้ ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนครกตำข้าว
พระเจ้าข้า
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำโคนหางช้างได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนสาก พระเจ้าข้า
    คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำปลายหางช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้คือ เหมือนไม้กวาด
พระเจ้าข้า
    คนตาบอดเหล่านั้นได้ทุ่มเถียงกันและกันว่า ช้างเป็นเช่นนี้ ช้างไม่ใช่เป็นเช่นนี้ ช้างไม่ใช่เป็นเช่นนี้ ช้างเป็นเช่นนี้
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระราชาพระองค์นั้นได้ทรงมีพระทัยชื่นชมเพราะเหตุนั้นแล ฯ


    ans1 ans1 ans1

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด ไม่มีจักษุ ย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ก็บาดหมางกัน ทะเลาะกันวิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้ ฯ

     ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
     ได้ยินว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมข้องอยู่ เพราะทิฐิ ทั้งหลายอันหาสาระมิได้เหล่านี้ ชนทั้งหลายผู้เห็นโดยส่วนเดียว ถือผิดซึ่งทิฐินิสัยนั้น ย่อมวิวาทกัน ฯ

     จบสูตรที่ ๔


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๓๔๙๓ - ๓๕๘๓. หน้าที่ ๑๕๒ - ๑๕๖.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=3493&Z=3583&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=136
ขอบคุณภาพจาก
http://www.qlf.or.th/
http://www.bloggang.com/
http://topicstock.pantip.com/
http://board.postjung.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 11, 2014, 11:09:48 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ