ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่สรวงเจ้าตำรับ 'ไก่ฟ้าพญาเลี้ยง' แห่งขุนเขาสาริกา  (อ่าน 4290 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


หลวงปู่สรวงเจ้าตำรับ 'ไก่ฟ้าพญาเลี้ยง' แห่งขุนเขาสาริกา
หลวงปู่สรวง วรสุทโธเจ้าตำรับ'ไก่ฟ้าพญาเลี้ยง'แห่งขุนเขาสาริกา : รูป/เรื่องไตรเทพ ไกรงู

“พระครูสุทธิวราภรณ์” หรือ “หลวงปู่สรวง วรสุทโธ” เจ้าอาวาสวัดถ้ำพรหมสวัสดิ์ ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลช่องสาริกา นับเป็นเกจิอาจารย์ร่วมสมัยในยุคนี้ที่ได้รับการยอมรับนับถือในฐานะ “พระดีศรีเมืองละโว้” หลวงปู่สรวง เป็นผู้ให้กำเนิดวัดถ้ำพรหมสวัสดิ์เป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปีแล้ว

หลวงปู่สรวง เป็นพระที่สมถะ เรียบง่าย สงบ นิ่งบริสุทธิ์ สุขุม แม้จะไม่ใช่พระสายพุทธาอาคมขลัง เพราะโด่งดังมาตามเส้นทางสายป่าวิปัสสนากรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แต่ความเชื่อความศรัทธาในบุญบารมี และ “ของดี” ที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้น ล้วนมีกระแสตอบรับที่ดีเหนือคำบรรยาย ท่านได้รับสมญาว่าเจ้าตำรับ “ไก่ฟ้าพญาเลี้ยง” และ “เทพเจ้าแห่งขุนเขาสาริกา” ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร


              :25: :25: :25:

หลวงปู่สรวงมีข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด จริยวัตรงดงาม และปฏิปทาน่าเลื่อมใส มีเมตตาธรรมสูง อยู่อย่างเรียบง่าย เป็นผู้มีจิตมุ่งมั่นในพระพุทธศาสนามาแต่สมัยเป็นสามเณร จนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และมีความกล้าแกร่งทางจิตอันเกิดจากการฝึกฝน โดยออกธุดงค์แต่ครั้งยังเป็นพระหนุ่ม ได้พบเจอและได้รับการอบรมสั่งสอน พร้อมกับถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์สายกรรมฐานมากมายหลายองค์

นอกจากนี้แล้วหลวงปู่สรวงยังเป็นพระอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หนึ่งเดียวในลพบุรี รวมทั้งยังเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือไปทั่วภาคกลาง ได้รับการยกย่องให้เป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้า ที่ตั้งมั่นอยู่ในสมณธรรมอย่างเคร่งครัด มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย ปฏิปทางดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ได้พบเห็น



พ.ศ.๒๔๙๖ มีโครงการอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติถวายในหลวงเนื่องในวโรกาสเสด็จนิวัติกลับประเทศไทย ท่านจึงตัดสินใจบวชครั้งแรก ณ วัดศรีบุรีรัตนาราม อ.เมือง จ.สระบุรี แล้วไปพักที่วัดบ้านทึ่ง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีโอกาสได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่แขม หรือ “อดีตเสือฝ้าย” เสือรุ่นเก่าก่อนเสือมเหศวร รวมทั้งได้ไปกราบสนทนาธรรมและเรียนวิชาจากหลวงปู่ขอม วัดไผ่โรงวัว

พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นกลับไปอุปสมบทเป็นพระฝ่ายมหานิกาย เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ที่วัดบ้านโพนเมืองน้อย โดยมีเจ้าอธิการคำ อิณณมุตโต วัดบ้านชะแง เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วกลับไปจำพรรษากับหลวงปู่แขม ท่านได้สอนสรรพวิชาอาคมต่างๆ ให้จนหมดสิ้นตลอด ๒ พรรษา และยังได้เรียนวิชากับหลวงพ่อแขกวัดหัวเขา, เรียนสักยันต์กับอาจารย์ผาด หรือเสือผาด


               st12 st12 st12

ต่อมาได้ออกธุดงค์ไปหาพระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน โดยก่อนเดินทางได้กลับไปเยี่ยมบ้านและพบกับพระอาจารย์คำบุ ธัมมธโร สหธรรมิกของพระอาจารย์จวน ท่านจึงพาไปพบกับพระอาจารย์จวน และได้รับการแนะนำให้สวดญัติใหม่เป็นฝ่ายธรรมยุต เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ที่วัดประชานิยม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร โดยมีพระครูพุฒิวราคม วัดบ้านหนองดินดำเป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการบุญมี จิตปุญโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้อยู่จำพรรษาที่วัดประชานิยมซึ่งมีพระอาจารย์บุญ ชินวังโส เป็นเจ้าอาวาส

ระหว่างที่ธุดงค์อยู่ตามชายฝั่งแม่น้ำโขงได้ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ตาเดียว พระกรรมฐานในป่า ผู้เรียนวิชาจากสมเด็จลุน และญาท่านกรรมฐานแพง ได้เรียนวิชาตำราโบราณตะกรุดไก่แก้ว-ไก่เถื่อน สาลิกา สีผึ้งพญาหงส์ทองจาก อาจารย์ทา ฆราวาสชาวเขมรที่ จ.ศรีสะเกษ และอาจารย์เพ็ง จ.อุบลราชธานี ศิษย์ฆราวาสสมเด็จลุน หลังจากเดินธุดงค์มาสร้างวัดที่ จ.ลพบุรีแล้ว หลวงปู่สรวงยังมีโอกาสถวายตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก ได้รับการถ่ายทอดวิชาการสร้างพระยันต์ นะ ครอบจักรวาลกับหลวงปู่ดู่ด้วย

คำพูดหนึ่งที่หลวงปู่สรวงมักพูดสอนญาติโยมที่เดินทางไปกราบไหว้ขอพร คือ “การได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสานาถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ฉะนั้นจงอาศัยร่างกายอันนี้ บำเพ็ญบุญกุศลให้มากๆ จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา”





วัตถุมงคล “รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์”

วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังของหลวงปู่สรวงทุกรุ่น เป็นที่นิยมแพร่หลาย มากด้วยประสบการณ์เข้มขลังในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม โชคลาภ จึงเป็นที่นิยมของบรรดานักสะสมเครื่องรางของขลัง

อย่างไรก็ตามเนื่องในโอกาสฉลองเลื่อนชั้นสมณศักดิ์เป็นพระครูสุทธิวราภรณ์ วัดถ้ำพรหมสวัสดิ์จึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ รุ่น เลื่อนสมณศักดิ์ เพื่อเป็นที่ระลึกในการเลื่อนสมณศักดิ์ โดยได้จัดพิธีเททองหล่อพระพุทธวัฒนะพรหมสวัสดิ์ และเททองหล่อพระรูปเหมือนหลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว พร้อมเททองหล่อพระกริ่งเศรษฐี เทดินไทย และพระรูปเหมือนหลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ ณ วัดถ้ำพรหมสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ ส่วนพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล “รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์” ณ พระอุโบสถวัดถ้ำพรหมสวัสดิ์ ในวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ โดยคณาจารย์ดัง ๗ รูป


      :96: :96: :96:

     วัตถุมงคล “รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์” ประกอบด้วย
     ๑.พระรูปเหมือนหลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว
     ๒.ไก่เลื่อนสมณศักดิ์ มหาโชครับทรัพย์ หลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ ขนาด ๙ นิ้ว
     ๓.พระรูปเหมือนเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ ผิวแบบโบราณ ก้นอุดผงเกศา
     ๔.พระรูปเหมือนเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ เทดินไทยเบ้าทุบแบบโบราณ ก้นอุดผงเกศา
     ๕.พระกริ่งเศรษฐี ก้นอุดผงเกศา หลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ เทดินไทยเบ้าทุบแบบโบราณ และ
     ๖. พระกริ่งเศรษฐี ก้นอุดผงเกศา หลวงปู่สรวง วรสุทฺโธ ผิวแบบโบราณ





๙ มี.ค.บุญหล่อพระรูปเหมือน

เมื่อครั้งที่ท่านธุดงค์เดี่ยวมาถึง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ได้ปักกลดอยู่ใต้ต้นมะเดื่อริมคลองพร้อมอธิษฐานจิตจำพรรษา จากนั้นได้นั่งสมาธิบริกรรมภาวนา ปรากฏในนิมิตมีเทวดา ๓ องค์มานิมนต์ให้ไปโปรดญาติโยม (อดีตชาติ) ที่อยู่ในถ้ำพรหมสวัสดิ์ ท่านจึงกำหนดจิตไปตามเทวดา ได้พบเห็นสภาพภายในถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย หลืบห้องสลับซับซ้อนสวยงามวิจิตรและถ้ำห้องโถงใหญ่ที่มีองค์เทพคอยพิทักษ์รักษา เป็นที่สัปปายะ จึงคิดสร้างวัดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ โดยเริ่มบุกเบิกพื้นที่ ก่อสร้างถาวรวัตถุ ศาสนวัตถุ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องรวมเวลาถึง ๓๐ ปี จนกระทั่งกลายเป็น “วัดถ้ำพรหมสวัสดิ์” ที่มีกุฏิเสนาสนะ และสถานที่ปฏิบัติธรรมร่มรื่นกลมกลืนกับธรรมชาติ

พลังศรัทธาในตัวหลวงปู่สรวงนั้นมีมากมาย ส่งผลให้มีลูกศิษย์ลูกหาหลากหลายสาขาอาชีพ และมีการจัดสร้างพระเครื่อง-วัตถุมงคลเป็นที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เพื่อนำปัจจัยรายได้ใช้ในพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองให้วัดถ้ำพรหมสวัสดิ์ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

ระหว่างวันที่ ๗-๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ วัดถ้ำพรหมสวัสดิ์ จัดให้มีงานฉลองสมโภชวิหารเจดีย์คีรีพรหมสวัสดิ์ โดยในวันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม เวลา ๑๔.๐๐ น. ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพเททองหล่อพระรูปเหมือน ๓ คณาจารย์ สายกรรมฐาน  สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ วัดถ้ำพรหมสวัสดิ์ พระมหาอานนท์ โทร.๐๘-๕๒๐๐-๔๐๔๔ และ ๐๘-๗๔๘๖-๑๔๑๔  หรือที่ http://www.watthamphromsawad.com


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140224/179598.html#.Uwx_8M4W5El
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ