วิธีละลายความเครียดอย่างรวดเร็ว : ปุจฉา-วิสัชนากับพระไพศาล วิสาโล
นก ปรียา ปุจฉา : นมัสการพระคุณเจ้า มีวิธีละลายความเครียดอย่างรวดเร็วบ้างไหมเจ้าคะ แม้ว่าหนูจะเรียนรู้และเข้าใจในการปฏิบัติธรรม แต่การใช้ชีวิตในทางโลก ก็มีอะไรเข้ามากระทบอยู่เนืองๆ เมื่อมีสิ่งมากระทบ หนูพบว่าตัวเองเข้าสู่ภาวะเครียดอย่างรวดเร็ว เมื่อได้สติก็พยายามผ่อนคลาย แต่ก็ต้องใช้เวลาสักพัก
วิสัชนา : สติและสมาธินั้นเป็นสิ่งที่ละลายความเครียดได้ดีมาก แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับกำลังของสติและสมาธิ ถามว่าจะทำให้สติและสมาธิมีกำลังได้อย่างไร ก็ต้องตอบว่า อยู่ที่การฝึกฝน ถ้าฝึกฝนจนชำนิชำนาญ สติและสมาธิก็จะมีกำลังมาก สามารถละลายความเครียดได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้นถ้าหากคุณต้องการให้ความเครียดหายไปไวๆ ก็ต้องหมั่นฝึกสติและสมาธิเป็นประจำ โดยเฉพาะในเวลาที่สบายๆ ไม่เครียด ถ้าไม่ฝึกไว้เลย พอเกิดความเครียดแล้วจึงค่อยนึกถึงสติและสมาธิ ถึงตอนนั้นก็ไม่ทันการณ์แล้ว กว่าความเครียดจะหายก็ต้องใช้เวลา
อยากแนะนำคุณว่า เวลาเกิดความเครียด ลองกลับมาที่ลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ จิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจ อย่าไปสนใจเรื่องที่ทำให้เครียด ทำอย่างนี้สัก ๕ นาที ทุกครั้งที่หายใจออกก็นับเลขไปด้วยก็ได้ เริ่มจาก ๑ ไปจนถึง ๑๐ แล้วนับใหม่จนครบ ๕ นาที วิธีนี้จะช่วยให้ความเครียดคลายไปได้ง่ายขึ้น
อธิษฐานทำบุญกับพระ แต่ขัดข้องทำไม่ได้ควรทำอย่างไร
ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ
๑.หนูตั้งใจจะนำของไปถวายหลวงปู่องค์หนึ่งแต่หนูไปไม่ทัน อยากทราบว่าของเหล่านั้นหนูเอาไปถวายพระรูปอื่นต่อได้หรือไม่คะ หนูได้ยกอธิษฐานและได้กล่าวว่าจะนำไปถวายหลวงปู่แล้วค่ะ
๒.หนูไม่สะดวกที่จะไปทำบุญหรือทาน หนูใช้วิธีก่อนสวดมนต์ก็นำเงินหยอดกระปุกไว้และบอกว่าจะเอาไปทำอะไร เช่นว่าเงินนี้หนูจะเอาไปช่วยเด็กกำพร้า คนชรา อะไรประมาณนี้ แต่ติดตรงที่หนูจะไม่จำว่าจะให้ที่ไหนเท่าไหร่ ไม่ทราบจะเป็นบาปไหมคะ และหนูอยากทำสังฆทานไม่ทราบว่าด้วยวิธีที่หนูทำอยู่ จะสามารถทำสังฆทานได้อย่างไรบ้างคะ กราบขอบพระคุณในเมตตาค่ะ
วิสัชนา : ของที่คุณตั้งใจถวายหลวงปู่นั้น หากคุณเปลี่ยนใจอยากถวายพระรูปอื่นก็ทำได้ เพื่อความสบายใจ คุณก็กำหนดจิตว่าของชิ้นนี้ยังไม่สามารถถวายแก่หลวงปู่ในคราวนี้ได้ ขอน้อมถวายแก่หลวงพ่อหรืออาจารย์องค์นี้ไปก่อน โอกาสหน้าจึงค่อยถวายแก่หลวงปู่
สำหรับเงินที่จะมอบให้แก่เด็กกำพร้าหรือคนชรานั้น คุณลองสอบถามธนาคารหรือห้างสะดวกซื้อ เพราะมีหลายแห่งที่วางกล่องรับบริจาคของมูลนิธิต่างๆ ที่สงเคราะห์เด็กกำพร้าและคนชรา คุณเพียงแต่หยอดเงินใส่กล่องนั้นก็เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามการทำบุญดังกล่าวไม่เรียกว่าเป็นสังฆทาน จะเป็นสังฆทานต่อเมื่อคุณถวายแก่สงฆ์ เช่น ถวายแก่วัด หรือคณะสงฆ์ (ถ้าถวายแก่พระรูปหนึ่งรูปใด ยังไม่เรียกว่าเป็นสังฆทาน เป็นแค่ปาฏิบุคลิกทาน เว้นแต่ว่าพระรูปนั้นเป็นตัวแทนของสงฆ์หรือรับในนามของวัด จึงเรียกว่าสังฆทาน)
สายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย 'เตรียมตัวก่อนสู่วาระสุดท้ายของชีวิต จะทำอย่างไรดี' ปรึกษาได้ที่ โทร.๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140323/181381.html#.Uy7Y56I9S4k