ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เสน่ห์วัดวา 'อุตรดิตถ์'  (อ่าน 4310 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
เสน่ห์วัดวา 'อุตรดิตถ์'
« เมื่อ: มีนาคม 02, 2014, 08:53:58 am »
0



เสน่ห์วัดวา 'อุตรดิตถ์'
คอลัมน์ชวนเที่ยว : โดย...เรื่อง/ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์

พูดถึง อุตรดิตถ์ ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงผลไม้ขึ้นชื่อ ทั้งลางสาด ลองกอง หรือทุเรียนรสชาติอร่อยและราคาแพงอย่างหลงลับแล และหลินลับแล แต่ที่ไม่น้อยหน้ากัน คือ เป็นแหล่งวัดวาอาราม ที่มีประวัติเก่าแก่แต่โบราณ เป็นตำนานเล่าขานถึงวันนี้
 
แค่ย่างก้าวเข้าเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ต้องผ่านวัดเก่าแก่หลายแห่ง โดดเด่นกับพระยืน ที่อยู่โค้งถนน เรื่องราวของทุ่งยั้ง เมืองเก่าสมัยพระร่วงครองกรุงสุโขทัย เรื่องจริงที่อยู่นอกเหนือตำราประวัติศาสตร์ ที่ยังมีตัวตนอยุ่ทุกวันนี้ แม้จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หากแต่ความเนิบช้าของการเปลี่ยนแปลง ทำให้วิถีผู้คนที่นี่ยังไม่สับสนวุ่นวายเหมือนในเมืองใหญ่
 
อุตรดิตถ์ เป็นเมืองที่ใครๆ ก็บอกว่า ถ้าจะไปต้องตั้งใจไป เพราะจากอุตรดิตถ์ไปจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่ใช่ระยะทางใกล้ๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนกับจังหวัดใหญ่ๆ ถ้าไม่นับรวมแห่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม อย่างภูสอยดาว หรือ น้ำตกคลองตรอน-ภูเมี่ยง แต่ถ้าได้เหยียบย่างเข้ามาในเมืองนี้ ก็มักจะติดใจในมนต์เสน่ห์ของเมืองที่เรียบง่ายแห่งนี้ 

 


ชวนเที่ยวฉบับนี้ เลยพาไปเที่ยววัดวาอารามหลายๆ แห่งในเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งแต่ละวัดก็อยู่ไม่ไกลกันซะด้วย จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 มุ่งหน้า อ.ลับแล จะถึง ต.ทุ่งยั้ง 
 
ทุ่งยั้ง เป็นเมืองเก่าแก่แต่โบราณ มีชื่อปรากฏเป็นที่รู้จักในสมัยพระร่วงเจ้าครองเมืองสุโขทัย เพราะอาณาเขตสุโขทัยด้านทิศเหนือติดต่อกับเมืองทุ่งยั้ง ตามประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ บ่งบอกว่า ทุ่งยั้งถูกใช้เป็นเมืองหน้าด่านในการรับมือกับกองทัพพม่า ก่อนจะมารวมกับเมืองลับแลในสมัยรัตนโกสินทร์ และปัจจุบันกลายเป็นตำบลหนึ่งใน อ.ลับแล หลักฐานสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ คือ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง มีองค์พระสถูปเจดีย์ ที่สร้างด้วยศิลาแลงก้อน

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ชาวบ้านเรียกว่า วัดทุ่งยั้ง หรือมหาธาตุทุ่งยั้ง สร้างเมื่อปี พ.ศ.1902 โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 11 ส่วนพระธาตุ เป็นมหาเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยกรุงสุโขทัย แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ทำให้ยอดพระบรมธาตุเจดีย์หักลงมา ต่อมา หลวงพ่อแก้ว สมภารวัดในขณะนั้น ได้เป็นหัวหน้าปฏิสังขรณ์ซ่อมเพิ่มเติม รูปแบบเลยเปลี่ยนไป

 

                     
ตัววิหารหลวง ได้รับการบูรณะซ่อมแซมอีกใน พ.ศ.2442 โดยหลวงพ่อแก้วเช่นกัน แต่หลังจากประกาศขึ้นทะเบียนวัดเป็นโบราณสถานแล้ว กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง สำหรับวิหารหลวงวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ประกอบพิธี "ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา" ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะยกเลิกไปหลังจากการปฏิรูปการปกครอง
 
ออกจากวัดพระธาตุทุ่งยั้ง มุ่งหน้าสู่ ต.ฝายหลวง อ.ลับแล (ไม่ไกลจากวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง) จะผ่านวัดสำคัญอีก 3 วัด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กันมา เริ่มจาก วัดพระยืนพุทธบาทยุคล หรือวัดพระยืน วัดพระแท่นศิลาอาสน์ หรือ วัดพระนั่ง และวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ หรือวัดพระนอน ทั้งสามวัดนี้ จะมีทางเชื่อมติดต่อที่สามารถเดินถึงกันได้ แล้วแต่ใครจะแวะที่วัดไหนก่อน แต่ถ้าขับรถมาจากทางอุตรดิตถ์จะเห็นพระพุทธรูปปางลีลา ของวัดพระยืนอยู่ตรงโค้งถนนก่อน

 
 :96: :96: :96:

ฉันตั้งต้นที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี วัดนี้เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้างและสร้างเมื่อใด แต่มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่เสด็จฯ ไปทรงสักการะพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อปี พ.ศ.2283 ลักษณะองค์พระแท่นเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 8 ฟุต สูง 3 นิ้ว ประดับลายกลีบบัวที่ฐานพุทธบัลลังก์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย แต่ไฟป่าไหม้พระมณฑปและวิหารเหลือแต่ศิลาแลง เมื่อปี 2451 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ซึ่งมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์ถูกนำไปประดิษฐานไว้ในตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย ส่วนบานประตูวิหารเป็นไม้แกะสลักลายกนกงดงามมาก ติด 1 ใน 3 บานประตูที่งดงามของ จ.อุตรดิตถ์ เลยทีเดียว
 
ภายในบริเวณวัดพระนั่ง จะมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ทั้งเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านและเครื่องใช้โบราณ ซึ่งก็ใช้ศาลาการเปรียญเก่ามาจัดทำ ตกแต่งแบบล้านนา

 


จากวัดพระนั่ง มีทางเชื่อมต่อไปวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ซึ่งอยู่บนเนินเขาคนละยอดกับวัดพระแท่น เรื่องราวเกี่ยวกับวัดพระยืนมีการเล่าต่อๆ กันมาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงยืนบนยอดเขานี้ จึงเกิดเป็นรอยพระพุทธบาทยุคลทั้งซ้ายขวาประทับลงในฐานศิลาแลงเดียวกัน ด้านหน้าวัดซึ่งหันออกสู่ถนน จะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ส่วนด้านหลังวัดมีสะพานทางเดินข้ามถนนเชื่อมต่อไปยังวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ ที่อยู่บนเนินเขาเช่นกัน แต่คนละฝั่ง ตรงข้ามกับวัดพระยืนและวัดพระนั่ง ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สวยงาม บานประตูเป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ซึ่งด้านหน้าวัดพระนอน มีบันไดนาคทอดยาวสู่ตัววัดด้านบนเนิน   
 
ไหนๆ มาถึงชานเมืองลับแล ก็ขอผ่านเข้าไปยลเมืองลับแลเสียหน่อย เมืองแห่งผลไม้อุดมสมบูรณ์ และผ้าซิ่นตีนจก แต่ไม่วายถูกดึงดูดด้วยลวดลายสวยๆ ของบานประตูไม้โบราณของ วัดดอนสัก และถือเป็น 1 ใน 2 ของบานประตูไม้แกะสลักที่สำคัญของอุตรดิตถ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ (โดยอีกคู่บานประตูสำคัญ คือ บานประตูวัดพระฝาง)
 
แค่ซุ้มประตูวัดก็ตื่นตากับเสาซุ้มที่เป็นไม้ทั้งต้นขนาดใหญ่ ด้านในวัดยังคงความเป็นธรรมชาติของต้นไม้ และเรือนเก่าแก่ ผ่านโบสถ์ที่ผู้คนไปทำบุญ ว่ากันว่า ในการทำบุญแต่ละครั้งเขารู้ด้วยว่ามีคนไปเท่าไหร่ รู้ไปถึงกระทั่งว่าชายกี่คน หญิงกี่คน วิธีการก็ง่ายๆ คือ จะวางธูปไว้ตรงทางเข้า คนที่เข้าไปทำบุญก็จะหยิบธูปไปคนละดอก ไปใส่ถาดที่วางเตรียมไว้คนละฝั่ง ช่างเป็นวิธีเช็กยอดคนที่ง่ายแสนง่าย แต่ได้ผลจริงๆ   

 



เลยเข้าไปด้านใน จึงจะเห็นวิหารเก่า ต้องเดินอ้อมไปด้านหน้า จึงจะเห็นบานประตูเก่าแก่ แต่คงความวิจิตรงดงาม และยังสมบูรณ์ บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่างๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม โดยบานซ้ายและขวาไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานประตูแล้ว ลวดลายแกะสลักทั้งสองกลับเข้ากันได้ไม่เคอะเขิน 
 
จนมีบทเพลงที่กล่าวขานถึงบานประตูแห่งนี้ ชื่อ "ประตูรัก..ลับแล" ที่แต่งขึ้นโดย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ "หากใครมาเยือนลับแล ผ่านทางประตูความรัก สู่บานประตูไม้จำหลัก วัดดอนสักที่แสนงาม ผลักบานประตูอดีต ที่มีราชสีห์ยืนเฝ้ายาม อักขระโบราณ จดจารตำนานโยนกล้านนา"
 
ฉันผ่านประตูเมือง เข้าไปค้นหาอดีตหลังบานประตูไม้จำหลัก ไม่น่าเชื่อว่า เมืองเล็กๆ ในวันนี้ มีอดีตที่ยิ่งใหญ่ และยังคงสวยงามมาถึงปัจจุบัน


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140223/179467.html#.UxKNns49S4l
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ